มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้ง (ตอนที่1) |
|
|
|
อาจารย์ณรงค์เดช สรุโฆษิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
|
|
|
|
|
|
|
|
1. บทนำ
1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การทำโพลเลือกตั้ง (Election Poll) และเอ็กซิทโพล (Exit Poll) นั้นเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมมากในประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตย ความนิยมนี้แพร่หลายในหมู่ประชาชนและสื่อมวลชนไทยด้วยเช่นกัน ทำให้ในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือแม้แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่สำคัญเช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สื่อมวลชนและสำนักวิจัยต่าง ๆ ต่างก็ได้แข่งขันจัดทำโพลและเผยแพร่ผลโพลคะแนนนิยมที่ประชาชนมีต่อผู้สมัครแต่ละราย หรือพรรคการเมืองแต่ละพรรค ให้สาธารณชนได้รับทราบกันอย่างทั่วถึงและเป็นไปอย่างคึกคักยิ่งนัก
แม้ว่าการทำโพลและเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งนั้นจะมีข้อดีอยู่มากคือ ทำให้การเลือกตั้งมีสีสันมีชีวิตชีวากระตุ้นความสนใจของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนอยากมีส่วนร่วมโดยการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง การทำโพลและเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งซึ่งกระทำโดยไม่ถูกต้องตามครรลองระเบียบวิธีวิจัย หรือมีการนำผลโพลไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เพื่อการซื้อสิทธิขายเสียง กลับกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีกระบวนการเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญ
ดังนั้น ภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. จึงพยายามดำเนินการหลายอย่างที่จะบรรเทาปัญหาดังกล่าว อันได้แก่ การออกประกาศห้ามการเผยแพร่เอ็กซิทโพลในวันเลือกตั้งก่อนเวลาปิดการลงคะแนน(1) ประกาศห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.(2) ซึ่งต่อมาขยายรวมไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น(3) จนถึงวันเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีมติห้ามทำเอ็กซิทโพลสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในคราวหนึ่งด้วย(4) ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า การออกประกาศหรือคำสั่งห้ามดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับไว้อย่างชัดแจ้ง หรือในช่วงการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีกฎหมายว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ กำหนดห้ามมิให้มีการเผยแพร่โพลเกี่ยวกับผลการลงประชามติในช่วงเวลา 3 วันก่อนวันลงประชามติ(5) และท้ายที่สุด เมื่อมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ในปี พ.ศ. 2550 ก็ได้มีการบัญญัติห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้งและในวันเลือกตั้งจนกว่าจะสิ้นสุดเวลาเลือกตั้ง(6)
มาตรการเหล่านี้ถูกตั้งข้อสงสัยจากบรรดานักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนส่วนหนึ่งว่า เป็นการละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชน สิทธิของประชาชนที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพทางวิชาการจนเกินสมควรหรือไม่ จึงเห็นสมควรศึกษาปัญหาดังกล่าว และหากเป็นจริงเช่นที่มีการสงสัย ก็สมควรที่จะศึกษาเพื่อหามาตรการอื่น ๆ ในการควบคุมโพลเลือกตั้งที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาความสุจริตและเที่ยงธรรมในกระบวนการเลือกตั้งและการเคารพต่อสิทธิเสรีภาพในประการต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างเหมาะสมด้วย
1.2 วัตถุประสงค์ของการวิจัย
(1) เพื่อศึกษาถึงรูปแบบ ลักษณะและวิธีการของการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อประชาชน
(2) เพื่อศึกษาถึงขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิของประชาชนที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
(3) เพื่อศึกษาถึงขอบเขตการคุ้มครองสิทธิเลือกตั้งของประชาชนและการใช้อำนาจรัฐในการจัดการและดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(4) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบหลักกฎหมายของต่างประเทศที่เกี่ยวกับการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล รวมทั้งหลักกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
(5) เพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการควบคุมตรวจสอบการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
1.3 สมมุติฐานการวิจัย
ในการศึกษาวิจัยนี้ ผู้เขียนตั้งสมมุติฐานไว้ว่า รูปแบบและวิธีการควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพลที่มีผลใช้บังคับอยู่ ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2550 นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมและการเมืองไทย
1.4 ขอบเขตการวิจัย
งานวิจัยนี้จะศึกษาถึงหลักกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขอบเขตและสาระของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพทางวิชาการและสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในประเด็นการทำโพลและเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล โดยศึกษาเปรียบเทียบกับหลักกฎหมายของประเทศอื่นที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
1.5 ระเบียบวิธีวิจัย
(1) ศึกษาวิจัยเอกสารทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์สื่อสารมวลชน และสถิติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำโพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล โดยมีนิติศาสตร์เป็นแกนกลางในการศึกษาวิจัย และใช้นิติวิธีการเปรียบเทียบกฎหมาย (Comparative Law) และนิติวิธีการวิเคราะห์กฎหมายในเชิงสังคมวิทยา (Sociology of Law) ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์เนื้อหาสาระของกฎหมาย (Normative Analysis of Law)
(2) ศึกษาวิจัยภาคสนามโดยการสัมภาษณ์ และการประชุมเชิงอภิปราย (Focus Group)
1.6 ขั้นตอนการวิจัย
(1) รวบรวมเอกสารและศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
(2) วิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานวิจัยฉบับที่ 1 จัดทำต้นแบบมาตรการทางกฎหมายและแบบสัมภาษณ์
(3) สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอันได้แก่ กรรมการการเลือกตั้ง/หรือเจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นักการเมือง สำนักวิจัยหรือสำนักโพล สำนักงานคณะกรรมการสถิติแห่งชาติ สื่อมวลชนและองค์กรเอกชนด้านสื่อมวลชน ตลอดจนนักวิชาการด้านกฎหมาย รัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และสถิติ
(4) จัดประชุมทางวิชาการ โดยเชิญนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องวิจารณ์ผลการศึกษาวิจัย
(5) ปรับปรุงรายงานวิจัย
(6) จัดพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัย
1.7 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
(1) ได้รับทราบรูปแบบ ลักษณะและวิธีการของการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อประชาชน
(2) ได้รับทราบขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชน เสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิของประชาชนที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(3) ได้รับทราบขอบเขตการคุ้มครองสิทธิเลือกตั้งของประชาชนและการใช้อำนาจรัฐในการจัดการและดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(4) ได้รับทราบหลักกฎหมายของต่างประเทศที่เกี่ยวกับการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล
(5) ได้รับทราบรูปแบบและวิธีการควบคุมตรวจสอบการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพลที่ไม่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนจนเกินสมควร และในขณะเดียวกันก็สามารถคุ้มครองสิทธิเลือกตั้งของประชาชนและการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยมากที่สุด
(6) เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยต่อสาธารณชน และเสนอแนะผลการศึกษาวิจัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. รูปแบบและวิธีการควบคุมโพลเลือกตั้งในประเทศไทย
การควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งในประเทศไทยนั้น สามารถจำแนกได้ดังนี้
2.1 การห้ามทำเอ็กซิทโพล
ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2547 เพียง 2 วันคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่สองที่มีพลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธานก็ได้มีมติห้ามมิให้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในระหว่างเวลาที่เปิดให้ลงคะแนนเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ของวันเลือกตั้ง(7) โดยให้เหตุผลว่า เป็นการฝ่าฝืนหลักการเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยลับตามมาตรา 6 วรรคสองของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้สมัครใช้ประโยชน์จากการจัดทำผลสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้ง พร้อมทั้งยังระบุว่า หากการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการใด ๆ อันเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครในวันเลือกตั้ง ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 61 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกด้วย(8) อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฎว่า สำนักโพลและสื่อมวลชนทั้งหลายต่างพากันฝ่าฝืนมติดังกล่าวของ กกต. แต่ กกต. ก็มิได้มีการดำเนินการทางกฎหมายแต่อย่างใด และ กกต. ก็ไม่เคยออกมติในลักษณะเช่นนี้อีกเลย(9)
นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์ ดร. นพดล กรรณิกา แห่งเอแบคโพล ยืนยันข้อเท็จจริงว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ได้มีเจ้าหน้าที่ปกครองและตำรวจในพื้นที่ควบคุมตัวพนักงานหรือนักศึกษาที่เอแบคโพลว่าจ้างให้ทำเอ็กซิทโพลออกไปจากบริเวณสถานที่เลือกตั้ง บางแห่งนำไปกักตัวไว้ที่สถานีตำรวจ จนกระทั่งเวลา 12.00 น. จึงปล่อยตัวและยินยอมให้ทำเอ็กซิทโพลได้(10) ทั้งที่ก่อนหน้านั้น กกต. ได้มีหนังสือยืนยันแล้วว่า สามารถทำเอ็กซิทโพลได้(11) และกฎหมายก็ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดห้ามการทำเอ็กซิทโพล
นอกจากนี้ แม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 บัญญัติกำหนดเขตพื้นที่ห้ามทำเอ็กซิทโพลดังเช่นกฎหมายของบางมลรัฐในสหรัฐอเมริกา แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมากลับมีหนังสือถึงผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคโพล ขอให้เจ้าหน้าที่ซึ่งลงพื้นที่ทำเอ็กซิทโพลดำเนินการสำรวจห่างจากหน่วยเลือกตั้งในรัศมี 100 เมตร(12) ซึ่งในกรณีนี้ เห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่เนื่องจากเป็นการขอความร่วมมือและเมื่อมีการฝ่าฝืนก็มิได้มีการดำเนินการใด ๆ จึงมิได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าห้ามทำเอ็กซิทโพลในบริเวณใด แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเลือกตั้งที่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมแล้วเห็นได้ว่า จะมีการทำเอ็กซิทโพลในบริเวณที่เลือกตั้งมิได้ เพราะบริเวณดังกล่าวสงวนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น
2.2 การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล
2.2.1 การจำกัดเวลาเผยแพร่เอ็กซิทโพลก่อนสิ้นสุดการลงคะแนนเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดแรกที่มีนายธีรศักดิ์ กรรมสูต เป็นประธาน ได้ออกประกาศ เรื่อง การสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดเมื่อพ้นบริเวณที่เลือกตั้ง ลงวันที่ 3 มกราคม 2544 ห้ามมิให้มีการประกาศ โฆษณา หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนเท่าใด ระหว่างเวลา 08.00-15.00 น. ของวันลงคะแนนเลือกตั้ง พร้อมทั้ง ยังห้ามการประกาศ โฆษณา หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนเท่าใด ให้รวมเป็นรายเขตเลือกตั้ง จะประกาศเป็นแต่ละหน่วยเลือกตั้งไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 104แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ให้มีการนับคะแนนในสถานที่นับคะแนนกลางประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีขึ้นเพื่อมิให้ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่รู้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีชื่อในหน่วยเลือกตั้งนั้นลงคะแนนให้ตนหรือไม่ อันอาจทำให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัวและไม่กล้าลงคะแนนเลือกตามความประสงค์ของตนอย่างแท้จริง(13) นอกจากนั้น ประกาศฉบับนี้ ยังระบุเพิ่มเติมว่า การเผยแพร่ผลเอ็กซิทโพลดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะตามมาตรา 44 (5) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอีกด้วย
อนึ่ง มาตรการห้ามเผยแพร่เอ็กซิทโพลก่อนสิ้นสุดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งนี้เป็นมาตรการที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จวบจนปัจจุบันเพราะประกาศ กกต. ฉบับต่อมา และกฎหมายเลือกตั้งฉบับ พ.ศ. 2550 ล้วนแล้วแต่ยึดถือหลักการข้อนี้
2.2.2 การห้ามเผยแพร่ตลอดช่วงเวลาเลือกตั้งและในวันเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2545 กกต. กกต. ได้ออกประกาศ เรื่อง การห้ามประกาศ โฆษณา หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนเท่าใด ลงนามโดยพลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ ประธาน กกต. ห้ามประกาศ โฆษณา หรือ กระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนเท่าใดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา นับแต่วันที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันลงคะแนนเลือกตั้งซึ่งเท่ากับเป็นห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นระยะเวลาประมาณ 30-60 วัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้ง ส.ว. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 45 วันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฏร(14) รวมทั้ง การเผยแพร่เอ็กซิทโพลภายหลังระยะเวลาดังกล่าว ยังต้องประกาศผลโดยรวมคะแนนทั้งเขตเลือกตั้ง จะแยกเป็นรายหน่วยเลือกตั้งไม่ได้ โดย กกต. อาศัยตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ที่ให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
2.2.3 การห้ามเผยแพร่ก่อนและตลอดช่วงเวลาเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น
หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี กกต. ได้ออกประกาศฉบับใหม่ยกเลิกฉบับเดิม พร้อมกับขยายขอบเขตการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งให้ครอบคลุมไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นด้วย โดยห้ามมิให้มีการเผยแพร่โพลเลือกตั้งตั้งแต่วันที่มีประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันลงคะแนนเลือกตั้ง และหากเป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากการครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลา 60 ก่อนวันครบวาระการดำรงตำแหน่ง จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันลงคะแนนเลือกตั้งด้วย(15) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประกาศ กกต. ฉบับที่สองนี้ได้ห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นระยะเวลานานประมาณ 25 ถึง 120 วันเลยทีเดียว เนื่องจากโดยปกติ หากมีการยุบสภาท้องถิ่นและทำให้ต้องมีการเลือกตั้งก่อนครบวาระ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยได้ กกต. จะต้องใช้เวลาประมาณ 25 วันในการเตรียมการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ
นอกจากนี้ เพราะเหตุที่กฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดให้ กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ จึงเท่ากับว่า ประกาศฉบับดังกล่าวห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้ง อบจ. เทศบาล อบจ. และเมืองพัทยา ประมาณไม่เกิน 105 วัน(16) และห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. และผู้ว่า กทม. ประมาณไม่เกิน 120 วัน เนื่องจากกฎหมายระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันนับแต่วันครบอายุสภา กทม. หรือครบวาระผู้ว่า กทม.
อนึ่ง ตัวเลข 120 วันนั้นมาจากการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้ง 60 วันก่อนวันครบวาระ และอีก 60 วันที่กฎหมายบังคับให้ต้องจัดการเลือกตั้ง ส.ก. หรือผู้ว่า กทม. นับแต่วันที่ครบวาระตัวอย่างเช่น ผู้ว่า กทม. อภิรักษ์ โกษะโยธิน ครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 28 สิงหาคม 2551 สมมุติว่า มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ซึ่งอยู่ภายในกำหนด 60 วันพอดี ในกรณีนี้ เท่ากับว่า ประกาศ กกต. ฉบับนี้มีผลเป็นการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 29 มิถุนายน 2551 จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 27 ตุลาคม 2551(17)
ในประกาศฉบับนี้ กกต. อ้างบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการห้ามผู้สมัครหรือผู้ใดจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด ด้วยการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง(18) เพื่อห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งตลอดช่วงเวลาดังกล่าว
อนึ่ง ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ประกาศ กกต. ทั้งสองฉบับตาม (2) และ (3) มิได้ห้ามการทำโพลเลือกตั้งหรือเอ็กซิทโพล และมิได้ห้ามเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งต่อผู้ว่าจ้างทำโพล แต่ห้ามการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเท่านั้น
2.2.4 การห้ามเผยแพร่โพลเกี่ยวกับผลการประชามติเป็นเวลา 3 วัน
ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้มีการจัดให้มีออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2550 ในการนี้ ได้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยบทบัญญัติมาตรา 11 ของกฎหมายดังกล่าวได้ห้ามผู้ใดเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลา 3 วันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง(19) และผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แม้ว่าข้อห้ามดังกล่าวจะไม่ใช่การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งแต่เนื่องจากผลโพลเกี่ยวกับคะแนนประชามติมีลักษณะที่คล้ายกัน ผู้เขียนจึงได้อนุโลมจัดเข้าไว้ในหัวข้อนี้ด้วย
2.2.5 การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลา 7 วัน
ล่าสุด ภายหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติแล้ว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับซึ่งรวมถึงฉบับที่ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 กฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งหรือโพลเลือกตั้ง ในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.2.6 การห้ามจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครและพรรคการเมือง
กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. และกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นล้วนแล้วแต่ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการจูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยการจูงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
3. รัฐกับการควบคุมโพลเลือกตั้ง(20)
โพลเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นโพลที่ทำขึ้นก่อนวันเลือกตั้งหรือเอ็กซิทโพลย่อมกระทบต่อพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผลการเลือกตั้ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและการเมืองของประเทศนั้น ๆ และหากมองในภาพรวม จะพบว่า ประเทศต่าง ๆ ในโลก บางประเทศไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโพลเลือกตั้งเลย เพราะไม่มีการทำโพลหรือมีการทำโพลแต่เผยแพร่ในวงจำกัดมาก ๆ เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา หรือประเทศที่มิได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแม้จะมีการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งอย่างแพร่หลายแต่ก็มิได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับโพลเลือกตั้งเพราะระบบการเมืองของประเทศนั้นมีปัญหาอื่นที่ยิ่งใหญ่และรุนแรงกว่า หรือบางประเทศ โพลเลือกตั้งเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่สื่อมวลชนสำนักโพล และประชาชนทั่วไปสามารถควบคุมดูแลกันเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐ แต่สำหรับหลาย ๆ ประเทศ โพลเลือกตั้งก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความสุจริตและเที่ยงธรรมในกระบวนการเลือกตั้ง ส่งผลให้ต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่ควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ
3.1 การควบคุมกันเองของสื่อมวลชนและสำนักโพล (Self-Regulation)
ประเทศดังต่อไปนี้ ไม่มีกฎหมายควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งตลอดจนเอ็กซิทโพล แต่สื่อมวลชนและสำนักโพลต่าง ๆ ในประเทศดังกล่าวมีกลไกในการควบคุมดูแลกันเองมิให้การเผยแพร่โพลเลือกตั้งมีลักษณะเป็นการทำลายความสุจริตและเที่ยงธรรมของกระบวนการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะมักจะมีความตกลงร่วมกันที่จะไม่เผยแพร่เอ็กซิทโพลก่อนสิ้นสุดเวลาเลือกตั้ง ได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศนอร์เวย์ ประเทศสวีเดน ประเทศฟินแลนด์ ประเทศออสเตรีย ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศไอร์แลนด์ ประเทศเอสโตเนีย ประเทศแลทเวีย ประเทศคาซักสถาน ประเทศไอซ์แสนด์ ประเทศบอสเนียเฮอเซโกวีน่า และประเทศออสเตรเลีย (ยกเว้นมลรัฐวิกตอเรียห้ามเผยแพร่เอ็กซิทโพลก่อนสิ้นสุดเวลาเลือกตั้ง) นอกจากนั้น ยังมีประเทศอียิปต์ ประเทศสหรัฐอหรับเอมิเรตต์ ประเทศแซมเบีย และประเทศไนจีเรีย ซึ่งโพลเลือกตั้งไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศดังกล่าว ประเทศอินโดนีเซียและประเทศบังคลาเทศ ซึ่งมีข้อกังวลเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพของการการควบคุมกันเอง ประหนึ่งว่าไร้การควบคุม
3.2. การควบคุมโดยรัฐ (State-Regulation)
ประเทศจีนมีระบบในการควบคุมโพลทุกประเภททั้งโพลทั่วไปและโพลเกี่ยวกับการเมืองที่เข้มงวดมาก การจะทำโพลทุกอย่างต้องให้สำนักความมั่นคงของรัฐ (State Security Bureau) ตรวจสอบทุกขั้นตอนก่อน โดยในแบบสอบถามห้ามมีคำถามที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ผลโพลที่ได้ต้องให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงตรวจสอบก่อนส่งมอบให้ผู้ว่าจ้าง และโดยหลักห้ามเผยแพร่ผลโพลต่อสาธารณะไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ(21) ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีการศึกษาวิจัยที่เหลืออีก 53 ประเทศนั้น รัฐได้ออกกฎหมายเข้ามาควบคุมการทำและการเผยแพร่โพลเลือกตั้ง แบ่งออกได้เป็นกลุ่มประเทศดังนี้
3.2.1 จำกัดเวลาการเผยแพร่เอ็กซิทโพล
กลุ่มประเทศเหล่านี้ห้ามการเผยแพร่เฉพาะเอ็กซิทโพลก่อนสิ้นสุดเวลาเลือกตั้งโดยไม่มีการควบคุมในลักษณะอื่นเลย ได้แก่ ประเทศเยอรมันนี ประเทศอังกฤษ ประเทศมาเลเซีย ประเทศปากีสถาน ประเทศเปอร์โตริโก้ ประเทศฮอนดูรัส ประเทศแอฟริกาใต้(22) (เดิมห้ามเผยแพร่ 6 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง)
3.2.2 ควบคุมการทำและเผยแพร่แต่ไม่จำกัดเวลาการเผยแพร่
กลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่จำกัดเวลาการเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล แต่จะควบคุมการทำและการเผยแพร่ในลักษณะอื่น ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามกฎหมายของแต่ละมลรัฐ) ประเทศบราซิล (แต่จะต้องแจ้งหน่วยงานของรัฐ 5 วันก่อนการเผยแพร่) ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผลจากการที่ศาลสูงสุดพิพากษาว่า การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ และประเทศอินเดียซึ่งเป็นผลจากคำสั่งศาลสูงสุดสั่งระงับการบังคับตามคำสั่งห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้ง นอกจากนี้ ในประเทศนิวซีแลนด์จะทำโพลในวันเลือกตั้งหรือเอ็กซิทโพลได้ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดเวลาลงคะแนนแล้วเท่านั้น
3.2.3 ห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพลโดยไม่มีการควบคุมในลักษณะอื่น
กลุ่มประเทศเหล่านี้ห้ามการเผยแพร่โพลเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งและจำกัดเวลาการเผยแพร่เอ็กซิทโพลจนกว่าจะสิ้นสุดเวลาเลือกตั้ง แต่ไม่มีการควบคุมในลักษณะอื่นอีก ซึ่งจำแนกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้ดังต่อไปนี้ อนึ่ง จำนวนวันและชั่วโมงซึ่งระบุไว้ในที่นี้ หมายถึง จำนวนวันและจำนวนชั่วโมงก่อนวันเลือกตั้ง เว้นแต่ จะได้ระบุเป็นอย่างอื่น
(1) ระดับเข็มงวดมาก คือตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งตลอดช่วงที่มีการเลือกตั้ง ประเทศญี่ปุ่นห้ามการเผยแพร่โพลเลือกตั้งโดยไม่ได้ระบุเวลาไว้(23) แต่ในทางปฏิบัติ มีการตีความกฎหมายที่ผ่อนปรนอย่างมาก ประเทศลักเซมเบริก์ห้ามเป็นเวลา 1 เดือน ประเทศเอลซัลวาดอร์ห้าม 15 วันก่อนวันเลือกตั้งและจนกว่ามีการประกาศผลการเลือกตั้งรวม 16 วัน ประเทศกรีซห้าม 15 วัน ประเทศยูเครน 15 วัน(24)
(2) ระดับปานกลาง คือตั้งแต่ 5 วันแต่ไม่เกิน 14 วันได้แก่ ประเทศไต้หวัน 10 วัน (เฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่านั้น ไม่รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 10 วัน ประเทศฮังการีห้าม 8 วัน ประเทศเชก 7 วัน ประเทศบัลแกเลีย 7 วัน (จากเดิม 14 วัน) ประเทศสโลเวเนีย 7 วัน ประเทศไซปรัส 7 วัน ประเทศอุรุกวัย 7 วัน ประเทศมอนเตเนโก ห้าม 7 วัน (และห้ามสื่อของรัฐทำเอ็กซิทโพล) ประเทศตุรกี 7 วัน ประเทศไทย 7 วัน ประเทศเปรู 6 วัน (เดิม 15 วัน และหากฝ่าฝืนมีเฉพาะโทษปรับเท่านั้น) ประเทศอัลบาเนีย 5 วัน ประเทศมาซิโดเนีย 5 วัน
(3) ระดับเล็กน้อย คือต่ำกว่า 5 วัน ได้แก่ ประเทศอาร์เจนติน่า 60 ชั่วโมง ประเทศโรมาเนียห้าม 2 วัน ประเทศโบลิเวีย 2 วัน ประเทศเวเนซูเอล่า 2 วัน ประเทศคอสตาริก้า 2 วัน ประเทศโปแลนด์ 1 วัน (เดิมก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปห้าม 12 วัน) ประเทศเนปาล 1 วัน ประเทศอิสราเอล 1 วัน และประเทศโครเอชีย 24 ชั่วโมง
3.2.4 ห้ามการเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล และควบคุมในลักษณะอื่นด้วย
กลุ่มประเทศเหล่านี้ห้ามการเผยแพร่โพลเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งและจำกัดเวลาการเผยแพร่เอ็กซิทโพลจนกว่าจะสิ้นสุดการเลือกตั้ง และมีการควบคุมการทำและการเผยแพร่ในลักษณะอื่นควบคู่กันไปด้วย แบ่งออกเป็น
(1) ระดับเข็มงวดมาก คือตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป ได้แก่ ประเทศอิตาลีห้าม 15 วัน และการเผยแพร่ก่อนหน้านั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่น ๆ ด้วย
(2) ระดับปานกลาง คือตั้งแต่ 5 วันแต่ไม่เกิน 14 วัน ได้แก่ ประเทศปานามา 10 วันประเทศเม็กซิโก 8 วัน ประเทศเกาหลีใต้ห้าม 6 วัน และประเทศรัสเซีย 5 วัน โดยการเผยแพร่ก่อนหน้านั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่น ๆ ด้วย
(3) ระดับเล็กน้อย ได้แก่ ประเทศสเปน 3 วัน ประเทศมาลาวี 48 ชั่วโมง(25) ประเทศฝรั่งเศส 1 วัน และประเทศโปรตุเกส 1 วัน โดยการเผยแพร่ก่อนหน้านั้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่น ๆ ด้วย
3.2.5 จำกัดเวลาการเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพลเฉพาะในวันเลือกตั้ง พร้อมทั้งควบคุมในลักษณะอื่นด้วย
กลุ่มประเทศเหล่านี้จำกัดเวลาการเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพลเฉพาะในวันเลือกตั้งจนกว่าจะสิ้นสุดการเลือกตั้ง พร้อมกันนั้นยังมีการควบคุมการทำและการเผยแพร่ในลักษณะอื่นควบคู่กันไป ได้แก่ประเทศแคนาดา (เดิมห้าม 72 ชั่วโมงแต่ศาลสูงสุดตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ) และประเทศสโลวาเกีย(26) (เดิมห้าม 14 วัน) ประเทศโคลัมเบีย เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (มีเพียงคู่มือปฏิบัติที่ออกโดย กกต. แต่ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย) มลรัฐวิกตอเรียของประเทศออสเตรเลีย
3.3 เหตุผลสนับสนุนการควบคุมโพลเลือกตั้ง
3.3.1 โพลเลือกตั้งมีอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่า โพลเลือกตั้งนั้นส่วนหนึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนเช่น กระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิมากขึ้นเพราะผู้สมัครที่ตนเชียร์อาจจะแพ้ได้ถ้าไม่ออกไปใช้สิทธิ โดยเฉพาะในกรณีที่ผลโพลระบุว่า ผู้สมัครรายต่าง ๆ มีคะแนนสูสีกัน ทำให้ไม่ออกไปใช้สิทธิเพราะเห็นว่า ผู้สมัครที่ตนเชียร์ชนะแน่ ๆ หรือแพ้แน่ ๆ และหนึ่งคะแนนเสียงของตนนั้นไม่มีความหมายอะไรนัก และที่สำคัญ โพลเลือกตั้งมีอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นต้นว่า การเห่อตามกระแส (Bandwagon Effect) เลือกพรรคหรือผู้สมัครที่ผลโพลชี้ว่าคะแนนนำเพราะอยากอยู่กับฝ่ายผู้ชนะ การเห็นใจมือรอง (Underdog Effect) เลือกพรรคหรือผู้สมัครที่คะแนนตามหลังเพราะความเห็นใจ หรือทำให้เกิดการลงคะแนนเชิงกลยุทธ์ (Tactic Voting) เช่นเห็นว่าผู้สมัครของพรรคที่ตนชื่นชอบจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งแน่ ๆ จึงหันไปเชียร์ผู้สมัครของพรรคพันธมิตร เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเหตุผลทำให้รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศออกกฎหมายควมคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้ง และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น(27) นอกจากนี้ ฝ่ายสนับสนุนการควบคุมโพลเลือกตั้งยังเห็นว่า โพลเลือกตั้งเป็นการทำลายคุณค่าของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเพราะทำให้ประชาชนหมกมุ่นกับตัวเลขคะแนนนิยมแทนที่จะใส่ใจกับเนื้อหาสาระของการหาเสียงเช่น คุณสมบัติและคุณลักษณะเฉพาะตัวของผู้สมัคร หรือนโยบายของพรรค ส่งผลให้เป็นประชาธิปไตยที่มีเพียงแต่ ปริมาณ และขาด คุณภาพ
3.3.2 โพลเลือกตั้งไม่มีความน่าเชื่อถือ
ในสังคมตะวันตก ปัญหาความน่าเชื่อถือของโพลเลือกตั้งกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทุกครั้งที่ปรากฎว่า ผลโพลตรงกันข้ามกับผลการเลือกตั้ง แต่สำหรับสังคมไทยนั้น ไม่ว่าผลโพลจะถูกต้องตรงตามผลการเลือกตั้งหรือไม่ ปัญหาสำคัญกลับอยู่ที่ส่วนหนึ่งของสังคมตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานและคุณภาพของการทำโพลในบ้านเรา เป็นต้นว่า ผู้ทำโพลมีองค์ความรู้เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยและสถิติเพียงพอหรือไม่ การเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการอย่างไร มีการกระจายกลุ่มตัวอย่างไปตามลักษณะเฉพาะทางประชากรและพื้นที่หรือไม่ ตั้งคำถามถูกต้องหรือไม่ ใช้วิธีการสำรวจอย่างไร มีการสำรวจจริงหรือไม่ ประมวลและวิเคราะห์ออกมาถูกต้องแม่นยำเพียงไร คำถามเหล่านี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายมองว่า จำเป็นต้องห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งในประเทศไทย
3.3.3 โพลเลือกตั้งเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างข่าว หาเสียง และทำลายฝ่ายตรงข้าม
ไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันตก สังคมไทย หรือสังคมใด ๆ ที่ยินยอมให้ทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งได้ โพลเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมืองใช้ในการสร้างกระแสข่าวให้กับตนเอง ให้อยู่ในความสนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยหวังจะให้มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สร้างขวัญกำลังให้ตนและทีมงานหาเสียงของตน และเมื่อคะแนนนิยมดี ก็จะได้รับการสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ จากภาคธุรกิจมากขึ้น ทั้งยังเป็นทำลายขวัญกำลังใจของผู้สมัครและพรรคการเมืองคู่แข่ง ปัญหานี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะสำนักโพลยินยอมเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนหรือเพราะความนิยมชมชอบเป็นการส่วนตัวของผู้ทำโพล หรือเพราะนักการเมืองเองที่เป็นตัวการกุข่าว สร้างโพลลวง โพลปลุกระดมโดยยืมมือสื่อมวลชน หรือสื่อมวลชนรู้เห็นเป็นใจช่วยเหลือเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง
3.3.4 โพลเลือกตั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อเสียง
เหตุผลสนับสนุนการควบคุมโพลเลือกตั้งข้อนี้เป็นเหตุผลเฉพาะของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายอันได้แก่ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย เพราะการซื้อสิทธิขายเสียงนั้นไม่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก ผู้สมัครและพรรคการเมืองต่าง ๆ จะทำโพลเพื่อดูว่า คะแนนเสียงของตนยังอ่อนในเขตใดและแข็งในเขตใด จากนั้นก็จะทุ่มเงินซื้อเสียงลงไปในเขตที่คะแนนเสียงอ่อน เพราะในเขตที่ผู้สมัครรายนั้นเป็นที่นิยมของประชาชนอยู่แล้ว การให้เงินซื้อเสียงมากน้อย ไม่ได้สลักสำคัญอะไรต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทย มีความเห็นว่า เอ็กซิทโพลอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบผลการซื้อเสียงว่า ประชาชนในหน่วยเลือกตั้งหนึ่ง ๆ เลือกผู้สมัครรายนั้นตามสมกับจำนวนเงินที่ทุ่มลงไปหรือไม่
3.3.5 โพลเลือกตั้งถูกใช้ในการพนันผลการเลือกตั้ง
ในบางประเทศเช่น อินเดีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไทย เหตุผลหนึ่งที่ภาครัฐใช้ในการออกกฎหมายควบคุมการเผยแพร่โพลเลือกตั้งเพราะว่า มีการใช้โพลเลือกตั้งในการกำหนดอัตราต่อรองการพนันผลการเลือกตั้ง ซึ่งลำพังเพียงการพนันผลการเลือกตั้งอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งเท่าใดนัก และก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ ในสังคมตะวันตกเช่นที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้คนในประเทศเหล่านี้ ไม่ได้เล่นพนันแต่อย่างเดียว แต่ด้วยความกังวลว่าจะแพ้พนัน จึงพยายามโน้มน้าวหรือบังคับให้คนในครอบครัวและคนรู้จักไปเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่จะทำให้ตนชนะพนันด้วยเช่น ถ้าแทงพนันว่า นาย ก. จะชนะการเลือกตั้งในเขตนี้ ก็จะไปเกณฑ์คนในครอบครัวให้ไปเลือกนาย ก. นักการเมืองเองก็ตระหนักถึงลักษณะนิสัยข้อนี้ดี ในระยะหนึ่ง จึงได้มีกลยุทธการซื้อเสียงแบบใหม่โดยใช้อัตราต่อรองการพนันเป็นเครื่องมือช่วยทำให้ตนชนะการเลือกตั้ง
3.3.6 เอ็กซิทโพลทำลายหลักการเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยลับ
หลายประเทศที่พยายามจะควบคุมการทำเอ็กซิทโพลต่างกล่าวอ้างเหตุผลว่า การทำเอ็กซิทโพลนั้นขัดต่อหลักการพื้นฐานของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ว่า การเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยลับ (Secret Ballot) หลักการนี้มีขึ้นเพื่อรับรองให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองของตนได้อย่างอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความกลัว เพราะหากยินยอมให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองสามารถรู้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดไม่เลือกตน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะไม่กล้าแสดงเจตจำนงที่แท้จริงออกมา ด้วยเหตุนี้ สนธิสัญญาระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของหลาย ๆ ประเทศจึงได้รับรองหลักการ Secret Ballot นี้ และเนื่องจากการทำเอ็กซิทโพลเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้รู้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนใดเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครรายใด ดังนั้น การทำเอ็กซิทโพลจึงย่อมละเมิดต่อหลักการดังกล่าว(28)
4. รูปแบบและวิธีการควบคุมโพลเลือกตั้ง: บทวิเคราะห์เปรียบเทียบ
ในบรรดาประเทศที่มีการควบคุมโพลเลือกตั้ง ทั้งประเทศที่ควบคุมเฉพาะการทำโพล ประเทศที่ควบคุมเฉพาะการเผยแพร่โพล และประเทศที่ควบคุมทั้งการทำและการเผยแพร่โพล ไม่ว่าประเทศนั้น ๆ จะใช้มาตรการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งในช่วงเวลาที่กำหนดร่วมด้วยหรือไม่ กฎหมายของประเทศดังกล่าวมักจะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการควบคุมโพลเลือกตั้งในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
4.1 โพลที่เข้าข่ายต้องควบคุม
กฎหมายเกือบทุกประเทศควบคุมเฉพาะโพลที่สะท้อนความนิยมของประชาชนที่มีต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองหรือแนวโน้มการออกเสียงเลือกตั้ง ดังที่ในงานวิจัยนี้เรียกว่า โพลเลือกตั้ง (Election Poll) บางประเทศครอบคลุมไปถึงผู้ที่ยังไม่ได้สมัครแต่ภายหลังได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ดี บางประเทศเช่น เม็กซิโก ควบคุมโพลทุกชนิดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าโพลนั้นจะบ่งขี้คะแนนนิยมหรือไม่ ดังที่เรียกรวม ๆ ว่า โพลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (Election Related Poll) โปรตุเกสมีกฎหมายควบคุมโพลทางการเมืองทุกประเภท
4.2 องค์กรซึ่งทำหน้าที่ควบคุมโพลเลือกตั้ง
ประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดให้องค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดการและควบคุมการเลือกตั้งในประเทศนั้น ๆ ซึ่งปกติคือ คณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่ควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งด้วย เช่นประเทศแคนาดา ประเทศสเปน ประเทศเกาหลีใต้ บางประเทศเช่น อาร์เจนติน่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการกระจายเสียงแห่งสหพันธรัฐ แต่ก็มีบางประเทศเช่น ฝรั่งเศสมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
4.3 ช่วงเวลาที่มีการควบคุม
กฎหมายของประเทศต่าง ๆ จะควบคุมการทำและการเผยแพร่โพลเลือกตั้งเฉพาะช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น(29) ซึ่งหมายความว่า ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น การทำและการเผยแพร่โพลเลือกตั้งเช่น ผลการสำรวจคะแนนนิยมของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง สามารถกระทำได้อย่างเสรีโดยไม่ข้อจำกัดทางกฎหมาย ในบางประเทศได้กำหนดเวลาควบคุมไว้เป็นที่แน่นอนเช่น ประเทศฝรั่งเศสและประเทศโปรตุเกส 2 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง แต่ประเทศส่วนใหญ่จะเริ่มมีการควบคุมตั้งแต่มีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งเช่น ประเทศแคนาดา ส่วนระยะเวลาจะสั้นยาวเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับกฎหมายแต่ละประเทศ แต่โดยปกติจะอยู่ในช่วง 45-60 วันก่อนวันเลือกตั้ง ยกเว้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นของไทยที่ประกาศ กกต. มีผลห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลาสูงสุดถึง 120 วัน
4.4 การควบคุมการทำโพลเลือกตั้ง
การควบคุมการทำโพลเลือกตั้งในประเทศต่าง ๆ มีลักษณะและวิธีการดังนี้
4.4.1 การห้ามทำโพลเลือกตั้ง
ทุกประเทศที่ศึกษาทั้งที่กฎหมายของประเทศนั้นบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง และประเทศที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ตรง ๆ ล้วนแล้วแต่ห้ามทำเอ็นทรานซ์โพล หรือการทำโพล หน้าหน่วยเลือกตั้งก่อนที่ประชาชนจะใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะถือว่า ขัดต่อหลักการเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยลับ (Secret Ballot) แต่ไม่มีประเทศใด ๆ ห้ามทำโพลเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งแบบเด็ดขาดเลย
ในส่วนของเอ็กซิทโพลนั้น ประเทศไทย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินเดีย ต่างเคยห้ามทำโพลเอ็กซิทโพลโดยอาศัยมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ในประเทศฟิลิปปินส์และอินเดียได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลสูงสุดและศาลพิพากษาว่า การห้ามทำโพลเลือกตั้งโดยมติ กกต. นั้นมิได้อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ เป็นอันใช้บังคับมิได้ ส่วนของประเทศไทย แม้จะมิได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลและ กกต. มิได้เพิกถอนมติของตน แต่ก็มิได้ดำเนินการใด ๆ กับผู้ที่ฝ่าฝืนทำเอ็กซิทโพล นอกจากนี้ ประเทศนิวซีแลนด์ได้ห้ามทำเอ็กซิทโพลจากผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าหรือการใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ จนกว่าจะสิ้นสุดเวลาเลือกตั้งของการเลือกตั้งครั้งนั้นแล้ว อนึ่ง กฎหมายเลือกตั้งของประเทศมอนเตเนโกยังห้ามเฉพาะห้ามสื่อของรัฐทำเอ็กซิทโพลด้วย
4.4.2 การกำหนดให้แจ้งหน่วยงานของรัฐก่อนดำเนินการ
ก่อนที่จะมีการทำโพล กฎหมายของบางประเทศกำหนดให้ ผู้ทำโพลต้องแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทราบล่วงหน้าก่อน อาทิเช่น ประเทศฝรั่งเศสทั้งการทำโพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพล ฮ่องกงเฉพาะเอ็กซิทโพลที่จะต้องแจ้งล่วงหน้า แต่บางประเทศเช่น มลรัฐโอกลาโฮมา หากจะทำเอ็กซิทโพลในบริเวณสถานที่เลือกตั้งต้องแจ้งเลขานุการคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งนั้นก่อน
4.4.3 การกำหนดข้อปฏิบัติหรือข้อห้าม
กฎหมายของหลายประเทศได้กำหนดข้อปฏิบัติหรือข้อห้ามสำหรับสำนักโพลและผู้ทำการสำรวจภาคสนามในการกระบวนการทำโพลเลือกตั้งซึ่งมีลักษณะร่วมกันข้อหนึ่งคือ การสำรวจความคิดเห็นต้องกระทำโดยสมัครใจ ห้ามบังคับขู่เข็ญด้วยวิธีการใด นอกจากนั้น กฎหมายอาจกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติและข้อห้ามอื่น ๆ เช่น กฎหมายเกาหลีใต้ กำหนดให้ ผู้ทำโพลต้อง (1) ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมเพื่อเลือกบุคคลที่สามารถแทนความคิดเห็นของกลุ่มสังคม (Strata) ที่เป็นเป้าหมายของการสำรวจได้ และ (2) แจ้งบุคคลที่ถูกสอบถามความคิดเห็นให้ทราบถึงชื่อของผู้ถามและชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ของสำนักโพลด้วย และยังห้ามมิให้ผู้ทำโพล (3) ตั้งคำถามที่มีลักษณะภาษาหรือรูปประโยคอย่างมีอคติ (4) กระตุ้นให้ผู้ที่ถูกสอบถามต้องตอบคำถาม (5) ตั้งคำถามที่มีลักษณะเป็นการชี้นำ (6) ทำการสำรวจเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อการพนัน และ (7) เปิดเผยชื่อของผู้ถูกสอบถาม นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการล๊อตตี้ของแคนาดาที่กำหนดไว้ในกฎหมายเลือกตั้งว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประชุมหารือร่วมกับสื่อมวลชนเพื่อจัดทำคู่มือปฏิบัติ (Professional Code of Conduct) สำหรับการทำและเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้ง แต่ข้อเสนอดังกล่าวมิได้รับการบัญญัติเป็นกฎหมายแต่อย่างใด
อนึ่ง ในส่วนของการทำเอ็กซิทโพล กฎหมายของบางประเทศยังกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ อาทิเช่น กฎหมายมลรัฐโอกลาโฮมากำหนดให้ผู้ทำเอ็กซิทโพลต้องติดบัตรที่เลขานุการ กกต. ออกให้ หรือในระยะ 50 150 ฟุตจากคูหาเลือกตั้ง จะสำรวจโดยวิธีเอกสารได้เท่านั้น ห้ามมิให้สอบถาม สัมภาษณ์ หรือใช้เครื่องมืออิเลกทรอนิกส์ใด ๆ และจะสอบถามได้เฉพาะผู้ที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น หรือกฎหมายฟิลิปปินส์กำหนดให้คนทำโพลต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเห็นเด่นชัดเจนและต้องแจ้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าเขามีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ตอบได้ด้วย
4.4.4 การกำหนดสถานที่หรือเขตห้ามทำเอ็กซิทโพล
เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยเรียบร้อย กฎหมายของทุกประเทศล้วนแล้วแต่ห้ามการทำเอ็กซิทโพลในบริเวณสถานที่เลือกตั้ง โดยกฎหมายบางประเทศเขียนระบุห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง เช่น กฎหมายฟิลิปปินส์ ห้ามทำเอ็กซิทโพลในในระยะ 50 เมตรจากหน่วยเลือกตั้ง ไม่ว่าการสอบถามจะกระทำในบ้าน ที่อยู่อาศัย และสถานที่อื่นใด กฎหมายเยอรมันห้ามหน้าประตูทางเข้าหน่วยเลือกตั้งแต่ไม่ห้ามหน้าประตูทางออก กฎหมายโอกลาโฮมาห้ามในระยะ 50 ฟุตจากที่ตั้งคูหาเลือกตั้ง กฎหมายมลรัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียห้ามทำโพลในระยะ 3 เมตรจากประตูทางเข้าอาคาร และสำหรับที่ฮ่องกง เจ้าหน้าที่อาจให้มีสถานที่เฉพาะเพื่อการทำเอ็กซิทโพลและต้องทำในบริเวณนั้น เป็นต้น
4.5 การควบคุมการเผยแพร่โพลเลือกตั้ง
การควบคุมการเผยแพร่โพลเลือกตั้งในประเทศต่าง ๆ มีลักษณะและวิธีการดังนี้
4.5.1 การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้ง
ประเทศส่วนใหญ่ที่ศึกษาจะห้ามการเผยแพร่เอ็กซิทโพลในวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนยกเว้นสหรัฐอเมริกา บราซิล ฟิลิปปินส์ และอินเดีย นอกจากนั้น บางประเทศมีการห้ามการเผยแพร่ทั้งโพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพลในช่วงเวลาเลือกตั้งดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
4.5.2 การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบก่อนเผยแพร่
กฎหมายของบางประเทศกำหนดให้ผู้ทำโพลเลือกตั้งส่งข้อมูลเกี่ยวกับผลโพลและระเบียบวิธีการทำโพลต่อคณะกรรมการตามกฎหมายก่อนการเผยแพร่ เช่น ในฝรั่งเศส ก่อนจะเผยแพร่ผลโพลออกสู่สาธารณะ ต้องแจ้งให้คณะกรรมการกำกับการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะทราบเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการทำโพล หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกและสุ่มกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างและองค์ประกอบของกลุ่มตัวอย่าง วิธีการถามคำถาม แบบสำรวจหรือแบบสอบถามทั้งหมด จำนวนและสัดส่วนบุคคลที่ไม่ตอบในแต่ละคำถาม ข้อจำกัดในการตีความผลการสำรวจ วิธีการอนุมาณผลการสำรวจ ฯลฯ ข้อกำหนดในลักษณะเช่นนี้ปรากฎในกฎหมายโปรตุเกสเช่นกัน บราซิลซึ่งกำหนดให้ส่งให้ล่วงหน้า 5 วันก่อนการเผยแพร่ และเม็กซิโกด้วย แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า กฎหมายของประเทศต่าง ๆ มิได้ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการห้ามหรือตัดทอน (Censor) เนื้อหาทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของผลโพลเลือกตั้ง
4.5.3 การกำหนดให้เผยแพร่ข้อมูลบางอย่างพร้อมกับผลโพล
กฎหมายของประเทศที่ควบคุมการเผยแพร่โพลเลือกตั้งล้วนแล้วแต่กำหนดให้ผู้เผยแพร่โพลเลือกตั้งต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำโพลพร้อม ๆ กับผลโพลเลือกตั้งด้วย เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประชาชนผู้รับสารในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของผลโพลเลือกตั้ง ทั้งนี้ กฎหมายของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันบ้างในเรื่องรายการของข้อมูลที่กฎหมายบังคับให้เผยแพร่ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น
ก. ข้อมูลพื้นฐานที่ทุกประเทศกำหนดไว้เหมือนกัน ได้แก่ ชื่อผู้ว่าจ้างหรือผู้สนับสนุนเงินทุนให้ทำโพล ชื่อสถาบันหรือสำนักโพลที่ทำโพล วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง เขตพื้นที่ที่ทำโพล วันหรือช่วงเวลาที่ทำโพล วิธีการเก็บข้อมูลเช่น การเดินสำรวจ หรือทางโทรศัพท์ ฯลฯ จำนวนผู้ตอบสำรวจ เนื้อหาคำถาม(30) ค่าความคลาดเคลื่อนที่อาจจะเกิดขึ้น (Margin of Error)
ข. ข้อมูลอื่น ๆ ได้แก่ กฎหมายฝรั่งเศสกำหนดให้ระบุข้อความว่า บุคคลใด ๆ มีสิทธิที่จะสอบถามและเสนอแนะเกี่ยวกับโพลนี้ต่อคณะกรรมการกำกับการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะได้ กฎหมายแคนาดากำหนดให้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องระบุวิธีการซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าถึงรายงานที่ผู้ว่าจ้างหรือผู้สนับสนุนเงินทุนในการทำโพลต้องจัดเตรียมไว้เพื่อการตรวจสอบ และที่น่าสนใจมากก็คือ หากเป็นโพลเทียม (Straw Polls) หรือการสำรวจที่มิได้กระทำขึ้นโดยวิธีการทางสถิติกฎหมายแคนาดายังบังคับให้ต้องระบุด้วยว่า ผลโพลนี้มิได้กระทำตามวิธีการทางสถิติอันเป็นที่ยอมรับ ด้วย นอกจากนั้น กฎหมายฟิลิปปินส์ให้ระบุที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อขอรายงานผลโพลได้ ตลอดจนค่าความคลาดเคลื่อนที่อาจจะเกิดขึ้น (Margin of Error) สำหรับคำถามบางคำถามที่สูงกว่าอัตราที่ระบุไว้สำหรับผลโพลในภาพรวม
4.5.4 การตรวจสอบภายหลังหลังการเผยแพร่
เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งเช่น พรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่ผลโพลบ่งชี้ว่า พ่ายแพ้การเลือกตั้ง สามารถตรวจสอบและโต้แย้งผล โพลดังกล่าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ความสมบูรณ์ถูกต้องของกระบวนการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล กฎหมายของหลายประเทศจึงได้กำหนดกลไกในการตรวจสอบโพลเลือกตั้งไว้ด้วย อาทิเช่น กฎหมายฝรั่งเศส กฎหมายเกาหลีใต้ และกฎหมายฟิลิปินส์กำหนดให้สำนักโพลต้องจัดเก็บเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำโพลเช่น แบบสำรวจหรือแบบสอบถามที่มีผู้ตอบแล้ว วิธีการเลือกบุคคลที่จะสอบถาม การสุ่มตัวอย่าง เนื้อหาคำถาม ผลการวิเคราะห์ ฯลฯ กระดาษคำตอบทั้งหมด เอกสารผลการวิเคราะห์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบได้ตามที่เห็นสมควร หรือเมื่อมีการร้องเรียน โดยกฎหมายเกาหลีใต้กำหนดเวลาไว้ถึง 6 เดือนภายหลังวันเลือกตั้ง นอกจากนี้ กฎหมายแคนาดายังกำหนดให้สำนักโพลจัดทำรายงานเกี่ยวกับโพลซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ ให้แก่ผู้ร้องขออีกด้วย และที่น่าสนใจก็คือ กฎหมายเม็กซิโกเปิดช่องให้ กกต. จัดการอภิปรายหรือโต้วาทีสาธารณะเกี่ยวกับผลโพลเลือกตั้งที่เผยแพร่ไปแล้วได้หากพรรคการเมืองหรือผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีร้องขอ
4.5.5 การบังคับให้เผยแพร่ซ้ำเพื่อแก้ไขความผิดพลาด
กฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสเปนมีจุดเด่นร่วมกันตรงที่ให้อำนาจคณะกรรมการกำกับการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะของฝรั่งเศส หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งของสเปนสั่งให้สื่อที่ได้เผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งไปแล้วทำการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ตรวจพบความผิดพลาดและได้แก้ไขความผิดพลาดนั้นแล้ว โดยต้องเผยแพร่ในลักษณะเดิมที่มีการเผยแพร่เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ กฎหมายฝรั่งเศสยังให้อำนาจคณะกรรมการสั่งเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งใหม่ที่ถูกต้องหรือรายงานความผิดพลาดของผลโพลดังกล่าวดังกล่าวผ่านสื่อโทรทัศน์ในนามคณะกรรมการได้
4.6 สภาพบังคับและโทษ
ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ตีพิมพ์ในช่วงเวลาต้องห้าม หรือตีพิมพ์โดยให้ข้อมูลไม่ถูกต้องย่อมมีความผิดตามกฎหมาย แต่ทั้งนี้ สภาพบังคับและโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมากเป็นต้นว่า กฎหมายเยอรมันและกฎหมายฝรั่งเศสกำหนดเป็นโทษปรับทางปกครอง ไม่เกิน 50,000 ยูโร และ 75,000 ยูโร โดยลำดับ กฎหมายนิวซีแลนด์กำหนดโทษปรับ 5,000 ดอลล่าร์นิวซีแลนด์ กฎหมายแคนาดาแม้เป็นความผิดอาญาแต่ก็มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 25,000 ดอลล่าร์แคนาดา กฎหมายเกาหลีใต้กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 4 ล้านวอน กฎหมายฟิลิปปินส์กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงหกปีโดยไม่อาจรอการลงโทษได้ และผู้กระทำผิดยังอาจถูกห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและถูกตัดสิทธิเลือกตั้งอีกด้วย นอกจากนื้ กฎหมายฝรั่งเศสยังกำหนดให้ต้องโฆษณาคำพิพากษาด้วยวิธีการอย่างเดียวกันกับการเผยแพร่โพลเลือกตั้งที่เป็นความผิดด้วย
เชิงอรรถ
1. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดเมื่อพ้นบริเวณที่เลือกตั้ง ลงวันที่ 3 มกราคม 2544 ลงนามโดยนายธีรศักดิ์ กรรมสูต ประธาน กกต.
2. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การห้ามประกาศ โฆษณา หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนเท่าใด ลงวันที่ 18 มกราคม 2545 ลงนามโดยพลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ ประธาน กกต.
3. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การห้ามประกาศ โฆษณา หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนเท่าใด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2546 ลงนามโดยพลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.
4. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, เอกสารแถลงข่าวกรณีการจัดทำผลสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้ง, 28 สิงหาคม 2547.
5. มาตรา 11 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
6. มาตรา 150 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550
7. แม้เนื้อความในเอกสารแถลงข่าวของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะใช้ถ้อยคำว่า จึงใคร่ขอให้...ระงับการจัดทำการสำรวจผลหน้าหน่วยเลือกตั้ง (เอ็กซิทโพลล์) แต่การแถลงข่าวและคำสัมภาษณ์ของประธาน กกต. หลายครั้งต่อมาแสดงว่า กกต. มีมติสั่ง ห้าม มิใช่ ขอความร่วมมือ แต่ประการใด อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สำนักโพลและสื่อมวลชนพร้อมใจคัดค้านและฝ่าฝืนทำเอ็กซิทโพล ทำให้ กกต. ไม่กล้าดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืน
8. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, เอกสารแถลงข่าวกรณีการจัดทำผลสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้ง, 28 สิงหาคม 2547.
9. สัมภาษณ์นายสมชาติ เจศรีชัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550.
10. สัมภาษณ์ ดร.นพดล กรรณิกา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2551.
11. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ลต (กกต.) 0601/18218 (ด่วนที่สุด) ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ลงนามโดยนายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.
12. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา ที่ ลต (นม) 0704/ ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ลงนามโดยพลเอกวีรวุท ส่งสาย ประธาน กกต. ประจำจังหวัดนครราชสีมา
อนึ่ง ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ในหนังสือดังกล่าวใช้คำว่า ห่างจากหน่วยเลือกตั้งในรัศมี 100 เมตร น่าจะเป็นการสับสนในการใช้คำระหว่างคำว่า หน่วยเลือกตั้ง และ ที่เลือกตั้ง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วน่าจะเป็นคำว่า ที่เลือกตั้ง มากกว่า เนื่องจาก มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 กำหนดบทนิยามคำว่า หน่วยเลือกตั้ง ว่าหมายถึง ท้องถิ่นที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเลือกตั้ง และคำว่า ที่เลือกตั้ง ว่าหมายถึง สถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงบริเวณที่กำหนดขึ้นโดยรอบที่เลือกตั้ง
13. เป็นข้อเสนอของนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550 มาตรา 94 วรรคสาม ได้เปลี่ยนกลับไปให้นับคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 81 ได้กำหนดให้นับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งแล้ว เนื่องจาก ประสบการณ์ในการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 พบว่า มีการซื้อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งยกหน่วย และช่วยกันโกงเลือกตั้งโดยการเปลี่ยนหีบบัตรทั้งหีบ หรือนำบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายไว้แล้วใส่ลงไปในหีบบัตร ระหว่างการขนย้ายหีบบัตรของแต่ละหน่วยไปยังสถานนับคะแนนกลางประจำเขตเลือกตั้ง
14. โปรดดู มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 134 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
15. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การห้ามประกาศ โฆษณา หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนเท่าใด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2546 ลงนามโดยพลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.
16. มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545
17. ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2547 นั้น ประกาศ กกต. ฉบับนี้มีผลเป็นการห้ามเผยแพรโพลเลือกตั้งผู้ว่า กทม. รวม 99 วัน โปรดดู Opinion-poll ban bone of contention, THE NATION , May 15, 2004.
18. มาตรา 44 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545
19. ร่างเดิมที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติห้ามเผยแพร่โพลเป็นเวลา 7 วัน แต่ถูกแก้ไขเหลือ 3 วันในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ โปรดดู รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ....
20. วิเคราะห์และสังเคราะห์ผลการศึกษาโดยอาศัยข้อมูลจาก
(1) การค้นข้อมูลกฎหมายจากเวปไซต์รัฐสภา กระทรวงยุติธรรม สำนักงานข้อมูลข่าวสาร และคณะกรรมการการเลือกตั้งของประเทศต่าง ๆ
(2) การได้รับข้อมูลผ่านทาง E-mail จากองค์กรเอกชนด้านเสรีภาพสื่อมวลชนและการวิจัยตลาด
(3) Frits Spangenberg, The Freedom to Publish Opinion Poll Results: Report on the World Update, Amsterdam: Foundation for Information and World Association for Public Opinion Research, 2003. downloaded from www.unl.edu/WAPOR/Opinion%20polls%202003%20final%20version.pdf
(4) Article 19 Global Campaign for Free Expression, Comparative Study of Laws and Regulations Restricting the Publication of Electoral Opinion Polls, London: 2003, p 7. downloaded from http://www.article19.org/pdfs/publications/opinion-polls-paper.pdf
(5) Tim Bale, Restricting the Broadcast and Publication of Pre-Election and Exit Polls: Some Selected Examples, Representation, Vol. 39 No. 1, 2002, p. 19-20.
21. Frits Spangenberg, เรื่องเดิม, หน้า 13.
22. Section 109, ELECTORAL ACT NO. 73 of 1998 และ Section 76, MUNICIPAL ELECTORAL ACT NO. 27 of 2000.
23. Public Offices Election Act, Section 138 (3).
24. Article 64 of Law on Elections of the President of Ukraine No. 1630-IV of April 2004 แต่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ยังไม่มีข้อห้าม
25. Parliamentary and Presidential Elections Act 1993.
26. Law No. 333/2004
27. คำสัมภาษณ์ของพลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. โปรดดู EC chief issues warning to pollsters, THE NATION , Dec 27, 2004.
28. คำสัมภาษณ์ พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ ELECTION CAMPAIGNING : Universities slam ECs polling ban, THE NATION, Sep 9, 2004
29. ยกเว้นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ห้ามเผยแพร่โพลทุกรูปแบบ
30. กฎหมายแคนาดากำหนดบังคับเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|