หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 239
23 พฤษภาคม 2553 20:33 น.
ครั้งที่ 239
       สำหรับวันจันทร์ที่ พฤษภาคม 24 ถึงวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553
       
       “สงสารประเทศไทย”
       
       ผมอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงเริ่มต้นของการ “สู้รบ” กันที่กรุงเทพมหานคร ภาพข่าวที่ได้เห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน !!! แผ่นป้ายเตือนผู้ชุมนุม “พื้นที่การใช้กระสุนจริง” ที่อุตส่าห์เขียนเตือนเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วยว่า “Life Firing Zone” นั้นสร้างความเศร้าใจให้กับผมเป็นอย่างมาก ไปไหนเจอคนรู้จักก็จะถูกถามว่าทำไมบ้านเราถึงเป็นอย่างนี้ไปได้ เพื่อนหลายๆคนที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยและรักประเทศไทยต่างก็บ่น “เสียดาย” กับ “สิ่งดีๆ” ที่มีอยู่ในบ้านเรา เพราะในวันนี้ “สิ่งร้ายๆ” ที่เกิดขึ้นได้ลบภาพความสวยงามของประเทศไทยไปหมดแล้วครับ
       เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกเศร้าใจขึ้นไปอีก ขับรถผ่านไปทางไหนก็เจอแต่กองขยะเต็มไปหมด การจราจรในบางพื้นที่ถูกกีดขวางโดยลวดหนาม มีทหารถืออาวุธยืนทั่วกรุงเทพฯ ควันสีดำลอยเป็นหย่อมๆ ผู้คนหายไปไหนหมดก็ไม่ทราบ ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่า นี่คือกรุงเทพมหานครที่เรารู้จัก !!! อยู่กรุงเทพฯได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็เกิดการ “กระชับพื้นที่” ขึ้น ซึ่งก็นำมาสู่การยุติการชุมนุมโดยแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงขอมอบตัว จากนั้นก็เกิดความวิบัติขึ้นในกรุงเทพมหานคร นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของเราครับ
       ผมมองดูเหตุการณ์ต่างๆผ่านสื่อเท่าที่พอจะดูได้ พยายามเข้าเว็บไซต์จำนวนหนึ่งแต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ได้รับรู้จึงแทบจะเรียกได้ว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับจากภาครัฐแต่เพียงด้านเดียว แต่จากข้อมูลด้านเดียวนี้เองที่ทำให้ผมคิดอะไรได้มากเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ ก็คงต้องขอนำเอาสิ่งที่ผมได้รับฟังมาด้านเดียวแล้วก็นำไปวิเคราะห์เท่าที่สติปัญญาของตัวเองพอทำได้มาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ อ่านแล้วก็ไม่ต้องเชื่อหรือให้ความสำคัญอะไรมากมายนัก เพราะมาจากข้อมูลด้านเดียวบวกกับความคิดของคนๆ เดียวครับ !
       คงต้องเริ่มจากวิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้ “มาตรการกระชับพื้นที่” ของรัฐบาลก่อน ก็เป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างมากที่รัฐบาลปล่อยให้กลุ่มคนเสื้อแดงทำผิดกฎหมายอยู่กลางถนนสาธารณะและกลางเมืองได้เป็นเวลา 2 เดือนโดยไม่ “รีบเร่ง” แก้ปัญหาให้กับชาวกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อพอจะทำ กลับเป็นการทำที่ “ไม่มีระบบ” รองรับเท่าที่ควรในขณะทำทั้งๆที่ได้มีการยื่นคำขาดให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ล่วงหน้ามาแล้วหลายครั้ง ลองดูจากภาพที่เราเห็นนะครับว่า การพังรั้วยางรถยนต์และไม้ไผ่บริเวณแยกสีลมที่ใช้รถยานเกราะขนาดเล็กที่กว่าจะทลายลงไปได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร ผมว่าน่าจะมีวิธีอื่นที่ทำได้ดีกว่านั้นและเร็วกว่านั้น เช่นการใช้น้ำแรงดันสูงฉีดหรือการใช้รถแทรกเตอร์เข้าไปทลาย เรื่องนี้ผมอาจคิดไปเองก็ได้ว่าไม่มีระบบเพราะผมไม่รู้จักยุทธวิธีทางการทหาร แต่ทหารเองคงคิดว่าเป็นระบบแล้ว เพราะข่าวที่ออกมาภายหลังจากวันที่ 20 พฤษภาคมก็คือ บริเวณนั้นมีอาวุธสงคราม มีระเบิด มีผู้ก่อการร้ายทั้งบนพื้นดินและอยู่บนตึกสูงคอยลอบยิง เรียกได้ว่ามีแต่ผู้ร้ายและอาวุธเต็มบริเวณไปหมด ข่าวลักษณะแบบนี้ยิ่งทำให้ผมสงสัยมากขึ้นไปอีกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทำไมทหารถึงไม่ใช้วิธีการส่งคนเข้าไปแทรกซึมหรือเข้าไปหาทางจัดการกับทั้งผู้ร้ายและอาวุธเหล่านั้นครับ ปล่อยให้เกิดการซ่องสุมผู้คนและอาวุธจำนวนมากกลางเมืองหลวงของประเทศตามข่าวที่ได้แจ้งให้กับประชาชนทราบได้อย่างไร และนอกจากนี้แล้ว เมื่อเกิดการกระชับพื้นที่ขึ้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าในขณะทำนั้น ผู้ทำคิดถึงแต่เพียงมาตรการสลายการชุมนุมหรือคิดถึงมาตรการรองรับสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุม เช่น การควบคุมฝูงชนหรือการป้องกันวินาศกรรมเอาไว้ด้วยหรือไม่ เพราะดูจากข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ทหารได้นำเอาเสียงของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่พูดต่างกรรมต่างวาระกันมาแสดงให้ประชาชนทราบว่า มีการเตรียมการที่จะเผากรุงเทพมหานครเอาไว้ล่วงหน้า แต่ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น ทำไมถึงไม่มีการระดมรถดับเพลิงจากทั่วกรุงเทพมหานครมาไว้ในบริเวณใกล้เคียงครับ ปล่อยให้เกิดไฟไหม้กว่า 30 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร หากทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดการเผากรุงเทพมหานครเช่นที่ออกข่าวมาในภายหลัง การป้องกันก็น่าจะทำได้ดีกว่านี้มาก เพียงแค่อาคารเซ็นทรัลเวิลด์เพียงอาคารเดียวซึ่งเข้าออกได้หลายทางมาก ทหารก็น่าจะเข้าไปเตรียมป้องกันหรือยึดเอาไว้ก่อนที่จะเกิดการกระชับพื้นที่แล้วนะครับ และนอกจากนี้แล้ว แม้มาตรการกระชับพื้นที่ของรัฐบาลจะเกิดผลดีกับชาวกรุงเทพมหานครในภาพรวม แต่ถ้าหากวางแผนอย่างเป็นระบบ คงไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกตัดน้ำ ตัดไฟ อยู่ท่ามกลางสมรภูมิ ท่ามกลางควันจากการเผายางไม่สามารถเข้าออกบ้านตัวเองได้ ได้รับความลำบากเหมือนตกนรกทั้งเป็นก็ว่าได้
       ที่ผมกล่าวไปข้างต้นก็คือสิ่งที่ผมคิดโดยมีฐานมาจากสิ่งที่ผมเห็นผ่านสื่อของรัฐในช่วงระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคมที่ผ่านมานะครับ
       สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง มีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้ตั้งคำถามกับตัวเองก็คือ ความผิดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ใครจะต้องรับผิดกันบ้าง ก็อย่างที่เราทราบกันอยู่นะครับว่า “กฎหมายพิเศษ” ที่ออกโดยรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และก็ได้ถูกคัดค้านเป็นอย่างมากในขณะนั้น ใครคัดค้านก็ไปดูกันเอาเองนะครับ กลับไม่ได้รับการแก้ไขหรือยกเลิก แถมยังถูกนำเอามาใช้ในรัฐบาลชุดปัจจุบันอีกหลายต่อหลายครั้ง ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เพราะฉะนั้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องทรัพย์สินหรือชีวิต กฎหมายดังกล่าวยกเว้นโทษให้กับ “ภาครัฐ” เอาไว้ล่วงหน้าแล้วครับ ก็เรียกได้ว่า รอดกันไปหมดทั้งผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติ แต่หากจะคิดลงไปให้ลึกกว่านี้ คงปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า แม้ในตัวบทกฎหมายจะกำหนดให้ผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติไม่ต้องรับผิดใดๆ แต่การตัดสินใจและการดำเนินการจนเป็นเหตุให้มีคนเจ็บ คนตายจำนวนมาก เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินทั้งของรัฐและของเอกชนอย่างมากมาย ผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติจะรู้สึกอย่างไรครับ ครอบครัว พี่น้อง เพื่อนฝูงของพวกท่านจะรู้สึกกันอย่างไรครับ !!! ความรับผิดชอบทางศีลธรรม และความรับผิดชอบทางการเมืองยังเป็นสิ่งที่ "มีตัวตน" อยู่นะครับ !!!
       อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายพิเศษจะยกเว้นโทษและความรับผิดทางกฎหมายเอาไว้ล่วงหน้า แต่เราก็คงต้องมาพิจารณาดูว่าใครจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ส่วนใครจะได้รับการยกเว้นโทษและความรับผิดตามกฎหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยอำนาจหน้าที่ ศีลธรรม จริยธรรม มโนธรรม และอื่นๆ คงปฏิเสธไม่ได้นะครับว่านี่คือความผิดประเภทหนึ่ง แต่เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าไม่ต้องรับผิดเท่านั้นครับ
       ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบเป็นลำดับแรกก็คือ “แกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดง” ที่พาคนมาชุมนุมอยู่บนทางสาธารณะ สร้างความลำบากเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ทำผิดกฎหมายหลายๆอย่างและมีส่วนทำให้ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และเมื่อจะยุติการชุมนุมก็ทำอย่างรีบเร่ง ไม่มีการเตรียมแผนการรองรับและไม่มีแผนการป้องกันเหตุร้ายเอาไว้ทั้งๆที่รัฐบาลก็ประกาศอยู่ตลอดเวลาว่ามีผู้ก่อการร้ายอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ดังนั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้น บรรดาแกนนำทั้งหลายจึงต้องรับผิดชอบ ผมไม่ได้คิดไปเอง เพราะในประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะนั้น ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะจะต้องรับผิดชอบต่อการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมนั้นครับ ส่วนผู้ที่จะต้องรับผิดชอบเป็นลำดับต่อมาก็คือ “รัฐบาล” แน่นอนอยู่แล้วครับที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของตน เป็นไปได้อย่างไรที่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมยึดถนนสาธารณะกีดขวางทางจราจรอยู่เป็นเวลา 2 เดือนต่อเนื่องกันโดยไม่สามารถทำอะไรได้ เรื่องนี้คงต้องนำมาพูดกันต่อเพื่อมิให้เกิดการนำไปอ้างอิงในทางที่ผิดๆต่อไปในอนาคตว่า ทีรัฐบาลก่อนหน้านี้ยังทำอย่างนี้ได้เลย ทำไมรัฐบาลนี้จะทำไม่ได้
       ในบรรดาความรับผิดของรัฐบาลนั้น ที่ได้ยินจากข่าวหลังวันที่ 19 พฤษภาคม ทำให้ผมรู้สึกว่ารัฐบาลพยายามปฏิเสธความรับผิดหลายๆอย่าง ทหารยิงประชาชนก็มีข่าวว่ามีผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม บางข่าวก็ว่ามีกองกำลังติดอาวุธคอยสร้างสถานการณ์ ก็ไม่เป็นไรครับ นี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยเราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ผมว่าในวันนี้หน้าที่ของรัฐบาลก็คือ ต้องทำให้ความจริงปรากฎ ต้องจับให้ได้ว่าใครคือผู้ก่อการร้าย ใครคือกองกำลังติดอาวุธ ใครคือ sniper ที่คอยลอบยิงประชาชน ต้องเอาตัวมาให้ดูให้ได้ เช่นเดียวกับ “แผนล้มเจ้า” ที่ได้นำเสนอออกไปเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากของสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาพูดกันเล่นๆ ว่าแต่ว่าวันนี้ดำเนินการไปถึงไหนแล้วครับ !!! เวลาผ่านไปเกือบเดือนน่าจะต้องจับคนที่ปรากฎรายชื่อที่อยู่ในแผนผังที่นำมาแสดงให้หมดแล้วนะครับ ไม่ใช่ออกข่าวแต่เพียงอย่างเดียว เพราะวันนี้ข่าวด้านเดียวมีมากเหลือเกิน มากจนทำให้คนบางคนเริ่มคิดแล้วว่า นี่คือการ “สร้าง” ความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในการดำเนินการทั้งหมด และนี่คือการ “โยนความผิด” ไปให้อีกฝ่ายหนึ่งกับใครก็ไม่รู้ว่าจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด
       หากเรามาวิเคราะห์กันให้ถึง "แก่น" รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราวันนี้มีที่มาจากเรื่องเดียวก็คือ “ขบวนการไม่เอาทักษิณ” ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าคือใครและมีที่มาอย่างไร ภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ขบวนการดังกล่าวก็เริ่มขยายวงกว้างขึ้น เรื่องไม่ดีทั้งหลายในประเทศนี้มีที่มาจากที่เดียว คนเพียงคนเดียวอยู่เบื้องหลังทุกเรื่อง ทำอะไรก็ผิดไปหมดจนไม่รู้ว่าจะทำอะไรผิดมากไปกว่านี้ได้ไหม ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีด้วยความผิดที่มีคนอื่นทำผิดมากกว่าหลายสิบเท่าและก็ยังหนีอยู่เหมือนๆกัน แต่ก็ไม่ถูกตามล่าเช่นเดียวกับคุณทักษิณฯ รัฐมนตรีบางคนก็ทำตัวเหมือนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไล่ล่าทักษิณ ทำอยู่อย่างเดียวคือ ไล่ล่าคุณทักษิณฯ และคอยนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นผลดีต่อคุณทักษิณฯ เอาเป็นว่าที่ผ่านมาขบวนการไม่เอาทักษิณ “รุกหนัก” มากจนลืมไปว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ “เอาทักษิณ” มีคนที่รักและศรัทธาในตัว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อคนที่พวกเขารักและศรัทธาถูกทำร้ายโดยรัฐและขบวนการไม่เอาทักษิณ ก็เป็นธรรมดาที่คนกลุ่มนี้จะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐและขบวนการไม่เอาทักษิณ ปัญหาจึงเกิดขึ้นในวันนี้และนับวันก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ตัวผมเองได้เคยเสนอเอาไว้ในบทบรรณาธิการหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า รัฐบาลควรอยู่เฉยๆในเรื่อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หากจะดำเนินการใดๆ ด้านการต่างประเทศก็ควรจะทำแบบ “ไม่โฉ่งฉ่าง” ให้ข่าวไปทั่ว วิธีที่ดีที่สุดที่จะปฏิบัติต่อกรณีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็คือต้องทำเหมือนกับว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีตัวตน ไม่ต้องให้ความสำคัญกับคำพูด เมื่อไม่มีใครสนใจ นานวันเข้าก็คงจะ “เฉาตาย” กันไปเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะต้อนคนให้เข้ามุมอยู่ในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผิดสารพัดความผิดที่ยังไม่มีการพิสูจน์ ที่พิสูจน์แล้วเช่นการยึดทรัพย์ก็ยังมีข้อโต้เถียงและยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ เพราะฉะนั้น หากคิดว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนทุกเรื่องจริง เมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาที่มีการพูดกันว่า "ผู้ที่อยู่ต่างประเทศ" เป็นผู้บงการหรือให้การสนับสนุน ผมอยากจะถามว่าคุ้มกันไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปิดถนนสาธารณะ 2 เดือน และจากการที่กรุงเทพมหานครต้องกลายเป็น “ทะเลเพลิง” สร้างความสูญเสียในทุกๆด้านเป็นอย่างมาก ผมว่าไม่คุ้มเลยนะครับ เหมือนกับการ “เผานาฆ่าหนู” ที่ในที่สุดก็ฆ่าหนูไม่ได้ แต่นาก็วอดไปหมด เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่า ควรจะยุติเรื่องขบวนการไม่เอาทักษิณได้แล้ว ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ไม่กี่วันคนก็คงลืม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไปเอง และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนลืม พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไปได้ก็คือ รัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องใช้เวลาทั้งหมดแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างจริงจังในทุกๆด้าน สร้างความสมานฉันท์ ฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาดีเหมือนก่อนที่จะมีการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ครับ ส่วนปัญหาต่อเนื่องที่เกิดจาก “ขบวนการไม่เอาทักษิณ” ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เพียงรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างมาตรฐานเดียวกัน ในสังคมเพื่อไม่ให้อีกฟากหนึ่งรู้สึกว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง โดยรัฐบาลคงต้องเลิกคิดว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” เป็นศัตรูทางการเมืองและ “กลุ่มคนเสื้อสีอื่น” เป็นพันธมิตรทางการเมืองก่อน การดำเนินคดีกับคนทุกกลุ่มต้องเป็นไปภายใต้กฎหมาย มาตรฐาน และระยะเวลาเดียวกัน รัฐบาลต้องยกเลิกการควบคุมสื่อของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือไม่ก็เข้าไปควบคุมสื่อของคนเสื้อสีอื่นๆให้เหมือนกับที่ควบคุมสื่อของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลต้องหยุดให้โฆษกของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนออกมาให้ข่าวที่สร้างความเกลียดชังกันเองในหมู่ประชาชนหรือไม่ก็ให้ข่าวในลักษณะ “โหมไฟ” ให้กับกลุ่มคนที่ชื่นชมอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้เกลียดชังรัฐบาลและประเทศไทยมากขึ้นไปอีก
       มองดูปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราวันนี้แล้วรู้สึกว่าซับซ้อนมาก นับแต่กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มชุมนุมมาจนกระทั่งแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามอบตัว มีความไม่ชัดเจนซ่อนอยู่ในทุกๆเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่ชัดเจนต่อท่าทีของทหาร-ตำรวจ-รัฐบาล ที่ทำให้ปัญหาบานปลายมาจนวันนี้ ผมยังไม่อยากเชื่อว่า รัฐบาลของเราปล่อยให้ใครก็ไม่รู้เข้ามายึดพื้นที่สาธารณะ ยึดพื้นที่จราจร ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตตามปกติของคนจำนวนมากเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย แก้ปัญหาอะไรก็ไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือ ออกข่าวรายวันสร้างความน่ากลัว สร้างความเกลียดชังให้กับ “อีกฝ่ายหนึ่ง” จนทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะเดียวกัน ความเดือดร้อนของประชาชนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการหรือลูกจ้างของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรจากรัฐบาล การที่ต้องปิดกิจการเกือบ 2 เดือนไม่ใช่เรื่องเล่นๆสำหรับผู้ประกอบกิจการประเภท “หาเช้ากินค่ำ” ที่ไม่ได้มี “ทุนหนา” !!! และนอกจากนี้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่ใส่ใจ” ของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนก็คือ การตัดน้ำตัดไฟ บริเวณที่มีการชุมนุม ซึ่งรวมไปถึงการตัดน้ำและไฟของประชาชนผู้อยู่อาศัยในละแวกดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นจำนวนมากในการอยู่อาศัยและในการติดตามข่าวสารของการชุมนุมที่ส่งผลกระทบต่อตัวของพวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น เวลา 2 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่ “ประเทศไทยตายแล้ว” ดังที่ผมได้เขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 237 ครับ
       จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากข่าวที่ออกมา ผมมีความรู้สึกซึ่งอาจรู้สึกไปเองก็ได้ว่ารัฐมองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู มีการกล่าวหาบุคคลดังกล่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ข่าวที่ออกมาสร้างภาพลบให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไม่เป็นธรรม แม้กระทั่งเมื่อ เสธ.แดง ถูกลอบยิง ข่าวที่ออกมายังทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นพวกเดียวกันทำกันเองเพื่อสร้างสถานการณ์ ความไม่ยุติธรรมหลายๆอย่างที่รัฐหยิบยื่นให้กับผู้ชุมนุม แม้วันหนึ่งจะไม่มีการชุมนุมและเหตุการณ์สงบลง แต่ความสงบที่ว่าคงไม่มีใครปักใจเชื่อได้ว่าเป็นความสงบอย่างถาวร ไม่เชื่อก็ลองติดตามดูต่อไปครับ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างน้อยก็สร้างความโกรธแค้นและความอาฆาตแค้นให้กับคนจำนวนหนึ่ง สังคมไทยต่อจากนี้จะกลายเป็นสังคมที่น่ากลัว ไม่เหมือนเดิม ผู้คนจะหวาดระแวงกันและในบางกรณีก็จะถึงขนาดจ้องทำร้ายกัน เพราะเมื่อเรื่องจบ ตัวละครภาครัฐทั้งหมดก็จะรอดพ้นจากความผิดตามกฎหมายเพราะมีกฎหมายพิเศษที่ยกเว้นโทษให้กับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการทั้งหลายทั้งปวงว่าไม่ต้องรับผิดทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา ในขณะที่ประชาชนผู้มาชุมนุมต้องรับผิดทุกทาง รวมทั้งมีบางคนต้องตายฟรีด้วย แล้วอย่างนี้ สังคมไทยของเราจะอยู่กันอย่างสงบสุขไปได้อย่างไร ตัวละครภาครัฐและครอบครัวจะเดินถนนอย่างปกติ ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วๆไปได้อย่างไร วันนี้เราไม่รู้ว่าใครเป็นใครแล้วนะครับ !!! น่ากลัวมาก !!!
       จากนี้ต่อไป รัฐบาลจะทำอย่างไรผมคงไม่สามารถเดาได้ แต่ถ้าหากจะถามความคิดผม ผมก็ยังยืนยังเหมือนเดิมที่ได้กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 238 ก็คือ นายกรัฐมนตรีต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก โดยมีเหตุผลที่สำคัญคือไม่สามารถดูแลรักษาชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน และไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ ปล่อยให้มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก แถมยังปล่อยให้มี “ผู้ก่อการร้าย” เดินเล่นอยู่เต็มเมือง มี “sniper” คอยลอบยิงประชาชนอย่างเมามัน นี่คือเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออกครับ แต่ถ้าหากนายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออก ผมก็ได้เสนอไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 237 แล้วว่า พรรคภูมิใจไทยควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นสภาพไป ทั้งนี้ เนื่องมาจากพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมือง “ตัวแปร” ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครับ เมื่อเหตุการณ์สงบ นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ก็เปิดโอกาสให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรี “คนใหม่” ซึ่งก็อาจได้นายกรัฐมนตรี “คนเดิม” ก็ได้ถ้าหากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก ซึ่งตอนนั้น ทุกคนก็ต้องยอมรับเพราะเป็นมติของสภาผู้แทนราษฎรนะครับ !!!
       บทเรียนสำคัญของชาวกรุงเทพมหานครในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาคือ ทุกคนต้องทนอยู่แบบ “รับสภาพ” กับสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องรับเคราะห์รับกรรมจากการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเป็นการกระทำทางการเมืองที่มิได้เกี่ยวข้องใดๆกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงเทพมหานครเลย รัฐบาลและกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถ “ดูแล” และ “แก้ปัญหา” ให้กับชาวกรุงเทพมหานครได้ จริงๆแล้วอยากจะยุให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการชุมนุมที่ผ่านมาฟ้องศาลทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองด้วยซ้ำไปว่า ทั้งรัฐบาลและกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ ปล่อยให้มีคนทำผิดกฎหมาย กีดขวางทางจราจร ซ่องสุมผู้คน ฯลฯ โดยไม่สามารถทำอะไรเลยเป็นเวลาถึง 2 เดือน ผู้เดือดร้อนเสียหายน่าจะลองฟ้องศาลดูนะครับ !!! นอกจากนี้แล้ว ชาวกรุงเทพมหานครเองก็ต้อง “เก็บ” เรื่องเหล่านี้ไว้พิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วยครับ !!!
       ก่อนที่จะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ขอฝากไปยัง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ด้วยว่า ในวันนี้ ประตูที่จะกลับมามีอำนาจในประเทศไทยนั้นถูกปิดไปแล้ว จริงๆแล้วด้วยสถานะทางการเงินระดับนั้น การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในต่างประเทศน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มีพิพิธภัณฑ์มากมายที่น่าสนใจ มีหนังสือดีๆให้อ่านจำนวนมาก เพลงเพราะๆก็มีให้เลือกซื้อไปฟังได้ ใช้ชีวิตอย่างสงบ ชื่นชมกับศิลปะ ชื่นชมกับวัฒนธรรม ชื่นชมกับสถานที่ท่องเที่ยว ชื่นชมกับอาหาร น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด     “โอกาส” ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเร่งรัดสร้างได้นะครับ วันหนึ่งถ้าประชาชนคนไทย “ต้องการ” คุณทักษิณฯ วันนั้นก็เป็นโอกาสของคุณทักษิณฯ ที่จะได้กลับมารับใช้ประเทศอย่างเต็มภาคภูมิครับ "การเร่งสร้างโอกาส" มีแต่จะนำมาซึ่ง “ความเสื่อมถอย” และความเสื่อมถอยที่ว่านี้ก็จะย้อนกลับไป "ทำลายโอกาส" ที่จะได้กลับมาประเทศไทยครับ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ควร “หยุด” ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยทั้งหมดได้แล้วนะครับ !!!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “สภาวะสูญญากาศของการบังคับใช้กฎหมายในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” ที่เขียนโดย ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บทความที่สองเป็นบทความของ คุณธนัย เกตวงกต นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “บทบาทของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการภิวัฒน์” และบทความสุดท้าย คือบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ในคราวนี้เขียนเรื่อง “สหประชาชาติมีอำนาจมากน้อยแค่ไหนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในไทย” ส่งมาร่วมเผยแพร่กับเราครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2553
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544