หน้าแรก บทความสาระ
สหประชาชาติมีอำนาจมากน้อยแค่ไหนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในไทย
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
23 พฤษภาคม 2553 19:52 น.
 
ข้อถกเถียงถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลในการเข้าขอพื้นที่คืนบริเวณผ่านฟ้าและราชประสงค์ว่าจะสามารถถูกตรวจสอบจากองค์กรนอกรัฐไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์การสหประชาชาติว่าจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด บ้างก็ว่าทำไม่ได้หากรัฐบาลเจ้าของประเทศไม่อนุญาต บ้างก็ว่าเข้ามาได้เลยหากคณะมนตรีความมั่นคงอนุมัติโดยไม่มีสมาชิกถาวรในห้าประเทศวีโต บ้างก็ว่าประเทศนั้นต้องอยู่ในสภาพรัฐล้มเหลว(failed state)เสียก่อนจึงจะเข้ามาได้
       ข้อเรียกร้องต่างๆของเราที่ผ่านมานั้นสามารถสรุปได้เป็นประเด็นใหญ่ได้ 3 ประเด็นคือ
       1)การส่งกองกำลังของสหประชาชาติเข้ามาในประเทศไทย
       2)การฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
       3)การใช้สิทธิ์ตามกระบวนการ 1503
       ในเรื่องของการเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งกองกำลังเข้ามาระงับศึกภายในประเทศนั้นมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาลเจ้าของประเทศจะยินยอมหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วมักไม่ยินยอม ดังเช่น ในเนปาลเมื่อครั้งที่เกิดการประท้วงขับไล่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งกลุ่มเมาอิสต์ได้ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ แต่รัฐบาลเนปาลในสมัยนั้นไม่ยินยอมก็เข้าไม่ได้ หรือสงครามกลางเมืองในศรีลังกาที่ฝ่ายรัฐบาลใช้ระเบิดโจมตีฝ่ายที่ต่อต้านตายเป็นเบือ สหประชาชาติก็ยังเข้าไปไม่ได้เพราะรัฐบาลไม่ยินยอม แม้กระทั่งติมอร์เลสเตตอนแรกๆรัฐบาลอินโดนีเซียก็ไม่ยินยอมเพิ่งมายินยอมในตอนหลังแต่ก็ต้องสูญเสียอธิปไตยให้แก่ติมอร์เลสเตไปซึ่งเราจะเอาอย่างนั้นหรือ
       อย่างไรก็ตามหากเกิดสภาวะรัฐล้มเหลว(failed state)โดยรัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้แล้วหรือ ผลที่เกิดขึ้นกระทบต่อประเทศข้างเคียงหรือประเทศอื่นอย่างรุนแรง สหประชาชาติโดยมติของคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งจะต้องไม่ได้รับการคัดค้านหรือวีโตจากประเทศใดประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศจากสมาชิกถาวรห้าประเทศซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย จึงจะสามารถนำกองกำลังเข้าประเทศได้ แม้ว่าประเทศนั้นจะไม่ยินยอมก็ตาม
       แต่กระบวนการนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของหลายๆประเทศที่มีกองกำลังสหประชาชาติเข้าไปนั้นสร้างความยุ่งยากมากว่าที่จะเป็นผลดี เพราะเป็นทหารที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ จากหลากหลายวัฒนธรรม มีการละเมิดระเบียบวินัยอยู่เป็นประจำ และเราจะยิ่งช้ำมากขึ้นหากเราเห็นทหาร ต่างด้าวสวมหมวกสีฟ้าไล่ยิงหรือไล่ฆ่าประชาชนของเราที่ถึงแม้ว่าจะคิดต่างจากเราก็ตาม ขนาดทหารไทยด้วยกันเองพูดจาภาษาเดียวกันยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วยิ่งเป็นทหารต่างชาติเข้าแล้วจะยุ่งยากขนาดไหน
       ส่วนกระบวนการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ที่จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 โดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า "Rome Statute" ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวกับการล้างเผ่าพันธุ์และคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ คดีอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรม ที่เป็นการรุกราน นั้น
       
       ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แตกต่างจาก ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) ก็คือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐ แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล และมีอำนาจไต่สวน ดำเนินคดี และพิพากษาคดีบุคคล โดยเป็นการฟ้องบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้รับผิดเป็นการส่วนตัวในการใช้อำนาจ
       ที่น่าสนใจก็คือการใช้สิทธิตามข้อร้องเรียนตามกระบวนการ 1503 ของ Human Rights Council ซึ่งที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2006 เพื่อแทนที่ Human Rights Commission ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ออกมาเรียกร้องไปยังสหประชาชาติโดยให้เหตุผลว่าจากการที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเพื่อสลายการชุมนุมของทางกลุ่มเสื้อแดง นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายครั้ง เหตุการณ์ล่าสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา การดำเนินการของรัฐบาลภายใต้อำนาจของพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้มีการใช้กำลังทางทหารที่นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างกว้างขวางทั้งชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม ประชาชนทั่วไป ทรัพย์สิน รวมทั้งทหารซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการในเหตุการณ์คราวนี้
       ภายใต้ความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้น มีภาพข่าวและข้อมูลเป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าได้มีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมิได้เป็นไปอย่างระวังระวังโดยมีการคำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนอย่างเพียงพอ และอีกทั้งก็มีแนวโน้มว่าจะมีผู้สูญเสียเพิ่มมากขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่
       อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายรัฐบาลได้มีการใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลของตนแต่เพียงด้านเดียว เพื่อชี้แจงว่าการกระทำทั้งหมดของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย โดยไม่เปิดให้มีการใช้สื่อจากฝ่ายอื่นๆ ในการโต้แย้ง ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ทางรัฐบาลได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อถือในข้อมูลข่าวสาร ด้านเดียวจากทางด้านรัฐบาล การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นหนทางในการสร้างความสันติกลับคืนสู่สังคมไทยได้แม้แต่น้อย
       เพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจรัฐอย่างไร้กฎเกณฑ์ปราศจากการตรวจสอบ และในสถานการณ์เช่นนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติตามกระบวนการ 1503 อันเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถร้องเรียนกับสหประชาชาติได้โดยตรงในกรณีที่เห็นว่ามีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเกิดขึ้น
       โดยให้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการใช้อำนาจของรัฐบาลในครั้งนี้ว่าได้ดำเนินการไปในลักษณะดังที่ได้กล่าวอ้างมาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ อันเป็นการดำเนินการจากองค์กรในระดับสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ว่าไม่ได้มีอคติหรือเอนเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งที่กำลังปะทุอยู่ในปัจจุบัน และทำให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐว่ามิได้กระทำไปตามใจของผู้มีอำนาจและไม่ให้การสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นความสูญเปล่าที่ปราศจากความรับผิดชอบใดๆ
       ซึ่งการใช้สิทธิตามกระบวนการนี้สหประชาชาติ จะเป็นผู้พิจารณาเองว่ามีเหตุการณ์และข้อเท็จจริงใดเกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นส่วนความรุนแรง และส่วนของกระบวนการภายในว่าสามารถคุ้มครองสิทธิประชาชนในรัฐได้หรือไม่ คือ สหประชาชาติจะทำการสืบสวนในทางลับ คู่ขนานกับกระบวนการอื่นไปด้วย ซึ่งจะเป็นการกดดันรัฐไปในตัว ซึ่งจริงๆผมคาดว่าสหประชาชาติ ได้ดำเนินการไปแล้ว และ รัฐไทยเราเคยใช้ตอน พฤษภาทมิฬ โดยศาสตราจารย์วิทิต มันตราภรณ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ยื่น หลังจากนั้นสหประชาชาติได้กดดันรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุนให้ไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมกับการกับตั้งกองทุนเยียวยา
       ส่วนใครจะต้องรับผิดในศาลอาญาระหว่างประเทศหรือตามกระบวนการ 1503 นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งกรรมจะเป็นเครื่องชี้เจตนา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือฝ่ายแกนนำเสื้อแดงและผู้บงการ ตลอดจนสื่อมวลชนและผู้ที่มีส่วนยุยงให้เกิดการรบราฆ่าฟันก็ตาม จะต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำตนในที่สุด ดังเช่น กรณีของรวันดา เขมรแดงหรืออดีตยูโกสลาเวีย ฯลฯ นั่นเอง
       
       ----------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544