หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 237
25 เมษายน 2553 22:14 น.
ครั้งที่ 237
       สำหรับวันจันทร์ที่ 26 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2553
       
       “ประเทศไทยตายแล้ว”
       

       ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไม่แตกต่างอะไรไปจากเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา เพราะมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ “รุนแรง” สร้างความทุกข์ให้กับประชาชนส่วนหนึ่ง จนทำให้ผู้คนจำนวนมาก “ลืม” ที่จะออกไปหาความสุขใส่ตัวกันครับ จริง ๆ แล้ว ความสุขในเทศกาลสงกรานต์เป็น “ลักษณะเด่น” ของสังคมไทยและประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ที่พอ “ร้อนนัก” ก็ “รดน้ำ” หรือ “สาดน้ำ” ดับร้อนกัน แต่ในวันนี้ รดน้ำหรือสาดน้ำยังไงก็ไม่หายร้อนไปได้แล้ว เพราะสำหรับคนส่วนหนึ่งแล้ว “ยุบสภา” น่าจะคลายร้อนได้ดีที่สุด ใช่ไหมครับ!!!
       1 เดือนก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ การชุมนุมของคนเสื้อแดงได้เริ่มขึ้นโดยมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา แต่นอกจากนายกรัฐมนตรีจะไม่ยุบสภาแล้ว ในวันที่ 12 มีนาคม ก็ยังประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงในเขตกรุงเทพมหานครและอีก 6 จังหวัดปริมณฑล “ดักหน้า” การชุมนุมของคนเสื้อแดง และต่อมา เมื่อวันที่ 7 เมษายน รัฐบาลก็ได้ประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง” ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนที่จะมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นหลายวันครับ
       9 เมษายน หลังจากที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงทวีความเข้มข้นขึ้น นายกรัฐมนตรีออกโทรทัศน์ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด น้ำเสียงดุดันแสดงความไม่พอใจกับผลที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการที่คนเสื้อแดงเข้าไปบุกยึดสถานีดาวเทียมไทยคมคืนจากทหารและเชื่อมต่อสถานีโทรทัศน์พีทีวีที่รัฐบาลได้ตัดสัญญาณการออกอากาศไป โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ทราบว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาด วันรุ่งขึ้นจึงเกิดการสลายการชุมนุมภายใต้ถ้อยคำที่สวยงามว่า ขอพื้นที่คืน ครับ
       จากที่ผมได้ฟังและได้อ่านพบ การสลายการชุมนุมเริ่มต้นในช่วงตอนบ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 10 เมษายน โดยฝ่ายรัฐใช้รถน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุม ใช้กระสุนยางระดมยิง ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตา ระเบิดพริกไทย ใช้กระบองตี ใช้เฮลิคอปเตอร์บรรทุกระเบิดแก๊สน้ำตาทิ้งลงมาใส่ผู้ชุมนุมที่มีทั้งชายฉกรรจ์ คนแก่ เด็กและผู้หญิง นอกจากนี้ก็ยังเห็นจากในข่าว ปรากฏภาพของทหารถือปืนกระบอกโต เห็นรถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ ส่วนบนท้องถนนทั่ว ๆ ไปตามสถานที่สำคัญ ๆ ก็มีรถสีเขียวหน้าตาแปลก ๆ จอดอยู่ บางจุดก็มีทหารถือปืนยืนเรียงราย ดู ๆ แล้วไม่แตกต่างไปจากประเทศแถบตะวันออกกลางที่กำลังมีสงครามภายในประเทศครับ
       ในสายตาของประชาชนคนหนึ่ง ผมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเย็นวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการสลายการชุมนุมที่มีความรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีคนตายจำนวนหนึ่งและมีคนได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก และนอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังเกิดการ “ปิดกั้นข่าวสาร” จากภาครัฐอย่างเต็มที่และทุก ๆ ด้าน ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลจากสื่อของรัฐแต่เพียงด้านเดียว เพราะฉะนั้น ความเป็นจริงและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไรจึงไม่มีใครทราบได้แน่ชัดครับ
       ในวันนี้ เหตุการณ์หนักขึ้นทุกวัน จากการชุมนุมธรรมดาได้กลายมาเป็นการชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนจำนวนมากและสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากด้วย เราจะทำอย่างไรกันดีครับ!!!
       ความรู้สึกส่วนตัวที่ผมมีนั้น รัฐบาลมองเห็นผู้ชุมนุมเป็น “ศัตรู” มาตั้งแต่แรก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ข่าวในด้านที่ไม่ดีของคนเสื้อแดงมาตลอด ทำอะไรก็ถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อทักษิณฯ ชาวบ้านมาร่วมชุมนุมก็มีข่าวออกมาว่าถูกจ้างมา จะชุมนุมเมื่อใดก็มีการออกข่าวก่อนล่วงหน้าว่าจะต้องเกิดเรื่องร้ายแรง รัฐบาลและสื่อของรัฐวาดภาพทักษิณฯ และคนเสื้อแดงไว้อย่างน่ากลัว และเป็นภาพที่มีลักษณะเชิงลบมาตลอด จนทำให้ประชาชนส่วนหนึ่ง “เกลียด” ทักษิณฯ และคนเสื้อแดงไปตาม ๆ กัน เช่นเดียวกับที่เมื่อเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เราก็ได้ข้อมูลจากทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและทหารที่เกี่ยวข้องว่า “มีบุคคลจำนวนหนึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย อาศัยการที่ประชาชนชุมนุมเรียกร้องใช้เป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”
       
ข่าวลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาตลอดก่อนที่จะมีการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 และหนักขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบ ข่าวลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วก็เงียบไป ไม่เคยมีการพิสูจน์ใด ๆ ทั้งสิ้นว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยใคร มีกระบวนการหรือวิธีการดำเนินการอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรเลยที่ภายหลังจากการที่รัฐส่งกำลังทหารตำรวจเข้าสลายการชุมนุมจนทำให้มีทั้งคนเจ็บและคนตาย ข่าวลักษณะดังกล่าวก็เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร แต่เท่าที่เห็นปรากฏอยู่ในวันนี้ก็คือ คนเจ็บและคนตายไม่ได้เกิดจากการกระทำของรัฐ แต่มาจากฝีมือของผู้ก่อการร้ายครับ!!! แล้วก็เป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมากด้วยว่ามีคนจำนวนหนึ่งต่างก็ “ปักใจเชื่อ” ข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นความจริงทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการพิสูจน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เห็นใจทหารตำรวจที่บาดเจ็บและตาย ในขณะที่ประชาชนผู้บาดเจ็บและตายกลับไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร และก็ไม่ได้รับแม้กระทั่ง “คำขอโทษ” จากรัฐบาลที่เป็นผู้เข้าไปสลายการชุมนุม จนเป็นที่มาของความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาครับ
       มีคำถามหนึ่งที่คงต้องมีคำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ทำไมรัฐจึงต้องสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาครับ?
       
เอาในเรื่องของสถานที่ก่อน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงปักหลักชุมนุมอยู่ 2 ที่ คือ ที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ ผ่านฟ้าเป็นเส้นทางสัญจรไปมาตามปกติ ในขณะที่ราชประสงค์ก็เป็นเส้นทางสัญจรไปมาตามปกติเช่นกัน แต่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะมีทั้งศูนย์การค้าและโรงแรมจำนวนหลายแห่ง ถือเป็น “เส้นเลือด” ที่สำคัญเส้นหนึ่งของกรุงเทพมหานครก็ว่าได้ครับ ส่วนวันที่มีการสลายการชุมนุมก็ใกล้กับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และมีบางกิจการก็เป็นวันหยุดยาวไปแล้วด้วย ในความคิดของผม หากจะต้องมีการขอพื้นที่คืนในวันดังกล่าว การขอพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์คืนดูจะมีเหตุผลและมีน้ำหนักมากกว่า เพราะในช่วงวันหยุดยาว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาร่วมฉลองวันสงกรานต์จะได้สามารถเข้าไปใช้บริการจับจ่ายในศูนย์การค้าและโรงแรมในบริเวณดังกล่าวได้ ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ดียิ่ง ในขณะที่บริเวณแยกผ่านฟ้าคงไม่มีอะไรทั้งนั้นในช่วงวันหยุดยาวเพราะบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของส่วนราชการเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ
       ต่อมาก็เป็นเรื่องเวลาที่ใช้ในการสลายการชุมนุม มีคำถามตามมามากมายว่าทำไมต้องทำตอน 4 โมงเย็น เท่าที่ผมได้ยินมา การสลายการชุมนุมหรือที่เรียกกันว่า การควบคุมฝูงชนนั้น เขาทำกันตอนเช้าหรือตอนกลางวัน มีแสงสว่างที่ชัดเจน มองเห็นความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของมวลชน และนอกจากนี้ก็ต้องเคลียร์พื้นที่โดยรอบก่อนเพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินการและไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่ที่เกิดขึ้น เล่นทำกันตอน 4 โมงเย็นลากยาวไปจนพระอาทิตย์ตกดิน ไม่รู้ว่าใครเป็นใครจึงทำให้เกิดความสูญเสียตามมาเช่นที่เกิดขึ้นครับ ส่วนเรื่องจำนวนคนก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ลองคิดดูว่าการควบคุมฝูงชนจำนวนมากแล้วไม่ให้เกิดความสูญเสียใด ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ก่อน แค่ทหารยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่แล้วคนวิ่งหนีอย่างสับสนอลหม่าน โอกาสที่จะเหยียบกันตายก็มีอยู่มากแล้วครับ ดังนั้น การสลายการชุมนุมจึงไม่ควรทำในที่ ๆ มีประชาชนจำนวนมากเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ผ่านฟ้าเพราะยากแก่การควบคุมครับ
       ทั้ง 3 กรณี คือ สถานที่ เวลา และจำนวนคน จึงทำให้ผมมองว่ารัฐบาลไม่ควรดำเนินการ “ขอคืนพื้นที่” เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา แต่เมื่อรัฐบาลทำไปแล้ว คำถามประการต่อมาที่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนที่สุดเช่นกันก็คือ ใครจะรับผิดชอบครับ?
       ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะ “โยนความผิด” ให้กับผู้ชุมนุมหรือผู้ก่อการร้ายที่เป็นใครก็ไม่รู้ พิสูจน์ก็ไม่ได้เหมือนกับข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ที่ผ่านมาทั้งหมดเกี่ยวกับทั้งเสื้อแดงและทักษิณฯ ที่มีขึ้นโดยไม่เคยมีการพิสูจน์ว่าจริง เป็นข้อกล่าวหาที่มีขึ้นเพียงเพื่อสร้างความเกลียดชังให้กับฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นเองครับ!!! ส่วนข้ออ้างที่ว่า “เปลี่ยนแปลงประเทศ” นั้นยิ่งแล้วใหญ่ อยากจะถามผู้พูดนักว่า “เปลี่ยนแปลงประเทศ” ที่ว่านี้คืออะไร เห็นอ้างกันบ่อย พูดกันบ่อยเหลือเกิน ล่าสุดก็เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ว่าคนเสื้อแดงมีเป้าหมายเพื่อสถาปนารัฐไทยใหม่ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว หากมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องก็นำออกมาแสดงกันเสียเลย จะได้รู้ ๆ กันไปเสียทีว่า จะเปลี่ยนแปลงกันอย่างไรและโดยใคร ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศหรือการสถาปนารัฐไทยใหม่ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่าย ๆ เพียงมีผู้ก่อการร้ายอยู่แถวผ่านฟ้าไม่กี่คนคงเปลี่ยนแปลงประเทศไม่ได้หรอกครับ ต่อให้คนเสื้อแดงอีกเป็นแสนก็ทำไม่ได้เช่นกันครับ
       ลองย้อนกลับมาดูจุดเริ่มของเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้นประกอบเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น การที่รัฐประกาศใช้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ ในช่วงเวลา 1 เดือน ก็เพราะรัฐ “มอง” หรือ “เข้าใจ” ว่าจะต้องมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น ดังนั้น การตัดสินใจใด ๆ ก็คงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นกัน ยิ่งมีการให้ข้อมูลคนเสื้อแดงแก่ประชาชนมาตลอดว่า “ร้าย” มาก ๆ ด้วยแล้ว การสลายการชุมนุมจึงต้องทำอย่างเป็นระบบโดยต้องให้ความสำคัญกับสถานที่ เวลา และจำนวนคน เมื่อข่าวที่รัฐให้กับประชาชนเป็นไปในทางร้ายแรง และต่อมาก็เกิดการสลายการชุมนุมขึ้น นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดครับ!
       ความรับผิดชอบคงมีอยู่สองส่วนด้วยกัน ในส่วนแรก ก็อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า เราเสียภาษีอากรให้พวกคุณเข้ามาบริหารประเทศ มาดูแลทุกข์สุขของเรา มาดูแลความปลอดภัยของเรา มาดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม มาดูแลการประกอบอาชีพของเรา มาดูแลชีวิต มาดูแลทรัพย์สิน และอื่น ๆ อีกมากมาย คุณทำหน้าที่ของคุณไม่ได้ คุณต้องรับผิดชอบ จะปฏิเสธไม่ได้เพราะคุณอาสาเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวเองโดยที่เราไม่ได้บังคับขืนใจคุณ กับส่วนที่สอง คุณเป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม ผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณเข้าไปใช้อาวุธและกำลังสลายการชุมนุม ทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีอากรต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ ยังไง ๆ คุณก็ต้องรับผิดชอบอยู่ดี ไม่ว่าฝ่ายเสื้อแดงจะเป็นฝ่ายเริ่มต้น หรือจะเป็นผู้ก่อการร้ายที่เป็นผู้ทำ คุณก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะคุณเป็นผู้สั่งให้สลายการชุมนุมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสีย ผมพูดถูกไหมครับ!!!
       เพราะฉะนั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล ส่วนจะรับผิดชอบอย่างไรและมากน้อยแค่ไหนก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณากันต่อไป ซึ่งผมเองก็ได้นำเสนอไว้ส่วนหนึ่งแล้วในตอนท้ายของบทบรรณาธิการนี้ นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบอีกสิ่งหนึ่งก็คือ การอ้างผู้ก่อการร้าย ผมมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมากล่าวอ้างกันลอย ๆ ได้ว่ามีผู้ก่อการร้ายเดินลอยชายอยู่ในเมืองหลวงและใช้อาวุธสงครามเข่นฆ่าประชาชนและทหาร ถามจริง ๆ เถอะครับว่า มีคนต่างประเทศคนใดอยากจะมาเดินเที่ยวในเมืองที่มีผู้ก่อการร้ายเดินเพ่นพ่านอยู่แบบนี้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องเข้ามารับผิดชอบในคำพูดของตัวเองด้วย ต้องจับให้ได้ ลงโทษ และออกข่าวใหม่ว่า เราจับผู้ก่อการร้ายได้หมดแล้ว ประเทศไทยเราไม่มีผู้ก่อการร้ายแล้ว นักท่องเที่ยวเชิญมาเดินเล่นกันให้สบายใจโดยไม่ต้องกลัวอะไรเลย! แต่ผมก็ไม่เชื่อหรอกนะครับว่า นักท่องเที่ยวจะยังสมัครใจมาบ้านเราอีกหรือเปล่า เพราะภายหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ประเทศไทยเราเหมือน “คนป่วย” ที่นับวันก็ป่วยหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในวันนี้ ผมไม่แน่ใจแล้วว่า “ประเทศไทยตายแล้ว” หรือยัง ครับ!
       “ประเทศไทยตายแล้ว” คงไม่ใช่ถ้อยคำที่รุนแรงเกินไปหาก “คนไทย” เช่นเรามองดูสถานการณ์รอบด้านประกอบ ภายหลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 สังคมไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน แม้ต่อมาในบางช่วงเวลา เราจะมี “สีอื่น” เข้ามาสร้างความ “หวือหวา” ให้กับสังคมไม่ว่าจะเป็น สีขาว สีชมพู หรือล่าสุด พวกหลากสี (น่าจะเรียกพวก Smarties มากกว่า!!!)



แต่ถ้าหากเรามาดู “เจตนา” ของทุกสีประกอบ สังคมของเราคงประกอบด้วยกลุ่มคน 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายเสื้อแดงและฝ่ายไม่เอาเสื้อแดง เพราะฉะนั้นในวันนี้ หากฝ่ายหนึ่งเสนอสิ่งใดขึ้นมา อีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่ยอมรับในทันทีโดยไม่ดูเนื้อหาสาระหรือองค์ประกอบอื่นใดทั้งสิ้นครับ! ข้อขัดแย้งจึงเกิดขึ้นได้ทุกเรื่อง สังคมไทยแต่เดิมที่เคยเป็นมา การให้อภัย การอะลุ่มอล่วย การหันหน้าเข้าหากันค่อย ๆ หายไปจากคนไทยในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ในวันนี้เราจึงได้เห็นภาพที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นในประเทศไทย ภาพของการประจันหน้าท้าทาย ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน และพร้อมที่จะทำลายและพิฆาตเข่นฆ่าให้สิ้นซาก การที่แต่ละฝ่ายต่างมีจุดยืนดังกล่าว ทำให้ความสงบสุขในสังคมหายไปจนเกือบหมด และยิ่งกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้มาตั้งแต่ครั้งที่ “เสื้อเหลือง” ปิดถนนราชดำเนิน ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ไม่ปฏิบัติตามหมายศาล ซึ่ง “เสื้อแดง” ก็ “เลียนแบบ” ทุกอย่างโดยอ้างเรื่องสองมาตรฐานว่า เขาทำได้เราก็ต้องทำได้ด้วย!!! สภาพสังคมที่เป็นอยู่ในวันนี้จึงเป็นสังคมที่ล่มสลาย รัฐไม่มี “อำนาจ” ที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ กลุ่มผู้ชุมนุมกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในสังคม สามารถปิดถนนก็ได้ กีดขวางการจราจรก็ได้ ใช้อำนาจของตำรวจก็ได้ ทำทุกอย่างที่ผิดกฎหมายได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์โดยไม่มีใคร “กล้า” ทำอะไร ประเทศไทย “แบบเดิม ๆ” ที่เคยสงบสุข เป็นเมืองพุทธ เป็นสยามเมืองยิ้ม จึง “ตายแล้ว” ในความเห็นของผมครับ!!
       ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้พยายามนำเสนอ “ทางออก” สำหรับการแก้ปัญหาของประเทศไทยกันมาก ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ ข้อเสนอดังกล่าวได้แก่ การเจรจาอย่างสันติ ข้อเสนอนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ในวันนี้เพราะผมเข้าใจว่าเรา “ผ่าน” จุดของการเจรจาไปแล้ว เนื่องจากเกิดการต่อสู้และใช้กำลังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การเจรจาอย่างสันติจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ตราบใดก็ตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายยัง “คุมเชิง” กันในลักษณะนี้ และตราบใดก็ตามที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหา “มือที่ 3” ซึ่งมีอยู่จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เจรจาไปก็ไม่เกิดประโยชน์ครับ ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการเมืองคือการยุบสภานั้น ผมมองว่ามีอยู่ 2 ขั้นตอนคือ การยุบสภาโดยไม่แก้รัฐธรรมนูญกับการยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญ การยุบสภาโดยไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นยุบสภาภายใน 1 วัน 15 วัน 3 เดือน หรือ 9 เดือน ก็ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นอยู่เพราะตราบใดก็ตามที่เรายังแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ยุบสภาแล้วเลือกตั้งเข้ามาใหม่ภายใต้กติกาเดิม ปัญหาเดิมก็จะกลับมา ข้อกล่าวอ้างเดิม ๆ เช่น เรื่องซื้อเสียงหรือการยุบพรรคการเมือง ก็ยังคงต้องมีอยู่ต่อไป และที่แย่ไปกว่านั้น หลังยุบสภา รัฐบาลชุดปัจจุบันยังต้องรักษาการอยู่ หากมีแนวโน้มว่า “เสื้อแดงมาแน่” รัฐบาลก็คงบริหารประเทศไทยช่วงเวลานั้นลำบาก สุญญากาศ เกียร์ว่าง คงเกิดขึ้นในระบบราชการปกติที่ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ครับ!!! เราคงไม่ได้อะไรจากการยุบสภาโดยไม่แก้รัฐธรรมนูญเป็นแน่ครับ แต่ถ้าหากยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญ ดู ๆ แล้วก็ “อาจจะ” แก้ปัญหาของประเทศไทยได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นคงต้องมาดู “ข้อเท็จจริง” กันก่อนว่า ใครจะแก้รัฐธรรมนูญและแก้เรื่องอะไร แค่โจทย์ 2 ข้อนี้ก็ทะเลาะกันไม่เลิกแล้ว เป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมองข้ามสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนไป เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว การแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นไปไม่ได้ ถึงเป็นไปได้ก็ไม่เกิดผลดีและไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้ ผมอยากจะถามผู้ที่ “ยุ” ให้แก้รัฐธรรมนูญก่อนแล้วจึงค่อยยุบสภาว่า ได้มีการศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้วหรือยังว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาของประเทศจะต้องแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้างครับ!!! ถ้ายังไม่มีข้อมูลทั้งหมดแล้วต้องมานั่ง “คลำ” หาทางออกกันใหม่ ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควรซึ่งก็คงไม่ทันกับเหตุการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
       ในส่วนตัวผม ทางออกที่จะทำให้วิกฤติครั้งนี้ยุติลงก็พอมีอยู่บ้าง แต่ก็เป็นทางออก “เฉพาะกิจ” ที่ไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานได้ ทางออกประการแรกที่ผมมองก็คือ นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เหตุผลที่นายกรัฐมนตรีควรลาออกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้ ก็เพื่อแสดงความรับผิดชอบในสองส่วนสำคัญ ส่วนแรกในฐานะที่รับอาสาเข้ามาทำงานบริหาร มีหน้าที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน รักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่ไม่สามารถทำได้ ส่วนที่สอง ในฐานะของผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ไม่สามารถดูแลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดได้ และเมื่อมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีคนบาดเจ็บและตาย ผู้บังคับบัญชาย่อมต้องแสดงความรับผิดชอบครับ สองเหตุผลนี้เองที่ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีควรลาออก แต่ถ้าหากจะประเมินดูแล้ว การที่นายกรัฐมนตรีจะขอลาออกด้วยตัวเองคงเป็นเรื่องยากด้วยเหตุผลหลายประการ เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลน่าจะถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาลมากกว่า ซึ่งก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดและไม่ทำให้นายกรัฐมนตรี “เสียหน้า” ด้วยครับ!!!
       นับตั้งแต่เกิดความไม่สงบ พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ออกมามีปากมีเสียงบ้าง แต่ก็ไม่ไปไกลถึงขนาดจะถอนตัวออกจากรัฐบาล แต่ผมสังเกตว่ามีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งที่ “เงียบ” ผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองควรจะต้อง “มีปากมีเสียง” มากกว่านี้ พรรคการเมืองดังกล่าวคือพรรคภูมิใจไทยครับ
       คงไม่ต้องพูดถึงประวัติและความเป็นมาของพรรคภูมิใจไทยว่า เป็นพรรคการเมืองแบบไหน ของใคร ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร แต่ทุกคนคงทราบว่า ในวันนั้นถ้าพรรคภูมิใจไทยไม่ตกลงเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ในวันนี้ก็ไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลได้ ภาพคุณเนวินฯ สวมกอดคุณอภิสิทธิ์ฯ ยังคงตราตรึงอยู่ในใจของผู้คนจำนวนมาก......... คงจำกันได้นะครับ



แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจมากว่า ทำไมในวันนี้ยามที่ประเทศของเราประสบปัญหา พรรคภูมิใจไทยจึงยังเงียบอยู่และเงียบเหลือเกินด้วย หรือมัวแต่ทำงานหนักเพื่อประเทศชาติและประชาชนอยู่จนลืมมองความวิบัติของประเทศที่กำลังก้าวเข้ามาใกล้เข้าไปทุกขณะ ในวันนี้ หากพรรคภูมิใจไทยถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล รัฐบาลก็คงอยู่ไม่ได้ เหตุการณ์ทางการเมืองก็ “น่าจะ” คลี่คลายลงไปได้ระดับหนึ่ง จากนั้นก็ค่อยหานักการเมืองที่นิ่ง ๆ ใจเย็น ๆ พอมีบารมีอยู่บ้างสักคนขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีและหาทางแก้ปัญหาของประเทศร่วมกันจะแก้รัฐธรรมนูญหรือจะทำอะไรก็ว่ากันไป น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่พอมองเห็นครับ ก็ขอฝากไปยังพรรคภูมิใจไทยให้ลองพิจารณาดูด้วยว่าจะเป็นไปได้ไหมและถ้าทำแล้วจะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้หรือไม่ครับ
       หากไม่ใช่ทางออกทางการเมืองที่ผมเสนอไปแล้ว เรายังมีทางออกอีกทางหนึ่ง เป็นทางออกที่คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นเคย บางคนก็ยอมรับ บางคนก็ไม่ยอมรับ เป็นทางออกที่อาจแก้ปัญหาได้อย่างเฉียบพลันและเด็ดขาด แต่ก็อย่างว่านะครับ คงต้องคิดหนักว่าใครจะเป็นผู้หยิบยื่นทางออกดังกล่าวให้กับเรา และผลกระทบที่ตามมาจะมีมากน้อยแค่ไหน ข้อสำคัญที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดแล้วว่า ในบางครั้ง ทางออกดังกล่าวก็ไม่อาจแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติได้หากผู้พาเราไปสู่ทางออกนั้นเป็นผู้ “ไม่ได้เรื่อง” ผมไม่ได้ยุให้เกิดรัฐประหารนะครับ อย่าเข้าใจผิดเด็ดขาด!!!
       ฝากไปถึงคนเสื้อแดงด้วยว่า ต่อไปนี้คุณคงจะไม่สามารถกล่าวอ้างได้อีกต่อไปแล้วว่า การชุมนุมของคุณทำโดยสงบ การยึดถนนสาธารณะทำให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างยากลำบาก สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ส่งผลทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ทั้ง “นายทุน” และ “ลูกจ้าง” ต้องได้รับความเดือดร้อน บางรายก็อาจถึงขึ้น “หายนะ” ไปเลยก็ได้ ทำลายชื่อเสียงของประเทศ เพียงเพื่อต้องการ “เอาชนะ” แค่นั้นเอง วันนี้คุณเสีย “เสียงสนับสนุน” และ “แนวร่วม” ไปมากพอสมควรเพราะการกระทำของพวกคุณเอง พลังเงียบที่เคยอยู่ตรงกลางจำนวนหนึ่งก็เริ่มออกมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคุณแล้วนะครับ ถามจริงๆเถอดครับว่าถ้ารัฐบาลยอมยุบสภาภายใน 15 วัน หรือ 30 วัน แล้วจะทำให้มีอะไรดีขึ้น คิดว่าคุณจะชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือครับ ถามจริง ๆ นะครับว่า มั่นใจได้ไหมว่าถ้าพวกคุณเป็นรัฐบาลแล้วจะสามารถบริหารประเทศได้ เสื้อเหลืองยังอยู่ เสื้อขาวยังอยู่ เสื้อชมพูยังอยู่ พวก Smarties ก็ยังอยู่ อย่าหวังว่าจะได้บริหารประเทศอย่างสะดวกเลยครับ ลองตรึกตรองดูสักหน่อย ส่วนความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทั้งหมด รวมไปถึงกรณีต้องมีคนบาดเจ็บหรือตายด้วยนั้น พวกคุณ คนเสื้อแดงต้องรับผิดชอบและชดใช้เช่นเดียวกันครับ เพราะถ้าคุณไม่ “ดื้อ” ชุมนุมปิดถนนสาธารณะสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ก็คงไม่เป็นเหตุให้มีการสลายการชุมนุมครับ !
       ก่อนจะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ก็คงต้องขอกล่าวไว้ชัด ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า ต้นเหตุของความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จนทำให้ประเทศไทยที่เรารู้จัก “ตายแล้ว” ในวันนี้ก็คือ การรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เพราะการไม่ยอมปล่อยให้ “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง” เหมือนที่นายทหารใหญ่คนหนึ่งพูดเอาไว้ในวันนี้ ไปทำรัฐประหารเพื่ออะไรก็ไม่รู้ ทำแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีมาแต่เดิมได้ แถมยังสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นมาอีกมากจนประเทศไทยของเราต้องตกอยู่ในสภาพแบบนี้ คนที่ทำรัฐประหาร คนที่อยู่เบื้องหลัง คนที่สนับสนุนและคนที่เข้าไปร่วมกระบวนการด้วยทุกคน พวกคุณทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่ร่วมกันทำให้ “ประเทศไทยตายแล้ว” ครับ !!!
       เดือนพฤษภาคมนี้ผมต้องไปสอนหนังสือที่ประเทศฝรั่งเศสทั้งเดือน คราวนี้ไปที่มหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale ตั้งอยู่ที่เมือง Brest ครับ ผมไม่อยู่ 1 เดือนก็ได้แต่หวังว่า เมื่อกลับมา เหตุการณ์ต่าง ๆ น่าจะดีขึ้นแล้วนะครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ มานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรก ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้นำเสนอบทความเรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับปัจจุบัน) เพื่อ “การปฏิรูปประเทศ” โดยผู้เขียนบทความได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแนบท้ายบทความเอาไว้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ ส่วนบทของที่สอง เป็นบทความที่เขียนโดย คุณ ชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง “ทุกชีวิตมีค่า หยุดบ้ากันได้แล้ว” มาร่วมกับเราครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544