หน้าแรก บทความสาระ
บทบาทของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการภิวัฒน์
คุณธนัย เกตวงกต นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
23 พฤษภาคม 2553 19:52 น.
 
1. บทนำ
       
       “พระราชดำรัส 25 เมษายน ต่อศาล ซึ่งถือเป็นพระราชวิสัยทัศน์สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เพราะทรงเปิดทางให้เกิดตุลาการภิวัฒน์ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการเมืองการปกครองของโลกปัจจุบัน...
       ตุลาการภิวัฒน์เกิดเพื่อแก้ปัญหาลัทธิถือเลือกตั้งเป็นใหญ่ และเสริมประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลกแม้กระทั่งอังกฤษ ก็ได้หันมาใช้ตุลาการภิวัฒน์ (Judicial review) กันมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายประการ...”(1)
       
       คำพิพากษาตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อสภาพการเมืองอย่างมหาศาลจนกระทั่งถูกกล่าวขานทั่วไปว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งก่อให้เกิดคำถามที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ตุลาการภิวัฒน์ คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร ด้วยความสงสัยต่อคำถามดังกล่าวจึงนำมาสู่บทความชิ้นนี้ที่เขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามว่าอะไรคือปัจจัยที่สำคัญของการเกิดขึ้นของตุลาการภิวัฒน์ และจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคืออะไร โดยผ่านการวิเคราะห์ความเป็นสถาบัน (Institutional) ของศาลรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) เหตุที่ต้องกำหนดช่วงเวลา 10 ปี เนื่องจากจะแสดงให้เห็นถึงภาพที่กว้างขวางขึ้นของความเป็นสถาบันจากช่วงเวลาดังกล่าว อันจะแสดงให้เห็นถึงความแปรเปลี่ยนของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ
       แม้จะได้มีงานบางชิ้นที่ศึกษาถึงทัศนคติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผ่านคำวินิจฉัยและการสัมภาษณ์(2) ได้ผลสรุปออกมาว่าภูมิหลังของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น อายุ การศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน และปรัชญาแนวคิดทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการวิเคราะห์จากระดับปัจเจกไปสู่ความคิดขององค์กร แต่ไม่ได้อธิบายว่าวัฒนธรรมขององค์กรก็ส่งผลต่อความคิดของปัจเจกเช่นกัน ดังนั้นการจะทำความเข้าใจถึงวัฒนธรรมขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญต่อความคิดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นจำต้องศึกษาถึงความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญ
       ดังนั้นบทความนี้จะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนคือ ส่วนแรกคือบทนำที่จะกล่าวถึงภาพรวมของบทความชิ้นนี้ ต่อมาส่วนที่สองจะกล่าวถึงความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่สามจะแบ่งยุคของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเกิดขึ้นของตุลาการภิวัฒน์และที่มาของความชอบธรรมของตุลาการภิวัฒน์ ส่วนที่สี่จะกล่าวถึงข้อจำกัดและข้อควรระวังหลังการเกิดขึ้นของตุลาการภิวัฒน์ และส่วนสุดท้ายจะเป็นบทสรุปของบทความ
       
       2. ความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญ
       สถาบันคือ หน่วยทางสังคมที่ดำรงอยู่ในสังคม มีวิวัฒนาการ ความต่อเนื่อง มีบทบาท และการหน้าที่อยู่ในประเทศหนึ่งๆ ซึ่งบทความชิ้นนี้จะศึกษาความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นสถาบันทางการเมืองชนิดหนึ่ง ที่มีวิวัฒนาการ ความต่อเนื่อง มีบทบาทและหน้าที่เฉพาะของตนเอง ดังนั้นขอบเขตการศึกษาของบทความชิ้นนี้จึงเริ่มตั้งแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญจนกระทั่งปัจจุบัน เพื่อจะแสดงให้เห็นพลวัตรความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญถูกวิเคราะห์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางการเมืองจึงสามารถศึกษาให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมของสถาบันที่มีต่อบุคคล/ตัวแสดง (คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ทั้งนี้เพราะเมื่อบุคคล/ตัวแสดงอยู่ภายใต้บริบทของสถาบันทางการเมือง ย่อมได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมขององค์กร(3) ส่งผลให้บุคคล/ตัวแสดงย่อมขึ้นอยู่กับการตีความตามสถานการณ์มากกว่าจะเกิดจากการคิดคำนวณเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด (Maximize Profit)(4)
       กำเนิดศาลรัฐธรรมนูญ : สถาบันผู้ควบคุมให้รัฐ/ผู้ใช้อำนาจรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
       ตามวิวัฒนาการทางการเมืองของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ในยุโรป ภายหลังจากอำนาจสูงสุดของการปกครองเปลี่ยนจากตัวบุคคลคือ พระมหากษัตริย์ มาสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยอำนาจเข้ามาเป็นของ “ประชาชน” ผ่านการเลือกตั้งองค์กรรัฐสภาเข้ามาปกครองประเทศ แต่กลายเป็นรัฐสภากลายเป็นองค์กรสูงสุดแทนประชาชน และได้ใช้อำนาจของตนโดยไม่สนใจรัฐธรรมนูญ จนเกิดปัญหามากมาย ทำให้ประชาชนต้องหันมายอมรับแนวคิดทางการเมืองที่ว่ารัฐหรือผู้ใช้อำนาจรัฐ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องเกิดองค์กร “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาถ่วงดุลการใช้อำนาจของพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายข้างมากในรัฐสภา(5)
       จากแนวคิดของนักปรัชญากฎหมายชาวออสเตรียชื่อ ฮันส์ เคลเสน (Hans Kelsen) เสนอให้จัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ เรียกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากเคลเสนเห็นว่า การควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญผ่านการจัดตั้ง “ระบบคณะกรรมการ” ดังของฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองมากไป และการให้ “ศาลยุติธรรม” เป็นผู้พิจารณาแบบสหรัฐฯก็เกิดปัญหาความคิดอ่านคับแคบไม่ทันกับความต้องการของสังคม และยังขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ(6) ซึ่งการจัดตั้งองค์กรที่มีลักษณะพิเศษดังกล่าวจะทำให้ได้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเป็นการเฉพาะต่อการพิจารณาคดีเพื่อให้เกิดความรอบคอบต่อการปฏิบัติหน้าที่และทันกับเหตุการณ์ของสังคม สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงกดดันทางการเมืองและมีอิสระในการทำงาน และมีกระบวนการพิจารณาที่เปิดเผยสามารถให้คู่ความโต้แย้งและแสดงเหตุผลได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย การเมือง และเศรษฐศาสตร์ และให้คำวินิจฉัยนั้นมีผลเป็นการทั่วไป(7)
       จากแนวคิดของเคลเสนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศออสเตรีย ทำให้รัฐธรรมนูญของออสเตรีย พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) ได้สถาปนาสถาบัน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขึ้นครั้งแรก และเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นๆในระยะเวลาต่อมา เช่น สหพันธ์สาธารณะรัฐเยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส เบลเยี่ยม แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และไทย เป็นต้น(8)
       กำเนิดและพัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญ/คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไทย
       การเกิดขึ้นขององค์กรผู้ตัดสินข้อพิพาทเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญของไทยเป็นผลมาจากเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ส่งผลให้รัฐไทยต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีให้อยู่ภายใต้การนำของม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และหลังจากนั้นม.ร.ว.เสนีย์ได้ตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 มาตรา 3 บัญญัติว่า “การกระทำใดๆอันบุคคลได้กระทำไม่ว่าในฐานะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ต้องตามที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นอาชญากรของสงคราม และผู้กระทำเป็นอาชญากรสงคราม ทั้งนี้ไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้” จากเหตุการณ์ครั้งนั้นศาลฎีกาได้ตัดสินว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่ลงโทษการกระทำก่อนวันใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่า ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมาย จึงเป็นผู้พิจารณาว่ากฎหมายใดใช้ได้หรือไม่ และภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญแบ่งอำนาจออกเป็นสามฝ่าย แต่ละฝ่ายย่อมมีหน้าที่ยับยั้งและควบคุมกัน ดังนั้นศาลย่อมเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากผลแห่งคำพิพากษานี้ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่พอใจศาลที่ได้ล่วงล้ำหน้าที่ของสภาในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 บัญญัติไว้ในมาตรา 62 ว่า “ท่านว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้” เพื่อยุติข้อขัดแย้งดังกล่าว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2489 จึงได้กำหนดให้มีองค์กรพิเศษซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ”(9) และได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งยกระดับเป็นศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และเปลี่ยนกลับเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549(10) และกลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
       โครงสร้างองค์กรของศาลรัฐธรรมนูญ
       โครงสร้างองค์กรของศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาจากองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ การสรรหาและการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วาระการดำรงตำแหน่งและหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหมดจะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
       โครงสร้างขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 255 กำหนดให้จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกสิบสี่คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้พิพากษาในศาลฎีกาจำนวน 5 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์จำนวน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์จำนวน 3 คน
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 255 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลปกครองสูงสุด ต้องได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดตามลำดับ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 257 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา คณบดีคณะนิติศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง เลือกกันเองให้เหลือ 4 คน คณบดีคณะรัฐศาสตร์หรือเทียบเท่าของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง เลือกกันเองให้เหลือ 4 คน และผู้แทนจากพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกกันเองให้เหลืออีก 4 คน รวมทั้งหมด 13 คน ขึ้นมาเพื่อสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์จำนวน 10 คนและผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์จำนวน 6 คน เสนอต่อประธานวุฒิสภาพร้อมคำยินยอมของผู้ได้รับความเสนอชื่อนั้นภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมติในการเสนอชื่อดังกล่าวจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จากนั้นให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติเลือกบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อในบัญชีดังกล่าว ซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ ในการนี้ให้ 5 คนแรกในบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และ 3 คนแรกในบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา เป็นผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าจำนวนผู้ได้รับเลือกดังกล่าวจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิมีไม่ครบ 5 คนให้นำรายชื่อผู้ไม่ได้รับเลือกในคราวแรกในบัญชีรายชื่อนั้นมาให้สมาชิกวุฒิสภาออกเสียงลงคะแนนเลือกอีกครั้งหนึ่ง และในกรณีนี้ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับ เป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกิน 5 คน หรือ 3 คน ตามแต่กรณี ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 259 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี นับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 260
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 270 กำหนดให้ ศาลรัฐธรรมนูญมีหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระทั้งในด้านการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชาและขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ
       โครงสร้างของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35 บัญญัติว่า “...คณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 5 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ
       ให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ธุรการและการอื่นใดที่ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมอบหมาย
       องค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย ให้เป็นไปตามที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
       โครงสร้างขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 204 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 3 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์จำนวน 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่นจำนวน 2 คน
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 208 กำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 217 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระทั้งในด้านการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชาและขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ
       
       อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
       อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยหลักการสำคัญจะไม่มีความแตกต่างกันระหว่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพราะหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ทำให้กลายเป็นสถาบันที่มีหน้าที่เฉพาะของตนเอง แม้จะเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และได้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นเพียงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ยังคงมีบทบาทหน้าที่หลักเช่นเดิม ซึ่งอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยทั่วไปจะกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดไว้ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
       1) ควบคุมรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุด หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไม่อาจมีผลในทางปฏิบัติหากปราศจากองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์กรที่มีหน้าที่พิจารณาตัดสินกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติหรือการกระทำของฝ่ายบริหารว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อันหมายถึง กฎหมายทั้งหลายที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ตราขึ้นนั้นต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ(11) ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติในทางลบ เช่น รัฐธรรมนูญฯ 2540 กำหนดไว้ในมาตรา 92 ว่า ร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาให้พระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นๆสิ้นผลไปได้ คือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวนั่นเอง จึงถือได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจนิติบัญญัติร่วมอยู่ด้วย แต่ไม่ใช่ในเชิงสร้างกฎเกณฑ์แต่เป็นอำนาจนิติบัญญัติเชิงลบล้างผลของบัญญัติดังกล่าว หรือที่เรียกว่า “อำนาจนิติบัญญัติในทางปฏิเสธ”(12)
       อย่างไรก็ตามการพิจารณาว่าบทบัญญัติกฎหมายต่างๆมีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ของศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดปัญหาบางประการ เช่น การเปิดโอกาสให้มีคำร้องจากจำเลยเกี่ยวกับคดีทางแพ่ง ที่ต้องการจะยื้อเวลาโดยอาศัยมาตรา 264 ตามรัฐธรรมนูญฯ 2540 ซึ่งบัญญัติให้คู่กรณี มีสิทธิร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลส่งความเห็นคัดค้านว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใด เพื่อให้ศาลจะต้องรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน(13)
       2) วินิจฉัยเกี่ยวกับความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ(14) เนื่องจากต้องการเพื่อจะยุติความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของฝ่ายต่างๆนั่นเอง
       3) การวินิจฉัยคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญมาได้มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สำคัญหลายครั้ง เช่น กรณีตัดสิทธิทางการเมืองของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเวลา 5 ปี กรณีวินิจฉัยตัดสินคดีซุกหุ้นของอดีตนายกทักษิณเมื่อปี 2544 กรณีตัดสิทธิทางการเมืองของสมาชิกพรรคไทยรักไทยเป็นเวลา 5 ปี กรณีตัดสินคดีชิมไปบ่นไปของอดีตนายกสมัคร สุนทรเวช เป็นต้น ซึ่งทุกคำตัดสินที่เกิดขึ้นล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมาก
       4) เมื่อเป็นศาลจะต้องมีคดีเกิดขึ้นจึงจะมีอำนาจวินิจฉัยคดีนั้น กล่าวคือ ศาลจะพิจารณาคดีได้ก็ต่อเมื่อกลายเป็นข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเท่านั้น ไม่มีอำนาจที่จะตอบข้อสงสัยทางกฎหมายเกี่ยวกับการโต้แย้งหรือข้อพิพาทดังกล่าว และศาลไม่มีอำนาจพิพากษาเกินคำขอหรือที่เรียกว่า “Ultra Petita”
       5) เมื่อมีคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทในสิทธิหน้าที่และอำนาจขึ้นแล้ว จะต้องมีวิธีพิจารณาอย่างเดียวกับศาล กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจกำหนดวิธีพิจารณาได้เอง จำเป็นต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองไว้
       วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       การเปลี่ยนจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไปสู่รูปแบบขององค์กรศาลตามรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อได้จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้น จำเป็นต้องมีวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 269 ได้บัญญัติไว้ว่า “วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งต้องกระทำโดยมติเอกฉันท์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา” และมาตราเดียวกัน วรรคสองได้บัญญัติเพิ่มเติมว่า “วิธีพิจาณาของศาลรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย การให้โอกาสคู่กรณีแสดงความเห็นของตนก่อนการวินิจฉัยคดี การให้สิทธิคู่กรณีขอตรวจดูเอกสารที่เกี่ยวกับตน การเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และการให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญด้วย” ดังนั้นจึงสามารถเข้าใจวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้ผ่าน “ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2546” (ซึ่งเดิมศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2541) และต่อมารัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2549 ก็ได้บัญญัติหลักการวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญคล้ายคลึงกัน(15) ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญหลังรัฐธรรมนูญฯ 2550 แม้ยังไม่ได้กำหนดข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คาดว่าคงจะมีลักษณะสำคัญไม่ต่างกันดังต่อไปนี้
       1) การพิจารณาโดยเปิดเผย คือ การไต่สวนของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องกระทำโดยเปิดเผย และให้ปิดประกาศเวลาไต่สวนทุกครั้งไว้ ณ ที่ทำการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
       2) การให้โอกาสคู่กรณีแสดงความเห็นของตนก่อนการวินิจฉัย เนื่องจากวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นการไต่สวน
       3) การให้สิทธิคู่กรณีขอตรวจดูเอกสารที่เกี่ยวกับตน คือ คู่กรณีมีสิทธิขอตรวจพยานหลักฐานและคัดสำเนาพยานหลักฐาน ณ ที่ทำการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในเวลาทำการได้ตามที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนด
       4) การเปิดโอกาสให้คู่กรณีสามารถคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องในเรื่องที่ขอให้วินิจฉัย
       5) ต้องให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง
       3. ที่มาของความชอบธรรมของตุลาการภิวัฒน์ และจุดเปลี่ยนของศาลรัฐธรรมนูญ
       จากการศึกษาแบบภาพรวมทำให้เห็นพัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญที่มีความแตกต่างออกได้เป็นสองช่วง ได้แก่ ระยะแรกคือ ช่วงก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ (11 เมษายน 2541 – เมษายน 2549) และระยะที่สองคือ ช่วงตุลาการภิวัฒน์ (หลังเมษายน 2549 – ปัจจุบัน) ซึ่งจะทำความเข้าใจความแตกต่างของสองช่วงเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องเข้าใจถึงบริบทสถานการณ์ของการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย เนื่องจากบริบททางการเมืองจะแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆที่จะช่วงชิงผลประโยชน์บนพื้นที่ทางการเมือง ดังนั้นบทความนี้จะแสดงให้เห็นการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ให้เป็นไปตามฝ่ายที่ตนต้องการ โดยกลุ่มต่างๆจะช่วงชิง/ยึดกุมเครื่องมือที่ชอบธรรมจากสิ่งที่มีอยู่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ทำลายฝ่ายตรงกันข้าม
       
       3.1 ช่วงก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญ
       การเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญ
       หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองของไทย ที่ส่งผลให้ชนชั้นนำต้องจัดสรรอำนาจระหว่างกันใหม่ จากที่ทหารเป็นผู้เล่นบทบาทของผู้นำทางการเมืองได้ถูกโค่นล้มด้วยอำนาจของม็อบชนชั้นกลาง จากเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความรู้สึกเลวร้ายต่อสถาบันทหารที่มาควบคุม/บริหารงานทางการเมืองมากเกินไป ดังนั้นทหารจึงต้องปรับบทบาทของตนไปสนใจเรื่องทางด้านการพัฒนาแทน ตามแนวคิด “ทหารนักพัฒนา” ขณะที่นักการเมืองจึงอาศัยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารประเทศด้วยความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง และชนชั้นกลางผู้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารได้เห็นสภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังจากหลุดจากระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ/อำมาตยาธิปไตย การเมืองไทยยังคงมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแบบ “เลือกตั้งธิปไตย”(16) หรือ “สภาพสองนคราประชาธิปไตย”(17) กล่าวคือ เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้นำไม่มีความเข้มแข็ง เพราะนายกรัฐมนตรีเกิดจากการควบรวมบรรดาหัวหน้ามุ้งต่างๆเข้ามาเพื่อผลักดันตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะตอบแทนด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆแก่บรรดาหัวหน้ามุ้ง โดยสามารถอธิบายความสัมพันธ์ของการขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งด้วยระบบอุปถัมภ์เป็นชั้นๆดังนี้ จากหัวหน้ามุ้งอุปถัมภ์แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็อุปถัมภ์ต่อหัวคะแนน และท้ายที่สุดหัวคะแนนจะเป็นผู้อุปถัมภ์ไปสู่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (ประชาชน) ดังนั้นทำให้พรรคการเมืองจึงเป็นที่รวมของบรรดามุ้งการเมืองต่างๆ ไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน และสมาชิกพรรคการเมืองจึงสามารถย้ายพรรคกันโดยง่าย ก่อให้เกิดระบบหลายพรรคการเมืองซึ่งส่งผลต่อความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และการบริหารงานหลายครั้งขาดอำนาจการตรวจสอบ หลายองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐไม่มีอำนาจแท้จริงในการตรวจสอบ ดังนั้นรัฐธรรมนูญใหม่จึงต้องการให้ฝ่ายบริหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจเพิ่มมากขึ้น จนมีลักษณะการแบ่งแยกอำนาจจากเดิมที่เป็นแบบสามขาคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เปลี่ยนเป็นแบบสี่ขาคือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ โดยมีประชาชนอยู่ตรงกลางเป็นผู้ใช้สิทธิเสรีภาพ มีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจ ชนชั้นกลางจึงได้พยายามจะผลักดันฝันของกลุ่มตนให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย ผ่านการกำหนดไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเหตุผลที่ชนชั้นกลาง นักวิชาการต้องกำหนดความฝันของกลุ่มตนลงในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญจะแสดงคล้ายแผนที่ให้เห็นถึงค่านิยมความคาดหวังของสังคมที่กำลังก้าวเดินไป และบางครั้งจะกำหนดมาตรการบังคับให้แก่องค์กรของรัฐหรือประชาชนต้องปฏิบัติตาม
       ดังนั้นจึงสามารถจะอ่าน/ศึกษารัฐธรรมนูญได้เหมือนอัตชีวประวัติของสัมพันธภาพทางอำนาจในรัฐ(18) กล่าวคือ เป็นพื้นที่ที่จะสะท้อนและแสดงให้เห็นถึงค่านิยม ความคาดหวัง ของคนในช่วงเวลานั้นๆ เพราะรัฐธรรมนูญคือพื้นที่ที่กลุ่มต่างๆเข้าช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งกลุ่มใดก็ตามที่มีอำนาจมากในช่วงเวลานั้นจะเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญให้เอื้อประโยชน์/เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มตน และช่วงเวลานี้ก็เช่นกันที่ชนชั้นกลางผู้ได้รับชัยชนะจากการขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จึงได้พยายามผลักดันทางความคิดให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เกิดขึ้นมาจากการเรียกร้องของประชาชน ได้เริ่มกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในรูปแบบที่ปลอดจากอำนาจของผู้ปกครอง และสร้างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ได้แก่ การสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนของประชาชนแต่ละจังหวัด และตัวแทนจากสาขาอาชีพต่างๆทั่วประเทศจำนวน 99 คน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามความต้องการของประชาชนเสนอต่อรัฐสภาโดยไม่ยอมรับให้มีการแก้ไข
       จากสภาพปัญหาทางการเมืองที่เห็นได้ในช่วงนั้นรัฐธรรมนูญจึงได้ออกแบบวิธีการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น (ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งธิปไตยหรือสภาพสองนคราประชาธิปไตย) ผ่านข้อบังคับของรัฐธรรมนูญฯ 2540 เช่น ความต้องการจะให้เกิดพรรคการเมืองแบบสองพรรคใหญ่(19) ดังเห็นได้จาก การจัดเขตการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบพรรคใหญ่ เนื่องจากกลไกการทำงานของพรรคเล็กและฐานการเมืองของพรรคเล็กแคบกว่า/เสียเปรียบพรรคใหญ่ และมาตรา 100 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงน้อยกว่า 5 % ของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศไม่สามารถมีผู้แทนราษฎรตามระบบบัญชีรายชื่อได้ ทำให้คะแนนเสียงดังกล่าวต้องไปเฉลี่ยให้แก่พรรคใหญ่ที่มีคะแนนเสียงเกินกว่า 5 % นอกจากนี้ยังออกแบบให้นายกรัฐมนตรีมีความเข้มแข็ง ทั้งจากการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถจะขับไล่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกจากพรรคได้และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนดังกล่าวจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะยังเป็นสมาชิกพรรคใหม่ไม่ถึง 90 วัน และฝ่ายบริหารแยกออกจากสภาทำให้ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสภา นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจถอดถอนรัฐมนตรีตามมาตรา 217(20) ซึ่งส่งผลให้รัฐมนตรีที่ถูกถอนถอดจากตำแหน่งรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย หรือต้องการเพิ่มกลไกการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
       อำนาจทางด้านตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในกลไลตรวจสอบการทำงานของภาครัฐก็ได้ปรับปรุงองค์กรจากเดิมที่เคยมีสองศาล (ศาลยุติธรรมและศาลทหาร) เป็น สี่ศาล (ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหาร) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นใหม่นี้จึงได้เกิดขึ้นภายใต้เหตุผลดังต่อไปนี้ ประการแรกคือปัญหาทางด้านบุคคล การกำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งประกอบด้วยตุลาการโดยตำแหน่ง เช่น ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา (ทั้งสองตำแหน่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง) ประธานศาลฎีกา และอัยการสูงสุด (ทั้งสองตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่หลักของตนอยู่แล้วและศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีมาแต่เดิมประสบปัญหาในหลายๆด้าน และไม่ใช่หลักประกันความเชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ) ทำให้บุคคลในตำแหน่งเหล่านี้เกิดปัญหาขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบหลักอยู่แล้ว รวมถึงความขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ประจำกับตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำให้ตุลาการรัฐธรรมนูญมีฐานะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสมาชิกรัฐสภา(21) ประการที่สองคือปัญหาทางด้านโครงสร้างขององค์กร จากโครงสร้างของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญโดยยกฐานะขึ้นเป็นรูปแบบของ “ศาล” ที่เรียกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้มีองค์กรเฉพาะที่จะทำหน้าที่ประกันสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งวินิจฉัยคดีในลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากกฎหมายเอกชนทั่วไป โดยต้องพิจารณาตามหลักการพิจารณาของกฎหมายมหาชน(22) และให้ผลคำตัดสิน/คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สิ้นสุดใช้บังคับกับทุกองค์กร และประการสุดท้ายคือเพื่อสร้างประสิทธิภาพทางการทำงาน ทั้งความจำเป็นในการดำรงฐานะอิสระไม่ผูกพันรัฐและการเมือง (State Authority & Political Power Free) เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการตัดสิน ไม่ถูกครอบงำจากองค์กรอื่น และความจำเป็นในการเป็นองค์กรตุลาการ (Judicial Organism) เพื่อเปลี่ยนวิธีการพิจารณาจากคณะตุลาการมาเป็นวิธีพิจารณาแบบศาล(23)
       จากสภาพทางการเมืองช่วงเวลาดังกล่าวก่อให้เกิดการตั้งศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรก ศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมานั้นเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมการเมืองไทย แม้ว่าจะเคยมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่หลังพ.ศ. 2489 ก็ตาม แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งโครงสร้างองค์กร อำนาจหน้าที่และตัวบุคคล จึงถือได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเวลาของการสร้างความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหล่านั้นมีที่มาและประสบการณ์ที่หลากหลาย จำเป็นต้องตีความและเข้าใจองค์กรศาลรัฐธรรมนูญใหม่ตามความเข้าใจและประสบการณ์เดิมของตน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แลกเปลี่ยน/เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และร่วมกันค่อยๆสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมา อันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นสถาบัน ด้วยเหตุดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญในช่วงต้นจึงเต็มไปด้วยความเป็นอิสระของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังเห็นได้จากคำพิพากษาตัดสินกรณีซุกหุ้นของอดีตนายกทักษิณซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นการตัดสินเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมคดีแรกของโลก โดยศาลประเทศตนเอง และเป็นการตัดสินครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่กำเนิดศาลรัฐธรรมนูญไทยมา เนื่องจากถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะทำให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่มากที่สุดถึง 16 ล้านเสียงต้องออกจากตำแหน่ง และคำตัดสินวันนั้นยังส่งผลต่อการเมืองไทยต่อมาอย่างมากมาย ซึ่งคำพิพากษาตัดสินวันนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแตกต่างกันของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังคำพิพากษาด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 และด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน และภายหลังจากการตัดสินดังกล่าวเมื่อต้องเขียนคำวินิจฉัยกลางยังได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกันและกันผ่านสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง(24)
       
       3.2 ช่วงตุลาการภิวัฒน์ (เมษายน 2549 – ปัจจุบัน)
       
ปัญหาการเมืองไทยปลายรัฐบาลอดีตนายกทักษิณ : จุดกำเนิดของตุลาการภิวัฒน์
       ผลจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มุ่งให้เกิดสองพรรคขนาดใหญ่และเอื้อให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง และเมื่อเผชิญร่วมกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปีพ.ศ. 2540 จึงเป็นปัจจัยหนุนเสริมการขึ้นสู่อำนาจของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ภายใต้พรรคไทยรักไทย ซึ่งพรรคไทยรักไทยเป็นการรวบรวมบรรดาหัวหน้ามุ้งต่างๆเข้าไว้ด้วยกันรวมถึงการรวมตัวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และเป็นการเปิดตัวของผู้นำที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจแบบอดีตนายกทักษิณ อันเป็นภาพลักษณ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนักการเมืองหน้าเก่าซึ่งไม่สามารถจะช่วยให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ ดังนั้นหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ 2540 ได้มีการเลือกตั้งครั้งแรกปี 2544 ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยได้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่มากที่สุดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ภายหลังการบริหารก็ต้องการให้พรรคมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นจึงได้ทำการควบรวมพรรคขนาดกลางและเล็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคไทยรักไทย ได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม พรรคต้นตระกูลไทย และพรรคชาติพัฒนา จึงทำให้เกิดเป็นพรรคที่มีความเข้มแข็งตามความมุ่งหวังของรัฐธรรมนูญและผู้ร่างรัฐธรรมนูญ
       เมื่อพรรคไทยรักไทยเริ่มเป็นพรรคที่มีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ช่วงปลายสมัยการปกครองบริหารของอดีตรัฐบาลนายกทักษิณจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มในสังคมที่ได้และเสียผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการบริหารงานภายใต้การนำของอดีตนายกทักษิณจึงนำเสนอผลงานของรัฐบาลอดีตนายกทักษิณด้านบวกทั้ง นโยบายประชานิยม กองทุนหมู่บ้าน พักชำระหนี้เกษตรกร 30 บาทรักษาทุกโรค ผ่านภาพของชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จจากนโยบายดังกล่าว และชื่นชม/ยกย่องพร้อมจะให้อดีตนายกทักษิณเป็นผู้นำบริหารประเทศต่อไปเรื่อยๆ
       ขณะเดียวกันกลุ่มที่เสียผลประโยชน์จากการบริหารประเทศดังกล่าว ได้ค่อยๆก่อร่าง/รวมตัวกันเพื่อต่อสู้คัดค้าน ภายใต้หัวหอก/หัวขบวนการนำของนักวิชาการที่สร้างการนิยามการบริหารของอดีตรัฐบาลนายกทักษิณว่าเป็น “ระบอบทักษิณ” ซึ่งมีลักษณะการบริหารประเทศที่มีลักษณะคล้ายเผด็จการที่มาจากประชาธิปไตยกล่าวคือ อ้างความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยไม่สนใจต่อวิธีการใช้อำนาจที่ถูกต้องเหมาะสม และสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบราชการด้วยการนำการบริหารแบบเอกชนเข้ามาใช้ร่วมด้วย เช่น การบริหารงานด้วยระบบ CEO เป็นต้น และแนวทางด้านเศรษฐกิจ ก็มีนโยบายที่เดินตามกรอบแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่เต็มขั้นที่เน้นการแปรสินทรัพย์เป็นทุนหรือแปรไทยเป็นทุน(25) และนโยบายประชานิยมที่จะก่อให้เกิดหนี้สาธารณะที่ผูกพันต่อไปในระยะยาว ซึ่งหลายคนเชื่อว่าแนวทางเศรษฐกิจแบบนี้ท้ายที่สุดจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของพรรคไทยรักไทยและตัวอดีตนายกทักษิณ และแนวทางด้านสังคมวัฒนธรรมของอดีตนายกทักษิณก็มีลักษณะที่ชื่นชอบการรวมศูนย์อำนาจที่ผู้นำมากกว่าจะกระจายอำนาจ และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เช่น คำกล่าวของอดีตนายกทักษิณหลังจากเริ่มสงครามปราบปรามยาเสพย์ติดว่า(26)
       
       “We’ll carry on killing the drug traders, and don’t moan about human rights.” (“เราจะเดินหน้าฆ่าผู้ค้ายาต่อไป แล้วไม่ต้องมาโอดครวญเรื่องสิทธิมนุษยชน”)
       
       จากนิยามการปกครองของอดีตนายกทักษิณใหม่ว่า “ระบอบทักษิณ” ซึ่งมีลักษณะที่เป็นเผด็จการไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นทุนนิยมที่สามานย์ และตัวอดีตนายกทักษิณมีวัฒนธรรมการบริหารที่รวมศูนย์อำนาจไม่ใช่กระจายอำนาจตามแนวทางประชาธิปไตยดังที่กล่าวมา เมื่อนิยามดังกล่าวถูกสถาปนาเหมือนเป็นสิ่งชั่วร้าย จึงสมควรที่จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง/ล้มล้าง โดยนิยามดังกล่าวนี้กลุ่มผู้เสียประโยชน์กลุ่มอื่นจากการบริหารงานของอดีตนายกทักษิณจึงได้ช่วงชิงนิยามดังกล่าวเพื่อร่วมกันต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการพลเรือน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ทูต และข้าราชการระดับบน เริ่มรู้สึกไม่มั่นคงกับอนาคตทางราชการภายใต้การบริหารแบบ CEO ที่สามารถโอนย้ายบุคคลอื่นเข้ามาเป็นผู้บริหารแทนการขึ้นตามสายการบังคับบัญชาของระบบราชการ ข้าราชการทหารที่ถูกแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหารจากอดีตนายกทักษิณ สถาบันกษัตริย์ที่ถูกอดีตนายกทักษิณท้าทายจากภาพความชอบธรรมของการปกครองบริหารประเทศที่มาจากประชาชน 16 และ 19 ล้านเสียง ซึ่งถือเป็นการท้าทายความชอบธรรมเกี่ยวกับที่มาของอำนาจทางประเพณีของสถาบันกษัตริย์ สื่อมวลชนที่ถูกปิดกั้นแทรกแซงจากรัฐ NGOซึ่งถูกดูถูกและถูกกีดกันการเข้าช่วยเหลือประชาชนจากรัฐบาล และชนชั้นกลางที่รู้สึกกับประเด็นด้านศีลธรรมของตัวผู้นำที่เชื่อว่า ร่ำรวยผิดปกติ โดยเฉพาะเหตุการณ์ขายหุ้นชินฯ แก่บริษัทเทมาเส็กของสิงคโปรมูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท ทั้งหมดจึงได้แสดงออกผ่านพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในรูปของบทความวิชาการ คอลัมน์หนังสือพิมพ์ และการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอดีตนายกทักษิณของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
       การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่หลากหลาย เพื่อกดดันเรียกร้องขับไล่รัฐบาลและให้อดีตนายกทักษิณลาออกจากตำแหน่ง แต่การชุมนุมที่เกิดขึ้นแม้จะมีผู้ร่วมชุมนุมเป็นอย่างมาก แต่ไม่สามารถกดดันให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มตนได้ ดังนั้นทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงต้องคิดหาเครื่องมือใหม่ๆเพื่อใช้กดดันต่อรองให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กลุ่มตนตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็น การถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อขอนายกพระราชทานตามมาตรา 7 แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากพระมหากษัตริย์ หรือการสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร หรือการสนับสนุนให้ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจเข้าแทรกแซงความขัดแย้งและตัดสินทางการเมือง อันนำไปสู่การใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการที่รวดเร็วและเกิดขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือต่างๆที่กลุ่มพันธมิตรฯเลือกใช้อาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม
       ความชอบธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ : ตุลาการภิวัฒน์
       จากรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม/วัฒนธรรมการเมืองของไทย(27) อย่างน้อย 2 ประการที่สร้างความชอบธรรมให้แก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือ ประการแรกสถาบันกษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามประเพณีในกรณีการชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาของสังคมไทยมาโดยตลอด และประการที่สอง การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทย ความสัมพันธ์ของฝ่ายตุลาการผู้ตัดสินกฎหมายในสังคมไทยไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากนัก ไม่เคยมีบทบาทเข้ามาแทรกแซงกิจการทางการเมือง หรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กระทำการตัดสินคดีในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีภาพลักษณ์ที่ขาวสะอาดมาโดยตลอดกับการเมืองไทย จึงเหมาะสมที่จะใช้ในการคานอำนาจของผู้มีอิทธิพล (นักการเมือง) เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นที่พึ่งพิงแก่ประชาชนโดยทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน
       สถาบันกษัตริย์
       ภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มคนสองกลุ่มในสังคมไทย “เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณ” และการเมืองตามระบบประชาธิปไตยเกิดปัญหาหลังจากที่อดีตนายกทักษิณประกาศยุบสภาท่ามกลางความขัดแย้งเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ อันจะนำมาซึ่งความชอบธรรมของการขึ้นสู่อำนาจบริหารประเทศผ่านการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน จับมือกันไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ดังนั้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาจากการเลือกตั้งครั้งนั้นกล่าวคือ มีบางพื้นที่ไม่มีผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ครบจำนวนเพื่อเปิดประชุมสภาได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้เกิดสภาวะคล้ายสุญญากาศทางการเมือง
       จากสภาวะทางการเมืองดังกล่าวข้างต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสนอวิธีทางแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นว่า ฝ่ายตุลาการไม่ควรนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ควรมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย โดยนำเสนอผ่านพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้แก่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาล เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์(28) ความว่า
       
       “...ฉะนั้นขอให้ท่านไปศึกษาว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านลาออกดีกว่า ท่านเป็นผู้ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้...ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป ขอฝากไว้ เราจะขอบใจมาก เดี๋ยวมันยุ่ง เพราะไม่มีสภาผู้แทนฯ ก็ไม่สามารถมีการปกครองแบบประชาธิปไตยได้...”
       
       เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของบทบาทอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเพราะ หลังจากนั้นประชาชนจึงเริ่มสนใจต่ออำนาจตุลาการเพื่อใช้เป็นเครื่องมือจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ตุลาการต่างเร่งเข้ามาตัดสินคดีทางการเมืองอย่างรวดเร็ว(29) เช่น เหตุการณ์วันที่ 27 เมษายน 2549 ศาลปกครองได้ไต่สวนฉุกเฉินกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องของให้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 และ 23 เมษายน 2549 และหมายรวมถึงการเลือกตั้งวันที่ 29 เมษายน 2549 ที่จะเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวสั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระงับการเลือกตั้งดังกล่าวไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เหตุการณ์วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนเสียและจัดเลือกตั้งใหม่ หรือเหตุการณ์วันที่ 13 กรกฎาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องอัยการสูงสุดให้ยุบ 5 พรรคการเมืองรวมถึงพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นต้น
       และช่วงเวลาดังกล่าวได้มีนักวิชาการให้การสนับสนุนให้เกิดความรวดเร็วของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น และแสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ต่อสังคมการเมืองเช่นกัน
       
       ธีรยุทธ บุญมี(30) กล่าวว่า “...ถ้าทางอำนาจตุลาการไม่มองอำนาจตุลาการอย่างกว้างและขับเคลื่อนกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ แล้วปล่อยให้นักการเมืองดำเนินการปฏิรูปการเมืองด้วยตัวเอง โดยที่ภาคประชาชนซึ่งกำลังถดถอยไปเรื่อยๆ เป็นฝ่ายกดดันฝ่ายเดียว ก็ยากที่จะทำให้การปฏิรูปการเมืองดำเนินไปอย่างมีผลได้ ดุลยภาพก็จะเสียไปอีก นำไปสู่วิกฤตครั้งใหม่ซึ่งคงจะรุนแรงกว่าเก่า และมีโอกาสมากที่จะนำไปสู่ระบอบเผด็จการประชานิยมที่ยาวนาน…”
       บวรศักดิ์ อุวรรณโณ(31) กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นอยู่ในบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ ทรงแนะนำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่ให้พระมหากษัตริย์มาทรงกระทำสิ่งที่ผิดหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ”
       
       และต่อมาเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญของการเมืองไทย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองใหม่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมของผู้ปกครองใหม่ และแสดงให้เห็นถึงเหตุผลต่อการล้มล้างผู้ปกครองเดิม กล่าวคือ การสร้างความชอบธรรมของผู้ปกครองใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงความชื่อสัตย์ สุจริตของอดีตนายกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะรัฐมนตรี ผู้ที่ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการประจำเดิมและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากกลุ่มผู้ต้องการโค่นล้มระบอบทักษิณ โดยเฉพาะกลุ่มสื่อมวลชนต่างๆที่ช่วยโฆษณาให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของอดีตนายกสุรยุทธ์เหล่านี้ เป็นคณะรัฐมนตรีที่ทรงคุณธรรมเหมาะสมที่จะปกครองประเทศ ซึ่งนำเสนอภาพตรงกันข้ามกับภาพของระบบทักษิณที่ผู้นำมีผลประโยชน์ทับซ้อน
       ความชอบธรรมของการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากสองประการหลักคือ ความชอบธรรมของการขึ้นสู่อำนาจที่ถูกต้องตามประเพณีการปกครอง และการใช้อำนาจบริหารปกครองเพื่อประชาชนที่เป็นธรรม ดังนั้นกลุ่มที่โค่นล้มอดีตนายกทักษิณไม่สามารถจะกล่าวหาการขึ้นสู่อำนาจของอดีตนายกทักษิณได้ เพราะมีความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้งเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้จึงต้องแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของการใช้อำนาจที่ได้จากการเลือกตั้งของอดีตนายกทักษิณต่อกรณีการบริหารประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบริบททางสังคมการเมืองช่วงเวลานั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญยังคงมีคดีค้างอยู่ที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2549 เนื่องจากพรรคไทยรักไทยกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (1) และ (3)(32) เนื่องจากพรรคไทยรักไทยมีการทุจริตในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้บริหารพรรคไทยรักไทยได้ว่าจ้างสนับสนุนให้พรรคการเมืองอื่นจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อลงสมัครแข่งขันกับผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่จะใช้เป็นเครื่องมือที่จะแสดงให้เห็นว่าพรรคไทยรักไทยของอดีตนายกทักษิณใช้อำนาจไม่เหมาะสมจะปกครองประเทศ
       เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือที่จะใช้จัดการกับความชอบธรรมของการขึ้นสู่อำนาจของอดีตนายกทักษิณ ดังนั้นแม้หลังการรัฐประหารที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐธรรมนูญฯ 2540 และศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง แต่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมดังที่ได้กล่าวมาจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35 ขึ้น เพื่อโอนบรรดาอรรถคดีต่างๆที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญให้ย้ายไปอยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้นยังต้องการจะยุติบทบาททางการเมืองของขั้วอำนาจเดิมลงจึงได้ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 ข้อ (3)(33) ความว่า
       
       “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”
       
       และก่อนการตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯยังได้มีพระราชดำรัสต่อคณะตุลาการศาลปกครอง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ความตอนหนึ่งว่า(34)
       
       “เคยบอกกับท่านประธานว่า ครั้งก่อนที่มีเรื่องเกิดขึ้น ตอนที่ข้าพเจ้าพูดที่หัวหินเป็นเวลาปีกว่าแล้ว ก็เป็นความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น แล้วท่านก็เอาความรับผิดชอบใส่ในตัว แล้วความรับผิดชอบนั้นก็ทำให้คนเอะอะขึ้นมา จนกระทั่งเกิดเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเรื่องราวต่าง ๆ ก็มีเหตุมีผล ก็มีเหตุแล้ว ก็มีผลขึ้นมา ยุ่งหมด อีกไม่กี่วันก็ยุ่งต่อไป ท่านเตรียมตัวดี ๆ ที่จะให้พร้อมที่จะมีการวิจารณ์บ้าง ไม่ใช่ในฐานะศาล ในฐานะส่วนตัว หรือในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ในฐานะผู้มีความรู้ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้บ้านเมืองล่มจมอย่างทุกครั้ง แล้วบอกว่าเราไม่ทำอะไร เราไม่พยายามแก้ไข จะล่มจม เราก็เกือบล่มจม ตอนนี้ก็เกือบจะล่มจมต่อไป...”
       
       จากเหตุการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมดจึงนำไปสู่คำพิพากษาตัดสินกรณียุบพรรคไทยรักไทย ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเป็นเวลา 5 ปี ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ซึ่งเต็มไปด้วยข้อถกเถียงเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวทั้งสิ้น 4 ประเด็นคือ ประการแรก ที่มาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวไม่มีความถูกต้องชอบธรรม ลิดรอนสิทธิของพรรคไทยรักไทย ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและมีลักษณะเลือกปฏิบัติ กล่าวคือ จัดตั้งองค์กรซึ่งมิใช่ศาลขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวยังไม่ได้รับรองความเป็นอิสระของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และกระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์(35) ประการที่สอง ไม่มีเหตุผลเพียงพอต่อการยุบพรรคไทยรักไทย เพราะจำเป็นต้องแยกการกระทำของกรรมการบริหารพรรค กับการกระทำของหัวหน้าพรรคกล่าวคือ การกระทำของกรรมการบริหารพรรคจะถือเป็นการกระทำของพรรคการเมืองได้ กรรมการบริหารพรรคผู้นั้นต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเท่านั้น ซึ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวการสนับสนุน หรือส่งเสริมให้พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล กระทำการจ้างพรรคเล็กลงสมัครเลือกตั้งแต่อย่างใด(36) ประการที่สาม การตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนไม่เหมาะสม เพราะ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ 27 เป็นการตราและยกเลิกกฎหมายที่ปราศจากความชอบธรรม อันย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ เป็นการเลือกปฏิบัติที่อย่างไม่เป็นธรรม(37) และประการสุดท้าย ผลที่เกิดขึ้นหลังจากคำพิพากษาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญคือ เป็นการรับรองการรัฐประหารว่าเป็นสิ่งที่ถูกชอบธรรมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการนำคำสั่งคณะปฏิวัติฯมาเป็นเรื่องที่ชอบธรรมโดยไม่ตั้งคำถามกับความชอบธรรมเหล่านั้น(38) และแสดงให้เห็นว่าอยู่คณะตุลาการฯอยู่ภายใต้คณะรัฐประหารนั่นเอง(39)
       หลังจากนั้นการเมืองไทยจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่มีลักษณะไม่ต้องการคนอย่างทักษิณอีกต่อไป(40) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบริบทของสังคมการเมืองและผู้มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงเกิดขึ้นท่ามกลางอคติที่สำคัญ 5 ประการ(41) คือ ประการแรก ข้าราชการมีคุณธรรมสูงกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ประการที่สอง คณะบุคคลที่คมช.เลือกดีกว่ากระบวนการสรรหาเดิม ดังเห็นจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 299 ที่กำหนดให้กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ประการที่สาม ไม่ควรให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินไป เพราะจะก่อให้เกิดวิกฤตการเมืองและแทรกแซงองค์กรอิสระ จึงได้ลดความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารลง ประการที่สี่คือ รัฐธรรมนูญฯ 2540 ยาวเกินไปและมีหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากเกินไป ก่อให้เกิดการตีความกันวุ่นวาย ดังนั้นจึงลดมาตราลงและเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมมีความสะดวกในการใช้อำนาจและใช้ดุลยพินิจในการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และประการสุดท้ายคือ ผู้พิพากษาหรือฝ่ายตุลาการคือคนดี มีคุณธรรม ดังนั้นจึงควรให้อำนาจมากขึ้น เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมืองและควบคุมนักระบบการเมืองรวมถึงนักการเมือง โดยไม่คำนึงว่าตุลาการเหล่านั้นจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประชาชนเลย ซึ่งสามารถสรุปประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่เชื่อใจประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงไม่มีความสามารถเพียงพอในการปกครองตนเอง (โง่) อยู่นั่นเอง
       ดังนั้นจะเห็นได้ว่าช่วงหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ 2550 ยิ่งเพิ่มอำนาจของฝ่ายตุลาการมากขึ้น และได้มีส่วนในการตัดสินคดีทางการเมืองที่สำคัญหลายคดี เช่น กรณีถอดถอนอดีตนายกสมัคร สุนทรเวชออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไปรับจ้างเป็นพิธีกรรายการ “ชิมไปบ่นไป” ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่กลุ่มพันธมิตรฯประท้วงขับไล่อดีตนายกสมัครด้วยสาเหตุเป็นตัวแทน (Nominee) ของอดีตนายกทักษิณ หรือกรณียุบพรรคพลังประชาชนเพื่อยุติสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ทำการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งได้มีการเลื่อนวันพิพากษาตัดสินให้เร็วขึ้น และไม่เป็นไปตามหลักประกันขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องของการเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นพรรคพลังประชาชนได้ยื่นร้องเรียนว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านที่กำลังพิจารณาคดีอยู่นั้นมีความไม่เป็นกลาง ต้องการจะเปลี่ยนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณาแต่อย่างไร เป็นต้น
       ดังนั้นจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาหลังเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 ความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญมีความเปลี่ยนแปลงที่ออกมาในลักษณะของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์” กล่าวคือ เป็นปรากฏการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง โดยมีลักษณะวัฒนธรรมองค์กรที่จะกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ทำให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินออกมาลักษณะที่เหมือน/คล้ายคลึงกัน และคดีดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีทางการเมือง จนคล้ายเหมือนเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ เช่น กรณีตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ กรณียุบพรรคไทยรักไทย กรณีชิมไปบ่นไปของอดีตนายกสมัคร กรณียุบพรรคพลังประชาชน ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นต้น
       
       4. ข้อจำกัดและข้อควรระวังต่อตุลาการภิวัฒน์
       ไม่มีวิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่จะเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายโดยไม่ถูกโต้แย้ง เพราะแต่ละวิธีล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อย ขึ้นอยู่กับมุมมอง/ทัศนคติของแต่ละคน แต่คำตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้รับการยกย่องอย่างสูงจากประชาชนก็ต่อเมื่อผลของคำวินิจฉัยที่มาจากวิธีการวินิจฉัยที่หลากหลายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน/สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยส่วนรวมหรือสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประเทศชาติ(42) แต่ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่แตกออกเป็นสองขั้วทางการเมืองเป็นอย่างน้อย การพิจารณาตัดสินที่จำเป็นต้องให้คุณหรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมจะส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นของผู้เสียผลประโยชน์ดังกล่าวด้วยความรู้สึกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นกลาง เอียงเข้าข้างฝ่ายตรงกันข้าม และทางกลับกันผู้ได้ประโยชน์จากคำตัดสินนั้นๆจะใช้คำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามว่าไม่มีชอบธรรม
       นอกจากนี้ความรู้สึกของประชาชนที่ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของหรือสัมพันธ์กับองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญ ที่แตกต่างจากความรู้สึกเป็นเจ้าของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการอุปถัมภ์ในเชิงรูปธรรมมากกว่า ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญจึงยิ่งหลุดลอยจากประชาชน(43) ดังนั้นหากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังคงตัดสินคดีทางการเมือง (ยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองของสส.) ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งดังเช่นปัจจุบัน จะยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวแหลมคมมากยิ่งขึ้น เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคำพิพากษาตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากคำพิพากษามีลักษณะที่สามารถถูกเข้าใจได้ว่าเอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหลังจากนั้นจะส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นต่อระบบศาลยุติธรรมโดยรวม ผู้คนจะเริ่มไม่ยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะไม่เชื่อว่าศาลยุติธรรมยังคงดำรงความเป็นกลางเหมือนดังอดีตที่ผ่านมา และท้ายที่สุดจะยิ่งส่งผลต่อรัฐไทยให้ไร้ระเบียบมากยิ่งขึ้น
       สุดท้ายการปล่อยให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมดไปสู่การพิจารณาตัดสินของสถาบันตุลาการโดยไม่มีทางเลือกต่อการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น จะทำให้เกิดการโต้เถียงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวบนพื้นที่สาธารณะลดน้อยลง นั่นเท่ากับเป็นการปิดกั้น/กดทับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายอื่นๆว่าเป็นสิ่งที่ผิด อันเป็นหลักการที่แย้งต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงข้างมาก แต่ไม่ปิดกั้นเสียงข้างน้อย
       
       5. สรุป
       ตุลาการภิวัฒน์คือ ปรากฏการณ์ทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยเป็นผลมาจากสองปัจจัยหลักคือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปลายสมัยอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร และความชอบธรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงชี้แนะแนวทางให้สถาบันตุลาการได้มีส่วนร่วมต่อการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญที่ได้มีวัฒนธรรมขององค์กรอันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อตั้งสถาบันศาลรัฐธรรมนูญอย่างเด่นชัด กล่าวคือ ช่วงระยะแรกของการก่อตั้งสถาบันศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นช่วงเวลาของการสถาปนาขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามความเข้าใจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันตามแต่ละบุคคล และช่วงระยะที่สองเป็นช่วงที่สถาบันศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นสถาบันที่มีชีวิตและมีวัฒนธรรมของตนเองที่จะส่งผลต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นเครื่องมือของผู้นำทางการเมืองเพื่อทำลายความชอบธรรมของผู้นำทางการเมืองเดิม โดยที่ความเป็นสถาบันของศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ต่อไป จนกว่าจะเกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อความเป็นสถาบันศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง
       
       เชิงอรรถ
       
1. ธีรยุทธ บุญมี, ““ธีรยุทธ” ชี้มรดกยุคทักษิณ หลังมีกกต.ใหม่-เลือกตั้ง การเมืองยัง ‘วิกฤต’,” กรุงเทพธุรกิจ, 3 สิงหาคม 2549, หน้า 2.
       2. วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, “การวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลและตุลาการรัฐธรรมนูญ,” รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 2 : ศาลรัฐธรรมนูญไทยในสถานการณ์การปฏิรูปการเมือง (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2546), หน้า 259-340.
       3. Peter A. Hall and Rosemary C. R. Taylor, “Political Science and the Three New Institutionalisms,” Political Studies (1996), XLIV, 948.
       4. Peter A. Hall and Rosemary C. R. Taylor, Ibid, 939.
       5. อมร จันทรสมบูรณ์, “ศาลรัฐธรรมนูญ,” รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 สภาผู้แทนราษฎร (เล่ม 2), มิถุนายน 2536, หน้า 299. อ้างใน นภดล เฮงเจริญ, “ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน,” รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 : ศาลรัฐธรรมนูญไทย (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2544), หน้า 23-24.
       6. วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530), หน้า 669. อ้างใน นภดล เฮงเจริญ, เพิ่งอ้าง, หน้า 24-25.
       7. วิษณุ เครืองาม, เพิ่งอ้าง, หน้า 695. อ้างใน นภดล เฮงเจริญ, เพิ่งอ้าง, หน้า 24-25.
       8. นภดล เฮงเจริญ, เพิ่งอ้าง, หน้า 25.
       9. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2550), หน้า 1-3.
       10. รัฐไทยมี คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489, 2492, 2495, 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2549 และมีศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550.
       11. พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมยศ เชื้อไทย, หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น, (กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2551), หน้า 167-168.
       12. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, “เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ,” รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 : ศาลรัฐธรรมนูญไทย (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2544), หน้า 60-61.
       13. อนันต์ เกตุวงศ์, “การอภิปรายเรื่อง รัฐศาสตร์ในกติกาสถาบันการเมืองใหม่: ความขัดแย้งและพันธกิจ,” รัฐศาสตร์ในกติกาสถาบันการเมืองใหม่ : ความขัดแย้งและพันธกิจ, โสภารัตน์ จารุสมบัติ บก. (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545), หน้า 16-19.
       14. พิจารณาได้จาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรค 4.
       15. พิจารณาได้จาก “ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารราของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2546” ได้ที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2550), หน้า 53-57. และพิจารณา “ข้อกำหนดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณา และการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2549” ได้ที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ, หน้า 73-82.
       16. เกษียร เตชะพีระ, “ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย : บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤตเศรษฐกิจไทย,” กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์, กาญจนี ละอองศรี และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ บก. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2544), หน้า 29-56.
       17. อเนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนัคราประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ : มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544).
       18. เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549), หน้า 9.
       19. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, Thaksinomics ภายใต้ทักษิณาธิปไตย, ปาฐกถาในโอกาสรับตำแหน่งกีรติยาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2546, วันที่ 12 มกราคม 2546, หน้า 7-10.
       20. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 217 กล่าวว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ”
       21. กมลชัย รัตนสกาววงศ์, ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2538), หน้า 15.
       22. พิจารณาข้อพิจารณาในการดำเนินงานมหาชนเพิ่มเติมได้ที่ สมยศ เชื้อไทย, หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น, หน้า 34-36.
       23. เชาวนะ ไตรมาศ, “ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมือง,” ศาลรัฐธรรมนูญไทย : อดีต ปัจจุบัน อนาคต (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2543), หน้า 84-85.
       24. เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, “บวรศักดิ์ชี้เมินกฎหมายเชื่อแต่พยาน ยำศาลรัฐธรรมนูญไร้มาตรฐานอ้างอิงไม่ได้,” กรุงเทพธุรกิจ, 23 สิงหาคม 2544, หน้า 13, 16. หรือ “สามมือกฎหมายมหาชน วิพากษ์คำวินิจฉัย “8 เซียน” หลักเบี้ยว-มาตรฐาน “มวยวัด”,” ประชาชาติธุรกิจ, 23 สิงหาคม 2544, หน้า 2. หรือ “คณาจารย์นิติฯ มธ. พลิกตำรากฎหมาย ชำแหละ ‘คำวินิจฉัยกลาง’ ไร้มาตรฐาน!!!,” มติชนรายวัน, 25 สิงหาคม 2544, หน้า 2. หรือ อมร รักษาสัตย์, “ประจานคำวินิจฉัยอัปลักษณ์,” แนวหน้า, 22 สิงหาคม 2544, หน้า 1, 7.
       25. พิจาราณาเพิ่มเติมได้จาก เกษียร เตชะพีระ, บุชกับทักษิณ : ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2547), หน้า 153-164, ธีรยุทธ บุญมี, Road Map ประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สายธาร, 2547), หน้า 47-69. และเอนก เหล่าธรรมทัศน์, ทักษิณา-ประชานิยม (กรุงเทพฯ : มติชน, 2549).
       26. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, Bangkok Post, 5 Feburary 2005, p. 1.
       27. นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ : ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก (กรุงเทพฯ : มติชน, 2538), หน้า 136-171.
       28. “ในหลวงรับสั่งวิกฤตที่สุดในโลก ให้ศาลเป็นหลัง,” มติชนรายวัน, 26 เมษายน 2549, หน้า 1,15.
       29. เกษียร เตชะพีระ, “รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 กับการเมืองไทย,” รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 29 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2551), หน้า 19-21.
       30. “ธีรยุทธ บุญมี ชู ‘ตุลาการภิวัฒน์’ แก้วิกฤต-ปฏิรูปการเมือง,” มติชนรายวัน, 1 มิถุนายน 2549, หน้า 2,5.
       31. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, “ทศพิธราชธรรมกับพระมหากษัตริย์ไทย,” มติชนรายวัน, 11 มิถุนายน 2549, หน้า 2.
       32. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (1) และ (3) บัญญัติว่า เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลสั่งยุบพรรคการเมือง
       (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
       (3) กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
       33. ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 123 ตอนที่ 105 ก วันที่ 3 ตุลาคม 2549, หน้า 11. “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด เพราะเหตุกระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”
       34. http://news.giggog.com/politic/cat3/news1934/ ดูเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2552.
       35. คณิน บุญสุวรรณ, “ศึกษากระบวนการวินิจฉัยคดี ‘ยุบพรรค’ ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ,” มติชนรายวัน, 13 มิถุนายน 2550, หน้า 6.
       36. เจษฎ์ โทณะวณิก, “วิพากษ์ตุลาการยับ ยุบพรรค-ถอนสิทธิ ไร้ความชอบธรรม,” โพสต์ทูเดย์, 1 มิถุนายน 2550, หน้า A5. และวรเจตน์ ภาคีรัตน์, “เยียวยา,” ไทยโพสต์, 3 มิถุนายน 2550, หน้า 2-5.
       37. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, “เยียวยา,” ไทยโพสต์, 3 มิถุนายน 2550, หน้า 2-5.
       38. สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, “วิพากษ์ตุลาการยับ ยุบพรรค-ถอนสิทธิ ไร้ความชอบธรรม,” โพสต์ทูเดย์, 1 มิถุนายน 2550, หน้า A5.
       39. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, “ความฟุ่มเฟือยทางนิติศาสตร์ในคำตัดสินของคณะตุลาการฯ,” คม ชัด ลึก, 6 มิถุนายน 2550, หน้า 4.
       40. เกษียร เตชะพีระ, “รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 กับการเมืองไทย,” หน้า 68-73.
       41. คณิน บุญสุวรรณ, ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญฉบับคถช. (กรุงเทพฯ : ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550), หน้า 13-23.
       42. วิรัช วิรัชนิภาวรรณ, “วิธีการพิจารณาวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและของไทย,” รวมบทความทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 : ศาลรัฐธรรมนูญไทย (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2544), หน้า 262-263.
       43. เกษียร เตชะพีระ, “การอภิปรายเรื่อง รัฐศาสตร์ในกติกาสถาบันการเมืองใหม่: ความขัดแย้งและพันธกิจ,” รัฐศาสตร์ในกติกาสถาบันการเมืองใหม่ : ความขัดแย้งและพันธกิจ, โสภารัตน์ จารุสมบัติ บก. (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545), หน้า 32.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544