หน้าแรก บทความสาระ
นิติรัฐ VS นิติธรรม
คุณสมชาย เหล่าพิทักษ์วรกุล ปลัดเทศบาล 8 เทศบาลตำบลพะวง
14 มีนาคม 2553 21:34 น.
 
สังคมใดขยันออกกฎหมาย สังคมนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมด้วย คำถามมีว่าแล้วหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม หมายถึงอะไร ใช้ในกรณีไหน เหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไรเป็นคำถามที่ผู้เขียนก็สงสัย พยายามศึกษาอ่านบทความต่าง ๆ แต่นักกฎหมายเองก็มีความเห็นหลากหลายยังไม่เป็นที่ยุติ จึงอยากจะแสดงความเห็นในอีกทัศนะหนึ่ง ที่จริงแล้วนิติรัฐหรือนิติธรรมจะว่าเหมือนกันก็ใช่ จะว่าต่างกันก็ใช่ สุดแต่จะใช้กฎเกณฑ์ใดเป็นเครื่องตัดสิน หากใช้กฎเกณฑ์รูปแบบ แน่นอนว่าต่างกันดังจะเห็นได้จากกลุ่มประเทศที่มีระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร มักจะเรียกว่า “นิติรัฐ” แต่กลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายแบบจารีตประเพณี มักจะเรียกว่า “นิติธรรม” แต่ถ้าจะใช้เกณฑ์เนื้อหา
       มาตัดสินแล้ว แน่นอนว่าเหมือนกัน เพราะไม่ว่านิติรัฐหรือนิติธรรม ล้วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายหรือผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรมทั้งสิ้น โดยที่การนำหลักทั้งสองนี้ไปใช้ แทบจะไม่แตกต่างกัน เหมือนเหรียญซึ่งมีสองหน้า เพราะไม่ว่าเราจะยื่นหน้าหัวหรือหน้าก้อย ก็จะได้อีกหน้าหนึ่งพ่วงกันไปด้วยเสมอ ซึ่งถ้าเรายื่นด้านหัวก็มีความหมายเพียงว่าให้ความสำคัญกับด้านนี้มากกว่าอีกด้านหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับความหมาย
       เชิงวิชาการแล้วคงต้องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างหลักทั้งสองนี้ต่อไป
       
       นิติรัฐ (Legal State)
       
นิติรัฐ หมายถึง รัฐที่ปกครองด้วย “กฎหมาย” ไม่ใช่ปกครองด้วย “อำนาจบารมี” กล่าวคือ ถือกฎหมายเป็นใหญ่ คนบังคับใช้กฎหมายเป็นรอง ต่างกับรัฐที่มีกฎหมายในการปกครอง เพราะรัฐที่มีกฎหมายในการปกครอง ก็ไม่แน่ว่า กฎหมายจะเป็นใหญ่หรือไม่ แต่ทั้งนี้ ทุกรัฐล้วนมีกฎหมายในการปกครองด้วยกันทั้งสิ้น จุดสำคัญอยู่ที่ว่า กรณีที่เป็นช่องว่างของกฎหมาย หรือไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ถ้าฝ่ายปกครองถือหลักว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ฝ่ายปกครองจะกระทำอะไรก็ได้ เพราะเป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครอง และในขณะเดียวกัน ถ้ามีกฎหมายให้อำนาจไว้ ฝ่ายปกครองยิ่งจะกระทำอย่างไรก็ได้แล้ว” การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง แทบจะทำไม่ได้เลย ไม่ว่าจะตรวจสอบการใช้อำนาจผูกพันหรืออำนาจดุลพินิจ นานวันเข้าเส้นแบ่งระหว่าง ดุลพินิจ กับ อำเภอใจ บางลงจนแทบจะแยกกันไม่ออกว่าแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมไม่เป็นผลดีแก่ประชาชน เนื่องจากประชาชนจะอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ หรือเป็นกรรมของผู้ใช้อำนาจทางปกครอง มิใช่อยู่ในฐานะเป็นประธานหรือเป็นเจ้าของสิทธิ์อีกต่อไป ดังนี้ จึงไม่อาจเรียกการปกครองในลักษณะเช่นนี้ว่าเป็นนิติรัฐได้ อย่างไรก็ดี  “อำนาจนิยม” หรือ เผด็จการ ก็มีข้อดีในแง่ของความเป็นเอกภาพและความเด็ดขาด หรืออาจเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงภายในของประเทศ ดังนั้น จึงมักใช้กับประเทศที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมเป็นหลัก
       สำหรับรัฐที่มีการปกครองด้วยกฎหมายหรือปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือกฎหมายเป็นใหญ่ โดยยึดหลักกฎหมายมหาชนในข้อที่ว่า “ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ฝ่ายปกครองจะกระทำมิได้” ซึ่งตรงข้ามกับหลักกฎหมายแพ่งที่ว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามไว้ เอกชนจะกระทำอย่างไรก็ได้” ดังนั้น การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง จึงอยู่ในลักษณะสมดุล และเป็นหลักประกันพื้นฐานแก่ประชาชนเจ้าของสิทธิ์ เพราะมีกลไกการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจ ทั้งจากภายในฝ่ายปกครองเองหรือจากองค์กรภายนอก เช่น องค์กรอิสระหรือศาลที่อาจเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ หรือแม้กระทั่งการใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครอง ศาลย่อมตรวจสอบได้เสมอ เพียงแต่เป็นการตรวจสอบในเกณฑ์ต่ำ เฉพาะกรณีที่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองในข้อที่ว่า “ต้องเป็นหลักกฎหมายที่สามารถแยกดุลพินิจโดยแท้ของงานบริหารออกจากการควบคุมของสถาบันฝ่ายกฎหมายปกครองได้” ด้วยเหตุนี้ นิติรัฐ จึงมีลักษณะเป็น “หลักคิด” มากกว่าหลักปฏิบัติ ดังนั้นนิติรัฐจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบัญญัติหรือบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการจัดให้มีกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น จัดให้มีองค์กรวินิจฉัย หรือพิพากษาคดีปกครอง อาทิ ศาลปกครอง หรือมีกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กฎหมายข้อมูลข่าวสาร หรือเป็นหลักคิดกำหนดให้รัฐใช้หลักนิติรัฐเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายของรัฐ เช่น มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน” เป็นต้น
       ผลของนิติรัฐทำให้บุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย
       อย่างเดียวกัน และยังทำให้หลักความเสมอภาค มีความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ สำหรับสังคมไทยจะไปถึงนิติรัฐหรือไม่ เป็นเรื่องไกลตัวในอนาคต เอาแค่ใกล้ตัว ไปให้ถึงประชาธิปไตยก่อนก็เป็นเรื่องใหญ่ 78 ปี ยังไปไม่ถึงไหน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากสังคมกลับมาตั้งสติ ปรับวิธีคิดใหม่ ปฏิรูประบบการศึกษา ปฏิรูประบบการเมือง อย่างจริงจัง โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแล้ว ความสำเร็จก็ใช่ว่าจะไกลเกินฝัน
       
       นิติธรรม (Rule of Law)
       นิติธรรม หมายถึง ความเป็นธรรมมีอยู่ในกฎหมาย หรือกฎหมายให้ความเป็นธรรมได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ “คุณธรรมทางกฎหมาย” นั่นเอง โดยที่ความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ทุกสังคมถวิลหา เพราะที่ใดมีความเป็นธรรม ที่นั่นย่อมนำมาซึ่งความสันติสุข แต่แท้จริงแล้วแก่นแท้ที่บริสุทธิ์เป็นธรรมไม่มีอยู่จริง หรือถ้ามีอยู่จริง ก็เข้าไม่ถึงเหมือน “นิพพาน” เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็เพียงแค่แตะชายขอบ
       หรือถึงแก่ปริ (รอบ) นิพพาน เท่านั้น ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะไปแตะชายขอบของความเป็นธรรมให้ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่ทุกคนยอมรับคือ “กฎหมาย” เพราะกฎหมายคือสะพานเชื่อมไปสู่ความเป็นธรรม แต่โดยลำพังตัวกฎหมายเอง ไม่อาจให้ความเป็นธรรมได้ ต้องอาศัยการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก็คือการตีความของคน ทั้งนี้ กฎหมายจะให้ความเป็นธรรมได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการตีความของคนในสังคมแต่ละบริบท เช่น ถ้าสังคมหนึ่งมีป้ายเขียนไว้ว่า “ห้ามเดินผ่านสนาม” ถ้าแปลว่าอย่างนี้วิ่งได้ เพราะไม่ได้เขียนว่าห้ามเข้าในสนาม ผลจะเป็นอย่างไร หรือถ้ามีป้ายเขียนไว้ว่า “เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด” ถ้าแปลว่าผ่านได้ผ่านเอา โดยไม่ต้องดูอะไรทั้งนั้น ผลจะเป็นอย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน
       ถ้าเปลี่ยนป้ายใหม่เขียนว่า “เลี้ยวซ้ายเมื่อปลอดภัย” ความหมายจะเปลี่ยนไป เพราะอย่างนี้แปลว่า ยังเลี้ยวทันทีมิได้ เนื่องจากความปลอดภัยเป็นเงื่อนไขของการเลี้ยว ซึ่งก็แปลกดี ความจริงถ้าใช้หลักสามัญสำนึกแล้ว แม้ไม่มีป้ายเขียนไว้เลย ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาเขียนเตือนซ้ำให้เปลืองอีก ทั้งนี้ เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด หมายความว่า ผ่านได้โดยไม่ต้องรอสัญญานไฟเท่านั้น เหตุผล
       ก็เพราะว่าจะทำให้ระบบจราจรลื่นไหลไม่ติดขัด และไม่ว่าเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด หรือเลี้ยวซ้ายรอสัญญานไฟ ก็เป็นป้ายจราจรประเภทบังคับเหมือนกัน แต่ป้ายเลี้ยวซ้ายเมื่อปลอดภัย เป็นเพียงป้ายเตือน ที่สำคัญคือ เมื่อใดจะปลอดภัยเป็นดุลพินิจของคนขับ บางคนหยุดรอให้ปลอดภัย บางคนไม่หยุด ทำให้ระบบการจราจรติดขัด ไม่ลื่นไหล ซึ่งป้ายแต่ละประเภทมีสภาพบังคับต่างกัน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การจะติดป้ายอะไร แต่ปัญหาอยู่ที่การจะติดป้ายอย่างไร เพื่อสื่อความหมายให้คนเข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงต่างหาก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่คนในสังคมมีวินัยจนตกผลึก สังเกตได้จากผู้คนเข้าคิวเองโดยไม่ต้องมีคนคุม การลัดคิวถือเป็นเรื่องใหญ่ หรืออย่างเกาะกลางถนนแค่ตีเส้นจราจรก็เอาอยู่ ไม่ต้องเอาแท่งคอนกรีตมาวางให้เกะกะสายตา หรือถ้าจะสร้างสะพานลอยก็ไม่ต้องมีแผงเหล็กกันคนข้ามถนนไว้ด้านล่างอีก
       ด้วยเหตุนี้ในการบัญญัติกฎหมายก็ไม่จำต้องมีบทมาตรามากมาย หรือบางกรณีไม่ต้องมีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ เพราะกฎหมายอยู่ที่ใจหรือถูกฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนเสียแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นธรรมหรือไม่ ดูได้จากความไม่เป็นธรรมนั่นเอง เมื่อใดมีความไม่เป็นธรรมสูง แสดงว่า ขณะนั้นมีความเป็นธรรมต่ำ ซึ่งความไม่เป็นธรรม แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ
       1. ความไม่เป็นธรรมจากกฎหมาย ซึ่งแบ่งได้เป็น
       1.1 ความไม่เป็นธรรมจากตัวบทกฎหมาย หมายถึง กฎหมายบัญญัติออกมาโดยมีตัวบท
       ที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่เป็นธรรมเสียเอง เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี แปลว่า ใครลักลูกอม 1 เม็ด หรือลักแหวนเพชร 1 วง มีโทษเท่ากัน เพราะกฎหมายถือว่าสิ่งของทั้งสองเป็นทรัพย์เหมือนกัน โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าของตัวทรัพย์แต่อย่างใด หรือ ป.วิ. อาญา มาตรา 2 (21) “ควบคุม” หมายความถึง การคุมหรือกักขังผู้ถูกจับ , (22) “ขัง” หมายความถึง การกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล ทั้งนี้ การ “กักขัง” เป็นโทษทางอาญาประเภทหนึ่ง ตามมาตรา 18 ซึ่งผู้ต้องหายังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด แล้วจะถูกลงโทษกักขังก่อนได้อย่างไร แต่กรณีนี้ในทางปฏิบัติ การฝากขังผู้ต้องหาศาลจะมีคำสั่งว่าให้ “คุมขัง” แทน หรือกรณีการนับระยะเวลาในการใช้สิทธิอุทธรณ์ ตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่บัญญัติให้ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษ แทนที่จะเป็นวันที่ผู้รับทราบคำสั่ง ซึ่งกรณีดังกล่าว คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีความเห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับผู้รับคำสั่ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญและมีมาตรฐานต่ำกว่าระยะเวลาอุทธรณ์ ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (เรื่องเสร็จที่ 638/2545) เป็นต้น
       1.2 ความไม่เป็นธรรมจากบริบทของกฎหมาย หมายถึง ความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการตรากฎหมาย หรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ซึ่งมีเหตุจูงใจให้ผู้ร่างกฎหมายคำนึงถึงบริบทหรือกระแสสังคมในขณะนั้น มีผลทำให้กฎหมายให้ความสำคัญกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ และเป็นเหตุให้กฎหมายมีความไม่เป็นธรรมอยู่ในตัว เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์ (12) ที่เป็นของ
       ผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และความในวรรคสี่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อ พ.ศ. 2530 ที่ว่า “ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักร ที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี” แต่ในขณะปัจจุบันปัญหารถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีพของคนในสังคมเมือง กลับถูกขโมยเป็นว่าเล่น หรือแม้แต่คนที่อาศัยรถยนต์ในการประกอบอาชีพโดยตรง เช่น แท็กซี่ถูกขโมย กลับไม่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษจากกฎหมายแต่อย่างใด หรือกรณีโทษอาญาที่เป็นค่าปรับซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขเลย ตั้งแต่ปี 2500 ทั้งที่ค่าของเงินในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ทำให้มาตรการในการควบคุมป้องกันมิให้มีผู้กระทำผิดด้อยค่าลง มีผลทำให้คนไม่เกรงกลัวที่จะทำผิดกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นธรรมกับสังคมเหมือนกัน
       
       2. ความไม่เป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมาย
       การบังคับใช้กฎหมาย หมายถึง การนำกฎหมายไปใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ กรณีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ากฎหมายบัญญัติไว้ไม่ชัดแจ้ง หรือตีความหมายได้หลายนัยแล้ว ต้องมีการตีความกฎหมาย กล่าวคือ เป็นการเพ่งเล็งถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ใต้ตัวอักษร จึงเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะขึ้นอยู่กับอัตวิสัยของผู้ตีความเป็นสำคัญ และอาจทำให้เสียความเป็นธรรมได้ ดังนั้น จึงต้องสร้างระบบหลักประกันความเป็นธรรมสองชั้นขึ้น โดยออกแบบให้มี “กฎ” (Rule) ซ้อนอยู่ใน “กฎหมาย” (Law) เหมือนเป็นไข่แดงของไข่ดาวที่อยู่ควบคู่ไปด้วยกันเสมอ เพราะอย่างน้อยถ้าหลุดจากกฎหมายหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ก็ยังมีกฎเป็นหลักประกันอีกชั้นหนึ่ง เราเรียกวิธีคิดอย่างนี้ว่า“นิติธรรม” (Rule of Law) ถามต่อว่ากฎคืออะไร กฎ คือ กติกาที่นักกฎหมายหรือผู้มีอำนาจวางไว้ อาจจะอยู่ใน รูปของสุภาษิตกฎหมาย เช่น หลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา หลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา หรือหลักผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน หรือหลักผลไม้ของต้นไม้ที่เป็นพิษ เป็นต้น หรืออาจจะอยู่ในรูปของ บททั่วไปของกฎหมาย เช่น ป.พ.พ. มาตรา 5 ที่ว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” หรืออาจจะอยู่ในรูปของ “นิติวิธี” ที่ศาลวางหลักไว้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1343/2549 ที่ว่า “ผู้ถูกหลอกลวงให้เอาเงินไปแทงหวยใต้ดิน ไม่ใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดฐานฉ้อโกง” ทั้งนี้ คำว่าผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรใน ป.วิ. อาญา แต่อย่างใด
       แต่กรณีนี้ ศาลเห็นว่า ผู้ถูกหลอกลวงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ถือว่าไม่สุจริต ศาลไม่รับชำระความให้ ตามหลักมาศาลต้องมามือสะอาด เป็นต้น ด้วยเหตุนี้นิติธรรมจึงมีลักษณะเป็น “หลักปฏิบัติ” มากกว่าหลักคิด ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
       แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่ากฎจะอยู่ในรูปแบบใดล้วนมีพื้นฐานมาจากหลักสามัญสำนึกด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น หากจะกำหนดความหมายเชิงวิชาการแล้ว นิติธรรม ควรหมายความว่า “คุณธรรมทางกฎหมายที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องคำนึงถึงหลักสามัญสำนึกในการบังคับใช้กฎหมายแก่ประชาชน”นิติธรรม จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรม และไม่ว่าความเป็นธรรมจะถูกฝังไว้ลึกเพียงใดก็ตาม พวกเราทุกภาคส่วนต้องช่วยกันนำมาเป็นแก่นของสังคมให้ได้ โดยที่การผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรม มิได้จำกัดเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แม้เป็นธรรมชาติก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วยดุจกัน
       ดังคดีหนึ่ง เอกชนฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่อนุญาตให้ทำสัมปทานเหมืองหินบนเกาะสมุย และศาลปกครองมีคำพิพากษาตอนหนึ่ง ความว่า “แต่ก็เห็นได้ว่าการทำเหมืองหินในบริเวณดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดย่อมส่งผลให้สูญเสียพื้นที่ที่เป็นภูเขาอย่างถาวร ซึ่งเป็นความเสียหายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเกาะสมุย และเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการทำเหมืองดังกล่าว ซึ่งมีเพียงทำให้หินที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างบนเกาะสมุยหาได้ง่าย และมีราคาถูกแล้ว กรณีนี้ย่อมไม่อาจเปรียบเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดแก่สภาพสิ่งแวดล้อมของเกาะสมุยได้” (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 333/2549) นับว่าศาลท่านให้เหตุผลไว้ดี เพราะปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ และยังรักษาภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวไว้อีกด้วย ที่สำคัญภูเขาเกิดขึ้นก่อนที่มนุษย์จะไปอยู่ จึงไม่เป็นธรรมกับธรรมชาติ หากจะทำลาย นาน ๆ จะเห็นมนุษย์พิพากษาให้ธรรมชาติชนะสักที เพราะในระยะหลังมานี้ มนุษย์ถูกธรรมชาติพิพากษาถี่ขึ้นเหลือเกิน
       
       ด้วยเหตุและผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่า นิติรัฐ หรือ นิติธรรม ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ปัญหาใหญ่ ก็คือว่า เราจะบูรณาการหลักนิติรัฐหรือนิติธรรมให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยได้อย่างไร
       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544