หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เพิ่มเติม
นิธินันท์ สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดยโสธร นิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิต นิติศาสตรมหาบันฑิต(กฎหมายมหาชน) นักบริหารกิจการยุติธรรม(กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง)
20 ธันวาคม 2552 22:36 น.
 
บทความนี้ เป็นบทความที่สืบเนื่องจากบทความเรื่อง "ข้อสังเกตต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542”" โดย คุณนรินทร์ อิธิสาร ซึ่งลงเผยแพร่ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2552 ในเว็บไซต์ http://www.pub-law.net ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอชื่นชมและขอขอบคุณ คุณนรินทร์ อิธิสาร ซึ่งเป็นพนักงานคดีปกครอง ของศาลปกครองเอง ที่ได้ออกมาแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธี พิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542” ของผู้เขียน ซึ่งลงเผยแพร่ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 ในเว็บไซต์ http://www.pub-law.net ท่านผู้อ่านหากจะอ่านบทความนี้ของผู้เขียนให้ครบถ้วนแล้ว ขอท่านได้โปรดอ่านบทความที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งสองประกอบด้วย
       ซึ่งตามความเห็นของคุณนรินทร์ ในบทความเรื่อง "ข้อสังเกตต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542”" นั้นเอง ได้ทิ้งปัญหาบางประการที่น่าคิด ที่กล่าวไว้ในบทความของคุณนรินทร์ ว่า “ทั้งนี้ ประเด็นว่า ข้อ 49/1 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง สอดคล้องกับมาตรา 73 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองแค่ไหนเพียงใดนั้นขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ ” ซึ่งหากพิจารณาดูดี ๆ แล้ว ความสอดคล้องดังกล่าว น่าจะมีผลโดยตรงในบทความของผู้เขียนทั้งบทความนี้และบทความก่อนหน้านี้ เพราะหากระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาต้องห้ามมิให้ขยายแล้ว ระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งละเมิดอำนาจศาล ก็น่าจะต้องห้ามมิให้ขยายเช่นกัน ในทางกลับกัน หากระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งละเมิดอำนาจศาล สามารถแก้ไขให้ขยายได้แล้ว ระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา ก็น่าจะต้องสามารถแก้ไขให้ขยายได้ด้วยวิธีเดียวกัน ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทความของผู้เขียน กล่าวคือ ที่น่าจะมีผลโดยตรงนั้น เนื่องจากหากศาลปกครองไม่ออกระเบียบข้อ 49/ 1 ดังกล่าว ในเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลแล้ว ก็ไม่เป็นประเด็นที่ผู้เขียน จะเขียนบทความของผู้เขียนให้คุณนรินทร์ ได้มีความเห็นเพิ่มเติมแต่อย่างใด เมื่อระเบียบข้อดังกล่าวออกมาแล้ว ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาทันที เพราะเท่ากับว่า ในเมื่อกฎหมายกำหนดในเรื่องเดียวกันไว้เป็นอย่างเดียวกัน แต่มีการนำมาทำให้แตกต่างกัน หากเป็นเรื่องของบุคคลก็อาจเป็นการเลือกปฎิบัติได้ บทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอแสดงความเห็นเพิ่มเติม ต่อจากบทความของคุณนรินทร์ ที่แสดงความเห็นต่อจากบทความของผู้เขียน
       ในประการแรก ระยะเวลาของการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ของศาลปกครอง นั้น เป็นเรื่องที่แตกต่างกับระยะเวลาการฟ้องคดี เมื่อมีข้อพิพาทในชั้นต้น ระยะเวลาการฟ้องคดีเมื่อมีข้อพิพาทในชั้นต้น เป็นเรื่องของบุคคลต่อบุคคล ที่กระทบกันทางสิทธิ หน้าที่ ระยะเวลาในการใช้สิทธิของบุคคล จึงต้องมีกรอบที่จำกัด ไม่อาจขยายระยะเวลาได้ ยกเว้นในบางกรณีที่อาจฟ้องคดีเกินระยะเวลาได้(2) หรือที่กฎหมายเอกชน เรียกว่า อายุความ ซึ่งอายุความตามกฎหมายเอกชนนั้นไม่อาจย่นหรือขยายได้(3) แต่ในส่วนระยะเวลาของการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี เป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาในศาล เป็นระยะเวลาเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีและดำเนินคดีในศาล เป็นเรื่องระหว่างศาลกับคู่กรณี เพราะเป็นการโต้แย้งว่า คำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระยะเวลาของการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยทั่วไป จึงมีกรอบระยะเวลาให้ดำเนินการ และสามารถขยายได้ ไม่ได้จำกัดตายตัวเหมือนระยะเวลาในการใช้สิทธิฟ้องคดี เมื่อเข้าใจถึงตรงนี้แล้ว ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไป ในเรื่องของการขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ว่า สามารถขยายได้หรือไม่ อย่างใด
       พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73
       “การคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นนั้นให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด
       คำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาด”
       
ตามมาตราดังกล่าว ผู้เขียนต้องถามท่านผู้อ่านก่อนว่า ผู้บัญญัติกฎหมาย (นิติบัญญัติ) เขียนหรือบัญญัติ ห้ามมิให้มีการขยายระยะเวลาอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีไว้ในมาตราดังกล่าว หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ในมาตรานั้น ๆ และผู้เขียนตรวจสอบแล้วว่า ไม่ได้มีบัญญัติห้ามเช่นนั้นไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด เมื่อกฎหมายหลักไม่ได้ห้ามแล้ว ปัญหาว่า กฎหมายรอง(ระเบียบ)จะออกมาอย่างใดไม่ให้ขัดกับกฎหมายหลัก ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้ให้อำนาจศาลปกครองออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีได้ (4) ศาลปกครองจึงมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีซึ่งรวมถึงระยะเวลาอุทธรณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินคดีได้ ระเบียบที่เกี่ยวกับมาตรา 73 ข้างต้น ก็ปรากฏว่า ศาลปกครองได้ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2544 ข้อ 49/1 (5)
       “คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา คำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี คำสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 64 หรือคำสั่งอื่นใดซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ระหว่างพิจารณาตามข้อ 100 วรรคสอง ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น”
       ซึ่งระยะเวลาในการอุทธรณ์ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นั้น ให้รวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาลด้วย คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลที่มีการอุทธรณ์กันโดยปกติทั่วไปก็เป็นคำสั่งให้ลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลเท่านั้นนั้นเอง คำสั่งเกี่ยวกับการวางระเบียบในศาลคงไม่มีใครจะอุทธรณ์ โดยวรรคสองของมาตรา 73 ให้การอุทธรณ์คำสั่งประเภทนี้ ต้องกระทำภายในระยะเวลาสามสิบวัน ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดวางหลักไว้ในคำสั่งของศาลปกครองเองว่า มาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่าการคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 หรือตามที่ศาลกำหนดดังที่กำหนดไว้ในข้อ 6 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ที่ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในคดีนี้ (6)
       ถึงแม้ในคำพิพากษาจะระบุเพียงว่า มาตรา 73 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ในมาตรา 73 วรรคสอง คำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง(73 วรรคหนึ่ง) ให้หมายความรวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาด จึงต้องถือว่า คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล ต้องใช้ระยะเวลาเดียวกับการอุทธรณ์คำพิพากษาชี้ขาดคดีตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง เมื่อคำพิพากษาชี้ขาดคดี ศาลไม่มีอำนาจขยายตามแนววินิจฉัยตามคำสั่งศาลข้างต้นแล้ว คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล ก็น่าจะต้องไม่มีอำนาจขยายเช่นกัน แต่ศาลปกครอง ได้ออกระเบียบฯ ข้อ 49/1 ให้คำสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 64(7) หรือคำสั่งอื่นใดซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ระหว่างพิจารณาตามข้อ 100 วรรคสอง ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น การออกระเบียบและกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ไว้เช่นนั้น มีผลทำให้การอุทธรณ์เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลเป็นระยะเวลาตามระเบียบฯ ด้วย ซึ่งตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 6
       “ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”
       เมื่อระยะเวลาการอุทธรณ์เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลเป็นระยะเวลาตามระเบียบด้วยแล้ว ก็เข้าเงื่อนไขตามระเบียบ ข้อ 6 ที่ศาลสามารถขยายได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 703/2547 “ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 หรือตามที่ศาลกำหนดดังที่กำหนดไว้ในข้อ 6 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ที่ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ” ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดเอง ก็มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ รองรับยืนยันการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ตามระเบียบข้อ 49/1 ไว้ ว่า ศาลมีอำนาจที่จะขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นตามระเบียบข้อ 49/1 (8) จากระเบียบ คำสั่งศาล และคำสั่งศาลโดยที่ประชุมใหญ่ ที่กล่าวมา ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การอุทธรณ์คำสั่งตามระเบียบ ข้อ 49/1 ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้
       ปัญหาว่า การอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี เป็นระยะเวลาเดียวกันกับระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งศาลวางหลักไว้ว่าศาลไม่มีอำนาจขยาย แต่ศาลกลับนำระยะเวลาการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล มาออกเป็นระยะเวลาตามระเบียบ ซึ่งสามารถทำได้ แต่ระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ซึ่งกฎหมายกำหนดเป็นแบบเดียวกันกับระยะเวลาอุทธรณ์เกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาล กลับไม่สามารถนำมาบัญญัติในระเบียบได้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ระเบียบนั้นจะออกมาได้ก็โดยไม่ขัดกับกฎหมายแม่ ที่ให้อำนาจ ในเมื่อกฎหมายแม่ที่ให้อำนาจ(พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) มิได้มีการบัญญัติห้ามไว้โดยตรงว่า ระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาชี้ขาดคดีต้องห้ามมิให้ขยายแล้ว ก็น่าที่จะออกเป็นระเบียบให้ขยายได้ ซึ่งต้องดูเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายแม่ ว่า ต้องการมิให้ขยายแท้จริงเลยหรือไม่ ผู้เขียนเข้าใจว่า ฝ่ายนิติบัญญัติที่บัญญัติมาตรานี้ คงไม่เจตนาต้องการให้ระยะเวลาอุทธรณ์ไม่สามารถขยายได้โดยเด็ดขาดเป็นแน่แท้ เพราะโดยทั่วไป (9) การอุทธรณ์คำพิพากษาที่ชี้ขาดตัดสินคดีในศาลทุกศาลก็สามารถขยายระยะเวลาได้ ผู้เขียนเข้าใจว่า ที่บัญญัติกรอบระยะเวลาสามสิบวันไว้เพียงต้องการ เพื่อหากพ้นระยะเวลาสามสิบวันแล้ว ไม่มีการอุทธรณ์ ให้ถือว่าเป็นที่สุดเท่านั้น หรือต้องการเพียงระยะเวลาถึงที่สุดของคดีเท่านั้น เป็นหลัก เพราะหากต้องการไม่ให้มีการขยายระยะเวลาจริงแล้ว ก็สามารถกำหนดลงไปในพระราชบัญญัตินั้น ๆ ได้เลยว่า ระยะเวลาดังกล่าวไม่อาจขยายได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ตีความเพื่อใช้อำนาจเป็นอย่างอื่นได้
       ประการต่อมา การออกระเบียบในข้อ 49/1 นั้น ถามว่า เป็นการแก้ไขระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งในเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 โดยตรงหรือไม่ แน่นอนว่า ก็มิได้แก้ไขในเรื่องระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษละเมิดอำนาจศาลโดยตรงแต่อย่างใด เพราะระยะเวลาอุทธรณ์ในเรื่องละเมิดอำนาจศาล ก็ยังคงมีระยะเวลาสามสิบวันตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 อยู่ดี นั้นหมายความว่า ผู้ที่จะอุทธรณ์โต้แย้งในกรณีดังกล่าวก็ยังคงต้องอุทธรณ์ภายในระยะเวลาสามสิบวันอยู่ดี แต่การมากำหนดให้เป็นระยะเวลาตามระเบียบแล้ว จะสามารถใช้ระเบียบในข้อ 6 ซึ่งมีความยืดหยุ่นกว่าพระราชบัญญัติ กล่าวคือ หากไม่สามารถยื่นได้ทันด้วยเหตุจำเป็นต่างๆ ก็สามารถขอขยายได้ต่อไปอีกเท่านั้น กรณีก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระยะเวลาอุทธรณ์ตาม พระราชบัญญัติแต่อย่างใด การออกระเบียบที่จะเปลี่ยนแปลงระยะเวลาตามพระราชบัญญัติ ก็เช่น ลดระยะเวลาจากสามสิบวันเหลือสิบห้าวัน หรือจากสามสิบวันขยายเป็นหกสิบวันโดยตรงเลย กฎหมายหลัก(พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) ไม่ได้ห้ามมิให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ไม่มีตรงไหนเขียนไว้โดยชัดแจ้งเลยว่า ห้ามมิให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ การตีความว่า การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เท่านั้น เท่านี้ โดยไม่พูดถึงการขยายระยะเวลาไว้เลย เท่ากับว่าไม่สามารถขยายระยะเวลาได้ทุกเรื่อง ทุกกรณี เป็นการตีความที่ไม่เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ทางปฏิบัติทุกฝ่าย ก็รู้อยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่หาวิถีทางแก้ไขกัน กลายเป็นว่า ต้องคอยให้ฝ่ายนิติบัญญัติมากำหนดให้ทุกเรื่องทุกกรณี ซึ่งการที่ต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีการแก้ไขกฎหมาย ควรที่จะเป็นเรื่องที่สำคัญ ๆ จริง ๆ และไม่สามารถแก้ไขโดยวิธีอื่นได้แล้วเท่านั้น เรื่องใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติมิได้วางหลักห้ามไว้โดยเด็ดขาด และมอบอำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองให้แก่ฝ่ายปกครองหรือฝ่ายตุลาการแล้ว เมื่อมีอำนาจออกกฎหมายลำดับรองหรือระเบียบ และกฎหมายหลักมิได้ห้ามไว้แล้ว ด้วยความเคารพผู้เขียนเห็นว่า ก็ควรที่จะใช้อำนาจนั้น ๆ แทน มิใช่อะไร ๆ ก็ให้รอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมด ทั้ง ๆ ที่การแก้ไขระยะเวลาการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีเป็นผลดีต่อประชาชน ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทความของผู้เขียนแล้ว (10) และ ทั้ง ๆ ที่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เอง ก็ให้อำนาจศาลออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีได้ การออกระเบียบนั้น ขอเพียงแค่อย่าไปขัดกับพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจนั้น ๆ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นั้นเอง ก็มิได้บัญญัติห้ามในกรณีเช่นนั้น(การขยายระยะเวลาอุทธรณ์)ไว้ การออกระเบียบในกรณีดังกล่าว ก็น่าจะออกได้ ประกอบกับเป็นเรื่องของวิธีพิจารณาของศาลเอง ซึ่งระบบการพิจารณาคดีของศาลปกครองเอง ก็เน้นที่เนื้อหามากกว่ารูปแบบหรือวิธีการอยู่แล้ว
       กลับมาพิจารณาในประเด็นการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ซึ่งไม่สามารถขยายระยะเวลาได้ ด้วยความเคารพอย่างสูง ผู้เขียนเห็นว่า กรณีดังกล่าวน่าจะไปติดอยู่ตรงคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่วางแนวไว้ว่าหากเป็นระยะเวลาตามบทบัญญัติของกฎหมาย(พระราชบัญญัติ)ศาลไม่มีอำนาจขยาย
       ตามที่กล่าวมาแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติเอง ก็คงไม่คาดคิดหรือคิดไม่ถึงว่า จะเกิดปัญหาแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ ก็บัญญัติให้อำนาจศาลปกครองมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีได้เองแล้ว และคงไม่คาดคิดว่า จะต้องมาแก้ไขกฎหมายในประเด็นดังกล่าวด้วยกระบวนนิติบัญญัติเต็มรูปแบบเพียงเพราะเหตุดังกล่าว หากสมมุติว่า มีการเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขและได้ตรวจสอบถึงเหตุที่มีการแก้ไข และพบว่า ระยะเวลาอย่างเดียวกันกับระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาชี้ขาดคดี ศาลยังสามารถนำมาออกเป็นระเบียบได้ แต่เพราะเหตุใด จึงแก้ไขระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาชี้ขาดคดีไม่ได้ ก็คงไม่รู้จะตอบอย่างใดเช่นกัน
       หากพิจารณากันดี ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ระเบียบฯ ข้อ 49/1 นั้น ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 (11) และระเบียบข้อดังกล่าว ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกระเบียบดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบได้ ถ้าต่อมามีการเสนอญัตติและสภาผู้แทนราษฎรมีมติภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งระเบียบดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ยกเลิกระเบียบใดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ซึ่งสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชน ได้ตรวจสอบแล้ว จึงให้ระเบียบข้อดังกล่าวผ่านได้ หรือเท่ากับว่าสภาผู้แทนฯ รับรองและเห็นว่า ระยะเวลาตามมาตรา 73 ดังกล่าว นั้น สามารถออกเป็นระยะเวลาตามระเบียบได้ จึงให้ข้อ 49/1 ผ่านเป็นกฎหมายของศาลปกครองออกมาดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งทั้งที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุด และสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสององค์กรนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น ซึ่งได้พิจารณาระเบียบข้อดังกล่าวแล้ว เห็นว่าสามารถทำได้จึงให้ตราเป็นกฎหมายได้
       และต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ก็มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 429/2546 (ประชุมใหญ่) ออกมาสนับสนุนยืนยันอีกว่า ระยะเวลาตามระเบียบฯ ข้อ 49/1 นั้น ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลาได้ ซึ่งระยะเวลาของการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลก็บัญญัติอยู่ในระเบียบฯ ข้อ 49/1 และก็เป็นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 73
       แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ก็ได้มี คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 703/2547 ออกมาว่า ระยะเวลาตามบทบัญญัติของกฎหมาย(พระราชบัญญัติ) ศาลไม่มีอำนาจขยายได้ ตามที่กล่าวมาแล้ว ด้วยความเคารพต่อความเห็นของคุณนรินทร์ ผู้เขียนเห็นว่า หาก ณ ปัจจุบัน จะมีการแก้ไขมาตรา 73 เช่นเดียวกับระเบียบฯ ข้อ 49/1 โดยจะถือตามแนวคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 703/2547 ดังกล่าวที่วินิจฉัยในลักษณะว่า หากเป็นระยะเวลาตามบทบัญญัติของกฎหมาย(พระราชบัญญัติ)ศาลไม่มีอำนาจขยายได้ การแก้ไขโดยวิธีการตามระเบียบฯ ข้อ 49/1 จึงไม่สามมารถทำได้ ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะขัดกับระเบียบฯ ข้อ 49/1 นั้นเอง ที่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วว่า สามารถทำได้ และขัดกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 429/2546 (ที่ประชุมใหญ่)ที่กล่าวมาแล้ว
       ซึ่งข้อสนับสนุนที่ศาลสามารถนำระยะเวลาตามพระราชบัญญัติมาออกเป็นระยะเวลาตามระเบียบ และศาลมีอำนาจขยายระยะเวลานั้นได้ มีข้อสนับสนุนถึงสามประการ กล่าวคือ
       1.การออกระเบียบฯ ข้อ 49/1 โดยผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง (ที่ประชุมใหญ่)
       2.การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้พิจารณาระเบียบข้อดังกล่าวและผ่านให้ออกเป็นกฎหมายได้
       3.คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 429/2546 (ประชุมใหญ่)
       แต่เหตุที่ศาลไม่มีอำนาจขยายระยะเวลาตามพระราชบัญญัติ ซึ่งมีผลเป็นตรงกันข้ามกับข้อสนันสนุนทั้งสามประการ คงมีเพียง คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 703/2547 เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่คำสั่งของที่ประชุมใหญ่ ดังเช่น คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 429/2546 ปัญหาดังกล่าว ทำให้กระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครองชั้นอุทธรณ์คำพิพากษาชี้ขาดคดีเป็นอยู่แบบปัจจุบัน กล่าวคือ จะขยายให้ก็ไม่อาจทำได้ เพราะติดที่แนววินิจฉัยเดิมของศาล ถึงแม้ในคำสั่งของศาลที่วางแนววินิจฉัย ศาลจะกล่าวว่า เป็นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติ ศาลไม่มีอำนาจขยาย แต่ถามว่า ในพระราชบัญญัตินั้น ห้ามการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้หรือไม่ และถามต่อไปว่า ถ้าไม่ห้าม ในเมื่อมีระเบียบที่ให้อำนาจศาลออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีได้อยู่แล้ว จะออกระเบียบมาให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ถามอีกว่า จะขัดกับพระราชบัญญัติตรงไหน ในเมื่อในตัวพระราชบัญญัตินั้นเอง ก็มิได้บัญญัติห้ามการขยายระยะเวลาไว้อยู่แล้ว ถึงแม้จะมีระยะเวลาสามสิบวัน กำหนดไว้หากไม่อุทธรณ์ก็เป็นอันถึงที่สุดก็ตาม ระยะเวลาสามสิบวันนั้น ก็เพียงเพื่อให้มีการถึงที่สุดของคดีนั้นเท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสามสิบวันนั้นขยายไม่ได้แต่อย่างใด และไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดมาสนับสนุนให้เห็นว่า ระยะเวลาดังกล่าวมีเหตุผล ความจำเป็นอย่างใดที่ขยายไม่ได้ หรือหากการแก้ไขดังกล่าวของศาลจะติดที่หลักนิติรัฐ(12) ผู้เขียนเห็นว่า หากจะอ้างเช่นนั้นจะต้องกล่าวอ้าง ก่อนมีการนำระยะเวลาอุทธรณ์ในเรื่องละเมิดอำนาจศาลมาบัญญัติไว้ในระเบียบเท่านั้น และถึงแม้จะมีหลักนิติรัฐอยู่ แต่หากการกระทำนั้น ไม่ได้เป็นโทษหรือเป็นผลร้ายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของประชาชนแล้ว ก็ย่อมน่าจะทำได้ โดยเฉพาะหากทำแล้วเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งการขยายระยะเวลาอุทธรณ์นั้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนมีระยะเวลาในการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลปกครองมากขึ้น ให้โอกาสและเวลาแก่ประชาชนคู่กรณีในคดีปกครองอย่างเต็มที่และเหมาะสมในการดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลดีต่อประชาชนทั้งสิ้น การออกเป็นระเบียบจึงไม่น่าจะขัดต่อหลักนิติรัฐ หากขัดแล้วก็คงจะไม่มีการนำระยะเวลาอุทธรณ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลมาบัญญัติในระเบียบฯ ข้อ 49/1 การขยายระยะเวลาดังกล่าว เมื่อไม่มีกฎหมายหลักห้าม และหลักทั่วไปในศาลอื่น ๆ ก็ให้ขยายได้ เมื่อศาลมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีอยู่แล้ว และเคยนำระยะเวลาในลักษณะเดียวกันมาออกเป็นระเบียบแล้ว สภาผู้แทนราษฏรให้การรับรองแล้ว มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ยืนยันแล้ว คงเหลือเพียงระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาชี้ขาดคดีเท่านั้น หากจะให้มีการแก้ไขโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ก็จะต้องชี้แจ้งได้ว่า ในเมื่อระยะเวลาลักษณะเดียวกันทำได้ แต่เพราะเหตุใดระยะเวลาในลักษณะเดียวกันในกรณีนี้กลับทำไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ซึ่งในทางปฎิบัติ ศาลปกครองเองก็นำระยะเวลาตาม มาตรา 73 มาออกเป็นระยะเวลาตามระเบียบได้ ซึ่งระเบียบข้อดังกล่าวออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครองสูงสุด ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 429/2546 ก็ออกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุด ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน และก็ยังมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับอยู่มาจนปัจจุบัน มิได้ถูกแก้ไข ยกเลิก เพิกถอน แต่อย่างใด ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีผลใช้บังคับมาแล้ว เป็นเวลาถึง 8 ปีกว่า และก็ไม่มีแนวโน้มที่จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด การขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เป็นคนละเรื่องกับกรอบระยะเวลาอุทธรณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ การออกระเบียบไม่ได้ไปแก้ไขระยะเวลาตามกรอบให้สั้นลงหรือเพิ่มขึ้นโดยตรง เช่น จาก 30 วัน ลดลงเหลือ 15 วัน หรือ จาก 30 วัน เป็น 60 โดยตรง ซึ่งการแก้ไขอย่างนี้ต้องห้ามและขัดกับกฎหมายแม่อย่างชัดเจน การไปเพิ่มในระเบียบ เพียงแต่ระยะเวลาตามกรอบนั้น ยังคงเท่าเดิม แต่เพิ่มวิธีการในกระบวนการอุทธรณ์ให้ยืดหยุ่นและมีทางเลือกแก่ประชาชนให้มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น หลักการเดิมตามยังคงอยู่ โดยสามารถที่จะขอขยายระยะเวลาดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่งเท่านั้น และการขยายระยะเวลา ก็ต้องอิงจากฐานเดิมเป็นหลัก หรือขยายจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิม ออกไป นั้นเท่ากับว่า จะต้องครบระยะเวลาเดิมแล้วขยายออกไปจากวันที่ครบนั้น ผู้เขียนเห็นว่า กรณีก็ไม่ได้ทำให้หลักระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เสียไปแต่อย่างใด หลักระยะเวลาสามสิบวันก็คงอยู่ กล่าวคือ หากภายในสามสิบวันไม่อุทธรณ์ก็ถึงที่สุด เพียงแต่เพิ่มช่องทางให้มากขึ้นและยืดหยุ่นขึ้นเท่านั้น การแก้ไขโดยไปเพิ่มในระเบียบ นั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขระยะเวลาอุทธรณ์ใน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ให้สั้นลงหรือเพิ่มขึ้นโดยตรงแต่อย่างใด ระยะเวลาในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ก็คงตามเดิม
       ในประการสุดท้าย หากวิธีการแก้ไขระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาชี้ขาดคดี โดยการออกเป็นระเบียบในลักษณะเดียวกันกับระเบียบ ข้อ 49/1 ดังกล่าว ไม่สามารถทำได้ ตามที่คุณนรินทร์ ซึ่งถือว่า เป็นบุคลากรของศาลปกครองเอง ได้ออกมากรุณาให้ความเห็นยืนยันไว้แล้ว เท่ากับว่า ระยะเวลาอุทธรณ์ในเรื่องละเมิดอำนาจศาล ตามระเบียบฯ ข้อ 49/1 ที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถออกเป็นระเบียบได้ ผู้เขียนเห็นต่อไปว่า ปัญหาที่จะตามมา ก็คือ ระเบียบฯ ข้อ 49/1 นั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการอุทธรณ์ในเรื่องละเมิดอำนาจศาล ที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด(13) ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครองสูงสุด ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และมีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลา 8 ปีกว่าแล้ว ประกอบกับทางปฎิบัติศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่นั้นเอง ก็ยืนยันว่า ระยะเวลาอุทธรณ์ ตามมาตรา 49/1 นั้น ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลาได้ (14) จะมีสถานภาพทางกฎหมายต่อไป อย่างใด ผู้เขียนขออยากให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายติดตามในประเด็นนี้ ว่า ทางศาลปกครองจะมีแนวทางเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างใด และผู้เขียนขอหยุดการให้ความเห็นเพิ่มเติมในหัวข้อของบทความนี้เพียงเท่านี้ เพราะยังมีประเด็นที่ผู้เขียน ได้เขียนเป็นบทความอื่น ที่รอการเผยแพร่อีกหลายบทความ
       
       สุดท้ายนี้ ผู้เขียนต้องขอขอบคุณ คุณนรินทร์ อิธิสาร พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง ที่กรุณาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อบทความของผู้เขียน เพราะหากคุณนรินทร์ ไม่ได้ให้เห็นความเห็นเพิ่มเติม ก็คงจะไม่มีบทความนี้ต่อไป และต้องขอขอบคุณ www.pub-law.net ที่กรุณาได้ให้โอกาสในการแสดงความเห็นของผู้เขียน ในหลาย ๆ วาระ ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณ มา ณ โอกาสนี้ด้วย.
       
       เชิงอรรถ
       
       
1. บทความนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนได้แสดงความเห็นเพิ่มเติม ต่อจากบทความ "ข้อสังเกตต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542”" ที่คุณนรินทร์ อิธิสาร พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง ได้ให้ความเห็นไว้
       
       2. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 52 การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
       การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้
       
       3. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
       มาตรา 193/11 อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น คู่กรณีจะตกลงกันให้งดใช้หรือขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้
       4. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 5 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดหรือ ก.ศป.หรือ ก.ศป.โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
       มาตรา 6 ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 44 และมาตรา 66 ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกระเบียบดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบได้ ถ้าต่อมามีการเสนอญัตติและสภาผู้แทนราษฎรมีมติภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งระเบียบดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ยกเลิกระเบียบใดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น
       กำหนดวันตามวรรคหนึ่งให้หมายถึงวันในสมัยประชุม
       มาตรา 44 การดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับการฟ้อง การร้องสอด การเรียกบุคคล หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดี การดำเนินกระบวนพิจารณา การรับฟังพยานหลักฐาน และการพิพากษาคดีปกครอง นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
       มาตรา 66 ในกรณีที่ศาลปกครองเห็นสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ไม่ว่าจะมีคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่ ให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
       
       5. ระเบียบข้อนี้ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 และ 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 703/2547
       
       พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 64 นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ให้นำบทบัญญัติที่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และเมื่อมีการละเมิดอำนาจศาลให้ศาลปกครองมีอำนาจสั่งลงโทษได้ดังนี้
       (1) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
       (2) ไล่ออกจากบริเวณศาล
       (3) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลพึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี และหากเป็นการสั่งลงโทษตาม (3) ให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ
       
       บทบัญญัติที่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
       มาตรา 31 ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
       (1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
       (2) เมื่อได้มีคำขอและได้รับอนุญาตจากศาลให้ฟ้องหรือสู้คดีอย่างคนอนาถาแล้ว ปรากฎว่าได้นำคดีนั้นขึ้นสู่ศาลโดยตนรู้อยู่แล้วว่าไม่มีมูลหรือได้สาบานตัวให้ถ้อยคำตามมาตรา 156 ว่าตนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ ซึ่งเป็นความเท็จ
       (3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
       (4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความหรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 54
       (5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277
       มาตรา 32 ผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความหรือการออกโฆษณาแห่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่ให้ถือว่าได้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างดังจะกล่าวต่อไปนี้
       (1) ไม่ว่าเวลาใด ๆ ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่ามานั้นได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่น ๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใด ๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผย หรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง
       (2) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาลหรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดีซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไปเช่น
       ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ
       ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ
       ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินคดีของคู่ความหรือคำพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริง หรือ
       ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ
       เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้นำวิเคราะห์ศัพท์ทั้งปวงในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2476 มาใช้บังคับ
       
       6. คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 429/2546 (ประชุมใหญ่)
       
       ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
       มาตรา 23 เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย
       ปัญหาการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เผยแพร่ครั้งแรกใน www.pub-law.net เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552
       ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2544 ประกาศ ณ วันที่ 22 มีนาคม 2544
       รองศาสตราจารย์ ดร. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ให้คำอธิบายแนวความคิดของหลักนิติรัฐ ว่าหมายถึง รัฐเสรีประชาธิปไตยยอมรับรองและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของราษฎรไว้ในรัฐธรรมนูญโดยอาจจำแนกสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้เป็น 3 ประเภท คือ
       1. สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดย แท้ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย สิทธิเสรีภาพในเคหสถาน สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน สิทธิเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ และสิทธิเสรีภาพในครอบครัว
       2. สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพในการมีและใช้ทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพในการทำสัญญา
       3. สิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง
       อย่างไรก็ดี รัฐจะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในบางกรณีรัฐจำต้องบังคับให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการ บางอย่าง โดยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถล่วงล้ำเข้าไปในแดนสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ แต่รัฐให้คำมั่นต่อราษฎรว่า องค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพ ของราษฎรได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการทั่วไปว่าให้องค์กรหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างไร , จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org
       
       7. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 68 ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใด หรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่
       ภายใต้บังคับมาตรา 63 ที่ประชุมใหญ่นั้นให้ประกอบด้วยตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทุกคนที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และให้ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานที่ประชุมใหญ่
       คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก และถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
       
       8. คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 429/2546 (ประชุมใหญ่)
       
       9. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
       มาตรา 23 เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย
       10. ปัญหาการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เผยแพร่ครั้งแรกใน www.pub-law.net เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552
       11. ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2544 ประกาศ ณ วันที่ 22 มีนาคม 2544
       12. รองศาสตราจารย์ ดร. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ให้คำอธิบายแนวความคิดของหลักนิติรัฐ ว่าหมายถึง รัฐเสรีประชาธิปไตยยอมรับรองและให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของราษฎรไว้ในรัฐธรรมนูญโดยอาจจำแนกสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้เป็น 3 ประเภท คือ
       1. สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดย แท้ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกาย สิทธิเสรีภาพในเคหสถาน สิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน สิทธิเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ และสิทธิเสรีภาพในครอบครัว
       2. สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพในการมีและใช้ทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพในการทำสัญญา
       3. สิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง
       อย่างไรก็ดี รัฐจะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในบางกรณีรัฐจำต้องบังคับให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการ บางอย่าง โดยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถล่วงล้ำเข้าไปในแดนสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ แต่รัฐให้คำมั่นต่อราษฎรว่า องค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพ ของราษฎรได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการทั่วไปว่าให้องค์กรหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างไร , จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org
       
       13. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 68 ถ้าประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้ หรือมีกฎหมายหรือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยปัญหาใด หรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ก็ให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่
       ภายใต้บังคับมาตรา 63 ที่ประชุมใหญ่นั้นให้ประกอบด้วยตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทุกคนที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุด และให้ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานที่ประชุมใหญ่
       คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก และถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
       
       14. คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 429/2546 (ประชุมใหญ่)
       
       *************************************************************************************


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544