รัฏฐาธิปัตย์ |
|
|
|
คุณชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ |
|
|
|
|
|
|
|
|
ในการรัฐประหารในหลายครั้งที่ผ่านมาของไทย ได้มีการพยายามอธิบายจากทั้งนักเนติบริกรและนักรัฐศาสตร์บริการว่าคณะรัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์ ย่อมมีอำนาจสูงสุด แม้แต่ศาลก็มิอาจก้าวล่วงไปพิจารณาพิพากษาเอาผิดแก่คณะรัฐประหารได้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าคณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป รสช. คมช. ฯลฯ ที่ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ก็ตาม
มิหนำซ้ำยังยอมรับประกาศหรือคำสั่งและรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเหล่านั้นตราออกมา ไม่ว่าจะผ่าน สสร.หรือไม่ก็ตามว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผิดจากหลักการปกครองในนานาอารยประเทศทั้งหลายที่กฎหมายของคณะรัฐประหารเหล่านั้นไม่ได้รับการยอมรับหรือให้การรับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเหล่านั้น
คำว่ารัฏฐาธิปัตย์(soverign) นั้นในทางรัฐศาสตร์หมายถึงผู้เป็นใหญ่ ในแผ่นดิน ส่วนจะเป็นใครก็สุดแท้แต่ว่าเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินหรือของบ้านเมืองใด มีระบอบการปกครองอย่างไร ถ้าเป็นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฏฐาธิปัตย์ คือ พระมหากษัตริย์
ส่วนในทางนิติศาสตร์หมายถึงผู้ทำให้เกิดกฎหมายดังที่ จอห์น ออสติน (John Austin) อธิบายว่ากฎหมาย คือ คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์
ฉะนั้น อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ ก็คือการมีอำนาจอธิปไตยนั่นเอง ซึ่งก่อให้เกิดผลดังนี้ คือ
๑. ผลของการมีอำนาจอธิปไตยทำให้ รัฏฐาธิปัตย์ อยู่ในฐานะสูงสุดในแผ่นดิน และไม่ต้องเชื่อฟังผู้อื่นอีก แต่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่อประชาชนแต่ละคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนแต่ละคนย่อมเป็น รัฏฐาธิปัตย์ โดยไม่มีประชาชนคนใดอยู่ในฐานะสูงสุดโดยไม่ต้องฟังคำสั่งผู้อื่น
๒. ผลต่อมาในด้านกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐย่อมไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย เพราะเมื่อรัฐต่างๆ มีฐานะเท่าเทียมกันก็ไม่มีรัฏฐาธิปัตย์ใดมีอำนาจบังคับบัญชารัฏฐาธิปัตย์อื่นได้ และจะเอาผิดหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศก็มิได้ ความผูกพันระหว่างรัฐต่อรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องถ้อยที่ถ้อยอาศัยและรัฏฐาธิปัตย์นั้นๆต้องให้ความยินยอมที่สละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่ผู้อื่น เช่น ศาลโลก เป็นต้น
ในยุคก่อนเชื่อกันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระผู้เป็นเจ้า เพราะทรงเป็น ที่สุดของสิ่งที่สุดทั้งปวง (The Absoluteness) จึงไม่มีข้อจำกัดขัดขวางของอำนาจของพระองค์ แต่อย่างใด ต่อมาเชื่อกันว่าพระสันตะปาปาทรงเป็นใหญ่เพราะได้รับอำนาจมาจากพระเจ้าเป็นองค์อธิปัตย์อยู่เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย แต่อำนาจของอธิปัตย์องค์นี้ย่อมถูกจำกัดเพราะ พระสันตะปาปาจะออกกฎหมายใดให้ขัดหรือแย้งกับกฎของพระผู้เป็นเจ้ามิได้
ต่อมากษัตริย์ทั้งหลายได้ปฏิเสธอำนาจของพระสันตปาปาโดยอ้างว่าตนเองได้รับอำนาจจากพระเจ้ามาโดยตรง กษัตริย์ทั้งหลายจึงมีชื่อเรียกว่าพระเจ้านั่น พระเจ้านี่ นั่นเอง อย่างไรก็ตามแม้ว่ากษัตริย์เป็นรัฏฐาธิปัตย์แต่ก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่เกิดจากความยินยอมหรือการยอมรับนับถือของประชาชน ฉะนั้น กษัตริย์จะใช้อำนาจผิดทำนองคลองธรรมมิได้ เพราะถ้าใช้อำนาจผิดธรรมนองคลองธรรม ราษฎรก็จะเสื่อมศรัทธา และคลายความจงรักภักดี ซึ่งอาจนำไปสู่การล้มล้างอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบมุมมองของทั้งสองศาสตร์แล้วจะเห็นว่ามุมมองทางด้านรัฐศาสตร์นั้น นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายต่างก็ยอมรับในลัทธิประชาธิปไตย(popular sovereign) ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือในอีกชื่อหนึ่งก็คือทฤษฎีสัญญาประชาคม(social contract theory) ที่มีรากฐานมาจากความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐ โดยที่ประชาชนตกลงยินยอมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนตามเจตจำนงของประชาชน หากผู้ปกครองละเมิดเจตจำนงของประชาชน ประชาชนมีสิทธิถอดผู้ปกครองได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย มิใช่การแย่งชิงอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจแล้วออกกฎหมายมาบังคับเอากับประชาชน
แต่ในมุมมองทางด้านนิติศาสตร์หรือทางกฎหมายนั้นกลับตรงกันข้ามกับมุมมองทางรัฐศาสตร์ โดยคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็น รัฏฐาธิปัตย์ คือ
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติใด้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ
และถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่เชื่อถือสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามนายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ได้ออกมาปฏิเสธการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา นายกีรติ กาญจนรินทร์ ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวในคำพิพากษาที่ อม.9/2552 ว่า
การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย
หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ
.คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็น รัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ไม่
ถึงแม้ว่าคำวินิจฉัยส่วนตัวนี้จะไม่มีผลต่อคำพิพากษาเพราะเป็นเสียงข้างน้อย แต่มีผลกระทบมหาศาลต่อมุมมองของนักกฎหมายและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย
ฉะนั้น ผู้ที่กำลังคิดที่จะทำรัฐประหารหรือผู้ที่โหยหารัฐประหาร พึงสำเหนียกว่าผู้ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารมิใช่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ในมุมมอง นักรัฐศาสตร์และมีแนวโน้มที่จะมิใช่รัฏฐาธิปัตย์ในมุมมองของนักนิติศาสตร์อีกต่อไป แต่จะเป็นได้ก็เพียง โจราธิปัตย์ เท่านั้นเอง และอาจถูกกุดหัวได้ทุกเมื่อ แม้ว่าจะทำรัฐประหารสำเร็จก็ตาม
------------------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|