หน้าแรก บทความสาระ
ข้อสังเกตต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542”
คุณนรินทร์ อิธิสาร นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Magister iuris (M. iur.) Georg-August Universität zu Göttingen, พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ, สำนักงานศาลปกครอง.
7 ธันวาคม 2552 00:20 น.
 
สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนได้อ่านบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542” ลงเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 ในเวบไซต์แห่งนี้ http://www.pub-law.net/publaw/View.asp?publawIDs=1405 ด้วยความเคารพต่อความเห็นของผู้เขียนบทความดังกล่าว ผู้เขียนมีความเห็นแตกต่างจากผู้เขียนบทความดังกล่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องสองสามประเด็น ในที่นี้ผู้เขียนขอหยิบยกประเด็นสำคัญที่จำเป็นจะต้องแสดงความเห็นต่างจากผู้เขียนบทความดังกล่าว โดยในบทความดังกล่าวผู้เขียนได้กล่าวถึง ระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งศาลปกครอง ตามลำดับได้โดยสังเขปดังนี้
       “-ระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาและระยะเวลาในการอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่ง เรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นระยะเวลาเดียวกัน และบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 แต่เพียงอยู่คนละวรรค ซึ่งศาลปกครองถือว่า หากเป็นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติ (พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) แล้ว ศาลไม่มีอำนาจขยายระยะเวลา เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ทั้งนี้ตามแนวปฏิบัติของศาลปกครองที่ถือว่าหากเป็นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติแล้วศาลไม่มีอำนาจขยายระยะเวลาเพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจไว้ โดยได้ยกเนื้อหาของคำสั่งศาลปกครองสูงสุด(คำสั่งศาลปกครองสูงสุด 703/2547) มาประกอบโดยมีเนื้อหาสาระว่า ระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ กำหนดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครอง สูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ศาลจึงไม่มีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งกรณีดังกล่าวแตกต่างจากระยะเวลาตามระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองที่ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลาได้ตามข้อ 6 ของระเบียบดังกล่าว
       -ด้วยผลของบทบัญญัติของกฎหมายและการใช้การตีความของศาลปกครองดังกล่าวทำให้สิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองถูกจำกัดด้วยระยะเวลาดังกล่าวมาโดยตลอด ทำให้คู่กรณีโดยเฉพาะประชาชนไม่สามารถดำเนินการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นหากศาลปกครองสามารถขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีได้ก็จะเป็นการลดภาระของประชาชนและเพิ่มโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้
       -เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตามข้อ 49/1 ระยะเวลาในเรื่องละเมิดอำนาจศาลซึ่งเป็นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติ ที่ศาลปกครองเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจขยายระยะเวลาได้ ซึ่งหมายรวมถึงระยะเวลาในการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาดด้วย แต่ศาลกลับนำเอาระยะเวลาในเรื่องของคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลมากำหนดไว้ในระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง มีผลทำให้ระยะเวลาดังกล่าวกลับกลายเป็นระยะเวลาตามระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง เมื่อเป็นระยะเวลาตามระเบียบดังกล่าวแล้วศาลก็มีอำนาจขยายระยะเวลาได้โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 6 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พร้อมกันนั้นผู้เขียนบทความดังกล่าวก็ได้ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า เพราะเหตุใดระยะเวลาของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ชาดตัดสินคดี จึงไม่สามารถนำมากำหนดซ้ำไว้ในระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณคดีปกครอง เหมือนกับกรณีของคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล ทั้งๆ ที่กรณีของการละเมิดอำนาจศาลนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมากในทางปฏิบัติ ซึ่งต่างจากกรณีของการใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ชาดคดีซึ่งมักจะดำเนินการไม่ทันภายในระยะเวลา 30 วัน ทั้งๆ ที่มาตรา 73 วรรคหนึ่ง ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองให้หมายรวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาลด้วยที่ให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน ซึ่งผู้เขียนบทความดังกล่าวเห็นต่อไปอีกว่า หากระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาต้องห้ามไม่ให้ขยายได้แล้ว การอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งละเมิดอำนาจศาลก็น่าจะต้องห้ามมิให้ขยายเช่นกัน ในทางกลับกันหากระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งละเมิดอำนาจศาล สามารถแก้ไขให้ขยายได้แล้ว ระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา ก็น่าจะต้องสามารถแก้ไขให้ขยายได้ด้วยวิธีเดียวกัน ฉันใดก็ฉันนั้น และหากทำได้ดังนั้น สิทธิของประชาชนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน มากกว่าการไปเพิ่มเรื่องระยะเวลาในกรณีละเมิดอำนาจศาลไว้ในระเบียบ”
       
จากความเห็นของผู้เขียนบทความดังกล่าว ผู้เขียนมีความเห็นต่างจากข้อสรุปของผู้เขียนบทความดังกล่าว ดังต่อไปนี้ (ทั้งนี้ประเด็นว่าข้อ 49/1 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง สอดคล้องกับมาตรา 73 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองแค่ไหนเพียงใดนั้นขอไม่กล่าวถึงในที่นี้)
       ประการที่หนึ่ง กฎหมายที่เป็นกฎหมายพื้นฐานที่ศาลปกครองใช้ในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีปกครองนั้นมี อยู่ด้วยกันสองกฎหมายหลักคือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (กฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง)และ ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543(ระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง) ฐานะทางกฎหมายของกฎเกณฑ์ทั้งสองประเภทคือ กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรอง(หรือกฎ) ตามลำดับ แม้ว่ากฎหมายจัดตั้งศาลปกครองจะกำหนดให้ขั้นตอนการออกระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครองแตกต่างไปจากการออกกฎหมายลำดับรองโดยทั่วไป(ในที่นี้หมายถึง การที่ต้องนำระเบียบดังกล่าวส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบตามมาตรา 6 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง) ก็ตามที แต่การดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ระเบียบดังกล่าวมีฐานะเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นฐานะและความสัมพันธ์ทางกฎหมายของกฎเกณฑ์ทั้งสองคือ ฐานะและความสัมพันธ์ในรูปแบบของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ(กฎหมายแม่) และกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยฐานของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ(กฎหมายลูก)
       ประการที่สอง เมื่อระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครองเป็นกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติในแล้วนั้น การใช้ การตีความ ระเบียบดังกล่าวจะต้องกระทำโดยให้เป็นการสอดคล้องกับกฎหมายแม่บท และอยู่ในกรอบของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หาไม่แล้วย่อมเป็นการใช้การตีความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       ประการที่สาม ประเด็นที่ผู้เขียนบทความดังกล่าวได้หยิบยกเอาถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง และระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาประกอบกับแนวการใช้การตีความกฎหมายของศาลปกครองในเรื่องอำนาจของศาลปกครองในการที่จะขยายระยะเวลาที่มีอยู่ในกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครองว่าศาลปกครองจะสามารถทำได้หรือไม่เพียงใดนั้น ด้วยความเคารพต่อผู้เขียนบทความดังกล่าว
       ระยะเวลาในการอุทธรณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 73 นั้นชัดเจนแล้ว และไม่มีข้อยกเว้นที่จะให้อำนาจศาลปกครองในการขยายระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลปกครองก็ไม่สามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งเหตุผลคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ผู้เขียนบทความดังกล่าวได้ยกมาประกอบนั้นก็เป็นเหตุผลที่ชอบและสอดคล้องกับตัวบทกฎหมาย แต่ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าการที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าหากเป็นระยะเวลาตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติศาลปกครองไม่สามารถย่นหรือขยายระยะเวลาดังกล่าวได้(เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเอาไว้) ในทางตรงกันข้ามหากเป็นระยะเวลาที่มีบัญญัติไว้ในระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองแล้วศาลปกครองย่อมสามารถย่นหรือขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ นั้น เป็นข้อสรุปที่ยึดถือเป็นหลักทั่วไปในการใช้การตีความในเรื่องของระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งได้หรือไม่ ?
       การที่ผู้เขียนบทความดังกล่าวนำเอาข้อ 6 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาประกอบกับแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ซึ่งนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ว่าหากระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ที่ถูกกำหนดหรือบัญญัติไว้ในระเบียบฯวิธีพิจารณาคดีปกครองแล้วจะเป็นระยะเวลาที่ศาลปกครองสามารถมีอำนาจขยายได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือในกรณีนี้คือเมื่อนำระยะเวลาตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองกลายมากำหนดบัญญัติเป็นระยะเวลาตามระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง และเมื่อเป็นระยะเวลาตามระเบียบดังกล่าวแล้วศาลก็มีอำนาจขยายระยะเวลาได้โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 6 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง นั้น ผู้เขียนเห็นต่างจากผู้เขียนบทความดังกล่าวด้วยเหตุว่า เมื่อกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการใดแล้วนั้น(โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อยกเว้นใดๆ) โดยทั่วไปแล้วกรณีย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติกำหนด ดังนั้น ในกรณีขอระยะเวลาในการอุทธณ์โต้แย้ง ตามมาตรา 73 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองที่กำหนดถึงระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ไว้ว่า การยื่นคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นนั้นให้ยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง(วรรคหนึ่ง) และคำพิพากษาหรือคำสั่งในมาตรานี้ให้หมายรวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาดด้วย(วรรคสอง) ดังนั้น การอุทธรณ์โต้แย้งดังกล่าวจะต้องทำภายใน 30 วัน
       การนำเอาระยะเวลาดังกล่าวมาบัญญัติไว้อีกครั้งหนึ่งในระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง นั้น ก็ไม่สามารถทำให้ตีความไปได้ว่า ศาลปกครองจะขยายระยะเวลาดังกล่าวได้แต่อย่างใด เหตุที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า ฐานะของระเบียบดังกล่าวที่ได้กล่าวไว้ในประเด็นแรก และประเด็นที่สองข้างต้น ดังนั้นการนำเอาระยะเวลามากำหนดไว้ในระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ไม่ได้ทำให้ศาลปกครองจะมีอำนาจขยายระยะเวลาดังกล่าวได้แต่ประการใด เพราะการที่จะขยายระยะเวลาดังกล่าวได้หรือไม่ได้นั้น องค์กรนิติบัญญัติอันเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยในการออกกฎหมายได้ตัดสินและกำหนดไว้แล้วว่าไม่สามารถกระทำได้ อีกทั้งการตีความว่าหากให้ศาลปกครองนำเอาระยะเวลาที่กำหนดไว้ตายตัวโดยไม่มีข้อยกเว้นในกฎหมายแม่บทมากำหนดไว้ในกฎหมายลูกแล้วจะอาศัยช่องทางที่กฎหมายลูกกำหนดไว้เปลี่ยนแปลงในที่นี้คือขยายระยะเวลาได้แล้วก็เท่ากับว่าศาลปกครองทำตัวเป็นองค์กรนิติบัญญัติเสียเองออกกฎหมายลำดับรองมายกเลิกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติได้ ซึ่งจะทำไม่ได้
       นอกจากนี้แล้วนั้น กรณีอาจมีปัญหาว่าหากศาลปกครองตีความโดยอาศัยตรรกะเดียวกันกับผู้เขียนบทความดังกล่าวว่าเมื่อนำเอาระยะเวลาในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองมากำหนดไว้ในระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง แล้วศาลปกครองก็สามารถย่นหรือขยายระยะเวลาดังกล่าวได้โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 6 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ในส่วนนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการใช้การตีความที่ไม่สอดคล้องกับหลักการใช้การตีความกฎหมาย ซึ่งผลที่ตามมาก็คือทำให้คำสั่งของศาลปกครองในเรื่องของการย่นหรือขยายระยะเวลาดังกล่าวย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       ทั้งนี้กรณีดังกล่าวศาลปกครองสามารถตีความได้โดยอาศัยหลักการตีความกฎหมาย ที่มีหลักว่าต้องตีความกฎหมายไปในทางที่กฎหมายนั้นใช้บังคับได้ ดังนั้น หากศาลปกครองจะใช้และตีความข้อ 49/1 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง โดยเห็นว่าเมื่อมีการนำเอาระยะเวลาดังกล่าวมากำหนดไว้ในระเบียบแล้วศาลปกครองจึงมีอำนาจขยายระยะเวลาดังกล่าวได้นั้นก็ย่อมเป็นการใช้และตีความกฎหมายที่ขัดกับกฎหมายแม่บทเพราะกฎหมายแม่บทไม่ได้ให้อำนาจในส่วนนี้ไว้ ดังนั้นในการใช้การตีความของศาลปกครองที่เกี่ยวข้องกับข้อ 49 /1 ดังกล่าวจึงต้องตีความให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่บท การใช้การตีความใดที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างบทบัญญัติมาตรา 73 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง กับข้อ 49/1 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งในที่นี้คือเรื่องอำนาจการขยายระยะเวลาดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 6 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองได้นั้น ย่อมไม่ใช่การใช้การตีความเพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายมีผลใช้บังคับได้แต่อย่างใด
       ในที่นี้ศาลปกครองต้องถือหลักการตีความกฎหมายที่ว่า Lex superior derogat legi inferiori นั่นคือกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าย่อมเป็นกฎหมายที่นำใช้บังคับก่อนกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า ดังนั้น การตีความข้อ 49/1 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองจึงต้องตีความว่าแม้ว่าจะมีการนำระยะเวลามากำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว ศาลปกครองก็ไม่สามารถที่ขยายระยะเวลาดังกล่าวโดยอาศัยบทบัญญัติในข้อ 6 ของระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองได้ เพราะศาลปกครองต้องใช้และตีความให้สอดคล้องกับมาตรา 73 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองซึ่งเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่มีศักดิ์สูงกว่าระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งมีฐานะเป็นเพียงกฎหมายลำดับรอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือในส่วนของระยะเวลาตามข้อ 49/1 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองนั้น อำนาจศาลปกครองในการย่นหรือขยายระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองไม่สามารถนำมาใช้ในกรณีนี้ได้
       การนำคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ว่าถ้าเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายแล้วศาลปกครองขยายไม่ได้ แต่ถ้าเป็นระยะเวลาในระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ศาลปกครองสามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวได้(ตามข้อ 6 ของระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง) มาอธิบายให้อำนาจศาลปกครองในการขยายระยะเวลาดังกล่าว เป็นการทั่วไปนั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะอธิบายถึงการใช้การตีความกฎหมายที่เป็นระบบได้ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงยิ่งไปกว่านั้นคือเรื่องของสถานะของกฎหมายและความสัมพันธ์ของกฎหมายในระดับต่างๆ และอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองและองค์กรนิติบัญญัติดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นั่นเอง
       ดังนั้น ในกรณีของเรื่องของระยะเวลาในการอุทธรณ์ที่กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองได้กำหนดระยะเวลาไว้โดยไม่มีข้อยกเว้นตามกฎหมายแม่บทให้อำนาจศาลปกครองขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ กรณีนี้ศาลปกครองก็ย่อมไม่สามารถขยายระยะเวลาในเรื่องดังกล่าวได้แต่อย่างใด การที่ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุดนำเรื่องระยะเวลาในการอุทธรณ์ที่มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติกำหนดไว้แล้ว ไปบัญญัติไว้ในระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ก็ไม่ได้ส่งผลให้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองอันเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ แต่ประการใด เพราะศาลปกครองไม่ใช่องค์กรนิติบัญญัติที่จะมีอำนาจดังกล่าวได้ ในส่วนประเด็นปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาว่าระยะเวลาดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เป็นระยะเวลาที่น้อยไปหรือมากไปนั้น ผู้เขียนไม่ได้ติดใจในประเด็นดังกล่าว หากมีความเห็นว่าระยะเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสมเพราะเป็นระยะเวลาที่น้อยไป เห็นควรเพิ่มระยะเวลาหรือกำหนดข้อยกเว้นให้ศาลปกครองสามารถขยายระยะเวลาได้ ก็ต้องไปดำเนินการแก้ไขเพิ่มกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองซึ่งเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544