หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 227
7 ธันวาคม 2552 00:20 น.
ครั้งที่ 227
       สำหรับวันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2552
       
       “ตุลาการภิวัตน์ (อีกครั้ง)”
       

       บทบรรณาธิการครั้งที่แล้วได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีผู้ติดต่อมายังผมเพื่อขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้พิพากษาเจ้าของคำวินิจฉัยส่วนตัวซึ่งผมก็ได้แจ้งให้ทราบเท่าที่ผมทราบ ใครที่อยากอ่านคำวินิจฉัยส่วนตัวของคุณกีรติ กาญจนรินทร์ฉบับเต็ม ก็สามารถเข้าไปอ่านดูได้นะครับ แล้วก็อย่าลืมช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วยเพราะเท่าที่ได้รับฟังมาก็มีแต่คนชื่นชมในเนื้อหาสาระและความถูกต้องตรงไปตรงมาของคำวินิจฉัยส่วนตัวดังกล่าวกันอยู่มากครับ
       เพื่อนนักวิชาการ 2-3 คน พูดคุยกับผมเรื่องการนำเอาคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยส่วนตัวที่ดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา (ช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัตน์”) ออกมาเผยแพร่เพราะแม้ในคำพิพากษาบางคำพิพากษาจะ “โดนใจ” คนบางกลุ่ม แต่สำหรับคนบางกลุ่มแล้วกลับมองว่าคำพิพากษาเหล่านั้นสร้างความไม่ชัดเจนทางวิชาการให้กับวงการกฎหมายเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในบางประเทศมาแล้ว ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจึงกลับไปนั่งอ่านคำวินิจฉัยคดีต่างๆ ใหม่ เพื่อหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอตามความเห็นของเพื่อนนักวิชาการของผมครับ
       สิ่งที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ ผมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือวัตถุประสงค์ที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อบุคคลหรือต่อองค์กรหรือต่อระบบ ผมมีความต้องการเพียงนำความคิดเห็นของผู้พิพากษาตุลาการบางคน ที่ผมเห็นว่าน่าจะบันทึกเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ของการบังคับใช้กฎหมายมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเองครับ
       กรณียุบพรรคไทยรักไทยเป็นกรณีที่น่าสนใจมากในเชิงกฎหมายและมีประเด็นในทางด้านกฎหมายให้โต้เถียงกันมากด้วยครับ คงจำกันได้ว่าหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่กี่วัน เราก็ได้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549” มาใช้บังคับ ซึ่งก็เป็น “ความแปลก” ทางนิติศาสตร์เพราะทุกครั้งภายหลังรัฐประหารก็จะมีการออก “ธรรมนูญการปกครองประเทศ” มาใช้บังคับ เหตุผลที่ใช้คำดังกล่าวก็คงเป็นเพราะว่าไม่ได้ทำโดยกระบวนการปกติที่ควรจะทำแต่เป็นการทำโดย “กลุ่มบุคคล” ที่ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้องมากกว่า ดังนั้น จึงไม่มีใครใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” กับสิ่งที่คณะรัฐประหารได้ทำขึ้น แต่ในการรัฐประหารครั้งนี้กลับใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” กับสิ่งที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้น จะว่าไม่แปลกได้อย่างไรครับ!!! และที่แปลกประการต่อมาก็คือ ธรรมนูญการปกครองประเทศที่เกิดจากคณะรัฐประหารมักจะเป็นบทบัญญัติชั่วคราวที่พูดถึงการปกครองประเทศในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน มีการตั้งองค์กรเท่าที่จำเป็น เช่น รัฐสภาก็ให้มีเพียงสภาเดียวคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อจะได้ผลิตกฎหมายได้รวดเร็วทันใจผู้แต่งตั้ง! แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ได้ตั้ง “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกๆ อีกเรื่องหนึ่งซึ่งผู้คนก็สงสัยว่าตั้งขึ้นมาทำไมเพราะในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีธรรมนูญการปกครองประเทศฉบับไหนเลยที่ตั้งองค์กรที่มีลักษณะดังกล่าวขึ้นมาในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ความสงสัยนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็วเพราะก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะมีผลใช้บังคับ (1 ต.ค. 2549) เพียงวันเดียว คณะรัฐประหารได้ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 “วางกลไก” ต่างๆ เอาไว้ในข้อ 3 ว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุกระทำตามต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดห้าปีนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง” วันรุ่งขึ้น เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลใช้บังคับ ความชัดเจนจึงเกิดขึ้น และก็เป็นที่คาดเดากันได้ล่วงหน้าเลยว่า จะเกิดอะไรขึ้นในเวลาต่อมาครับ!!!
       คงไม่ต้องเล่าอะไรมากไปกว่านี้แล้ว วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้มีคำวินิจฉัยที่ 3 - 5/2550 สั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 67 ประกอบมาตรา 66 (1) และ (3) – (ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกทางนิติศาสตร์อีกประการหนึ่งที่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำไมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ออกตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ได้ก็ไม่ทราบ!!!) – กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 3
       ประเด็นที่น่าสนใจในคำวินิจฉัยดังกล่าวมีอยู่หลายประเด็น แต่ประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมคงอยู่ที่การที่คณะรัฐประหารออกประกาศฯ ฉบับที่ 27 ให้มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ ซึ่งก็มีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นกันมาก ในประเด็นดังกล่าว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้มีคำอธิบายโดยได้ตั้งคำถามไว้ในคำวินิจฉัยในหน้าที่ 100 ว่า “ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พุทธศักราช 2549 ฉบับที่ 27 ข้อ 3 เป็นกฎหมายที่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคล ต้องห้ามมิให้ใช้บังคับหรือไม่” และก็ได้ให้คำตอบเอาไว้ในหน้าเดียวกันคือ “หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายกับบุคคลนั้น มีที่มาจากหลักการที่ว่า ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ แต่หลักการดังกล่าวใช้บังคับกับการกระทำอันเป็นความผิดอาญาเท่านั้น ดังที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญา ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้นจะต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” ซึ่งหลักการนี้ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตหลายฉบับ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นต้นมา
       ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคเพราะเหตุกระทำต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 นั้น แม้เป็นบทบัญญัติที่มีผลทำให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 ก่อนที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับต้องรับผลร้ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเดิมเพียงแต่ได้รับผลตามมาตรา 69 กล่าวคือ จะขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ตามมาตรา 8 อีกไม่ได้เท่านั้น แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่า บุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ข้อ 3 จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังแก่การกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคในคดีนี้ได้ ข้อต่อสู้ของผู้ถูกร้องที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
       
มีคนออกมาให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวกันไปมากแล้ว ซึ่งก็คงไม่จำเป็นที่ผมจะต้องออกมาเสริมหรือเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอเป็นความเห็นของ คุณปัญญา ถนอมรอด ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลฎีกาอยู่ด้วยครับ ความเห็นของคุณปัญญาฯ เป็น 1 ใน 3 ความเห็นของตุลาการเสียงข้างน้อยซึ่งมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับกับประชาชนจะต้องประกาศให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าก่อน กฎหมายที่เป็นผลร้ายกับประชาชนไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษกับประชาชนได้ ลองอ่านดูความเห็นของคุณปัญญาฯ กันครับ
       “ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อ 12 มีว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 มีผลใช้บังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้หรือไม่
       ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 3 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุกระทำการต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค” ประกาศฉบับดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 แต่การกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองในคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 มีผลบังคับจนถึงวันที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2549 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ความในข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 มีผลใช้บังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้หรือไม่
       พิจารณาแล้วเห็นว่า กฎหมายที่ดีนั้นต้องตราขึ้นโดยอาศัยหลักนิติธรรม กล่าวคือ กฎหมายต้องตราขึ้นโดยสถาบันซึ่งประชาชนพลเมืองยอมรับนับถือให้มีสิทธิและมีอำนาจที่ตราขึ้นบังคับได้ กฎหมายจะต้องยอมรับในหลักที่ว่า ประชาชนทุกคนในประเทศนั้นมีเกียรติและเสมอกันในกฎหมาย จะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายยิ่งไปกว่าผู้อื่น กฎหมายจะกำหนดให้เอาตัวประชาชนผู้ใดไปลงโทษไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่าประชาชนผู้นั้นจะได้กระทำการซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ก่อนแล้วว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด
       เมื่อพิจารณาหลักนิติธรรมข้างต้นประกอบกับการตรากฎหมายนั้น โดยทั่วไปมีเจตนารมณ์เพื่อปรับใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต การใช้กฎหมายย้อนหลัง หากมีผลย้อนหลังไปเพื่อเป็นคุณหรือบรรเทาความเดือดร้อน และไม่กระทบถึงสิทธิของประชาชนนั้นสามารถจะกระทำได้ แต่ในทางตรงข้าม หากใช้กฎหมายย้อนหลังไปในทางที่เป็นโทษหรือเพิ่มโทษ ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายในทางที่เป็นปฏิปักษ์กับหลักความยุติธรรมสากล หลักนี้ใช้เคร่งครัดมากในคดีอาญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโทษทางอาญา แต่เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศว่า กฎหมายใดที่ออกมาบังคับใช้ย้อนหลังแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชน หรือเป็นไปในทางลิดรอน เพิกถอน หรือจำกัดสิทธิของประชาชนที่มีอยู่ก่อนแล้วโดยชอบด้วยกฎหมายก็เป็นการต้องห้ามเช่นกัน ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด 5 ปี เป็นบทบัญญัติที่ตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะพึงมี ผู้ที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งนอกจากไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ยังเสียสิทธิอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายด้วย เป็นต้น สิทธิของผู้ถูกตัดสิทธิจึงต่ำกว่าประชาชนทั่วไป จึงเป็นการตัดสิทธิทางการเมืองที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกตัดสิทธิมากกว่าการถูกลงโทษปรับในคดีอาญา การลงโทษบุคคลหรือการกำหนดให้บุคคลต้องรับผิดหรือถูกจำกัดสิทธิต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม การตีความกฎหมายจะต้องถือความยุติธรรมเป็นหลัก ไม่ควรตีความให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของประชาชนที่มีอยู่แล้ว ขณะเกิดเหตุกฎหมายที่ใช้บังคับได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 69 กำหนดว่า เมื่อพรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะกระทำผิดตามมาตรา 66 กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นจะขอตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอีกไม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ออกกฎหมายให้ผู้ละเมิดต่อกฎหมายต้องรับผิดเพียงเท่านี้ ประชาชนรวมทั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่างๆ ทราบว่า ผลบังคับที่สังคมต้องการมีเท่านี้ เมื่อกรรมการบริหารพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายจนเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้ร้องคดีนี้ร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารพรรคจะได้รับผลร้ายตามมาตรา 69 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ยึดอำนาจอธิปไตยและออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับต่างๆ รวมทั้งฉบับที่ 27 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนี้ด้วย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเพิ่มเติมขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค คดีนี้หลังจากถูกยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรค ผู้ถูกร้องและกรรมการบริหารพรรคมิได้กระทำการฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามกฎหมายอีก การบัญญัติกฎหมายหรือตีความกฎหมายให้บุคคลดังกล่าวต้องรับผิดเพิ่มขึ้นอีกหลังจากการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายได้ยุติไปนานแล้ว ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และไม่เป็นประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งประเทศชาติ จึงเห็นว่าประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ไม่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่กรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องทั้งสาม”
       
ก็ขอให้อ่านความเห็นของคุณปัญญาฯ อย่างละเอียดนะครับ ผมมองเห็นอะไรบางอย่างที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยส่วนตัวดังกล่าวอยู่ด้วยแต่คงไม่สามารถให้ความเห็นได้ในที่นี้ แล้วก็อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ผมต้องการให้มีการ “บันทึก” ความเห็นที่ “ถูกต้อง” เหล่านี้ไว้เป็นประวัติศาสตร์ของการบังคับใช้กฎหมายต่อไป ก็คงต้องช่วยกันเผยแพร่ต่อเช่นเดียวกับความเห็นของคุณกีรติ กาญจนรินทร์ ที่ได้นำเสนอไปในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วครับ
       ผู้อ่านคงต้องวิเคราะห์กันเองว่า คำวินิจฉัยกลางกับคำวินิจฉัยส่วนตัวของประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่ควรจะต้องเป็นหรือไม่ อย่างไรครับ
       จริง ๆ แล้วผมอยากนำเอาความเห็นส่วนตัวของตุลาการเสียงข้างน้อยอีก 2 คนรวมทั้งความเห็นของตุลาการเสียงข้างมากบางคนที่มี “ชื่อเสียง” ทางด้านกฎหมายมานำเสนอไว้ด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องเนื้อที่ ก็คงต้องขอจบไว้เพียงเท่านี้ครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอถึง 5 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความขนาดยาวที่ต้องแบ่งลงเป็น 2 ตอน ของคุณสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองกลาง ที่เขียนเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอเฉพาะราย (ตอนที่ ๑)" บทความต่อมา คุณศุภวัฒน์ สิงห์สุวงษ์ แห่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มอบบทความภาษาฝรั่งเศส เรื่อง “La protection des données personnelles en droit thaïlandais : état des lieux et perspectives ” (การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในระบบกฎหมายไทย) ที่เขียนขึ้นเพื่อใช้ในการสัมมนาทางวิชาการระดับภูมิภาค ว่าด้วยกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมามานำเสนอครับ บทความที่สาม เป็นบทความเรื่อง "รัฏฐาธิปัตย์" ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง บทความที่สี่ เป็นบทความของ อาจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เขียนเรื่อง "ปัญหาว่าด้วยการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ" ส่วนบทความสุดท้าย เป็นบทความเรื่อง "ข้อสังเกตต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542”" ของคุณนรินทร์ อิธิสาร ที่เขียน "ตอบ" บทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542” ของคุณนิธินันท์ สุขวงศ์ ที่ได้เผยแพร่ไปในครั้งที่แล้วครับ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกคน ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544