หน้าแรก บทความสาระ
มองมาเลย์กับอินโดจับมือกัน แล้วหันมาดูไทยกับกัมพูชา
คุณ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
22 พฤศจิกายน 2552 21:57 น.
 
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมามีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานาธิบดีสุศิโล บัมบัง ยุทโธโยโน แห่งอินโดนีเซียที่เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ โดยผู้นำทั้งสองต่างให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันขจัดข้อพิพาทที่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างกันให้ลุล่วงไป ซึ่งปัญหาหลักได้แก่ปัญหาพิพาทเขตแดนและการกดขี่ทารุณแรงงาน
        มาเลเซียและอินโดนีเซียมีหลายอย่างที่เหมือนกัน อาทิ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม ฯลฯแต่ความสัมพันธ์ของสองประเทศต้องตกอยู่ในภาวะสั่นคลอนบ่อยครั้ง เนื่องจากความไม่ลงรอยกันในหลายเรื่อง โดยความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้เสื่อมถอยลงอย่างมากนับแต่เดือนมิถุนายนปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมาเมื่ออินโดนีเซียกล่าวหาว่าเรือรบของมาเลเซียรุกล้ำเข้าไปยังเขตพิพาททางทะเลอัมบาลัด ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมันนอกชายฝั่งสุลาเวสี ของเกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย ทำให้อินโดนีเซียส่งเรือรบออกมายิงขับไล่เรือของมาเลเซียในทันที
        ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยิ่งทวีความตึงเครียดหนักขึ้นเมื่อมีกรณีที่แรงงานสาวใช้ชาวอินโดนีเซียถูกนายจ้างชาวมาเลเซียกระทำการทารุณด้วยความโหดร้าย จนเป็นผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียตอบโต้ด้วยการออกคำสั่งห้ามส่งแรงงานอินโดนีเซียไปมาเลเซียเป็นการชั่วคราว
        ซึ่งในกรณีนี้ประธานาธิบดียุทโธโยโนเรียกร้องให้มาเลเซียนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีโดยเร็วและยุติธรรม โดยนายกรัฐมนตรีราซัคได้ให้ความเชื่อมั่นว่าแรงงานอินโดนีเซียจะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ และหากมีการกระทำการอันใดที่เป็นการละเมิดกฎหมายต่อแรงงานเหล่านั้นก็จะถูกจัดการอย่างเด็ดขาด
        ในการแถลงข่าวร่วมกันในครั้งนี้นอกจากจะได้เห็นวุฒิภาวะของทั้งสองผู้นำแล้ว ยังเป็นเสมือนการตบหน้าผู้นำของไทยและกัมพูชาที่กำลังใช้อารมณ์ในการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างกันอยู่ในเวลานี้
        โดยประธานาธิบดียุทโธโยโนได้กล่าวว่า “แน่นอนว่าบางครั้งเราอาจมีความเห็นต่าง แต่เราในฐานะผู้นำก็ควรต้องจัดการความเห็นที่แตกต่างนั้นอย่างรอบคอบ และไม่ปล่อยให้ปัญหานั้นมาบั่นทอนหรือกระทบต่อสิ่งที่เรามีอยู่”
        ส่วนนายกฯ ราซัค กล่าวว่า “เราจะต้องพยายามอย่างหนักในการปรับปรุงความสัมพันธ์พื้นฐานที่มีต่อกันกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่านความร่วมมืออันดีระหว่างสังคม”
        จากถ้อยคำของทั้งสองผู้นำนั้นแสดงให้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างใช้เหตุผลอยู่เหนืออารมณ์ และความโกรธหรือความเกลียดชังกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีของผู้นำไทยกับกัมพูชาเป็นอย่างมาก
       สิ่งที่ทำให้ตะกอนนอนก้นของความบาดหมางระหว่างไทยกับกัมพูชาในอดีตฟุ้งขึ้นมาอีกก็เนื่องมาจากการที่ นายฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาไม่พอใจในเรื่องการที่ไทยคัดค้านการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก สมทบด้วยการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์แต่งนายกษิต ภิรมย์ ผู้เคยปราศรัยด่านายฮุนเซ็นว่าเป็น “กุ๊ย”เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
        โดยที่ผ่านมานายฮุนเซ็นใช้อารมณ์อย่างเต็มที่ในการกล่าวหารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ว่าไม่มีความชอบธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่ง อีกทั้งยังตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาและมีการแถลงหักหน้าในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่หัวหิน ส่วนฝ่ายนายอภิสิทธิ์และนายกษิตก็ใช้อารมณ์ต่อการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้วยการเรียกทูตกลับในทันที ขณะที่นายฮุนเซ็นก็ตอบโต้ด้วยวิธีการเรียกทูตกลับเช่นกัน
       มิหนำซ้ำนายอภิสิทธิ์ยังตักเตือนนายฮุน เซ็น ใหรู้จักเลือกเอาระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ของประเทศ อันเป็นการปรามาสนายฮุน เซ็น อย่างซึ่งหน้าแบบเด็กสอนผู้ใหญ่ กอปรกับนายกษิตในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนที่จะช่วยกล่าวแก้ตามแบบภาษาของนักการทูตในนานาอารยประเทศ แต่กลับมากล่าวย้ำในทำนองท้าตีท้าต่อยเข้าไปอีก จึงย่อมเท่ากับเป็นการประกาศศึกหรือประกาศตัวเป็นศัตรูกับผู้นำกัมพูชา
        ความบานปลายจากการใช้อารมณ์ติดตามมาเรื่อยๆ ด้วยการที่นายอภิสิทธิ์ประกาศรื้อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกัมพูชาด้วยการลดการให้ความช่วยเหลือเงินกู้ กวดขันคนไทยที่เดินทางไปเล่นการพนันที่กาสิโนฝั่งกัมพูชา(ซึ่งเกือบทั้งหมดมีเจ้าของเป็นคนไทย) ติดตามมาด้วยการขับเลขานุการเอกของสถานทูตทั้งสองกลับประเทศ
       ที่น่าตกใจก็คือการพิจารณายกเลิกบันทึกความเข้าใจหรือ เอ็ม โอ ยู ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันที่ลงนามตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยกระบวนการพิจารณาให้ยกเลิกเอ็ม โอ ยู นั้นเป็นไปอย่างรวบรัดและรวดเร็ว ทั้งๆที่การคงอยู่ของเอ็ม โอ ยู ฉบับดังกล่าวไว้จะมีประโยชน์ต่อไทยมากกว่าเป็นโทษ
       ความหายนะที่เกิดขึ้นจากการใช้อารมณ์ยังตามมาด้วยการปลุกกระแสชาตินิยมที่นำไปสู่การสิ้นชาติ เพราะเป็นการสร้างกระแสปลุกระดมบิดเบือนเพื่อให้เกิดความคลั่งชาติในหมู่ประชาชนให้เกลียดชังเพื่อนร่วมภูมิภาคบ้านใกล้เรือนเคียง โดยให้เหตุผลอย่างข้างๆคูๆว่า คลั่งชาติดีกว่าขายชาติ ทั้งๆที่ ไม่ว่าจะคลั่งชาติหรือขายชาติต่างก็มีผลเหมือนกัน คือการนำไปสู่การสิ้นชาติด้วยกันทั้งคู่
       ผลจากการแก้ไขปัญหาด้วยอารมณ์นำความเสียหายมาสู่ทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจหรือสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยทั้งผู้นำไทยกับกัมพูชาต่างกลายเป็น ตัวตลกในสายตานานาชาติและเป็นผู้ร้ายในสายตาของอาเซียน เพราะที่ไหนในโลกมีแต่พยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ผัวเมียทะเลาะกันยังมีโอกาสที่จะแยกทางกันได้แต่ประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถที่จะยกแผ่นดินหนีกันไปได้ จึงต้องอยู่ร่วมกันด้วยการถ้อยทีถ้อยอาศัย และหมดยุคของการเมืองระหว่างประเทศสมัยใหม่ที่จะใช้กำลังอาวุธของยึดครองดินแดนของประเทศอื่น
       ผู้นำไทยกับกัมพูชาเป็นผู้ทำลายความเป็นเอกภาพและโอกาสในการต่อรองในด้านเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศของอาเซียนที่เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองเป็นกลุ่มต้นๆของโลก มาเป็นกลุ่มที่แทบจะไม่มีพลังต่อรองเพราะเหตุแห่งการขัดแย้งส่วนบุคคลระหว่างนายอภิสิทธิ์และนายกษิตกับนายฮุนเซ็นและ พ.ต.ท.ทักษิณ
       ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนของทั้งสองประเทศจะต้องทบทวนบทของผู้นำของตนว่าสมควรที่ขับเคลื่อนรัฐนาวาต่อไปหรือไม่ ก่อนที่จะนำพาประชาชนทั้งไทยและกัมพูชาไปสู่ ความทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อันเนื่องมาจาการใช้อารมณ์มาแก้ไขปัญหาอย่างไร้สติเช่นนี้
       
       ---------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544