หน้าแรก บทความสาระ
คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง”ได้อย่างไร (ตอนที่ 3)
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบรูณ์
4 กรกฎาคม 2552 22:06 น.
 
[หมายเหตุ “จดหมายชี้แจง ของ รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์” วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๐๐๙ ; ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึง หัวข้อ “(ค) ทำไม นักวิชาการของเรา จึงมองไม่เห็น ความเสื่อมของสังคมไทย ที่เป็นผลมาจาก “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมา” ได้มีท่านผู้ที่อ่านบทความของผู้เขียนท่านหนึ่งมาถามผู้เขียนว่า ได้อ่าน “คำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ ฯ”เมื่อต้นเดือนมิถุนายน แล้วหรือยัง และผู้เขียนจะมีความเห็น อย่างไร
       ผู้เขียนได้ตอบท่านผู้นั้นไปว่า ผู้เขียนได้อ่านแล้ว และผู้เขียนยังไม่มีความตั้งใจจะเขียนหรืออ้างอิงถึงคำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ต่อไปอีก แต่อย่างใด เพราะ ผู้เขียนไม่พบว่า สาระในคำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ “ขัดแย้ง”กับบทความของผู้เขียน แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนมีความเห็นว่า คำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ ได้ให้ข้อเท็จจริงเป็นการเพิ่มเติม และทำให้มองเห็นความสำคัญของ “สาระ” ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้บทความนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหากท่านผู้อ่าน อ่านบทความของผู้เขียน เปรียบเทียบกับคำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ ก็คงจะ “คิด และเข้าใจ”ได้เอง
       แต่ “ท่านผู้นั้น” ได้ขอให้ผู้เขียนเขียนความเห็นของผู้เขียนไว้ในบทความนี้ด้วย เพื่อจะได้เป็นการให้ “ข้อคิด”แก่คนทั่วไป ที่อาจจะไม่ได้เป็น “นักวิชาการ”ด้วยกันทั้งหมด ผู้เขียนจึงได้เขียนหมายเหตุนี้
       
       ตามความเห็นของผู้เขียน คำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ ได้ให้ข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับ “ความเห็น” ของผู้เขียนในสาระสำคัญ ถึง ๒ ประการด้วยกัน ทั้งนี้ไม่ว่า จะเป็นความต้องการของท่านอาจารย์วรเจตน์ หรือไม่ก็ตาม คือ
       ประการแรก สาระในบทความของผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย คือ “ความเป็นอิสระของ ส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ได้ตามมโนธรรมของตน” (และดังนั้น รัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน จึงไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตย” เพราะรัฐธรรมนูญของประเทศไทยบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ )
       ในข้อนี้ คำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ได้กล่าวว่า “.... อันที่จริงแล้ว บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว มีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ก่อนที่ฮิตเล่อร์จะขึ้นมามีอำนาจในเยอรมัน หาใช่เป็นบทบัญญัติที่เป็น “นวัตกรรม”ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ(กฎหมายพื้นฐาน) ค.ศ ๑๙๔๙ ไม่........คือ ปรากฏขึ้นตั้งแต่ (รัฐธรรมนูญ) ค.ศ. ๑๘๗๑ ซึ่งเป็นปีที่บิสมาร์คได้รวมอาณาจักรเยอรมันสำเร็จ..... และรัฐธรรมนูญไวมาร์ ค.ศ. ๑๙๑๙ ก็บัญญัติข้อความไว้ทำนองเดียวกัน ในมาตรา ๒๑ ....(ซึ่งท่านอาจารย์วรเจตน์ ได้ให้ข้อความที่เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวไว้ด้วย)” และสำหรับประเทศฝรั่งเศส ท่านอาจารย์วรเจตน์ ก็ได้กล่าวไว้ว่า “ในทางประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญ แนวความคิดนี้ ก็ สืบสาวกลับไปได้ถึง รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๑ .....”
       ผู้เขียนก็ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์วรเจตน์ ที่ได้ให้ “ความรู้”แก่ผู้เขียนและท่านผู้อ่านในเรื่องนี้” เพราะถ้าท่านอาจารย์วรเจตน์ไม่บอกผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนก็คงจะคิดว่า ทั้งรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส(ค.ศ. ๑๙๕๘ ) และรัฐธรรมนูญเยอรมัน(ค.ศ.๑๙๔ ๙) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลก ที่เขียนหลักการนี้ไว้ ( !) ; ดังนั้น จากข้อเท็จจริง (facts) ในคำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์นี้ คงทำให้ท่านผู้อ่านได้ทราบแน่นอนว่า การที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ และรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ของประเทศไทย มีบทบัญญัติให้ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส.พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ นั้น เป็นบทบัญญัติที่ตรงกันข้ามกับ “หลักการ” (ความเป็นอิสระของส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.) ของ“ระบบรัฐสภา”ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมิใช่เป็นเพียง “หลักการ”ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ หากแต่เป็น หลักการที่ประเทศเยอรมันนีและประเทศฝรั่งเศส ( และประเทศอื่น ๆ ) ยึดถือกันมานานแล้ว นับเป็นเวลากว่า สองร้อยปี(นับตั้งแต่ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๙๑)
       ดังนั้น ขอให้ท่านผู้อ่าน โปรดเชื่อตามคำชึ้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์นี้ด้วย เพราะความจริงเป็นเช่นนั้น และผู้เขียนขอขอบคุณท่านอาจารย์วรเจตน์ เป็นอย่างมาก
       
       ประการที่สอง สาระในบทความของผู้เขียน ผู้เขียนได้กล่าวถึง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(พรรคนาซี)”ที่ได้เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันนีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ไว้ว่า “ผู้เขียนได้เคยถามตัวเองว่า อะไร เป็นเหตุให้คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่เรียนจบ “ปริญญาเอก”ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมันนี จึงไม่เตือนและไม่ให้ “ข้อคิดเห็น”ให้คนไทยได้รับรู้ ประสบการณ์เหล่านี้ ของประเทศเยอรมันนี”;
       ในข้อนี้ คำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ได้กล่าวไว้ว่า “ตัวท่านเองไม่เคยให้ความเห็นในที่แห่งใดเลยว่า ท่านเห็นด้วยกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน ท่านเองก็ไม่เคยสรุปและยึดถือเป็นสรณะว่า รากเง้าของ “ปัญหา”ในระบบการเมืองไทยทั้งหมด มาจากการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ...”
       ความข้อนี้ ก็เช่นเดียวกัน คือ ผู้เขียนก็เห็นว่า เป็นข้อความที่ “ไม่ขัดแย้ง”กับสาระของบทความของผู้เขียนแต่อย่างใด เพราะท่านอาจารย์วรเจตน์มิได้บอกว่า ท่านได้เคยให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ”ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(พรรคนาซี)”ของประเทศเยอรมันนีในสมัยฮิตเล่อร์” เพื่อเป็นการเตือนและให้ประสบการณ์แก่คนไทย มาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด; แต่ท่านอาจารย์วรเจตน์ได้บอกอย่างชัดแจ้งว่า ท่านไม่เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้มาก่อน ซึ่งผู้เขียนก็ต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์วรเจตน์ อีกเช่นเดียวกัน
       
       จะเห็นได้ว่า คำชี้แจงของท่านอาจารย์วรเจตน์ได้ยืนยันว่า หลักการสากล (ความเป็นอิสระของส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ) ที่เป็นหลักการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ไม่ว่าจะเป็น “ระบบรัฐสภา” หรือระบบอื่น)นี้ จะตรงกันข้ามกับ “หลักการ”ตามรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๕๐ และรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และการให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็น ส.ส ( และเพราะบทบัญญัติของเรานี้เอง ทำให้ประเทศไทย ไม่มี “ดุลยภาพของอำนาจ ระหว่าง “องค์กรนิติบัญญัติ” กับ “องค์กรบริหาร ” และทำให้พรรคการเมือง กลายเป็น “องค์กรที่อำนาจสูงสุด”ทางการเมือง ของ ประเทศไทย) และตามความเห็นของผู้เขียน เพราะ “ความไม่รู้” ในหลักการข้อนี้ของนักวิชาการไทยนี้เอง ได้เป็นต้นเหตุของการเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศไทย(ฉบับเดียวในโลก) ซึ่งทำให้เกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งได้สร้างความเสื่อมให้แก่สังคมไทย ดังที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเรา(คนไทย)ในขณะนี้
       เท่าที่ผู้เขียนตรวจสอบดู “ตำรากฎหมาย”ในปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๒) ไม่ปรากฏว่า มี “ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ” ที่ใช้สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ และในสถาบันการศึกษาชั้นสูงของรัฐ(ของไทย) ที่ให้ความรู้และให้ประสบการณ์ แก่นักศึกษากฎหมายของเราเกี่ยวกับ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง” (ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศเยอรมันนี ก่อนสงครามโลกครั้งที่ สอง )นี้ แต่อย่างใด ; อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ผู้เขียนได้ตรวจสอบกว้างขวางพอเพียงหรือไม่ ดังนั้น ถ้าท่านคณาจารย์ท่านใด (ไม่ว่าจะสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือในมหาวิทยาลัยใด ๆ ของไทย) เคยเขียน “ตำรา”ในเรื่องนี้หรือทราบว่ามี “ตำรา”ในเรื่องนี้เขียนไว้ หรือแม้แต่ จะเป็นเพียง “เอกสารประกอบการสอน”ที่ใช้แจกให้แก่นักศึกษาในห้องเรียน ขอได้โปรดแจ้งให้ผู้เขียนทราบด้วย เพื่อ ผู้เขียนจะได้อ้างอิงให้ถูกต้อง และถ้าเป็น”เอกสารประกอบการสอน”ในห้องเรียน กรุณาบอกด้วยว่า ได้แจกเอกสารดังกล่าวให้แก่นักศึกษาในการเรียนการสอนของปีการศึกษา พ.ศ.ใด
       ถ้าท่านอาจารย์วรเจตน์ (ซึ่งครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์เคย เป็นหัวหน้าภาค “วิชากฎหมายมหาชน” ของ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในด้านกฎหมายมหาชน)ได้เคยวิเคราะห์ “การเมืองของประเทศไทย” (ตามแนวทางที่ท่านอาจารย์เรียกว่า เป็นการวิเคราะห์อย่างแท้จริง ที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายไว้ใน คำชี้แจงของท่านอาจารย์นี้ ) ไว้ในตำราหรือในเอกสารใด ก็ขอได้โปรดแจ้งให้ผู้เขียนทราบด้วย เพื่อผู้เขียนจะได้ไปอ่านหา “ความรู้”เพิ่มเติม
       “ข้อเท็จจริง”ที่ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ แต่ท่านอาจารย์วรเจตน์ไม่ได้ชี้แจงไว้ ก็คือ ในการเรียนการสอน”วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ”ในมหาวิทยาลัยของประเทศเยอรมันนีนั้น อาจารย์เยอรมันเขาได้สอนนักศึกษาของเขา หรือไม่ ว่า ทำไม นักวิชาการของ เขา จึงออกแบบ(design) ระบบรัฐสภา –parliamentary system ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๔๙ ของเขา (ตามที่ท่านอาจารย์บอกว่า เพิ่งมีการเฉลิมฉลองครบ ๖๐ปี เมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา) ให้แตกต่างไปจาก “ระบบรัฐสภา”ใน รัฐธรรมนูญไวมาร์ ค.ศ. ๑๙๑๙ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ได้ก่อให้เกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”(ในระบบรัฐสภา) ของพรรคนาซี ใน ค.ศ.๑๙๓๓
       อันที่จริง ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าท่านอาจารย์วรเจตน์ เพียงแต่ นำความแตกต่างในสาระสำคัญ ของ “ ระบบรัฐสภา”ในรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนี ทั้ง ๒ ฉบับ (ฉบับ ค.ศ ๑๙๑๙ กับ ฉบับ ค.ศ.๑๙๔๙ ) และเอา คำอธิบายเหตุผล ของการเปลี่ยนแปลงฯ ที่อาจารย์เยอรมันได้อธิบายไว้ มา แปลและเขียนเป็น “ตำรา” ไว้ สอนนักศึกษากฎหมาย(ไทย) ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะเป็นการสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาและแก่วงการวิชาการไทย สำหรับ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ของไทยในปัจจุบัน(ค.ศ. ๒๐๐๙) และผู้เขียนคิดว่า ก็จะเป็นประโยชน์ได้มากกว่า ที่ท่านอาจารย์จะมาเขียน “คำชี้แจง”มาอธิบายกับผู้เขียนในขณะนี้
       แต่ในชั้นนี้ เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงของผู้เขียนให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ผู้เขียนใคร่ขอทราบว่า ถ้าท่านอาจารย์วรเจตน์ ได้เคยนำเอา “คำอธิบาย หลักการพื้นฐาน ตามมาตรา ๓๘วรรคหนื่ง (สาระสำคัญสั้น ๆ ๓ ประการ ของบทบัญญัติ ว่าด้วยความเป็นอิสระของ ส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่) ของรัฐธรรมนูญ (the Basic Law )ฉบับปัจจุบันของประเทศเยอรมันนี คศ ๑๙๔๙ ตามที่ปรากฎอยู่ใน “คำชี้แจง”ของท่านอาจารย์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ (ค.ศ. ๒๐๐๙)” นี้ เขียนไว้ใน ตำราของท่านอาจารย์เล่มใด (พิมพ์ พ.ศ.ใด ) หรือได้เคยสอน หรือได้เคยแจก “เอกสารประกอบการสอน”ประเด็นนี้ ในการเรียนการสอนให้ แก่นักศึกษากฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสรู้ “ความรู้”เหล่านี้ มาแล้ว (หรือแม้แต่ได้เคย เขียน “บทความ”ที่ได้อ้างถึงหลักการพื้นฐานนี้ มาก่อนหน้าคำชี้แจงนี้ ) ก็ขอได้โปรด ชี้แจงเพิ่มเติม ให้ผู้เขียนได้ทราบด้วย ; และถ้าผู้เขียนทราบได้เร็วเท่าใด ก็จะเป็นประโยชน์ แก่นักกฎหมายและนักวิชาการทั่วไปที่จะได้ไป “หา”อ่านเป็นความรู้ จากตำราหรือเอกสาร ที่ท่านอาจารย์เขียนได้เร็วเท่านั้น (ถ้าหากมี)
       
       และอนึ่ง มี “สาระ” ที่ผู้เขียนคิดว่า อาจเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านอยู่บ้าง ; ถ้าท่านผู้อ่านย้อนไปอ่าน บทความ ของผู้เขียน “เรื่อง ปัญหา ชนชั้นนำ ของ สังคมไทย” เมื่อคราวที่ผู้เขียนไปบรรยายที่สำนักงานศาลปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ (เดือนมีนาคม) ท่านก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญของประเทศปรัสเซีย ค.ศ. ๑๘๗๑ (ในขณะนั้น ยังไม่มีประเทศเยอรมันนี มีแต่ประเทศ “ปรัสเซีย”)ในสมัยบิสมาร์ค ที่ท่าน อาจารย์วรเจตน์ได้อ้างถึงนั้น ได้ใช้ form of government เป็น “ระบบรัฐสภา –parliamentary system” ในยุคแรก คือ เป็น รูปแบบที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารโดยตรง และมีสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ; และในการบรรยายครั้งนั้น ผู้เขียนได้เปรียบเทียบให้ความเห็นไว้ว่า Elite ของชาวญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้เลือกรูปแบบ form of government ตามรัฐธรรมนูญของประเทศปรัสเซีย มาใช้เป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. ๑๘๘๙ ( พ.ศ. ๒๔๓๒ ) โดยรูปแบบของระบบรัฐสภาดังกล่าว เป็นรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ จักรพรรดิของญี่ปุ่นกับ “ชนชั้นนำ”ของคนญี่ปุ่น มีบทบาทร่วมกันในการพัฒนาประเทศ และคนญี่ปุ่นก็ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ; ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทย ที่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเรา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ ๑๙๓๒) ที่คณะราษฎร์ของไทยได้ใช้รูปแบบ form of government ใน “ระบบรัฐสภา” ของอังกฤษ ซึ่งสอนกันมาแบบผิด ๆ โดยไม่รู้ว่า รัฐธรรมนูญ(จารีตประเพณี)ของอังกฤษ มีวิวัฒนาการมาอย่างไร และใช้เวลาในการวิวัฒนาการมานานเพียงใด จนเป็นเหตุให้เรา (คนไทย) ต้องตกอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อม vicious circle (ระหว่าง “การรัฐประหาร” กับ “การคอร์รัปชั่น” ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง –ในสภาพที่สังคมไทยอ่อนแอ) และทำให้คนไทยเราหา “ทางออก”ไม่พบ จนกระทั่งทุกวันนี้ ; โปรดดูรายละเอียด จาก วารสารวิชาการ ของศาลปกครอง ปีที่ ๒ พฤษภาคม - เมษายน ๒๕๕๑ “ ปัญหาชนชั้นนำ ของ สังคมไทย” ตั้งแต่หน้า ๓๔ เป็นต้นไป ]
       
       (ค) ทำไม นักวิชาการของเรา จึงมองไม่เห็น ความเสื่อมของสังคมไทย ที่เป็นผลมาจาก “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมา
       ก่อนอื่น โปรดสังเกตว่า ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนมีความตั้งใจ จะพูดปัญหาการเมืองของประเทศไทย เฉพาะในด้านของ “นักวิชาการ”(เท่านั้น)ว่า ทำไม นักวิชาการของเรา จึงมองไม่เห็น ความเสื่อมของสังคมไทย (ที่เป็นผลมาจาก “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”) ทั้งนี้ เพราะ ผู้เขียนเห็นว่า “นักวิชาการ”(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักกฎหมาย”) เป็นชนชั้นนำ elite ทีเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคม (ไทย) ในฐานะที่เป็น ปัญญาของสังคม ; ถ้าหาก “ นักกฎหมาย(ปัญญาของสังคม)”ของเรา ไร้คุณภาพ และไม่สามารถที่จะ “เตือน” คนไทยได้ว่า กฎหมาย (กฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน)มีข้อบกพร่อง อย่างไร และได้มีการอาศัย “ช่องว่าง”ของกฎหมาย เพื่อ แสวงหา “ประโยชน์ส่วนตัว”โดยมิชอบ ได้อย่างไร และนักกฎหมายของเราไม่สามารถ เสนอ (แนวทางการแก้ไข) “กฎหมาย”ที่ ดีกว่า ให้สังคมพิจารณาได้ ; สังคมไทยก็จะพัฒนาไปข้างหน้าไม่ได้ และเป็น สังคมที่ไร้อนาคต
       ทั้งนี้ โดยในบทความนี้ ผู้เขียนจะไม่วิเคราะห์ถึง ปัญหาการเมืองของประเทศ จากด้านของ “นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)” เพราะผู้เขียนเห็นว่า นักการเมืองของเรา เป็นเพียงคนธรรมดาปกติ (ที่ไม่ใช่ statesman ) เมื่อเขาลงทุนในการเลือกตั้งไปแล้ว เขาย่อมแสวงหาประโยชน์และทำกำไร ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์
       
       ความในข้อ (ค) นี้ ผู้เขียนอาจจะต้อง “พูด(เขียน)” มากกว่าข้ออื่นสักเล็กน้อย เพราะผู้เขียนคิดว่า เรา(คนไทย) จำเป็นต้อง “เข้าใจ”และรู้ว่า ความเสื่อมของสังคมของเราในขณะนี้ เกิดจากอะไร เพราะมิฉะนั้นแล้ว เรา(คนไทย)อาจมองไม่เห็นความจำเป็นของ “การปฏิรูปการเมือง” หรือการมี “การเมืองใหม่” ; และผู้เขียนเห็นว่า ในขณะนี้ เรา(คนไทย)อยู่ในสภาพที่ ไม่สามารถพึ่ง นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง (ที่เป็น“นายทุนธุรกิจ” เจ้าของพรรคการเมืองที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันนี้ )ได้ และ เรา(คนไทย)ก็อยู่ในสภาพที่ ไม่สามารถอาศัย “ความรู้” (หรือ “ความไม่รู้”) ของคณาจารย์ ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับสูงของรัฐของเราได้ ; บางที ข้างหน้า เรา (คนไทย)ที่ เป็นห่วง “บ้านเมือง” อาจจะต้องหาทางพึ่งตนเเอง เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง เกิดขึ้น ; ดังนั้น ผู้เขียนจะแบ่งเป็นหัวข้อย่อย ดังต่อไปนี้
       - สภาพการเมืองของประเทศ (ไทย) ณ ปัจจุบัน
       - ความเสื่อมของสังคมไทย เป็นความเป็นจริง – reality ที่สามารถมองเห็นได้
       - ความล้มเหลว ในการเรียนการสอน “ วิชานิติปรัชญา” ให้แก่นักศึกษากฎหมาย ในมหาวิทยาลัย(ไทย)
       - “ปัญหาการเมือง”ของประเทศ(รัฐ)ในปัจจุบัน ไม่ใช่ “ปัญหาการเมือง” ในสมัยของมองเตสกีเออ ใน
       ศตวรรษ ที่ ๑๘” (ตามที่เราสอนกันมา)
       - ๑๖ ปี ของ“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ตามรัฐธรรมนูญลายลักษณอักษร ของไทย ที่นำความเสื่อมมาสู่สังคมไทย
       
       • สภาพการเมืองของประเทศไทย ณ วันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ค.ศ. ๒๐๐๙)
       หลังจากที่เราใช้ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับเดียวในโลก)ของประเทศไทย มาเป็นเวลาประมาณ ๑๖ ปี (จากปลาย ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึง ปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๕๕๒) ปรากฏว่า สภาพการเมืองของประเทศไทย ณ วันนี้ เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) และเต็มไปด้วยการผูกขาดอำนาจรัฐโดย “โนมินี”ของนักการเมือง ( ลูกเมีย /พี่น้อง /ญาติและ พรรคพวก) ที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ; พรรคการเมืองแต่ละพรรค ต่างคนต่างมี “นายทุน” กำกับ(และเลี้ยงดู) ส.ส. ลูกพรรค โดยเอาจำนวน ส.ส. หารด้วยจำนวนรัฐมนตรี ถ้านักการเมืองคนใด มีส.ส.ในกำกับของตน(ครบ) ๕ คน ก็จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีหนึ่งตำแหน่ง (เพื่อไปแสวงหารายได้และทำกำไร ) ; และ เมื่อมีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการเงินและงบประมาณรายจ่าย ก็จะมีการจัดสรร “รายได้”(ในระหว่างพรรคการเมือง)ไปตามโครงการของแต่ละกระทรวง (และรัฐวิสาหกิจ) ตามแต่ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็น “เจ้าของ” กระทรวง ทั้งนี้ โดยจะยังไม่พูดถึง การแตกแยกของคนไทย ที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เสื้อเหลืองเสื้อแดงฯ และการแบ่งกลุ่มนักการเมืองออกเป็นภาค ในแต่ละภาคของประเทศ
       สภาพนี้ เป็นสภาพที่ไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ จากผู้เขียนอีก เพราะเป็นสภาพที่ self explanatory และถ้าสภาพ “การปกครองประเทศ” อยู่เช่นนี้ และการบริหารประเทศ ตกอยู่กับนักการเมืองประเภทนี้ ต่อไป เรา(คนไทย)คงไม่สามารถคาดหมายอนาคตของประเทศไทย และของคนไทย ได้
       
       ปัญหาของเรา(คนไทย) ก็คือ เรามอง “ปัญหา”ที่เกิดอยู่ต่อหน้าเรานี้ อย่างไร และอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เรา(คนไทย)ต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ; ถ้าเรามองเห็น “สาเหตุ”ของปัญหาได้ถูกต้อง เรา(คนไทย)ก็คงสามารถหา “ทางออก”ได้; แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรา(คนไทย)วิเคราะห์ปัญหาไม่เป็น หรือวิเคราะห์ปัญหาไม่ถูกต้อง และไม่สามารถรู้ถึง “สาเหตุ”ที่แท้จริงแล้ว เราก็คงจะหลงวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาที่ไม่รู้จักจบสิ้น และนับวันแต่จะยิ่งถลำลึกลงไปและทำให้ “ปัญหา”แก้ยากยิ่งขึ้น และสักวันหนึ่ง ก็จะถึงวันที่ เรา(คนไทย)จะแก้ปัญหาไม่ได้ (!)
       
       สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะขอเรียนให้ท่านผู้อ่าน สังเกต ก็คือ ผู้เขียนไม่พบว่า มีคณาจารย์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูง ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์กฎหมาย – รัฐศาสตร์ – รัฐประศาสนศาสตร์ ท่านใด ได้มอง “สาเหตุ”ของสภาพการณ์การเมืองของประเทศไทย ย้อนไปถึง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลกของไทย แต่อย่างใด และบรรดาท่านคณาจารย์เหล่านี้ ก็ยังคงเรียก “ระบอบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” นี้ ว่า เป็นระบอบประชาธิปไตย
       ท่านคณาจารย์เหล่านี้ มอง”การเมืองใหม่” ที่เสนอโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง หรือแม้แต่รัฐบาลของเราในปัจจุบัน ก็มองปัญหานี้เพียงว่า เป็นเรื่องของการสมานฉันท์ ด้วยตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” แต่สำหรับผู้เขียน “การเมืองใหม่” มิใช่เป็นเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งหรือเป็นการสมานฉันท์(จัดแบ่งผลประโยชน์ในระหว่างนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง) แต่การสร้างการเมืองใหม่ ต้องการการวิเคราะห์ “ระบบสถาบันการเมือง” ในรัฐธรรมนูญของเราทั้งระบบ โดยมีสภาพสังคมไทยเป็นพื้นฐาน ประกอบกับสภาพที่พิกลพิการของ (กฎหมาย)ระบบบริหารพื้นฐาน ( การบริหารราชการประจำและกระบวนการยุติธรรม) และระบบการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น
       การเมืองใหม่หรือการปฏิรูปการเมือง ต้องการ “การ rationalization ระบบสถาบันการเมือง (ในระบบรัฐสภา)”ทั้งระบบ ดังเช่นที่ ประเทศเยอรมันนีและประเทศฝรั่งเศสได้เคยทำมาหลังสงครามโลกครั้งที่ สอง เมื่อ ๕๐ – ๖๐ปีมาแล้ว
       
       ถ้าเราลองพิจารณาดู “ข้อเท็จจริง”เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเรา เท่าที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ในขณะนี้(เดือนมิถุนายน) เราก็จะพบว่า “ประเด็น”ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นที่สนใจ ของนักการเมือง และนักวิชาการ ที่ประสงค์จะแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีเป็นต้นว่า สมาชิกวุฒิสภาควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ควรมี ส.ว.ที่มาจากการสรรหา เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย ; ไม่ควรมีการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๒๓๗ เพราะ “หัวหน้าพรรคการเมือง”และ “กรรมการบริหารพรรค”ไม่ได้ไปกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งกับผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย (และควร”นีรโทษกรรม”ให้แก่หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสิทธิเลือกตั้งไปแล้วรวม ๒๒๐ คน); ควรยกเลิก การห้ามการก้าวก่ายหรือแทรกแชงในการปฏิบัติราชการหรือการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการ (มาตรา ๒๖๖) เพราะทำให้นักการเมืองไม่อาจช่วยเหลือประชาชนได้ เมื่อมีการร้องขอจากประชาชน ฯลฯ ; การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ตาม มาตรา ๑๙๐ สมควรแก้ไข เพราะรัฐบาลไม่สะดวกในการเจรจา กับต่างประเทศ ; นักการเมืองบางพรรคการเมืองหรือบางท่าน เสนอไปไกลถึงกับว่า ให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาใช้ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาจาก “การรัฐประหาร” ซึ่งมิใช่วิถีทางของความเป็นประชาธิปไตย ; รวมทั้งการยกเลิกการสอบสวน(และการดำเนินคดี) การทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) โดย คตส. เพราะ คตส. แต่งตั้งมาโดยการรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย
       ทั้งนี้ โดยผู้เขียนจะยังไม่กล่าวถึง การดำเนินการของ “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นจากพรรคการเมืองต่าง ๆ และกำลังพิจารณาและวินิจฉัย “ประเด็น”ต่าง ๆ ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ด้วยเสียงข้างมาก) รวมทั้งประเด็นการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของ “องค์กรอิสระ” ที่นักการเมืองของเรา เรียกว่า เป็นมหาอำนาจที่ ๔ ( ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ )
       
       ผู้เขียนไม่คิด (และไม่เคยเชื่อ)ว่า การพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ “รัฐบาล”และ “นักการเมือง” กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งการแต่งตั้ง“คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” จะนำไปสู่ การปฏิรูปการเมือง( หรือ การ rationalization ระบบสถาบันการเมือง) ได้ เพราะสิ่งที่จะได้มาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการ โดย “ผู้ที่จะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์” จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คือ การแก้ไขในข้อที่ให้ประโยชน์แก่ตนเอง และ การแต่งตั้ง“คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ก็คือ การตกลงแบ่งและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างนักการเมือง(ที่ผูกขาดอำนาจรัฐ)ด้วยกันเอง
       ในการปฏิบัติของนานาประเทศ “การปฏิรูปการเมือง” หรือ “การ rationalization ระบบสถาบันการเมือง” จะต้องเริ่มต้น ด้วยการนำเอา เจตนารมณ์ ของการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย ( คือ การบริหารประเทศจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ) และการบริหารประเทศจะต้องมีประสิทธิภาพ และไม่มีการคอร์รัปชั่น) เป็น “จุดหมาย” ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องพิจารณากำหนดสาเหตุของ “ปัญหา”และประเด็นให้แน่ชัด ว่า ทำไม “ระบบสถาบันการเมือง - form of government “ ตามรัฐธรรมนูญของเรา จึงไม่มีประสิทธิภาพ และ ทำไม การบริหารประเทศของเรา จึงเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น และการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว(ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) ; และ ในประการสุดท้าย คือ การพิจารณากำหนด วิธีการและมาตรการในแก้ “ปัญหา”ต่าง ๆ ให้ดีที่สุด ว่า จะทำอย่างไร จึงจะทำให้“จุดหมาย”ของการบริหารประเทศ (ในระบอบประชาธิปไตย) บรรลุผลสำเร็จ
       การเสนอ “ประเด็น” เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ไม่กำหนด “จุดหมาย” ซึ่งเป็น เจตนารมณ์ของการบริหารประเทศ ตามที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ย่อมทำให้นักการเมือง (ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน “ประเด็น” ที่เป็นประโยชน์ของตนเอง
       
       • ความเสื่อมของสังคมไทย เป็นความจริง - reality ที่สามารถมองเห็นได้
       
คำถามมีว่า ทำไม ไม่มีประเทศใด ในโลก เขียนรัฐธรรมนูญ ที่เป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” เหมือนกับประเทศไทย ; ลำพังเพียงข้อเท็จจริงที่ว่า “ในโลกนี้ ไม่มีประเทศใดที่ใช้รัฐธรรมนูญ ที่เป็น ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” เพียงอย่างเดียว ก็ย่อมเป็น “เหตุผล”ที่ชัดแจ้งอยู่ในตัวว่า วงการวิชาการทั่วโลกมีความเห็นที่ยอมรับตรงกันว่า “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” ย่อมจะต้องมีผลเสีย ตามมาอย่างแน่นอน ; และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับในประเทศที่สภาพสังคมอ่อนแอ ที่ “การซื้อเสียง”ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการชนะการเลือกตั้ง “พรรคการเมือง”ที่จะชนะการเลือกตั้งและผูกขาดอำนาจรัฐได้ ก็จะเป็นพรรคการเมืองของนายทุนหรือกลุ่มนายทุน
       ทำไม นักวิชาการของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักกฎหมาย” (และคณาจารย์ ในคณะนิติศาสตร์ ) จึงมองไม่เห็น ในสิ่งที่นักวิชาการทั่วโลก เขา “มองเห็น”
       

       ผู้เขียนจะขอนำ “สาระ” ที่ผู้เขียนเคยเขียนมาแล้วในบทความก่อน ๆของผู้เขียน มากล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งอย่างสั้น ๆ ว่า เราทราบแล้วว่า“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (ในระบบรัฐสภา – parliamentary system )” เป็นระบบที่ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร(รัฐบาล) กับฝ่ายนิติบัญญัติ(สภาผู้แทนราษฎร) และพรรคการเมืองจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ที่ควบคุมทั้งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ; การผูกขาดอำนาจรัฐ เป็นความต้องการของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทุกคน เพราะเป็นโอกาสของการแสวงหาความร่ำรวยจากทรัพยากรของชาติได้โดย ไม่มีขอบเขตจำกัด รวมทั้งสามารถใช้อำนาจทางสภาผู้แทนราษฎร แก้ “กฎหมาย”เพื่อให้ประโยชน์แก่ตนเอง
       การที่รัฐธรรมนูญของเรา ใช้“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” (ได้แก่ การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส.ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ / นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น- หัวหน้าพรรคการเมือง) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก เปรียบ เสมือนการเอา“ปลาย่าง” มาแขวนล่อแมว(นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง)ไว้ เพื่อให้แมวมาแย่งกันกิน “ปลาย่าง” ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของแมว และพอแมวจะ “แย่ง”กันกิน รัฐธรรมนูญของเรา ก็จะบัญญัติวิธีการ ต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้แมวมา “แย่ง”กันกิน (ปลาย่าง)
       

       “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” ทำให้นักการเมืองนายทุนธุรกิจ ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ (แมว) แย่งกันการลงทุนจัดตั้ง “พรรคการเมือง” และพยายามทุกวิถีทาง (ไม่ว่าจะสุจริตหรือทุจริต ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ที่จะทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใน“พรรคการเมือง”ของตน ได้รับเลือกตั้ง โดยมีจำนวน ส.ส. ให้มากที่สุด เพราะจำนวน ส.ส. ที่เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร(ในระบบรัฐสภา) เป็น “เงื่อนไข” ของการเข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อผูกขาดการใช้ “อำนาจรัฐ” และการแสวงหาความร่ำรวย
       “การแข่งขัน” กันเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ในการ “การเลือกตั้ง” เป็นเหตุทำให้สังคมไทยเสื่อม เพราะ การใช้เงินและใช้อิทธิพล (ของพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ)ในการเลือกตั้ง ภายไต้สภาพสังคมไทยที่อ่อนแอและในสภาพ(กฎหมาย) การบริหารที่พิกลพิการของประเทศไทย ทำให้คนไทย(ส่วนใหญ่) มองประโยชน์ส่วนตัวที่ใกล้ตัว (ที่ได้รับจากนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง ) มากกว่าคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ที่ไกลตัว
       และนอกจากนั้น เมื่อพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)เหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งและเข้าผูกขาดอำนาจรัฐแล้ว นักการเมืองนายทุนธุรกิจเหล่านี้ ก็จะใช้ “อำนาจรัฐ” เพื่อจะรักษาอำนาจของตนเองเพื่อแสวงหาความร่ำรวยไว้ให้ยาวนานที่สุด ด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อเอาทุนคืน พร้อมทั้งทำกำไรสำหรับตนเอง และเอามาดูแล ส.ส. ที่เป็นพรรคพวกของตนที่อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี และเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ตลอด จนใช้ “อำนาจรัฐ” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ครอบงำระบบงานประจำและระบบท้องถิ่นเพื่อใช้เป็น “เครื่องมือ”ในการแสวงหาประโยชน์ และเป็น “ฐาน” ในการเลือกตั้งในครั้งต่อไป และ ใช้นโยบาย populist เอาทรัพยากรของชาติส่วนรวม ไปลดแลกแจกแถม (ที่เกินสมควรและปราศจากขอบเขต) เพียงเพื่อประโยชน์ในการรักษาความนิยมของตนเองไว้เป็นการส่วนตัว(เพื่อรักษาอำนาจ) และยิ่งกว่านั้น ยังใช้ “อำนาจ”ทางสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ไข “กฎหมาย” ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและพรรคพวก อันเป็นการทำลายระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ อีกด้วย
       
       ในระยะเวลา ๑๖ ปี ที่ผ่านมา “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” เป็นระบบที่ทำให้สังคมไทยเสื่อมลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ; เสื่อมลงทั้งในระบบบริหารราชการ และระบบการกระจายอำนาจ โดยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตกเป็น “เครื่องมือ”รับใช้นักการเมืองในการแสวงหาประโยชน์ ; “ คนดี”ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ และ “ คนไม่ดี” (ที่ช่วยเหลือนักการเมืองในการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือยอมเป็นพรรคพวกของนักการเมือง) ได้รับเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง และได้รับประโยชน์ตอบแทนจากนักการเมือง ; และการใช้นโยบาย populist (นโยบายเอาใจประชาชน) ลดแลกแจกแถม ที่เกินขอบเขตและขาดความระมัดระวัง(โดยมีความมุ่งหมายที่จะรักษาความนิยมชมชอบ (ส่วนตัว)จาก ประชาชน เพื่อให้ตนเองได้รับการเลือกตั้ง ) ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต มีความเสี่ยงสูงในระยะยาว และไม่อาจทราบได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
       สิ่งสำคัญที่สุดและเห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ ก็คือ นโยบาย populist ทำให้เกิด “ความขัดแย้ง”ในระหว่างคนไทย โดยประชาชนจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ระหว่าง กลุ่มที่ ได้รับประโยชน์จากนักการเมืองในระยะสั้นและสนับสนุนการใช้นโยบาย populist ของรัฐบาล กับกลุ่มที่มองเห็นอันตรายที่จะเกิดแก่คนไทยในอนาคตและต้องการจะเปลี่ยน “รูปแบบของรัฐบาล” (ทั้ง ๆ ที่ ตนเอง ก็ยังไม่รู้ว่า จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบใด เนื่องจาก “ความรู้”ไม่พอ) ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
       
       และ นี่ คือ สภาพความเสื่อมของสังคมไทย ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังที่เป็นที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน
       [หมายเหตุ ผู้เขียนคงไม่ต้องกล่าวถึง “เหตุการณ์”ของกลุ่มเสื้อเหลืองที่มีการชุมชุมติดต่อกัน นานถึง ๑๙๓ วัน และการสูญเสียชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ฯลฯ ในวันตุลาคมเลือด (วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑) และผู้เขียนก็คงไม่ต้องกล่าวถึง “เหตุการณ์”ของกลุ่มเสื้อแดงในวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๑ – ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ทั้งที่ กทม. และ พัทยา หรือแม้แต่การชุมนุมใหญ่ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ที่เพิ่งผ่านมา เพราะท่านผู้อ่านคงทราบกันดีอยู่แล้ว
       อันที่จริง การที่ มีคนไทย(จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ) สนับสนุนการใช้ นโยบาย populist (นโยบายเอาใจประชาชน ของนักการเมือง ที่ เอาทรัพยากรของชาติ มาลดแลกแจกแถม ที่เกินขอบเขตฯ เพื่อหาความนิยม เป็นการส่วนตัวฯลฯ ) ของนักการเมือง เพราะคนไทยเหล่านั้น มองเห็นประโยชน์ (ใกล้ตัว) ที่ได้รับจากนักการเมือง โดยไม่ได้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว มิใช่เป็น “ความผิด”ของคนไทยเหล่านั้น เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นพฤติกรรมตามปกติ ในทางสังคมวิทยา อันเนื่องมาจากสภาพของสังคมไทยที่มีวิวัฒนาการมาในอดีต และประชาชนจำนวนมากของประเทศเป็นผู้ที่ด้อยโอกาส
       แต่ “ความผิด”จะอยู่ที่ “นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)” ที่เป็น elite ของคนไทย ที่แสวงหาความร่ำรวยให้แก่ตนเอง โดยอาศัยประโยชน์ จากความอ่อนแอของคนไทยด้วยกัน; นักการเมืองเหล่านี้ เข้ามาใช้ “อำนาจรัฐ”แทนคนไทย โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตยด้วย“การเลือกตั้ง(ซื้อเสียง)” และสร้าง “ระบบผูกขาดอำนาจของพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ให้แก่ตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญ(ประเทศเดียวในโลก) เพื่อแสวงหาประโยชน์และทุจริตคอร์รัปชั่น
       และ แน่นอน “ความผิด” อีกส่วนหนึ่ง ก็จะได้แก่ elite ของคนไทย ที่เป็น“คณาจารย์”ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูง ของประเทศ ที่ไม่สอนให้นักศึกษาของเราให้รู้ถึง สภาพความอ่อนแอของสังคมไทย และ(ให้รู้ถึง)รูปแบบกลไกในรัฐธรรมนูญ ที่ประเทศพัฒนาแล้ว ได้ออกแบบไว้สำหรับการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อที่เขาเล่านั้น จะได้ “รู้จักคิด”เพื่อแก้ปัญหาการเมืองของไทย ]
       
       การวิเคราะห์ “ความเสื่อมของสังคมไทย” ดังกล่าวข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ทางสังคมวิทยา ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง- reality เพื่อแสดงให้เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เกิดจาก “ระบบสถาบันการเมือง” ตามที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่า ระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญของประเทศหรือของเรา จะอยู่ใน form of government รูปแบบใด จะเป็นเผด็จการ หรือเป็นประชาธิปไตย
       แต่ดูเหมือนว่า นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)เจ้าของพรรคการเมืองของเราในปัจจุบัน พยายามที่จะรักษา “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ตามรัฐธรรมนูญของไทย(ฉบับเดียวในโลก) ที่ตนเองสร้างขึ้นไว้ ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยการอ้าง”ความเป็นประชาธิปไตย” ขึ้นมากลบเกลื่อน และพยายามทำให้คนไทยสับสนและ เชื่อว่า ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) นี้ เป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนี้ ขัดกับหลักการพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย (ความเป็นอิสระของ ส.ส. ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.) ที่นา ๆ ประเทศในโลก ยึดถือกันมา กว่า ๒๐๐ ปีเศษ (ตามที่ ท่านอาจารย์วรเจตน์ เองได้กล่าวมาแล้วข้างต้น) [ทั้งนี้ โดยจะยังไม่พิจารณาถึง ข้อเท็จจริงใน“การเลือกตั้ง”ที่มีการซื้อเสียงและการใช้อิทธิพลของนักการเมืองอย่างกว้างขวาง ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ และสภาพพิกลพิการของ(กฎหมาย)ระบบบริหารของไทย ที่ยังมีปัญหาว่า จะยอมรับ “ความชอบธรรม”ของการเลือกตั้งได้เพียงใด ซึ่งเป็น “ประเด็น” ที่จะต้องแยกพิจารณา เป็นอีกประเด็นหนึ่งต่างหาก]
       ผู้เขียนคิดว่า สิ่งที่เรา(คนไทย)ต้องการ คือ form of government ที่มี “ระบบสถาบันการเมือง” ที่เป็น ประชาธิปไตย ที่มี “การเลือกตั้ง” โดยชอบ และมี“รัฐบาล”ที่มีเสถียรภาพ ; ซึ่งมิใช่ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ ที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น และยอมให้นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)มีอำนาจ (เผด็จการ) ที่จะเอา “ทรัพยากรของชาติ” มาลดแลกแจกแถมในนโยบาย pupulist เพื่อหาความนิยมให้แก่ตนเองเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งและยึดครองอำนาจรัฐ ; การลดแลกแจกแถม ทำให้ “คนไทยจำนวนมาก” ที่ยังยากจนหรือที่มีความโลภ มองประโยชน์ส่วนตัวที่ใกล้ตัว ที่จะได้มาจากการให้หรือ “การลดแลกแจกแถม”ของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) มากกว่าจะคิดถึงหรือมองเห็น ประโยชน์ส่วนรวมของสังคมในระยะยาว
       ถ้าจะพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลใน“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ภายไต้การซื้อเสียงในการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางของประเทศไทยที่ผ่านมา ได้ก่อไห้เกิด “ความเสื่อมในสังคมไทย” มากกว่า รัฐบาล(ชั่วคราว)ใน “ระบบเผด็จการ ทหาร” ที่มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เสียอีก
       
       ความคิด ที่จะทำให้สังคมไทยในขณะนี้ กลับไปสู่ “สภาพสังคมที่มีเหตุมีผล - rational society “ และไม่แตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และยากยิ่งกว่าเดิมก่อนหน้านี้ เพราะเป็นการแก้ไขสภาพสังคมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ; สังคมไทยเป็นสังคมที่อ่อนแอ และการที่จะทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมที่มีเหตุผล”ได้ ต้องการ ความเสียสละของคนไทยจำนวนมาก โดยคนไทยเหล่านี้ จะต้องสามารถแยกความรู้สึก ระหว่าง ความอยากได้ใน “ประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง”ที่ใกล้ตัวและมองเห็นได้ กับความเสียหายของ “ประโยชน์ของส่วนรวม”ของสังคมในระยะยาว ที่ยังมองไม่เห็น
       “ความรู้สึก” นี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคนไทย(ส่วนใหญ่)จะต้อง“เข้าใจ”ระบบ การเมืองของประเทศ” ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ เพราะ“ คนไทย”เป็นประชาชนที่ขาดประสบการณ์ทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกับ “ประชาชน”ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองจากประวัติศาสตร์เป็นเวลานานนับร้อย ๆ ปี และได้รับการถ่ายทอดที่สั่งสอนกันมาในระบบการศึกษา และการดำเนินชีวิตประจำวัน
       ในขณะนี้ ผู้เขียนก็ยังมองไม่เห็นว่า ใคร (?) จะผู้ทำให้ “คนไทย” กลับมามีความรู้สึกเช่นนี้ ได้ เพราะนักการเมืองที่มี“อำนาจรัฐ”ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ก็ล้วนแต่เป็น นักการเมืองกลุ่มเดิม ๆ ที่ สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อการผูกขาดอำนาจรัฐและการแสวงหาประโยชน์ ในกลุ่มของพวกตน และในปัจจุบัน ก็เป็นแต่เพียงการ”สลับขั้ว”กันเข้ามาแสวงหาประโยชน์จาก “ทรัพยากรของส่วนรวม “ (และผู้เขียนยังไม่เห็นว่า จะมีผู้ใดเป็น statesman)
       
       แนวความคิด – concept ในการออกแบบ(เขียน)รัฐธรรมนูญของประเทศไทย (ฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) ของวงการวิชาการไทย ดูจะแปลกประหลาด จากประเทศอื่น ๆ ใน โลก คือ รัฐธรรมนูญไทย ใช้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” (ที่ไม่มีประเทศใดในโลกใช้) เปรียบเสมือนเอา “อำนาจเผด็จการ(ปลาย่าง)”ไ ปแขวนล่อนักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง(แมว) ให้เข้ามาแย่งชิงกัน“ผูกขาดอำนาจรัฐ”เพื่อแสวงหากำไรและความร่ำรวย และรัฐธรรมนูญก็พยายามสร้างองค์กรอิสระ ( กกต. ปปช. ฯลฯ ) และมาตรการต่าง ๆ ให้มาควบคุมการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่ใช้ อำนาจเผด็จการโดย “พรรคการเมือง” (ซึ่งได้กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ ที่อยุ่เหนือรัฐบาลและรัฐสภา) แทนที่ นักวิชาการจะคิดสร้าง “ระบบสถาบันการเมือง” ให้มีการถ่วงดุลระหว่าง “รัฐบาล” กับ “สภาผู้แทนราษฎร”ให้เหมือนกับนานาประเทศ ขึ้นก่อน และหลังจากนั้น จึงค่อยมาพิจารณาสร้างองค์กรอิสระและมาตรการต่าง ๆ (ที่ยังจำเป็นต้องมี ) ขึ้นมาตามความจำเป็นและเหมาะสม
       
       • “ความล้มเหลว” ในการเรียนการสอนวิชานิติปรัชญา (วิธีคิด) ในยุคศตวรรษ ที่ ๒๐ ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงของรัฐ
       
คำถามมีว่า ทำไม “นักกฎหมาย”(และนักวิชาการ) ของเรา จึงมองไม่เห็น ความเสื่อมของสังคมไทย ที่เป็น “ความเป็นจริง - reality” ที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลา ๑๖ ปี ที่ผ่านมา; และ ทำไม นักกฎหมายไทย จึงมองไม่เห็นใน “สิ่ง”ที่นักวิชาการทั้งโลก เขาสามารถคาดคะเน และสามารถมองเห็น “ปัญหา”ที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า (และไม่ยอมให้เกิด “ระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมือง” โดยมีบทบัญญัติคุ้มครอง ให้ ส.ส.ต้องมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ของ ส.ส. ) เป็นเวลานานกว่า ๒๐๐ ปี (ตามที่ท่านอาจารย์วรเจตน์ได้กล่าวไว้) แต่ในทางตรงกันข้าม นักกฎหมายไทย (และนักวิชาการ)ของเรากลับมองไม่เห็น ความเสื่อมของสังคม ทั้ง ๆ ที่ ความเสื่อมของสังคม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ต่อหน้า
       คำตอบเดียวสำหรับคำถามเหล่านี้ ก็คือ ความล้าหลังใน “วิธีคิด”ของนักกฎหมายของไทย และเบื้องหลังของความล้าหลังของนักกฎหมายไทยนี้ ก็คือ ความล้มเหลวในการเรียนการสอน วิชานิติปรัชญา (วิชาว่าด้วย “วิธีคิด”ของนักกฎหมาย) ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงของรัฐ ของประเทศไทย นั่นเอง
       
       เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับ “ปัญหา(วิธีคิด)”ของนักกฎหมายมาแล้วครั้งหนึ่ง และพร้อมกันนั้น ได้ย่อ “สาระ” เกี่ยวกับวิชานิติปรัชญาและความเห็นของนักนิติปรัชญาที่สำคัญ ๆ ของ โลกในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ไว้ในบทความ เพื่อให้นักกฎหมายได้อ่านเป็นพื้นฐาน ; บทความในส่วนนี้ มีความยาวประมาณ ๑๕-๑๖ หน้าพิมพ์ แต่บางที ความยาว ๑๕ – ๑๖ หน้าพิมพ์นี้ อาจจะยังยาวเกินไปสำหรับ“นักกฎหมายไทย”ที่จะสละเวลามาอ่าน ผู้เขียนจึงเลยไม่(ค่อย)พบว่า “วิธีคิด”ของนักกฎหมายไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และยังพบนักกฎหมายของเรายังคงเป็นศรีธนญชัย หรือยังคงใช้ “เหตุผล”ในการอธิบายกฎหมาย(ในรายการวิทยุ) จากความรู้สึกสามัญสำนึก common sense ของคนทั่ว ๆ ไป (มากกว่าที่จะเป็นเหตุผลทางวิชาการ) อยู่จำนวนมาก ; ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงตั้งใจจะย่อสาระของนิติปรัชญาให้สั้นลงไปอีกให้มากที่สุด โดยจะให้เหลือเพียง ๒- ๓ หน้าพิมพ์ บางทีอาจจะทำให้ นักกฎหมายไทยของเราสนใจในวิชานิติปรัชญา ได้บ้าง
       [หมายเหตุ โปรดดู บทความขนาดยาวของผู้เขียน (ประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ หน้า) เรื่อง “สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๒” ในส่วนที่ว่าด้วย นิติปรัชญา ที่ผู้เขียน ได้เขียนไว้เมื่อประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ; สาระในส่วนที่ว่าด้วยนิติปรัชญานี้ ผู้เขียนแปลและย่อมาจากตำราต่างประเทศโดยตรง เพราะก่อนแปล ผู้เขียนได้ลองหยิบ “ตำรานิติปรัชญา”ที่ใช้สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของเรา ๒-๓ แห่ง มาอ่านดู ปรากฏว่า อ่านแล้วไม่ค่อย“เข้าใจ” ซึ่งเข้าใจว่า อาจเป็นเพราะภาษาไทยของผู้เขียนยังดีไม่พอก็ได้ ผู้เขียน ก็เลยต้องเอาตำราต่างประเทศมาแปลเอง ; ส่วนท่านผู้อื่นที่อ่านตำรานิติปรัชญาภาษาไทยเหล่านี้แล้ว จะ“เข้าใจ”หรือไม่เพียงใด ผู้เขียนไม่ทราบ]
       
       ความแตกต่าง ระหว่าง “วิธีคิด”ในยุค ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีก่อน ( คือ ในสมัยมองเตสกีเออ ที่ยังฝังอยู่ในความทรงจำของนักกฎหมายไทยในปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๒) กับ “วิธีคิด”ในนิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ นี้ อยู่ที่ว่า วิธีคิด ในยุค ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีก่อน เป็น “วิธีคิดทางนามธรรม(โดยสมมติ)” แต่นิติปรัชญา (วิธีคิด) ในยุคศตวรรษ ที่ ๒๐) จะอยุ่บนพื้นฐานทางสังคมวิทยา – sociology (พฤติกรรมของคนและชุมชน) ; หลักนิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ จะเป็นการเชื่อม “กฎหมาย” กับ “สภาพของสังคม” เข้าด้วยกัน และทำให้ “กฎหมาย” อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง – reality ทางสังคม
       ถ้าจะทดสอบมาตรฐานการเรียนการสอนวิชานิติปรัชญาในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงของรัฐ ก็ดูจะไม่ยากอะไร เพราะเราสามารถทดลองดูได้ ด้วยการ(ออกแบบ) “สอบถาม”นักศึกษาของเราที่เรียนจบ กฎหมาย / รัฐศาสตร์ / หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ดูว่า เขาเหล่านั้นรู้จัก นักปราชย์ทางนิติปรัชญาในยุคใดบ้าง เช่น ถามว่า นักศึกษารู้จัก Montesquieu หรือ Hobbes หรือ Locke หรือ อาจย้อนไปถึง Machiavelli (ตามที่มีอาจารย์บางท่านในสถาบันการศึกษาชั้นสูงของเรา เพิ่งแปลหนังสือของ Machiavelli เล่มเก่าแก่ มาให้นักศึกษาอ่าน) ก็ได้ ว่า รู้จักนักปราชญ์ เหล่านี้ หรือไม่ ; ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านก็จะพบว่า นักศึกษาของเราเกือบทั้งหมดรู้จักนักปราชญ์เหล่านี้ เพราะเขาจำ “ชื่อ”เหล่านี้ได้จากตำราที่อาจารย์นำมาสอน ; ถ้าท่านจะถามต่อไปว่า เขาเหล่านั้นรู้หรือไม่ว่า นักปราชญ์เหล่านี้ “ตาย”ไปเมื่อไร ในยุคสมัยไหน ผู้เขียนก็เชื่อว่า คงมีนักศึกษาจำนวนน้อยลง ที่จะตอบได้ ; และ ต่อจากนั้น ท่านก็ควรจะถามต่อไปว่า “ปัญหาการเมือง”ในยุคสมัยมองเตสกีเออ แตกต่างกับ “ปัญหาการเมือง”ในยุคปัจจุบันอย่างไร และลองถามดูว่า อาจารย์ของเขาในมหาวิทยาลัย เคยสอนเขาในเรื่องนี้ หรือไม่ ; และเมื่อได้รับคำตอบจากนักศึกษาแล้ว ผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านผู้อ่านก็จะพบความจริงด้วยตนเองว่า มาตรฐานการเรียนการสอน “วิธีคิด” (วิชานิติปรัชญา) ให้แก่นักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย และสถานการศึกษาชั้นสูงของรัฐ ของเรา(ประเทศไทย) เป็นอย่างไร และอยู่ในระดับใด [ หมายเหตุ Machiavelli ตายเมื่อ ค.ศ. ๑๕๒๗ ; Hobbes ตายเมื่อ ค.ศ. ๑๖๗๙; Locke ตายเมื่อ ค.ศ. ๑๗๐๔; และ Montesquieu ตายหลังสุด เมื่อ ค.ศ. ๑๗๕๕]
       แน่นอน นักปราชญ์เหล่านี้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เพราะเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นวิวัฒนาการของสังคม ในยุคของการเริ่มต้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ขณะนี้ ความสำคัญของท่านนักปราชญ์เหล่านี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ประวัติศาสตร์”ไปแล้ว เพราะสภาพความเป็นจริงของสังคมและวิทยาการในโลกปัจจุบัน(ที่ผ่านมา ๒๐๐ – ๓๐๐ ปี) ได้ไปไกลเกินกว่า “ความคิด”หรือจินตนาการของนักปราชญ์ในยุคนั้นจะคิดไปถึง
       ดังนั้น ในการเรียนการสอนนักศึกษากฎหมาย(ในมหาวิทยาลัย) ให้รู้ถึงประวัติของนักปราชญ์เหล่านี้ “อาจารย์ผู้สอน” จะต้องให้นักศึกษากฎหมายได้ทราบถึง การเปลี่ยนแปลงที่เป็นวิวัฒนาการของโลก และ สอนด้วยว่า การอ้างอิงถึง “ความคิด” ของนักปราชญ์เหล่านั้น จะยังใช้ได้เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพของ “ปัญหา”ตามความเป็นจริง ในขณะนี้ และขึ้นอยู่กับ “จุดมุ่งหมาย”ของกฎหมายมหาชน(เพื่อประโยชน์ส่วนรวม) ในยุคปัจจุบัน
       ในขั้นต่อไป ถ้าท่านผู้อ่าน ทดลองถามนักศึกษาที่เรียนจบ กฎหมาย / รัฐศาสตร์ / หรือรัฐประศาสนศาสตร์ เหล่านั้นว่า เขารู้จักชื่อ Ihering (เยียริง) หรือไม่ ท่านอาจจะแปลกใจว่า นักศึกษาที่เรียนจบและได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงของรัฐของเราจำนวนน้อย มาก หรือเกือบทั้งหมด (อาจ)ไม่เคยได้ยิน “ชื่อ”ของนักปราชญ์ท่านนี้เลย เพราะอาจารย์ไม่ เคยเอามาสอนเขา และแม้แต่อาจารย์ผู้สอนเอง ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่า จะรู้จักนักปราชญ์ท่านนี้หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ นักปราชญท่านนี้ ถือว่าเป็น “บิดาแห่งนิติปรัชญายุคใหม่ – father of modern sociological jurisprudence ” ; และถ้า “ชื่อ”ของนักปราชญ์ ก็ไม่รู้จักเสียแล้ว ก็คงไม่ต้องพูดถึงว่า นักศึกษาเหล่านี้จะรู้ถึง “แนวนิติปรัชญา”หรือ “วิธีคิด”ที่นักปราชญ์ท่านนี้ ได้สอนให้นักกฎหมาย“คิด” หรือไม่ [ หมายเหตุ ในบทความนี้ ผู้เขียน(ลืม)ไม่ได้บอกกับท่านผู้อ่านว่า Ihering (เยียริง)ผู้นี้ เป็นนักปราชญ์สัญชาติอะไรและตายเมื่อใด แต่ผู้เขียนคิดว่า คงไม่จำเป็นต้องบอกก็ได้ เพราะ “ท่านผู้อ่าน”คงทราบอยู่แล้ว (!) ; นักนิติปรัชญาในยุค ศตวรรษที่ ๒๐ มีอยู่หลายท่าน รวมทั้งนักปราชญ์ที่เป็นผู้เริ่มต้นแนวความคิดนี้ ที่อาจตายไปตั้งแต่ ปลายศตวรรษที่ ๑๙ ; ท่านผู้อ่านสามารถทราบ เรื่องนี้เหล่านี้ได้ จากบทความขนาดยาวของผู้เขียนดังกล่าวข้างต้น ในเว็บไซต์ www.pub-law.net ]
       
       แต่การที่นักกฎหมาย(และนักวิชาการ)ของไทยส่วนใหญ่ของเรา ไม่รู้จัก นิติปรัชญา (วิธีคิด) แห่งยุคศตวรรษ ที่ ๒๐ นี้ คงจะมิใช่ “ ความผิด” ของนักวิชาการเหล่านั้น เพราะการที่นักวิชาการ(ไทย)จะมีความรู้กว้างขวางเพียงใด เป็นความรับผิดชอบของ “คณาจารย์” ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงของรัฐ (ในคณะนิติศาสตร์ – คณะรัฐศาสตร์ – รัฐประศาสนศาสตร์) ของเรา ; ถ้าอาจารย์สอน เขาก็รู้ ถ้าอาจารย์ไม่สอน เขาก็ไม่รู้ เพราะนักวิชาการ(ไทย) มี “จุดอ่อน”ในด้านการอ่านตำราวิชาการที่เป็นภาษาต่างประเทศ (เนื่องจากประเทศไทย ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นในอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ) และประเทศไทยไม่มีโครงการแปลตำราวิชาการอย่างกว้างขวาง ซึ่งแตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน เกาหลีไต้ ที่เขามีปัญหาในเรื่อง “ภาษา”เหมือนกับเรา แต่เขามีโครงการแปลตำราวิชาการอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง ในระดับชาติ
       
       • “ปัญหาการเมือง”ของประเทศ(รัฐ) ในปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหาการเมือง ในสมัยของมองเตสกีเออ ในศตวรรษ ที่ ๑๘
       ปัญหาการเมืองของประเทศ(รัฐ) ในศตวรรษที่ ๑๗ และ ๑๘ แตกต่าง กับปัญหาการเมืองของประเทศ(รัฐ)ในศตวรรษที่ ๒๐ อย่างสิ้นเชิง
; ในศตวรรษที่ ๑๗ และ ๑๘ เป็นระยะที่ประเทศในยุโรปเริ่มรวมตัวกันเป็น modern state โดยมีกษัตริย์ เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเด็ดขาดและบริบูรณ์ ที่เรียกกันว่า “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช”; และในยุคนั้น ปัญหาของสังคม คือ ปัญหาของ “การใช้อำนาจรัฐของกษัตริย์” ที่ไม่มีขอบเขต ; ดังนั้น นักปราชญ์หลายท่าน รวมทั้งนักปราชญ์บรรดาที่มีชื่อดังกล่าวข้างต้น จึงได้คิดสร้าง “ทฤษฎีหลักการแบ่งแยกอำนาจ” (๓ อำนาจบ้าง , ๗ อำนาจบ้าง , ๑๑ อำนาจบ้าง) และ “อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน” เพื่อสร้างรูปแบบการปกครอง (ระบบสถาบันการเมือง) ที่มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มาเป็นสถาบันที่ถ่วงดุลและคานการใช้อำนาจของกษัตริย์
       แต่ “คณาจารย์” และ “นักวิชาการ”ของเราอาจจะลืมไป ว่า สิ่งที่เราพูดว่า “อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน” หรือว่า “ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน” นั้น เป็นสิ่งที่เราพูดกันมานานแล้ว คือ ตั้งแต่ เมื่อ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีก่อน
       
       หลังจากนั้น อะไรเกิดขึ้นในโลก ; ถ้าท่านผู้อ่าน หยิบ “ตำรากฎหมาย”ของประเทศ ต่าง ๆ ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ / กฎหมายปกครอง / กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล / กฎหมายว่ากระบวนการพิจารณาความอาญา / ฯลฯ ท่านก็จะพบว่า ในช่างระยะเวลาประมาณ ๑๕๐ ปี ที่เริ่มต้นจากต้นศตวรรษที่ ๑๙ (หรือปลายศตวรรษที่ ๑๘) จนถึงประมาณกลางศตวรรษที่ ๒๐ จะเป็นระยะเวลาหรือยุค ที่ประเทศดังกล่าว ได้พัฒนาจัดระบบ (องค์กร)ใน การบริหารประเทศ(ของรัฐสมัยใหม่ – modern state ) และมี “การปฏิรูปกฎหมาย – legislation reform “ กันอย่างมากมาย
       ทั้งนี้ โดยไม่ต้องกล่าวถึง “รัฐธรรมนุญลายลักษณ์อักษร(ยุคใหม่) - written constitution ฉบับแรกของโลกในปี ค.ศ. ๑๗๘๗ ของสหรัฐอเมริกา และประมวลกฎหมายแพ่งของนโปเลียน ในปี ค.ศ. ๑๘๐๔ ที่ก่อให้กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในประเทศที่เป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว”ในปัจจุบัน และไม่ต้องกล่าวถึงการเริ่มต้นของ “กฎหมายมหาชน”ของโลก - World Order หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เริ่มตั้งแต่ “สันนิบาตชาติ - the League of Nations” ในปี ค.ศ. ๑๙๑๔ สมัยประธานาธิบดี Woodrow Wilson (ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น) จนได้กลายเป็น UN – สหประชาชาติ และ WTO - องค์กรการค้าโลก อยู่ในปัจจุบัน [โดยองค์กรของโลก จะมีทั้ง “กฎเกณฑ์”ที่เป็นหลัก(กฎหมาย)สารบัญญัติ - substantive law และมีทั้งการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ พร้อมด้วยกระบวนการบริหารกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายสารบัญญัติ ] ; ยิ่งไปกว่านั้น “นักคิดฝัน”ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังได้คิดไปถึง “Universe Order – กฎหมายมหาชนแห่งจักรวาล” และทำภาพยนตร์เรื่อง Star Wars มาให้พวกเราดูกัน โดยมี “สภาผู้แทน(ราษฎร)”ของมนุษย์ (รูปร่างแปลก ๆ) จากดวงดาวต่าง ๆ ของจักรวาล มาประชุมกันในดวงดาวที่เป็นเมืองหลวง และมีการอภิปรายและมีการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทน(ราษฎร)ดวงดาว
       แล้ว “คณาจารย์” และ “นักวิชาการ” ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ของเรา ในขณะนี้ (ค.ศ. ๒๐๐๙) กำลังทำอะไร ; จากเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนว่า “คณาจารย์” และ “นักวิชาการ” ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงของรัฐ ของเรา ยัง“คิด”ไม่ออกว่า จะเขียน “รัฐธรรมนูญ – State Order” ให้คนไทยของเรา อย่างไรจึงจะดี
       
       นอกจากนั้น “คณาจารย์” และ“นักวิชาการ” ของเรา ยังอุตส่าห์ ไปเอารูปแบบ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” (ที่ไม่มีคณาจารย์และนักวิชาการของประเทศใดในโลก เขาใช้กัน) มาใช้ในประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่สภาพสังคมของเรายังอ่อนแอ จนทำให้เกิดการร่ามลงทุนกันโดยนายทุนธุรกิจ จัดตั้งพรรคการเมืองและซื้อเสียงในการเลือกตั้ง และเกิด การผูกขาดอำนาจรัฐโดย “พรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ”ขึ้น ; นายทุนธุรกิจได้เข้ามาแสวงหาประโยชน์และทำการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร พร้อมทั้งนำเอา “ทรัพยากรของชาติ”(ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต) มาแจกจ่ายในนโยบาย populist ชักชวนให้ประชาชนหลงในประโยชน์ส่วนตัว (ที่เห็นได้ในระยะสั้น) และเข้าร่วมเป็นพรรคพวกให้การสนับสนุนพรรคการเมืองของตน(นายทุนธุรกิจ)ในการเลือกตั้ง เพื่อผูกขาดอำนาจรัฐต่อไป จนกว่า ....... (ทรัพยากรของชาติ จะถ่ายเทไปเป็นของส่วนตัวของนักการเมืองและพรรคพวก) ...... ; และ “คณาจารย์” และ “นักวิชาการ”ในมหาวิทยาลัยของของเรา ฯ ก็ยังคงสอนนักศึกษาและบอกกับคนไทยว่า ระบอบนี้ คือ ระบอบประชาธิปไตย จงพึงรักษาไว้ (!)
       
       นิติปรัชญา ในยุค ศตวรรษที่ ๒๐ : ใน ช่วงเวลา ประมาณ ๑๕๐ ปีดังกล่าว เป็นยุคที่วิชากฎหมาย (นิติศาสตร์)พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในสาขากฎหมายต่าง ๆ ; และเบื้องหลัง ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนากฎหมายในเชิงประยุกต์ เหล่านั้น ก็คือ “วิชานิติปรัชญา” หรือ วิชาว่าด้วย “วิธีคิด”ของนักกฎหมายนั่นเอง และการออกแบบรัฐธรรมนูญ - form of government (และการเขียนกฎหมายของรัฐ) จึงมิใช่เขียนขึ้นเพียง เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย โดยมีการเลือกตั้งเพื่อจะได้มี “สภาผู้แทนราษฎร” มาถ่วงดุลอำนาจของกษัตริย์ในยุค ศควรรษที่ ๑๘ สมัยมองเตสกีเออ อีกต่อไป
       นิติปรัชญาในระยะนั้น เริ่มต้นด้วยการมี “แนวความคิด”จากหลากหลายสำนัก แต่ในที่สุด มนุษย์เราก็มาถึงวิชาสุดท้าย ของวิชาสังคมศาสตร์ (social science) คือ วิชาที่ทำความรู้จักกับ “ตัวเอง”(มนุษย์) ได้แก่ วิชาสังคมวิทยา – sociology
       วิชา “สังคมวิทยา – sociology” เป็นวิชาที่ว่าด้วย การศึกษาวิเคราะห์ “พฤติกรรม”ของคนและของชุมชน และเป็น ศาสตร์ – science ใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ ๑๙ นี้เอง คือ เกิดขึ้นหลังจากที่ มองเตสกีเออและบรรดานักนิติปรัชญาที่กล่าว “ชื่อ”มาแล้วข้างต้น ได้ตายไป(นาน)แล้ว และมองเตสกีเออกับนักปราขญ์เหล่านั้น ก็ไม่เคยคิดว่า จะมีการศึกษาพฤติกรรมของ “ประชาชน” จนเป็นศาสตร์ ที่เรียกชื่อว่าวิชาสังคมวิทยา เกิดขึ้นในโลก
       นิติปรัชญา (วิธีคิด) แห่งยุคศตวรรษ ที่ ๒๐ บนพื้นฐานของสังคมวิทยา ได้เพิ่ม “มิติ”ใหม่ ให้แก่ “วิธีคิด”ของวงการกฎหมาย ; อันที่จริง “วิธีคิด”ตามหลักนิติปรัชญา แห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐ ก็ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ เพราะเรา(ท่านผู้อ่าน) มิได้ต้องการจะรู้และท่องจำ เพื่อเอาไปสอบไล่เอาปริญญาในห้องเรียน ว่า นักนิติปรัชญาที่สำคัญในยุคศตวรรษที่ ๒๐ มีกี่คน มีชื่ออะไรบ้าง และแต่ละคนมีความเห็น อย่างไร : แต่เราต้องการรู้นิติปรัชญา เพียง เพื่อใช้ เป็นพื้นฐานของ “วิธีคิด”ในการแก้ปัญหาของประเทศ ของเราในขณะนี้ และถ้าเรายังไม่แน่ใจ ก็สามารถไปเปิดตำราอ่านเอาได้ ไม่มีใครว่าอะไร
       วิชาสังคมวิทยา เป็นวิชาที่บอกให้ “นักกฎหมาย” รู้ว่า คำว่า อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน นั้น นักกฎหมาย จะต้องพิจารณาด้วยว่า “ประชาชน” มีความหมายเพียงใด เพราะประชาชนประกอบด้วย “คน” ซึ่งจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดี มีทั้งคนที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์( (ซึ่งต่างคนต่างรักษาผลประโยชน์ของตนเอง) มีทั้งคนที่มีความรู้และไม่มีความรู้ ฯลฯ และคนเหล่านี้ มีจำนวนมากน้อยไม่เท่ากัน ; วิชาสังคมวิทยา เป็น จุดเริ่มต้น ของ “นิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐” ที่ทำให้ “กฎหมาย” อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง - reality ของสังคม กล่าวคือ หลักกฎหมายจะต้องอธิบายได้และพิสูจน์ได้ด้วยตรรก มิใช่อยู่บน “สิ่งสมมติ” หรือ “ สิ่งที่คิดว่าจะเป็น” - a priori theory
       นิติปรัชญา (วิธีคิด) แห่งยุคศตวรรษ ที่ ๒๐ ทำให้วิชากฎหมายพัฒนาไปไกลเกินกว่าที่จะพูดเพียงว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” เพราะนักกฎหมายจะต้องอธิบายให้ได้ว่า คำว่า“ประชาชน”ในที่นี้ หมายถึง ประชาชนอย่างไร สภาพเป็นอย่างไร กลุ่มใด และจะให้ประชาชนนั้น ๆ มีสิทธิหรือใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างไร เพื่ออะไร และคาดหมายว่า จะทำให้เกิดผลอย่างไร
       นิติปรัชญา ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ทำให้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือของรัฐสมัยใหม่ (modern state) ในการกำหนดกฎเกณฑ์หรือวินัยของสังคมในการอยู่ร่วมกัน โดยมี “จุดหมาย” เพื่อธำรงไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวม
       
       บทบาทของนักกฎหมายในยุคศตวรรษที่ ๒๐ : ในโลกยุคปัจจุบัน “นักกฎหมาย” กลายเป็นนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญของสังคม ซึ่งนักนิติปรัชญาในยุคนี้บางคน กล่าวเปรียบเทียบความสำคัญของ“นักกฎหมาย”ในยุคปัจจุบันนี้ ว่า เป็น “วิศวกรสังคม – social engineer” ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยิน อาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยของเรา บางท่านหรือหลายท่าน อ้างอิงถึง “คำกล่าว” นี้บ่อย ๆ
       แต่ปัญหาของประเทศไทย มิได้อยู่ที่ว่า อาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ของเรา รู้หรือไม่รู้ว่า มีนักปราชญ์คนใดชื่ออะไร ได้เปรียบเทียบ “นักกฎหมาย” ว่าเป็น วิศวกรสังคม ไว้หรือไม่ ; ปัญหาของประเทศไทย อยู่ที่ว่า “คณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์”(รวมทั้ง “อาจารย์”ที่อ้างถึง คำกล่าว นี้) และ “นักกฎหมายไทย” ของเรา มีความสามารถ พอที่จะเป็น “วิศวกรสังคม”ได้ ในระดับใด คือ จะเป็น “วิศวกรอาวุโส” หรือ “วิศวกรสามัญ” หรือ “วิศวกรสมทบ” หรือเป็นได้แค่เพียง ผู้ได้รับ “ประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างก่อสร้าง” สมัยเดิม ๆ
       นิติปรัชญา (วิธีคิด) แห่งยุคศตวรรษ ที่ ๒๐ ได้ทำให้การทำงานของนักกฎหมายต้องมีจุดหมาย คือ ทำให้ “การวิจัยกฎหมาย”ของนักกฎหมาย จะต้อง เป็นไปอย่างมีพื้นฐานทางสังคมและเป็นผลงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ตามความมุ่งหมายที่กำหนด; ทำให้ “การวินิจฉัยชี้ขาดของศาล” จะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายและผลของคำพิพากษาที่มีต่อสังคม ; และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่สำคัญที่สุดและเป็นส่วนที่ยากที่สุด ในบทบาท ของนักกฎหมาย ก็คือ “การออกแบบกฎหมาย” เพราะถ้ากฎหมายเป็น “กฎหมาย(ที่ดี)” แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาจากการใช้บังคับ(กฎหมาย) ก็จะลดลง
       ความรับผิดชอบของ “นักกฎหมาย”ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ได้ไปไกลเกินกว่า ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี “การเลือกตั้ง” และคิดว่าเป็น “ประชาธิปไตย ( ตามความคิดในสมัยมองเตสกีเออ)” ในศตวรรษที่ ๑๘ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้น จะทุจริต จะสุจริต หรือจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบได้หรือไม่ (แม้ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตย”จริง ๆ ที่ไม่ใช่ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ” ที่นักการเมืองและคณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ บอกให้เราช่วยกันเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” )
       “กฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)” เป็นเครื่องมือของสังคม มีความมุ่งหมายที่จะควบคุมพฤติกรรมของ “คน” ไม่ว่า “คนนั้น”จะเป็นนักการเมืองหรือเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจรัฐ หรือ “คนนั้น” จะเป็นประชาชน(กลุ่มผลประโยชน์) ที่จะมีทั้งสิทธิและหน้าที่ ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายและในการใช้สิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมาย ; นักกฎหมายในฐานะที่เป็น “วิศวกร (ของสังคม) - social engineer” จะต้อง “ออกแบบ – design” กฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) ที่ทำให้จุดหมายของกฎหมาย (เพื่อธำรงไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม) เกิดขึ้นได้จริง โดยมีการปฏิบัติการตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพให้ดีที่สุด
       
       สภาพของ “นักกฎหมาย”(ไทย) ในปัจจุบัน : เมื่อท่านผู้อ่านได้ทราบ “วิธีคิด”ของนักกฎหมาย และ “บทบาทหน้าที่ของนักกฎหมาย” ตามหลักนิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐ มาพอสังเขปแล้ว เราลองกลับมาดู สภาพของ “นักกฎหมาย”(ไทย)ของเรา ณ ปัจจุบันดูบ้าง และผู้เขียนคิดว่า บางทีจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใด นักกฎหมายไทยจึงเป็น“ศรีธนญชัย”
       คำถามแรกว่า ทำไม “นักกฎหมาย” ของเราจึงมองไม่เห็นความเสื่อมของสังคมไทย อันเป็นผลมาจากระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) หรือ ถ้าจะพูดให้ตรง ก็คือ นักกฎหมายไทยไม่เคยมี “ความคิด” แม้แต่จะตรวจสอบความเสื่อมของสภาพสังคมไทย
       คำตอบ ก็คือ นักกฎหมายไทย ไม่ได้ “คิด” ตามหลักนิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ที่บอกกับเราว่า “กฎหมาย” กับ “สภาพสังคม” เป็นสิ่งเชื่อมโยงกัน และมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้น นักกฎหมายไทย จึงมอง “ความเสื่อมของสังคม” แยกออกจาก “ระบบสถาบันการเมือง และพฤติกรรมการใช้อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ตามรัฐธรรมนูญ
       นักกฎหมายไทย มองปัญหาการ แก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบันของเรา บนพื้นฐานของความคิด ใน สมัยมองเตสกีเออ เมื่อ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีมาแล้ว คือ ถ้าจะเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องมี “การเลือกตั้ง” และมีการเลือกตั้งแล้ว และมี “สภาผู้แทนราษฎร”แล้ว ก็เป็นประชาธิปไตย และหมดหน้าที่ของนักกฎหมาย โดยไม่ต้องคำนึงว่า สภาพสังคมของเราเป็นอย่างไร การเลือกตั้ง เป็นอย่างไร วิธีการในการเลือกตั้งเป็นอย่างไร และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา จะใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างไร ; ขออย่างเดียว ให้รัฐบาลมาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความเป็นประชาธิปไตย
       แม้แต่ หลักการแห่ง “ ความเป็นอิสระของส.ส. ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.” ซึ่งเป็น หลักการสำคัญ ของ“ความเป็นประชาธิปไตย”ที่นานาประเทศยึดถือกันมานานกว่า ๒๐๐ ปี (ตามที่ท่านอาจารย์วรเจตน์ได้บอกไว้) คณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ที่มีชื่อเสียงในด้านกฎหมายมหาชน) ก็ไม่เคยสอนให้ “นักศึกษากฎหมาย”ของเรารู้ และไม่เคยบอกให้คนไทยเรารู้ว่า “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” (ในรัฐสภา) ของเรา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ที่ไม่เหมือนใคร ดังนั้น จึงทำให้คนไทยที่เป็นห่วงปัญหาบ้านเมืองและไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ได้สังวรและไม่ได้สังเกตว่า ความเสื่อมของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ (ที่แตกต่างกับประเทศอื่น) เกิดขึ้นเพราะ “เหตุ” ใด [หมายเหตุ ถ้าท่านคณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านใด เคยเขียนตำราหรือเคยเขียนบทความหรือเคยสอนนักศึกษากฎหมายหรือเคยบอกกับคนไทยฯ ซึ่งทำให้ “ข้อความ”ดังกล่าวข้างต้นของผู้เขียน ไม่ตรงกับความจริง ขอได้โปรดแจ้งให้ผู้เขียนทราบด้วย ผู้เขียนจะได้ขออภัยและจะอ้างอิงให้ถูกต้องต่อไป ; “ข้อความ”ข้างต้นนี้ ผู้เขียนได้ใช้ในบทความก่อน ๆ ของผู้เขียนมาก่อนหน้านี้ แล้ว และไม่ปรากฏว่า มีท่านคณาจารย์ท่านใดปฏิเสธว่า ไม่ตรงกับความจริง ]
       
       คำถามต่อมา ทำไม “นักกฎหมาย” ของเรา จึงคิดว่า การปฏิรูปการเมือง (หรือมีการเมืองใหม่) จะต้องกระทำ โดย มีการจัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย ผู้แทนที่เลือกตั้งจากจังหวัดต่าง ๆ / ผู้แทนวิชาชีพ / นักวิชาการ / ตัวแทนจากพรรคการเมือง ฯลฯ
       “นักกฎหมาย”ของเรามักจะอธิบายว่า การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบเช่นนั้น เพื่อ”เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” และเราต้องการมี “การมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน”
       ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริง ปรากฎว่า เรามีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดย “ สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ในรูปแบบนี้ มาแล้วถึง ๒ ครั้ง (ส.ส.ร. พ.ศ. ๒๕๓๙ และ ส.ส.ร. พ.ศ.๒๕๕๐) แต่เราก็ยังคงมี “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ประเทศเดียวในโลก ทั้งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐
       
       คำตอบ ก็คือ นักกฎหมายไทยไม่ได้มอง หรือมองไม่เห็น(ไม่ให้ความสำคัญกับ) ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน ระหว่าง พฤติกรรม (และคุณสมบัติ)ของผู้ที่เป็นสมาชิก ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ.( และวิธีการในการร่างรัฐธรรมนูญ ) กับ “รัฐธรรมนูญ (กฎหมาย)” ที่เป็นผลงานที่ได้มาจาก“สภาร่างรัฐธรรมนูญ”
       
       ปัญหาการเมืองของประเทศ(รัฐ) ในศตวรรษที่ ๒๐ ได้เปลี่ยนไปแล้ว : ปัญหาการบริหารประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ “ปัญหาการบิดเบือนการใช้อำนาจ”และการทุจริตคอร์รัปชั่นของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ “ปัญหาการใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขต”ของกษัตริย์ในยุโรป ในศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ สมัยมองเตสกีเออ ในการปกกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
       ในปัจจุบันนี้ กลไกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้คิดและกำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการบิดเบือนอำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทำการทุจริตและแสวงหาประโยชน์) มีหลากหลาย “รูปแบบ” ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสถาบันการเมือง – form of government หรือเป็นรูปแบบกลไก(กฎหมาย)ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ
       นิติปรัชญาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ได้บอกกับเราว่า การที่จะอ้างว่า วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย”นั้น จะมีความหมายและสามารถรับฟังได้ ก็ต่อเมื่อ จะต้องพิสูจน์ และอธิบายให้ได้ว่า วิธีการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว สามารถทำให้เราได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)ได้
       หากพิสูจน์และอธิบายไม่ได้ “ความเป็นประชาธิปไตย”ในวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ(โดย ส.ส.ร. ก็จะเป็นเพียง สิ่งสมมติ – a priori theory ที่ไร้ประโยชน์ (ต่อสังคม) และไม่สามารถยอมรับได้
       
       ปัญหาของประเทศไทย คือ “นักกฎหมาย” และ “คณาจารย์” จะ ต้องติดตาม“ความรู้”เหล่านี้ ให้ทันกับเหตุการณ์ และไม่ว่าเรา(คนไทย) จะ “เลือก”กลไกในการบริหารประเทศในรูปแบบใดหรือกลไกใด เราก็จะต้องพิจารณาจาก “หลักเกณฑ์”ในทางสังคมวิทยาในยุคศตวรรษที่ ๒๐ คือ ต้องเป็นรูปแบบหรือกลไก ที่สามารถกำกับและควบคุม “พฤติกรรม” ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง (ที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้) เพื่อให้นักการเมืองฯ ใช้อำนาจรัฐในทางที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์(ส่วนตัว)ของนักการเมืองฯ ได้
       

       “จุดหมาย” ของ การปฏิรูปการเมือง ( การจัด “ระบบสถาบันการเมือง”) คือ การมี“รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)” ที่ทำให้ การบริหารประเทศมีประสิทธิภาพ ได้”คนดี”มาปกครองบ้านเมือง และไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น (หรือมีน้อยที่สุด) จากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ; “จุดหมาย” ของ การปฏิรูปการเมือง ไม่ได้อยู่ที่ว่า “วิธีการ”ในการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องเป็น “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน เพื่อความเป็นประชาธิปไตย (ตามรูปแบบที่นักการเมืองนายทุนธุรกิจ ต้องการ)
       วิธีการในการร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม มีอยู่หลากหลาย; ถ้าการร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”ตามที่เคยทำ ๆ กันมา อยู่ภายไต้อิทธิพลของนักการเมืองที่จะต้องสูญเสียอำนาจในทางการเมืองที่ผูกขาดอำนาจอยู่ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญ(ที่ดี) ที่ทำให้ “การบริหารประเทศ”เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้ ก็ถึงเวลาที่ “นักกฎหมาย “ในฐานะที่เป็น social engineer จะต้องออกแบบ”วิธีการ “ร่างรัฐธรรมนูญ(โดยประชาชนมีส่วนร่วม)” ในรูปแบบอย่างอื่น ให้แก่คนไทย[ หมายเหตุ รูปแบบของ“สภาร่างรัฐธรรมนูญ” อยู่ภายไต้อิทธิพลของนักการเมือง(ที่จะต้องสูญเสียอำนาจจากการปฏิรูปการเมือง) ได้อย่างไร โปรดดู บทความเรื่อง“การปฏิรูปการเมือง(ของคนไทย) ครั้งที่ ๓ จะสำเร็จหรือล้มเหลว (?)” เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑ ]
       
       กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนคิดว่า ถ้าเราเข้าใจ “หลักนิติปรัชญา ในยุคศตวรรษที่ ๒๐” เราก็จะสามารถอธิบาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (การปฏิรูปการเมือง)ของเราครั้งนี้ได้ โดยไม่ยาก
       สำหรับ“รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)” ในอนาคต จะเป็นอย่างไร ; ผู้เขียนคงบอกไม่ได้ และ ก็คงต้องคอยดูต่อไปหลังจากที่ เรา(คนไทย) พบ “วิธีการ”ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว และ “ใคร”ก็ตามที่เข้ามารับผิดชอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับใหม่) จะต้องมาพิสูจน์และอธิบายให้ได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตนเองยกร่างขึ้นนั้น ไม่ใช่ มีเพียง “ความเป็นประชาธิปไตย ที่เป็น สิ่งสมมติ หรือ เป็นสิ่งที่คิดว่าจะเป็น - a priori theory” (ที่ตามความเป็นจริง เป็นการให้อำนาจเผด็จการ แก่นายทุนธุรกิจ เจ้าของพรรคการเมือง) หากแต่เป็น “รัฐธรรมนุญ” ที่สามารถทำให้ เจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นได้จริง - เป็น reality
       
       แต่สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่า ใน “ระบบสถาบันการเมือง”ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรามีความจำเป็นต้องปลด “ปลาย่าง (อำนาจผูกขาดของพรรคการเมือง)” ที่แขวนล่อแมวออกเสียก่อน คือ เลิก “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง( นายทุนธุรกิจ)” ในระบบรัฐสภา ; ซึ่งจะทำให้ความรุนแรงในการแข่งขันกันในการเลือกตั้งและการทุจริตในการเลือกตั้งของนายทุนธุรกิจ ลดลง แล้วจึงจะมาพิจารณากำหนด “วิธีการและมาตรการ” ต่าง ๆ ในการควบคุมการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์ของนักการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง ( ซึ่งแน่นอนว่ายังจำเป็นต้องมี) ให้พอเพียงและเหมาะสมต่อไป
       ผู้เขียนขออธิบายด้วย “ตรรก”ในทางสังคมวิทยา (พฤติกรรมของนักการเมือง) เพียงสั้น ๆ ว่า ตราบใดที่ นักการเมืองมองเห็น “โอกาส”ของการแสวงหากำไรจากทรัพยากรของรัฐได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ด้วยการเข้ามา “ผูกขาดอำนาจรัฐ (ในระบบรัฐสภา)ได้ ตราบนั้นบรรดานายทุนธุรกิจ ก็พร้อมที่จะร่วมลงทุนในพรรคการเมือง เพื่อการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยอ่อนแอ ที่ง่ายต่อการใช้เงินและอิทธิพลเพื่อชนะการเลือกตั้ง) และเข้ามาหากำไร; ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด (โดยยังไม่ต้องพิจารณา “ประเด็น”ปลึกย่อย) ก็คือ การทำให้การลงทุนใน “พรรคการเมือง”เพื่อชนะการเลือกตั้ง(ของนักการเมืองนายทุนธุรกิจ) ไม่คุ้มค่าของการลงทุน คือ ทำให้ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจรัฐในระบบรัฐสภา(ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลก) เป็นการลดโอกาสของนักการเมืองในการแสวงหา และ ความรุนแรงในการทุจริตในการเลือกตั้ง ก็จะลดลงเอง
       ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าเรา (คนไทย) หรือ “ใคร”ก็ตามที่จะเข้ามารับผิดชอบ เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับใหม่) จะใช้ “เหตุผล” ในการเขียนรัฐธรรมนูญ ตามหลักนิติปรัชญาในยุค ศตวรรษที่ ๒๐ คือ ใช้ “กฎหมาย” ให้เป็นเครื่องมือของสังคม ในการควบคุม “พฤติกรรม”ของคน(นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ) ให้ทำงานโดยมี “จุดมุ่งหมาย” เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และกำหนดวิธีการในการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยโปร่งใส - transparency เพื่อลดโอกาสในการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) ผู้เขียนก็เชื่อว่า เรา(คนไทย)คงจะมีโอกาสพบ “การเมืองใหม่” ที่แท้จริงได้
       
       (จบตอนที่ ๓ , วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒)


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544