ศาลมิใช่พหูสูต นักกฎหมายมิได้รู้ทุกเรื่อง |
|
|
|
คุณชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการอิสระ |
|
21 มิถุนายน 2552 23:14 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
คนอื่นจะคิดอย่างไรผมไม่รู้แต่ความรู้สึกของผมที่ได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี พ.ร.ก.กู้เงินฯแล้ว มีความรู้สึกพิกลๆว่าเดี๋ยวนี้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในคำวินิจฉัยแทนหลักกฎหมายกันแล้วหรือ รู้สึกฉงนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์กว่านักเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่มากมายในประเทศนี้แล้วล่ะหรือ หรือว่าเป็นเพียงการนำคำชี้แจงหรือคำให้การของรัฐบาลมาปรับปรุงตกแต่งใหม่เท่านั้นเอง
โดยเนื้อหาในคำวินิจฉัยระบุว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ใน ทั้งสองประเด็น ประกอบด้วย
ประเด็นแรกคือ การตรา พ.ร.ก. ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยในประเด็นนี้ คณะ ตุลาการเห็นว่า ขณะนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุน รวมทั้งก่อให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ระบบเศรษฐกิจเกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออก และนำเข้าก็ลดลงอย่างมาก รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยทำรายได้สูงสุดก็ลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขาดความมั่นใจในสวัสดิภาพและความปลอดภัย
สิ่งบ่งชี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงคือ มูลค่าการส่งออกของสินค้าไทยหดตัวลงอย่างรวดเร็ว รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ภาคธุรกิจปิดกิจการมากขึ้นทำให้ปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น หนี้เสียมีแนวโน้มสูงขึ้น กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้จีดีพีหดตัวลงอย่างมาก
จากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้รายได้ที่จัดเก็บน้อยกว่าประมาณการที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ถึงความสามารถในการใช้จ่ายและจัดทำบริการสาธารณะ แม้ว่า รัฐจะได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการทางภาษี มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน การจัดทำงบประมานรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ หรือเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ประกอบเหตุผลในการตรา พ.ร.ก. ย่อมเห็นได้ว่า การที่คณะรัฐมนตรี ตรา พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๕๒ ขึ้นมา ก็เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ มิให้ตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐในฐานะที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างกำลังซื้ออย่างเร่งด่วนในระระบบ ในช่วงที่กำลังซื้อจากทั้งในและต่างประเทศหดตัวลง จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินมาตรการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน
เพื่อป้องกันปัญหาที่จะลุกลามไปทุกภาคส่วน อันเป็นการทำหน้าที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๔ ววรคหนึ่งแล้ว
ประเด็นที่สองที่ต้องพิจารณาคือ พ.ร.ก.ดังกล่าว ตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๔ วรรคสองหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวคณะตุลาการเห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหาความมั่นคงในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ว่ามูลค่า การส่งออกที่หดตัวลงอย่างรวดเร็ว รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง มีการปิดกิจการหรือเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการว่างงานเพิ่มมากขึ้น หนี้เสียพุ่งสูงขึ้น ทุกปัจจัยส่งผลกระทบให้เกิดภัยวิกฤติเศรษฐกิจ จนรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขวิกฤติในหลายทาง แต่สภาวะเศรษฐกิจก็ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจึงถือเป็นกรณีที่มีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่เป็นกรณีความฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นอันรีบด่วน อัน มิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ดังกล่าวข้างต้น ประกอบสาระสำคัญและกรอบการดำเนินการตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.๒๕๕๒ แล้ว ยังไม่มีมูลกรณีให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้ตรา พ.ร.ก.ขึ้นมาโดยไม่สุจริตหรือใช้ดุลยพินิจบิดเบือนหลักการรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่า การตรา พ.ร.ก.นี้ขึ้นมา เป็นกรณีความฉุกเฉินที่มีความจำเป็นอันรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๔ วรรคสองแล้ว
อันที่จริงแล้วเมื่อเราวิเคราะห์ดูในเนื้อหาของมาตรา ๑๘๔ วรรคสองที่บัญญัติว่าการตราพระราชกำหนดให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจคณะรัฐมนตรีไว้ชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจใดๆในการไปวินิจฉัยอีก เพราะในเมื่อคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนตามอำนาจที่ได้รับจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
กอปรกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารตามมาตรานี้ไว้ว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองยิ่งศาลรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วยนักกฎหมายเสียเกือบทั้งหมดมี นักรัฐศาสตร์บ้างเพียงสองคนจากจำนวนทั้งหมดเก้าคน ที่สำคัญคือไม่มีใครเป็นนักเศรษฐศาสตร์เลย
ฉะนั้น ในกรณีนี้จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยจนทำให้ การนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อลงมติว่าจะรับรองหรือไม่รับรองกฎหมายฉบับนี้ต้องชะงักงันไป จนทำให้หลักการของความจำเป็นเร่งด่วนต้องเสียไปเพราะศาลรัฐธรรมนูญเอง
ตัวอย่างที่ผมยกมานี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายเรื่องที่นักกฎหมายสำคัญตนเองผิดว่าตนเองรู้ดีกว่าคนอื่นไปเสียทุกเรื่อง ซึ่งก็รวมไปถึงไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ผูกขาดโดยนักกฎหมายหรือร่างกฎหมายทั่วๆไปที่ถูกผูกขาดตัดตอนโดย สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จะกำหนดเนื้อหาที่นอกเหนือจากเทคนิคทางกฎหมายว่าอะไรควรหรือไม่ควรที่จะบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายทั่วๆไป แทนที่จะเป็นไปตามความต้องการผู้ที่จะต้องใช้กฎหมายนั้น
นักกฎหมายนั้นเปรียบเสมือนช่างตัดผมที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในการตกแต่งผม แต่ต้องตามใจลูกค้าว่าจะเลือกทรงอะไรสำหรับหัวของเขา มิใช่จะต้องจำยอมให้นักกฎหมายหรือช่างตัดผมตัดตามใจของตัวเอง จนร่างกฎหมายดีๆหลายฉบับต้องบิดเบี้ยวไปดังเช่นที่ผ่านๆมา
--------------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|