คนไทยจะหา ทางออกทางการเมืองได้อย่างไร โดย ศ. ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ความเบื้องต้น
บทความนี้ เขียนขึ้นตาม สาระ ของการบรรยายที่ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูด ณ ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ปอมท ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๒ ที่เพิ่งผ่านมา ในหัวข้อ อุดมศึกษา กับ การปฏิรูปการเมือง ซึ่ง การบรรยายครั้งนี้ ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนที่กลุ่มเสื้อแดงจะก่อการจลาจลในกรุงเทพฯและพัทยา ในวันที่ ๑๒ - ๑๔ เมษายน และก่อนที่จะมีเหตุการณ์ลอบยิง และพยายามสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล( แกนนำคนสำคัญของกลุ่มเสื้อเหลือง) ด้วยอาวุธปืนสงครามนา ๆ ชนิด ในเช้าวันที่ ๑๗ เมษายน ที่บริเวณสี่แยกบางขุนพรหม ใกล้ที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนั้น เป็นการบังเอิญที่การบรรยายของผู้เขียนครั้งนี้ ได้ทำขึ้นก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรี(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) จะได้กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิในเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๙ เมษายน เป็นเวลาหนึ่งวัน และที่น่าสนใจ ก็คือ ปรากฎว่า ผู้เขียนพบว่า เนื้อหาสาระในการบรรยายของผู้เขียนในบ่ายวันเสาร์ที่ ๑๘ เมษายน นั้น มีสาระที่แตกต่างกันความเห็นของท่านนายกรัฐมนตรีในทางตรงกันข้าม แต่จะแตกต่างกันอย่างไรนั้น ท่านผู้อ่านคงต้องอ่านเอาเอง ; และเนื่องจากการบรรยายของผู้เขียน ได้มีขึ้นก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะได้พูดในรายการดังกล่าว ดังนั้น คงทำให้ไม่มีผู้ใดมากล่าวได้ว่า ผู้เขียนตั้งใจจะโต้แย้งหรือไม่เห็นด้วยกับความเห็นของท่านนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในรายการวันที่ ๑๙ เมษายน
ในรายการฯ วันที่ ๑๙ เมษายน ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ดังนี้ ........ ผมรับโทรศัพท์ ....พบข้อเรียกร้องหลายประการ ประชาชนจำนวนมากที่เห็นว่า กติกาทางการเมืองปัจจุบันไม่เป็นธรรมสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง(กับ)ข้อเรียกร้องนี้ ผมให้ความสำคัญมาตลอด ก่อนเกิดเหตุการณ์ ผมได้ริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายและปฏิรูปการเมือง เพียงแต่เห็นว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้และออกมาเรียกร้องในช่วงปีที่แล้ว ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ย้อนกลับไปเหมือนปีที่แล้ว จึงเสนอให้สถาบันที่เป็นกลางมาดำเนินการ แต่ยังไม่ได้รับการขานรับจากพรรคฝ่ายค้านที่อาจจะระแวงว่า สถาบันนั้นเป็นกลางจริงหรือไม่ ดังนั้น ครม.และพรรคร่วมรัฐบาลจึงได้ตั้งหลักกันใหม่ ว่า จะให้ทุกพรรคการเมืองให้สรุปว่า ความไม่เป็นกลางในรัฐธรรมนูญและความไม่เป็นประชาธิปไตย มีประเด็นใดบ้างภายใน ๒ สัปดาห์ จากนั้นก็มาพิจารณาดูว่ามีกี่ประเด็น และจะได้รับฉันทามติจากสังคมว่า จะแก้ไขอย่างไร และพร้อมจะเดินหน้าแก้ไขภายหลังระดมความคิดเห็นของพรรคการเมืองแล้ว ก็จะเปิดกว้างต่อไป เชื่อว่าใช้เวลาไม่มากจนเกินไป ส่วนปัญหาเรื่องความขัดแย้งนั้น .........
ในการบรรยายเรื่อง อุดมศึกษา กับ การปฏิรูปการเมือง ผู้เขียนได้แยกออกเป็น ๓ ส่วน
ส่วนแรก ว่าด้วย สาเหตุของปัญหาการเมืองของคนไทย อยู่ที่ไหน
ส่วนที่สอง ว่าด้วย คนไทยจะหาทางออกทางการเมือง ได้อย่างไร
ส่วนที่สาม(บทสรุป) statesman คือ บุคคลอย่างไร และทำไมประเทศไทยจึงไม่มี statesman
ในการบรรยายวันนั้น ผู้เขียนได้อ้างถึง บทความหลังสุด ๒ บทความ ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้และใช้เป็นเอกสารประกอบการบรรยาย ในวันนั้น คือ บทความเรื่อง การปฏิรูปการเมือง(ของคนไทย) ครั้งที่ ๓ จะสำเร็จหรือล้มเหลว (?) กับบทความ บทความเขาพระวิหาร ๒ ในหัวข้อเรื่อง สภาพการเมือง และ สภาพวิชาการทางกฎหมายมหาชน ; บทความเรื่องแรก ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเมื่อเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่เราจะมี รัฐบาลชุดปัจจุบันเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ ( ที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกน) เป็นเวลาหนึ่งเดือน และบทความเรื่องที่สอง ผู้เขียนเขียนตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๑ คือ ก่อนการเขียนบทความเรื่องแรกประมาณ ๒ เดือน
ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนั้นทราบว่า การบรรยายของผู้เขียน จะเป็นความที่ต่อเนื่องกับ สาระของบทความทั้งสองข้างต้น แต่โดยที่ผู้เขียนยังไม่มีเวลาที่จะเขียนบทความดังกล่าวต่อไปจนจบ ผู้เขียนจะขอเอา แนวความคิดที่ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนในบทความดังกล่าว มาเล่าสู่กันฟัง พอเป็นสังเขป เผื่อจะมีประโยชน์ได้บ้าง สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย ที่เป็นอยู่ขณะนี้
ส่วนที่ (๑) สาเหตุของปัญหาการเมืองของคนไทย อยู่ที่ไหน
ในการบรรยายส่วนแรกนี้ ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านที่มาฟังฯ ว่า ผู้เขียนได้วิเคราะห์และ กำหนดสาเหตุของปัญหาการเมืองของเรานี้ไว้แล้วก่อนหน้านี้แล้ว ดังที่ปรากฏอยู่ใน บทความ เรื่อง การปฏิรูปการเมือง(ของคนไทย) ครั้งที่ ๓ จะสำเร็จหรือล้มเหลว (?)(เขียนในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑) ซึ่งในตอนท้ายของบทความดังกล่าว ผู้เขียนได้ให้ สารบัญ ที่เป็นหัวข้อที่ผู้เขียนจะเขียนต่อไป (แต่ยังไม่ได้เขียน) โดยในหัวข้อสุดท้ายที่เป็นบทสุดท้าย ของสารบัญดังกล่าว ผู้เขียนได้สรุปผลจากการวิเคราะห์สภาพการเมืองของประเทศไว้ว่า ประเทศไทยไม่สามารถทำการปฏิรูปการเมืองได้ เพราะ ประเทศไทย ขาดทั้ง ความรู้ และ ขาดทั้ง statesman (รัฐบุรุษ) ที่เสียสละ
ดังนั้น ในการบรรยายครั้งนี้ ผู้เขียนจึงจะเริ่มต้นด้วยการบรรยายถึง สาเหตุของปัญหาการเมืองของคนไทย ซึ่งก็จะมีอยู่ ๒ สาเหตุ คือ ประเทศไทยขาด ความรู้ และ ประเทศขาด statesman
เพื่อที่จะให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายฯในวันนั้น ได้ทดสอบพิจารณาถึง สาเหตุของปัญหาการเมืองตามสภาพของสังคมไทยที่เป็นจริง ดัวยตนเอง ผู้เขียนได้ขอให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย ลองคิดและ ตอบคำถาม ๓ ๔ ข้อ ที่ผู้เขียนจะตั้งไว้ แล้วขอให้ท่านผู้มาฟังฯ วินิจฉัยด้วยตัวเอง ว่า ประเทศไทย ขาด ความรู้ และ ประเทศไทย ขาด statesman จริง หรือไม่
โดยผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าท่านผู้มาฟังการบรรยายฯ ในฐานะที่ เป็น elite ของคนไทยที่อยู่ในกลุ่มประชาชนที่มีความรู้สูงสุด ทราบและตอบคำถามได้เป็นส่วนใหญ่ ก็จะแสดงว่า ประเทศไทยไม่ขาดความรู้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าท่านผู้ฟังฯ ยังไม่ทราบ หรือตอบไม่ได้ ก็กรุณาอย่าไปคาดหวังว่า คนไทยอีก ๖๔ ล้านคน ที่ต่างคนต่างต้องทำมามาหากินเป็นประจำวันเพราะความจำเป็นในการดำรงชีวิต และไม่มีเวลาคิดถึงปัญหาบ้านเมือง จะแก้ปัญหาการเมืองได้
(๑.๑) ในประเด็นแรก ประเทศไทยขาด ความรู้หรือไม่ ผู้เขียนได้ตั้งคำถาม ๓ ข้อ (ที่ขอให้ท่านผู้ฟังการบรรยายฯ ตอบเองในใจ เรียงตามลำดับ ดังนี้
คำถามที่หนึ่ง มีว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญของไทย (ทั้งฉบับ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และ ปีพ.ศ. ๒๕๕๐) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ที่มีระบบสถาบันการเมือง(รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร) ที่ไม่เหมือนประเทศใด และท่านทราบหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญของเราที่ไม่เหมือนใครนั้น คือบทบัญญัติเรื่องอะไร และ ทำไมจึงเกิดขึ้นได้
คำถามที่สอง มีว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า คำว่า form of government หมายถึงอะไร และท่านทราบหรือไม่ว่า form of governmentที่แตกต่างกันนี้ มีผลทำให้การบริหารประเทศมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน
คำถามที่สาม มีว่า ถ้าท่านได้ยินว่า นักวิชาการคนใดพูดว่า ถ้าเราไม่บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมืองแล้ว รัฐบาลของเราก็จะไม่มีเสถียรภาพ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ท่านคิดว่า คำพูดของนักวิชาการท่านนี้ จริงหรือไม่จริง
[ หมายเหตุ โดยที่ สาระที่เป็นคำเฉลยของคำถามเหล่านี้ ผู้เขียนได้เคยเขียนอธิบายไว้ในบทความทางวิชาการไว้ก่อนหน้านี้แล้วนับเป็นร้อย ๆ หน้า (ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจการเมือง อาจเคยผ่านสายตามาบ้างแล้ว) ดังนั้น ในการบรรยายในวันนั้น ผู้เขียนจึงได้นำสาระมาสรุปอย่างสั้น ๆ เป็นการตอบคำถามดังกล่าว]
๑) คำตอบของคำถามที่หนึ่ง (ท่านทราบหรือไม่ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญของไทย ทั้งฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ พ.ศ. ๒ ๕๕๐) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ) ก็คือ รัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก เพราะรัฐธรรมนูญของเรามีบทบัญญัติให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองและบัญญัติให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรคการเมือง ฯ กล่าวคือ ถ้าหาก ส.ส.ไม่ปฏิบัติตามมติของพรรคการเมือง พรรคการเมืองสามารถให้ ส.ส. พ้นจากสมาชิกของพรรคการเมืองได้ โดยรัฐธรรมนูญของเราบัญญัติว่า เมื่อ ส.ส พ้นจากสมาชิกของพรรคการเมือง ก็ให้ ส.ส. ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.ไปด้วย
บทบัญญัตินี้ ตรงกันข้ามกับ หลักการ ของระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะ ส.ส.ของทุกประเทศทั่วโลก ต่างมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรม (conscience) ของตนเอง
ดังนั้น พรรคการเมือง ของประเทศไทย (ที่ก่อตั้งโดยนายทุนธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นนายทุนท้องถิ่นหรือนายทุนระดับชาติ จึงได้กลายเป็น องค์กรสูงสุด - super organ)ของประเทศ ที่ควบคุมรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในระบบสถาบันการเมืองของเรา (ที่ใช้ ระบบรัฐสภา - parliamentary system) และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณะอักษร ที่ สร้าง ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)
การที่ คนไทยมองไม่เป็น ปัญหานี้ ก็เพราะความล้มเหลว ของการเรียนการสอนใน ระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของเรา ที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ; การเรียนการสอนใน ระดับอุดมศึกษาของเรา ได้สอนนักศึกษาของเราทั้งประเทศ อย่างผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริง ( reality) ตลอดมา และดังนั้น ตามความเห็นของผู้เขียน เป็นความรับผิดชอบของวงการนิติศาสตร์ และวงการวิชาการ ที่ปล่อยให้คนไทยทั่วไป เรียก ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ประเทศเดียวในโลกนี้ ว่า เป็นระบอบประชาธิปไตย
ข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึง ความล้มเหลวในการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยของเรา สามารถยืนยันได้จาก บทความของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์จำนวน ๕ ท่านของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ถือกันว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีสุดในทางกฎหมายมหาชน) ที่ท่านคณาจารย์เหล่านี้ได้เขียนขึ้นเอง ; ท่านคณาจารย์ ฯได้กล่าวไว้ในบทความของท่านว่า ท่าน(คณาจารย์)เห็นว่า ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมี ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ; ทั้งที่ ตามความเป็นจริง (reality) แล้ว ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ของประเทศไทย ระบบสถาบันการเมืองของเรา ไม่มีดุลยภาพแห่งอำนาจ ระหว่างองค์กรนิติบัญญัติกับองค์กรบริหาร แต่อย่างใด เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทย(ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา) ได้มีบทบัญญัติ ให้ ส.ส.ของเรา ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ / และนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. (หัวหน้าพรรคการเมือง) ; ซึ่งบทมาตราทั้งสามนี้ เป็นบทบัญญัติที่แตกต่างกับ รัฐธรรมนูญของต่างประเทศ (รวมทั้งรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนีและของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่ท่านคณาจารย์ดังกล่าวได้ไปศึกษาและจบปริญญาเอกมา) เพราะ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศดังกล่าว ส.ส.ของเขามีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรม - conscience ของตน
[หมายเหตุ โปรดดูเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้จาก หนังสือ การกระทำทางรัฐบาล หรือการกระทำของรัฐบาล : ข้อถกเถียงทางวิชาการในระบบกฎหมายมหาชนของไทย โดย ดร.เอกบุญ วงศ์สวัสดิกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรณาธิการ จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๒]
๒) คำตอบของคำถามที่สอง (ท่านทราบหรือไม่ว่า คำว่า form of government หมายถึงอะไร ฯลฯ ) อันที่จริง คำว่าform of government เป็นคำสามัญในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ของต่างประเทศ) ที่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ของต่างประเทศ)ทุกคนรู้ เพราะเป็นคำที่บ่งบอกถึง การจัดระบบสถาบันการเมือง ที่เป็นรูปแบบของรัฐบาล
การศึกษาวิเคราะห์ form of government - การจัดระบบสถาบันการเมือง ที่อยู่ในตัวบทรัฐธรรมนูญ ของประเทศต่าง ๆ จะทำให้เราสามารถมองเห็น หลักการสำคัญ ๆ ของระบบสถาบันการเมืองที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ และทำให้เราสามารถนำรัฐธรรมนูญ(ระบบสถาบันการเมือง)ของประเทศต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งจะทำให้เรารู้ได้ว่า ระบบสถาบันการเมืองในแต่ละรูปแบบ(ของแต่ละประเทศ) มี ประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และเป็น ระบบเผด็จการ หรือเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างมาก ที่เราไม่ค่อยเห็นนักวิชาการของไทย พูดถึง form of government
เราทุกคน คงเคยฟังรายการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่นักวิชาการของเรามาออกรายการกันบ่อย ๆ และเราคงได้ยินนักวิชาการที่ออกรายการเหล่านั้น บอกกับเรา ว่า นักการเมืองของเรา มีมาตรฐานทางการเมือง แตกต่างกับ นักการเมืองของประเทศอื่น เช่น เมื่อมีเรื่องฉาวเกิดขึ้น นักการเมืองของเขาก็จะแสดงรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่นักการเมืองของเราจะไม่ยอมลาออก โดยอ้างว่า กฎหมายไม่ได้บังคับให้ลาออก ; แต่ถ้าท่านผู้อ่านสังเกต ท่านจะไม่เคยพบว่า นักวิชาการที่ออกรายการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เหล่านั้น บอกกับเรา(คนไทย) ว่า form of government ของต่างประเทศ (ที่นักการเมืองของเขา มีความรับผิดชอบ มากกว่านักการเมืองของเรานั้น) ใช้ form of government รูปแบบใด และระบบกฎหมายในการบริหารประเทศของเขา มีอย่างไร แตกต่างกับประเทศไทย อย่างไร ทั้งๆ ที่ form of government และระบบกฎหมายเหล่านี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นักการเมืองของเขามีความรับผิดชอบ
การที่นักวิชาการไทยไม่สนใจต่อ form of governmentของรัฐธรรมนูญ นี้ เป็น หลักฐาน อีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึง ความล้มเหลว ของการเรียนการสอนในระดับอุดมคึกษาของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล้มเหลวการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ ของเรา
ผู้เขียนเห็นว่า การที่นักวิชาการ(นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์)ของไทย ขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ form of government ที่เป็นมาตรฐานของ ระบบสถาบันการเมือง และไม่สนใจที่จะติดตามวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการจัดรูปแบบระบบสถาบันการเมือง ทำให้นักวิชาการไทยไม่มีความสามารถพอ ที่จะวิเคราะห์และสังเกตเห็น การปรับเปลี่ยน(rationalization) ระบบสถาบันการเมือง ในรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ( เช่น ประเทศเยอรมันนีและฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ) ที่เกิดขึ้นหลังจากสงครามครั้งที่สอง ( กลางศตวรรษที่ ๒๐)ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับเปลี่ยนระบบสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา parliamentary system (ระบบที่เราใช้อยู่) ที่มีความมุ่งหมายให้กลไกในระบบรัฐสภา เป็นระบบที่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีมาตรการด่าง ๆ กำกับให้สถาบันการเมือง(ในระบบรัฐสภา) ทำงานและบริหารประเทศมุ่งไปสู่จุดหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ( ป้องกันนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแก่งแย่งกันเป็นรัฐมนตรี ของ และในขณะเดียวกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการเผด็จการโดยพรรคการเมือง )
การที่นักวิชาการ(นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์)ของเรา ขาดความรู้ในกฎหมายเปรียบเทียบ และขาด
ประสบการณ์ในทางวิชาการ จึงทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญ แบบไทย ๆ ของเรา เป็นไปอย่างไร้จุดหมาย เพราะนักวิชาการไทยเขียนรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานจากสามัญสำนึก (common sense) และ การอ้างสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน (individualism)
มาตรฐานความ (ไม่)รู้ของนักวิชาการในเรื่อง form of government และ การ rationalization ของรัฐธรรมนูญนี้ ปรากฎให้เห็นได้ชัดเจนในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นปีที่เรายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐)
ในขณะที่ทำการร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดทั้งปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น ไม่ปรากฏว่า นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ ที่มีความรู้ ดีที่สุดของประเทศ (ที่ได้รับคัดเลือกให้ เป็น สมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นกรรมการใน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) ได้พิจารณาถึงประเด็น form of governmentนี้แต่อย่างใด และไม่มีนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ของเรา แม้แต่คนเดียวและแม้แต่ครั้งเดียว ได้กล่าวถึง คำว่า form of government นี้
ใน เอกสารคำชึ้แจงประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วถือว่า เป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเอกสารที่อธิบายให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า รัฐธรรมนูญได้แก้ไขในประการสำคัญอย่างไร และจะทำให้การเมืองของประเทศ ดีขึ้นได้อย่างไร แต่ปรากฏว่า เอกสารดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (และสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่พิมพ์ออกมาเผยแพร่ต่อประชาชนทั่วไป เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับ สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนเมษายน ๒๕๕๐ มีความยาวเพียง ๑๓ หน้า โดยเป็นเพียงเอกสารที่รวบรวม บทมาตราต่าง ๆ ที่คณะกรรมาธิการฯแก้ไข ; คณะกรรมาธิการฯได้ชี้แจงไว้ในเอกสารดังกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ(ที่แก้ไขนี้) มี สาระสำคัญ ที่มุ่งหมายจะแก้ปัญหาการบริหารประเทศ โดยดำเนินการใน ๔ แนวทางด้วยกัน และแนวทางที่สำคัญที่สุด ที่คณะกรรมาธิการฯได้ยกขึ้นกล่าวเป็นลำดับแรก ก็คือ การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อย่างเต็มที่ ; จากเอกสารนี้ ดูเหมือนว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของเรา อาจ เข้าใจ ความมุ่งหมายของการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ คลาดเคลื่อน(แตกต่าง)ไปจากการร่างรัฐธรรมนูญของนานาประเทศ และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รัฐธรรมนูญของเราไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองของประเทศได้ ดังสถานการณ์ของประเทศตามที่ปรากฏและเป็นอยู่ในขณะนี้
[หมายเหตุ โปรดย้อนไปดูบทความก่อน ๆ ของผู้เขียน ที่อยู่ใน เว็บไซต์ www.pub-law.net ที่ผู้เขียนได้เขียนวิเคราะห็ แนวความคิด ในการกำหนดรูปแบบของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ - ส.ส.ร. (ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๔๙ ) และวิเคราะห็ ผลงาน(คือ รัฐธรรมนูญ)ที่ได้มาจากการทำงานของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร. และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) ; บทความนี้ ยังไม่ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราเคยรับสั่งไว้ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ .....ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ได้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ .....
จุดมุ่งหมายของการวิเคราะห์ form of government ก็มิใช่อะไรอื่นไกล แต่ความจริง ก็คือ เป็นการตรวจสอบโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางที่เป็นไปตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง คือ ตรวจดูว่า form of government รูปแบบใด จะ เป็นรูปแบบที่ทำให้ คนดีได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง ได้ ดีที่สุด
ในการบรรยายวันนั้น ผู้เขียนก็ได้ชี้แจง(อย่างสั้น ๆ) ให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย ได้ทราบถึง form of government ที่มีรูปแบบมาตรฐาน ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ๓ แบบ ( คือ ระบบประธานาธิบดี - presidential system / ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว - one party system ของประเทศสังคมนิยม / และระบบรัฐสภา - parliamentary system) และอธิบายให้ทราบว่า form of government ในแต่ละรูปแบบ มีหลักการสำคัญ ๆ ในการจัดระบบสถาบันการเมือง อย่างไร รูปแบบใดเป็น(เสรี)ประชาธิปไตย รูปแบบใดเป็น เผด็จการ และอธิบายให้เห็น ลักษณะเฉพาะของ form of government แต่ละรูปแบบว่า รูปแบบเหล่านี้ทำให้การบริหารประเทศมีประสิทธิภาพ อย่างไร และทำให้คนดีได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง ได้อย่างไร ( แม้ว่าระบอบนั้นจะเป็นระบอบคอมมิวนิสต์) ; ผู้เขียนได้อธิบาย วิวัฒนาการของกลไกการจัดระบบสถาบันการเมืองใน ระบบรัฐสภา - parliamentary system (ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศไทยใช้อยู่) ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงถึง ๓ ช่วงเวลา ตลอดระยะประมาณสองร้อยปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่รูปแบบดั้งเดิมใน ศตวรรษที่ ๑๙ ที่มีการแยกอำนาจบริหาร โดยกษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารโดยตรงด้วยพระองค์เอง และต่อมาในต้นศตวรรษที่ ๒๐ ที่กษัตริย์ลดบทบาทลงมาตามระดับการพัฒนาของสภาพสังคมในยุโรป จนถึงยุคปัจจุบันในกลางศตวรรษที่ ๒๐ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ได้มีการแก้ไขจุดอ่อนในระบบรัฐสภา ด้วยการปรับเปลี่ยน rationalization กลไกในระบบสถาบันการเมือง และในขณะนี้ ระบบรัฐสภา ได้กลายเป็น rationalized systems (เกือบ)ทั้งโลก
ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนบรรยาย(อย่างสั้น ๆ)ในวันนั้น จะเป็นเรื่องที่ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนั้น ได้เคยมี ความรู้มาก่อนแล้วหรือไม่ หรือเป็น ความรู้ใหม่ของท่านผู้ที่มาฟังฯ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ; แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนั้น จะได้นำไป คิด และ ประเมินตอบคำถามด้วยตนเอง ว่า มาตรฐานความรู้ของนักวิชาการของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ เป็นอย่างไร
แต่ผู้เขียนขอยืนยันว่า ไม่มี form of governmentในรัฐธรรมนูญของประเทศใดในโลกนี้ ที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย คือ เป็นรัฐธรรมนูญ ที่สร้าง ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ผิดหลักการทางสังคมวิทยา(sociology) เพราะเป็นรูปแบบที่เป็นการชักชวนให้บรรดานายทุนธุรกิจ รวมทุนกันจัดตั้งพรรคการเมืองและออกเงินให้ผู้มีสิทธิสมัคร ส.ส. ไปทำการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอฯ) เพื่อนายทุน(เจ้าของพรรคการเมือง)เจะได้ข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล (ในระบบรัฐสภา) และจัดสรรโควตากันเป็นรัฐมนตรีโดยคำนวณอัตราส่วนตามจำนวนของ ส.ส. ที่อยู่ในสังกัดของพรรคการเมืองของตน และแบ่งปันกันหากำไร ด้วย การทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและทางอ้อม จากทรัพยากรส่วนรวมของชาติ ในสภาพที่กลไกการบริหารประเทศ(กฎหมาย)ของเรา พิกลพิการ
ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) เกิดขึ้นในประเทศไทยเพราะ ความเห็นแก่ตัวของนายทุนธุรกิจท้องถิ่นเจ้าของพรรคการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕
๓) คำตอบของคำถามที่สาม ( ถ้าท่านได้ยินว่า นักวิชาการคนใดพูดว่า ถ้าเราไม่บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง รัฐบาลก็จะไม่มีเสถียรภาพ ท่านคิดว่า คำพูดของนักวิชาการท่านนี้ จริงหรือไม่จริง)
ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงจำเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาได้ว่า ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล(ทหาร) เกิดมาจากการที่ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้อง ซอง ในการยกมือสนับสนุนญัตติของรัฐบาล ซึ่งในบางครั้ง ก็ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนว่า ไปแจกซองกันในห้องสุขาของสภาผู้แทนราษฎร ; ซองจะใหญ่หรือซองจะเล็ก ย่อมแล้วแต่ความสำคัญของ ญัตติ ; ถ้าเป็นญัตติธรรมดา ซองก็อย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการลงมติในเรื่องงบประมาณหรือในเรื่องการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซองก็จะหนาหน่อย เพราะถ้ารัฐบาลแพ้มติประเภทนี้แล้ว รัฐบาลถึงกับต้องลาออก
คำถามข้างต้นนี้ ตอบได้ไม่ยาก เพียงแต่ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย (ในวันนั้น) จะตอบ คำถามเบื้องต้นเป็นคำถามแรกก่อนว่า ท่านคิดว่า ในโลกนี้ มีรัฐบาลของประเทศใดในโลก หรือไม่ ที่รัฐบาลของเขามีเสถียรภาพได้โดยไม่ต้องบังคับให้ ส.สของเขาต้องสังกัดพรรคการเมือง ; ถ้าทราบว่า มี ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายก็สามารถตอบได้ทันทีว่า คำพูดของนักวิชาการที่พูดว่า ถ้าเราไม่บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง รัฐบาลก็จะไม่มีเสถียรภาพนั้น เป็นคำพูดที่ไม่จริง ; และตามความเป็นจริงในโลก มีหลายประเทศที่รัฐบาลของเขามีเสถียรภาพได้ โดยรัฐธรรมนูญของเขาให้ ส.ส.ของเขามีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตนเอง
การที่นักวิชาการท่านนั้นพูดว่า ถ้าเราไม่บังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคการเมือง รัฐบาลก็จะไม่มีเสถียรภาพ สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเพียง ๒ เหตุผล เท่านั้น คือ เหตุผลประการแรก เพราะ นักวิชาการต้องการจะช่วยเหลือนักการเมืองนายทุนธุรกิจให้ผูกขาดอำนาจรัฐในระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง ได้ต่อไป หรือ เหตุผลอีกประการหนึ่ง ก็คือ เพราะนักวิชาการท่านนั้นไม่มีความรู้ หรือมีความรู้ไม่พอ เพราะนักวิชาการท่านนั้นไม่ทราบว่า รัฐบาลของประเทศอื่น ที่เขามีเสถียรภาพได้โดยไม่ต้องบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคฯลฯ เขาทำได้อย่างไร รัฐธรรมนูญของเขาเขียนอย่างไร และ กฎหมายที่เป็นกลไกการบริหารของเขา มีอย่างไร
สรุปจากคำถามทั้ง ๓ ประการ และหลังจากที่ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย(หรือท่านผู้อ่าน)ได้ ลองตอบคำถามข้างต้นด้วยตนเองแล้ว ผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านฯ คงจะสามารถประเมินได้เอง ว่า ประเทศไทยขาด ความรู้ หรือไม่ และสามารถประเมินได้ว่า คณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงของเรา มีความรู้ พอที่จะออกแบบ (design)รัฐธรรมนูญที่เป็น การปฏิรูปการเมือง ให้แก่คนไทยได้ หรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะผ่านข้อนี้ไป ขอท่านผู้อ่านได้โปรดระลึกว่า คำถามทั้ง ๓ คำถามดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นเพียงคำถามที่เกี่ยวกับ กฎหมายรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในการแก้ปัญหาของประเทศไทย ยังมีกฎหมายสำคัญ ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการบริหารประเทศอยู่อีกไม่น้อย ซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ไข(หรือปฏิรูป)ไป พร้อมกับการปฏิรูป ระบบสถาบันการเมือง (องค์กรสูงสุดในการใช้อำนาจรัฐ) เช่น กฎหมายเกี่ยวกับระบบกระบวนการยุติธรรม(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจหน้าที่ของตำรวจ) กฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น หรือแม้แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ กฎหมายเหล่านี้ต้องการการวิจัยที่ได้มาตรฐาน และต้องการการกำหนด ขั้นตอนในการปรับเปลี่ยน(transformation) จากสภาพปัจจุบันไปสู่รูปแบบที่ดีกว่าและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ย่อมไม่สามารถทำได้ในทันทีทันใด แต่ต้องอาศัยช่วงเวลาเพื่อการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องการเวลาที่นานพอสมควร
การปฏิรูปการเมือง ซึ่งจำเป็นจะต้องกระทำพร้อม ๆ กับการปฏิรูประบบบริหาร จึงมิได้ง่ายอย่างที่คิด ; การปฏิรูปการเมือง คงไม่ใช่การไปสอบถามพรรคการเมืองหรือนักการเมืองว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้าง อย่างไร แล้วเอามารวม ๆ กันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเสียงข้างมาก ตามที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของเรากำลังทำอยู่ในขณะนี้(เดือนเมษายน)
(๑.๒) ในประเด็นที่สอง ประเทศไทย ขาด statesman (รัฐบุรุษ)ที่เสียสละ หรือไม่ ประเด็นนี้ เป็นประเด็นสำคัญ ; ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนั้น ทราบว่า แม้ว่าประเทศไทย (หรือประเทศใด ๆ ก็ตาม) ไม่ขาดความรู้จากวงการวิชาการ แต่ ถ้าประเทศนั้น ขาด statesman ที่เสียสละ ประเทศดังกล่าว ก็ไม่สามารถ ปฏิรูปการเมืองได้ เพราะจะไม่มี ผู้ที่มีอำนาจรัฐคนใด นำเอา ความรู้นั้น มาแก้ไขกลไกการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นการ ลดอำนาจของตนเอง และลดโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง
ดังนั้น ประเด็นที่สอง (ประเทศไทย ขาด statesman - รัฐบุรุษที่เสียสละ หรือไม่) จึงสำคัญไม่น้อยกว่า ประเด็นที่หนึ่ง (ประเทศไทย ขาด ความรู้ หรือไม่) ; และบางทีแล้ว อาจจะสำคัญยิ่งกว่าการที่ประเทศขาดความรู้เสียอีก เพราะความ(ไม่)รู้ของนักวิชาการ อาจทดแทนได้ด้วยความรู้ของ statesman และเท่าที่ปรากฏจากประวัติศาสตร์ของประเทศที่ทำการปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ statesman ของประเทศนั้นจะมีความรู้ เกินกว่านักวิชาการทั่ว ๆ ไปของประเทศ ( ซึ่งผู้เขียน จะได้นำ ตัวอย่างของบางประเทศ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง ใน ส่วนที่สอง )
ในการบรรยายในวันนั้น ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายทราบว่า ผู้เขียนจะไม่ย้อนประวัติศาสตร์ไปตั้งแต่ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า ในอดีตประเทศไทย มี statesman หรือไม่ และทำไม การเมืองของประเทศไทย จึงต้องตกอยู่สภาพเช่นนี้ในขณะนี้ ; และผู้เขียนก็จะไม่ย้อนไปกล่าวถึงปัญหาว่า เพราะเหตุใด การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ที่ผ่านมา จึงล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบ ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปํญหาการเมืองได้ หรือไม่สามารถแม้แต่จะทำให้คนไทยพอมองเห็น ทางออกในการแก้ปัญหาการเมือง
[ หมายเหตุ ผู้เขียนได้วิเคราะห์ สาเหตุของ ความล้มเหลวของการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ไว้แล้ว ในการบรรยายที่ศาลปกครอง เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๑ ในหัวข้อว่าด้วย ปัญหาชนชั้นนำ ของสังคมไทย , โปรดดู วารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ ๘ เดือนพฤษภาคม สิงหาคม ๒๕๕๑ ]
ในวันนั้น (วันเสาร์ ที่ ๑๘ เมษายน) ผู้เขียน(ผู้บรรยายในวันนั้น) ได้ขอให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายฯ พิจารณาจาก ข้อเท็จจริง ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ ศึกษาพฤติกรรมของนักการเมือง ที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้แก่ บุคคลในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะตามความเป็นจริง ผู้ที่มีอำนาจรัฐเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ที่ทำการปฏิรูปการเมืองได้
ผู้เขียน(ผู้บรรยายในขณะนั้น) ได้ลองลำดับ เหตุการณ์ที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้กระทำไป ในระยะเวลา (ประมาณ) ๔ เดือนที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ จนถึง (วันที่ ๑๘) เดือนเมษายน ๒๕๕๒ และ ขอให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย(และท่านผู้อ่านบทความนี้) ประเมินและตอบคำถามด้วยตัวท่านเองว่า การกระทำของนักการเมืองของเราในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นการกระทำของ statesman (หรือใกล้กับการกระทำของ statesman) หรือไม่
การติดตามและศึกษา การกระทำของนักการเมืองอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถมองเห็น ความจริง ที่เป็นความในใจของนักการเมืองนายทุนธุรกิจได้ และสามารถประเมินได้ว่า นักการเมืองเของเรานั้นเป็นบุคคลประเภทใด เป็น statesman หรือ เป็นเพียงนักการเมืองธรรมดาที่เห็นแก่ตัว (ตามธรรมชาติของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป )
ผู้เขียนได้ลองลำดับเหตุการณ์ ที่เป็นการกระทำของรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรี มาให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนั้นได้พิจารณา โดยแยกการกระทำฯ ออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ การกระทำที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศ (หรือ การบริหารราชการแผ่นดิน) กลุ่มหนึ่ง และ การกระทำที่เกี่ยวกับการริเริ่ม การปฏิรูปการเมือง อีกกลุ่มหนึ่ง และขอให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายฯ ลองพิจารณาและตอบ คำถามสั้น ๆ ด้วยตนเอง
(ก) การกระทำกลุ่มแรก เป็นการกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศหรือการบริหารราชการแผ่นดิน โดยผู้เขียนได้รวมรวม เหตุการณ์เท่าที่ผู้เขียนจำได้ มาทบทวนให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายได้รับทราบ ดังนี้
- รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ได้ใช้ นโยบาย populist (ซึ่งนักวิชาการบางท่านเรียกว่า นโยบายประชานิยม แต่ผู้เขียนขอแปลอย่างตรง ๆ ว่า นโยบายเอาใจประชาชน ) เป็นหลัก คือ นโยบายลดแลกแจกแถม รวมทั้งการแจกเช็คช่วยชาติให้แก่ผู้ที่มีรายได้ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน คนละ ๒๐๐๐ บาท
- หลังจากการเป็นรัฐบาลไม่กี่วัน ปรากฏเหตุการณ์ที่(อาจ)เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ ปลากระป๋องเน่าในถุงยังชีพ ที่แจกให้แก่ประชาชนที่มีอุบัติภัยทางภาคไต้ ; การแจก นมบูดหรือนมด้อยคุณภาพให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียน อันเนื่องมาจากระบบการผูกขาดจากการจำหน่ายนมโดยแบ่งเป็นเขตและห้ามจำหน่ายนมข้ามเขต ; การนำเงินของแผ่นดินไปแจกให้แก่ราษฎร โดยมีนามบัตรส่วนตัวของรัฐมนตรีแนบไปด้วย
- รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี มี mega projects หลายโครงการ เช่น การซื้อรถเมล์ ๔๐๐๐ คัน การสร้างรถไฟฟ้าและรถไต้ดินหลายสาย ที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อน
- รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ได้รับจำนำหรือรับซื้อผลิตผลการเกษตรหลายชนิดเพื่อช่วยเหลือเกษตรที่มีปัญหา และได้มีการจำหน่ายและประมูลขายผลิตผลการเกษตร์ (เช่น ข้าว มันสำปะหลัง) เพื่อระบายสต๊อกที่เก็บไว้ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนถึงความไม่โปร่งใจและการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่แสมอ ๆ
- รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี มีการโยกย้ายข้าราชการสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ กระทรวงพาณิชย์ ข้าราชการตำรวจ
- รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี สับเปลี่ยนกรรมการใน รัฐวิสาหกิจหลายแห่ง
อันที่จริง บรรดา การกระทำและเหตุการณ์ที่ผ่านมาของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของเราในช่วงเวลา๔ เดือนที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็ดูว่า จะเหมือน ๆ กับการกระทำของรัฐบาลก่อนและอดีตนายกรัฐมนตรีได้ทำมาแล้ว ไม่มีแตกต่างอะไรกัน และรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของเราทั้งเก่าและปัจจุบัน ก็ดูจะพูด เหมือน ๆ กัน คือ พูดว่า รัฐบาลทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือเพื่อประชาชน หรือเพื่อคนยากจน ; และเมื่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ถูกซักถามในปัญหาต่าง ๆ รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันของเรา ก็จะพูดว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตาม กฎหมาย ซึ่งก็ดูจะเหมือนกับรัฐบาลก่อนและอดีตนายกรัฐมนตรี
ปัญหามีว่า อะไร คือเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ ที่ใช้แยก การกระทำ ของนักการเมืองที่เป็น statesman ออกจาก การกระทำ ของนักการเมืองธรรมดา
statesman ได้แก่ บุคคลที่มองการแก้ปัญหาประเทศที่จะมีผลต่อเนื่องระยะยาว และคิดถึงอนาคตของประเทศ แม้ว่าจะเป็นเวลาหลังจากที่ตนเองได้หมดอำนาจไปแล้ว ; statesman จึงเป็นผู้ที่แก้ปัญหาในเชิงระบบ มากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจโดยตนเอง แม้ว่าการสร้างระบบนั้น จะเป็นการลดอำนาจหรือตัดอำนาจของตนเอง เพราะ statesman รู้ว่า การใช้อำนาจโดยไม่สร้าง ระบบ ที่โปร่งใส ย่อมเปิดโอกาสให้นักการเมือง ปิดบังซ่อนเร้นการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและทำการทุจริตได้
ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตสำหรับให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย(และท่านผู้อ่าน) นำไปใช้ ในการพิจารณาและตรวจดู ว่า การกระทำของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน เป็น(หรือใกล้จะเป็น) การกระทำของ statesman หรือไม่ คือ ขอให้พิจารณาดูว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของเราได้เอาใจใส่ในการป้องกันการรั่วไหลในการใช้จ่ายเงินแผ่นดินในนโยบาย populist อย่างไรหรือไม่ / มีความตั้งใจจะทำให้หรือนำ ผู้ที่(อาจ)ไม่สุจริตหรือ(อาจ)แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ(ที่เป็นพรรคพวกของตนเอง) ให้ต้องรับผิดชอบ หรือไม่เพียงใด / สนใจที่จะแก้ไข กฎหมาย(มิใช่ แก้ไขโดยการมี มติคณะรัฐมนตรี) ที่ทำให้นักการเมือง (ตนเอง) ต้องกระทำการโดยโปร่งใส เพื่อลดการแสวงหาประโยชน์จากการประมูลและการอนุมัติโครงการของรัฐ หรือไม่ / แก้ไขและปรับปรุง กฎหมายเพื่อป้องกัน ระบบ spoils system ที่นักการเมือง(ตนเอง) เอาตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจและตำแหน่งราชการ ให้เป็นการตอบแทนแก่พรรคพวกและข้าราชการที่รับใช้ตนเอง หรือไม่ / ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดเผย และไม่อยู่ภายไต้อิทธิพลของนักการเมือง(ตนเอง) หรือไม่ / ฯลฯ
คำถาม ที่ผู้เขียนขอให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายในวันนั้น(และท่านผู้อ่าน) ตอบ หลังจากที่ได้พิจารณาตามข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็คือ ตาม ข้อเท็จจริง ที่ปรากฏที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันได้บริหารราชการแผ่นดินมา ในช่วง ๔ เดือน
ท่านคิดว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของเรา กำลังบริหารประเทศ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือ กำลังรอโอกาส เพื่อจะ แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว
(ข) การกระทำ กลุ่มที่สอง ว่าด้วย การริเริ่ม การปฏิรูปการเมือง [หมายเหตุ ในการบรรยาย(วันนั้น) ผู้เขียนได้ใช้ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นนี้เท่าที่ปรากฏในขณะนั้น จนถึงวันที่มีการบรรยาย คือ วันเสาร์ที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๒ ดังนั้น ในบทความนี้ ซึ่งเป็น สาระจากการบรรยายในวันดังกล่าว ผู้เขียนก็จะถือตามข้อความที่ผู้เขียนบรรยายในวันนั้น แม้ว่าจะปรากฏในขณะนี้(หลังการบรรยาย)ว่า ข้อเสนอของท่านนายกรัฐมนตรี(รวมไปถึงการเสนอให้นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง) ได้ก่อให้เกิด เหตุการณ์และ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในระหว่างกลุ่มนักการเมืองและนักวิชาการหลายประการ แต่ผู้เขียนจะยังไม่ขอนำมากล่าวในบทความตอนนี้ และถ้าผู้เขียนมีเวลาพอ ผู้เขียนอานจะนำมาเขียน ป็น ภาคผนวก ไว้ในตอนท้ายของบทความนี้ ]
ผู้เขียนได้ให้ ข้อเท็จจริง(เกี่ยวกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล) กับท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย ฯ ว่า เท่าที่ผ่านมา ในระยะที่เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ ๆ ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๒ รัฐบาลและ ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสนใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองแต่อย่างใด แต่ได้เน้นการแก้ไขปัญหาประเทศเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และ เพิ่งจะปรากฎในระยะหลังเมื่อไม่นานมานี้ คือ เมื่อกลุ่มเสื้อแดงเริ่มก่อตัวที่จะมีการชุมนุมใหญ่ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะมอบให้คนที่เป็นกลาง เช่น สถาบันพระปกเกล้า มาช่วยพิจารณาว่า จะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง และรัฐบาลจะขอให้ทุกคนทุกฝ่าย รวมทั้งพรรคการเมืองทุกพรรคมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
ในประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่มีข้อเท็จจริงอื่นจะเพิ่มเติม และขอตั้งคำถาม ๓ คำถาม เพื่อให้ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยายฯ ลองเปรียบเทียบพฤติกรรมของนักการเมือง กับพฤติกรรมของตนเอง ดังต่อไปนี้
คำถามแรก มีว่า ตัวท่านเอง(ท่านที่มาฟังการบรรยาย) ท่านคิดว่า โดยพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ ผู้ที่จะต้องเสียประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ตนเองได้เข้ามาผูกขาด อำนาจรัฐ ผู้นั้นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะทำให้ตนเอง(อาจ)ต้องหมดอำนาจ หรือไม่
คำถามที่สอง มีว่า ตัวท่านเอง(ท่านที่มาฟังการบรรยาย) ท่านคิดว่า บุคคลในรัฐบาลและท่านนายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ ทราบหรือไม่ทราบว่า โดยพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ คนส่วนใหญ่ย่อมเห็นแก่ตัว และรักษาประโยชน์และอำนาจของตน
คำถามที่สาม มีว่า ตัวท่านเอง(ท่านที่มาฟังการบรรยาย) ถ้าท่านคิดว่า บุคคลในรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ ได้ทราบหรือควรทราบอยู่แล้วว่า พฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างไร
การที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้บอกแก่คนทั่วไปว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง จะมอบให้คนกลางโดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง และขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคและนักการเมือง มาช่วยกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่านคิดว่า บุคคลในรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจรัฐอยู่ปัจจุบันนี้ มี ความในใจ ที่ต้องการจะให้มีการปฏิรูปการเมือง หรือไม่
ผู้เขียนได้กล่าวสรุปในตอนท้ายของการบรรยายในตอนนี้ว่า เมื่อท่านผู้ฟังการบรรยายฯ ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับ การกระทำของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๒ กลุ่ม (การบริหารราชการแผ่นดิน กับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ)ให้แก่ตัวท่านเองแล้ว ผู้เขียนก็เชื่อว่า ท่านผู้ที่มาฟังการบรรยาย ซึ่งเป็น elite กลุ่มที่มี ความรู้สูงที่สุดของคนไทย คงตอบได้เอง ว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีของเรา เป็น statesman หรือไม่ และ ประเทศไทยของเรา ขาด statesman ที่เสียสละ หรือไม่
สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า สภาพการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ ดูหมือนว่า เราจะมีนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)อยู่ ๓-๔ กลุ่ม ต่างแย่งกันและสลับขั้วจับกลุ่มกันเข้ามา เพื่อเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและเข้ามาเป็นรัฐบาล(ในระบบรัฐสภา) ภายไต้ชื่อพรรคการเมือง ต่าง ๆ กัน ( ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะเปลึ่ยนชื่อพรรคฯ ไปตามโอกาส) แต่ไม่ว่าพรรคการเมืองของเราจะมี ชื่อเรียกว่าอย่างไร แต่กลุ่มนักการเมืองของเราก็(เกือบ)จะไม่เปลี่ยนแปลง เราคงพบกลุ่มนักการเมืองเดิม ๆ ลูกเมียพี่น้องนามสกุลเดิม ๆ และพรรคพวกเดิม ๆ ที่ร่วมกันลงทุนตั้งพรรคการเมืองและเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ภายไต้ ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศไทย (ประเทศเดียวในโลก)
ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) เป็นระบบที่บรรดานายทุนธุรกิจของเรา ได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ และอาศัย ความรู้ (หรือ ความไม่รู้ แล้วแต่จะเรียก ) ของคณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศไทย ชักชวนให้คนไทยทั้งหลายพากันเรียก ระบบนี้ ว่า เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (?)
ประเทศไทย จึงขาดทั้ง ความรู้ และขาดทั้ง statesmanที่เสียสละ
(จบ ส่วนที่ (๑) ว่าด้วย สาเหตุของ ปัญหาการเมืองของคนไทย อยู่ที่ไหน ; ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒)
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|