หน้าแรก บทความสาระ
ความรักชาติ (Patriotism) โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
29 มีนาคม 2552 21:10 น.
 
“ความรักชาติ คือการสนับสนุนประเทศของเราตลอดเวลา และสนับสนุนรัฐบาลของท่านเมื่อรัฐบาลนั้นสมควรได้รับการสนับสนุน (Patriotism is supporting your country all the time and your government when it deserves.)”
       
มาร์ก ทเวน/นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกัน
       
       ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยเราอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดที่ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามก็คือการโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าไม่รักชาติ ทั้งๆที่ความหมายหรือนิยามของคำว่า ความรักชาตินั้นยังไม่เคยมีการอรรถาธิบายให้ชัดเจนว่าอย่างไรถึงจะเรียกว่าความรักชาติ อย่างไรถึงจะเรียกว่าความไม่รักชาติ
       ความรักชาติของไทยเรานั้นได้ถูกผูกขาดโดยรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐมาโดยตลอด นับแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีการปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมควบคู่ไปกับ การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่ว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” หรือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ซึ่งในที่สุดก็พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง
       ความรักชาติถูกผูกขาดโดยคนบางกลุ่มบางเหล่ามาโดยตลอดว่าเป็นผู้ที่มี ความรักชาติมากกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งน่าแปลกที่จำนวนคดีผู้ที่ถูกลงโทษในข้อหาคอร์รัปชันไม่ว่าจะเป็นโทษทางอาญาหรือโทษทางวินัยกลับเกิดในคนกลุ่มต่างๆเหล่านั้นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังปรากฏข่าวคราวมาโดยตลอด จึงควรที่เราจะต้องมาพิจารณาว่าอย่างไรจึงจะเป็นความรักชาติที่แท้จริง
       ความรักชาตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมือง(political culture) ซึ่งในแต่ละสังคมนั้นจะถูกกำหนดขึ้นหรือได้รับอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อมหลายประการ เช่น ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา ฯลฯ โดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม(political socialization) โดยสถาบันต่างๆ เพื่อจะถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองจากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่องและมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงให้ เข้ากับสภาวะแวดล้อมต่างๆเสมอ
       
       ประเภทของวัฒนธรรมทางการเมือง
       ๑) แบบจำกัดวงแคบ(parochial political culture)
คือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมที่บุคคลไม่รู้และไม่สนใจการเมือง และไม่คิดว่าจะได้รับผลกระทบ จากการเมือง คนที่มีความคิดทางการเมืองแบบนี้จึงไม่คิดว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีสำนึกทางการเมืองต่ำ ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง
       ๒) แบบไพร่ฟ้า(subject political culture) คือ วัฒนธรรมทางการเมืองที่บุคคลสนใจและเข้าใจการเมืองบ้าง แต่อยู่ในในลักษณะที่เป็นการยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง ดังนั้น จึงไม่สนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเช่นกัน
       ๓) แบบมีส่วนร่วม(participant political culture) คือ วัฒนธรรมทางการเมืองที่บุคคลสนใจการเมืองและตระหนักว่าการเมืองมีผลกระทบต่อชีวิตเขาทุกในด้าน พวกเขาจึงกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
       
       ประเทศไทยเราอยู่ในกระแสแห่งการเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่คนไทยเรามีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมที่จำกัดวงแคบในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า ซึ่งถูกครอบงำด้วยข้าราชการและทหารติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ มาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการวิวัฒนาการไปสู่วัฒนธรรม ทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แต่ก็ต้องสะดุดด้วยการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
       
       อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชนบทที่ถูกกระแสของวิวัฒนาการของวัฒนธรรมทางการเมืองของเมืองใหญ่ด้วยการสื่อสาร และการกลับไปรับใช้สังคมบ้านเกิด ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองในชนบทเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น วัฒนธรรมทางการเมือง แบบดั้งเดิมและแบบไพร่ฟ้าของไทยไม่สามารถอยู่รอดได้ และต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมในที่สุด
       
       ฉะนั้น ความรักชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองก็ต้องมีการวิวัฒนาการจากแบบดั้งเดิมที่จำกัดวงแคบและแบบไพร่ฟ้าไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบ มีส่วนร่วม ซึ่งย่อมมีความแตกต่างจากความรักชาติแบบเดิมๆที่ในบางครั้งแปรสภาพไปสู่ ความคลั่งชาติ(chauvinism) ทำให้เกิดการรบราฆ่าฟันกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การปลุกระดมเข้ายึดดินแดนเพื่อนบ้านเพื่อจุดมุ่งหมายของการเป็นมหาอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จนล่าสุดคือเหตุการณ์ฆ่ากันระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงอันเนื่องมาจากการปลุกระดมให้รักชาติ จนกลายเป็นการคลั่งชาติ
       
       จะเห็นได้ว่าจากคำกล่าวของมาร์ก ทเวน ที่ผมยกขึ้นมาข้างต้นนั้นแม้ว่าจะกล่าวไว้เกือบร้อยปีมาแล้วยังคงเป็นความสัตย์จริงอยู่เสมอ และเป็นความรักชาติในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมหรือแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสนับสนุนรัฐบาลเมื่อรัฐบาลนั้นสมควรได้รับการสนับสนุนและแน่นอนว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลหากรัฐบาลนั้น ไม่สมควรได้รับการสนับสนุน
       
       ความรักชาติในสังคมประชาธิปไตยไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกเรื่อง ความรักชาติมิใช่อยู่ที่การร้องเพลงชาติได้เสียงดังหรือไพเราะกว่าคนอื่น ความรักชาติมิใช่อยู่ที่ว่าจะต้องยืนตรงเคารพธงชาติวันละ ๒ ครั้งทุกวันโดยเคร่งครัด ความรักชาติมิใช่อยู่ที่การกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าเสาธงทุกเช้าก่อนเข้าเรียนหรือเข้าทำงาน ความรักชาติมิได้หมายความว่าผู้ที่กล่าวคำปฏิญาณหรือคำสาบานตนจะรักชาติมากกว่าคนอื่นไม่ว่าจะเป็นในการฝึกอบรมมวลชนหรือก่อนการเข้ารับตำแหน่งทางราชการทั้งฝ่ายประจำหรือ ฝ่ายการเมือง
       
       แต่ความรักชาติอยู่ที่การทำความเห็นให้ตรงและพร้อมจะท้วงติงหากรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำไม่ถูกต้องหรือกำลังจะพาเราไปลงเหว ความรักชาติอยู่ที่การไม่หนุนหลังให้คนฆ่ากันด้วยความต่างเพราะสีเสื้อหรือความคิดเห็น ความรักชาติอยู่ที่การเห็นคนในชาติไม่จะอยู่ส่วนไหนหรือส่วนใดของประเทศมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ความรักชาติอยู่ที่การปฏิบัติ ตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในชนชั้นใดของสังคมต่างหาก จึงจะเรียกว่าความรักชาติที่แท้จริง
       
       
-------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544