การรื้อทิ้งอาคารศาลฎีกาที่สนามหลวง โดย คุณอธึก อัศวานันท์ |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ครั้งหนึ่งที่ผมในฐานะนักกฎหมายเด็กๆได้ติดตามลูกความอาวุโสไปต่างประเทศ ซึ่งเมื่อมีเวลาว่าง ลูกความผู้ใหญ่นั้นก็ไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศนั้นที่จัดแสดงวัตถุโบราณของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เราเห็นวัตถุโบราณที่สวยงามหลายชิ้นที่จัดแสดงอยู่นั้นเป็นของไทย ก็มีผู้แสดงความคิดว่าเป็นสมบัติของไทยที่สวยงามมากน่าจะเอากลับคืนสู่ประเทศไทย ลูกความท่านก็พูดว่า เอาไว้ให้ฝรั่งเก็บดีกว่า เพราะฝรั่งรักของเก่าทำที่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีไม่ให้มีภัยมาทำลายได้ แต่ถ้าเอากลับไปเมืองไทย คนเขาก็เอาไปทิ้งๆขว้างๆตากแดดตากฝนจนเสื่อมสลายไป ชาวโลกคงไม่มีโอกาสเห็นในสภาพที่สวยงามอีก เรื่องนี้ผมจำได้ดีตลอดมา
ผมทราบข่าวแผนการที่จะทุบทิ้งอาคารศาลฎีกาจาก internet ลูกโซ่ที่พรรคพวกที่นับถือกันส่งเวียนมาให้จึงทราบ ต่อมาก็เริ่มมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้มากขึ้น ผมก็ได้แสดงความเห็นไปด้วยในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจแล้ว ผมได้มีโอกาสค้นข้อมูลเพิ่มเติมมาบ้างดังนี้
เนื่องในการสมโภชกรุงเทพฯครบรอบร้อยปีในปี พ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างศาลหลวง (1) ขึ้นโดยทรงพระราชดำริเห็นว่า การอย่างธรรมเนียมพิจารณาตัดสินความมากมายหลายศาลหลายกระทรวง และผู้มีอำนาจต่างๆทั้งปวง บังคับบัญชาว่ากล่าวเอาเองแทบจะทุกกระทรวงพนักงานสับสนปะปนกันกับราชการอื่นๆนั้น เป็นเครื่องกีดกั้นให้การยุติธรรมเกิดยาก จำเป็นจะต้องจัดรวมเข้าให้เป็นแห่งเดียวกันและจัดให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณามีหน้าที่ที่จะทนุบำรุงรักษายุติธรรมอยู่ฝ่ายเดียว มิให้เกี่ยวในราชการอื่นๆได้ ตัดเหตุที่เป็นช่องของการที่ไม่เป็นธรรม และเพิ่มเติมเปิดช่องโอกาสของการที่จะให้เจริญในทางยุติธรรมทุกอย่างที่คิดเห็นได้ในเวลานี้ทุกสิ่งทุกประการ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒนพิพัฒนศักดิ สมุหพระกระลาโหมเรียกนายแกร ซี บราเดอ (Grassi Brothers) เดิมสัญชาติออสเตรีย แต่โอนสัญชาติเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส มารับจ้างก่อสร้างศาลหลวง
นายแกรซี บราเดอนี้ดูท่าจะตั้งรกรากมีธุรกิจเช่นโรงเลื่อยอยู่ในเมืองไทยมานานแล้ว เพราะปรากฎข่าวเล็กๆใน The New York Times ฉบับวันที่ 6 กรกฏาคม 1885 (พ.ศ. 2428) ว่ามีรายงานข่าวจากกรุงเทพว่าในวันที่ 13 พฤษภาคม นั้นเกิดไฟไหม้ขึ้นทำลายโรงเลื่อยของนาย Grassi Brothers และทรัพย์สินของบุคคลอื่นๆและมีผู้เสียชีวิตด้วย ก็ไม่ทราบว่าความเสียหายจากเพลิงไหม้นี้มีผลกระทบต่อขวัญ กำลังใจ และความสามารถทางการเงินของนาย Grassi Brothers ในการก่อสร้างศาลหลวง หรือไม่
ศาลหลวงนี้เป็นตึกหลังใหญ่พื้นสองชั้น โดยสูงตั้งแต่ดินขึ้นไปหกวาคืบตั้งแต่ฐานหอนาฬิกาสูงพ้นจากตึกหลังใหญ่ขึ้นไปถึงยอดซุ้มนาฬิกาสิบเจ็ดวาสามศอกคืบ ตึกหลังใหญ่ยาวสามสิบห้าวาสามศอกคืบ กว้างในที่กลางขาดหลังผนังสิบสองวาศอก ตึกแถวซ้าย ตึกแถวขวาสูงสามวา ยาวด้านละเจ็ดวาสองศอกคืบ กว้างห้าวาสองศอก รวมเป็นเขตศาลโดยยาวห้าสิบหกวา โดยกว้างสิบสองวา กำหนดพระราชทรัพย์เหมาเป็นราคาค่าจ้างและค่าสิ่งของต่างๆ รวมเป็นเงินสองพันสี่ร้อยยี่สิบเจ็ดชั่งกับสี่ตำลึง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรามาทรงวางศิลาก่อพระฤกษ์ศาลหลวงเมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 ซึ่งเป็นวันครบรอบร้อยปีของกรุงรัตนโกสินทร์ และพระราชทานนามว่า ศาลสถิตย์ยุติธรรม เพื่อ
เป็นที่ประชุมลูกขุนตระลาการขนศาลทุกกระทรวง และเป็นที่เก็บรักษาพระราชกฤตยฎีกากฎหมายพระราชบัญญัติเก่าพระราชบัญญัติใหม่รวบรวมไว้ในที่เดียวนี้ทั้งสิ้น เพื่อจะให้สอบสวนง่าย แลให้การเสร็จคดีได้โดยเร็วเปนที่เบาใจของผู้ต้องคดีทั้งปวงแล้วโปรดเกล้าฯให้จาฤกเรื่องที่ทรงพระราชดำริห สร้างศาลหลวงนี้ ไว้ในหิรัญบัตรบรรจุหีบไว้ในแท่งศิลาใหญ่ ซึ่งเป็นศิลาประฐมฤกษ เพื่อให้เปนสิ่งสำคัญประจำอยู่กับศาลสืบไปภายน่า
ปรากฎตามประวัติศาสตร์ว่า ศาลสถิตย์ยุติธรรมหลังที่สร้างนี้ได้มีหอนาฬิกาสูงมาก สูงตั้งแต่ดินขึ้นไปหกวาคืบ ตั้งแต่ถานหอนาฬิกาสูงพ้นจากตึกหลังใหญ่ขึ้นไปถึงยอดซุ้มนาฬิกาสิบเจ็ดวาสามศอกคืบจะหมายความว่าหอนาฬิกานี้สูงจากพื้นถึง 48 เมตร แต่หลังจากก่อสร้างมาเพียง 10 ปี หอนาฬิกาบนหลังคาศาลสถิตย์ยุติธรรมก็เกิดทรุดจนต้องรื้อลงหมดในปี ร.ศ. 111 (พ.ศ.2435) สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ประทานหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) เมื่อ พ.ศ. 2481กล่าวถึงหอนาฬิกาที่ศาลสถิตย์ยุติธรรมไว้ว่า
ศาลสถิตย์ยุติธรรม
เดิมมีหอสูงติดนาฬิกา 4 ด้าน และมีบุษบกทองสัมฤทธิ์กับฉัตรทองสัมฤทธิ์ 4 คันตั้งบนยอดหอสูง แต่เมื่อล่วงมาหลายปีหอสูงนั้นทรุดอินเยอเนียตรวจเห็นว่าถ้าทิ้งไว้จะพังจึงโปรดให้รื้อหอสูงเสีย บุษบกทองสัมฤทธิ์ที่เคยตั้งบนยอดหอสูงเอาไปไว้ที่ไหนฉันจำไม่ได้ ไปพบเมื่อเริ่มจัดพิพิธภัณฑสถานในรัชกาลที่ 7 จึงให้เอามารักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถาน
ในปัจจุบันอาคารที่สร้างขึ้นใหม่นี้ยังใช้เป็นศาลฎีกา เชื่อว่านักกฎหมายนั่งทำงานอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เคยผ่านเข้าในอาคารหลังนี้ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรม เข้ายื่นคำร้อง ขึ้นว่าความ หรือแม้แต่เข้าร่วมทำการสักการะพระรูปของ กรมหลวงราชบุรี ทางด้านหน้าของอาคาร อย่างหนึ่งอย่างใดมาแล้ว
มีคำวิจารณ์ถึงรูปทรงความสวยงามของอาคารนี้ต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าไม่สวย บ้างก็ว่าไม่เป็นรูปทรงไทยบ้างก็ว่าไม่เหมือนอาคารกระทรวงตามถนนราชดำเนิน ฯลฯ
ผมว่าจะสวยหรือไม่สวยก็ไม่สำคัญ อาคารนี้สำคัญเพราะมีคุณค่าและความหมายอย่างยิ่งต่อวงการกฎหมาย เพราะอาคารนี้มีประวัติการใช้งานมายาวนาน คดีประวัติศาสตร์จำนวนนับไม่ถ้วนก็ทำการพิจารณาพิพากษากันในอาคารนี้ ผู้พิพากษาและนักกฎหมายที่เป็นบุคคลตัวอย่างจำนวนมากก็เคยทำงานสำคัญของท่านในอาคารนี้ และนักกฎหมายจำนวนมากก็มีความผูกพันกับอาคารนี้ และมาจนบัดนี้ อาคารหลังนี้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Landscape ภูมิทัศน์ที่สำคัญบริเวณสนามหลวงของเกาะรัตนโกสินท์ เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ที่รู้จักคุ้นตากันของทั่วโลกไปแล้ว
ไม่ว่าคนอื่นเขาจะว่าอาคารนี้สวยหรือไม่สวย ก็ช่างเขาเถอะ พวกผมคนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายก็รักและผูกพันกับอาคารนี้ของพวกผมครับ
ผมว่าอาคารที่จะสร้างใหม่นี้ก็ดูสวยดี แต่จะสวยกว่านี้มาก ถ้าท่านไปสร้างในที่อื่นโดยไม่ต้องรื้ออาคารศาลฎีกาปัจจุบันที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ลง
เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องมีอาคารที่ทำการศาลใหม่ ศาลก็สามารถสร้างอาคารที่ทำการใหม่ที่สวยงามนี้ได้ในสถานที่อื่นได้โดยขอที่ดินอื่นจากรัฐซึ่งมีที่ดินอยู่มากมายที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตัวอย่างของการพยายามสงวนรักษาไม่ทำลายสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้มีมากมาย เช่น เมื่อคณะรัฐมนตรีมีความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ทำงานมากขึ้นจนเกินกว่าที่ตึกไทยคู่ฟ้าจะรองรับสนองความต้องการการใช้งาน ท่านก็ไม่รื้อตึกไทยคู่ฟ้าลงเพื่อสร้างตึกใหม่ แต่ท่านขยับขยายไปสร้างที่อื่น เพื่อสงวนรักษาตึกไทยคู่ฟ้าไว้ให้เป็นหน้าตาและมรดกของบ้านเมืองเรา เช่นเดียวกับการเก็บรักษาบ้านพิษณุโลกเอาไว้ ของเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้ จะทุบโครมเดียวก็สูญหายไปเลย ทำลายได้ง่ายมาก แต่เมื่อทำลายแล้ว ของเหล่านี้ไม่กลับมาอีกจะเหลือแต่รูปภาพ ได้โปรดเก็บอาคารศาลฎีกาไว้ให้ลูกหลานเราดูเถอะครับ หากท่านจะไม่ใช้งาน ก็ยังสามารถใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ศาลก็จะเหมาะมาก
ในต่างประเทศเขาก็มีการสงวนรักษาสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้ เช่น มลรัฐเพนซิลเวเนียก็ยังเก็บรักษาระฆังเก่าๆที่แตกๆใช้การไม่ได้เอาไว้เพื่อระลึกว่าเคยใช้ตีระฆังใบนี้เพื่อเรียกชาวเมืองฟิลาเดลเฟียมาฟังประกาศที่สหรัฐอมริกาประกาศอิสระภาพแยกตัวจากอังกฤษ ถ้าคนอเมริกันเห็นว่าระฆังใช้ไม่ได้แล้วเลยเอาไปหลอมใหม่ ในปัจจุบันคนคงไม่มีโอกาสเห็น Liberty Bell
เวลาเราดูข่าวที่เขาถกกันในสภาอังกฤษ เราก็จะเห็นผู้แทนราษฎรของอังกฤษนั่งปนอยู่กับนายกรัฐมนตรีอังกฤษในห้องประชุมเล็กๆแคบๆที่ใช้กันมานานแสนนานแล้ว แม้จะคับแคบเขาก็เก็บรักษาเพื่อการใช้งานต่อไปด้วยความภูมิใจว่าเขาได้นั่งทำงานในที่ๆบรรพบุรุษและบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ของเขาเคยนั่งทำหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศของเขามาก่อน
มีตัวอย่างอีกมากมายของชาติที่เจริญทางจิตใจแล้วที่พยายามสงวนรักษาสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ เพื่อเอาไว้ใช้สอนลูกหลานให้ดูว่าในอดีตนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร แม้แต่อาคารบ้านเรือนที่ไม่เก่านักเขาก็พยายามเก็บรักษาไว้ หากตึกอาคารเก่าเกินไป เขาก็จะรื้อภายในออก แต่เก็บเปลือกนอก (façade) ของอาคารเอาไว้ โดยทำเปลือกนอก (façade) ให้แข็งแรง แล้วสามารถสร้างภายในใหม่ให้ทันสมัยใช้งานได้ดี ดังตัวอย่างที่เราเห็นได้ทั่วไป ภาพสองภาพนี้ก็เป็นการก่อสร้างในต่างประเทศ โดยการเก็บ façade ไว้
เป็นตึกคนละหลังกันนะครับ ฝรั่งเขาเก็บ façade นี้ไว้เพราะความสวยงาม ไม่ใช่เพราะเป็นอาคารที่สำคัญ ถ้าเป็นอาคารที่มีความหมายสำคัญแล้วเขายิ่งต้องรักษากันเอาไว้อย่างดีทีเดียว
ในทางกฎหมาย ก็มีพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๐๔ ให้อำนาจภาครัฐที่จะประกาศให้อาคารใดที่เห็นว่าเป็น อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ให้เป็นโบราณสถานเพื่อไม่ให้มีการทุบทิ้งทำลายกัน
นอกจากนี้แล้วทางรัฐก็ใช้อำนาจของรัฐในทางต่างๆกันออกกฎเกณฑ์ควบคุมการก่อสร้างต่อเติมอาคารบ้านเรือนที่มีนัยยะทางศิลปหรือทางประวัติศาสตร์ เพื่อสงวนรักษาสิ่งที่มีคุณค่างประวัติศาสตร์เอาไว้กฎเกณฑ์ต่างๆดังกล่าวก็มีผลบังคับใช้กับภาคเอกชน ให้เอกชนปฎิบัติตาม ซึ่งก็เป็นภาระต่างๆของทางภาคเอกชนที่ภาครัฐกำหนดให้เอกชนทำการอนุรักษ์ตึกอาคารต่างๆ เมื่อภาครัฐมีอำนาจกำหนดเพิ่มภาระให้เอกชนทำการอนุรักษ์สงวนรักษาอาคารที่มีคุณค่าได้ รัฐก็ควรจะทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เอกชนเช่นกันในการสงวนรักษาอาคารศาลฎีกานี้
ความจริงก็ยังมีเอกชนอีกมากมายหลายคณะหลายกลุ่มที่ทำการอนุรักษ์รักษาอาคารบ้านเรือนที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ด้วยทุนรอนและความสมัครใจของตนเองแม้จะไม่มีกฎหมายบังคับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็มีมากมาย เช่นอาคารหอประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ถนนอโศก ที่มีอายุอานามไล่เลี่ยกับอาคารศาลฎีกา และมีปัญหาว่าไม่สามารถสนองความต้องการการใช้งานของสมาคมได้ แต่สมาชิกของสมาคมก็พยายามบำรุงรักษาสงวนเอาไว้ให้นานที่สุดด้วยกำลังทรัพย์ของตนเอง เช่นเดียวกับการพยายามสงวนรักษา เรือนคำเที่ยง ซึ่งเป็นเรือนล้านนาอายุประมาณ ๑๖๐ ปีในบริเวณของสยามสมาคม โดยไม่ยอมรื้อทิ้งเพื่อปรับปรุงสร้างใหม่ให้สนองความต้องการการใช้งาน ชาวต่างประเทศจำนวนมากที่ ซื้อ หรือ เช่า บ้านโบราณเพื่อใช้เป็นสำนักงานหรือบ้านพักโดยปรับปรุงและเก็บรักษาสภาพไว้ให้ยาวนานที่สุด ซึ่งเราก็จะเห็นตัวอย่างอยู่ทั่วไป
ภาครัฐสามารถสงวนรักษาอาคารนี้เอาไว้โดย การเก็บรักษาไว้ทั้งอาคารใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ศาลแล้วสร้างที่ทำการศาลฎีกาขึ้นใหม่ในที่ๆอื่นของรัฐที่ยังไม่ได้ใช้งาน หรือเก็บรักษา façade เอาไว้แล้วสร้างโครงสร้างภายในขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นที่ทำการ และถ้าบริเวณใช้งานไม่พอ ก็ขอให้สร้างที่ทำการเพิ่มในที่ดินอื่นๆของภาครัฐเป็นการกระจายความสวยงามออกไปด้วย
ผมคัดค้านการรื้ออาคารศาลฎีกาที่สนามหลวงครับ
เชิงอรรถ
1. เรียบเรียงจาก web www.museum.judiciary.go.th/malao/new_112.html ของสำนักงานศาลยุติธรรม
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|