หน้าแรก บทความสาระ
ระบอบกึ่งประธานาธิบดี โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
1 มีนาคม 2552 20:17 น.
 
หลังจากที่ได้กล่าวถึงการปกครองระบอบประธานาธิบดี (presidential system) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบไปแล้วว่ามีหลักการสำคัญและเหมือนหรือแตกต่างจากระบอบรัฐสภา (parliamentary system) อย่างไร ก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นตามมาอย่างหลากหลาย ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่าระบอบประธานาธิบดีเองนั้นก็มิใช่จะมีความสมบูรณ์หรือเหมาะสมกับทุกประเทศเพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง ข้อดีก็คือประธานาธิบดีไม่ต้องถูกรัฐสภาตรวจสอบหรือถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ข้อเสียก็คือหากประเทศใดที่ใช้ระบอบนี้ระบบพรรคการเมืองไม่เข้มแข็งก็จะเกิดความไม่ราบรื่นในการบริหารประเทศตามมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกกฎหมาย เป็นต้น
       ระบอบกึ่งประธานาธิบดี (semi-presidential system) หรือเรียก อีกอย่างหนึ่งว่าระบอบกึ่งรัฐสภา(semi-parliamentary system) ที่จะกล่าวถึงนี้ จริงๆแล้วก็คือระบอบประธานาธิบ ดีนั่นเอง แต่ได้ถูกปรับปรุงหรือแก้ไขหลักการใหม่เพื่อเหมาะสมกับแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศแรกที่นำระบอบกึ่งประธานาธิบดีมาใช้ก็คือประเทศฝรั่งเศส และตามมาด้วยประเทศที่เกิดใหม่ทั้งหลายที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียตภายหลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์นั่นเอง
       ระบอบกึ่งประธานาธิบดีนี้พัฒนามาจากประเทศฝรั่งเศสในช่วงที่มี ความวุ่นวายทางการเมือง ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็จะเกิดข้อขัดแย้งอยู่เสมอ ทำให้ การบริหารบ้านเมืองหยุดชะงัก ดังนั้น นักรัฐศาสตร์และนักกฎหมายมหาชนของฝรั่งเศสจึงได้คิดรูปแบบการปกครองใหม่ที่นำเอาระบอบประธานาธิบดีและระบอบรัฐสภามาผสมผสานกัน โดยให้ประธานาธิบดียังมีอำนาจมากแต่ก็เปิดโอกาสให้รัฐสภาควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหารได้ด้วย
       
       หลักการสำคัญของระบอบกึ่งประธานาธิบดี
       ๑) ประธานาธิบดียังคงมีอำนาจสูงสุด เพราะได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีในระบอบนี้แตกต่างจากระบอบประธานาธิบดีคือประธานาธิบดีจะแบ่งสรรอำนาจในการบริหารให้แก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลบางส่วน กล่าวให้เข้าใจง่ายๆก็คือประธานาธิบดีมีอำนาจในทางการเมือง ส่วนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการบริหารจัดการ แต่อำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ และการลงนามในกฎหมายยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี ซึ่งแตกต่างจากประธานาธิบดีในระบอบประธานาธิบดีที่จะกุมอำนาจบริหารไว้หมดและจะไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบนี้ และในทำนองกลับกันตัวประธานาธิบดีในระบอบรัฐสภาก็เป็นเพียงประมุขแต่ไม่มีอำนาจใน การบริหาร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารแทน
       ๒) อำนาจของรัฐสภาในระบอบนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างระบอบรัฐสภาและระบอบประธานาธิบดี คือ รัฐสภามีอำนาจมากรัฐสภาในระบอบประธานาธิบดี แต่ก็ยังมีอำนาจน้อยกว่าระบอบรัฐสภา เพราะรัฐสภามีอำนาจในการควบคุมการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้ สามารถตั้งกระทู้ถามหรือเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ ซึ่งในระบอบประธานาธิบดีไม่สามารถทำอย่างนี้ได้
       ๓) นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชอบต่อประธานาธิบดี แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาด้วย ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีจึงมีภาระที่ต้องขึ้นอยู่กับทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา เพราะทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาสามารถปลดนายกรัฐมนตรีออกได้ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีอาจเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง
       
       จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าคณะรัฐมนตรีในระบอบกึ่งประธานาธิบดีนี้ค่อนข้างปฏิบัติงานด้วยความยากลำบากกว่าคณะรัฐมนตรีในระบอบประธานาธิบดีแท้ๆหรือคณะรัฐมนตรีในระบอบรัฐสภา เพราะต้องรับผิดชอบต่อทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา และยิ่งหากประเทศใดที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากแล้ว รัฐสภาก็อาจจะไม่มีเสถียรภาพ หรือหากประธานาธิบดีไม่มีบารมีจริงๆก็อาจจะควบคุมคณะรัฐมนตรีหรือประสานงานกับรัฐสภาไม่ได้ ความวุ่นวายก็ตามมา
       
       อย่างไรก็ตามระบอบกึ่งประธานาธิบดีฯนี้ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเสียทีเดียว ไม่เช่นนั้นประเทศที่เกิดใหม่ทั้งหลายคงไม่นำระบอบกึ่งประธานาธิบดีนี้ไปใช้กันเป็นจำนวนมาก ข้อดี ที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดและมีอิสระในการทำงาน ซึ่งเหมาะสมกับประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย เพราะสภาพบ้านเมืองของประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้นและประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายหาผู้ที่มีบารมีหรือมีอิทธิพลทางการเมืองได้ยาก หากใช้ระบอบรัฐสภาก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศเพราะมีพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาดจึงทำให้รัฐบาลมีอายุยืนยาวขึ้น สามารถปฏิบัติภารกิจได้เต็มที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจด้านการทหาร
       
       ข้อดีอีกประการหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของระบอบนี้ก็คือการแยกอำนาจทางการเมืองและอำนาจบริหาร ทำให้ประธานาธิบดีไม่ต้องทำงานบริหารแบบงานประจำ เช่น การ ลงนามลงชื่อในงานประจำทั้งหลาย การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ ประธานาธิบดีในระบอบนี้ได้ใช้เวลาในการปฏิบัติงานด้านการเมืองอย่างเต็มที่ เช่น การเสนอนโยบาย วิเคราะห์และวางแผนทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ
       
       กล่าวโดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะเป็นระบอบประธานาธิบดี ระบอบรัฐสภาหรือระบอบกึ่งประธานาธิบดีต่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ประเทศไหนจะใช้การปกครองในระบอบใดย่อมขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางการเมืองของประเทศนั้นๆ และขึ้นอยู่กับแนวคิดของประชาชนในชาติว่าจริงๆแล้วเขาต้องการการปกครองในระบอบไหน
       เราต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใดใน ๓ ระบอบนี้ จะขาดเสียซึ่งหลักการของประชาธิปไตยไปไม่ได้ หลักการที่ว่านั้นก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หลักของของความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าอยู่ส่วนไหนของประเทศ หลักของการยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดมาในตระกูลใดหรือชนเผ่าใดว่ามีความเป็นมนุษย์มีเลือดมีเนื้อและล้วนแล้วแต่ต้องการสิทธิเสรีภาพในการพูดและการเขียนตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น
       
       การเมืองก็เหมือนสิ่งอื่นๆที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาไปตามระยะเวลา การที่ประเทศใดยังแข็งขืนทวนกระแสโลกให้บุคคลเพียงไม่กี่ตระกูลหรือ ไม่กี่อาชีพยึดครองโดยไม่สนใจใยดีกับเสียงของประชาชน กลุ่มคนเหล่านั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกงล้อของประวัติศาสตร์กวาดตกเวทีไปอย่างแน่นอน
       
--------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544