หน้าแรก บทความสาระ
ระบอบประธานาธิบดี โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
14 กุมภาพันธ์ 2552 16:47 น.
 
จากวิวาทะระหว่างนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลกับนักการเมืองฝ่ายค้านที่คุณสุเทพไปกล่าวหาว่าคุณทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี จนเกิดการฟ้องร้องและโต้เถียงกันใน สภาผู้แทนราษฎรอย่างรุนแรง ทำให้หลายๆคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางการเมืองการปกครองเกิด ความสงสัยกันว่าไอ้ระบอบประธานาธิบดีนั้นมันคืออะไรกันแน่ ทำไมข้อกล่าวหานี้ถึงทำให้เกิดข้อพิพาทกันอย่างรุนแรงทั้งๆที่หลายประเทศก็มีประธานาธิบดี
       
       รูปแบบของการปกครองในระบอบประธานาธิบดีเกิดขึ้นแห่งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีหลักการดังนี้
       ๑) มีการแบ่งแยกอำนาจ(Separation of Power) ได้แก่การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติอย่างชัดเจน โดยฝ่ายบริหารเป็นอิสระต่อการควบคุมของรัฐสภา ซึ่งรัฐสภาไม่มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีหรือรัฐบาล ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนจะเป็นผู้สรรหาและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดีเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ต้องไปร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อตอบกระทู้ถามจากรัฐสภาแต่อย่างใด และรัฐมนตรีจะไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาได้(ยกเว้นรองประธานาธิบดีที่จะเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง)
       ๒)ใช้หลักการคานอำนาจ(Balance of Power) เนื่องจาก ทั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาต่างได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ดังนั้น จึงมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยใช้วิธีตรวจสอบและคานอำนาจซึ่งกันและกัน(Check and Balance) ทั้งนี้ เพื่อมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจมากเกินไป ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีมีอำนาจในการใช้สิทธิยับยั้ง(Veto)โดยการไม่ลงนามในกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ในขณะที่รัฐสภามีอำนาจลบล้างสิทธิยับยั้งดังกล่าวของประธานาธิบดีได้ด้วยการลงคะแนนรอบสอง ซึ่งหากคะแนนเสียงของสมาชิกสภาทั้งสองยืนยันด้วยคะแนน ๒ ใน ๓ ก็จะถือว่ากฎหมายนั้นมีมีผลบังคับใช้ได้
       ๓)รัฐสภามีอำนาจในการกล่าวโทษประธานาธิบดี เรียกว่าการ อิมพีชเมนท์(Impeachment) โดยการที่จะมีการอิมพีชเมนท์นั้นต้องมีคะแนน ๒ ใน ๓ ของรัฐสภา และขั้นตอนสุดท้ายวุฒิสภาจะเป็นผู้ปลด(Removal)ประธานาธิบดีด้วยเสียง ๒ ใน ๓ ของวุฒิสภา
       ๔) วุฒิสภามีอำนาจในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร(เป็นรายบุคคล) เช่นรัฐมนตรี หรือเอกอัครราชทูตตามที่ประธานาธิบดีเสนอมา หากวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็จะดำรงตำแหน่งไม่ได้
       ๕) การเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการ สำหรับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงที่อยู่ได้จนตลอดชีวิตนั้น อำนาจในการแต่งตั้งเป็นของประธานาธิบดี โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ส่วนผู้พิพากษาอื่นล้วนมาจากการเลือกตั้ง(ยกเว้นตำแหน่ง Associate Judge) ซึ่งศาลสูง(Supreme Court)ในระบอบประธานาธิบดีนี้มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายฉบับใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกมานั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหากกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัตินั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นเป็นอันตกไป
       ๖) ประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นคนๆเดียวกัน เพราะประธานาธิบดีเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนทั้งประเทศ ทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างมากมายและได้รับการยอมรับจากประชาชนในฐานะประมุขของประเทศอีกด้วยซึ่งแต่งตากจากระบอบรัฐสภาที่ประมุขของประเทศกับหัวหน้าฝ่ายบริหารจะเป็นคนละคนกัน
       ในการปกครองระบอบรัฐสภา เช่น อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ นั้น ประมุขของประเทศอาจเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี
(ในกรณีที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ เช่น อินเดีย เป็นต้น)ก็ได้ แต่กษัตริย์หรือประธานาธิบดีในระบอบนี้เป็นเพียงประมุขของประเทศเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศแต่อย่างใด หัวหน้าฝ่ายบริหารในการปกครองระบอบรัฐสภาคือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น โดยประชาชนจะเป็นเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรแล้วผู้แทนฯนั้นไปตั้งรัฐบาลอีกทีหนึ่ง พูดง่ายๆก็คือหัวหน้ารัฐบาลในระบอบรัฐสภานี้มาจากสภา แต่หัวหน้ารัฐบาลในระบอบประธานาธิบดีซึ่งก็คือตัวประธานาธิบดีนั้นมาจากการเลือกตั้งต่างหากจากการเลือกตั้งผู้แทนในระบอบรัฐสภานั่นเอง
       ฉะนั้น ประเด็นของการวิวาทะดังที่ได้กล่าวมาตอนต้นที่เป็นประเด็นร้อนแรง ก็คือประเด็นของประมุขของประเทศนั่นเอง เพราะในระบอบประธานาธิบดีประมุขของประเทศและหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นคนๆเดียวกันคือประธานาธิบดีเท่านั้น เมื่อมีการกล่าวหากันว่า คุณทักษิณฝักใฝ่ในระบอบประธานาธิบดีหรืออยากเป็นประธานาธิบดีไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีในระบอบประธานาธิบดีหรือประธานาธิบดีในระบอบรัฐสภาก็ตาม จึงเป็นการกล่าวหา ที่รุนแรงว่าคุณทักษิณต้องการล้มสถาบันกษัตริย์นั่นเอง
       ส่วนจะเป็นความจริงหรือไม่จริงนั้นไม่มีใครสามารถรู้ได้นอกจากตัวคุณทักษิณเอง แต่การที่คุณสุเทพไปกล่าวหาคุณทักษิณนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในศาลว่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่ แต่ก็คงเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะคุณทักษิณยังเป็นสัมภเวสีล่องลอยอยู่ในต่างประเทศในฐานะนักโทษหนีคดีซึ่งหลายปีกว่าจะหมดอายุความ แต่ก็เป็นที่ประหลาดใจว่าคุณสุเทพไปรู้ใจคุณทักษิณได้อย่างไร
       การที่กล่าวอ้างว่าสังเกตจากคำพูดของคุณทักษิณที่พูดถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญบ้างหรืออ้างว่าพฤติการณ์ของคุณทักษิณส่อไปในทางนั้นบ้าง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ คุณสุเทพจะได้เที่ยวไปโพนทะนา ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่อาจรู้ได้ และก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเที่ยวพูดไปเรื่อยเปื่อย เพราะข้อหาการล้มล้างสถาบันกษัตริย์นั้นตามกฎหมายอาญาเป็นข้อหาที่รุนแรงมีโทษถึงประหารชีวิต
       คำกล่าวที่ว่า “คำพูดก่อนที่เราจะพูดออกไปนั้นเราเป็นนายมัน แต่เมื่อเราพูดออกไปแล้วคำพูดเป็นนายเรา” ยังคงเป็นความจริงอันอมตะอยู่เสมอ ฉะนั้น ความเดือดร้อนของไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณหรือคุณสุเทพที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากคำพูดของทั้งสองคนในต่างกรรมต่างวาระ
       
       เห็นทีละครการเมือง(Political Drama)เรื่องนี้คงจะกลายเป็น หนังชีวิตเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งชองวงการการเมืองไทยเสียเป็นแน่
       
       -----------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544