หน้าแรก บทความสาระ
หลักการเบื้องต้นในการตีความกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา โดย อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
18 มกราคม 2552 21:24 น.
 
ก่อนที่จะได้ลงในรายละเอียดด้วยการอรรถาธิบายถึงหลักการเบื้องต้นบางประการในการตีความตัวบทกฎหมายของนักกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนใคร่ขอได้กล่าวเสียก่อนแต่ในข้างต้นว่าบทความชิ้นนี้นั้นค่อนข้างจะมีรูปแบบของการอ้างอิง (form of citation) หรือการทำเชิงอรรถที่อาจจะดูแปลกหูแปลกตาไปเสียหน่อย กล่าวคือ วิธีการทำเชิงอรรถของผู้เขียนในบทความชิ้นนี้จะแตกต่างกับการทำเชิงอรรถในบทความของผู้เขียนคนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งงานของผู้เขียนเองที่เคยเขียนมา เนื่องจากว่าเป็นวิธีการทำเชิงอรรถในรูปแบบของนักกฎหมายชาวอเมริกันซึ่งก็เป็นครั้งแรกของผู้เขียนด้วยที่เขียนงานด้วยวิธีการดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พบกับงานเขียนในรูปแบบที่ต่างประเทศได้ทำกันโดยทั่วไปบ้าง อีกทั้ง อาจจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่านผู้อ่านที่สนใจจะไปทำการศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมาย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวอีกนัยหนึ่ง รูปแบบของวิธีการทำเชิงอรรถของบทความชิ้นนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านได้คุ้นเคยกับรูปแบบของบทความวิชาการทางกฎหมายที่ท่านผู้อ่านจะต้องประสบพบเจออย่างหลีกเลี่ยงมิได้เมื่อตนเองได้ไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา
       
       ความเบื้องต้น
       
       หากกล่าวถึงการตีความแล้ว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ดี ศาสตร์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันเป็นอย่างมากในหมู่นักนิติศาสตร์ด้วยกันเองในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ในคำถามที่ว่าจะใช้วิธีการตีความ (interpretive approach) ด้วยวิธีใดและอย่างไรเพื่อการได้มาซึ่งความหมายของกฎหมายต่างๆ อย่างถูกต้องและใกล้เคียงกับเจตนารมณ์ (intent) ของผู้ร่างกฎหมายมากที่สุด จากปัญหาข้างต้นนี้ ท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นหลักการตีความกฎหมายด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย
       การตีความกฎหมายนั้นหาได้เป็นศาสตร์จำเพาะองค์กรฝ่ายตุลาการ (judicial branch) อย่างที่บุคคลทั่วไปคิดไม่ หากแต่เป็นศาสตร์ที่จำเป็นและถูกใช้โดยองค์กรอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเองก็ดี หรือองค์กรฝ่ายบริหารเองก็ดี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้พิพากษาในศาลเท่านั้นที่จะต้องมีการใช้การตีความกฎหมายเพื่อการวินิจฉัยอรรถคดีต่างๆ แต่บ่อยครั้งที่สภาคองเกรส (Congress) และฝ่ายบริหารซึ่งนำโดยประธานาธิบดีต้องตีความกฎหมายเพื่อตรวจสอบถึงขอบเขตอำนาจของตนเองในการออกกฎหมายและคำสั่งต่างๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าสภาคองเกรสก็จำต้องมีการตีความตัวบทกฎหมายต่างๆ ด้วย ปรากฎอยู่ในคดี McCulloch v. Maryland ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า สภาคองเกรสอันเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัตินั้นจำต้องมีการตีความกฎหมายอย่างรัฐธรรมนูญว่า ภายใต้ข้อบัญญัติที่ 1 ส่วนที่ 8 ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า “บทบัญญัติว่าด้วยความจำเป็นและเหมาะสม” (Necessary and Proper Clause) ได้ให้อำนาจแก่สภาคองเกรสไว้มากน้อยเพียงใดในการตราตัวบทกฎหมายขึ้นเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนในคดี Youngtown Sheet And Tube v. Sawyer เป็นคดีที่สะท้อนให้เห็นในทำนองเดียวกันว่าแม้แต่ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขขององค์กรฝ่ายบริหารเอง ก็จำต้องมีการตีความรัฐธรรมนูญว่าได้ให้อำนาจกับตนหรือไม่อย่างไรในการออกคำสั่งต่างๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการถูกบุคคลใดๆ ร้องคัดค้านต่อศาลสูงสุด (Supreme Court) ว่ากฎหมายและคำสั่งนั้นๆ ที่ออกโดยสภาคองเกรสหรือโดยประธานาธิบดีไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจนนำไปสู่การยกเลิกเพิกถอนในภายหลังนั่นเอง
       อย่างไรก็ตาม แม้จะปรากฎข้อเท็จจริงข้างต้นที่ว่าองค์กรหลักทั้ง 3 ข้างต้นก็มีอำนาจในการตีความตัวบทกฎหมายต่างๆ แต่จิตใต้สำนึกของประชาชนโดยส่วนใหญ่ก็ยอมรับกันเป็นการทั่วไปว่าองค์กรตุลาการอย่างศาลนั้น เป็น “องค์กรสุดท้าย” (the last resort) ที่จะทำการตีความกฎหมายต่างๆ และตัดสินชี้ขาดว่าท้ายที่สุดแล้ว “กฎหมายนั้นๆ มีความหมายอย่างไร”[FN1] โดยคดีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยนักกฎหมายชาวอเมริกันครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าวคือคดี Marbury v. Madison
       หากพิจารณาในมุมมองทางนิติศาสตร์ การตีความถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากโดยสภาพแล้ว ตัวอักษร หรือข้อความในกฎหมายค่อนข้างมีความคลุมเครือ (ambiguity) ไม่มีความชัดเจนพอที่จะทำให้ผู้อ่านหรือผู้ใช้เข้าใจได้ ดังนั้น การตีความจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจในตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ถ่องแท้ และนำไปสู่การบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพในท้ายที่สุด กล่าวคือ หากตัวอักษรที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายมีความชัดเจนในตัวของมันเองแล้ว การตีความก็จะไม่มีความสำคัญหรือจำเป็นแต่อย่างใด ดังสุภาษิตลาตินที่กล่าวไว้ว่า “Cum in verbis nulla ambiguitas est, non debet admitti voluntatis quaestio.” อันมีความหมายว่า “เมื่ออักขระมีความชัดเจนในตัวมันเองแล้ว ความสงสัยจึงมิอาจเกิดขึ้นมาได้”[FN2] ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นสิ่งที่มิอาจเป็นได้เลย ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “ความเหมาะสม” (suitability/ reasonableness) หรือคำว่า “ความจำเป็น” (necessity) จะมีความหมายว่าอย่างไร? ครอบคลุมไปถึงขนาดไหน? เป็นต้น
       หัวหน้าผู้พิพากษา จอห์น มาแชล (John Marshall) ในศาลสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาได้เคยกล่าวเกี่ยวกับความกำกวมของตัวอักษรเอาไว้ว่า “โดยธรรมชาติของตัวอักษรที่มนุษย์ใช้อยู่นั้น มิอาจมีคำหรืออักษรใดที่จะบอกหรือสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของผู้ต้องการใช้ได้อย่างชัดเจน”[FN3] ถึงแม้ว่าในบางกรณี เราอาจมองว่าตัวอักษรหรือข้อความในตัวบทกฎหมายหนึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าต้องการสื่อหรือหมายความว่าอย่างไร แต่ตัวอักษรหรือข้อความเดียวกันนี้กลับถูกพิจารณาโดยบุคคลอื่นว่าคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็มิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะก็เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในสำนักงานทนายความ ในห้องเรียนวิชากฎหมาย หรือแม้กระทั่งในห้องพิจารณาคดีในศาลเองก็ตาม
       อย่างไรก็ดี นอกจากตัวอักษรที่มีความคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจนในตัวของมันเองแล้ว บริบทของตัวอักษรดังกล่าวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความสับสนงงงวยให้กับผู้อ่านหรือผู้ใช้กฎหมายเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากการที่ผู้ร่างกฎหมายในขณะนั้นๆ ได้ร่างกฎหมายขึ้นอย่างกว้างๆ เพื่อที่จะได้ครอบคลุมกับเหตุการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตหรือด้วยเหตุผลอื่นๆ นั่นเอง ดังนั้น จากปัญหาทางด้านตัวอักษรและบริบทของตัวบทกฎหมายตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น จึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงหลักการในการตีความตัวบทกฎหมายในเบื้องต้นนี้เสียก่อนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
       
       หลักและวิธีการเบื้องต้นในการตีความ
       

       เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการตีความถูกสร้างขึ้นมาเพื่อค้นหาเจตนารมณ์อันแท้จริงของผู้ร่างกฎหมาย ณ ขณะนั้นๆ สิ่งแรกที่ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาจะใช้ในการตีความจนทำให้สามารถรู้และเข้าใจได้ถึงเจตนารมณ์ข้างต้นได้คือ ตัวกฎหมายนั้นๆ เอง[FN4] กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตัวอักษรโดยตัวมันเองสามารถทำให้เข้าใจและเข้าถึงเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายได้ แต่ถ้าตัวอักษรในกฎหมายนั้นๆ คลุมเครือจนทำให้ศาลมิอาจเข้าใจได้ เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวจึงจะเป็นสิ่งที่ศาลจะพึงพินิจพิจารณาเป็นลำดับถัดไป[FN5]
       
       1. หลักการตีความตามลายลักษณ์อักษรโดยเคร่งครัด
       
       วิธีการแรกที่ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ในการตีความตัวบทกฎหมายเรียกว่า “หลักการตีความตามลายลักษณ์อักษรโดยเคร่งครัด” หรือ “Plain Meaning Rule” ซึ่งหลักการนี้ถูกเรียกขานกันในประเทศอังกฤษว่าหลัก “Literal Interpretation” โดยการตีความด้วยวิธีดังกล่าวนี้มีหลักการที่ว่า ศาลจะตีความตามตัวอักษรในตัวบทกฎหมายนั้นๆ เป็นหลักอย่างจำกัดครัดเคร่ง ถ้าตัวอักษรหรือข้อความที่ปรากฎมีความชัดเจน ไม่มีความกำกวมแต่อย่างใด ตามแนวคิดที่ว่า “หากตัวอักษรที่ปรากฎอยู่ในตัวบทกฎหมายมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว การตีความก็ควรจะตีความไปให้มีหมายความเดียวกับตัวอักษรที่ปรากฎชัดอยู่นั้นเอง”[FN6] แนวความคิดนี้ถูกอรรถาธิบายอย่างชัดเจนโดยผู้พิพากษาในศาลสูงสุดแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียว่า “เราไม่ควรที่จะเขียนตัวบทกฎหมายขึ้นใหม่หรือตีความกฎหมายให้มีความหมายที่ผิดแผกแตกต่างออกไปจากตัวอักษรที่ปรากฏอยู่”[FN7]
       นอกจากหลักการตีความตามลายลักษณ์ษรอย่างเคร่งครัดที่ศาลได้นำมาใช้เพื่อการค้นหาความหมายของกฎหมายแล้ว หลักการดังกล่าวก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดกระบวนพิจารณาบนชั้นศาล (judicial procedure) ในประเทศสหรัฐอเมริกาอันเกี่ยวเนื่องกับการนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมของคู่ความเพื่อสนับสนุนการตีความกฎหมายของฝ่ายตนเองอีกด้วย กล่าวคือ หากศาลพินิจพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า ข้อความอันเป็นข้อพิพาทของคู่ความนั้นชัดเจน ไม่มีความคลุมเครือแล้ว โดยส่วนใหญ่ศาลก็จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนำเสนอพยานหลักฐานใดๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นการสนับสนุนการตีความตามความคิดเห็นของฝ่ายตนเอง[FN8] โดยศาลจะพิจารณาและตีความตามลายลักษณ์อักษรของตัวบทกฎหมายนั้นเท่านั้น[FN9] อย่างไรก็ดี “นักอักขรนิยม” หรือ “textualist” หรือ “literalist” ก็ได้นำเสนอวิธีการอื่นเพื่อช่วยในการตีความตัวบทกฎหมายให้ได้ความหมายที่ถูกต้องมากขึ้น[FN10] กล่าวคือ นอกจากที่จะทำการตีความโดยเคร่งครัดตามตัวอักษรที่ปรากฏอยู่แล้ว นักอักขรนิยมก็จะใช้หลักการที่เรียกว่า “อักขรนิยมภายใน” หรือ “intratextualism” อันหมายถึง ศาลจะพยายามค้นหาข้อความอันเป็นข้อพิพาทนั้นๆ (terms in question) ว่า มีการบัญญัติไว้ในส่วนอื่นๆ ภายในตัวกฎหมายฉบับเดียวกันนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ อยู่บนแนวคิดที่ว่า หากปรากฎว่ามีข้อความเดียวกันกับที่เป็นข้อพิพาทปรากฏในที่อื่น ข้อความเดียวกันนั้นเองย่อมที่จะให้แนวคิดที่เป็นแนวทางในการตีความเพื่อให้ได้ความหมายที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด[FN11] หลักการอักขรนิยมภายในนี้ได้รับการขานรับและสนับสนุนโดยนักวิชาการหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสตราจารย์อัมมาร์ (Amar) ศาสตราจารย์ทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเยล (Yale University)
       ศาสตราจารย์อัมมาร์ได้กล่าวสนับสนุนหลักการตีความแบบอักขรนิยมภายในว่ามีประสิทธิภาพมากโดยจะเห็นได้จากการตีความรัฐธรรมนูญในคดี McCulloch v. Maryland ของจอห์น มาแชล หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลสูงสุดซึ่งได้ใช้หลักการดังล่าวในการตีความเพื่อหาเจตนารมณ์ของผู้บัญญัติ คำว่า “ความจำเป็นและเหมาะสม” โดยผู้พิพากษามาแชลได้พิจารณาจากบริบท การจัดเรียงรูปประโยคของคำ รวมถึงการพิจารณาจากคำและวลีต่างๆ ที่ใกล้เคียงและความแตกต่างของตัวอักษรซึ่งปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญอีกด้วย[FN12]
       
       2. หลักการตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย
       
       หลักการตีความตามลายลักษณ์อักษรโดยเคร่งครัด หรือ Plain Meaning Rule ในความเป็นจริงแล้ว หาได้เป็นวิธีการที่สมบูรณ์แบบหรือดีที่สุดสำหรับการตีความตัวบทกฎหมายที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนไม่ หากแต่ยังคงมีจุดบกพร่องอยู่พอสมควร ดังที่ลอร์ด วินส์ลี่ย์เดล (Lord Wensleydale) ผู้พิพากษาชาวอังกฤษได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้ในคดี Gray v. Pearson ว่า
       “...การตีความอย่างจำกัดครัดเคร่งตามหลักไวยากรณ์และความหมายของตัวอักษรสามารถทำได้ หากมันจะมิได้นำไปสู่ผลอันแปลกประหลาด หรือเป็นการขัดแย้งกับส่วนอื่นๆ ของกฎหมาย ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงอาจมีการปรับเปลี่ยนไวยากรณ์และความหมายตามลายลักษณ์อักษรในตัวบทกฎหมายก็ได้ในบางกรณี เพื่อปัดป้องมิให้การตีความของเรานั้นนำไปสู่ผลอันแปลกประหลาดดังกล่าว แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงมากจนเกินไปนัก”[FN13]
       จากความเห็นของลอร์ดวินส์ลี่ย์เดล แสดงให้เห็นว่า หลักการตีความตามลายลักษณ์อักษรมิอาจใช้ได้เสมอไปและไม่เป็นการเหมาะสมนัก หากการตีความด้วยวิธีดังกล่าวนำไปสู่ผลอันแปลกประหลาด[FN14] ดังนั้น เพื่อการแก้ไขปัญหาการตีความข้างต้นนี้ ศาลจะอนุญาตให้คู่ความนำเสนอพยานหลักฐานอื่นๆ เพื่อการตีความที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ การได้มาซึ่งเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายที่แท้จริงนั่นเอง โดยพยานหลักฐานนี้เรียกว่า “พยานหลักฐานเพิ่มเติม” หรือ “Intrinsic Evidence”[FN15] ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวจะช่วยในการค้นหาความหมายอันแท้จริงของตัวอักษรในตัวบทกฎหมายนอกเหนือไปจากตัวอักษรเองโดยลำพัง หลักการตีความที่อาศัยพยานหลักฐานเพิ่มเติมนี้ถูกเรียกในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า “หลักการตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย” หรือ “Legislative Purpose Rule”[FN16] ในขณะที่ประเทศอังกฤษได้เรียกขานหลักการนี้ว่า “หลักการตีความแบบลอร์ดวินส์ลี่ย์เดล” หรือ “Lord Wensleydale’s Golden Rule” ทั้งนี้เพื่อเป็นการสรรเสริญลอร์ดวินส์ลี่ย์เดลในฐานะของผู้คิดค้นหลักการตีความนี้[FN17]
       พยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ถูกนำมาใช้พิจารณาในการตีความตามหลักเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย ได้แก่เอกสารสำคัญต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายที่กำลังจะทำการตีความ อันได้แก่[FN18]
       1. ร่างกฎหมาย
       2. บันทึกสภาคองเกรส
       3. เอกสารการประชุมต่างๆ
       4. เอกสารคณะกรรมาธิการ
       5. รายงานคณะกรรมาธิการ
       6. สำเนาร่างกฎหมายที่ผ่านการลงมติของวุฒิสภาและถูกรับรองโดยเลขาธิการวุฒิสภา
       7. รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการ
       8. สำเนาร่างกฎหมายสุดท้ายที่ผ่านการลงมติของทั้งสองสภาที่ถูกจัดเตรียมเพื่อส่งไปยังประธานาธิบดีเพื่อการลงนามต่อไป
       9. แถลงการประธานาธิบดี
       10. ร่างกฎหมายหรือมติของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาที่ผ่านการลงมติของสภาคองเกรสและถูกตีพิมพ์เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย[FN19]
       
       อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลักการตีความดังกล่าวนี้จะได้รับการสนับสนุนเพื่อการหาความหมายที่ถูกต้องของคำหรือข้อความในตัวบทกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีนักวิชาการรวมทั้งผู้พิพากษาต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านสกาเลีย (Justice Scalia) ผู้พิพากษาในศาลสูงสุด ซึ่งได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตีความด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ อันเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมไว้ในคดีต่างๆ มากมาย เช่น คดี Wisconsin Public Intervenor v. Montier เป็นต้น ว่าเอกสารดังกล่าวเหล่านี้หาได้มีประโยชน์ต่อผู้พิพากษาในการค้นหาเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายไม่ หากแต่เป็นเพียงตัวทำให้เสียเวลาอันมีค่าในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีอันมีใจความดังนี้
       “รายงานคณะกรรมาธิการถือเป็นเอกสารสารเพิ่มเติมที่ใช้เพื่อสนับสนุนคำตัดสินของศาลให้น่าเชื่อถือมากขึ้น แต่หาได้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยศาลในการตีความตัวบทกฎหมายไม่ ในความคิดของข้าพเจ้าแล้ว เอกสารดังกล่าวนี้ถูกใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อมากกว่าที่จะมีการคำนึงถึงการตัดสินลงไปอย่างถูกต้องและยุติธรรม ดังนั้น จึงการดีกว่าที่จะหยุดทำให้ศาลสูงสุดแห่งมลรัฐวิสคอนซินนั้นสับสน โดยการเลิกใช้รายงานกรรมาธิการในการพิจารณาครั้งนี้เสีย”[FN20]
       
       3. การตีความตามโครงสร้างของรูปประโยค
       

       นอกจากการตีความตามลายลักษณ์อักษรโดยเคร่งครัดและการตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น บ่อยครั้งที่ศาลจะตีความกฎหมายโดยใช้หลักการตีความตามโครงสร้างของรูปประโยค หรือ the Canons of Construction ซึ่งในความเป็นจริง วิธีการตีความด้วยวิธีการดังกล่าวได้ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว[FN21] โดยทั่วไป หลักการตีความกฎหมายตามโครงสร้างของรูปประโยค เป็นหลักการที่นักอักขรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย[FN22] แต่อย่างไรก็ดี หลักการนี้ก็ถูกวิพากษณ์วิจารณ์เป็นอย่างมากโดยนักวิชาการและศาล ยกตัวอย่างเช่น ศาลสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวถึงหลักการตีความตามโครงสร้างของรูปประโยคว่า เป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการตีความรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ เท่ากับหลักการตีความตามลักษณ์อักษรโดยเคร่งครัด อันมีใจความดังนี้
       “ในการตีความตัวบทกฎหมายนั้น ศาลควรที่จะใช้หลักการตีความตามรูปแบบของประโยควิธีการหนึ่งก่อนที่จะหันไปใช้วิธีการอื่น แต่อย่างไรก็ดี ศาลจะต้องตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวอักษรที่ปรากฎอยู่ในตัวบทกฎหมายนั้นคือสิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องการที่จะกล่าว…
       เมื่อตัวอักษรแห่งกฎหมายมีความชัดเจนในตัวมันเอง การตีความตามโครงสร้างของรูปประโยคควรจะต้องเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะถูกใช้”[FN23]
       
       อนึ่ง การตีความตามโครงสร้างของรูปประโยคประกอบไปด้วยหลายวิธี แต่มีเพียงแค่ 3 วิธีที่ศาลนิยมใช้ในการค้นหาความหมายของคำ หรือข้อความที่เป็นข้อพิพาทอันได้แก่ ejusdem generis, expressio unius est exclusio alterius และ in pari materia
       
วิธีการแรกหรือที่เรียกกันในภาษาลาตินว่า หลัก ejusdem generis มีความหมายว่า “ชนิด หรือประเภทเดียวกัน”[FN24] โดยวิธีการตีความตามแนวคิดนี้ ศาลจะตีความคำ หรือข้อความที่ไม่ชัดเจนโดยพิจารณาจากบริบทแวดล้อมใกล้เคียงและกำหนดให้คำหรือข้อความที่คลุมเครือดังกล่าวนั้นมีความหมายอันเป็นไปในทางเดียวกันกับบริบทแวดล้อม[FN25] ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายฉบับหนึ่งถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อต้องการห้ามปรามบุคคลใดๆ ในการส่งออกซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังต่างประเทศ โดยกฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการส่งออกซึ่งข้าว ผัก เนยแข็งและผลิตภัณฑ์อื่นๆไปยังต่างประเทศ” จากบทบัญญัติดังกล่าวจำต้องมีการตีความคำว่า “ผลิตภัณฑ์อื่นๆ” ว่ามีความหมายอย่างไรและครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ดังนั้น หากใช้หลักการตีความด้วยวิธี ejusdem generis ศาลจะพิจารณาจากบริบทข้างเคียงอันได้แก่ คำว่า ข้าว ผัก และเนยแข็ง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การกำหนดความหมายของคำว่า “ผลิตภัณฑ์อื่นๆ” ว่า “ผลิตผลทางการเกษตร” เนื่องจากว่าเป็นการตีความคำที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวให้เป็นไปในทางเดียวกันกับบริบทแวดล้อมซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลิตผลทางการเกษตรทั้งสิ้นนั่นเอง[FN26]
       วิธีการที่สองเรียกว่าหลัก expressio unius est exclusio alterius อันมีความหมายว่า “การปรากฎขึ้นของสิ่งๆ หนึ่งย่อมเป็นการตัดหรือแยกออกซึ่งสิ่งอีกสิ่งหนึ่ง”[FN27] กล่าวคือ หากศาลใช้วิธีการนี้ในการตีความตัวบทกฎหมายแล้ว ศาลจะตีความบนแนวคิดที่ว่าตนเองนั้นมิอาจที่จะตีความให้มีการครอบคลุมไปถึงสิ่งที่มิได้ปรากฎอยู่ในตัวบทกฎหมายได้เลย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิ่งใดที่ไม่ปรากฎอยู่ในตัวบทกฎหมาย จะต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร่างไม่มีเจตนาที่จะบัญญัติไว้ในกฎหมายนั่นเอง[FN28] ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ฉะนั้น ศาลมิอาจที่จะตีความไปในแนวทางที่ว่า ผู้หญิงผู้ซึ่งมีความผิดปกติทางการได้ยิน ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง[FN29] แต่อย่างไรก็ดี วิธีการตีความตามหลัก expressio unius est exclusio alterius จะไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หากปรากฎข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร่างมีเจตนาที่จะไม่บัญญัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปในตัวบทกฎหมาย ทั้งนี้ เนื่องมาจากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเป็นพิเศษ[FN30] กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในบางกรณีแม้ว่าผู้ร่างจะมิได้บัญญัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปในตัวบทกฎหมาย แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าผู้ร่างมีเจตนาที่จะไม่บัญญัติสิ่งๆ นั้นลงไปในตัวกฎหมาย หากแต่มีบางปัจจัยที่ทำให้ผู้ร่างตัดสินใจไม่บัญญัติลงไปนั่นเอง
       วิธีการสุดท้ายของการตีความตามโครงสร้างของรูปประโยคคือหลัก in pari materia ซึ่งมีความหมายว่า “เรื่องหรือหัวข้อเดียวกัน”[FN31] กล่าวคือ การตีความกฎหมายด้วยวิธีการนี้ศาลจะตีความคำ หรือข้อความที่คลุมเครือนั้นๆ ให้สอดคล้องกันไปอย่างเป็นเรื่องๆ เดียวกัน แม้ว่าศาลอาจจะต้องไปอ่านจากกฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น กฎหมายฉบับหนึ่งมิได้มีการบัญญัตินิยามคำว่า “บุคคล” ไว้อย่างชัดเจนว่าหมายถึงใครบ้าง ดังนั้น ศาลอาจใช้วิธีการตีความด้วยวิธี in pari materia ในการหาความหมายโดยการพิจารณาจากกฎหมายฉบับอื่นๆ ใน “เรื่องเดียวกัน” ซึ่ง ณ ที่นี้คือ คำว่า “บุคคล” นั่นเอง เพื่อทำการกำหนดความหมายของคำว่าบุคคลในกฎหมายฉบับแรกว่าควรมีความหมายว่าอย่างไรและจะครอบคลุมไปถึงบุคคลใดบ้าง
       
       ความสรุป
       
       จากหลักการของการตีความทั้งสามข้างต้นเป็นการแสดงให้เห็นโดยประจักษ์ชัดแล้วว่า ความคิดของนักนิติศาสตร์เดิมที่ว่านักกฎหมายในกลุ่มประเทศคอมมอนลอว์ (Common-Law-System Countries) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จะใช้วิธีการตีความแบบยึดติดกับลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวโดยมิได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายเลยนั้นคงจะไม่เป็นความจริงแล้วในปัจจุบัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง จริงอยู่เมื่อดีตกาล นักกฎหมายของกลุ่มประเทศคอมมอนลอว์จะค่อนข้างยึดติดกับหลักการตีความกฎหมายโดยจำกัดครัดเคร่งกับลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อวันเวลาแปรเปลี่ยนไป ก็เริ่มมีแนวความคิดและหลักการตีความอื่นๆ ซึ่งก็มีความคล้ายคลึงกับหลักการที่ใช้อยู่ในกลุ่มประเทศซิวิลลอว์ (Civil-Law-System Countries) ค่อนข้างมาก เข้าไปเพื่อใช้ในการตีความได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยการอำนวยความยุติธรรมสูงสุดนั่นเอง กล่าวโดยสรุปก็คือ ในปัจจุบัน หลักการตีความของกลุ่มประเทศคอมมอนลอว์และซีวิวลอว์ก็ไม่ค่อยผิดแผกแต่งต่างกันมากมายอีกต่อไปหากเปรียบเทียบกับสมัยเก่าก่อน ซึ่งก็เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) อันส่งผลให้ระบบกฎหมายถูกกลืนไปเป็นระบบเดียวกันมากขึ้นๆ อันจะเห็นได้จากตัวบทกฎหมายของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันที่มีเนื้อหาค่อนข้างสอดคล้องต้องกันมากขึ้นไม่ว่าจะผ่านมาจากการศึกษาเปรียบเทียบ (comparative study) กับกฎหมายต่างประเทศเองก็ดี หรือผ่านมาจากระบบกฎหมายต้นแบบ หรือ “Model Law” ก็ดี ซึ่งเป็นกลไกของระบบกฎหมายระหว่างประเทศ
       อนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นหลักการตีความกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรโดยเคร่งครัดก็ดี หลักการตีความตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายก็ดี และหลักการตีความตามโครงสร้างของรูปประโยคก็ดี ที่ผู้เขียนได้หยิบยกขึ้นมาอธิบายโดยสังเขปนั้น ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่ “หลักการเบื้องต้น” และ “ส่วนหนึ่ง” เท่านั้นสำหรับการตีความกฎหมาย กล่าวคือ ในความเป็นจริง มีหลักการอีกเยอะแยะมากมายที่นักกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้ในการตีความตัวบทกฎหมายต่างๆ ซึ่งหากมีโอกาสผู้เขียนจะได้นำมาอรรถาธิบายในคราต่อไป
       
       เชิงอรรถ
       
       [FN1] ในความเป็นจริงแล้ว เคยปรากฎประเด็นถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในการตีความตัวบทกฎหมายที่แท้จริง บ้างก็อ้างว่าองค์กรฝ่ายตุลาการนั้นเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่นักวิชาการบางท่านได้โต้แย้งว่าแท้ที่จริงแล้วองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติต่างหากที่มีอำนาจในการตีความตัวบทกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี แนวคิดที่ว่า องค์กรอื่นๆ นอกจาก 2 องค์กรข้างต้นถือเป็นผู้มีอำนาจในการตีความตัวบทกฎมายก็ได้ถูกนำเสนอขึ้นในเวลาต่อมาอีกด้วย
       [FN2] Max Radin, Statutory Interpretation, 43 Harv. L. Rev. 867 (1930).
       [FN3] ดู McCulloch v. Maryland 17 U.S. 316 (1819).
       [FN4] Helen S. Shapo, Marilyn R. Walter, and Elizabeth Fajans, Writing and Analysis in the Law 73 (Foundation Press, New York, 2003).
       [FN5] เรื่องเดียวกัน
       [FN6] Ransford Comstock Pyle, Foundations of Law: Cases, Commentary, and Ethics 92 (Thomson Delmar Learning 2002).
       [FN7] ดู California Federal Savings and Loan Association v. City of Los Angeles 11 Cal. 4th 342, 349 (1995).
       [FN8] Helen S. Shapo, Marilyn R. Walter, and Elizabeth Fajans, Writing and Analysis in the Law 73 (Foundation Press, New York, 2003).
       [FN9] เรื่องเดียวกัน หน้า 74.
       [FN10] Thomas E. Baker, Constitution Theory in a Nutshell, 13 Wm. & Mary Bill of Rts. J. 70 (2004).
       [FN11] เรื่องเดียวกัน
       [FN12] เรื่องเดียวกัน
       [FN13] ดู Law Teacher, Statutory Interpretation, ปรากฎใน http://www.lawteacher.net/Statutory%20Interpretation.htm.
       [FN14] เรื่องเดียวกัน
       [FN15] Donald R. Richards and Knud E. Hermansen, The Use of Extrinsic Evidence as an Aid to the Interpretation of Deeds and Their Description, ปรากฎใน www.umaine.edu/set/svt/Articles/ExtrinsicEvid.pdf.
       [FN16] William Church, Introduction to American Law (2006) at 19.
       [FN17] เรื่องเดียวกัน, ต่อมาหลักการตีความแบบนี้ถูกเรียกสั้นๆ ว่าหลักการตีความแบบ Golden Rule
       [FN18] Laruel Currie Qates and Anne Enquist, Just Research 160 (Aspen Publisher, 2005). ในกลุ่มประเทศที่มีระบบสกุลกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร หรือ Civil Law แล้ว ก็มีเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายเฉกเช่นเดียวกัน โดยเอกสารเหล่านี้ถูกเรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า “Travaux Préparatoires”
       [FN19] ร่างกฎหมายหรือมติของสภาคองเกรสที่ผ่านการลงมติของสภาคองเกรสและถูกตีพิมพ์เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย กฎหมายที่ประกาศใช้โดยทั่วไปนี้ถูกเรียกในสหรัฐอเมริกาว่า “Public Law” ซึ่งมิได้มีความหมายเดียวกันกับหลักทฤษฎีกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายมหาชน” ที่รู้จักกันดีในกลุ่มประเทศที่มีระบบกฎหมายเป็นแบบลายลักษณ์อักษร หรือ Civil Law แต่อย่างใด กล่าวคือ คำว่า “Public Law” ในที่นี้มิได้หมายถึง ทฤษฎีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับมหาชนนั่นเอง
       [FN20] ดู Wisconsin Public Intervenor v. Mortier 111 S. Ct. 2476 (1991).
       [FN21] Nicolas Quinn Rosenkranz, Federal Rules of Statutory Interpretation, 115 Harv. L. Rev. 2148 (2002).
       [FN22] เรื่องเดียวกัน
       [FN23] ดู Connecticut National Bank v. Germain, 112 S. Ct. 1146, 1149 (1992).
       [FN24] ดู Black’s Law Dictionary (8th ed., West 2004).
       [FN25] Helen S. Shapo, Marilyn R. Walter, and Elizabeth Fajans, Writing and Analysis in the Law 73 (Foundation Press, New York, 2003).
       [FN26] ดู Black’s Law Dictionary (8th ed., West 2004).
       [FN27] Max Radin, Statutory Interpretation, 43 Harv. L. Rev. 873 (1930).
       [FN28] Helen S. Shapo, Marilyn R. Walter, and Elizabeth Fajans, Writing and Analysis in the Law 73 (Foundation Press, New York, 2003).
       [FN29] ดู Black’s Law Dictionary (8th ed., West 2004).
       [FN30] 82 C.J.S. Statutes § 323 (2007).
       [FN31] เรื่องเดียวกัน


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544