ชุมนุมอย่างไรจึงจะเป็นการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย โดย อาจารย์พัชร์ นิยมศิลป |
|
|
|
อาจารย์ พัชร์ นิยมศิลป
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
|
|
|
|
|
|
|
|
เสรีภาพในการชุมนุมกับระบอบประชาธิปไตยเป็นของคู่กัน รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะรับรองเสรีภาพในการชุมนุมเนื่องจากการชุมนุมเป็นสิทธิทางการเมืองของพลเมืองในรัฐนั้นๆ หากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชนรัฐจำก็เป็นต้องยอมให้ประชาชนมีปากมีเสียงที่จะแสดงออกถึงความต้องการ ความเชื่อ ความทุกข์ร้อนใจ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ปกครองและสาธารณชนรับทราบและนำมาขบคิดเพื่อหาทางบรรเทาหรือแก้ไขต่อไป เสรีภาพในการชุมนุมจึงจัดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐไม่อาจพรากไปจากประชาชนได้
การชุมนุมที่เป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างไร? หน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยคืออะไร? สองคำถามนี้ควรจะเป็นคำถามต้นๆที่ผู้ร่วมการชุมนุมพึงตระหนัก การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องการพลเมือง(Democratic Citizen) ที่มีคุณลักษณะอย่างน้อยสามประการ(1) คือ มีส่วนร่วม (Participation), มีวัฒนธรรม (Civility) และ มีความอดทน (Patience)
มีส่วนร่วม หมายถึง มีส่วนร่วมในการรับใช้ชาติ เคารพกฎหมาย ร่วมรับผิดชอบในสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ ร่วมกันปกปักรักษาประโยชน์สาธารณะ พลเมืองจะต้องมีความตื่นตัว (Active) ไม่ตกเป็นผู้รับคำสั่งถ่ายเดียว (Passive) ทั้งนี้พลเมืองจะต้องตระหนักว่าควาสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐบาลต่างก็เป็นความรับชอบของพลเมืองทุกๆคน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในกิจการบ้านเมืองนั้นไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
มีวัฒนธรรม หมายถึง มีวัฒนธรรมทางประชาธิปไตยเยี่ยงผู้ที่เจริญแล้ว การกระทำทุกๆประการมีเหตุและผลที่สามารถอธิบายได้ พลเมืองจะต้องสามารถที่จะยอมรับความแตกต่างได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่าง เชื้อชาติ สีผิว ความเชื่อ ความศรัทธาฯลฯ ผู้ที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ได้ พลเมืองจะต้องยอมรับว่าสามารถที่จะมีความเห็นความเชื่อแตกต่างได้หากความแตกต่างนั้นไม่เป็นภยันตรายต่อผู้อื่น ทั้งนี้เป็นไปตามหลักที่ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นคือการปกครองโดยเสียงข้างมากแต่ก็ต้องเคารพเสียงข้างน้อย (Majority rules minority right)(2)
มีความอดทน หมายถึง อนทนที่จะเคารพเสียงส่วนใหญ่ของสังคม อนทนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมและยอมให้กลไกของกฎหมายทำงานได้ อนทนที่ต้องยอมให้รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าบริหารประเทศตามวาระ อนทนที่จะไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนฯตามวาระที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เป็นต้น
ประชาธิปไตยที่ประเทศไทยเราต้องการในที่นี้จึงไม่ได้หมายความเพียงแค่มีรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หมายความร่วมถึงประชาชนคนไทยจะต้องมีวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย มีความประพฤติและจิตสำนึกที่เป็นประชาธิปไตย มิเช่นนั้นแล้วคงก็ป่วยการที่จะถกเถียงถึงการร่างรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกระบวนการเลือกตั้ง ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นกระพี้เป็นเปลือกที่หลอกประชาคมโลกว่าเรามีประชาธิปไตยเท่านั้น ส่วนแก่นของประชาธิปไตยไทยอย่างวัฒนธรรมประชาธิปไตยนั้นยังหาได้รับการปรับปรุงไม่ ดังนั้นหากต้องการให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน เราก็ควรเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในส่วนนี้ด้วย ดังนั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมย่อมสมควรได้รับการพัฒนาให้เป็นวัฒนธรรมที่ดีเช่นกัน
ในปัจจุบันเราได้เห็นจนชินตาแล้วว่าประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นกรณีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มเสื้อแดง หรือการชุมนุมทางเศรฐกิจของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้า กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ กลุ่มคนเหล่านี้ต่างก็อ้างเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีแม้ว่าประชาชนจะมีเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองแต่หากใช้เครื่องมือที่มีอยู่นี้อย่างไม่ถูกต้องก็ไม่สามารถอ้างสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ได้ ดังนั้นการชุมนุมที่เป็นการชุมนุมในระบอบประชาธิปไตยจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบสามประการ ดังนี้
ประการแรกการอ้างสิทธิในการชุมนุมจะต้องเป็นการอ้างสิทธิโดยชอบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
รัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคแรก ได้วางหลักในการอ้างสิทธิว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐธรรมนูญเป็นสัญญาประชาคมที่ประชาชนตกลงว่าให้เป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐเพื่อให้สังคมสงบสุข มีระเบียบแบบแผนในการปกครองประเทศ ตลอดจนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐ การอ้างสิทธิเสรีภาพใดๆที่ได้รับการรับรองไว้จึงต้องไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้นเอง หากการอ้างสิทธิ์นั้นเป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่าเป็นการขัดแย้งกับเจตจำนงค์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ
ประการที่สองการชุมนุมจะต้องเป็นการใช้เสรีภาพตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในมาตรา 63
มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือ ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
จะสังเกตได้ว่าขอบเขตของเสรีภาพตามมาตรานี้คือ โดยสงบและปราศจากอาวุธ การที่รัฐธรรมนูญกำหนดขอบเขตไว้ก็เนื่องจากหากปล่อยให้มีการใช้เสรีภาพอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างไม่มีขอบเขต การใช้เสรีภาพนั้นอาจก้าวล่วงไปกระทบต่อเสรีภาพอย่างอื่นได้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 จึงได้กำหนดขอบเขตไว้สองประการข้างต้น คำว่า โดยสงบ หมายความว่า จะต้องดำรงความสงบของประชาชนทั่วไปและไม่ไปรบกวนสิทธิของผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ประการนี้รวบไปถึงเรื่องเจตนาของผู้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยว่าประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น มีการปราศัยให้เกิดความเครียดแค้น ปลุกระดมปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความรุนแรง เช่นนี้เป็นการเล็งเห็นผลได้ว่าก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้น ส่วนคำว่า ปราศจากอาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งที่ไม่เป็นอาวุธโดยสภาพด้วย แต่กรณีนี้จะต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้ที่จะใช้สิ่งของนั้นๆด้วยว่ามีเจตนานำมาใช้ประทุษร้ายเยี่ยงอาวุธหรือไม่(3) ตัวอย่างเช่น ด้ามธง ป้ายประท้วง มือตบ ตีนตบ นั้นตามปรกติไม่เป็นอาวุธโดยสภาพย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่หากนำมาทุบตีกันก็จะถือว่าเป็นอาวุธ เป็นต้น ส่วนไม้กอล์ฟ ด้ามธงที่มีเหล็กปลายแหลม หน้าไม้ หนังสติกส์ ไม้คมแฝก ปืนไทยประดิษฐ์ มีดดาบ สิ่งเหล่านี้จัดว่าเป็นอาวุธโดยสภาพทั้งสิ้น หากมีไว้ใช้ในการชุมนุมใดๆ แม้ว่าจะอ้างว่ามีไว้เพื่อป้องกันตัว ก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง
ประการที่สามการชุมนุมจะต้องคำนึงถึงหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพต่างๆจะได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉันใดในทางกลับกันประชาชนก็จะมีหน้าที่ ต่อรัฐฉันนั้น เมื่อพิจารณาถึงหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของพลเมืองไว้ในหมวด 4 เพียง 5 มาตรา (มาตรา 70-74) และหากพิจารณาหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกับเสรีภาพในการชุมนุมแล้วจะพบมาตราที่เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่ 2 มาตรา คือ มาตรา 71 และ มาตรา 74
มาตรา 71 บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย
มาตรา 74 บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมอำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน บุคคลตามวรรคหนึ่งต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งละเลยหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง บุคคลผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิขอให้บุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือผู้บังคับบัญชาของบุคคลดังกล่าว ชี้แจง แสดงเหตุผล และขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้
หน้าที่ตามสองมาตราข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมจะต้องเคารพกฎหมายและหากผู้ชุมนุมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเจ้าหน้าที่นั้นต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นเมื่อใดที่ผู้ชุมนุมจะอ้างเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเมื่อนั้นผู้ชุมนุมก็ควรคำนึงถึงหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไปพร้อมๆ กัน แม้ว่าขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 กระนั้นผู้ชุมนุมจะต้องเคารพกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น
1. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
2. ประมวลกฎหมายอาญา
3. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493
4. พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
กรณีการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเช่นประเทศไทยสามารถเทียบเคียงได้จากการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจาก ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยต่างก็ไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการชุมนุมหรือเดินขบวนไว้ แต่ในทางปฏิบัติก่อนที่จะมีการชุมนุมหรือเดินขบวนในประเทศสหรัฐอเมริการ ผู้จัดการชุมนุมหรือเดินขบวนก็จะบอกกล่าวแก่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยแก่การชุมนุม(4) หากการชุมนุมหรือเดินขบวนนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยหรือความวุ่นวายในบ้านเมือง ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดความผิดอาญาฐานก่อการจลาจลไว้เพื่อเป็นการลงโทษ และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็ยังสามารถดำเนินคดีในทางแพ่งได้อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยแม้ว่าจะไม่มีความผิดอาญาฐานก่อการจลาจลแต่เจ้าหน้าที่สามารถนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาบังคับกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้
อนึ่งหากพิจารณาจากหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชุมนุมของประเทศอื่นๆ เช่น Public Order Act, 1986 ของอังกฤษ décrét loi 23-10-1935 ของฝรั่งเศส Public Assembly Act, 1985 ของฟิลิปปินส์ Peaceful Assembly Act, 1992 ของรัฐ Queensland ประเทศออสเตรเลีย Public Assembly Act, 1997 ของเอสโทเนีย จะพบว่ามีหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะดังนี้(5)
-ประชาชนมีสิทธิจัดให้มีและเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะ
-ต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
-ต้องไม่มีวัตถุประสงค์ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
-ผู้จัดให้มีการชุมนุมต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ (ตำรวจหรือท้องถิ่น) ทราบล่วงหน้าก่อน 3-7 วัน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนและดำเนินการอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป
-ผู้ชุมนุมต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
-เจ้าหน้าที่สามารถกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมได้หากเชื่อได้ว่าการชุมนุมนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือความไม่สงบเรียบร้อย
-เจ้าหน้าที่มีอำนาจห้ามหรือจำกัดการชุมนุมที่เป็นการบุกรุกทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ โบราณคดี วิทยาศาสตร์และสถาปัตยกรรม
จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่เพียงแต่จะยกรัฐธรรมนูญขึ้นอ้างเท่านั้น การใช้สิทธิดังกล่าวจำต้องคำนึงถึงบริบทแวดล้อมอื่นๆอีกด้วย หากวิธีการที่ผู้ชุมนุมใช้ไม่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตยน้ำหนักของข้อเรียกร้องตลอดจนความชอบธรรมในการชุมนุมก็จะน้อยลงไป จะสังเกตได้ว่าที่ผ่านมามีการใช้สิทธิในการชุมนุมกันอย่างมากแต่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มิได้คำนึงถึงหน้าที่ซึ่งเป็นส่วนเกี่ยวเนื่องกัน การใช้สิทธิเกินส่วนนี้กลับกลายเป็นกระบวนการทำลายประชาธิปไตย ซ้ำยังเป็นพฤติกรรมเลียนแบบที่ยังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและเศรษฐกิจของประเทศ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมไทยมิใช่เพียงแต่ใส่เสื้อประชาธิปไตยแต่หัวใจเป็นอื่น ฉะนั้นก่อนที่จะชี้นิ้วกล่าวหาคนอื่นว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ควรจะสำรวจตนเองก่อนว่ากริยาที่ปฏิบัติอยู่นั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ มิเช่นนั้นก็คงเข้าทำนองสำนวนไทยที่ว่า มือถือสาก ปากถือศีล
เชิงอรรถ
1. The U.S. Department of State publication, Principles of Democracy:Citizen Responsibility accessed at http://www.america.gov/st/democracy-english/2008/May/20080609201741eaifas0.765484.html , 06/May/08
2. The U.S. Department of State publication, Principles of Democracy:Majority Rule, Minority rights accessed at http://www.america.gov/st/democracy-english/2008/May/20080609194934eaifas0.5346796.html , 06/May/08
3. วารุณี วัฒนประดิษฐ, เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551 อ้างใน วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ เล่ม 2 ปี 2551 หน้า 342-343
4. นันทวัฒน์ บรมานันท์, บทบรรณาธิการ ครั้งที่ 189 ใน www.pub-law.net 22 มิ.ย. 2551
5. ฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, การชุมนุมสาธารณะ (Public Assembly), เผยแพร่ใน
www.pub-law.net วันที่ 22 มิ.ย. 2551
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|