หน้าแรก บทความสาระ
ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาลปกครองกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
20 ธันวาคม 2547 16:04 น.
 

       
       
            โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้กำหนดให้มีองค์กรใหม่ขึ้นหลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรศาล กล่าวคือ ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นต้น
       

       เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวล้วนแต่เป็นองค์กรใหม่ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถานะขององค์กรดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามนัยของมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ และโดยที่องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวกับศาลปกครองแล้ว ในด้านหนึ่งย่อมเป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวกับศาลปกครอง กรณีนี้องค์กรผู้มีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวคือศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ

                  กรณีที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวกับศาลปกครองคือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ใช่องค์กรศาล เช่น กกต.ก็ดี ปปช.ก็ดี องค์กรเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลปกครองหรือไม่ หากการกระทำของ กกต.ก็ดี ปปช.ก็ดี มีลักษณะเป็นข้อพิพาทในทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งหากจะกล่าวโดยทั่วไปแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าการที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มิได้หมายความว่าการใช้อำนาจขององค์กรดังกล่าวจะมีเฉพาะการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้วองค์กรหนึ่ง ๆ ย่อมมีการกระทำที่แตกต่างกันได้หลายลักษณะ เช่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมมีการใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญ มีการกระทำในทางแพ่ง มีการกระทำในทางปกครอง ในกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทางรัฐธรรมนูญ ศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องดังกล่าวก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญมีปัญหาข้อพิพาทในทางแพ่งศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องดังกล่าวคือศาลแพ่ง และกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญมีปัญหาข้อพิพาทในทางปกครอง ศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องดังกล่าวคือศาลปกครองนั่นเอง

                  โดยที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในที่นี้คือคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้บรรลุตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถ้าหากยอมรับหลักการดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญอาจกระทำการต่าง ๆ ได้หลายลักษณะ มิได้จำกัดเฉพาะการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ กรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าการกระทำใดของ กกต.เป็นการใช้อำนาจทางรัฐธรรมนูญหากมีข้อพิพาท ข้อพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ และการกระทำใดเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง และหากมีข้อพิพาท ข้อพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นข้อพิพาททางปกครองในการพิจารณาแบ่งแยกระหว่างข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญกับข้อพิพาททางปกครอง อาจแยกการพิจารณาออกเป็น 2 หัวข้อ ดังนี้ 1. ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ 2. ข้อพิพาททางปกครอง

                  1. ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ

       
            ในหัวข้อนี้แบ่งหัวข้อในการพิจารณาออกเป็น 2 หัวข้อ ดังนี้ 1.1 สาระสำคัญของข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ 1.2 ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญตามกฎหมายไทย

                   1.1 สาระสำคัญของข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ

                   ข้อพิพาทในทางรัฐธรรมนูญ หมายถึง ข้อพิพาทระหว่างผู้ที่มีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในทางรัฐธรรมนูญ โดยเรื่องที่เข้าไปมีส่วนร่วมในทางรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะต้องเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า “ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญโดยแท้” (sog. echte Verfassungsstreitigkeiten) ข้อเรียกร้องของการเป็นข้อพิพาทในทางรัฐธรรมนูญโดยแท้นั้น เรียกร้องความเกี่ยวข้องโดยตรงในทางรัฐธรรมนูญ 2 ประการ หรือที่เรียกว่า sog.dopplte Verfassungsunmittelbarkeit ซึ่งหลักการดังกล่าวใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งแยกระหว่างข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญกับข้อพิพาททางปกครองได้ ”หลักความเกี่ยวข้องโดยตรงในทางรัฐธรรมนูญ” มีข้อเรียกร้อง 2 ประการ กล่าวคือ ความเกี่ยวข้องโดยตรงประการแรกของข้อพิพาทในทางรัฐธรรมนูญ คือ ข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวจะต้องเป็นข้อพิพาทอันเกิดจากการใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนญไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญก็ดี ปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญก็ดี หรือปัญหาการใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ดี และความเกี่ยวข้องโดยตรงประการที่สองคือ คู่กรณีของข้อพิพาทดังกล่าวจะต้องเป็นองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญโดยแท้จึงเกิดจากคู่กรณีที่มีสถานะเท่าเทียมกัน ตามรัฐธรรมนูญของเยอรมันบุคคลที่จะเป็นคู่กรณีในคดีข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ เช่น สภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์ (Bundestag) สภาสูงสหพันธ์ (Bundesrat) ประธานาธิบดีสหพันธ์ (Bundespraesident) รัฐบาลสหพันธ์ (Bundesregierung) สภามลรัฐ (Landtag) หรือรัฐบาลของมลรัฐ (Landesregierung) เป็นต้น ตัวอย่างของข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 41 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญเยอรมัน เรื่อง การตรวจสอบการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับการเสียสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองตามมาตรา 21 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญเยอรมัน การฟ้องประธานาธิบดีตามมาตรา 61 และกรณีของข้อพิพาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 93 วรรค 1 ข้อ 3 ของรัฐธรรมนูญเยอรมัน เป็นต้น

                   ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจึงไม่ถือว่าเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ ถึงแม้บุคคลที่กระทำการดังกล่าวจะกระทำโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะในกรณีดังกล่าวสิทธิหรือหน้าที่ของคู่กรณีมิได้รับการบัญญัติไว้โดยรัฐธรรมนูญ หากถือว่าการกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกกรณีเป็นการกระทำในทางรัฐธรรมนูญ กรณีจะต้องถือว่าข้อพิพาทเกือบทุกข้อพิพาทเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ เพราะท้ายที่สุดแล้วการกระทำของรัฐทั้งหลายย่อมมีพื้นฐานมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น และด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคลโดยทั่วไปแล้วไม่ถือว่าเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งถือว่าเป็นเรื่องของกฎหมายปกครอง เพราะประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์ได้กระทำการในกรณีดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และมิได้กระทำการในฐานะที่เป็น “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” และการกระทำของประธานาธิบดีในเรื่องดังกล่าวมิได้มีพื้นฐานจากรัฐธรรมนูญ หากแต่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายพรรคการเมือง

                   โดยทั่วไปแล้วการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นเป็นไปตามหลักที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเฉพาะเท่าที่กฎหมายกำหนดให้ หรือที่เรียกว่า “Enumerationsprinzip” จากการที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่เฉพาะตามที่กำหนดไว้ มีผลทำให้มีคดีข้อพิพาทตามรัฐธรรมนูญบางกรณีเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้กำหนดให้อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ และขณะเดียวกันกรณีที่เป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญย่อมไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองเช่นกัน ตัวอย่างของข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองในขณะเดียวกันตามกฎหมายของเยอรมัน เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ผู้ฟ้องได้ฟ้องขอให้พิจารณาว่าปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งปัญหาในเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาที่มีลักษณะเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้เองข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ข้อพิจารณาประการสำคัญสำหรับข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้น พิจารณาลักษณะของข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหาโดยไม่ต้องคำนึงว่าเรื่องนั้นจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วการเลือกตัวแทนของประชาชนเป็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ ปัญหาการแบ่งเขตการเลือกตั้งจึงอาจใช้วิธีการโต้แย้งได้ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง

                   1.2 ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญตามกฎหมายไทย

                   หากพิจารณาข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญตามกฎหมายไทยโดยอาศัยหลักทั่วไปดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็อาจแบ่งข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ก. ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และ ข. ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่ไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

                   ก. ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

                   ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญยังอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ ก.1) ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ และ ก.2) ข้อพิพาทที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดโดยกฎหมายอื่น

                   ก.1) ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ

                  (1) การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและร่างกฎหมาย

                   (1.1) การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายแบบนามธรรมตามมาตรา 198

                   (1.2) การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายแบบรูปธรรมตามมาตรา 264

                   (1.3) พิจารณาวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นไปตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง หรือไม่ (1.4) พิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามมาตรา 262

                  (2) การตรวจสอบการดำเนินการภายในวงงานของรัฐสภา

                   (2.1) พิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอใหม่มีหลักการอย่างเดียวหรือคล้ายกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ถูกยับยั้งไว้ตามมาตรา 177

                   (2.2) พิจารณาว่าร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนฯวุฒิสภาหรือรัฐสภามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามมาตรา 263

                  (3) วินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพ

                   (3.1) พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของสภาผู้แทนหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา 118 (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (11) หรือ (12) หรือตามมาตรา 133 (3) (4) (5) (6) (7) (9) หรือ (10) (มาตรา 96)

                   (3.2) พิจารณาวินิจฉัยว่ากรรมการการเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 137 หรือกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 139 หรือไม่ (มาตรา 142)

                   (3.3) พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามมาตรา 216 (2) (3) (4) หรือ (6) หรือไม่ (มาตรา 216 ประกอบมาตรา 96)

                  (4) พิจารณาวินิจฉัยในเรื่องเกี่ยวกับพรรคการเมือง

                   (4.1) พิจารณาวินิจฉัยว่ามติข้อบังคับของพรรคการเมืองขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (มาตรา 47 วรรคสาม)

                   (4.2) พิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 63 หรือไม่

                   (4.3) พิจารณาอุทธรณ์ของสมาชิกพรรคการเมืองที่ร้องขอให้วินิจฉัย เพราะเหตุว่าพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกนั้นมีมติให้ตนพ้นจากการเป็นสมาชิกตามมาตรา 118 (8)

                  (5) พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266

                  (6) พิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ ตามมาตรา 295

                   ก.2) ข้อพิพาทที่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดโดยกฎหมายอื่น

                   ในปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในเรื่องดังต่อไปนี้

                   (1) กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสั่งรับหรือไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา 14 หรือมาตรา 15 (มาตรา 17)

                   (2) การมีมติให้สมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองสิ้นสุดลง (มาตรา 22)

                   (3) การสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองกระทำการหรือสั่งให้ออกจากตำแหน่ง (มาตรา 27)

                   (4) การวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองขัดต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา 28)

                   (5) การตอบรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรค ข้อบังคับพรรค หรือรายการที่เกี่ยวกับชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และลายมือชื่อของคณะกรรมการบริหารพรรคหรือการจัดตั้งสาขาพรรค (มาตรา 33)

                   (6) การยุบพรรคการเมือง (มาตรา 45 มาตรา 67 มาตรา 72 และมาตรา 73)

                   (7) การสั่งให้พรรคการเมืองระงับการดำเนินการของพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว (มาตรา 67)

                   ข. ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญที่ไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

                   ข้อพิจารณาว่าข้อพิพาทใดเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญคงนำหลักทั่วไปที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นมาพิจารณา โดยจะต้องพิจารณาถึงคู่กรณีว่าจะต้องเป็นองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อรัฐธรรมนูญ และข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวจะต้องเป็นข้อพิพาทอันเกิดจากการใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญก็ดี ปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญก็ดี หรือปัญหาการใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ดี ข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหาดังกล่าวย่อมไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองเช่นกัน

       
                  2. ข้อพิพาททางปกครอง

       
            ในเรื่องนี้แบ่งหัวข้อในการพิจารณาออกเป็น 3 หัวข้อ ดังนี้ 2.1 สาระสำคัญของข้อพิพาทในคดีปกครอง 2.2 ข้อพิพาทในคดีปกครองตามระบบกฎหมายไทย และ 2.3 หลักเกณฑ์ในการจำแนกข้อพิพาทในทางปกครองออกจากข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ

                   2.1 สาระสำคัญของข้อพิพาทในคดีปกครอง

                   หากจะกล่าวถึงสาระสำคัญของข้อพิพาทในคดีปกครองโดยสรุปแล้ว อาจสรุปสาระสำคัญของคดีปกครองได้ดังนี้

                   (1) คดีปกครองเป็นคดีที่ต้องมีคู่ความอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคดีปกครองส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีที่มีฐานะไม่เท่าเทียมกัน

                   (2) คดีปกครองเป็นคดีข้อพิพาทอันเกิดจากการกระทำทางปกครอง

                   (3) คดีข้อพิพาทอันเกิดจากการกระทำทางปกครองนั้นจะต้องเป็นข้อพิพาทที่อยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายปกครอง ไม่ใช่ในขอบเขตของกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแพ่ง

                   จากสาระสำคัญของคดีปกครองดังกล่าวข้างต้นจึงอาจสรุปสาระสำคัญของคดีปกครองได้ว่าคดีปกครอง หมายถึง ข้อพิพาทซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองภายในขอบเขตของกฎหมายปกครองเพื่อกระทำการในทางปกครอง

                   2.2 ข้อพิพาทในคดีปกครองตามระบบกฎหมายไทย

                   ข้อพิพาทในคดีปกครองตามระบบกฎหมายไทยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ (1) คดีปกครองที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง และ (2) คดีปกครองที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น

                   (1) คดีปกครองที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

                   ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ก. คดีปกครองตามมาตรา 9 และ ข. คดีปกครองตามกฎหมายอื่น

                   ก. คดีปกครองตามมาตรา 9

                   ข. คดีปกครองตามกฎหมายอื่น เช่น ตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน การผังเมือง การจัดรูปที่ดิน เป็นต้น

                   (2) คดีปกครองที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น

                   คดีปกครองที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เช่น การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร หรือการดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ เป็นต้น

                   2.3 หลักเกณฑ์ในการจำแนกข้อพิพาทในทางปกครองออกจากพิพาททางรัฐธรรมนูญ

                   จากการศึกษาสาระสำคัญของข้อพิพาทในทางปกครองอาจสรุปสาระสำคัญของคดีปกครองของไทย เพื่อแยกออกจากข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญได้ดังนี้

                   (1) พิจารณาจากคู่กรณีของข้อพิพาท คดีที่จะเป็นคดีปกครองจะต้องมีคู่กรณีอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายปกครอง ในกรณีที่คู่กรณีเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวกระทำการในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือกระทำการในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

                   (2) พิจารณาจากพื้นฐานของอำนาจที่กระทำการ หากการกระทำขององค์กรดังกล่าวกระทำการโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กรณีย่อมเป็นการกระทำในทางรัฐธรรมนูญ หากมีข้อพิพาทในกรณีดังกล่าวย่อมเป็นข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ แต่หากองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ กรณีดังกล่าวย่อมเป็นการใช้อำนาจในทางปกครอง กรณีดังกล่าวหากมีข้อพิพาทย่อมเป็นข้อพิพาทในทางปกครอง

                   (3) การกระทำอันเกิดจากการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะต้องเข้าลักษณะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

                   กล่าวโดยสรุปองค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญและอำนาจในทางปกครอง การใช้อำนาจในทางรัฐธรรมนูญย่อมเป็นข้อพิพาทในทางรัฐธรรมนูญ แต่ข้อพิพาทดังกล่าวจะขึ้นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ สำหรับการใช้อำนาจทางปกครองขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นหากเกิดข้อพิพาทขึ้นข้อพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นข้อพิพาททางปกครอง แต่ข้อพิพาทดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ การจำแนกแยกแยะลักษณะการกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะทำให้ระบบของคดีปกครองของไทยเป็นระบบเพราะมิเช่นนั้นแล้ว การกระทำเดียวกันหากกระทำโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลหนึ่ง แต่หากกระทำโดยองค์กรฝ่ายปกครองอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบอีกศาลหนึ่ง ระบบกฎหมายโดยทั่วไปแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น


       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2544


       




 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544