ชะตากรรมของรัฐธรรมนูญไทย โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง |
|
|
|
|
23 พฤศจิกายน 2551 21:34 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังสับสนอลหม่านของการต่อสู้ที่ดุเดือดเลือดพล่านระหว่าง เสื้อเหลือง และ เสื้อแดง ที่ระบาดกระจายไปแทบทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าการขัดแย้งรุนแรงเกินกว่าที่จะยอมถอยเพื่อเข้าสู่การเจรจานั้น ประเด็นหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดต่างที่รุนแรงก็คือประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๕๐ นี้
ฝ่ายที่ไม่ยอมให้แก้ก็ยืนกรานชนิดที่ว่า รัฐธรรมนูญของข้าฯใครอย่าแตะ เรียกว่าห้ามแก้โดยเด็ดขาด ส่วนอีกฝ่ายก็บอกว่า ก็หาเสียงไว้แล้วว่าถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ข้าฯจะแก้เสียอย่าง ใครจะทำไม โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็ยึดรัฐธรรมนูญไว้เป็นตัวประกัน
จำเดิมนับแต่คณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เรา เริ่มจากการมีพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุดถึง ๑๓ ปี ๔ เดือน ๒๙ วัน โดยถูกยกเลิกเมื่อ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นการยกเลิกโดยสันติวิธี คือ สภาผู้แทนราษฎรได้เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแก้ไขปรับปรุงใหม่ทั้งหมดแล้วนำไปประกาศใช้แทนคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ แต่ก็ใช้ได้เพียง ๑ ปี ๖ เดือน ก็ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ
ต่อจากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารดังกล่าวอีกสองฉบับคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐(ฉบับใต้ตุ่มของหลวงกาจสงคราม)เมื่อ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ก่อนที่จะถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งได้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ มาแก้ไขปรับปรุงใหม่แล้วประกาศใช้โดยใช้ชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เมื่อ ๘ มีนาค ๒๔๙๕ แล้วก็ถูกยกเลิกโดยการรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑
ต่อมาเมื่อ๒๘มกราคม๒๕๐๒จึงมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแต่มีอายุการใช้งานถึง ๙ ปี ๔ เดือน ๒๓ วัน และมีบทบัญญัติเพียง ๒๐ มาตรา และที่ร้ายที่สุดก็คือ มาตรา ๑๗ ที่ให้อำนาจพิเศษแก่นายกรัฐมนตรี ที่จะสั่งประหารชีวิตใครก็ได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ใช้เวลาถึงเกือบสิบปีจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ ออกมาใช้ แต่ก็ใช้อยู่ได้ไม่นานนักจอมพลถนอม กิตติขจรก็ทำรัฐประหารตนเองเมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔แล้วก็นำเอาธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราชปี ๒๕๐๒ มาปัดฝุ่นแล้วเพิ่มเป็น ๒๓ มาตรา โดยพ่วงเอามาตรา ๑๗ เดิมมาด้วย ประกาศใช้เป็น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ ซึ่งก็จบลงด้วยเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
หลังจากนั้นก็มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ เมื่อ ๗ ตุลาคม๒๕๑๗แต่ก็ใช้บังคับเพียง ๒ ปีก็ถูกรัฐประหารอีกโดย คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
ต่อจากนั้นก็มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙ เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ แต่ใช้ได้เพียงปีเดียวก็ถูกรัฐประหารอีกโดยคณะปฏิรูปการปกครองกลุ่มเดิมนั่นเอง ต่อจากนั้นก็ได้มีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้จัดทำรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาใช้แทนเมื่อ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๑
รัฐธรรมนูญ ปี ๒๑ ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับในอดีต ซึ่งก็คือการรัฐประหารเมื่อ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และก็ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ เมื่อ ๑ มีนาคม ๒๕๓๔และก็ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ออกมาประกาศใช้แทนเมื่อ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๔ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็ได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕
ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๓๔ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับและประกาศใช้เมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่เราเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับธงเขียวหรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั่นเอง
เหตุการณ์ต่อมาซึ่งไม่เคยนึกว่าจะเกิดขึ้นอีกแล้วในการเมืองไทยก็คือการทำรัฐประหารเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ภายใต้การนำของพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน และได้มีการประกาศเมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ให้ใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ แทน พร้อมกับการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นฉบับที่ ๑๘ เมื่อ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยมีเนื้อหาสาระเป็นอำมาตยาธิปไตยเต็มรูปแบบ
การต่อสู้ของกลุ่ม เสื้อเหลือง และ กลุ่มเสื้อแดงประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งก็คือการแก้กับไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้นี่เอง โดยต่างก็คำนึงแต่ผลประโยชน์ของพวกตน มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมในอันที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมืองแต่อย่างใด
เราในฐานะที่เป็นผู้ที่จะต้องได้รับผลของการแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องไม่ปล่อยให้แกนนำทั้งสองฝ่ายนี้เล่นเกมแห่งอำนาจโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นตัวประกันแต่เพียงลำพังเท่านั้น เพราะหากเราปล่อยให้แต่เพียงแกนนำสองกลุ่มนี้ยื้อยุดฉุดอำนาจกันแล้วบ้านเมืองคงไม่พ้นที่จะลุกเป็นไฟเสียเป็นแน่
ฉะนั้น การแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงที่จะออกมาส่งเสียงว่า ตกลงจะเอาอย่างไร จะแก้หรือไม่แก้ ถ้าแก้จะแก้ประเด็นไหนบ้าง และการแก้จะต้องแก้โดยวิธีใด คณะกรรมการยกร่างมีที่มาจากไหน ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่เพียงใด มิใช่ปล่อยให้ประชาชนเป็นเพียงแต่เบี้ยให้แกนนำของทั้งสองฝ่ายจับวางเท่านั้น
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|