การกระทำทางรัฐบาลกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 547/2551 (เขาพระวิหาร) |
|
|
|
อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
|
|
|
|
|
|
|
|
|
การกระทำทางรัฐบาลกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 547/2551
(กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นในการกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาในคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก)
หลังจากที่ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง การกระทำทางรัฐบาลกับคำสั่งศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 984/2551 แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวที่รับคำฟ้องคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาไว้พิจารณาและสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยผู้เขียนเห็นว่าการดำเนินการลงนามในแถลงการณ์ร่วมทั้งกระบวนการเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 (คดีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น JTEPA) ซึ่งมีสาระสำคัญของเรื่องไม่แตกต่างจากคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชานั้น ศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำทางรัฐบาลไว้อย่างดีและสอดคล้องกับหลักวิชา พร้อมกับได้โต้แย้งความเห็นของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ได้วิจารณ์แถลงการณ์ของผู้เขียนและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกสี่ท่านแล้ว ปรากฏว่าต่อมา ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ได้เขียนบทความ เขาพระวิหาร 2 โต้แย้งความเห็นของผู้เขียนอีก โดยบทความดังกล่าวได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ศาลปกครองก่อน และต่อมาได้เผยแพร่อีกครั้งใน www.pub-law.net นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 547/2551 ยืนตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง
โดยเหตุที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่วงวิชาการนิติศาสตร์ควรจะได้ตรวจสอบความเห็นทางวิชาการตลอดจนคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดโดยละเอียด จึงจำเป็นที่ผู้เขียนจะต้องแสดงความเห็นทางวิชาการเรื่องนี้ไว้ให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไปอีก ผู้อ่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวของคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชามาตั้งแต่ต้น และไม่ได้ติดตามการโต้แย้งระหว่างผู้เขียนกับ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อาจย้อนกลับไปอ่านบทความของผู้เขียนและ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ได้ บทความของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ปรากฏอยู่ทั้งในเว็บไซต์ของศาลปกครอง (www.admincourt.go.th) และใน www.pub-law.net ส่วนบทความของผู้เขียนปรากฏอยู่เฉพาะในเว็บไซต์ www.pub-law.net เนื่องจากจนถึงปัจจุบันนี้ เว็บไซต์ศาลปกครองยังไม่ได้ลงบทความที่ผู้เขียนเขียนส่งไปโต้แย้ง ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ท่านผู้เขียนบทความ) แต่อย่างใด
บทความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกจะเป็นข้อสังเกตต่อบทความ เขาพระวิหาร 2 ส่วนที่สองเป็นบทวิจารณ์คำสั่งศาลปกครองสูงสุด
ส่วนที่ 1 ข้อสังเกตต่อบทความ เขาพระวิหาร 2
1. ผู้เขียนและท่านผู้เขียนบทความได้โต้แย้งกันเกี่ยวกับการแปลคำว่า acte de gouvernement ในภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย โดยผู้เขียนเห็นว่าคำว่า acte de gouvernement ควรจะต้องแปลว่า การกระทำทางรัฐบาลหรือการกระทำทางรัฐประศาสนโนบาย จึงจะตรงกับความหมายที่แท้จริง ท่านผู้เขียนบทความแย้งว่า การแปลดังกล่าวไม่มีความลึกเพียงพอ แต่คำว่า acte de gouvernement จะต้องแปลว่า การกระทำของรัฐบาล โดยเห็นว่าหากแปลเป็นอย่างอื่นจะผิดความหมาย อันที่จริงถ้าหากท่านผู้เขียนบทความเข้าใจว่าคำว่า de ต้องแปลว่า ของ เท่านั้น ท่านอาจจะต้องแปลคำว่า Etat de droit ว่ารัฐของกฎหมาย คงจะแปลว่า นิติรัฐ ไม่ได้ ผู้เขียนเห็นว่าการแปลถ้อยคำหรือศัพท์ทางกฎหมายอันเป็นศัพท์เทคนิค (terminus technicus) ไม่ใช่การแปลแบบเครื่องจักร แต่ต้องเข้าใจความหมายที่แท้จริงของเรื่องราวอันเป็นที่มาของคำศัพท์เทคนิคคำนั้น ผู้เขียนทราบดีว่าคำว่า de แปลว่า ของ แต่ในการแปล acte de gouvernement ให้ตรงกับความหมายที่แท้จริงนั้น การแปลคำดังกล่าวว่า การกระทำของรัฐบาล ไม่สื่อความในภาษาไทยให้ตรงกับความหมายที่แท้จริง และหากจะแปลดังกล่าวก็จะต้องอธิบายความต่อไปด้วยว่า acte de gouvernement หาได้เกิดจากการกระทำของรัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) เท่านั้นไม่ แต่อาจเกิดจากประมุขของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ฯลฯ ได้ด้วย ผู้เขียนเห็นว่าการแปลคำว่า acte de gouvernement ว่า การกระทำของรัฐบาล หาได้มีความลึกซึ้งดังที่ท่านผู้เขียนบทความเข้าใจไม่ แต่เป็นการแปลไปตามพยัญชนะเท่านั้น ท่านผู้เขียนบทความไม่พึงเข้าใจว่าถ้ามีผู้แปลถ้อยคำนี้เป็นอย่างอื่น คือแปลตามอรรถ การแปลดังกล่าวจะผิดความหมาย ในทางตรงกันข้ามการแปลเป็นอย่างอื่นกลับจะตรงกับความหมายอันแท้จริงของถ้อยคำนั้นยิ่งเสียกว่า (2)
มีข้อที่น่าสังเกตว่าท่านผู้เขียนบทความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการอธิบายความหมายที่แท้จริงของ acte de gouvernement เพราะตลอดบทความทั้งสองบทความ บทความแรกมีความยาว 35 หน้า บทความที่สองมีความยาวอีก 28 หน้า ท่านผู้เขียนบทความยังไม่ได้อธิบายเลยว่า acte de gouvernement คืออะไร ถ้าท่านผู้เขียนบทความเห็นว่าคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA ไม่ตรงกับความหมายของ acte de gouvernement ที่ยอมรับนับถือกันในนานาอารยะประเทศ ท่านก็ควรจะต้องแสดงให้เห็นว่าท่านเข้าใจว่าอย่างไร และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA ไม่ตรงกับทฤษฎี acte de gouvernement อย่างไร กล่าวคือ ท่านควรจะต้องมีเกณฑ์ในการวิจารณ์ ในบทความที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนตามสมควรแล้วว่า acte de gouvernement คืออะไร เกิดจากการกระทำขององค์กรใดได้บ้าง เพื่อให้การถกเถียงเรื่องนี้มีสาระในทางวิชาการ ก็ขอท่านผู้เขียนบทความแสดงความเห็นของท่านในเรื่องนี้ออกมาให้เห็นประจักษ์เถิด
2. ผู้เขียนได้ทักท้วงท่านผู้เขียนบทความว่า การแปลคำว่า การกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญว่า act of constitutional organizations เป็นการแปลที่คลาดเคลื่อน เพราะคำว่า organization หมายถึง องค์การ ท่านผู้เขียนบทความยืนยันว่าการแปลของท่านถูกต้องแล้ว และอธิบายว่าตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ศาลปกครองสูงสุดใช้คำว่า องค์กร โดยให้มีความหมายถึง หน่วยงานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ ท่านผู้เขียนบทความจึงแปลให้ตรงความหมาย และใช้คำเป็นภาษาอังกฤษว่า organization ซึ่งแปลว่า การจัดระบบองค์การ หรือแปลว่า องค์การ (ที่มีการจัดระบบ) และเจตนาไม่ใช้คำว่า organ
ผู้เขียนยินดียิ่งที่ท่านผู้เขียนบทความได้โต้แย้งประเด็นนี้ เพราะจะได้ใช้โอกาสนี้อธิบายความให้ท่านผู้เขียนบทความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคำว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ปรากฏในคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 นั้น ศาลปกครองสูงสุดมุ่งหมายถึง บรรดาองค์กรต่างๆที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น (ซึ่งหมายถึง คณะรัฐมนตรี ด้วย) ความเข้าใจของศาลปกครองสูงสุดในคำสั่งที่ 178/2550 จึงตรงกับหลักสากล คำว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญ นี้ ศัพท์ในภาษาเยอรมัน เรียกว่า Verfassungsorgan (ตำราภาษาเยอรมันไม่ได้เรียกว่า Verfassungsorganisation) ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า constitutional organ เท่าที่ผู้เขียนสำรวจตรวจสอบตำรากฎหมายหลายเล่ม ไม่ปรากฏว่ามีตำราแม้แต่เล่มเดียว ที่เรียก องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ว่า constitutional organization ดังที่ท่านผู้เขียนบทความได้แปลไว้(3) คำว่า constitutional organization ที่ใช้กันทั่วไปนั้น หมายถึง การจัดระบบโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายถึง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้หมายถึง หน่วยงาน (ตามรัฐธรรมนูญ) ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงเป็น constitutional organ ไม่ใช่ constitutional organization ดังที่ท่านผู้เขียนบทความเข้าใจ
อนึ่ง ท่านผู้เขียนบทความควรจะสำรวจตรวจสอบวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดี JTEPA ด้วยว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งวันใด ในวันนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใดมีผลใช้บังคับอยู่ จะได้ไม่เอาถ้อยคำที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ไปวิเคราะห์กับรัฐธรรมนูญต่างฉบับกัน และทำให้ตัวท่านเองเข้าใจสับสนไป ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในคดี JTEPA (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 ในวันนั้น รัฐธรรมนูญที่มีผลใช้บังคับอยู่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) ฉบับปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้มีหมวด 11 ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้น โดยเฉพาะและใช้ในความหมายเฉพาะ รัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว 2549 ไม่ได้มีหมวดว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ท่านจึงไม่อาจนำความหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมวด 11 ไปใช้ทำความเข้าใจคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA เพราะคดี JTEPA เกิดขึ้นก่อน และไม่สามารถนำเอาหมวด 11 ของรัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบัน มาใช้เป็นข้อแก้ตัวในการแปลถ้อยคำผิดพลาดได้เช่นกัน
การที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ในหมวด 11 กำหนดให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 7 องค์กร เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฯลฯ เป็นการบัญญัติคำว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีความหมายเฉพาะเท่านั้น ในทางทฤษฎีการกำหนดเช่นนี้ก็มีปัญหาอยู่มาก(4) เพราะอาจจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่อยู่ในหมวด 11 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (constitutional organ; Verfassungsorgan) ทั้งๆที่องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง มีชีวิตสัมพันธ์อยู่กับรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ องค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้จะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้เลย ความเข้าใจของนักกฎหมายทั่วไปในโลกนี้ ก็เข้าใจตามนี้ ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงบรรดาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 7 องค์กร ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 11 ก็ควรจะกล่าวให้ชัดลงไปว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญหมวด 11 ทั้งนี้เพื่อคงความหมายที่ถูกต้องขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่สากลเรียกว่า constitutional organ ไว้ต่อไป และหากท่านผู้เขียนบทความยังคงยืนยันที่จะใช้คำว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในภาษาอังกฤษว่า constitutional organization ต่อไป ก็คงไม่มีนักกฎหมายต่างประเทศคนใดเข้าใจท่านได้ว่าท่านหมายถึง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ อย่างแน่นอน
3. ท่านผู้เขียนบทความได้วิจารณ์คำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA แต่วิจารณ์โดยเข้าใจสาระสำคัญของคำสั่งนี้ผิดพลาดไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แม้ผู้เขียนจะได้แสดงไว้อย่างชัดเจนในบทความที่แล้วในหัวข้อที่ 4 หน้า 11 แต่ท่านผู้เขียนบทความยังคงเข้าใจสาระสำคัญของคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA คลาดเคลื่อนอย่างเดิม กล่าวคือ ท่านผู้เขียนบทความเข้าใจไปว่าโดยผลของคดี JTEPA จะทำให้ศาลปกครองตรวจสอบ การกระทำทางปกครอง ได้เฉพาะ การกระทำทางปกครอง ที่กระทำโดยองค์กรที่ต้องไม่ใช่ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (และไม่ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ); คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดนี้ ถ้าถือว่าเป็นบรรทัดฐาน ก็จะทำให้ การกระทำทางปกครอง acte administratif ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ (ที่ไม่ใช่สถาบันทางการเมือง) จำนวนหลายองค์กร หลุดพ้นไปจาก การตรวจสอบของศาลปกครอง และไม่เป็นไปตามทฤษฎี acte de gouvernement ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆที่ถ้าอ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA ให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่า ศาลปกครองสูงสุดได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ถ้าองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้กระทำการและการกระทำนั้นเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นย่อมไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งหมายความในทางกลับกันว่า แม้ผู้กระทำเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแต่หากกระทำนั้นไม่ได้เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวก็อาจตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองได้ ในกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เป็นสถาบันทางการเมืองหรือไม่) กระทำการทางปกครอง ย่อมถือไม่ได้ว่าองค์กรเหล่านั้นใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ หากเงื่อนไขการรับคำฟ้องไว้พิจารณามีอยู่อย่างครบถ้วน ศาลปกครองก็สามารถตรวจสอบการกระทำทางปกครองขององค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ ท่านผู้เขียนบทความเข้าใจประเด็นดังกล่าวนี้ผิดพลาดไป จึงสรุปเอาเองว่าการกระทำทางปกครองขององค์กรตามรัฐธรรมนูญจำนวนหลายองค์กรจะหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบของศาลปกครอง ผู้เขียนเห็นว่าในการวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครองสูงสุดในเรื่องนี้ ท่านผู้เขียนบทความควรจะต้องศึกษาเงื่อนไขข้อที่สองที่ศาลปกครองสูงสุดกล่าวไว้ชัดเจนว่า และการกระทำนั้นเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน ก่อนจะสรุปอย่างที่ได้สรุปไว้
4. ข้อโต้แย้งอื่นๆของท่านผู้เขียนบทความดูเหมือนจะเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ผู้เขียนคงมีข้อสังเกตเล็กน้อย โดยเฉพาะเมื่อท่านผู้เขียนบทความกล่าวว่า แถลงการณ์ของคณาจารย์ทั้งห้า ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้ ทำให้ผู้เขียนต้องมาอธิบายเพิ่มเติม อันที่จริงแล้วเหตุที่ในแถลงการณ์ของคณาจารย์ทั้งห้า ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้ด้วยนั้น เป็นเพราะคณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีเป็นการกระทำทางรัฐบาลที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงอำนาจฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีในแถลงการณ์นั้น(5) ต่อมาเมื่อท่านผู้เขียนบทความได้เขียนบทความขึ้นโต้แย้งแถลงการณ์ของคณาจารย์ทั้งห้า โดยแสดงความเห็นพ้องกับคำสั่งของศาลปกครองที่รับคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาไว้พิจารณา ผู้เขียนจึงเขียนบทความขึ้นเพื่อให้ท่านผู้เขียนบทความได้ตระหนักถึงประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องคดี ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะยืนยันว่าศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาจะต้องอภิปรายและชี้ให้เห็นด้วย ไม่ว่าจะวินิจฉัยเป็นประเด็นแรกๆ หรือประเด็นสุดท้ายดังที่ท่านผู้เขียนบทความพยายามกล่าวอ้าง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเด็นสุดท้ายเพียงใดก็ตาม ก็จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนที่จะสรุปว่าศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องในเรื่องนี้ไว้พิจารณาได้ แต่ปรากฏว่าท่านผู้เขียนบทความเห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้องเรื่องนี้ไว้พิจารณาได้เสียแล้ว โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เลย
อนึ่ง ที่คณาจารย์ทั้งห้าได้วิจารณ์คำขอของผู้ฟ้องคดีว่ามีความผิดพลาดนั้น คณาจารย์ทั้งห้าได้แยกประเด็นดังกล่าวไว้ชัดเจนแล้วในแถลงการณ์ และผู้เขียนได้อธิบายเหตุผลไปแล้วในบทความที่ผ่านมา ทั้งนี้รวมทั้งลักษณะการสรุปคำสั่งของศาลปกครองด้วย จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก
5. ถึงแม้ว่าประเด็นที่กำลังโต้แย้งกันอยู่จะเป็นประเด็นที่เกิดจากคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาก็ตาม แต่ท่านผู้เขียนบทความในบทความเขาพระวิหาร 2 ได้เขียนเลยไปถึงสภาพการเมือง และสภาพวิชาการทางกฎหมายมหาชน ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ปัญหาสภาพการเมืองและสภาพวิชาการทางกฎหมายมหาชนของไทย เป็นปัญหาที่ผู้เขียนทราบดี และอาจจะทราบดีกว่าที่ท่านผู้เขียนบทความคาดหมายมากนัก การมองสภาพปัญหาทางการเมืองด้านเดียวจากพื้นฐานความคิดและความต้องการทางการเมืองของตน ตลอดจนการโยนปัญหาทุกอย่างไปให้กับนักการเมืองและพรรคการเมืองดูจะง่ายเกินไป และจะไม่ทำให้เราสามารถนำประเทศไทยออกจากปัญหาทางการเมืองที่มีกลุ่มประโยชน์อื่นนอกจากพรรคการเมืองและนักการเมืองแฝงตัวอยู่เงียบๆ และดูดซับผลประโยชน์ทางการเมืองอันมหาศาลเป็นเวลายาวนานได้ ผู้เขียนมุ่งหมายให้บทความนี้เป็นบทความที่โต้แย้งกันในทางหลักวิชาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องอำนาจของศาลปกครองและการกระทำทางรัฐบาล แม้ผู้เขียนจะมีความเห็นแตกต่างจากท่านผู้เขียนบทความในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพการเมืองและสภาพวิชาการทางกฎหมายมหาชนของไทยในหลายประเด็น ก็จะยังไม่ใช้พื้นที่ในบทความนี้โต้แย้งในประเด็นดังกล่าวกับท่านผู้เขียนบทความ เพียงมุ่งหวังให้ท่านผู้เขียนบทความอธิบาย acte de gouvernement และเขตอำนาจของศาลปกครองตามความเข้าใจของท่านให้ชัดเจน เพื่อที่วงวิชาการจะได้ตรวจสอบความเห็นของท่านผู้เขียนบทความและความเห็นของผู้เขียนว่าความเห็นใดเป็นความเห็นที่ถูกต้อง สอดคล้องกับหลักวิชาที่ยอมรับนับถือกันทั่วไปเท่านั้น
ส่วนที่ 2 บทวิเคราะห์คำสั่งศาลปกครองสูงสุด
1. หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 รับฟ้องคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไว้พิจารณาและกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งห้ามมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีดำเนินการใดๆที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาและการดำเนินการตามมติดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งประเด็นนี้ได้กลายเป็นประเด็นที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในวงการนิติศาสตร์และในสังคมอย่างกว้างขวางแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวของศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 547/2551 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง
มีข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า องค์คณะของศาลปกครองสูงสุดที่พิจารณาอุทธรณ์เรื่องนี้ ไม่ใช่องค์คณะปกติ แต่เป็นองค์คณะพิเศษที่ประกอบไปด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานศาลปกครองสูงสุด และตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนทราบ นับตั้งแต่เปิดศาลปกครองมา ยังไม่เคยมีการพิจารณาคดีโดยองค์คณะพิเศษมาก่อน คดีอื่นๆที่เป็นปัญหาโต้แย้งในประเด็นข้อกฎหมายซึ่งบางประเด็นอาจจะสำคัญน้อยกว่าประเด็นที่ปรากฏในคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ได้รับการพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในทางวิธีพิจารณาผู้เขียนเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญและมีปัญหาโต้แย้งกันมาก อีกทั้งยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับคดี JTEPA ที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยไว้แล้ว ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นก็สมควรที่จะได้รับการพิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุดยิ่งกว่าที่จะได้รับการพิจารณาจากองค์คณะพิเศษ
2. คดีนี้เป็นคดีที่อุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ซึ่งประเด็นของเรื่องอยู่ที่ว่าการที่ศาลปกครองกลางออกคำสั่งห้ามมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีดำเนินการใดๆที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาและห้ามมิให้ดำเนินการตามมติดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เป็นการกำหนดมาตรการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศหรือไม่ หรือเหตุที่จะขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีหมดสิ้นไปแล้วหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วศาลปกครองสูงสุดจะต้องพิจารณาเฉพาะคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว มิอาจที่จะก้าวล่วงไปพิจารณาปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ในชั้นนี้ได้ เพราะศาลปกครองชั้นต้นยังมิได้พิพากษาในประเด็นนี้
แต่เมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ ในหน้า 17 ถึงหน้า 19 แล้ว ผู้เขียนพบว่าศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยลงไปในเนื้อหาของคดีแล้ว ดังที่ปรากฏในหน้า 18 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่ศาลปกครองสูงสุดกล่าวว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการดำเนินการโดยปราศจากความโปร่งใส ก่อให้เกิดความสงสัยเคลือบแคลงใจแก่ประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่เป็นเรื่องผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ จึงมีผลกระทบก่อให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคมและระหว่างประเทศ เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการจัดทำแถลงการณ์ร่วมโดยยังมิได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้ว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ข้อความที่เป็นตัวเอียงและเข้ม เน้นโดยผู้เขียน) การที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้เช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาตามมาทันทีในทางวิธีพิจารณาว่าศาลปกครองกลางจะพิพากษาคดีอย่างไร เพราะประเด็นหลักที่โต้แย้งกันอยู่ในคดีคือประเด็นที่ว่าการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลปกครองกลางดำเนินการสืบพยานต่อไปจนเสร็จการพิจารณาแล้ว ศาลปกครองกลางเห็นว่าการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง) เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองกลางจะพิพากษายกฟ้องได้หรือไม่ เพราะศาลปกครองสูงสุดในคำสั่งที่ 547/2551 ได้วินิจฉัยไว้เสียแล้วว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งๆที่ประเด็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายยังไม่อาจวินิจฉัยได้ในชั้นของการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา
3. นอกจากปัญหาในทางวิธีพิจารณาที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นข้างต้นแล้ว ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งที่ปรากฏในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 543/2551 คือ ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจของศาลปกครองในการรับคดีไว้พิจารณา อันที่จริงแล้วการอุทธรณ์คำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาย่อมไม่อาจกระทำได้ในขั้นตอนนี้ ต่างจากการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งผู้ฟ้องคดีสามารถอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องคดีของศาลปกครองชั้นต้นไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ แต่โดยที่ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดหยิบยกขึ้นพิจารณาในบริบทของการพิจารณาคำสั่งกำหนดมาตรการและวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และได้ให้เหตุผลไว้ด้วยว่าเพราะเหตุใดศาลปกครองจึงมีอำนาจเหนือคดีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นพ้องด้วย จึงสมควรที่จะตรวจสอบเหตุผลของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ว่าสอดคล้องกับหลักวิชานิติศาสตร์หรือไม่
4. ศาลปกครองสูงสุดได้ให้เหตุผลในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง) ในหน้า 17 ว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะได้กระทำในฐานะรัฐบาลในกิจการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวกระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์อันชอบธรรมของประชาชนชาวไทยในอันที่จะคงไว้ซึ่งสิทธิและหน้าที่ในการครอบครองและรักษาไว้ซึ่งอาณาเขต ดินแดน แหล่งอารยธรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ รวมตลอดทั้งสิทธิในการประกอบอาชีพในบริเวณดังกล่าวและสิทธิต่างๆตามรัฐธรรมนูญด้วย การกระทำของรัฐบาลดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองรวมอยู่ด้วย ปัญหาที่เกิดจากการให้เหตุผลของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องนี้ก็คือ การกระทำส่วนใดบ้างที่เป็น การดำเนินการของรัฐในทางปกครองที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองรวมอยู่ด้วย เพราะหากถือตามแนวทางนี้ การกระทำของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เป็นการตัดสินใจทางนโยบาย หรือที่เป็นการกระทำในทางรัฐธรรมนูญซึ่งจะมากหรือน้อยย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปในทางใดทางหนึ่ง ก็อาจถูกตีความว่าเป็น การดำเนินการของรัฐในทางปกครองที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองรวมอยู่ด้วย ทั้งสิ้น หากเป็นเช่นนี้ศาลปกครองก็ย่อมจะมีอำนาจเข้าไปควบคุมตรวจสอบการกระทำต่างๆของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ตามแต่ศาลปกครองจะตีความ เพราะคำสั่งในเรื่องนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นเลยว่าการกระทำส่วนใดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือคณะรัฐมนตรีเป็นการกระทำทางปกครอง และเกณฑ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำทางปกครองคืออะไร
แนวทางที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในคดีนี้ แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ในคดี JTEPA ทั้งๆที่ สาระสำคัญของเรื่องไม่แตกต่างกัน กล่าวคือเป็นกรณีที่รัฐบาลเข้ากระทำการในทางระหว่างประเทศเหมือนกัน เพียงแต่คดี JTEPA เป็นเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น แต่คดีนี้เป็นเรื่องของแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqué) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ในคดี JTEPA ซึ่งผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลปกครองสั่งให้กระบวนการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีไปลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเป็นโมฆะนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาไปที่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ฟ้องคดี โดยเห็นว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้ฟ้องคดีคือต้องการให้มติคณะรัฐมนตรีใช้ไม่ได้ เพื่อให้มีผลระงับการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เพราะกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารของรัฐตามรัฐธรรมนูญกระทำการในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่ใช้อำนาจทางบริหารของรัฐตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นใดที่มีผลใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติออกกฎ คำสั่ง หรือกระทำการอื่นใดเพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองบรรลุผล กล่าวอีกนัยหนึ่งศาลปกครองสูงสุดในคดี JTEPA เห็นว่าการกระทำของคณะรัฐมนตรีในกรณีนี้ไม่ใช่การกระทำทางปกครอง เหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดให้ไว้ในคดีนี้นอกจากจะพิสูจน์ให้เห็นได้จากฐานของกฎหมายที่ให้อำนาจกระทำการแล้ว ยังสอดคล้องกับหลักวิชานิติศาสตร์ ตลอดจนสอดรับกับทฤษฎีว่าการกระทำทางรัฐบาลที่ปรากฏในสากลดังที่ผู้เขียนได้แสดงไว้ในบทความที่แล้วอีกด้วย
กรณีจึงต่างจากคดี Joint Communiqué ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 547/2551 ที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ให้เหตุผลที่พิสูจน์ให้เห็นได้จากฐานของกฎหมายที่ให้อำนาจกระทำการ ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงความประสงค์ที่แท้จริงของผู้ฟ้องคดีว่าแท้ที่จริงแล้ว ผู้ฟ้องคดีต้องการฟ้องให้แถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาซึ่งเป็นการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่การกระทำทางปกครอง ใช้บังคับไม่ได้ การวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวย่อมจะทำให้แยกแยะคดีรัฐธรรมนูญและคดีปกครองออกจากกันไม่ได้ และที่สำคัญศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ไม่ได้ให้เหตุผลหักล้างคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ปรากฏในคดี JTEPA ด้วย
5. ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องคดี ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความที่แล้วว่า การฟ้องคดีปกครองจะต้องปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาก็คือ ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าในคดี Joint Communiqué เดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายอย่างไรจากการที่รัฐบาลไทยไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา ศาลปกครองสูงสุดได้พยายามอธิบายความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีไว้ในหน้า 19 ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเป็นประชาชนคนไทย มีหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งกำหนดให้บุคคลมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติและปฏิบัติตามกฎหมาย การจัดทำแถลงการณ์ร่วมของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าและประชาชนโดยรวม การฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้ามีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ปกป้องอาณาเขตดินแดน อำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีผลกระทบและก่อให้เกิดผลผูกพันต่อประชาชน ดังนั้นจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง..
การตีความอำนาจฟ้องคดีของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ หากถือเป็นหลักต่อไปแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าจะทำให้การฟ้องคดีปกครองในระบบกฎหมายไทย กลายเป็นการฟ้องคดีปกครองโดยประชาชนทั่วไป (actio popularis) คือ ผู้ใดก็ตามซึ่งเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยก็อาจอ้างความเป็นประชาชนชาวไทยฟ้องคดีปกครองได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเหตุผล (ratio legis) ในมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่แม้จะกำหนดอำนาจฟ้องคดีปกครองไว้ค่อนข้างกว้าง คือ ใช้หลักความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย ไม่ได้ใช้หลักการถูกกระทบสิทธิ แต่ก็ไม่ได้กว้างจนถึงขั้นที่จะให้ผู้ใดก็ตามที่เป็นประชาชนชาวไทยนำคดีมาฟ้องศาลปกครองได้ การกล่าวอ้างว่าประชาชนมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติและปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ผู้ใดก็กล่าวอ้างได้ จึงไม่อาจนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอำนาจฟ้องคดีปกครองได้ หากผู้ฟ้องคดีทั้งเก้ากล่าวอ้างว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาทำให้ตนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงฟ้องคดีในนามประชาชนชาวไทย ปัญหาก็คือ ประชาชนคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่บุคคลทั้งเก้าฟ้องคดีจะฟ้องร้องเองอีกได้หรือไม่ หรือประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเห็นว่าการลงนามในแถลงการณ์ร่วมจะทำให้ตนได้รับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม ตลอดจนเห็นว่าประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ในทางกลับกันการทำให้แถลงการณ์ร่วมใช้บังคับไม่ได้จะมีผลกระทบต่อดินแดน และจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย อีกทั้งจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประชาชนดังกล่าวจะยื่นคำร้องคัดค้านหรือร้องสอดเข้ามาในคดีได้หรือไม่ ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์ที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้ในเรื่องนี้ ก็ต้องตอบว่าได้ทั้งสิ้น เพราะทุกคนเป็นประชาชนชาวไทยมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติ และตามเกณฑ์ดังกล่าวของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ก็อาจจะเดือดร้อนเสียหายทั้งสิ้น การตีความผู้เสียหายในคดีปกครองในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นแนวทางที่จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
โดยอาศัยเหตุผลทั้งปวงดังที่ได้วิเคราะห์ให้เห็นทั้งในบทความนี้ บทความที่แล้ว และในแถลงการณ์ของคณาจารย์ทั้งห้าแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนเห็นว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 (คดี JTEPA)(6) เป็นคำสั่งที่สอดคล้องกับหลักวิชานิติศาสตร์ และพึงถือเป็นบรรทัดฐานต่อไป ส่วนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 547/2551(7) ไม่อาจถือเป็นบรรทัดฐานได้
บทส่งท้าย
ในบทความเขาพระวิหาร 2 ท่านผู้เขียนบทความพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา พร้อมกับแสดงความเห็นว่าคณาจารย์ทั้งห้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยหลงทาง หาทางออกจากวงจรแห่งความเสื่อมไม่พบ เนื่องจากสอนว่าประเทศไทยมีดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ตลอดบทความของท่านผู้เขียนบทความ ท่านฝังใจอยู่แต่ว่าปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยอยู่ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น กลุ่มผลประโยชน์อื่นทางการเมืองไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไรให้แก่การเมืองไทยเลย หากท่านละวางอคติส่วนตัวของท่านลง มองการเมืองไทยให้เห็นทั้งระบบ ไม่สรุปอะไรเป็นสรณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง รัฐบุรุษ หรือ Statesman ของท่าน มองการเมืองให้เข้าใจว่าเป็นการช่วงชิงผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆในสังคม ไม่เฉพาะแต่นักการเมืองและพรรคการเมือง และในบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ การต่อสู้ทางการเมืองที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเป็นรูปจำลองของการต่อสู้ทางชนชั้นซึ่งมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะสรุปและแก้ปัญหาง่ายๆอย่างที่ท่านผู้เขียนบทความได้กระทำ การวิเคราะห์ปัญหาทางการเมืองของท่านก็จะมีคุณค่ากว่านี้มาก
ในฐานะนักกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาทางกฎหมาย นักกฎหมายทุกคนไม่ว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อัยการ ผู้พิพากษาตุลาการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายอื่น ต้องตระหนักว่าการวินิจฉัยปัญหานั้นจะต้องมีเกณฑ์และมีเหตุผลรองรับ จะใช้ความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของตนเข้าแทนที่หลักวิชา แล้ววินิจฉัยปัญหาไปตามความรู้สึกนึกคิด ความต้องการทางการเมืองของตนไม่ได้ กล่าวเฉพาะนักกฎหมายมหาชนซึ่งจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาทางกฎหมายที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินนั้น จะต้องตระหนักว่าตนกำลังวินิจฉัยปัญหาทางกฎหมาย ไม่ใช่กำลังแสดงออกซึ่งความต้องการทางการเมืองของตน ซึ่งสิ่งเดียวที่จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ หลงทาง ก็คือ ความซื่อตรงต่อหลักวิชา ต่อเหตุผลตามหลักวิชาที่ได้พิสูจน์กันมาจนยอมรับนับถือกันทั่วไป เพราะหากนักกฎหมายมหาชนบิดเบือนหลักวิชาเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของตนเสียแล้วไม่ว่าจะในนามของอะไรหรือเพื่อใครก็ตาม การวินิจฉัยปัญหานั้นก็หามีคุณค่าใดควรแก่การยอมรับนับถือไม่ และการกระทำดังกล่าวก็จะค่อยๆทำลายวิชานิติศาสตร์ลงไปในที่สุด
เชิงอรรถ
(1) วันที่ 3 ตุลาคม 2551
(2) สำหรับประเด็นในทางภาษาเรื่องอื่น เช่น การกล่าวถึงคำนำหน้านามว่าเฉพาะเจาะจงหรือไม่เฉพาะเจาะจง ผู้เขียนเห็นว่าไม่เป็นสาระควรแก่การอภิปรายต่อไป ไม่อย่างนั้นคงต้องให้ท่านผู้เขียนบทความแปลคำว่า acte du gouvernement ว่าการกระทำของรัฐบาล (ใดรัฐบาลหนึ่งโดยเฉพาะ) ซึ่งไม่เป็นการสร้างสรรค์ทางสติปัญญา ผู้เขียนคงต้องการชี้ให้เห็นสำหรับผู้ที่สนใจค้นคว้าว่าตำรากฎหมายปกครองหลายเล่มในภาษาฝรั่งเศส (ดู Jean Rivero/ Jean Waline, Droit administratif, 18e édition, Dalloz, 2000, n° 90 p.95 เป็นอาทิ) เรียก การกระทำของฝ่ายปกครอง ว่า acte de ladministration ไม่ใช่ acte dadministration ดังที่ท่านผู้เขียนบทความอ้างตำราของ Laferriere โดยขาดการอ้างอิงให้ชัดเจนและไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า Laferriere ใช้คำนี้ในบริบทใด และปัจจุบันความหมายของถ้อยคำพัฒนาไปอย่างไร และผู้เขียนต้องการจะชี้ให้เห็นต่อไปด้วยว่าแม้แต่คำว่า acte administratif ที่บางครั้งท่านผู้เขียนบทความแปลว่า การกระทำทางปกครอง บางครั้งแปลว่า นิติกรรมทางปกครอง นั้น ก็มีความหมายแปรผันไปตามพัฒนาการทางความคิด คำๆนี้เมื่อแรกกำเนิดขึ้นในระบบกฎหมายฝรั่งเศส ก็ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กล่าวมานี้ต้องการเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า อย่าได้เข้าใจว่าการแปลถ้อยคำนั้นตรงตัวตามภาษาจะถือว่าเป็นการแปลที่ลึกซึ้ง การถ่ายทอดหรือแปลศัพท์เทคนิคทางกฎหมายจะต้องอาศัยความเข้าใจความหมายที่แท้จริง บางครั้งก็ต้องเห็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ด้วย การแปลที่ผู้แปลเข้าใจว่าลึกซึ้งแล้วนั้น อาจจะตรงกันข้ามก็ได้
(3) หนังสือ Introduction au français juridique Einführung in die französische Rechtssprache ของ Caraole Mestre / Karin Oellers-Frahm ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายศัพท์กฎหมายภาษาฝรั่งเศสโดยมีการเทียบคำแปลศัพท์เทคนิคที่สำคัญเป็นภาษาเยอรมันด้วยนั้น ในบทที่ 10 ก็เรียกองค์กรตามรัฐธรรมนูญว่า les organs constitutionnels หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่ในเยอรมนี ออสเตรีย และสวิสเซอร์แลนด์ โดยสำนักพิมพ์ C.H Beck, สำนักพิมพ์ Manzsche Verlag-und Universitätsbuchhandlung และสำนักพิมพ์ Verlagt Stämpfli AG เมื่อ ค.ศ.1998.
(4) ผู้ที่สนใจความหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โปรดดูรายงานการวิจัยของผู้เขียนที่เสนอต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน วรเจตน์ ภาคีรัตน์, องค์กรอิสระตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550. (รายงานการวิจัยขนาดสั้นจำนวน 40 หน้าเรื่องนี้ หาอ่านได้ที่ห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
(5) ผู้เขียนได้กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้ในแถลงการณ์ของคณาจารย์ทั้งห้า ในบทสัมภาษณ์เรื่อง ศาลเขียน รธน. ใหม่ ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แทบลอยด์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม 2551
(6) ตุลาการที่เป็นองค์คณะในคดีนี้ คือ นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการเจ้าของสำนวน นายอำพล สิงหโกวินท์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายวิชัย ชื่นชมพูนุช ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายไพบูลย์ เสียงก้อง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
(7) ตุลาการที่เป็นองค์คณะในคดีนี้ คือ นายพีระพล เชาวน์ศิริ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายดำริ วัฒนสิงหะ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายอำพล สิงหโกวินท์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|