เสรีภาพในการประกอบอาชีพ : ศึกษาจากกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการ โดยคุณศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมโดยหลักการรัฐย่อมไม่มีหน้าที่ดำเนินการทางเศรษฐกิจเองแต่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนและกลไกตลาด หน้าที่ของรัฐในด้านเศรษฐกิจจึงมีเพียงการกำกับดูแลให้การดำเนินการทางธุรกิจของเอกชนเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมโดยการใช้อำนาจออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆและอำนาจในทางปฏิเสธที่จะไม่ออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ใดๆที่จะเป็นอุปสรรคหรือจำกัดเสรีภาพการประกอบอาชีพของเอกชนเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย
เสรีภาพในการประกอบอาชีพเป็นหลักสากลที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญในประเทศเศรษฐกิจเสรีนิยมรวมถึงประเทศไทยที่รับรองเสรีภาพในการประกอบอาชีพในมาตรา 43 ความว่า
มาตรา ๔๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมมีข่าวเกี่ยวกับกฎหมายที่น่าสนใจแม้ไม่ได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยกล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญประเทศเยอรมันได้ตัดสินให้รัฐเบอร์ลิน(Berlin) และรัฐบาเด็น-วูเต็มแบร์ก (Baden-Württemberg) ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญภายในปี 2552 คดีนี้มีความน่าสนใจที่มาตรการพิพาทเป็นมาตรการที่ใช้บังคับกันมากในประเทศต่างๆและรายละเอียดของคดีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงกระบวนการคิดทั้งในแง่กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจและหลักทั่วไปของกฎหมายมหาชนซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญไทยได้เช่นกัน
บทความนี้จะขอนำเสนอในสามประเด็น คือ
1.ข้อเท็จจริงของคดี
2.คำตัดสิน เหตุผลของศาล และผลสืบเนื่องจากคดี
3.หลักการพิจารณาที่ได้จากคำตัดสินของศาล
1.ข้อเท็จจริงของคดี
1) เยอรมันมีประชากรที่สูบบุหรี่ประมาณ 1 ใน 3 ด้วยความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่มีมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบด้านสุขภาพของผู้ที่มิได้สูบแต่สูดดมควันบุหรี่หรือที่เรียกว่านักสูบมือสอง(Passive Smoker) ทำให้ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปรวมถึงเยอรมันพยายามออกมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในรูปแบบต่างๆ
2) เยอรมันได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ราชการซึ่งทุกรัฐในเยอรมันต่างนำมาตรการนี้มาใช้บังคับ(เยอรมันเป็นประเทศสหพันธรัฐประกอบด้วยรัฐต่างๆ16รัฐซึ่งอาจยอมรับกฎหมายกลางของสหพันธรัฐมาใช้บังคับในรูปแบบที่แตกต่างกัน)
3) ต่อมารัฐบาลกลางเยอรมันมีแนวคิดที่จะขยายสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ให้รวมถึงที่สาธารณะด้วยปัญหาของมาตรการนี้อยู่ที่ร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ ดิสโก้เธค(ต่อไปจะเรียกรวมว่า สถานบริการ)ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนเข้าไปสูบบุหรี่เป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงออกมาตรการทดลองโดยออกแนวทางปฏิบัติตามความสมัครใจให้สถานบริการจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่มาตรการดังกล่าวไม่สำเร็จผลเพราะมีสถานบริการเพียงร้อยละ 11 เท่านั้นที่ปฏิบัติตามแนวทางที่แนะนำ
4) รัฐบาลกลางเยอรมันจึงใช้มาตรการในทางบังคับโดยออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะโดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในแต่ละรัฐระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 สำหรับรัฐเบอร์ลินและรัฐบาเด็น-วูเต็มแบร์กเป็นสองจากสิบสองรัฐที่เริ่มใช้บังคับมาตรการดังกล่าวในวันที่ 1 มกราคม 2551
5) เนื้อหาของกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่สองรัฐดังกล่าวนำมาบังคับใช้คือ ห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะซึ่งรวมถึงสถานบริการโดยให้ยกเว้นแก่สถานบริการที่จัดให้มีห้องปิดสำหรับผู้สูบบุหรี่โดยเฉพาะ
เจ้าของคาเฟ่และเจ้าของดิสโกเธคสามรายซึ่งสูญเสียรายได้จากกฎหมายห้ามสูบบุหรี่เนื่องมาจากสถานบริการของตนไม่มีพื้นที่พอจะจัดให้เป็นห้องสำหรับผู้สูบบุหรี่ได้จึงร่วมกันฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
2.คำตัดสิน เหตุผลของศาล และผลสืบเนื่องจากคดี
ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ว่ากฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการของสองรัฐดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมันมาตรา 12 เรื่องสิทธิของประชาชนในการประกอบธุรกิจและมาตรา 3 เรื่องความเสมอภาคทางกฎหมายของประชาชน
ในคำตัดสินศาลได้ยอมรับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ที่มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องประชาชนที่เป็นนักสูบมือสองแต่อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการสถานบริการ แม้ว่าการห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการจะมีข้อยกเว้นในสถานประกอบการที่ผู้ประกอบการสามารถจัดห้องสำหรับผู้สูบบุหรี่โดยเฉพาะได้ แต่ในสายตาของศาลข้อยกเว้นดังกล่าวนั้นไม่เป็นคุณแก่สถานบริการขนาดเล็กที่มีเพียงห้องเดียวไม่สามารถจัดห้องเฉพาะสำหรับผู้สูบบุหรี่ได้
นอกจากนี้ศาลยังได้บังคับให้รัฐเบอร์ลินและรัฐบาเด็น-วูเต็มแบร์กทบทวนและแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญภายในสิ้นปี 2552 โดยในระหว่างนี้ให้สถานบริการประเภทคลับ บาร์ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 75 ตารางเมตร ไม่มีการเสิร์ฟอาหาร และไม่อนุญาตให้ผู้เยาว์เข้าใช้บริการสามารถให้ลูกค้าสูบบุหรี่ในสถานบริการนั้นได้ ส่วนสถานบริการประเภทดิสโก้เธคก็สามารถให้ลูกค้าสูบบุหรี่ได้ถ้าผู้ประกอบการสามารถจัดหาห้องสำหรับผู้สูบบุหรี่โดยที่ในห้องดังกล่าวต้องไม่มีพื้นที่เต้นรำ
จากนี้ไปตราบที่การปรับปรุงกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้นทั้งสองรัฐมีแนวทางการใช้มาตรการห้ามสูบบุหรี่อยู่สองประการคือ ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทุกประเภทโดยไม่มีข้อยกเว้นเช่นที่ปฏิบัติอยู่ในรัฐบาวาเรีย(Bavaria หรือ Bayern) หรือบังคับใช้มาตรการโดยผ่อนผันให้แก่สถานบริการขนาดเล็กเช่นที่ปฏิบัติกันในรัฐซาร์ลันด์ (Saarland)
ภายหลังคำตัดสินคณะกรรมาธิการต่อต้านยาเสพติดของรัฐบาลกลางเยอรมันได้เรียกร้องให้ทุกรัฐเลือกใช้มาตรการที่เข้มงวดโดยอ้างถึงการปกป้องประชาชนชาวเยอรมันผู้ไม่สูบบุหรี่ซึ่งตามตัวเลขมีอยู่มากถึงร้อยละ 66 อย่างไรก็ตามการเรียกร้องนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลเมื่อรัฐอื่นๆอันได้แก่ ฮัมบวร์ก(Hamburg) เบรเมน(Bremen) เฮสเซ่น(Hessen) นอร์ทไรน์-เวสฟาเล่น(Nordrhein-Westfalen) เมคเคล่นบวร์ก-ฟอร์ปอมแม่น(Mecklenburg-Vorpommern) บรานเดนบวร์ก(Brandenburg) ทือริงเก้น(Thüringen) นีเดอร์ซักเซน(Niedersachsen) และชเลสวิก โฮสไตน์(Schleswig-Holstein) ต่างประกาศที่จะใช้มาตรการผ่อนผันเป็นการชั่วคราว(แม้กลุ่มรัฐดังกล่าวจะไม่ตกเป็นผู้ถูกฟ้องคดีแต่โดยผลของคำพิพากษาย่อมมีผลกระทบมาถึงรัฐที่มีมาตรการคล้ายคลึงกับในคดีด้วย)
3.หลักการพิจารณาที่ได้จากคำตัดสินของศาล
คำตัดสินของศาลได้แสดงหลักการพิจารณากฎหมายที่มีผลต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพดังต่อไปนี้
1) โดยหลักทั่วไปรัฐไม่สามารถออกกฎหมาย ข้อบังคับหรือมาตรการใดๆเพื่อจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชนได้
2) กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการแม้จะมีที่มาจากกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ราชการและที่สาธารณะซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อปกป้องประชาชนผู้ไม่สูบบุหรี่มิได้มีเป้าประสงค์จะจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพในประการใดๆ แต่เมื่อการห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนต่อการประกอบธุรกิจสถานบริการย่อมเป็นการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชนซึ่งโดยหลักทั่วไปไม่สามารถกระทำได้ แต่กฎหมายฉบับนี้รัฐสามารถออกได้โดยอ้างการปกป้องสุขภาพของประชาชนอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ (เทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญไทยกฎหมายดังกล่าวก็ออกได้โดยอาศัยข้อยกเว้นเรื่องสวัสดิภาพของประชาชนตามมาตรา 43 วรรคสอง)
จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าศาลมิได้ตีความว่าการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยศาลได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่ารัฐบาลเยอรมันสามารถบังคับใช้มาตรการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะโดยไม่มีข้อยกเว้นได้หากต้องการเช่นนั้น แต่ศาลเห็นว่าปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายฉบับนี้เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวซึ่งจะนำไปสู่หลักการต่อไปว่า
3) การออกกฎหมายหรือการกระทำใดๆอันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ แม้รัฐจะมีอำนาจออกกฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนได้ รัฐก็ยังต้องเคารพในหลักการออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพดังกล่าวอันมีหลักทั่วไปคือ
1.ต้องมีการอ้างบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจ
2.การจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องกระทำเท่าที่จำเป็น
3.การจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องบังคับใช้โดยเสมอภาค
หลักดังกล่าวรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้นำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 29 โดยขยายข้อจำกัดออกเป็นห้าประการคือ
(1)การจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจะกระทำได้เฉพาะโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
(2) การจำกัดสิทธิและเสรีภาพกระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
(3) การจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพมิได้
(4) การจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะต้องกระทำเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และ
(5) การจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้น
จะเห็นว่าหลักการอ้างบทบัญญัติตาม 1. ย่อมตรงกับข้อจำกัดตาม (1)และ (5) หลักความจำเป็นปรากฏตามข้อ (2)และ (3) ส่วนหลักความเสมอภาคจะตรงกับข้อจำกัดข้อ (4) ในที่นี้จะขอแสดงแนวทางการพิจารณาว่ากฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามหลักสากลข้อ 2. และ 3. เท่านั้นเพราะหลักการอ้างบทบัญญัติย่อมเป็นข้อความที่ปรากฏในกฎหมายอยู่แล้ว
หลักความจำเป็นเป็นข้อจำกัดที่พิจารณาจากตัวมาตรการอันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพว่ามีความจำเป็นต้องใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่รัฐต้องการหรือไม่โดยพิจารณาจากสองแง่คือ
-มีมาตรการใดอื่นหรือไม่ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าและให้ผลตามวัตถุประสงค์ของรัฐ และ
-การจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นมีผลกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพหรือไม่
ในแง่แรกคดีนี้มีข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาตัดสินได้ นั่นคือ ก่อนหน้าที่จะมีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะรวมถึงสถานบริการ รัฐบาลเยอรมันได้ออกมาตรการแนะนำเป็นแนวทางให้สถานบริการจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่โดยหวังว่าจะช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในสถานบริการได้ แต่เมื่อมาตรการดังกล่าวไม่สำเร็จผลเพราะสถานบริการจำนวนน้อยมากที่ปฏิบัติตามแนวทางนี้ รัฐบาลเยอรมันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นเพื่อให้การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่บรรลุผล เห็นได้ว่าไม่มีมาตรการอื่นใดที่รุนแรงน้อยกว่าที่รัฐสามารถกระทำได้เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนแล้ว การออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการจึงไม่ขัดต่อหลักความจำเป็นในแง่นี้
ในแง่ที่สองมีประเด็นต้องพิจารณาว่าการให้ลูกค้าสูบบุหรี่ถือเป็นสาระสำคัญของการประกอบธุรกิจสถานบริการหรือไม่ ข้อนี้เห็นได้ว่าเสรีภาพในการประกอบอาชีพสถานบริการมีสาระอยู่ที่การบริการ อาหารสถานที่ และกิจกรรมความบันเทิงอื่นๆ การให้สูบบุหรี่โดยหลักทั่วไปหาใช่สาระสำคัญของการประกอบอาชีพสถานบริการไม่ การออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการจึงไม่กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพ กฎหมายฉบับนี้จึงไม่ขัดต่อหลักความจำเป็นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามมีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่น่าสนใจว่า ในช่วงที่มีการบังคับใช้มาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการ ผลประกอบการของสถานบริการในไตรมาสที่สี่ของปี 2007 ตกลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์เทียบกับอัตราในไตรมาสที่สี่ของปี 2006 ที่ตกลงไปเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ในเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่าหากสามารถพิสูจน์ได้ว่ามาตรการห้ามสูบบุหรี่ทำให้ผลประกอบการของสถานบริการลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญอาจทำให้อนุมานได้ว่าการสูบบุหรี่เป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งของการประกอบธุรกิจสถานบริการและทำให้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ขัดต่อหลักความจำเป็นเพราะกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
หลักความเสมอภาคเป็นหลักที่ไม่ได้พิจารณาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พิพาทแต่พิจารณาจากลักษณะการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวว่าได้บังคับใช้โดยเสมอภาคทั่วไปหรือไม่ คำว่าเสมอภาค คือ การปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกัน และปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันไปตามลักษณะของเรื่องนั้นๆ หากมิได้ปฏิบัติตามหลักดังกล่าวก็จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงต้องพิจารณาก่อนว่าสถานบริการขนาดเล็กและสถานบริการขนาดใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่มีสาระสำคัญที่เหมือนกันหรือต่างกัน
ในสายตาของรัฐบาลเยอรมันรัฐบาลเห็นเพียงว่าสถานบริการไม่ว่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ต่างก็ถือเป็นสถานบริการทั้งสิ้นจึงเป็นสิ่งที่มีสาระสำคัญเหมือนกันจึงต้องปฏิบัติต่อสถานบริการไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่โดยเท่าเทียมกัน การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่โดยมีข้อยกเว้นแบบเดียวกันจึงเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว
แต่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันพิจารณาเรื่องนี้ลึกไปกว่านั้นกล่าวคือศาลมิได้มองเพียงการบังคับใช้มาตรการเท่านั้นว่าได้กระทำโดยเสมอภาคหรือไม่แต่พิจารณาต่อไปอีกระดับหนึ่งว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดผลอันไม่เสมอภาคหรือไม่ เมื่อสถานบริการขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างก็มีสาระสำคัญเป็นสถานบริการเหมือนกันแต่จากมาตรการและข้อยกเว้นทำให้เฉพาะสถานบริการขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากข้อยกเว้นให้ผู้มาใช้บริการสามารถสูบบุหรี่ได้จึงถือเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญไม่เท่าเทียมกัน กฎหมายฉบับดังกล่าวจึงขัดต่อหลักความเสมอภาคและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจึงต้องแก้ไขกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมกันโดยยกเลิกข้อยกเว้นการห้ามสูบบุหรี่สำหรับสถานบริการขนาดใหญ่เพื่อห้ามสูบบุหรี่เป็นการเด็ดขาดหรือสร้างข้อยกเว้นสำหรับสถานบริการขนาดเล็กให้สามารถจัดให้ลูกค้าสูบบุหรี่ได้เช่นเดียวกับสถานบริการขนาดใหญ่
กฎหมายที่ออกโดยมีเจตนารมณ์ประการหนึ่งแต่หากมีผลกระทบเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพก็ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพดังกล่าวอันเป็นข้อจำกัดเฉพาะและยังต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นข้อจำกัดทั่วไปตามรัฐธรรมนูญอีกชั้นหนึ่งด้วย
ข้อมูลข่าว
1.หนังสือพิมพ์ Le Monde « La Cour constitutionnelle allemande oblige à revoir les lois antitabac », วันที่ 31 กรกฎาคม 2551, http://www.lemonde.fr/archives/article/2008/07/31/la-cour-constitutionnelle-allemande-oblige-a-revoir-les-lois-antitabac_1079042_0.html
2.สำนักข่าว BBC « German court rejects smoking bans », วันที่ 30กรกฎาคม 2551, http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/7533132.stm
ข้อมูลกฎหมาย
1.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักความเสมอภาค, บทความเผยแพร่ในเวบไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชน, http://www.pub-law.net
2.บรรเจิด สิงคะเนติ, ข้อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, บทความเผยแพร่ในเวบไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชน, http://www.pub-law.net
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|