หน้าแรก บทความสาระ
ฤากงล้อประวัติศาสตร์จะย้อนรอย ๖ ตุลา ๑๙ โดยคุณ ชำนาญ จันทร์เรือง
คุณ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
3 สิงหาคม 2551 16:36 น.
 
เหตุการณ์ที่เกิดการปะทะกันเองของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ ศรีสะเกษ สกลนคร มหาสารตาม เชียงราย เชียงใหม่ อุดร หรือ บุรีรัมย์ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ นี้ ทำให้ผมหวนระลึกถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๑๙ ที่คนไทยเราฆ่ากันเองจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ทำให้นาย นีล อุลเลวิช(Neal Ullevich)ผู้สื่อข่าวของ เอ พี (AP) ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์(Pulitzers) จากภาพถ่ายที่คนไทยใช้เก้าอี้และไม้ทุบตีศพนักศึกษาที่ถูกแขวนคอใต้ต้นไม้บริเวณสนามหลวง
        ในวันพุธที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น.ตำรวจไทยโดยคำสั่งของรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ได้ใช้อาวุธสงครามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิงไม่เลือกหน้า และมีกำลังของคณะกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพลเป็นหน่วยเสริม บ้างก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยพร้อมกับตำรวจ บ้างก็ล้อมมหาวิทยาลัยอยู่ข้างนอกเพื่อทำร้ายผู้ที่หนีตำรวจออกมาจากมหาวิทยาลัย
        ผู้ที่ถูกยิงตายหรือบาดเจ็บหรือบาดเจ็บก็ตายไป บาดเจ็บไป คนที่หนีออกมาข้านอกไม่ว่าจะบาดเจ็บหรือไม่ ต้องเสี่ยงกับความทารุณโหดร้ายอย่างยิ่ง บางคนถูกแขวนคอ บางคนถูกราดน้ำมันแล้วเผาทั้งเป็น คนเป็นอันมากถูกซ้อม ปรากฏตามข่าวทางการว่าตายไป ๔๐ กว่าคน แต่ข่าวที่ไม่เป็นทางการว่าตายกว่าร้อยและบาดเจ็บหลายร้อย นักศึกษาเป็นจำนวนมากหนีเข้าป่าไปเป็นพวกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
        สาเหตุของการเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ นี้เนื่องมาจากผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ และผู้ที่ไม่ต้องการจะเห็นระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไป ได้พยายามทำลายล้างพลังต่างๆที่เป็นปรปักษ์แก่ตนด้วยวิธีการต่างๆทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์
        วิธีการของกลุ่มบุคคลเหล่านี้คือ ใช้การปลุกผีคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่ชอบใครก็ป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แม้แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หรือพระราชาคณะบางรูปก็ไม่เว้นจาการถูกป้ายสี อีกวิธีหนึ่งก็คือการอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสีว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหมือนตน
        การปลุกระดมที่ค่อนข้างมีอิทธิพลสูงมากในตอนนั้นก็คือการใช้สถานีวิทยุโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายของวิทยุยานเกราะระดมปลุกปั่นให้ผู้ฟังเคียดแค้นนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยข้ออ้างว่าจะทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
        จนในที่สุดเมื่อเวลา ๑๘ นาฬิกาของวันที่ ๖ ตุลาคมนั้นเองก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอันมีพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้า และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์เป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปฯโดยเรียกชื่อคณะของตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองการปกครองแผ่นดิน” เพื่อมิให้ดูแข็งกร้าวหรือน่ากลัวเหมือนกับชื่อคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตช์หรือจอมพลถนอม กิตติขจร
       เมื่อหันกลับมาดูเหตุการณ์บ้านเมืองไทยเราในปัจจุบันแล้วจะเห็นได้ว่าแทบจะไม่ต่างกับเหตุการณ์ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เลย ไม่ว่าจะการปลุกระดมให้เกลียดชังซึ่งกันและกัน(ต่างเพียงไม่มีการป้ายข้อหาคอมมิวนิสต์เท่านั้น เพราะคอมมิวนิสต์กลายเป็นนายทุนไปหมดแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขาพระวิหารที่นำมาซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งภายในสังคมไทยและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งความขัดแย้งนี้อาจแปรไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไม่ยาก อย่างน้อยก็ที่ จ.ศรีสะเกษ ที่คนไทยกับคนไทยใช้ด้ามธงชาติไทยและอาวุธเข้าทำร้ายกันเองเพราะเหตุที่มีความเห็นแตกต่างในกรณี เขาพระวิหาร
        สาเหตุของการประทุขึ้นของปัญหาความขัดแย้งในกรณีปราสาทพระวิหารของไทยเรานี้ เป็นผลมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศไทยที่มีการนำประเด็นชาตินิยมมาปลุกเร้าเพื่อให้เกิดความเกลียดชังต่อคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งก็ลุกลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านจนสถานการณ์ชายแดนอยู่ในขั้นที่จะเกิดการปะทะกันขึ้นได้ตลอดเวลา
        ส่วนเหตุการณ์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ สกลนคร มหาสารคาม เชียงราย เชียงใหม่ อุดร หรือบุรีรัมย์ก็เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างพันธมิตร กับผู้ที่ต่อต้านพันธมิตร จนเลือดตกยางออก บางรายถึงกับบาดเจ็บสาหัส ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน และต่างฝ่ายต่างก็ชี้นิ้วกล่าวโทษฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็นผู้จุดชนวนความรุนแรงขึ้นก่อน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้นับวันยิ่งขยายความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ
        ประวัติศาสตร์คือบทเรียนที่เราจะต้องศึกษา การปลุกระดมให้คนไทยกับคนไทยลุกขึ้นมาต่อสู้กันเองนั้น ผลที่ตามมาคือความความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน สูญเสียโอกาสในความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ฯลฯ
        ในเมื่อประเทศไทยปัจจุบันเป็นประเทศที่แสดงเจตจำนงต่อชาวโลกผ่านรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดแล้วว่าจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยดังเช่นนานอารยะประเทศทั้งหลายที่เป็นนิติรัฐ (Legal State) และใช้หลักนิติธรรม (Rule of Law) ปกครองประเทศ เหตุไฉนจึงไม่ปล่อยให้กลไกของกฎหมายได้ทำงาน หากเราเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่เป็นธรรมหรือล้าสมัยก็แก้ไขหรือปรับปรุงเสีย
        ผมเห็นด้วยที่มีการชุมนุมแสดงความคิดเห็นอย่างสงบและสันติเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ(แต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นเกินสมควร) เพราะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย และก็เช่นเดียวกันกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมประท้วง ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะชุมนุมคัดค้าน แต่มิใช่การบุกเข้าไปทำร้ายด้วยอาวุธถึงกับเลือดตกยางออก และผมเชื่อหากรูปการณ์ยังคงเป็นไปดังเช่นขณะนี้ ประวัติศาสตร์ย่อมหมุนกลับมาย้อนรอยดังเช่นเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙ อย่างแน่นอน ซ้ำร้ายอาจรุนแรงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไปเพราะมีอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือในการปลุกระดมที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสมัย ๖ ตุลา ๑๙ หลายเท่า ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายโทรทัศน์ทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนเครือข่ายวิทยุชุมชนต่างๆ
       
        เราคงไม่อยากเห็นการฆ่ากันตายเป็นเบือดังเช่นในทวีปอาฟริกา มีผู้อพยพหลบหนีการเข่นฆ่าอยู่ตามชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นล้านๆ คน
        ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายพันธมิตร ฝ่ายต้านพันธมิตร. สื่อมวลชน นักวิชาการ แม้แต่ผู้ที่อยากให้มีการรัฐประหารหรือผู้ที่กำลังคิดจะทำการรัฐประหารเองก็ตาม ควรหันกลับมาใช้สติสัมปชัญญะใคร่ครวญให้จงหนักว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้เป็นผลดีต่อชาติแน่หรือ
        ความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาทางการเมืองได้สำเร็จ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของความคิดเห็น การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติ ยอมรับความเห็นซึ่งกันและกันโดยไม่เห็นว่าผู้ที่เห็นต่างกับเราคือผู้ที่จะต้องถูกทำลายให้ย่อยยับไปต่างหาก จึงจะเป็นวิถีทางที่จะแก้ปัญหาการเมืองที่เร่าร้อนอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ครับ
       
       ----------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544