หน้าแรก บทความสาระ
หลักประชาธิปไตยของพรรคการเมืองไทย โดย คุณบุญเสริม นาคสาร
คุณบุญเสริม นาคสาร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนารัฐธรรมนูญ สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
5 กรกฎาคม 2551 16:12 น.
 
๑. บทนำ
       พรรคการเมือง (political party) เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่ง และขาดเสียมิได้ในระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องมาจากปรัชญาทางรัฐศาสตร์ที่ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลจำนวนมากที่สุด (majority) เข้ามามีอิทธิพลเหนือรัฐบาลหรือจัดตั้งรัฐบาล และเปิดโอกาสให้มีการต่อสู้แข่งขันทาง การเมือง เพื่อเลือกเฟ้นกลุ่มหรือคณะบุคคลที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีกลุ่มของบุคคลที่รวมตัวกันขึ้น เนื่องจากความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในแนวทางกว้างๆ คล้ายคลึงกันมารวมกัน และมีการต่อสู้แข่งขันทางการเมืองโดยวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย เพื่อต่อรองผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้เกิดแก่ประชาชนส่วนใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และขณะเดียวกันก็พยายามสร้างอิทธิพลในการเป็นรัฐบาล เพื่ออำนวยการบริหารประเทศตามนโยบายของพรรคการเมืองของตน กลุ่มบุคคลดังกล่าวก็คือ พรรคการเมือง นั่นเอง(1) สำหรับระบบการเมืองแบบรัฐสภาของไทยในปัจจุบัน พรรคการเมือง นับว่าเป็นสถาบันที่ได้รับมอบภารกิจที่มีความสำคัญสูงอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะพรรคการเมืองเป็นเพียงสถาบันเดียวที่มีบทบาทนำในการดำเนินภารกิจทางการเมืองครอบคลุมทั้งระบบทุกกระบวนการ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจไปจนถึงการใช้อำนาจปกครองประเทศทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ดังนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อระบบการเมืองและต่อประเทศ หากนับย้อนหลังไปสัก ๑๐ ปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่าภาพสะท้อนของพรรคการเมืองนั้น เป็นภาพของพรรคการเมืองมีที่มาจากชนชั้นนำทางอำนาจที่เป็นชนชั้นปกครองดั้งเดิม แล้วจึงเปลี่ยนผ่านไปสู่การครอบงำโดยชนชั้นนำที่เป็นผู้มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ พรรคการเมืองไทยดำรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญหลัก ๒ ด้าน คือ ปัจจัยด้านการเมือง และปัจจัยด้านกฎหมาย โดยในช่วงต้นพรรคการเมืองเป็นฝ่ายรับผลกระทบจากการเมือง ขณะที่ในช่วงหลังพรรคการเมืองเป็นฝ่ายปรับพฤติกรรมตามกฎหมาย พรรคการเมืองไทยเปลี่ยนผ่านโดยกระบวนการดำรงอยู่แบบลองผิด – ลองถูก มากกว่ากระบวนการเติบโตและอยู่รอดแบบเรียนรู้ – พัฒนาทิศทางการเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมือง จึงดำเนินไปภายใต้ปฏิกิริยาเชิงรับมากกว่าเชิงรุก แม้ว่าพรรคการเมืองจะได้รับยกย่องให้มีฐานะเป็นองค์กรนำ แต่กลับมีบทบาทในฐานะรองโดยที่พรรคการเมืองไทยเป็นส่วนผสมระหว่างชนชั้นนำทางอำนาจ กับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งดำรงอยู่ใต้อิทธิพลของปัจจัยแวดล้อม เปลี่ยนผ่านในเชิงรับอย่างไร้ทิศทางและขาดขบวนการพัฒนา ทำให้พรรคการเมืองไทย มีฐานะเป็นองค์กรเฉพาะในทางโครงสร้างตามนิตินัย แต่ในด้านบทบาท – หน้าที่ของสถาบันตามพฤตินัย กลับมีฐานะเพียงในระดับตัวบุคคลและหรือกลุ่มอำนาจที่ครอบงำพรรคเฉพาะห้วงเวลาเท่านั้น สถาบันพรรคการเมืองไทยจึงเป็นองค์กรทางการเมืองที่กำลังเปลี่ยนผ่านอยู่ในช่วงกึ่งกลางของการพัฒนาความเป็นสถาบันมากกว่าเป็นองค์กรที่พัฒนาความเป็นสถาบันแล้ว เนื่องจากการสนับสนุนมีขอบเขตจำกัดไม่กว้างขวาง ติดยึดกับตัวบุคคลและกลุ่ม ขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวระดับองค์กร ศูนย์รวมอำนาจกระจุกตัวที่กลุ่มแกนนำ ขาดความเป็นอิสระในตัวเอง และมีการแตกแยกเป็นกลุ่มย่อย ซึ่งมีพลังเหนือองค์กรรวม การผนึกเป็นปึกแผ่นขาดความเข้มแข็ง (2)
       
       ๒. บทบัญญัติของกฎหมายกับการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง
       ประเทศไทยมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของประชาชนในการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ แต่ในสมัยนั้นไม่ได้มีการตรากฎหมายพรรคการเมืองขึ้นมารองรับ ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก คือ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๘ และมีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้นอีก ได้แก่ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๑๑ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๑๗ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
       กรณีของประเทศไทยมีความเชื่อว่าการมีพรรคการเมืองโดยไม่มีกฎหมายเฉพาะรองรับ จะทำให้พรรคการเมืองไม่รับผิดชอบ ขาดระเบียบวินัย และไม่สามารถควบคุมให้พรรคดำเนินงานไปในแนวทางที่เหมาะสมที่ถูกต้อง ดังนั้น จึงได้มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองตลอดในช่วงที่ยอมให้มีพรรคการเมืองได้ ลักษณะของพระราชบัญญัติพรรคการเมืองทั้งหลาย มีหลักการคล้ายคลึงกันคือ การจัดตั้งพรรคต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งสิทธิ บทบาท การดำเนินงาน และการสิ้นสุดของพรรคการเมือง ที่สำคัญก็คือการมีกฎหมายพรรคการเมืองก็เพื่อให้พรรคการเมืองมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีความรับผิดชอบ เป็นโจทก์จำเลยในศาลได้ แต่กฎหมายพรรคการเมืองในระยะหลัง เช่น พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น เช่น บทบัญญัติบังคับให้จัดตั้งสาขาพรรค การจัดโครงสร้างภายในพรรค และ การดำเนินงานของพรรคในรายละเอียด เช่น การประชุมใหญ่ของพรรคต้องดำเนินการอย่างไร เหตุผลในการบัญญัติรายละเอียดมากขึ้นนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในกฎหมาย ฉบับก่อนๆ และเพื่อบังคับให้พรรคดำเนินการต่างๆ ให้เกิดความมั่นคงในตัวของพรรคเอง เช่น ต้องมีการจัดโครงสร้างที่เป็นระบบ มีนโยบายที่ชัดเจน มีสาขาพรรคกระจายทั่วไป เพื่อให้พรรคได้รับฐานสนับสนุนที่กว้างขวางอันจะทำให้พรรคมั่นคง ไม่ต้องการให้มีการตั้งพรรคเป็นแบบท้องถิ่นนิยม หรือพรรคเฉพาะกิจเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าบางอย่าง(3)
       การใช้กฎหมายช่วยส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมืองนั้น ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการบังคับเพื่อให้เกิดวินัยและความรับผิดชอบกับเสรีภาพ ความสมดุลในเรื่องนี้อาจดูได้จากการจัดตั้งพรรคการเมือง ในประเทศที่ใช้ระบบเผด็จการจะให้ความสำคัญกับความเข้มแข็งของพรรคการเมืองมักยอมให้พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจทางการเมือง และอาจมีกฎหมายห้ามตั้งพรรคอื่นๆ แม้ในกรณีที่ยินยอมให้มีพรรคอื่นๆได้ ก็จะไม่ให้มีอิทธิพลหรืออำนาจแต่อย่างใด เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองถูกจำกัดอย่างมากโดยอ้างว่าการมีพรรคการเมืองหลายพรรคทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพมีความวุ่นวาย ส่วนประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยเต็มที่ จะเน้นเรื่องเสรีภาพของการจัดตั้งพรรคการเมืองและเสรีภาพของพรรคการเมืองในการดำเนินกิจการทางการเมือง ในระบบนี้จึงมีพรรคการเมืองได้หลายพรรคและต้องการเน้นระบอบหลายพรรคเช่น เยอรมนี และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญได้มีเจตนารมณ์ให้การจัดตั้งพรรคการเมืองทำได้ง่าย เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของบุคคลที่จะรวมกลุ่มกันทางการเมือง ดังนั้น กฎหมายพรรคการเมืองจะต้องสนองเจตนาดังกล่าวของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองใช่ว่าจะไม่มีขอบเขตจำกัด เช่น การจัดตั้งที่ขัดกับระบบเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำมิได้ หรือไม่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งพรรคท้องถิ่นนิยมที่หัวรุนแรงหรือเข้มข้นเกินไป (4)
       เมื่อพิจารณาพรรคการเมืองไทยในแง่มุมของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้รับรองเสรีภาพของประชาชนในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง และคุ้มครองความเป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมือง โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรทำหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่ง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ ดังนี้
       “มาตรา ๔๗ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
       การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติหรือข้อบังคับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติหรือข้อบังคับนั้นเป็นอันยกเลิกไป”
       ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๕ ได้บทบัญญัติรับรองเสรีภาพของประชาชนในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง และคุ้มครองความเป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมืองไว้โดยมีข้อความที่เหมือนกันกับมาตรา ๔๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
       นอกจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๓ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๘ ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการใช้สิทธิและเสรีภาพของพรรคการเมืองไว้ด้วย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๓ บัญญัติว่า
       “มาตรา ๖๓ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
       ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่งผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้”
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๘ บัญญัติว่า
       “มาตรา ๖๘ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครอง
       ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจ
       ในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
       ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทําการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทํา
       ดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ
       วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการดังกล่าว
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทําการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทํา ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งดังกล่าว”
       
       ๓. หลักประชาธิปไตยของพรรคการเมือง
       การปกครองแบบประชาธิปไตยอาจแบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ การปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) กับการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) สำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบผู้แทนซึ่งเป็นการปกครองในสมัยใหม่นั้น มีแนวความคิดพื้นฐานที่สำคัญเช่น การยึดหลักอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของปวงชน อำนาจอันชอบธรรมในการปกครองมาจากความยินยอมของประชาชน โดยประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐและประชาชนสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองได้ การยึดหลักความเสมอภาคและหลักเสรีภาพ ยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยึดหลักการปกครองโดยเสียงข้างมากโดยเคารพต่อเสียงข้างน้อยและ ยอมรับความเป็นพหุนิยม (Pluralism) เป็นต้น ดังนั้น การปกครองแบบประชาธิปไตยแบบผู้แทนจึงจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองก็จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาลที่ประชาชนได้ให้ความยินยอมใช้อำนาจปกครอง เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองให้มีความเป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมืองไว้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๗ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๕ แต่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้ความหมายของ “หลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดังนั้น การพิจารณาถึงความเป็นประชาธิปไตยของพรรคการเมืองนั้น อาจค้นหาได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำหรือการดำเนินงานของพรรคการเมือง ดังนี้
       
       (๑) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เรื่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิบสองคน ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ คัดค้านว่ามติของพรรคประชากรไทย มีลักษณะตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ
       นายวัฒนา อัศวเหม กับคณะรวมสิบสองคน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชากรไทย (ผู้ร้อง) ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า มติของพรรคประชากรไทย เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๑ ที่ให้ลบชื่อผู้ร้องทั้งสิบสองออกจากทะเบียนของพรรคประชากรไทย อันเป็นเหตุให้ผู้ร้องสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๘ (๘) เป็นมติที่มิชอบ เนื่องจากขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันมีลักษณะต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรคสาม และวรรคสี่
       ตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่า สาเหตุที่พรรคประชากรไทยมีมติลบชื่อผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทยนั้น เป็นเพราะผู้ร้องฝ่าฝืนมติพรรคไปร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ และผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรคในการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร
       ทางพิจารณาได้ความว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชากรไทยได้สนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ วันที่ ๙ พฤศจิกายน๒๕๔๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้ร้องที่ ๑ ผู้ร้องที่ ๒ ผู้ร้องที่ ๓ และผู้ร้องที่ ๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีด้วย และวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ คณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่แล้ว จนกระทั่งวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ พรรคประชากรไทยอ้างว่าได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๔๐ ว่าไม่เข้าร่วมรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ร้องได้เข้าร่วมรัฐบาลไปแล้ว แสดงว่าขณะที่ผู้ร้องเข้าร่วมรัฐบาลนั้น พรรคประชากรไทยยังมิได้มีมติว่า ไม่เข้าร่วมรัฐบาล และข้อบังคับพรรคที่ใช้อยู่ในขณะนั้น หมวด ๙ การตั้งรัฐบาล ข้อ ๓๔ กำหนดเพียงว่า ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารในการกำหนดตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ในกรณีที่พรรคจัดตั้งรัฐบาล หรือร่วมกับพรรคการเมืองอื่นจัดตั้งรัฐบาล จึงแสดงว่าตามข้อบังคับที่ใช้อยู่ในขณะนั้น การจัดตั้งรัฐบาลไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรค จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคหรือมติของคณะกรรมการบริหารพรรค
       กรณีการไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรค เรื่องการลงมติในสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับพรรคประชากรไทย ข้อ ๓๖ กำหนดว่า การลงมติในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามมติซึ่งที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคได้ลงมติไว้ คณะกรรมการบริหารพรรคจึงไม่มีอำนาจลงมติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ซึ่งข้อบังคับพรรคเองก็กำหนดให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค จึงถือไม่ได้เช่นกันว่า ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการบริหารพรรคในกรณีนี้
       ส่วนข้อพิจารณาที่ว่า มติของพรรคประชากรไทยที่ลบชื่อผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทย มีลักษณะตามมาตรา ๔๗ วรรคสามของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า
       ประการแรก กรณีที่ว่ามติหรือข้อบังคับของพรรคการเมืองดังกล่าวจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๙ บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย การที่พรรคประชากรไทยมีมติลบชื่อผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทย ผลที่เกิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑๘ (๘) คือสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลงนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ซึ่งเท่ากับความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยสิ้นสุดลงด้วยและไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยได้ มติเช่นนี้จึงขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยชัดแจ้ง
       ประการที่สอง กรณีที่ว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามมติพรรคที่ให้ลงชื่อสนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มติที่ให้สนับสนุน พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปเมื่อพรรคการเมืองสองพรรค ในหกพรรคที่มีมติร่วมกันจะจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศถอนตัวและกลับไปสนับสนุนนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นผลให้ข้อตกลงของหกพรรคเดิม ที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยสนับสนุนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นมติที่ไม่จำต้องปฏิบัติอีกต่อไป และเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ของพรรคประชากรไทย จำนวน ๑๔ คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๑๘ คน ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเห็นว่า มีความจำเป็นรีบด่วนต้องสนับสนุนให้นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองจะพึงรับฟังตามหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย มติที่ให้ลบชื่อผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทยด้วยเหตุดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติของพรรคประชากรไทยที่ลบชื่อผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรคประชากรไทย มีลักษณะตามมาตรา ๔๗ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ
       
       สำหรับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลในคำวินิจฉัยไว้ในประการแรกที่ว่า มติให้ลบชื่อผู้ร้องออกจากทะเบียนสมาชิกพรรค ทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลง ซึ่งเท่ากับความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยสิ้นสุดลงด้วยและไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยได้ มติเช่นนี้จึงขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยชัดแจ้งนั้น มีผู้ให้ความเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๖ วรรคสี่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อม “ไม่ถูกผูกพันโดยมติพรรคการเมือง”(5) พรรคประชากรไทย จึงขับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ปฏิบัติตามมติพรรคออกจากพรรคด้วยเหตุนี้ไม่ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้เลยแม้แต่น้อย ทั้งยังอ้างเหตุผลว่า การขับออกจากพรรคมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกขับต้องสิ้นสุดลง ซึ่งเท่ากับความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยสิ้นสุดลงด้วย ทำให้ “ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยได้” และสรุปว่า “มติเช่นนี้จึงขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยชัดแจ้ง” เท่ากับว่า มติขับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าด้วยเหตุใด ก็ย่อมมีผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นต้องพ้นสภาพความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยได้ทั้งสิ้น ถ้าเป็นเช่นนั้น ย่อมเท่ากับว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าจะถูกขับออกจากพรรคด้วยเหตุใด ต่อไปย่อมได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา ๑๑๘ (๘) ทั้งหมด (6)
       
       (๒) คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๘๕/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เรื่อง สมาชิกพรรคไทยรักไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของพรรคไทยรักไทยมีลักษณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรคสาม
       นายประหยัด จันทพาล กับสมาชิกพรรคไทยรักไทย (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีข้อเท็จจริงสรุปว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรได้ประกาศให้มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ โดยจัดให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๗ พร้อมกันทั่วประเทศ ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ ทั้งนี้ กฎหมายเลือกตั้งดังกล่าวและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติหลักการของการเลือกตั้ง มิให้ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมือง มีเพียงการสังกัดกลุ่มต่าง ๆ หรือสมัครในนามอิสระเท่านั้น เพราะรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘๔ และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งรัฐบาลต้องให้ความอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปกครองตนเองโดยควบคุมดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ปรากฏว่า พรรคไทยรักไทยกลับแสดงเจตนารมณ์และแนวทางของพรรคต่อการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีมติอนุญาตให้นายสถิรพร นาคสุข ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรและคณะสามารถนำสัญลักษณ์และนโยบายพรรค ไปเผยแพร่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า มติดังกล่าวครอบงำการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยรักไทย จำนวน ๔ คน ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองท้องถิ่นของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วย
       
       ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า มติพรรคไทยรักไทยที่อนุญาตให้นำสัญลักษณ์และนโยบายพรรคไปเผยแพร่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นมติที่ขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรคสาม หรือไม่
       ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แม้ตามรัฐธรรมนูญจะมิได้มีการให้ความหมายของ คำว่า “หลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไว้ แต่เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า หลักการดังกล่าวย่อมหมายถึงหลักการต่างๆ เป็นต้นว่า (๑) ประชาชนในราชอาณาจักรไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย (๒) ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนไปใช้อำนาจในการบริหารกิจการของประเทศและท้องถิ่นต่าง ๆ (๓) รัฐจะต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ (๔) รัฐจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวไม่ได้ เว้นแต่โดยบทบัญญัติของกฎหมาย และ (๕) ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และยอมรับหลักการปกครองโดยเสียงข้างมากที่เคารพเสียงข้างน้อย
       พิจารณาแล้วเห็นว่า กฎหมายมิได้มีการบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นต้องสังกัดพรรคการเมือง วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครในนามสังกัดพรรคหรือไม่ก็ได้ และการที่ผู้สมัครลงสมัครในนามสังกัดพรรค และพรรคที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นเข้ามาสนับสนุน ก็ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง ไม่กระทบถึงความเป็นอิสระของท้องถิ่น เพราะความอิสระในท้องถิ่นนั้น หมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลังและมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ การที่พรรคไทยรักไทยมีมติอนุญาตให้นายสถิรพร นาคสุข ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธรและคณะ สามารถนำสัญลักษณ์และนโยบายพรรค ฯ ไปเผยแพร่รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้นั้น มิได้ทำให้การเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถูกครอบงำจากพรรคการเมือง เพราะมติดังกล่าวไม่ได้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นต้องเสียสิทธิและเสรีภาพในการเลือกผู้แทนของตน อันเป็นหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่อย่างใด
       ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติพรรคไทยรักไทยที่อนุญาตให้นำสัญลักษณ์และนโยบายพรรคไปเผยแพร่รณรงค์ หาเสียงเลือกตั้ง เป็นมติที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรคสาม
       
       (๓) คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ๑–๒/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เรื่อง อัยการสูงสุดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และพรรคประชาธิปัตย์
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีประเด็นต้องวินิจฉัยที่ว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ (พรรคประชาธิปัตย์)จัดให้มีเวทีปราศรัยใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพันตำรวจโท ทักษิณ หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคไทยรักไทย ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และชักจูงให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองใดที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งหรือไม่
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่า การที่นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ซึ่งเป็นอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรของพันตำรวจโท ทักษิณ จึงได้นำพฤติการณ์ของพันตำรวจโท ทักษิณและรัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ตลอดจนใช้คำว่า “ระบอบทักษิณ” มากล่าวปราศรัยก็ดี หรือนายสุเทพ เลขาธิการพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนในเรื่องของคำว่าระบอบทักษิณก็ดี หรือสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ขึ้นเวทีพันธมิตรทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัดในช่วงที่มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป กล่าวโจมตีพันตำรวจโท ทักษิณ ในลักษณะเช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ รวมทั้งนายถาวร กรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้จัดทำแผ่นปลิวที่มีเครื่องหมายของผู้ถูกร้องที่ ๑ ระบุว่า ระบอบทักษิณสร้างความแตกแยกในมวลหมู่พี่น้องประชาชนชาวไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งผลให้มีการโกงทั้งโคตร ประเทศชาติสูญเสียอย่างใหญ่หลวง... ก็ดี เห็นได้ชัดว่าเป็นลักษณะของการตอบโต้กันทางการเมือง
       ในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองทวีความรุนแรงขึ้นและสังคมมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยการนำเอาจุดบกพร่องตามที่ปรากฏเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมของพันตำรวจโท ทักษิณ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ มากล่าวปราศรัยแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อันเป็นวิสัยของประชาชนทั่วไปย่อมกระทำได้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทั้งเป็นความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรมในฐานะนักการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำหรือพฤติกรรมของรัฐบาลและพันตำรวจโท ทักษิณ ในการบริหารราชการแผ่นดิน แม้กระทั่งพันตำรวจโท ทักษิณ แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชนโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็กลับกำหนดวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปภายหลังวันยุบสภาผู้แทนราษฎร ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้เพียง ๓๗ วัน จนทำให้พรรคการเมืองด้วยกันเกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่ได้คาดการณ์มาก่อนว่าจะเกิดการยุบสภาด้วยเหตุผลและความจำเป็นตามที่ปรากฏใน พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงเป็นการไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นได้มีเวลาเพียงพอตามสมควรในการเลือกตั้ง ส่อแสดงให้เข้าใจได้ว่าเป็นการเอาเปรียบกันในทางการเมืองอีกด้วย นอกจากนั้น การกล่าวปราศรัยของสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ดังกล่าว มิใช่ชักชวนประชาชนไม่ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากแต่ชักชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยลงคะแนนในช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๒๖ (๔) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕๖ การกระทำของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และกรรมการบริหารหรือสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่า เป็นการใส่ร้าย พันตำรวจโท ทักษิณ ด้วยความเท็จด้วยการใช้คำว่า “ระบอบทักษิณ” เพื่อมุ่งหวังให้เป็นโทษแก่ พันตำรวจโท ทักษิณ พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ จัดให้มีเวทีปราศรัยใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือ จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพันตำรวจโท ทักษิณ หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคไทยรักไทย ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และชักจูงให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองใด ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้งตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องที่ ๑ ในประเด็นข้อนี้ฟังขึ้น
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ (พรรคประชาธิปัตย์) และที่ ๒ (พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า) เป็นเหตุอันอาจมีคำสั่งให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ และที่ ๒ ตามคำร้องหรือไม่
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่า เมื่อพิจารณาระบบการเมืองแบบรัฐสภาของประเทศไทย ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จะเห็นว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่ได้รับมอบหมายภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะพรรคการเมืองมีบทบาทในการดำเนินภารกิจ
       ทางการเมือง นับตั้งแต่การเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งในการใช้อำนาจปกครองประเทศทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนต่างมีความคาดหวังต่อพรรคการเมืองในความรับผิดชอบของการแก้ปัญหาสำคัญและการพัฒนาประเทศ การคัดกรองบุคคลที่จะเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหาร อันเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของพรรคการเมือง การที่พรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ ออกหนังสือรับรองความเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จให้นางสาวนิภา นางรัชนู และนายสุวิทย์ นั้น เป็นการจงใจบิดผันภารกิจขั้นพื้นฐาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ไม่ตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อพรรคการเมืองละเลยต่อภารกิจพื้นฐาน จึงยากที่จะมีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศและพัฒนาประเทศได้ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๒ ยังเป็นการไม่ช่วยส่งเสริมและธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งที่การปฏิบัติภารกิจของพรรคการเมืองได้รับการอุดหนุนด้วยเงินจากกองทุนที่ตั้งขึ้นมาด้วยงบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ด้วยเหตุผลที่วินิจฉัยมาข้างต้นจึงเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ (๒) และ (๓) (7)
       มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ หรือไม่ เห็นว่าเมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามีการออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ ทั้งที่หัวหน้าพรรครู้อยู่แล้วว่าบุคคลที่ตนออกหนังสือรับรองไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค โดยมีการจ่ายเงินให้บุคคลที่ผู้ถูกร้องที่ ๒
       ส่งสมัครรับเลือกตั้งคนละ ๓๐,๐๐๐ บาท และนายสุวิทย์ เบิกความว่า ในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙ นอกจากนายสุวิทย์ นางสาวนิภา และนางรัชนู แล้วยังมีบุคคลอื่นไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ อีกประมาณ ๑๕ ถึง ๒๐ คน นอกจากนี้นางสาวอิสราหรือพรณารินทร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ ขณะเกิดเหตุได้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ ส่งผู้สมัคร
       รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน ๓๗ คน โดยเป็นผู้สมัครในภาคใต้ ๓๑ คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๓ คน และภาคกลาง ๓ คน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลที่พรรค
       ผู้ถูกร้องที่ ๒ ส่งสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในลักษณะเดียวกันเกือบทั้งหมด การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๒ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกที่มีต่อประชาชน
       ทั้งไม่คำนึงถึงความเสียหายหรือผลกระทบที่เกิดแก่ประเทศชาติ จึงสมควรยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ ตามคำร้องและให้ยกคำร้องในส่วนที่ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ ๑
       
       (๔) คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ ๓–๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เรื่อง อัยการสูงสุดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ (พรรคไทยรักไทย) เข้าหลักเกณฑ์ที่อาจมีคำสั่งยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ (๑) และ (๓) หรือไม่ และการกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๒ (พรรคพัฒนาชาติไทย) กับผู้ถูกร้องที่ ๓ (พรรคแผ่นดินไทย) เข้าหลักเกณฑ์ที่อาจมีคำสั่งยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ (๒) และ (๓) หรือไม่
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิได้หมายความถึงการได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการปฏิวัติรัฐประหารหรือยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลังทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๕ ดังที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ กล่าวอ้างเท่านั้น การที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ สนับสนุนให้มีการแก้ไขฐานข้อมูลสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ย่อมเป็นการสนับสนุน ให้เกิดการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
       มาตรา ๑๐๗ (๔) และการที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ ให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ถูกร้องที่ ๒ กับผู้ถูกร้องที่ ๓ เป็นค่าใช้จ่าย ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงแข่งขันกับผู้สมัครพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ เอง ย่อมมีผลเท่ากับผู้ถูกร้องที่ ๑ ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า ๑ คน ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๘ ที่บัญญัติว่า “พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกเข้าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใดจะส่งได้คนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้น” ผู้ถูกร้องที่ ๑ กระทำดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงกรณีมีผู้สมัครพรรค ผู้ถูกร้องที่ ๑ คนเดียวและผู้สมัครนั้นได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๔ วรรคสอง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามครรลองของกฎหมายตามปกติ โดยร่วมกันกระทำเป็นขบวนการกับพรรคการเมืองอื่น เพียงเพื่อให้การกลับคืนสู่อำนาจของผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นไปโดยเร็วยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ (๑) ส่วนหลัง ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ ถือได้ว่า เป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ เข้าแทรกแซงบิดผันกระบวนการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศ เพื่อสร้างภาพลวงตาว่ามีการแข่งขันกันตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่โดยเนื้อแท้มิได้เป็นเช่นนั้น ย่อมส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องสั่นคลอนไม่มั่นคง ทำให้ประชาชนที่รู้ข้อเท็จจริง เสื่อมศรัทธาต่อระบบการเมือง อาจนำไปสู่การต่อต้านการใช้อำนาจปกครองโดยไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง ประกอบกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เป็นบทบัญญัติที่เป็นนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ จึงเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา ๖๖ (๓) อีกด้วย และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ (๑) ด้วยหรือไม่ เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
       ในส่วนของผู้ถูกร้องที่ ๒ และผู้ถูกร้องที่ ๓ นั้น การที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ และผู้ถูกร้องที่ ๓ รับเงินจากผู้ถูกร้องที่ ๑ และออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ เพื่อให้นำไปเป็นหลักฐานลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแก้ไขฐานข้อมูลสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ เพื่อให้ผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติสามารถลงสมัครได้นั้น แม้มิใช่กระทำเพื่อให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ และผู้ถูกร้องที่ ๓ ได้มาซึ่งอำนาจปกครองประเทศ แต่การกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ หลีกเลี่ยงผลบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๔ วรรคสอง จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ (๒) ทั้งยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา ๖๖ (๓) อีกด้วยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า กรณีมีเหตุสมควรยุบพรรคผู้ถูกร้องทั้งสามหรือไม่ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น จะต้องมีบุคคลตั้งแต่ ๑๕ คนขึ้นไปรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามบทบัญญัติมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งหมายความว่า พรรคการเมืองจะต้องเป็นที่รวมของบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นเดียวกัน และมีเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวม แต่เมื่อพิจารณาถึงที่มาของการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ตามที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ ว่าเป็นเพราะมีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนและขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและรุนแรงขึ้น ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวปรากฏในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ฉบับลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๐ ว่ามีสาเหตุมาจากการที่ประชาชนไม่พอใจที่พันตำรวจโท ทักษิณ หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ขายกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐให้แก่บริษัทที่เป็นของรัฐบาลต่างชาติเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท โดยไม่เสียภาษีแก่รัฐ และปรากฏว่าก่อนการขายกิจการดังกล่าวเพียง ๓ วัน ก็มีการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่มีเนื้อหาสาระเป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยในกิจการโทรคมนาคมแบบที่ ๒ และแบบที่ ๓ ออกมาใช้บังคับ อันเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่า เป็นกฎหมายที่ตราออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการขายกิจการดังกล่าว การยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ จึงมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวของหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ มิได้มีสาเหตุ มาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างองค์กรฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หรือระหว่างพรรคการเมือง ในฝ่ายบริหารด้วยกันเอง หรือมีปัญหาอันเกี่ยวด้วยประโยชน์สาธารณะที่สมควรคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองแก่ประชาชนด้วยการยุบสภา ทั้งการผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจของครอบครัวดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ อำนาจเหนืออุดมการณ์ของพรรคอย่างเด็ดขาดในการกำหนดความเป็นไปของพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ทั้งการกำหนด วันเลือกตั้งวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ภายหลังยุบสภาผู้แทนราษฎรเพียง ๓๗ วันนั้น ก็เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙ และการกำหนดวันเลือกตั้งภายหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพียง ๓๗ วันดังกล่าว ก็ได้ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งสามพรรคนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ส่งผู้สมัคร
       รับเลือกตั้ง และนำไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๔ วรรคสอง ของผู้ถูกร้องที่ ๑ โดยการสนับสนุนให้มีการแก้ไขฐานข้อมูลสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ และให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ถูกร้องที่ ๒ และผู้ถูกร้องที่ ๓ เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงแข่งขันกับผู้สมัครพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ประกาศผลการเลือกตั้งกรณีมีผู้สมัครพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ เพียงคนเดียว และผู้สมัครนั้นได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งนั้น แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เกิดผลสำเร็จตามประสงค์ เนื่องจากปรากฏว่า มีเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวจากพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ จำนวนถึง ๒๘๑ เขต จากจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด ๔๐๐ เขต และผลลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ปรากฏว่า มีเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครจากพรรค ผู้ถูกร้องที่ ๑ เพียงคนเดียวและผู้สมัครนั้นไม่ได้รับคะแนนเสียงตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งนั้น จำนวน ๓๘ เขตเลือกตั้งใน ๑๕ จังหวัด คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องจัดให้มี
       การเลือกตั้งใหม่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๔ วรรคสอง โดยกำหนดให้มีการลงคะแนนในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๙ แต่เมื่อลงคะแนนแล้ว ยังมีเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครจากพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ เพียงคนเดียว และผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นไม่ได้รับคะแนนเสียงตั้งแต่ร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง นั้นอีกจำนวน ๑๔ เขตเลือกตั้ง ใน ๙ จังหวัด คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกเป็นครั้งที่ ๓ โดยกำหนดให้มีการลงคะแนนในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๙ ดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๙/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙ แต่การเลือกตั้งในวันดังกล่าวไม่ได้มีขึ้น เนื่องจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการเลือกตั้งในวันดังกล่าวไว้ก่อน และต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๙/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ให้เพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ และครั้งถัดมา หลังจากนั้นได้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙ แต่เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองเสียก่อน ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเริ่มมาจากปัญหาส่วนตัวของหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ และการกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่เพียงเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังได้วินิจฉัยมาแล้วเท่านั้น ผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นพรรคการเมืองอันเป็นสถาบันหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องมีภาระหน้าที่ในการผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศที่แสดงออกในการเลือกตั้ง แต่ผู้ถูกร้องที่ ๑ กลับทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นเพียงแบบพิธีที่จะนำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมืองของผู้ถูกร้องที่ ๑ เท่านั้น ทั้งที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปนั้น เป็นช่วงจังหวะเวลาและเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสอย่างกว้างขวางที่สุดแก่ประชาชนที่จะได้ร่วมกันใช้สิทธิแสดงเจตจำนงและตกลงใจที่จะกำหนดทิศทางทางการเมือง และคัดสรรผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ มิได้ให้ความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของสิทธิเลือกตั้งของประชาชน อันเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังแสดงถึงการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปก่อนหน้านี้ ๒ ครั้ง ควรต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมั่นคงกับหลักการที่ว่า กฎหมายต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นข้อบ่งชี้ด้วยว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้คนในชาติมีความสุขทั่วหน้าดังที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่มุ่งประสงค์เพียงดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ นอกเหนือไปจากครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตลอดจนบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จนยากที่หาอุดมการณ์อันแท้จริงของพรรคให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนโดยรวมว่า เมื่อเป็นรัฐบาลมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จะดำเนินการปกครองโดยสุจริต ไม่ประพฤติมิชอบหรือบริหารราชการแผ่นดินโดยแอบแฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ ๑ ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ ไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป กรณีจึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ที่ผู้ถูกร้องที่ ๑ กล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้อง ที่ ๑ มีสมาชิกพรรคจำนวนมากถึง ๑๔,๓๙๔,๔๐๔ คน การสั่งยุบพรรคจะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสมาชิกพรรค ทั้งที่ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องนั้น เป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ ขณะเกิดเหตุจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อสมาชิกพรรคดังกล่าวเอง ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกร้องที่ ๑ ข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น
       ส่วนผู้ถูกร้องที่ ๒ และที่ ๓ นั้น การที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ และผู้ถูกร้องที่ ๓ รับเงินจากผู้ถูกร้องที่ ๑ และออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ เพื่อให้นำไปเป็นหลักฐานลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแก้ไขฐานข้อมูลสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ อันเป็นการให้ความร่วมมือแก่ผู้ถูกร้องที่ ๑ จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ ๒ และที่ ๓ เป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้ก่อตั้งหรือคณะกรรมการบริหารพรรค มิได้เกิดจากการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองของบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นเดียวกัน เพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองให้เป็นไปตามอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น เพราะบุคคลในพรรคเพียงไม่กี่คนก็สามารถนำพรรคไปรับจ้างพรรคการเมืองอื่นเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองอื่นได้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ ๒ และ
       ที่ ๓ มิได้มีสภาพความเป็นพรรคการเมืองอยู่เลย กรณีจึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ ๒ และที่ ๓ เช่นกัน
       จากคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปเป็นหลักประชาธิปไตยของพรรคการเมือง ได้ดังนี้
       (๑) พรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องมีภาระหน้าที่ในการผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ การที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศที่แสดงออกในการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปนั้น เป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสอย่างกว้างขวางที่สุดแก่ประชาชนที่จะได้ร่วมกันใช้สิทธิแสดงเจตจำนงและตกลงใจที่จะกำหนดทิศทางทางการเมือง และคัดสรรผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ดังนั้น การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศของพรรคการเมืองต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยมั่นคงกับหลักการที่ว่า “กฎหมายต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด” การเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ย่อมส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องสั่นคลอนไม่มั่นคง ทำให้ประชาชนที่รู้ข้อเท็จจริง เสื่อมศรัทธาต่อระบบการเมือง อาจนำไปสู่การต่อต้านการใช้อำนาจปกครองโดยไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง
       (๒) พรรคการเมืองสามารถรณรงค์ชักชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยลงคะแนนในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยชอบตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
       (๓) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของปวงชนต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือผลประโยชน์ของปวงชนเหนือผลประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
       (๔) พรรคการเมืองสามารถส่งสมาชิกพรรคเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารและสมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ มิได้ทำให้การเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถูกครอบงำจากพรรคการเมือง และไม่ได้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นต้องเสียสิทธิและเสรีภาพ ในการเลือกผู้แทนของตน อันเป็นหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       ๔. สรุปและข้อเสนอแนะ
       เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ทางการเมืองของไทยเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยของ พรรคการเมือง ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยมักต้องปฏิบัติตาม “มติพรรค” ทั้งๆ ที่ “มติพรรค” นั้น ขัดกับมโนสำนึก และขัดกับการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชน ยกตัวอย่างเช่น กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ซึ่งมีการลงมติในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ ในคราวนั้น คณะกรรมการประสานงานพรรครัฐบาลหรือ “วิปรัฐบาล” มีมติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยรักไทยยกมือไว้วางใจตั้งแต่วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นการบังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคยกมือไว้วางใจก่อนที่จะได้ฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านเป็นเวลาถึง ๗ วัน เป็นต้น การที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่มีหลักประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง ทำให้พรรคเป็นของคนไม่กี่คน และหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้นำพรรคการเมืองสามารถครอบงำหรือบังคับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคซึ่งเป็น “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” จึงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้ (8) และตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๗ วรรคสาม ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๘ ซึ่งให้สิทธิกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน ซึ่งเห็นว่ามติหรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นจะขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเพียง ๓ คดี เท่านั้น(9) ซึ่งถือว่ามีจำนวนคดีน้อยมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่เป็นประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองอยู่ จำนวนมาก และระบบกฎหมายก็เปิดกว้างให้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไม่ยากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หากประสงค์จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายกำหนดจำนวนผู้ยื่นคำร้องไว้ไม่น้อยกว่าห้าสิบคนเท่านั้น(10) ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่จะพัฒนา พรรคการเมืองของไทยในการขยายฐานการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นพรรคของมวลชน(Mass Party) จึงมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างความรู้และการเรียนรู้ให้กับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
       
       เชิงอรรถ
       1. Robert Michels, อ้างใน สนิท จรอนันต์, “การเลิกหรือยุบพรรคการเมือง : ศึกษากรณีคำร้องที่มาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ” เอกสารการวิจัยส่วนบุคคล, ๒๕๔๖, หน้า ๒๘ – ๒๙
       2. เชาวนะ ไตรมาศ, “การสร้างสถาบันทางการเมืองกับธรรมาภิบาลของพรรคการเมืองเพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตย” รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub – law.net เล่มที่ ๕ , (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,๒๕๔๙) หน้า ๕๗ – ๖๑)
       3. สุจิต บุญบงการ, “กฎหมายพรรคการเมือง : โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง” รวมบทความ ทางวิชาการชุดที่ ๓ (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ๒๕๔๗), หน้า ๑๗๒
       4. เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๗๓ - ๑๗๔
       5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๕๖ วรรคสี่ บัญญัติว่า “การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใด ให้กระทำเป็นการลับ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้และสมาชิกย่อมมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด”
       6. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, การคุ้มครอง ส.ส. ในฐานะผู้แทนปวงชนไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง, เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่ ๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๘, หน้า ๒๐
       7. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ บัญญัติว่า
       “มาตรา ๖๖ เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง
       (๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
       (๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
       (๓) กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ
       (๔) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓”
       8. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, อ้างแล้ว, หน้า ๑๑
       9. ได้แก่ คำวินิจฉัยที่ ๑/๒๕๔๒ และคำวินิจฉัยที่ ๘๕/๒๕๔๗ ซึ่งได้เสนอไว้แล้วในบทความนี้ ส่วนคำวินิจฉัยที่ ๕๗/๒๕๔๓
       เรื่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (นายเนวิน ชิดชอบ) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า มติของพรรคเอกภาพ มีลักษณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๗ วรรคสามนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยกคำร้อง
       10. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓๓ กำหนดจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งร้อยคน


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544