เสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of Assembly) ตามรัฐธรรมนูญ โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ |
|
|
|
คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๕ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมิได้เกี่ยวข้องกับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
|
|
22 มิถุนายน 2551 22:35 น. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐(1) ได้กำหนดเสรีภาพของประชาชนไว้มากมาย หลายมาตรา อาทิ เช่น เสรีภาพส่วนบุคคล (มาตรา ๓๒ -๓๘)เสรีภาพในการประกอบอาชีพ (มาตรา ๔๓- ๔๔) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน (มาตรา ๔๕-๔๘) เสรีภาพในการศึกษา (มาตรา ๔๙-๕๐) เป็นต้น
แต่เสรีภาพ ที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไป ในที่นี้ คือ เสรีภาพในการชุมนุม ที่เรียกว่า Freedom of assembly ว่าแท้จริงแล้ว เสรีภาพดังกล่าวหมายถึงอะไร ในต่างประเทศได้มีการให้ความคุ้มครองหรือไม่ และมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยอย่างไร นอกจากนี้ยังมีประเด็นน่าคิดอีกว่า เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นเอกสิทธิ์ของประชาชนที่รัฐจะแตะต้องไม่ได้ หรือไม่ หรือเป็นเพียงเสรีภาพอย่างหนึ่งที่รัฐเองสามารถที่จะก้าวล่วงเข้ามาจำกัด เสรีภาพในรูปแบบนี้ได้ บทความของผู้เขียน ที่จะกล่าวต่อไปนี้ อาจจะตอบโจทก์คำถามที่ตั้งขึ้นได้พอสมควร อย่างน้อยก็เป็นแนวทางหนึ่งในการค้นหาความรู้ในเรื่อง เสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of assembly ) ตามรัฐธรรมนูญ
๑. หลักพื้นฐานเกี่ยวกับเสรีภาพ
แซลมอลด์ (Salmond) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า เสรีภาพ (Liberty) ไว้ว่า หมายถึง ประโยชน์ซึ่งบุคคลได้มาโดยปราศจากหน้าที่ในทางกฎหมายใดๆ ต่อตนเอง เป็นสิ่งที่บุคคลอาจทำได้โดยจะไม่ถูกป้องกันขัดขวางโดยกฎหมาย และเป็นประโยชน์ที่บุคคลจะกระทำการใด ๆ ได้ตามใจชอบ โดยข่ายแห่งเสรีภาพตามกฎหมาย ที่ได้แก่ ข่ายแห่งกิจกรรม ซึ่งภายในแห่งข่ายกฎหมายนี้ปล่อยให้บุคคลใด ๆ กระทำการไปโดยลำพัง (2)
Blacks Law Dictionary ได้ให้ความหมายของคำว่า เสรีภาพ(Freedom) ว่า หมายถึง การที่รัฐ ให้ความเป็นอิสระที่จะทำการใด ๆ ได้ โดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง (Political Right) (3)
รศ.ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ เห็นว่า เสรีภาพ หมายถึง สภาพการณ์ที่บุคคล มีอิสระในการที่จะกระทำการอย่างใด อย่างหนึ่ง ตามความประสงค์ของตน (4)
ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม เห็นว่า เสรีภาพ หมายถึง สิ่งที่บุคคลกระทำการได้ โดยจะไม่ถูกป้องกันขัดขวางตามกฎหมาย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า เสรีภาพ ไว้ว่า ความสามารถที่จะกระทำการใด ๆ ได้ตามที่ตนปรารถนา โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการนับถือศาสนา ความมีสิทธิที่จะทำจะพูดโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น (5)
ดังนั้น หากกล่าวโดยภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า เสรีภาพ หมายถึง อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยต้องคำนึงกฎเกณฑ์ต่างๆของสังคมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
๒. ความหมายของคำว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ( Freedom of peaceful assembly)
ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า หมายถึง เสรีภาพที่สำคัญของระบบประชาธิปไตยเพราะบุคคลจะต้องมาพบปะเพื่อสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงจะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งและสิทธิในทางการเมืองได้ถูกต้อง
Blacks Law Dictionary ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ สิทธิที่รัฐธรรมนูญได้ รับรอง (Guarantee) ในการที่จะให้ประชาชนได้ชุมนุมและแสดงออกโดยสงบ ดังเช่น เรื่องศาสนา การเมือง หรือความไม่พอใจ ในเรื่องอื่น ๆ (6)
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งการชุมนุมสาธารณะ (Public meeting) ออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. การชุมนุมอยู่กับที่ (Assembly) คือ การที่ประชาชนมาชุมนุมรวมกัน เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐโดยมาชุมนุมกันในที่สาธารณะ ในสวนสาธารณะ โดยเป็นการชุมนุมอยู่กับที่ ที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุม และจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่สุจริตไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ขัดต่อหลักการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
๒. การเดินขบวน (Demonstration) คือ การชุมนุมของประชาชนที่เดินไปตามท้องถนน เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ต่อรัฐ โดยมีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมเดินขบวนไปยังสถานที่ต่าง ๆ แต่จะต้องไม่ขัดต่อหลักความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในลักษณะไหนก็ตาม ย่อมมีผลกระทบต่อหลักการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะต้องมีวิธีการขั้นตอนในการคุ้มครองดูแลให้เหมาะสม และมิให้กระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
๓. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญไทย
ประเทศไทยได้ยอมรับหลักการในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ มาช้านาน สังเกตได้จากรัฐธรรมนูญในอดีตหลายฉบับหรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยถือว่าในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมโดยสงบเป็นพื้นฐานของการแสดงออก ซึ่งสิทธิในการชุมนุมของประชาชนเพื่อประชุมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและการกำหนดเจตจำนงของตนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และแสดงความคิดเห็นหรือเจตจำนงดังกล่าวให้รัฐได้รับทราบ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป เสรีภาพดังกล่าวนี้ มีความสอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพอื่นตามรัฐธรรมนูญด้วย อาทิ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการเขียน เสรีภาพในการพิมพ์และเผยแพร่เอกสารสิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ ฯ ทั้งนี้ รัฐจะต้องงดเว้นการเข้าแทรกแซงในการชุมนุมโดยสงบนั้น ๆ ในทุกรูปแบบ และต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการชุมนุมโดยสงบด้วย (7)
สำหรับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ในฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดเจน ในมาตรา ๖๓ วรรคแรกซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ดี การชุมนุมของประชาชนตามมาตรา ๖๓ วรรคแรกนั้น อาจตกอยู่ในเงื่อนไขบางประการ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชน ดังนั้นมาตรา ๖๓ วรรคสอง จึงบัญญัติว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลา ที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประเทศใช้กฎอัยการศึก
จากที่กล่าวมาข้างต้น ถือได้ว่าเป็นวิถีการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญไทย ในปัจจุบัน
๔. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามกฎหมายต่างประเทศ
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ หรือที่เรียกว่า Freedom of Assembly ในต่างประเทศเอง ได้มีการบัญญัติรับรองไว้ทั้งกฎหมายภายใน หรือ ตามสนธิสัญญา ในหลายฉบับ ซึ่งอาณาอารยะประเทศที่เป็นภาคี ล้วนต้องปฎิบัติตาม อาทิเช่น
๔.๑ ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ค.ศ. ๑๙๔๘ (The Universal Declaration of Human Right ๑๙๔๘ )(UDHR) มาตรา ๒๐(๑) บัญญัติว่า บุคคล ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ (8)
๔.๒ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. ๑๙๖๖ ( International Covenant on civil and Political Right ๑๙๖๖)(ICCPR) ข้อ ๒๑ บัญญัติว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมาย และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น (9)
๔.๓ European convention on Human Rights (ECHR) มาตรา ๑๑ บัญญัติว่า เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม รวมถึงการเข้าร่วมในเขตการค้า จะถูกจำกัดมิได้ ทั้งนี้นอกจากกฎหมายจะบัญญัติไว้ และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย (10)
๔.๔ American convention on Human Rights มาตรา ๑๕ บัญญัติว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับการคุ้มครอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมาย และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือสิทธิ เสรีภาพอื่น ๆ (11)
จากที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นวิถีการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ในบางประเทศเองก็ได้มีการกำหนดอยู่ในกฎหมายภายในของประเทศ ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม อาทิ เช่น
- ประเทศแคนาดา ได้บัญญัติไว้ใน The Constitution Act ,๑๙๘๒ มาตรา ๒(C) (12)
- ประเทศฝรั่งเศสได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ที่เรียกว่า The Nouveau Code Penal มาตรา ๔๓๑-๑ (แต่มีลักษณะเป็นบทลงโทษทางอาญา ในกรณีที่การชุมนุมนั้นกระทำโดยมีลักษณะเป็นการข่มขู่ ต้องระวางโทษจำคุก ๑ ปี หรือปรับ ๑๕,๐๐๐ ) (13)
- ประเทศฮ่องกง ได้บัญญัติไว้ใน Basic Law มาตรา ๒๗
- ประเทศ Iran ได้บัญญัติไว้ใน The constitution of Islamic Republic of Iran มาตรา ๒๗ (14)
- ประเทศสเปน ได้บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑ (15)
- ประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ได้มีการบัญญัติรับรองไว้ใน The Constitution of Ireland มาตรา ๔๐.๖.๑ iiโดยต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ และต้องไม่เป็นการรบกวนแก่บุคคลทั่วไป ด้วย (16)
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยังพบอีกหลายประเทศ ที่ได้มีการบัญญัติเสรีภาพดังกล่าวไว้ใน รัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศสวีเดน อิตาลี ฟินแลนด์ และประเทศลักเซมเบิร์ก
๕. บทวิพากย์ เสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทย
หากกล่าวถึงประวัติศาสตร์ในการชุมนุมของประชาชนในประเทศไทย อาจต้องย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีตมากมาย อาทิ เช่น
- ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ มีการเคลื่อนไหวมวลชนครั้งใหญ่ จากกลุ่มปัญญาชน นักศึกษา เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา และส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านการเข้าร่วมรบดังกล่าว เรียกตัวเองว่า ขบวนการสันติภาพ ได้เคลื่อนไหวขอการสนับสนุนจากประชาชนให้มาร่วมลงมือคัดค้าน ปรากฎว่ามีประชาชนลงชื่อคัดค้านนับแสนคน ถือได้ว่า เป็นขบวนการแรกที่มีจุดประสงค์ให้ประชาชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง
- เดือนกันยายน ๒๕๐๐ มีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และมีการเคลื่อนตัวไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการเลือกตั้งที่ทุจริต เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๐ โดยมีการเรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีพลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่วมในการชุมนุมดังกล่าวด้วย พร้อมกับการกล่าววาจาอมตะก่อนสลายตัวว่า พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ
- เหตุการณ์ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า ๕ แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร
- เหตุการณ์ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุน ได้เข้าไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายใน บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ตำรวจตระเวนชายแดนนำโดยค่ายนเรศวรจากหัวหิน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ และกลุ่มคนที่ตั้งโดยงบ กอ.รมน. คือ กลุ่มนวพล และ กลุ่มกระทิงแดง ได้ใช้กำลังอย่างรุนแรงในการจับกุมประชาชน ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก ในเหตุการณ์ครั้งนี้
และเหตุการณ์ครั้งสุดท้าย ที่เกิดขึ้น คือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ระหว่างวันที่ ๑๗ -๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เหตุการณ์ครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ หรือ ๑ ปีก่อนหน้าการประท้วง ซึ่ง รสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น นายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลหลักว่า มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล และรัฐบาลพยายามทำลายสถาบันทหาร โดยหลังจากยึดอำนาจ คณะ รสช. ได้เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๐ คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ได้มีการเสนอชื่อ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งเมื่อได้รับพระราชทานแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ก็เกิดความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เพราะก่อนหน้านี้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตน และ พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ภายหลังกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ตรงกับที่เคยพูดไว้ เหตุการณ์ครั้งนี้ จึงได้เป็นที่มาของประโยคที่ว่า เสียสัตย์เพื่อชาติ และเป็นหนึ่งในชนวนให้ฝ่ายที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำการเคลื่อนไหว นำไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงการอดอาหารของ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง (หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น) และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด ในที่สุด
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เสรีภาพในการชุมนุมของประเทศ มีมาอย่างยาวนาน ตามการปกครองของไทย ซึ่งในอดีตมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง แต่ในปัจจุบันการชุมนุมในหลายต่อหลายเรื่อง อาจเป็นการชุมนุมในเรื่องอื่น อาทิ เช่น อาจจะเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องในเรื่องราคาผลิตผลในการเกษตรบ้าง เรียกร้องให้มีการลดราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีการบัญญัติ รับรองไว้อย่างชัดเจน ในมาตรา ๖๓ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ดังนั้น การชุมนุมที่กระทำโดยถูกต้องตามครรลอง ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ย่อมไม่เกิดปัญหา และรัฐก็ย่อมไม่สามารถที่จะไปดำเนินการ หรือแทรกแซง เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนได้ ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก็ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว โดยศาลสูง ( Supreme Court) ของอเมริกา ได้อธิบายในคดีหนึ่งว่า
สิทธิในการชุมนุมและการร้องทุกข์เป็นรากฐานของระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา ความคิดในการปกครองโดยมีรูปเป็นสาธารณรัฐนั้น หมายถึง สิทธิของพลเมืองที่จะพบกันอย่างสงบเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการสาธารณะและที่จะร้องทุกข์เพื่อให้มีการแก้ไขความทุกข์ร้อน (17)
แต่อย่างไรก็ตาม ในมาตรา ๖๓ วรรคสอง ยังบัญญัติต่อไปว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลา ที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประเทศใช้กฎอัยการศึก แสดงให้เห็นว่า แม้รัฐหรือรัฐธรรมนูญจะให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการชุมนุมตามครรลองของประชาชนได้ก็ตาม แต่หากการชุมนุมดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวม รัฐย่อมมีอำนาจเข้ามาดำเนินการได้ ซึ่งจากหลักเกณฑ์ ดังกล่าว สามารถพิจารณาหลักเกณฑ์ในการมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนได้ ดังนี้
๑. หลักความมั่นคงของชาติ (National security)
แต่เดิมหลักความมั่นคงของชาติดังกล่าว หมายถึงความมั่นคงทางการทหารเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองด้วย และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบย่อมอยู่ภายใต้ข้อบังคับว่าต้องไม่ขัดต่อหลักความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งข้อจำกัดเสรีภาพที่อ้างหลักความมั่นคงของชาติ รัฐต้องกำหนดในรูปแบบกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติจะออกมาโดยคำสั่ง คำบัญชาของคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้
๒. หลักความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง (Public Policy)
ซึ่งกฎหมายที่รัฐออกมาโดยอ้างว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จะอยู่ในรูปของกฎหมายอาญา โดยเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
๓. หลักการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
คำว่า สาธารณ หรือ สาธารณะ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ (18) หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา ทางสาธารณะ มาตรา ๑(๒) หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำ สำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย ดังนั้น การจำกัดเสรีภาพตามหลักการเช่นนี้ สามารถทำได้ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ กล่าวคือ ต้องมิให้การชุมนุมกระทบกระเทือนความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะในระหว่างการชุมนุม
๔. หลักสิทธิของบุคคลอื่น
หลักการนี้ ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๘ วรรคแรกโดยได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ฯ... หมายถึง การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนอื่นที่ไม่ได้ชุมนุมสาธารณะหรือเดินขบวน เช่น ไม่กีดขวางการสัญจรไปมาของประชาชน ไม่ส่งเสียงดังรบกวนการเรียนของนักเรียน หรือการทำงานของบุคคลอื่น เป็นต้น
ดังนั้น หากเข้าข้อเงื่อนไขทั้ง ๔ ประการข้างต้น รัฐย่อมสามารถตรากฎหมาย หรือนำกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ที่มิได้มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาบังคับใช้กับประชาชนได้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่ง เมื่อนำมาพิจารณากับกฎหมายของประเทศไทยเอง ก็มีกฎหมายหลายฉบับ ที่สามารถนำมาบังคับใช้ กับผู้ชุมนุมได้ อันเป็นการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๖๓ วรรคสอง หากการชุมนุมเข้าหลักเกณฑ์ ดังกล่าวข้างต้น เช่น
๑. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๐๘ ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ (๑) เป็นแถวทหารหรือตำรวจที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผน (๒) แถวหรือขบวนแห่ หรือขบวนใดๆที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด และมาตรา ๑๐๙ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่น โดยไม่มีเหตุอันสมควร
๒. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๒ ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน หรือกระทำโดยประการใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท
๓. พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยได้วางหลักการไว้ว่า การจะใช้เครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานเสียก่อนจึงจะใช้เครื่องขยายเสียงได้ โดยใบอนุญาตจะกำหนด เวลา และสถานที่ที่จะใช้เครื่องขยายเสียงและหากใช้เสียงดังก่อความเดือดร้อนรำคาญมากเกินไป ก็อาจสั่งให้ลดความดังของการใช้เครื่องขยายเสียงลงได้
๔. พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลมคมหรือมีคม หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล
ซึ่งในต่างประเทศเองก็ได้มีการยอมรับถึงข้อยกเว้นดังกล่าว ในการที่รัฐจะกำหนดมาตรการนำมาใช้บังคับกับผู้ชุมนุม อาทิ เช่น
- ประเทศไอร์แลนด์ ได้บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ในเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม ว่าสามารถกระทำได้แต่ต้องไม่เป็นการรบกวนแก่บุคคลอื่น
- ประเทศฝรั่งเศสเอง ก็มีมาตรการบังคับทางอาญา มาลงโทษแก่ผู้ชุมนุมได้ หากการชุมนุมมีลักษณะที่เป็นการขู่เข็ญ หรือ ข่มขู่ ผู้อื่น ตาม The Nouveau Code Penal มาตรา ๔๓๑-๑
- ในสหรัฐอเมริกา คดี Uniter Public Workers V. Mitchell ,๑๙๔๗ ศาลสูงได้ตัดสิน ว่า ขบวนการประท้วงก็เหมือนกับพรรคการเมืองและสหภาพกรรมกร มีสิทธิเรียกร้องซึ่งได้รับการคุ้มครองที่จะใช้ถนนสาธารณะและที่ประชุมที่เป็นเวทีสาธารณะ เพื่อที่จะแสดงออก ซึ่งเสรีภาพตามบทแก้ไขที่ ๑ จะอยู่ใต้บังคับก็เฉพาะระเบียบที่ไม่มีการลำเอียงเท่านั้น ซึ่งมลรัฐอาจจะกำหนดขึ้นเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการควบคุมสังคม แต่สิทธิเหล่านี้ก็มิใช่ว่าจะมีอยู่อย่างไม่จำกัด ในคดีนี้ศาลได้เตือนไว้อย่างชัดแจ้งว่า จะไม่มีการอนุญาตให้มีการเดินขบวนทุกชนิดในที่สาธารณะทุกแห่ง รวมทั้งเตือนว่าผู้รักษาสถานที่สาธารณะมีอำนาจตามกฎหมายที่รักษาความปลอดภัยของสถานที่เหล่านี้ และรักษาทรัพย์สินนี้ไว้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ (19)
- หรือในบางคดีของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้วางหลักการไว้ว่า การชุมนุมที่ยึดเอาทางสาธารณะที่ประชาชนสัญจรไปมาเป็นเวลานานโดยอ้างสิทธิว่าเป็นที่สาธารณะนั้น เป็นเรื่องที่ทุกประเทศไม่อาจยอมรับได้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต้องเข้าไปดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป เช่น คดี Adderley ศาลสูงได้กล่าวว่า อาณาบริเวณที่เลือกไว้สำหรับการเดินขบวน เพื่อสิทธิของพลเมือง โดยสันตินั้น ไม่เพียงแต่จะต้อง มีเหตุผล เท่านั้น แต่ยังจะต้องเหมาะสมอีกด้วย ..... โดยศาลสูงในคดีนี้ เห็นว่าข้อโต้แย้งที่ตั้งสมมติฐานว่า ประชาชนสามารถประท้วง หรือแสดงความคิดเห็นตามสิทธิที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ได้ทุกเวลา ทุกวิธี และทุกสถานที่ เป็นสมมติฐานที่ขาดเหตุผล (20)
ที่กล่าวมาทั้งหมด นี้เป็นเพียงแนวทางตามหลักกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศว่ามีหลักเกณฑ์เช่นไร เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งของรัฐในการหาวิธีการเหมาะสมในการกำหนดมาตรการสำหรับประเทศไทย ต่อไป
๖. บทสรุป
เสรีภาพในการชุมนุม ( Freedom of Assembly) ของประเทศไทย ได้ถูกยอมรับและรับรองตามรัฐธรรมนูญไทย มาช้านาน ซึ่งในต่างประเทศเองก็ได้มีการยอมรับ ในเสรีภาพดังกล่าว ที่ประชาชนสามารถที่จะเข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภายใต้เสรีภาพในการชุมนุม ก็ย่อมต้องมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งของรัฐ ที่ออกมาจำกัดมิให้การใช้เสรีภาพดังกล่าว มากระทบสิทธิและเสรีภาพในด้านอื่น ๆของประชาชน โดยในรัฐธรรมนูญไทย ก็ยอมรับถึงหลักการของการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ วรรคสอง ซึ่งในต่างประเทศก็ยังยอมรับในหลักการดังกล่าวด้วย แม้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จะส่งเสริมการชุมนุมโดยสงบ แต่รัฐก็จะมีมาตรการเข้ามาควบคุมผู้ชุมนุม มิให้เกิดการละเมิดกฎหมาย โดยประเทศเหล่านี้ ยึดหลักที่ว่า การที่ผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น เป็นการทำร้ายสังคม มิใช่เป็นการทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นการส่วนตัว ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อยุติการละเมิดดังกล่าวได้ทันที โดยไม่จำต้องรอให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐเสียก่อน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่รัฐจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาใช้บังคับกับ ผู้ชุมนุม ก็ย่อมต้องคำนึงถึงบริบททางสังคมของประเทศตนเอง ว่ามีความหมาะสมแค่ไหนเพียงไร โดยพิจารณาจากผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายกับผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนโดยภาพรวม เพื่อให้การคุ้มครองเสรีภาพของทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นไปอย่างเสมอกัน โดยไม่ให้เป็นการกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป เพราะมิฉะนั้น การดำเนินการใด ๆของเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป อาจจะกลายเป็นผู้ละเมิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเอง
เชิงอรรถ
1 http://www.concourt.or.th/download/constitution/2550.pdf
2 หยุด แสงอุทัย,ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ประกายพรึก,๒๕๓๕)หน้า ๒๒๓.
3 Bayan A.Garner,Edition in chief,Blacks Law Dictionary (Seventh Edition),P.๖๗๔.
4 วรพจน์ วิศรุตพิชญ์,สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ (กรุงเทพ:วิญญูชน,๒๕๓๘) หน้า ๒๒.
5 http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp
6 Blacks Law Dictionary (Seventh Edition),P.๑๓๒๕.
7 กุลพล พลวัน,สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย (พิมพ์ครั้งที่ ๑),หน้า ๒๖๔.
8 http://en.wikipedia.org/wiki/Universal_Declaration_of_Human_Rights
9 http://en.wikisource.org/wiki/International_Covenant_on_Civil_and_Political_Rights#Article_21
10 http://en.wikipedia.org/wiki/European_Convention_of_Human_Rights
11 http://www.cidh.org/Basicos/English/Basic3.American%20Convention.htm
12 http://laws.justice.gc.ca/en/const/annex_e.html#I
13 http://195.83.177.9/code/liste.phtml?lang=uk&c=33&r=3801
14 http://www.info.gov.hk/basic_law/fulltext/index.htm
15 http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/cons_doc/constitutions/data/Spain/ICL%20-%20Spain%20-%20Constitution.htm
16 http://en.wikisource.org/wiki/Constitution_of_Ireland
17 คดี United State V. Cruikhank,๙๒ U.S. ๕๔๒,๕๕๒,๑๘๖ (แปลและเรียบเรียงโดย ศ.กระมล ทองธรรมชาติ และ ศ.สมบูรณ์ สุขสำราญ)
18 http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp
19 กุลพล พลวัน,สิทธิมนุษยชนในสังคมโลก (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม,พฤศจิกายน ๒๕๔๗) หน้า ๖๖๙-๖๗๐.
20 คดี Adderley V. Florida ,๓๘๕ U.S.๓๙,๔๗-๔๗,๑๙๙๖
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|