หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 188
8 มิถุนายน 2551 22:04 น.
ครั้งที่ 188
       สำหรับวันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2551
       
       “res publica”
       
       ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาผมไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสนาน 1 เดือนตลอดเดือนพฤษภาคม ก่อนที่ผมจะออกเดินทางออกจากประเทศไทยนั้น สถานการณ์ทางการเมืองก็ดำเนินไปอย่างไม่ปกติเท่าไรนัก จุดเริ่มต้นคงน่าจะมาจากการที่รัฐบาลพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมืองบางคนและของพรรคการเมืองบางพรรคการเมืองตลอดเวลาที่ผมอยู่ต่างประเทศก็ได้ติดตามข่าวสารของความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในบ้านเรา แต่เท่าที่ทราบก็คงเหมือนกับผู้อ่านทราบคือทุกอย่างยังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งรูปแบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข เมื่อเวลาทอดยาวนานมากขึ้นกระแสคัดค้านก็มากขึ้น เมื่อผมกลับมาถึงประเทศไทยจึงได้พบกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่ง “มาเร็ว” เกินกว่าที่คาดไว้ครับ
       ผมติดตามข่าวไม่ค่อยปะติดปะต่อกันเท่าไรนัก แต่ทราบมาว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในครั้งนี้น่าจะมีที่มาจากมูลเหตุสำคัญ 2 ประการคือ การที่รัฐมนตรีคนหนึ่งกล่าวปาฐกถามีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูงกับการที่พรรคพลังประชาชนเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ “เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง” แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเหตุดังกล่าวก็ได้จบสิ้นไปแล้ว เมื่อไม่กี่วันมานี้เองรัฐมนตรีผู้กล่าวปาฐกถาหมิ่นสถาบันเบื้องสูงลาออกและเรื่องหมิ่นสถาบันเบื้องสูงก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการของกระบวนยุติธรรม ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีอันเป็นไปเพราะมีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เข้าชื่อเสนอขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถอนชื่อตัวเองออก ทำให้ชื่อที่เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ครบ ญัตติดังกล่าวก็เลยตกไป ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วในวันนี้เหตุแห่งการชุมนุมได้จบสิ้นลงไปแล้ว ดังนั้น การชุมนุมก็น่าจะจบสิ้นลงไปด้วย แต่การกลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคงแสดงความประสงค์ที่จะชุมนุมต่อและได้เพิ่มเหตุแห่งการชุมนุมเข้ามาใหม่คือ การชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลโดยมี “ข้อหา” สำคัญข้อหาหนึ่งก็คือความพยายามที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศไทยไปเป็นสาธารณรัฐครับ!
       ผมเป็นหนึ่งในบุคคลจำนวนมากที่ได้ฟังข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นรูปแบบสาธารณรัฐผ่านข่าวจากสถานีโทรทัศน์ จริงๆแล้วเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศไทยไปเป็นรูปแบบสาธารณรัฐนี้ผมเคยได้ยินอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อประมาณ หนึ่งเดือนที่ผ่านมา ในข้อเขียนของศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่ได้เขียนบทความเรื่อง Republic of Thailand ลงใน website ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมาครับ จากนั้นก็ได้ยินจากเวทีชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นครั้งต่อมาครับ ซึ่งผมฟังดูแล้วก็เกิดความรู้สึกแปลกๆว่าเป็นไปได้หรือ เพราะเหตุต่างๆที่นำมาอ้างกันนั้นไม่น่าจะมีความเชื่อมโยงถึงขนาดที่จะนำประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นสาธารณรัฐได้
       มีคนสอบถามผมในเรื่องดังกล่าวมากมายหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่ไม่เข้าใจในระบอบการเมืองการปกครองประเทศที่พากันสงสัยว่า อะไรคือสาธารณรัฐ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมจึงขอ “เล่า” ให้ฟังจากที่ได้อ่านพบมาถึงสาระบางอย่างบางประการของ “สาธารณรัฐ” ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ขอให้ผู้ที่มีความรู้มากกว่าช่วยแจ้งเข้ามาด้วยนะครับ เวทีของเราเป็น “เวทีวิชาการ” ครับ ทุกอย่างเพื่อวิชาการทั้งสิ้นไม่มีสิ่งใดแอบแฝงครับ!
       สาธารณรัฐ(republic) เป็นรูปแบบการปกครองรัฐรูปแบบหนึ่งที่ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและเป็นตัวแทนของประชาชน การปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐจึงเป็นการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์เป็นประมุข อาจกล่าวได้ว่าการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการปกครองในรูปแบบราชาธิปไตย(monarchy) ที่มีกษัตริย์เป็นประมุขหรือเทวาธิปไตย(Theocracy) ที่ยึดถือพระเจ้าหรือเทพเจ้าเป็นหลัก
       ทางทฤษฎีนั้นถือกันว่าในรัฐราชาธิปไตยนั้น ตัวรัฐเอง ฝ่ายปกครอง ดินแดนและพลเมืองทั้งหมดในรัฐเป็น “ทรัพย์สิน” ของกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ อำนาจในการปกครองประเทศและความเป็นเจ้าของ “ทรัพย์สิน” เหล่านั้นตกทอดไปยังครอบครัวทายาทของกษัตริย์ซึ่งมีความดำรงอยู่อย่างถาวรและต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในรัฐเทวาธิปไตยที่รัฐ ฝ่ายปกครอง ดินแดน และพลเมือง ถือเป็น “ทรัพย์สิน” ของพระเจ้า(เช่น รัฐวาติกัน) แต่ในขณะที่ในรูปแบบสาธารณรัฐนั้น รัฐและฝ่ายปกครองถือว่าเป็น “ทรัพย์สิน” ของประชาชนครับ
       คำว่าสาธารณรัฐ (republic)นั้น รากศัพท์ของคำมาจากภาษาโรมันคือ res publica ที่หมายความว่าสิ่งของที่เป็นสาธารณะหรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ด้วยที่มาของคำดังกล่าวเองที่ทำให้การตั้งสาธารณรัฐต้องเป็นไปเพื่อสนองความต้องการของส่วนรวมเป็นหลัก มิใช่การก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นมาเพื่อผู้ใดผู้หนึ่งหรือเกิดจากความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่งครับ
       การเกิดขึ้นของสาธารณรัฐเท่าที่ทราบมาจากเหตุสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือประเทศที่เกิดขึ้นใหม่เนื่องจากได้รับเอกราชหรือแยกตัวออกจากประเทศเดิม มักจะเลือกการปกครองรูปแบบสาธารณรัฐกับประการที่สองคือประเทศที่เคยปกครองโดยระบบกษัตริย์ที่ถูกยกเลิกไป
       
ปัจจุบันในประเทศต่างๆทั่วโลกซึ่งมีจำนวนเกือบ 200 ประเทศนั้น มีประเทศประมาณ 130 ประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ในขณะที่มีเพียง 20 กว่าประเทศที่ปกครองระบอบราชาธิปไตย เหตุผลที่ประเทศจำนวนมากพากันเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศจากรูปแบบเดิมมาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐก็เพราะประชาชนต้องการเลือกผู้แทนของตนซึ่งมาจากประชาชนธรรมดาที่มีความสามารถขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศซึ่งส่วนใหญ่ตำแหน่งที่ใช้เรียกประมุขของประเทศในรูปแบบสาธารณรัฐก็คือประธานาธิบดี การเลือกประมุขของรัฐทำโดยการออกเสียงเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ วาระการดำรงตำแหน่งของประมุขของรัฐจะอยู่ที่ 4 ถึง 6ปี ในบางประเทศก็มีการห้ามไม่ให้ประมุขของรัฐดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกัน
       นอกจากนั้นแล้ว ประมุขของประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ประมุขที่ไม่มีอำนาจบริหารกับประมุขที่มีอำนาจบริหาร ในกรณีของประมุขที่ไม่มีอำนาจบริหารนั้นส่วนใหญ่มักมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจึงถูกกำหนดให้ไม่มีบทบาทหรืออำนาจหน้าที่ทางการเมืองการปกครองใดๆทั้งสิ้น แต่ให้ทำหน้าที่เป็น “สัญลักษณ์” ของประเทศ ส่วนการบริหารประเทศ ประเทศเหล่านั้นจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศ ประเทศที่มีประมุขรูปแบบนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ อิสราเอล และอินเดีย เป็นต้น ส่วนในประเภทที่สองคือประเทศที่ประมุขมีอำนาจบริหารนั้น ประมุขของประเทศจะมีบทบาทในการบริหารประเทศมากเพราะได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชน ประเทศที่มีประมุขรูปแบบนี้คือ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งในระบบของฝรั่งเศสเองกับระบบของสหรัฐอเมริกาก็มีความแตกต่างกันอีกเช่นกัน โดยในสหรัฐอเมริกานั้นประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด เป็นประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลด้วย เราเรียกระบบแบบสหรัฐอเมริกาว่าระบบประธานาธิบดี (presidential system) ในขณะที่ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ประมุขของรัฐคือประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารประเทศบางประการ แต่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้รับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งเราเรียกว่าระบบกึ่งประธานาธิบดี (semi-presidential system)
       นอกจากนี้แล้วสาธารณรัฐเองก็ยังมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่นสาธารณรัฐสังคมนิยม สาธารณรัฐประชาธิปไตย สาธารณรัฐประชาชน สาธารณรัฐอิสลาม ซึ่งรูปแบบของสาธารณรัฐเหล่านี้เป็นสิ่งที่แต่ละสาธารณรัฐแต่ละแห่งใช้เรียกชื่อของตนเองเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการเมืองการปกครองภายในประเทศของตน
       ประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐไม่จำเป็นต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสมอไป เพราะไปๆมาๆประมุขของประเทศซึ่งถึงแม้จะได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน แต่ต่อมาเมื่อลุ่มหลงในอำนาจก็หาทางเปลี่ยนกติกาเพื่อให้ตนเองได้อยู่ต่อไป ประเทศแบบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นสาธารณรัฐเผด็จการก็ได้ครับ !
       ก็คงเป็น “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสาธารณรัฐ” ที่ผมนำมาเสนอครับ ขาดตกบกพร่องก็ต้องขออภัยไว้ด้วยครับ ส่วนถ้าจะให้วิเคราะห์ต่อไปนั้นคงลำบากด้วยเหตุผลหลายประการที่ไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ครับ
       
       ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์บ้านเมืองเราต่อ หากไม่พูดถึงข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศไทยไปเป็นรูปแบบของสาธารณรัฐแล้ว ในวันนี้ผมยังมองไม่ออกว่าจะกล่าวหารัฐบาลอย่างไรเพื่อให้การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความชอบธรรม หากจะบอกว่ารัฐบาลบริหารประเทศไม่ดีในช่วงเวลา 100 วัน ที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศก็ยังเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปที่จะประเมินผลการทำงานของรัฐบาล หากจะขับไล่รัฐบาลเพราะต้องการให้มีรัฐบาลใหม่ก็ต้องนั่งคิดกันแล้วว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่ได้ในเมื่อเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรยังอยู่กับพรรคพลังประชาชน หากจะเพื่อหวังผลกดดันให้มีการยุบสภาจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคพลังประชาชนจะไม่กลับมาอีก ! รวมความแล้วผมคิดว่าค่อนข้างยากที่จะหาเหตุผลที่เหมาะสมที่จะ “ดื้อ” ชุมนุมกันต่อไป ก็คงเหลือเพียงเหตุผลเดียวคือความพยายามที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศเป็นสาธารณรัฐที่ “น่าจะ” นำมาใช้ในการชุมนุมได้ แต่ก็คงต้องพิสูจน์กันให้ชัดเจนว่าอะไรคือความพยายามเช่นว่านั้นครับ อนึ่ง ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น ผมมีข้อข้องใจหลายๆอย่างเกี่ยวกับการชุมนุมดังกล่าวที่แกนนำของกลุ่มพันธมิตรอ้างสิทธิตามมาตรา 63 เกี่ยวกับการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ แต่เนื่องจากในการชุมนุมครั้งนี้ซึ่งผลของการชุมนุมที่ไปปิดถนนสาธารณะบางส่วนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกกลับกลายเป็นการกระทำที่แม้จะเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่ก็เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ไปกระทบต่อเสรีภาพในการเดินทางของบุคคลที่รัฐธรรมนูญมาตรา 34 ก็ได้บัญญัติรับรองไว้เช่นกัน เรื่องนี้ผมอยากขอให้ “ผู้รู้” ทั้งหลายออกมาพูดกันบ้างนะครับว่าเสรีภาพในการชุมนุมตามมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดหรือไม่ แค่ไหน เพียงใด และอย่างไร รวมทั้งการใช้สิทธิตามมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญจะทำให้ผู้ใช้สิทธิอยู่เหนือกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายจราจรหรือไม่ และหากการใช้สิทธิต่างๆตามรัฐธรรมนูญไปกระทบกันเข้าจะมีทางแก้ไขอย่างไรเพราะมิฉะนั้นก็จะเกิดผลทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเรื่องหนึ่งอยู่ในสภาพที่ “สูงกว่า” สิทธิตามรัฐธรรมนูญอีกเรื่องหนึ่งครับ
       สองสิ่งสุดท้ายที่อยากจะกล่าวก่อนจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ด้วยความ “ผิดหวัง” ครับ สิ่งแรกคือการที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมากครับ ความสงบเรียบร้อยของสังคม (public order) เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ผมไม่ได้ยุให้รัฐบาลเอาชนะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนะครับ แต่ผมต้องการให้รัฐบาลทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม เราเป็น “นิติรัฐ” เรามีกฎหมาย ถ้าหากรัฐบาลไม่รักษากฎหมายแล้วใครจะเคารพกฎหมายครับ! ใครก็ได้ช่วยตอบที สิ่งที่สองสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่กรณีของรัฐมนตรีที่ลาออกไปเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าหมิ่นเบื้องสูง กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าข้อกล่าวหาหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังคงถูกนำมาใช้ต่อไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้ามโดยไม่เกี่ยวกับการรักษาหรือปกป้องสถาบันกษัตริย์เลยครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “สังคมไทยไปไม่ถึงนิติรัฐ” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย บทความต่อมาเป็นบทความเรื่อง “สิทธิเสรีภาพของข้่าราชการในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง” โดยคุณชำนาญ จันทร์เรือง ส่วนบทความสุดท้ายคือบทความของคุณภาสพงษ์ เรณุมาศ จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เขียนบทความเรื่อง “ฟ้องตรงศาลรัฐธรรมนูญกับแนวทางที่ยังต้องค้นหา” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544