หน้าแรก บทความสาระ
สิทธิเสรีภาพของข้าราชการในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
8 มิถุนายน 2551 22:04 น.
 
ปัญหาคาใจของบรรดาข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มักจะถูกต่อว่าหรือตำหนิอยู่เสมอว่า“คุณเป็นข้าราชการ คุณออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างไร” มิหนำซ้ำบรรดานักการเมืองทั้งหลายที่มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และลิ่วล้อทั้งหลายก็ออกมาสำทับอีกว่า“คุณเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา แต่กลับออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านผู้บังคับบัญชาของตนนั้นเข้าข่ายกระทำผิดวินัยนะจะบอกให้”
        ปัญหาคาใจต่างๆเหล่านี้มีมานานแล้ว บรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายยกเว้นอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน(ต้องย้ำว่าบางคน) จึงออกอาการกล้าๆกลัวๆที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพราะเกรงจะถูกลงโทษทางวินัย ทั้งที่เป็นสิทธิพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับไหนๆ ที่ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นไม่ว่าจะเป็นกฎ ก.พ.หรือกฎอื่นใดย่อมไม่อาจไปหักล้างได้
        ผมจะขอนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตราที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิมีเสียงในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร
        “มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง”
        “มาตรา ๓๑ บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัยหรือจริยธรรม”
        “มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
        การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน...........”
       “มาตรา ๖๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์.กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
       ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจ”
       
       จากบทบัญญัติที่ยกมาจะเห็นได้ว่าบรรดาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เว้นเสียแต่จะไปเข้าข้อยกเว้นบางประการที่ว่าไว้อย่างชัดแจ้งและเป็นลายลักษณ์อักษร ข้อยกเว้นที่ว่านี้ต้องออกมาโดยชอบรัฐธรรมนูญเช่นกัน มิใช่อยากจะออกข้อยกเว้นอะไร ก็ออกมาตามอำเภอใจ
       เมื่อเรานำมาพิจารณาในเนื้อหาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นประกอบเข้ากับหลักนิติรัฐที่ว่าบรรดาการกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องชอบด้วยกฎหมาย และกฎหมายที่ว่านี้ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็หมายถึง พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบกระทรวง ฯลฯ ที่ออกมาหรือที่มีอยู่แล้วบัญญัติข้อห้าหรือข้อยกเว้นไว้
       แต่เนื้อหาที่เป็นข้อยกเว้นนั้นจะไปขัดในหลักการใหญ่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ ตัวอย่างเช่น หลักการตามมาตรา ๑ ที่ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวหรือ รัฐเดี่ยว การที่จะออกกฎหมายจัดรูปแบบการปกครองไม่ว่าจะเป็นส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่น แม้กระทั่งการปกครองรูปแบบพิเศษแบ่งย่อยไปเท่าไรก็ได้ แต่ต้องยังอยู่ในหลักการใหญ่ที่ว่าต้องเป็นรัฐเดี่ยวเช่นเดิม และเช่นเดียวกันมาตรการหรือกฎระเบียบที่นำมาใช้กับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ย่อมที่จะไปขัดหลักการใหญ่ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้
       หลายคนเข้าใจว่าเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติข้อยกเว้นไว้ก็เลยออกมาตรการหรือกฎระเบียบมาเสียเละเทะจนขัดต่อหลักการใหญ่ ซึ่งในที่นี้หมายถึงหลักการขั้นพื้นฐานที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง และการที่จะตีความว่ากฎหรือระเบียบใดขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ โดยศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจในการวินิจฉัยว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติขึ้นไปซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติธรรมดา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพระราชกำหนดว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนศาลปกครองก็มีอำนาจในการวินิจฉัยมาตรการหรือกฎหมายในลำดับรองลงมาซึ่งออกโดยฝ่ายบริหารซึ่งได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบกระทรวง ฯลฯ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิใช่หน้าที่ของฝ่ายการเมืองหรือผู้บังคับบัญชาจะไปตีขลุมว่าเมื่อรัฐธรรมนูญบอกว่า “ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ” หรือ “เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”แล้วมาตรการหรือกฎหมายที่นำมาใช้ย่อมไม่ขัดรัฐธรรมนูญเสมอ จึงไม่ถูกต้อง
       บรรดาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นก็คือประชาชน ย่อมมีสิทธิมีเสียงเช่นเดียวกับประชาชนอื่นที่มิใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพียงแต่ถูกจำกัดบทบาทหน้าที่ไว้บางประการเท่านั้น เช่น ใส่เสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น มิใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย และแน่นอนว่าการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยสุจริตไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือเขียน ย่อมไม่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามอย่างแน่นอน เพราะขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบนิติรัฐอย่างชัดแจ้งนั่นเอง
       
       ฉะนั้น การที่นักการเมืองที่เป็นผู้บังคับบัญชา รวมไปถึงผู้ที่หงอต่ออำนาจทางการเมืองหรือพยายามเอาใจนักการเมืองโดยการออกมาปรามหรือข่มขู่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าจะดำเนินการทางวินัยต่อข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้นคงต้องกลับไปทบทวนเสียใหม่ เพราะแทนที่นักการเมืองที่เป็นผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยต่อข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านั้น แต่เขาเหล่านั้นเองนั่นแหละจะต้องเป็นผู้ถูกดำเนินคดีเสียเองฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
       
       -------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544