หน้าแรก บทความสาระ
บทความ เรื่อง “ ฟ้องตรงศาลรัฐธรรมนูญ กับแนวทางที่ยังต้องค้นหา” โดย นายภาสพงษ์ เรณุมาศ
นายภาสพงษ์ เรณุมาศ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๕ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมิได้เกี่ยวข้องกับองค์กรแต่อย่างใด)
8 มิถุนายน 2551 22:04 น.
 
แต่เดิม ก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จะประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ และได้บัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือจากที่เคยใช้ชื่อเดิม ในนามคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๔๙
       
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเดิม(พุทธศักราช ๒๕๔๐) ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้ถูกหยิบยกถึงประเด็นช่องว่าง ของปัญหามากมาย ทั้งบ้างเป็นประเด็นที่เป็นที่น่าศึกษาในด้านวิชาการ บ้างเป็นประเด็นทางการเมืองของฝ่ายที่ไม่สมประโยชน์และต้องการแก้ไข บ้างหยิบยกถึงปัญหาโดยมีนัยยะแอบแฝง ตามครรลองของแต่ละบุคคล แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งในด้านวิชาการ ที่อาจถือได้ว่าเป็นบริบทใหม่ในการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนไทย นั่นคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง โดยมิต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนและเกินความจำเป็น จนดูเหมือนทำให้การค้นหาความยุติธรรมให้กับตนเอง ดูเป็นการยากลำบากของสังคมไทย เนื่องด้วย ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่ประชาชนมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไม่รับคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจผู้ร้อง เสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้(1)
       
        ดังนั้น บทความนี้ ผู้เขียน จะกล่าวถึงสิทธิของประชาชนในการนำคดีมาขึ้นสู่ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบันเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและไปนำสู่การพัฒนารัฐธรรมนูญของประเทศไทย ต่อไป
       
       ๑. พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       
       ๑.๑ พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
       
        มิได้มีการเปิดช่องให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม หากประชาชนเห็นว่าถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ โดยไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องมาจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ประชาชนก็สามารถใช้สิทธิร้องขอได้ โดยผ่าน ๓ ช่องทาง อันถือเป็นการนำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญทางอ้อม นั่นคือ
        ๑. การใช้สิทธิผ่านช่องทางศาล ตามมาตรา ๒๖๔ บัญญัติว่า “ ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย.....”
        ๒. การใช้สิทธิผ่านช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๙๘ บัญญัติว่า “ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำของบุคคลใด ตามมาตรา ๑๙๗(๑) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครอง แล้วแต่กรณี...”
        ๓. การใช้สิทธิผ่านช่องทางฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นก็คือ เป็นการใช้สิทธิทางอ้อมของประชาชนอันเป็นสิทธิพื้นฐานในการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการร้องเรียนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชน ในการควบคุมร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนบังคับใช้ ตามมาตรา ๒๖๒ ของรัฐธรรมนูญ ฯ
       
        ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวคิดในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเริ่มมีการให้ความสำคัญ แต่ขั้นตอนหรือวิธีการยังคงต้องผ่านช่องทางอื่นๆ อันเป็นช่องทางทางอ้อม ก่อนที่จะนำคดีมาขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
       
       ๑.๒ พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
       
        รัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจถือได้ว่าเป็นผลิตผลของคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ การคุ้มครองสิทธิของประชาชนยังคงมีการบัญญัติไว้ ในมาตรา ๓ ซึ่งบัญญัติว่า “ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำ แล้วอาจจะเห็นถึงความหวังดีของผู้ร่างที่ยังคงให้ประชาชนได้รับการคุ้มครอง ในสิทธิและเสรีภาพที่ตนเองมีอยู่ แต่ประเด็นปัญหาน่าจะอยู่ที่ช่องทางหรือการดำเนินการในการใช้สิทธิของประชาชนมากกว่า เนื่องจากมิได้มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการนำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ดังเช่น การยื่นฟ้องคดีในศาลปกครอง ซึ่งผู้ถูกกระทบสิทธิ ย่อมสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือในศาลยุติธรรม ที่มีการบัญญัติขั้นตอนในการนำคดีมาขึ้นสู่ศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองจริงหรือ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
       
       ๑.๓ พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
       
        จากประเด็นปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ตามการเรียกร้องของบุคคล และนักวิชาการบางส่วน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงร่างขึ้นเพื่อแก้ไข หรืออุดช่องว่างในอดีตของการนำคดีมาขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ของประชาชน จึงได้มีการบัญญัติถึงช่องทางที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น หรือที่เรียกว่า “การฟ้องตรง” นั่นเอง โดยได้มีการบัญญัติไว้ใน
        มาตรา ๒๑๒ ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
        การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ”
       
        เมื่อพิจารณาตามวรรคสอง ของ มาตรา ๒๑๒ แสดงให้เห็นว่าการจะใช้สิทธิของประชาชนได้ ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะที่ผู้เขียน ได้เขียนบทความดังกล่าวนี้ ยังมิได้มีการตราและประกาศใช้บังคับแต่อย่างใด แต่หากพิจารณาจากข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าได้สร้างหลักเกณฑ์ ในการที่ประชาชนจะนำคดีมายื่นต่อศาลโดยตรง ดังต่อไปนี้
       
        ตามข้อ ๑๘ “คำร้องตามข้อ ๑๗ (2) ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
        (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง
        (๒) ระบุมาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง
        (๓) ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ พร้อมทั้งข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
        (๔) คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใดพร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง
        (๕) ลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย
        คำร้องที่มิได้ปฎิบัติให้เป็นไปตามความในวรรคหนึ่ง ศาลหรือตุลาการประจำคดีอาจมีคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ถ้ามิได้ปฏิบัติก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องนั้น ..”
        ตามข้อ ๒๑ “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
        การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา ๒๑๑ (3) มาตรา ๒๔๕(๑) (4) และมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒) (5) ของรัฐธรรมนูญ”
        ตามข้อ ๒๒ “ การยื่นคำร้องของบุคคลตามข้อ ๒๑ นอกจากต้องดำเนินการตามข้อ ๑๘ แล้ว ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้วด้วย”
       
        ตามที่กล่าวมาข้างต้น คือหลักเกณฑ์และแนวทางในการที่ประชาชนจะนำคดีมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนประเด็นปัญหาข้อน่าคิดต่าง ๆ ผู้เขียนจะขอรวบไว้ในบทวิพากษ์วิจารณ์ ในหัวข้อท้าย ๆ ต่อไป
       
       ๒. พิจารณาตามรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ
       
       ๒.๑ ประเทศเยอรมัน
       
        รัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมัน เรียกกันว่ากฎหมายพื้นฐาน (Basic Law for the Federal Republic of Germany ) (6) โดยได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ประชาชนจะฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ ดังนี้ (7)
        มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ข้อ ๔A (8) บัญญัติว่า “บุคคลใดก็ตาม ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของอำนาจรัฐต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายพื้นฐานกำหนดเอาไว้ ( เช่น ในเรื่องสิทธิทางการเมือง การเลือกตั้ง กระบวนการทางกฎหมาย) เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ”
       
        ๑. กรณีที่ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้
        (ก) ฟ้องร้องการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ อันได้แก่ รัฐบัญญัติทั้งหลายที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแห่งสหพันธ์ หรือรัฐสภาแห่งมลรัฐ รัฐบัญญัติรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นต้น หากเห็นว่ากฎหมายเหล่านั้นกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยการกระทบนั้นต้องเป็นการกระทบโดยตรงทันที และยังคงมีอยู่
        (ข) ฟ้องร้องการกระทำของฝ่ายบริหาร ประชาชนสามารถฟ้องทางอ้อมต่อกฎหมายได้โดยการฟ้องว่า มาตรการที่ฝ่ายปกครองใช้ตามกฎหมายนั้น กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน
        (ค) ฟ้องร้องการกระทำของฝ่ายตุลาการ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อาจฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ใน ๓ กรณี คือ การฟ้องคำพิพากษาที่เกิดจากกระบวนพิจารณาของศาล ที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การฟ้องคำพิพากษาที่เกิดจากกฎหมายที่ใช้ในการตัดสินคดี และการฟ้องคำพิพากษาที่ตัวคำพิพากษาเองมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       
        ๒. ขั้นตอนการนำคดีมาขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
       
        ต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๙๐ ของ Federal Constitution court Act (9) กล่าวคือ เรื่องที่จะนำมาฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น ประชาชน ผู้ฟ้องคดีจะต้องไม่มีทางอื่นที่จะไปดำเนินการได้อีกแล้วไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีต่อศาลธรรมดาหรือการร้องทุกข์ต่อฝ่ายปกครอง หรือในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคำพิพากษาของศาล ก็จะต้องมีการฟ้องศาลและได้รับการพิจารณาจากศาลสุดท้ายเสียก่อน จึงจะสามารถนำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสุดท้ายมาฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
       
        แต่อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็มีข้อยกเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ ในกรณีที่การฟ้องคดีเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่อาจแก้ไขได้ หากให้ศาลธรรมดาเป็นผู้ตัดสิน ในกรณีทั้งสองนี้ผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง นอกจากนี้ยังมีการกำหนดอายุความในการ ฟ้องคดีไว้ โดยปกติมีอายุความ ๑ เดือน สำหรับคดีทั่วไป นับแต่วันที่ ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพจากการกระทำของอำนาจรัฐ (10) แต่หากเป็นการฟ้องร้องต่อรัฐบัญญัติ ระยะเวลาการฟ้องร้องจะขยายเป็น ๑ ปี นับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐบัญญัตินั้น(11)
       
        ๒.๒ ประเทศสเปน
       
        รัฐธรรมนูญของประเทศสเปน ได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. ๑๘๑๒ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้ชื่อ ว่า Spanish Constitution Of ๑๙๗๘ (12) โดยเริ่มใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๑๙๗๘ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ประชาชนจะฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ ดังนี้
        มาตรา ๕๓ (๒) (13) และมาตรา ๑๖๑(๒)(14) ประชาชนทุกคนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ในกรณีที่เกิดการกระทำของอำนาจรัฐที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       
        และที่สำคัญผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการภายใน ๒๐ วันนับแต่ได้รับแจ้งเรื่องที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น (15)
       
        ๒.๓ ประเทศฝรั่งเศส
       
        รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเรียกว่า The constitution of the French Fifth Republic โดยเริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๘(16) และยังคงบังคับใช้ในปัจจุบัน
       
        โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้มิได้ให้สิทธิประชาชนในการนำคดีขึ้นมาสู่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้แต่อย่างใด แม้แต่เดิมจะมีการจัดทำร่างกฎหมายในคณะรัฐบาลของประธานาธิบดี F.MITTERRAND เพื่อเพิ่มสิทธิของประชาชนในการนำคดีมาขึ้นสู่การพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (17) แต่ข้อเสนอแก้ไขดังกล่าวก็ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสไม่มีบทบัญญัติให้ประชาชนสามารถฟ้องคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ไปกระทบสิทธิของตนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ได้
       
       ๒.๔ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม
       
        รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเบลเยี่ยม เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๓๑ โดยในระยะแรกเริ่มมิได้มีการกำหนดองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด พึ่งจะเริ่มมีขึ้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ โดยเพิ่มมาตรา ๑๐๗ ตรีเข้าไป โดยตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “ศาลชี้ขาดข้อพิพาท” ปัจจุบันเบลเยี่ยมได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ค.ศ. ๑๘๓๑ และได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๙๔ โดยยังคงคงไว้ซึ่ง ศาลชี้ขาดข้อพิพาท (The Court of Arbitrage) ในมาตรา ๑๔๒ (18)
       
        ๑. กรณีที่ประชาชนสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้
        (ก) ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสนอปัญหาต่อศาลชี้ขาดข้อพิพาทโดยตรงเพื่อขอให้มีการเพิกถอนกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ที่ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
        (ข) ประชาชนอ้างร้องขอต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเป็นผู้ส่งเรื่องที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทเพื่อทำการพิจารณาวินิจฉัยต่อไปได้
       
        โดยศาลชี้ขาดข้อพิพาทของเบลเยี่ยม จะเป็น “ผู้พิทักษ์” สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยมีการกำหนดเรื่องต่าง ๆ ที่ให้อำนาจศาลชี้ขาดข้อพิพาทในการพิจารณา เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักว่าด้วยความเสมอภาค การเลือกปฏิบัติ เสรีภาพทางการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ ๖ มกราคม ค.ศ.๑๙๘๙ กำหนดไว้ว่า อายุความในการฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหมาย กฤษฎีกา หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ คือ หกเดือนนับแต่วันที่มีการประกาศใช้บังคับกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์นั้น โดยคำฟ้องจะต้องลงชื่อผู้ฟ้องคดีพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลประกอบคำฟ้องของตน และแนบกฎหมาย กฤษฎีกาหรือกฎเกณฑ์ที่ตนต้องการขอให้ศาลชี้ขาดข้อพิพาทเพิกถอนมาด้วย (19)
       
        ๒.๕ ประเทศโรมาเนีย
       
        รัฐธรรมนูญของประเทศโรมาเนีย ฉบับปัจจุบัน คือ The Constitution of 1991 ซึ่งได้มีการแก้ไขล่าสุด เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๓ จากการ Referendum เมื่อ วันที่ ๑๘ -๑๙ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ ในหลายประเด็น เช่น การแก้ไขวาระในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากเดิม ๔ ปี ได้มีการแก้ไขเป็น ๕ ปี (20) เป็นต้น
       
        ในส่วนของอำนาจหน้าที่และโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒ -๑๔๗ (21) โดยมิได้มีการบัญญัติให้ประชาชนสามารถนำคดีขึ้มาสู่ศาลโดยตรงได้ แต่อย่างใด แต่หากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการถูกละเมิดในด้านสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ ต้องร้องขอผ่าน The Advocate of the people ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหนึ่งของประเทศโรมาเนียที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้มีวาระในการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี เป็นผู้นำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓ ของกฎหมายว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ (22)
       
       ๒.๖ ประเทศเกาหลี
       
        รัฐธรรมนูญของประเทศเกาหลี ได้เริ่มมีครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ (23) และหลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตลอดจนปัจจุบัน ได้มีการแก้ไขครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๗
       
        ส่วนสิทธิในการนำคดีขึ้นมาสู่ศาลโดยประชาชน ได้มีการกำหนดไว้ พระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ(24) (Constitutional Court Act of South Korea) ในส่วนที่ ๕ การวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ (Adjudicate on constitutional complaint)(25) โดยประชาชนสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ หากผู้นั้นถูกกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของตน ที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ โดยการกระทำหรือไม่กระทำการของรัฐ เว้นแต่ กรณี เป็นคำพิพากษาของศาลอื่น ทั้งนี้ ในการที่จะดำเนินการในกรณีนี้ บุคคลนั้นต้องไม่อาจดำเนินการตามกฎหมายอื่นได้แล้ว ตามมาตรา ๖๘(๑)
       
        นอกจากนี้คำร้องที่จะยื่นตามมาตรา ๖๘(๑) ดังกล่าว ต้องยื่นภายใน ๙๐ วัน หลังจากที่รู้เหตุแห่งการร้อง และภายใน ๑ ปี นับแต่เหตุเกิด ทั้งนี้ การยื่นคำร้องทุกข์ที่ยื่นภายหลังที่บุคคลนั้นได้ใช้สิทธิตามกฎหมายอื่นมาแล้ว ต้องยื่นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาตามมาตรา ๖๘(๑)
       
       ๓. บทวิพากษ์การฟ้องตรงตามรัฐธรรมนูญไทย
       
        เมื่อพิจารณาทั้งรัฐธรรมนูญไทยและของต่างประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่า แนวคิดในการฟ้องตรงของประเทศไทย ได้นำแนวทางของต่างประเทศบางประเทศมาใช้ เป็นต้นแบบในการให้สิทธิของประชาชนที่จะนำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องด้วยเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติไว้ครั้งแรก จึงก่อให้เกิดประเด็นข้อสงสัยมากมายว่าจะมีแนวทางในการให้สิทธิของประชาชน เช่นไร ซึ่งสามารถแยกได้ดังต่อไปนี้
       
        ๓.๑ ผู้มีสิทธินำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
       
        นั่นคือ คำว่า “บุคคล” ตามมาตรา ๒๑๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มีความหมายแค่ไหนเพียงไร ซึ่งแต่เดิมตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐ ในชั้นร่างคณะกรรมาธิการ ได้ชี้แจงคำว่า “บุคคล” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญว่า หมายถึง การมีสภาพบุคคลตามกฎหมาย รวมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
       
        แต่หากพิจารณาตามกฎหมายปกครอง บุคคลซึ่งสามารถนำคดีมาขึ้นสู่ศาลปกครองได้ มีความหมายรวมถึง คณะบุคคล ด้วย (26)
        หรือหากพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำว่า “บุคคล” ถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๕ “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย..” ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าตามกฎหมายเอกชน ถือเฉพาะบุคคลธรรมดา เท่านั้น และ ไม่รวมถึงคณะบุคคลแต่อย่างใด(27)
       
        หรือหากพิจารณาเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน อาจกล่าวได้หรือไม่ว่า คำว่า “บุคคล” ในที่นี้ให้รวมถึง คณะบุคคล ด้วย เนื่องด้วยในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองถึงสิทธิของการเข้าร่วมเป็นคณะบุคคลไว้ เช่น มาตรา ๖๖ บัญญัติว่า “ บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี...”
       
        จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นประเด็นปัญหาที่รอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าแท้จริงแล้ว หากผู้ที่นำคดีมายื่นเป็นคณะบุคคล จะถือว่าเป็น บุคคล ที่มีสิทธินำคดีมาขึ้นสู่ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๒ หรือไม่
       
       ๓.๒ การถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
       
        ประเด็นดังกล่าว เกิดความสงสัยในการนำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญว่ากรณีใดบ้างจะถือได้ว่า บุคคล ผู้ที่จะนำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ได้รับผลกระทบอันจะถือเป็นการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อันจะมีผลให้ บุคคล นั้น สามารถนำคดีขึ้นมา สู่ศาลรัฐธรรมนูญได้
       
       ซึ่งเมื่อนำมาเทียบเคียงกับการนำคดีมาฟ้องคดีปกครอง อันเป็นกฎหมายมหาชน ผู้เสียหายในคดีปกครอง จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง (28) หากมิได้ถูกกระทบสิทธิย่อมไม่สามารถนำคดีขึ้นมาสู่ศาลปกครองได้ ดังเช่น
       คำสั่งศาลปกครองกลางที่ ๖/๒๕๔๔ (29) กรณีผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ฟ้องว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้รับเหมาก่อสร้างว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดดำเนินการเกี่ยวกับการสอบราคาจ้างเหมาปรับปรุงถนนโดยไม่ชอบ ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า ผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์มิใช่ผู้ที่เสียสิทธิในการดำเนินการสอบราคาของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด จึงมิใช่ ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
       
       หรือหากนำมาเทียบกับการฟ้องคดีในศาลยุติธรรม เช่น ในคดีแพ่ง ตามมาตรา ๕๕ ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิ หรือหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งที่ได้กำหนดให้ความคุ้มครองไว้ หรือหากเป็นการดำเนินคดีในทางอาญา ผู้ที่จะนำคดีมาขึ้นสู่ศาลได้ ก็ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ตามมาตรา ๒(๔) ของประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง ในความผิดที่เกิดขึ้น
       
       จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นประเด็นปัญหาว่า การถูกกระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคล แค่ไหนเพียงไร จึงจะถือว่าถูกกระทบสิทธิ การที่กฎหมายออกมาใช้บังคับ แต่มีถ้อยคำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บุคคลทั่วไปที่อาจจะถูกกระทบสิทธิหากมีการบังคับใช้กฎหมายนั้น จะถือเป็นเหตุมาร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๒ ได้หรือไม่ หรือการที่จะเข้ามาตราดังกล่าว ต้องเป็นผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เท่านั้น นี่คือ ประเด็นปัญหาที่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยและวางแนวบรรทัดฐานในคดี ต่อไป
       
        ๓.๓ ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว
       
        กล่าวคือ การจะนำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๒ ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๒ วรรคท้าย
       
        ซึ่งในปัจจุบัน เนื่องด้วย พระราชบัญญัติ ฯ ฉบับดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนระหว่างการร่างฯ แนวทางของศาลรัฐธรรมนูญ ในปัจจุบัน จึงได้นำข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้บังคับ นั่นคือตามข้อ ๒๑ ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้” และวรรคสอง “การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา ๒๑๑ มาตรา ๒๔๕(๑) และมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒) ของรัฐธรรมนูญ”
       
        ประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่ว่า กรณีเช่นนี้จำเป็นหรือไม่ ที่บุคคลผู้นำคดีมาขึ้นสู่ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๒ ต้องเคยใช้สิทธิผ่านช่องทาง
        ๑. ศาลยุติธรรม หรือศาลอื่น ๆ ตามมาตรา ๒๑๑ หรือ
        ๒. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา ๒๔๕(๑) หรือ
        ๓. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๕๗ วรรคหนึ่ง (๒)
        กล่าวคือจำเป็น หรือไม่ ที่ต้องใช้สิทธิผ่านทั้ง ๓ ช่องทาง เพื่อให้ตรงกับบริบทของรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๒๑๒ ที่ว่า “...ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว” หรือเพียงแต่ใช้สิทธิผ่านเพียงช่องทางใดช่องทางหนึ่งเพียงช่องทางเดียว ก็สามารถนำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้
       
       ๓.๔ อายุความในการนำคดีขึ้นมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
       
        จำเป็นหรือไม่ ที่ควรจะมีการกำหนดอายุความในการนำคดีขึ้นมาสู่ศาล ดังเช่นในบางประเทศ เช่น ประเทศเยอรมัน หากเป็นการฟ้องร้องต่อรัฐบัญญัติ ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐบัญญัตินั้น หรืออย่างในประเทศเกาหลี ต้องยื่นภายใน ๙๐ วัน หลังจากที่รู้เหตุแห่งการร้อง และภายใน ๑ ปี นับแต่เหตุเกิด ทั้งนี้ การยื่นคำร้องทุกข์ที่ยื่นภายหลังที่บุคคลนั้นได้ใช้สิทธิตามกฎหมายอื่นมาแล้ว ต้องยื่นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
       
        หรือหากพิจารณาตามกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนเอง ก็ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาในการฟ้องคดี เป็นหลายกรณี อาทิเช่น
        - การฟ้องคดีเกี่ยวกับละเมิดต่อศาลปกครองนั้น ต้องฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ มิฉะนั้น ศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความ ไม่ว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้หรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นกรณีที่ศาลเห็นว่าคดีนั้นเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม (30)
        - ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่หน่วยงานทางปกครองเรียกให้เจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดชำระเงินคืนให้แก่หน่วยงาน ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง ฯ ผู้ฟ้องคดีก็ต้องฟ้องภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น(31) หรือ
        - ในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง ฯ ว่าละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าในการพิจารณาคำขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีก็ต้องฟ้องภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี กล่าวคือ นับแต่วันที่พ้นกำหนด ๑๘๐ วัน ที่หน่วยงานทางปกครองต้องพิจารณาคำขอของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จหรือภายในระยะเวลาที่ขยายออกไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (32)
       
        จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นประเด็นปัญหาที่น่าคิดว่าแท้จริงแล้ว ควรจะมีการกำหนดอายุความ เหมือนดังเช่นในบางประเทศ หรือเหมือนกับกฎหมายอื่น หรือไม่ เพื่อมิให้เกิดคดีล้นศาล มากเกินไป
       
       ๔. บทสรุป
       
        ตามที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อย ๆ ที่แฝงอยู่ในประเด็นปัญหาใหญ่ ๆ อีกมากมาย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ให้คำตอบและชี้นำประชาชนในการนำคดีมาขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าแท้จริงแล้ว การนำคดีมาขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญโดยถูกต้อง ตามมาตรา ๒๑๒ ของรัฐธรรมนูญ มีขั้นตอนและหลักเกณฑ์เช่นไร แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้เขียนยังเห็นว่า ไม่ว่าขั้นตอนหรือความยุ่งยากในการนำคดีมาขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีเช่นไร แต่อย่างน้อย ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งอันจะทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่มากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม อันจะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเริ่มได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง
       
       เชิงอรรถ
       1. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๑ เรื่อง ขอ คำวินิจฉัยตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๑ วรรคสี่ และมาตรา ๒๖๔ ประกอบมาตรา ๖ โดยผู้ร้องคือ นางอุบล บุญญชโลธร ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑
       2. ข้อ ๑๗ “ ศาลมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ดังต่อไปนี้
       ............(๑๔) คดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       ตามคำร้องของบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ตามมาตรา ๒๑๒ ของรัฐธรรมนูญ”
       3. มาตรา ๒๑๑ บัญญัติว่า “ ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้น ตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย..”
       4. มาตรา ๒๔๕ บัญญัติว่า “ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้
        (๑) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า...”
       5. มาตรา ๒๕๗ บัญญัติว่า “ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้....
        (๒) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ..”
       6. http://en.wikipedia.org/wiki/Basic_Law_for_the_Federal_Republic_of_Germany
       7. นันทวัฒน์ บรมานันท์,การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ:กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ(สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ :กรุงเทพ,๒๕๔๘),หน้า ๒๖๑-๒๖๕.
       8. http://en.wikisource.org/wiki/Basic_Law_for_the_Federal_Republic_of_Germany
       9. http://www.iuscomp.org/gla/statutes/BVerfGG.htm#90
       10. โปรดดู Federal Constitution court Act :Article ๙๓ (๑)
       11. โปรดดู Federal Constitution court Act :Article ๙๓ (๓)
       12. http://en.wikipedia.org/wiki/Constitution_of_Spain
       13. โปรดดู http://www.constitucion.es/constitucion/lenguas/ingles.html#1c4 section ๕๓(๒) Any citizen may assert a claim to protect the freedoms and rights recognized in section 14 and in division 1 of Chapter 2, by means of a preferential and summary procedure before the ordinary courts and, when appropriate, by lodging an individual appeal for protection (recurso de amparo) to the Constitutional Court. This latter procedure shall be applicable to conscientious objection as recognized in section 30.
       14. http://www.constitucion.es/constitucion/lenguas/ingles.html#9
       15. นันทวัฒน์ บรมนันท์,เรื่องเดิม,หน้า ๒๘๐.
       16. http://www.assemblee-nationale.fr/english/8ab.asp
       17. นันทวัฒน์ บรมนันท์,เรื่องเดิม,หน้า ๒๘๙-๒๙๐.
       18. http://www.fed-parl.be/gwuk0008.htm#E12E8
       19. นันทวัฒน์ บรมนันท์,เรื่องเดิม,หน้า ๒๕๒-๒๕๕.
       20. http://en.wikipedia.org/wiki/Romanian_Constitution
       21. ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนีย http://www.ccr.ro/default.aspx?page=laws/constitution
       22. ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนีย http://www.ccr.ro/default.aspx?page=laws/law47
       23. http://en.wikipedia.org/wiki/Constitution_of_the_Republic_of_Korea
       24. http://en.wikisource.org/wiki/Constitutional_Court_Act_of_South_Korea
       25. http://en.wikisource.org/wiki/Constitutional_Court_Act_of_South_Korea#SECTION_5_Adjudication_on_Constitutional_Complaint
       26. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๑
       27. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๕/๒๕๑๙ คณะบุคคลไม่มีสภาพบุคคลตามกฎหมาย หรือ เป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้
       28. คู่มือการศึกษาวิชากฎหมายปกครอง(สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา,๒๕๔๕)หน้า ๓๕๑.
       29. มานิตย์ จุมปา,คู่มือศึกษาวิชากฎหมายปกครอง(กรุงเทพ:วิญญูชน,๒๕๔๖)หน้า ๖๐๕.
       30. ข้อ ๓๐ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓
       31. มาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
       32. คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๙๗/๒๕๔๔


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544