หน้าแรก บทความสาระ
สังคมไทยไปไม่ถึงนิติรัฐ ? โดย รศ.ดร.โภคิน พลกุล
รศ.ดร.โภคิน พลกุล นักกฎหมายมหาชน
8 มิถุนายน 2551 22:04 น.
 
ได้มีการพูดและอ้างถึงหลักนิติรัฐ (Legal State) และหลักนิติธรรม (Rule of Law) ในสังคมไทยมาหลายทศวรรษแล้ว บางช่วงก็ดูเหมือนว่ากลุ่มบุคคลชั้นนำ (Elite) และมวลชนส่วนหนึ่งจะเข้าใจความหมายโดยรวมของคำดังกล่าวว่าเป็นรัฐในระบอบประชาธิปไตยที่ถือเอากฎหมายเป็นใหญ่ บุคคลมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค ตลอดจนได้รับความยุติธรรมจากระบบกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากอคติต่างๆ ของผู้ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและตัดสินคดี การอ้างถึงหลักดังกล่าวดูจะเข้มแข็งมากโดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการ นักการเมือง องค์กรภาคประชาชนและสื่อมวลชนในช่วงที่สังคมไทยถูกปกครองโดยรัฐบาลอมาตยาธิปไตยที่มาจากการทำรัฐประหารล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในรูปของประกาศ คำสั่งคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูป
       
        แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนว่าเราต้องเรียนรู้คำว่าหลักนิติรัฐ นิติธรรม กันใหม่ เพราะแม้แต่ฝ่ายที่ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็อ้างหลักดังกล่าวในการบริหารประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการและนักการเมืองบางส่วน ยิ่งกว่านั้นตุลาการบางท่านก็ยังร่วมมือกับผู้ที่กระทำการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและเรียกร้องทุกฝ่ายให้เคารพหลักนิติรัฐ นิติธรรม จึงทำให้บรรดาผู้ที่เคยเข้าใจหลักเช่นว่านั้นสับสนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักศึกษาวิชานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
        ผู้ที่พูดถึงหลักนิติธรรมเป็นคนแรก คือ อริสโตเติล แต่มิได้หมายความว่าหลักดังกล่าวในยุคนั้นจะเป็นไปได้จริงหรือดำรงอยู่ในรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ บุคคลที่ทำให้หลักนิติธรรมโด่งดังก็คือ นักกฎหมายอังกฤษในศตวรรษที่ 19 – 20 ชื่อว่า ไดซี่ (Dicey) ด้วยการนำหลักนิติธรรมมาใช้ในทฤษฎีกฎหมายอังกฤษเพื่ออธิบายว่าระบบกฎหมายและระบบศาลของอังกฤษในขณะนั้นดีกว่าหรือมีมาตรฐานสูงกว่าของฝรั่งเศส เพราะคนอังกฤษทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันและศาลเป็นผู้สร้างกฎหมายได้ด้วย ในขณะที่ฝ่ายปกครองของฝรั่งเศสในยุคหลังการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ. 1789 นั้น ไม่อาจถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการบริหารราชการต่อศาลยุติธรรมได้ ต้องใช้วิธีการร้องเรียน ร้องทุกข์ ไปยังฝ่ายบริหารเท่านั้น และ แม้เมื่อมีการจัดตั้งสภาแห่งรัฐ(Conseil D’Etat)หรือที่ปัจจุบันคือ “ศาลปกครองสูงสุด” ขึ้นในเวลาต่อมาเมื่อ ค.ศ.1799 ในช่วงแรกๆ ก็ถูกมองว่าเป็นองค์กรของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวินิจฉัยคดีที่ค่อนข้างเข้าข้างฝ่ายบริหาร
       
        อิทธิพลของไดซี่นั้นยิ่งใหญ่มาก ทำให้ระบบกฎหมายมหาชนอังกฤษหยุดนิ่งเป็นเวลานานจนถึงประมาณเกือบครึ่งศตวรรษที่ 20 จึงมีความเข้าใจทั้งระบบกฎหมายอังกฤษและฝรั่งเศสในหมู่นักกฎหมายอังกฤษดีขึ้น ว่าอันที่จริงแล้วทุกระบบมีข้อบกพร่อง ต้องการการพัฒนาและเรียนรู้จากระบบอื่น ระบบอังกฤษก่อนถึงยุคของไดซี่นั้น ถือหลักว่ากษัตริย์ไม่อาจทรงทำผิดได้( The King can do no wrong ) แต่คำว่ากษัตริย์มิได้หมายความแต่เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น หากยังหมายถึงราชการส่วนกลางหรือ (The Crown) ด้วย จึงทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากการกระทำของราชการส่วนกลางไม่อาจฟ้องร้องราชการส่วนกลางได้ แต่ถ้าเป็นราชการส่วนท้องถิ่นแล้วฟ้องได้ ต่อมาใน ค.ศ. 1947 จึงได้มีการออกกฎหมายให้ฟ้องร้องราชการส่วนกลางได้ ในขณะที่ฝรั่งเศสเองได้มีการปฏิรูปสภาแห่งรัฐให้มีความเป็นอิสระมากขึ้นและทำให้เป็นระบบศาล มีการจัดตั้งศาลปกครองชั้นต้น และให้สภาแห่งรัฐเป็น “ศาลปกครองสูงสุด” แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หลักกฎหมายปกครองที่สภาแห่งรัฐได้วางไว้นั้นชี้ให้เห็นถึงหลักประชาธิปไตยและหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักการเคารพความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการเคารพลำดับชั้นต่างๆ ของกฎหมาย หลักความยุติธรรมตามหลักกฎหมายทั่วไป หลักการเคารพในสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือหลักนิติรัฐ แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ตุลาการในสภาแห่งรัฐของฝรั่งเศสได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและมโนธรรมที่สำคัญยิ่งในการตัดสินคดี นั่นคือการปราศจากอคติ พวกเขาได้ตัดสินคดีปกครองโดยยึดหลักนิติรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 20 จนได้รับความเชื่อถือจากสังคมเป็นอย่างมากทั้งๆ ที่เป็นข้าราชการฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ข้าราชการตุลาการ
       
        ในประเทศไทย เราใช้คำว่าหลักนิติธรรมก่อนคำว่านิติรัฐ เพราะได้รับอิทธิพลมาจากนักกฎหมายไทยที่จบการศึกษากฎหมายจากประเทศอังกฤษ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า แทบไม่มีนักกฎหมายที่จบจากอังกฤษอธิบายหลักนิติธรรมอย่างครบถ้วนถูกต้องด้วยจิตวิพากษ์ตามความเป็นจริงแห่งประวัติศาสตร์ ส่วนคำว่านิติรัฐนั้นมีผู้ให้อรรถาธิบายไว้มากมาย โดยเฉพาะนักกฎหมายที่จบจากประเทศภาคพื้นยุโรป ซึ่งในประเทศเหล่านั้นไม่ได้มีการพูดถึงคำว่า “หลักนิติธรรม” เพราะไม่มีระบบกฎหมายและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์เช่นประเทศอังกฤษ
        นักคิดในยุโรปโดยเฉพาะในภาคพื้นทวีปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาชี้ให้เห็นว่าอำนาจไม่ใช่ของส่วนตัวของบุคคลใดอีกต่อไป หากเป็นของทุกคนในสังคม ดังนั้นรัฐซึ่งเป็นนามธรรมที่หมายถึงอำนาจจึงเป็นของประชาชน บุคคลที่มาใช้อำนาจรัฐจึงไม่อาจสืบทอดอำนาจตามตระกูลได้ เมื่อรัฐเป็นองค์ภาพทางกฎหมายเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วน บริษัทในกฎหมายเอกชน และเมื่อระบอบประชาธิปไตยและทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยมพัฒนาเติบใหญ่ขึ้นพร้อมกับพัฒนาการของระบบทุนนิยม คำว่านิติรัฐจึงได้รับการอธิบายให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม นั่นคือรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายมิใช่อยู่เหนือกฎหมาย ในขณะที่ทฤษฎีอำนาจเผด็จการหรืออำนาจเทวสิทธิ์ถือว่าคำสั่งของผู้ปกครองก็คือคำสั่งของรัฐเพราะผู้ปกครองคือรัฐ คำสั่งนั้นคือกฎหมาย เมื่อรัฐไม่ใช่ตัวบุคคลที่เป็นผู้ปกครองหรือผู้ใช้อำนาจแต่เป็นนิติบุคคลจึงต้องมีผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจ ทั้งผู้ใช้อำนาจและประชาชนทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ดังนั้นนิติรัฐจึงต้องเคารพทั้งกระบวนการในการออกกฎหมายและกระบวนการที่จะบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเจตน์จำนงร่วมของประชาชนทุกคนในระบอบประชาธิปไตย เพราะกฎหมายออกโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากรัฐใดไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ไม่เคารพกระบวนการออกกฎหมายโดยสภาที่มาจากประชาชน ไม่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของกฎหมาย ย่อมไม่ใช่นิติรัฐ รัฐที่ทำอะไรก็ได้เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบและวิธีการที่รัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายลำในดับชั้นต่างๆก็ดี กำหนดไว้ นักคิดฝ่ายตะวันตกเรียกว่า “รัฐตำรวจ” ซึ่งหมายถึงรัฐเผด็จการ
       
        เมื่อพิจารณาในแง่ที่กล่าวมา ประเทศอังกฤษย่อมเป็นนิติรัฐเช่นประเทศประชาธิปไตยอื่นๆแม้จะมีระบบศาลเดี่ยวคือมีเพียงศาลยุติธรรมไม่เหมือนประเทศฝรั่งเศสที่มีระบบศาลคู่คือศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ในขณะที่ประเทศเยอรมันมีถึง 5 ระบบศาลคือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลภาษี ศาลสังคม และศาลแรงงาน นักกฎหมายไทยบางท่านไม่เข้าใจคำว่านิติรัฐอย่างแท้จริงถึงกับไปทึกทักเอาว่า หากมีการออกกฎหมายให้คดีที่ควรจะเป็นคดีปกครองไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองแล้ว แปลว่าในขณะนั้นประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐซึ่งเป็นคนละเรื่อง เพราะตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลได้เสมอ และในกรณีนี้เมื่อกฎหมายไม่ให้ฟ้องศาลปกครอง เขาก็มีสิทธิไปฟ้องศาลยุติธรรม เป็นอำนาจและดุลพินิจของผู้ออกกฎหมายที่จะพิจารณาว่าคดีประเภทใดควรจะอยู่ในอำนาจของศาลใด ดังนั้นจึงควรวิจารณ์ในแง่ที่ว่าศาลปกครองและกฎหมายวิธีพิจารณาความปกครองถูกออกแบบมาเพื่อให้ตอบสนองต่อลักษณะของคดีปกครอง ศาลปกครองน่าจะทำหน้าที่ได้เหมาะสมกว่าในกรณีที่เป็นคดีปกครองโดยแท้ ไม่ใช่มองว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ เพราะมิเช่นนั้นจะอธิบายระบบของอังกฤษและเยอรมันไม่ได้เลย และแม้แต่ฝรั่งเศสเองก็มีหลายกรณีที่สภาออกกฎหมายให้คดีที่เคยเป็นคดีปกครองไปอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
       
        คำถามที่สำคัญสำหรับสังคมไทยก็คือ บุคคลชั้นนำที่อ้างถึงหลักนิติรัฐ นิติธรรม เข้าใจหลักนี้อย่างถ่องแท้หรือไม่ มีจิตใจที่จะยึดมั่นและจริงจังกับหลักนี้หรือไม่ หรืออ้างกันไปเพื่อทำให้ตนเองดูดี เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองในการทำลายอีกฝ่ายหนึ่งหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ยิ่งทุกวันนี้มีคำว่าการบริหารจัดการที่ดี หรือ Good Governance เข้ามาอีก ก็ยิ่งอ้างกันใหญ่ ก่อนหน้านั้นก็ฮิตคำว่าโปร่งใส บางคนถึงกับพูดหน้าตาเฉยว่าองค์กรหรือรัฐบาลที่ตนรับผิดชอบโปร่งใสเพราะตนเป็นคนโปร่งใสซึ่งไม่มีหลักเลย จริงๆแล้วควรพูดว่ารัฐบาลตนโปร่งใสเพราะทุกเรื่องสามารถถูกตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน มีการเคารพในรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด พร้อมเปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าเอาบุคคลไปรับประกัน คนเหล่านี้มักชอบวิจารณ์ผู้อื่นว่าไม่มี Good Governance ไม่โปร่งใส มีวาระแอบแฝง ฯลฯ โดยที่ตนเองก็อาจไม่ใช่คนที่โปร่งใสเช่นกัน
       
        สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่มีคนดัดจริต (Hypocrite)และสองมาตรฐาน(Double Standard) อยู่ไม่น้อย คือเมื่อไม่อยู่ในอำนาจก็ว่าผู้ที่อยู่ในอำนาจด้วยหลักต่างๆที่กล่าวมา แต่เมื่อตนอยู่ในอำนาจก็พอใจกับการใช้อำนาจโดยละเมิดหลักเช่นว่านั้นเสียเอง หลักหรือสถาบันต่างๆจึงถูกอ้างโดยฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายอีกฝ่ายหนึ่งมาตลอด ในอดีตข้อหาในการทำลายกันทางการเมืองมี 3 ประการคือ 1 ) ไม่เคารพสถาบันกษัตริย์ 2 )เป็นคอมมิวนิสต์ 3 )ทุจริต ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นเหยื่อรายแรกในข้อหาคอมมิวนิสต์ และการปล่อยข่าวกรณีสวรรคตของในหลวงรัชการที่ 8 พันเอกณรงค์ กิตติขจร ในข้อหาจะเป็นประธานาธิบดี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในข้อหาเป็นเพรซิเดียม (Presidium) ซึ่งป็นองค์กรหนึ่งในรูปแบบการปกครองของสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายไปแล้ว การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เพิ่มมาอีกสองประการคือ 1) สังคมมีความแตกแยก 2) แทรกแซงองค์กรอิสระ ข้อหาไม่เคารพสถาบันและทุจริตยังคงเป็นข้อหาครอบจักรวาลอยู่เช่นเดิม
       
       แต่ไม่ว่าข้อหาจะเป็นอย่างไร ทำไมไม่ให้มีการดำเนินคดีไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายต่างๆภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทำไมไม่เชื่อในระบบศาลที่ดำรงอยู่ ทำไมต้องดำเนินคดีตามข้อหาต่างๆด้วยการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทำไมต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นแทน ทำไมต้องยุบองค์กรอิสระบางองค์กร แต่คงบางองค์กรไว้ ทำไมต้องตั้งองค์กรอิสระบางองค์กรเพิ่มขึ้นเช่น คตส. ทั้งๆที่ได้ตั้ง ป.ป.ช.ขึ้นใหม่ไว้แล้วเช่นกัน ทำไมต้องตั้งบุคคลซึ่งแสดงคนเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งกับผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระเพื่อดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา อย่างนี้เป็นการเคารพหลักนิติรัฐ นิติธรรมหรือไม่ ทำไมผู้ที่ชอบอ้างหลักนี้กลับนิ่งเฉย บางคนถึงกับเชียร์ออกนอกหน้าด้วยซ้ำ
       
       การตัดสินคดียุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมืองก็เช่นกัน ตัดสินบนพื้นฐานของหลักนิติรัฐ นิติธรรมหรือไม่ คณะปฏิรูปฯออกคำสั่งให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคหลังจากมีการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งคงตั้งใจที่จะให้เกิดการเพิกถอนสิทธิ แต่ไม่ได้เขียนให้ชัดว่าให้มีผลย้อนหลัง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ยินดีวินิจฉัยตีความให้มีผลย้อยหลัง ยิ่งกว่านั้น มีการลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคอีกนับร้อยคน โดยไม่ได้มีการกล่าวหาและดำเนินคดี จึงไม่มีการเปิดโอกาสให้มีการต่อสู้ชี้แจงข้อกล่าวหาแต่อย่างใด การลงโทษเช่นนี้ชอบด้วยหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรมหรือไม่
       การอ้างแต่เพียงว่าไม่ใช่เรื่องทางอาญาจึงลงโทษย้อนหลังได้นั้น ทราบหรือไม่ว่า การไม่ให้มีการลงโทษบุคคลย้อนหลังนั้นมาจากหลักใด เพราะในอดีตสังคมไทยไม่ได้ยึดหลักเช่นนี้ คงถือหลัก 7 ชั่วโคตร คือถ้าพ่อกระทำผิด ญาติสนิทขึ้นไป 3 ชั้นและลงมา 3 ชั้นถือว่าผิดด้วย พิสูจน์พยานด้วยการบีบขมับ ตอกเล็บ ดำน้ำ ลุยไฟ ถือว่าคนบริสุทธิ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมคุ้มครอง ทำไมเราเปลี่ยนมาใช้ระบบกฎหมายอาญาสมัยใหม่ ที่แบ่งเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน และนำวิธีสืบพยานสมัยใหม่มาใช้ หลักที่ทำให้ระบบกฎหมายอาญาแบบดั้งเดิมทั้งในประเทศตะวันตกและประเทศไทยซึ่งเอาแบบอย่างมาจากประเทศตะวันตกที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายเปลี่ยนแปลงนั้น มาจากคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมืองของฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 มาตรา 8 ที่ว่ากฎหมายพึงกำหนดโทษไว้อย่างเคร่งครัดและจำเป็นเท่านั้น บุคคลจะถูกลงโทษได้ก็ด้วยอาศัยกฎหมายที่มีอยู่แล้วซึ่งได้ประกาศใช้ก่อนหน้าการกระทำผิด ทั้งต้องใช้บังคับอย่างถูกต้อง กับมาตรา 9 ที่ว่า บุคคลทุกคนได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นคนบริสุทธิ์ จนกว่าจะถูกตัดสินว่าได้กระทำผิด หลักที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังในทางเป็นโทษนั้นไม่ได้ใช้เฉพาะทางอาญา หากใช้เป็นหลักทั่วไป แม้แต่ในทางปกครอง แต่ที่หาหลักไม่ได้เลยก็คือการลงโทษบุคคลโดยไม่มีการดำเนินคดี ไม่มีการเปิดโอกาสให้มีการต่อสู้ชี้แจงใดๆ ดูแล้วแทบไม่ต่างกับระบบ 7 ชั่วโคตร ที่ถือว่าผิดเพราะเป็นญาติสายตรงของผู้กระทำผิดเลย
       
       แม้ในยุคที่ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตุลาการจำนวนไม่น้อยได้ทำหน้าที่อย่างกล้าหาญเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จะทำได้ ทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ (ไม่ว่าจะเกิดจากความกลัว ความชอบหรือความชัง ฯลฯ ) เพื่อให้เกิดหลักกฎหมายที่ถูกต้องในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
       
       จึงหวังว่าคนไทยทุกคนจะช่วยกัน ความสมานฉันท์จะเกิดได้เมื่อเรายึดหลักประชาธิปไตยและหลักกฎหมายที่ถูกต้อง อย่าปล่อยให้อารมณ์ ความรู้สึก อคติทั้งหลายครอบงำ จนเราทรยศต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ทรยศต่อตัวเอง สังคมแตกแยก อย่าเพิ่งไปโทษคนอื่น ดูที่ตัวเราก่อนว่าเรายืนบนหลักหรือไม่ อย่าไปคิดว่าปืนจะครอบงำ ทุนจะครอบงำ เดี๋ยวเป็นเผด็จการทหาร เดี๋ยวเป็นเผด็จการสภา ไม่ชอบเผด็จการทหารก็เรียกหาประชาธิปไตย ไม่ชอบเผด็จการสภาก็เรียกหาเผด็จการทหาร เราเลอะเทอะของเราไปเอง คิดเอง นิยามเอง ไม่อดทนและให้การศึกษาซึ่งกันและกันอย่างถูกต้อง บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติและชอบธรรมด้วยครรลองของระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ นิติธรรมอย่างแท้จริง
       
       ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเราไปถึงนิติรัฐได้ ความขัดแย้งต่างๆเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องแก้ไขด้วยระบบนิติรัฐ ผู้บังคับใช้กฎหมายทุกระดับต้องเลิกฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องไม่บังคับใช้กฎหมายตามความรู้สึก ความเชื่อหรือตามธง ต้องหันมาฝักใฝ่กฎหมายด้วยการปราศจากอคติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ บางทีเราอาจต้องไปสู่ยุคเรอแนสซอง (Renaissance) หรือยุคฟื้นฟูทางกฎหมายสักครั้งเพื่อสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งและมีสันติสุขให้จงได้


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544