การใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ:หนังสือสัญญาบางประเภทอันต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (ตอนที่ 1) โดยนาย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ |
|
|
|
นาย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความนี้ยาว ๕๐ หน้า เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ เพื่อร่วมให้ข้อมูลและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ เรื่องการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ และสงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ผู้เขียนขอบพระคุณอาจารย์ณรงค์เดช สรุโฆสิตผู้นอกจากจะให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้เขียนด้วยความเมตตา ยังได้มอบโอกาสให้ผู้เขียนได้เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์จากทั้งนอกห้องเรียนไปจนถึงในต่างประเทศ หากบทความนี้จะพอมีคุณค่าประการใด ก็ขอน้อมอุทิศให้แก่บุพการีผู้สร้างโรงเรียนให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ทั้งชีวิต ตลอดจนคณาจารย์ พี่น้องนิสิตและบุคลากร เจ้าหน้าที่ ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอันเป็นที่รักที่ได้มอบโอกาสและสนับสนุนผู้เขียนอย่างดีตลอดห้วงความเป็นนิสิต ๔ ปีที่ผ่านมา บทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวในทางวิชาการและหากปรากฏข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว
ข้อคิดเห็นหรือข้อแนะนำโปรดส่งมาที่ Verapat@gmail.com สำเนาบทความได้ที่ http://verapat.googlepages.com
|
|
|
|
|
|
|
|
|
บทนำ : จากบทเรียนในอดีตสู่ความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
มนุษย์คือผู้ใช้อำนาจเพื่อเอาชนะและผ่านพ้นความท้าทายที่เกิดตามกาลเวลา นับแต่บรรพกาล หลืบถ้ำและพงไพรบังคับเราว่าอำนาจที่ใช้อย่างโดดเดี่ยวเป็นภัยต่อความอยู่รอด ต่อมาเราได้ปรับตัวจากชนเผ่าไปสู่อาณาจักร โดยรู้ว่าการรวมอำนาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราสร้างเรือสำเภาและเรือนราชทูตเพราะระลึกว่าอำนาจแม้รวมกันได้แต่ก็มิอาจอยู่แยกจากกันได้ เราต้องจดจำจากสมรภูมิไปถึงอนุสรณ์สถานว่าการรวมอำนาจเพื่อคุกคามครอบครองอำนาจอื่นเจ็บปวดหรือโหดเหี้ยมแต่เพียงไร และ ณ ปัจจุบัน เรากำลังถูกเตือนอีกครั้งจากชั้นบรรยากาศบนท้องฟ้าไปจนถึงก้นบ่อน้ำมันใต้พิภพว่าอำนาจที่เราทั้งหลายใช้อยู่อาจกำลังคุกคามความอยู่รอดของเรา เราจึงกำลังหันไปร่วมตกลงยินยอมให้มีการแลกอำนาจหรือร่วมใช้อำนาจมากขึ้น เราอยากมีความแน่ใจว่าการแลกหรือร่วมใช้อำนาจจะเป็นประโยชน์ต่อเราอยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม มีความแน่นอน และอำนาจของเราจะไม่ถูกเอาเปรียบโดยอำนาจอื่น เจ้าของอำนาจทั้งหลายต่างก็ย่อมคิดเช่นเดียวกับเรา แต่กระนั้นเราก็มิได้เป็นตัวเลือกเดียวที่คงอยู่ในโลกปัจจุบัน
พระมหากษัตริย์และปวงชนชาวไทยได้ใช้อำนาจทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศเสมอมา เราหวังที่จะใช้อำนาจและเพื่อรักษาผลประโยชน์และเพิ่มพูนความรุ่งเรืองในหลายเรื่อง เช่น การทำข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์และจัดการทรัพยากรน้ำในบริเวณแม่น้ำโขง การทำหนังสือสัญญาความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (สหภาพยุโรปในปัจจุบัน) การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ การร่วมทำอนุสัญญากับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย การทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับนานาประเทศ ฯลฯ หากพิจารณาในบริบทของกฎหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้บัญญัติถึงเรื่องการทำหนังสือสัญญาไว้มาอย่างยาวนาน1 การบัญญัติหลักการในทางกฎหมายและการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงเหล่านี้ล้วนยืนยันความจริงว่าในยุคปัจจุบันไม่มีประเทศใดที่จะดำรงอยู่โดยโดดเดี่ยวหรือไม่มีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นได้ 2
อย่างไรก็ดี กฎเกณฑ์ในประเทศไทยเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาได้ขาดความชัดเจนหรือมีความเห็นที่ขัดแย้งในหลายกรณี เช่น กรณีทั่วไปที่หน่วยงานรัฐบาลไม่แน่ใจในลักษณะของหนังสือสัญญาว่าต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างไร3 หรือกรณีที่สมาชิกรัฐสภาได้หยิบยกประเด็นการทำหนังสือสัญญามาโจมตีการใช้อำนาจของรัฐบาล เช่น เมื่อรัฐบาลในสมัยนายชวน หลีกภัยได้ทำหนังสือไปถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เพื่อขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงิน ก็ได้มีผู้ร้องต่อประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการที่รัฐบาลทำหนังสือแจ้งความจำนงดังกล่าวโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภานั้นถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๔ 4วรรคสอง หรือไม่5 และยังได้มีเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันคือ คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานฝ่ายบริหารต่างก็มีความเห็นขัดแย้งกันว่าหากจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ รัฐบาลจำเป็นต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนหรือไม่ จนต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในปัญหาลักษณะเดียวกัน6
นอกจากนั้น ในช่วงเวลาต่อมา รัฐบาลสมัยพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วง พ.ศ. ๒๕๔๔ - ๒๕๔๙) ได้ดำเนินนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยส่วนหนึ่งได้จัดทำหนังสือสัญญาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ (Free Trade Area Agreement หรือ FTA) และทำให้ประเด็นการทำหนังสือสัญญาเป็นที่สนใจกันมากขึ้นและนำมาสู่ความเห็นที่ขัดแย้งระหว่างหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่สนับสนุนเห็นด้วยกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กลุ่มที่คัดค้านหรือไม่เห็นความจำเป็น และกลุ่มที่เห็นว่าการทำหนังสือสัญญามีการดำเนินการโดยอาศัยขั้นตอนที่ไม่เหมาะสม ขาดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นของหลายฝ่าย เช่น หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ7 กระทรวงพาณิชย์8 หรือ ภาควิชาการ อาทิ คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 9 และภาคสังคม อาทิ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเจตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch Group) 10 เป็นต้น
เหตุการณ์เหล่านี้ กอปรกับการกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การทำหนังสือสัญญาตาม มาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งปรากฏกฎเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมไปจากมาตรา ๒๒๔ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ อย่างเห็นได้ชัด แม้จนถึงปัจจุบันก็กำลังมีการนำเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและวิธีการทำหนังสือสัญญาบางลักษณะอันเป็นพระราชบัญญัติที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ และในอนาคตอันใกล้ก็อาจมีการแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ อีกเช่นกัน 11
ทั้งนี้ ประเด็นซึ่งเป็นที่กังขาหรือกังวลอยู่เสมอประการหนึ่ง คือ การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศจะเป็นการจำกัด กัดกร่อน ลิดรอน หรือกระทบ อำนาจอธิปไตย (sovereignty) ของประเทศไทยหรือไม่ จะเสียหายต่อเอกราชหรืออิสรภาพของประเทศหรือไม่ ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนหรือไม่ ความกังวล ข้อกังขา และความสับสนในประเด็นดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในหลายระดับ ตั้งแต่ความขัดแย้งในสังคม ความไม่ชัดเจนในทางวิชาการ การวินิจฉัยตีความกฎหมายที่ส่งผลแปลกประหลาด จนไปถึงการมีมาตรา ๑๙๐ ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อความเจริญรุ่งเรืองทั้งภายในประเทศไทยและในระหว่างประเทศ
ผู้เขียนก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่กังขาและกังวลมาโดยตลอดว่าหนังสือสัญญาฉบับต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทำไปตกลงทำไปนั้นได้ทำไปโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ สมควรได้ทำไปหรือไม่ หากทำแล้วจะเสียหายต่ออำนาจอธิปไตย เอกราช หรือผลประโยชน์ ของประเทศอย่างไร และแท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญตลอดจนหลักกฎหมายที่เป็นสากลได้วางหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างไร
ล่าสุด ด้วยความเคารพต่อบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ ความกังขาและกังวลได้ยิ่งทวีขึ้นเมื่อผู้เขียนได้พบคำกล่าวที่ว่า
หนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย
ต้องมีการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาทุกครั้ง 12
ผู้เขียนจึงตั้งใจเขียนบทความนี้โดยปรารถนาจะช่วยคลายความกังขาและความกังวลทั้งของตนเอง และทั้งของผู้อื่นที่เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญด้วยกัน โดยจะนำเสนอแนววิเคราะห์หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญควบคู่กับหลักการสากลในกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าผูกพันตามหนังสือสัญญา เพื่อตอบคำถามว่า ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการทำหนังสือสัญญามีขอบเขตแค่ไหน ? หนังสือประเภทใดที่รัฐบาลไทยสามารถดำเนินการตกลงทำได้ทันที ? และหนังสือสัญญาใดรัฐบาลต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนจึงจะสามารถดำเนินการเข้าผูกพันประเทศไทยตามหนังสือสัญญาได้ ?
ทั้งนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอความเห็นทางวิชาการโดยแบ่งออกเป็นสามส่วน
ส่วนแรก จะกล่าวถึงทฤษฎีอำนาจอธิปไตยอันเป็นฐานรองรับให้รัฐสามารถใช้อำนาจทำหนังสือสัญญา ซึ่งจะถูกนำไปใช้วิเคราะห์และตีความหลักกฎหมาย อีกทั้งนำไปใช้เป็นฐานในการเสนอข้อคิดเห็นในส่วนต่างๆ ของบทความ
ส่วนที่สอง จะวิเคราะห์หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสัญญาในภาพรวมว่าใครเป็นผู้ใช้อำนาจการทำหนังสือสัญญา หนังสือสัญญา หมายถึงอะไร กฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในของประเทศไทยเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร และกระบวนการเข้าทำหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญไทยโดยสังเขปมีอย่างไร
ส่วนที่สาม ผู้เขียนจะวิเคราะห์ลักษณะทางกฎหมายของหนังสือสัญญา ๕ ประเภทที่คณะรัฐมนตรีจะต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการเข้าผูกพัน
สุดท้าย ผู้เขียนจะสรุปข้อคิดเห็นเชิงเสนอแนะที่อาจเป็นประโยชน์ต่อไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่านอกจากจะคลายความกังขาและความกังวลได้บ้างแล้ว ยังอาจเป็นประโยชน์สำหรับทั้งผู้ที่กำลังเสนอกฎหมาย ผู้ที่กำลังร่างกฎหมาย ผู้ที่จะพิจารณากฎหมาย ผู้ที่กำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ผู้ที่อาจต้องตีความกฎหมายในอนาคต
๑. การทำหนังสือสัญญาเป็นเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยมากกว่าการจำกัดอำนาจอธิปไตย
ด้วยบริบทของการทำหนังสือสัญญานั้นเกี่ยวโยงทั้งกับกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ การพิจารณาประเด็นทางกฎหมายในบทความนี้จึงจำเป็นต้องใช้ หัวกฎหมาย ในมิติทั้งสองควบคู่กันไป ดังที่จะพยายามใช้ในการพิจารณาธรรมชาติของ อำนาจอธิปไตย ดังต่อไปนี้
๑.๑ อำนาจอธิปไตย ในมิติกฎหมายมหาชน
ในมิติกฎหมายมหาชน อาจสรุปธรรมชาติของ อำนาจอธิปไตย ได้ว่า เป็นอำนาจสูงสุดภายในรัฐอันไม่มีอำนาจอื่นใดภายในรัฐที่จะมาจำกัด ขัดแย้งหรือลิดรอนอำนาจนี้ได้ และอำนาจจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ก็โดยผลจากการใช้อำนาจนี้เอง ความเข้าใจในอำนาจอธิปไตยได้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยพอจะกล่าวเป็นตัวอย่างให้เข้าดังนี้
ในยุคศตวรรษที่ ๑๖ แนวคิดที่มีอิทธิพลของ ฌอง โบแดง14 เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่าอำนาจอธิปไตย (puissance souveraine) เป็นอำนาจที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด โบแดงเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมกับ การใช้อำนาจอธิปไตยนี้ที่สุดคือกษัตริย์ผู้มีสิทธิปกครองกลุ่มผู้คนทุกกลุ่ม กษัตริย์ย่อมสามารถออกหรือยกเลิกกฎหมายใช้บังคับกับกลุ่มคนใต้ปกครองได้15 จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรนักที่ในศตวรรษต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้กล่าววาทะอมตะว่า Etat, cest moi!
หากพิจารณาตัวอย่างต่อมาในยุคศตวรรษที่ ๑๘ ทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract) อันทรงอิทธิพลมาถึงปัจจุบันของ ฌอง-ฌาค รุสโซ ได้อธิบายให้อำนาจอธิปไตยมีความชัดเจนในฐานะ อำนาจอธิปไตยของปวงชน (souveraineté populaire) ซึ่งสื่อให้เห็นถึงแนวคิดประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมโดยตรงโดยประชาชน 16 ความมีอยู่ของอำนาจอธิปไตย ที่เคยอยู่ที่กษัตริย์ตามความคิดของโบแดงก็มิได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนแปลง การใช้อำนาจอธิปไตย ให้ขึ้นอยู่กับเจตนาร่วมกันของปวงชน เช่น กฎหมายจะมีได้ก็ต้องมาจากเจตนาร่วมกันของปวงชน
ในปัจจุบัน หากยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างย่อมเห็นได้ว่า ความมีอยู่ของอำนาจอธิปไตย ก็ยังคงมีอยู่ดังเดิม ปรากฏชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติรับรองการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย (ประชา + อธิปไตย) อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขยายความต่อว่า อำนาจอธิปไตย นี้ย่อมเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ17 หมายความว่า การใช้อำนาจอธิปไตย ก็มิได้ต้องอาศัยเจตนาร่วมกันของปวงชนดังที่รุสโซเคยเสนอ แต่การใช้ย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในรูปแบบกระบวนการต่างๆ เช่น การเลือกผู้แทนราษฎรมาออกกฎหมาย การได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีมาบริหารราชการแผ่นดิน การมีผู้พิพากษาตัดสินคดีความ การมีผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไปจนถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นใช้กันเองบางส่วน ฯลฯ
ที่สำคัญ ความมีอยู่ ของอำนาจอธิปไตยก็แสดงออกให้เห็นได้โดย การใช้ อำนาจในหลากหลายรูปแบบและในหลากหลายระดับที่รับโอนถ่ายอำนาจลงมา เช่น รัฐสภาตรากฎหมายได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจ ข้าราชการให้คุณให้โทษได้แต่ต้องไม่ทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง พรรคการเมืองตั้งได้แต่ก็ถูกยุบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้การที่ผู้ประท้วงหน้าศาลรัฐธรรมนูญถูกปรับ ๑๐ บาท เพราะไม่ยอมบอกชื่อหรือที่อยู่เมื่อถูกเจ้าพนักงานถาม ก็เป็นการใช้อำนาจที่มาจากอำนาจอธิปไตย เช่นกัน
๑.๒ อำนาจอธิปไตย ในมิติกฎหมายระหว่างประเทศ
หากพิจารณาในมิติกฎหมายระหว่างประเทศ จำเป็นต้องย้ำให้ชัดเจนว่า ความมีอยู่ของอำนาจอธิปไตย ก็มิได้มีสาระสำคัญแตกต่างไปจากในมิติกฎหมายมหาชน คือมีอยู่อย่างกว้างขวางและใช้ได้หลายรูปแบบและระดับ หากแต่ ความมีอยู่ของอำนาจอธิปไตย ได้ถูกนำมาเป็นคำที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ในเชิงเท่าเทียมกันระหว่างรัฐ หรือที่มักพบคำในภาษาอังกฤษว่ารัฐย่อมมี sovereign equality18 (ความเสมอภาคในอธิปไตย) การที่รัฐจะทำอะไรก็ย่อมจะอ้างหรือคิดคำนึงถึง อำนาจอธิปไตย ของตนอยู่เสมอ และกฎหมายระหว่างประเทศในยุคทันสมัย (modern international law) ก็มีการตกลงกติกาอย่างชัดเจนว่าความเสมอภาคเท่าเทียมของรัฐเป็นหลักธรรมนูญในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น หากหนังสือสัญญาใดมีลักษณะขัดต่อความเสมอภาคในอธิปไตย หรือมีลักษณะกดขี่ข่มเหงขัดต่อการกำหนดอนาคตของตนเอง (Self-determination) หนังสือสัญญานั้นถือว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่มีค่าบังคับเหนือกว่า 19
หากกล่าวโดยสรุป20 อำนาจอธิปไตย ในมิติกฎหมายระหว่างประเทศเป็นคำที่มีความหมายกว้างและคลุมถึงลักษณะมากมาย แต่ทั้งนี้ย่อมรวมถึงลักษณะสำคัญอันได้แก่ความเป็นอิสระของรัฐ (independence) ที่ไม่ขึ้นกับรัฐอื่นใด (autonomy) ความเสมอภาค (equality) เท่าเทียมกับรัฐอื่น ความเป็นเจ้าของและมีสิทธิเด็ดขาดในเขตอำนาจของรัฐและความสามารถในการตัดสินใจและดำเนินการในบรรดาสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการของตนเองได้โดยตนเอง(exclusivity of domestic jurisdiction) เช่น การออกกฎหมายมาบังคับผู้คนที่อยู่ในดินแดนของตน ความสามารถในการจัดการและใช้ทรัพยากรในดินแดนของตน ที่สำคัญ อำนาจอธิปไตย ยังรวมไปถึงความสามารถในการเข้าผูกพันตามสัญญาในทางกฎหมายระหว่างประเทศด้วย 21
กระนั้นก็ดี ศาสตราจารย์กฎหมายมหาชนและกฎหมายระหว่างประเทศท่านหนึ่งได้กล่าวอย่างเถรตรงแต่น่าฟังว่า อำนาจอธิปไตย ได้กลายเป็นเพียงคำอ้างในตำนานที่ถูกนำมาใช้โดยเข้าใจผิดอย่างแพร่หลาย เป็นคำที่มีความหมายกว้าง และขาดความชัดเจน ควรหลีกเลี่ยงนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ นอกจากนี้ รัฐบางรัฐได้พยายามนำคำว่า อำนาจอธิปไตย มากล่าวอ้างเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ หรือพยายามอธิบายว่าท้ายที่สุดรัฐย่อมมีอิสระและไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาอื่นใด22 ซึ่งการกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยและไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะหากรัฐทั้งหลายต่างนำ อำนาจอธิปไตย มาอ้างได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ก็ย่อมไม่มี อำนาจอธิปไตย อยู่จริงเพราะแต่ละรัฐก็ไม่จำเป็นต้องเคารพหรือรับผิดชอบต่อ อำนาจอธิปไตย หรือสิทธิหน้าที่อื่นๆ ระหว่างกันและกัน
จากสภาพสังคมระหว่างประเทศที่มิอาจมีรัฐใดคงอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ใส่ใจรัฐอันอื่นได้23 รัฐจึงอาศัยความยินยอม (consent) เป็นเครื่องมือในการนำอำนาจอธิปไตยของตนมาสร้างสมดุลให้กับการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ใช้กำลังอาวุธบังคับต่อกัน การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริการ การรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ดังนั้น รัฐต่างจึงต้องยอมรับสิทธิหน้าที่ระหว่างกัน และเข้าผูกพันปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าวตามที่ได้ยินยอมและตกลงไว้ ซึ่งวิธีสำคัญวิธีหนึ่งในการเข้าผูกพันตามพันธกรณีนี้ก็ย่อมกระทำได้โดยการทำสนธิสัญญาระหว่างกัน และรัฐก็ย่อมพึงปฏิบัติตามสนธิสัญญาอย่างเท่าเทียมกัน คือเมื่อยินยอมตกลงตามใดก็พึงได้ประโยชน์ไม่น้อยไปกว่านั้น และไม่เสียประโยชน์ไปมากไปกว่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเสถียรภาพในการคงอยู่ของอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ
๑.๓ ความเชื่อมโยงของ การใช้อำนาจอธิปไตย ในมิติกฎหมายมหาชนและในมิติกฎหมายระหว่างประเทศ
ก่อนจะตอบว่าการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศในที่สุดจะกลายเป็นการจำกัดหรือลิดรอน อำนาจอธิปไตย ของรัฐหรือไม่ สมควรเน้นถึงความเชื่อมโยงสำคัญว่ากฎหมายมหาชนและกฎหมายระหว่างประเทศต่างถูกนำมาใช้อย่างควบคู่และสอดคล้องกันในกระบวนการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ และอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าความเชื่อมโยงที่ชัดเจนมากที่สุดประการหนึ่งก็ได้แก่การเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐทั้งในระดับภายในรัฐและในระดับระหว่างรัฐด้วยกัน
อาจกล่าวเป็นตัวอย่างได้ว่า เมื่อ การใช้อำนาจอธิปไตย ในมิติกฎหมายมหาชนได้กำหนดให้มีการใช้อำนาจภายในรัฐที่ถูกจัดสรรหรือกำหนดโดยเจ้าของอำนาจอธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญไทยได้ให้อำนาจในการทำหนังสือสัญญาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ใช้อำนาจผ่านทางคณะรัฐมนตรี24 ฉันใด การใช้อำนาจอธิปไตย ในมิติกฎหมายระหว่างประเทศในการทำหนังสือสัญญาก็ย่อมเป็นไปโดยการอาศัยมีผู้สิทธิใช้อำนาจแทนเจ้าของอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ เช่น การจำเป็นต้องให้ผู้มีอำนาจเต็มในการเจรจา หรือ full power อาทิ หัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจเต็ม เป็นผู้ดำเนินการเข้าทำสนธิสัญญาแทนรัฐ25 ฉันนั้น
ในทางเดียวกัน หาก การใช้อำนาจอธิปไตย ในมิติกฎหมายมหาชนได้กำหนดให้มีขั้นตอนสำคัญในการใช้อำนาจภายในรัฐ เช่น รัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการขอความเห็นชอบของรัฐสภา ฉันใด หาก การใช้อำนาจอธิปไตย มิติกฎหมายระหว่างประเทศในการทำหนังสือสัญญาเป็นไปโดยการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายภายในพื้นฐานสำคัญของรัฐ (fundamental importance) อันปรากฏอย่างชัดแจ้ง (manifest) ก็อาจยกขึ้นเป็นเหตุที่ทำให้หนังสือสัญญาไม่ผูกพันโดยสมบูรณ์ได้ ฉันนั้น26 เช่น หากมีคณะบุคคลเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลไทยและแสดงตนเป็นผู้เข้าทำหนังสือสัญญาเปลี่ยนแปลงเขตดินแดนโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะยังมิได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภาไทย หากรัฐบาลต่างประเทศที่มาทำหนังสือสัญญาทราบถึงข้อเท็จจริงเช่นนี้ดีแต่ก็ยังตกลงทำสนธิสัญญาไป กฎหมายระหว่างประเทศก็ได้เปิดช่องให้ประเทศไทยสามารถยกความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องภายในประเทศขึ้นกล่าวอ้างให้สนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันในระดับกฎหมายระหว่างประเทศได้เช่นกัน
อนึ่ง เราไม่ควรสับสนหรือหลงเชื่อคำกล่าวอ้างถึงภัยต่ออำนาจอธิปไตยจากการทำหนังสือสัญญาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตซึ่งมีบริบทที่แตกต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เช่น กรณีที่สยามเคยต้องจำยอมต่อมหาอำนาจตะวันตกในการยกดินแดนหรือการยินยอมให้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยทางการทหาร ทางการเมืองระหว่างประเทศและทางเศรษฐกิจในอดีตอันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนประสงค์จะย้ำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง ความมีอยู่ของอำนาจอธิปไตย และ การใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ว่าจะพิจารณาในมิติกฎหมายมหาชนหรือในมิติกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้เขียนประสงค์จะขยายความหลักทฤษฎีสำคัญประการหนึ่งคือ แม้การใช้อำนาจอธิปไตยจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ตามมาจากอำนาจอธิปไตย แต่ความคงอยู่ของอำนาจอธิปไตยในกฎหมายก็มิได้หายหรือเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด เช่น การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในการออกกฎหมายมาบังคับต่อตนเองย่อมกระทำผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ หากต่อมามีการใช้อำนาจอธิปไตยเดียวกันนี้ออกกฎหมายมากำหนดหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือหากต่อมามีการใช้อำนาจอธิปไตยเดียวกันนี้ผ่านศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีคำวินิจฉัยว่ากฎหมายฉบับใดขัดต่อรัฐธรรมนูญและย่อมไม่มีผลบังคับใช้ ก็มิได้แปลว่า การใช้อำนาจอธิปไตยในลักษณะต่างๆกันที่อาจกระทบและเปลี่ยนแปลงกันและกันได้ทำให้ อำนาจอธิปไตย หายไปหรือถูกจำกัดอย่างที่บางฝ่ายเข้าใจ แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ตามมาจากการใช้อำนาจอธิปไตยตามที่เจ้าของอำนาจอธิปไตยต้องการเท่านั้น
ณ จุดนี้ ผู้เขียนต้องการย้ำให้ชัดเจนว่าการทำหนังสือสัญญาเพื่อสร้างความผูกพันในทางกฎหมายระหว่างประเทศก็เป็นเรื่อง การใช้อำนาจอธิปไตย ประการหนึ่ง27 และกฎหมายระหว่างประเทศก็เคารพอธิปไตยของรัฐไม่ต่างไปจากในกฎหมายมหาชน ผู้เขียนไม่คิดว่าการทำหนังสือสัญญาหรือการยอมผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศจะเป็น การจำกัด อำนาจอธิปไตย หรือทำให้อำนาจอธิปไตยเปลี่ยนแปลงลดน้อยหายไปไหน เพราะการทำหนังสือสัญญาก็เป็นอำนาจประการหนึ่งที่ปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยพึงใช้อำนาจนี้ได้ผ่านทางคณะรัฐมนตรีประกอบกับวิธีการอื่นที่มีกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ และผลที่ตามมาจากการทำหนังสือสัญญาก็เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้อำนาจอธิปไตย เช่น หากประเทศไทยทำหนังสือสัญญาเพื่ออนุญาตให้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านสามารถเดินทางเข้าออกในประเทศได้โดยสะดวกและออกกฎหมายมารองรับ ก็มิได้แปลว่าอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยจะถูกจำกัด เปลี่ยนแปลงหรือหายไปอย่างใด เพียงแต่อำนาจอธิปไตยได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดผลที่ตามมาต่างไปจากเดิม คือการเดินทางผ่านการตรวจคนเข้าเมืองอาจทำได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ซึ่งโดยปกติเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะยินยอมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นก็เพราะหวังในประโยชน์ที่จะตามมาจากความเปลี่ยนแปลงนั้น เช่น หากการตรวจคนเข้าเมืองทำได้ง่ายขึ้น ก็จะเป็นการประหยัดเวลาและดึงดูดการลงทุนหรือแรงงาน และอาจทำให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าเมืองของประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่นกัน หากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะนำวิธีการเก่ามาอ้างว่าตนมีอำนาจกักตัว ก็ย่อมขัดต่อกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือขัดต่อความต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้อำนาจอธิปไตยที่เจ้าของอำนาจได้แสดงออกและตกลงไปตามหนังสือสัญญา
ในยุคปัจจุบันที่มนุษย์ทั้งโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายรูปแบบใหม่ จึงคงจะไม่เป็นการสมควรสักเท่าไหร่นักหากจะยังมีผู้พยายามสร้างความเข้าใจว่าการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศนั้นเป็นภัยต่อ อำนาจอธิปไตย แม้ผู้เขียนเองก็พอเข้าใจในความหมายของคำอธิบายว่าการทำหนังสือสัญญาที่ก่อผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นการ จำกัด อำนาจอธิปไตย แต่หากพิจารณาธรรมชาติของอำนาจอธิปไตยอย่างถ่องแท้แล้วก็จะพบว่าเป็นอำนาจที่คงอยู่แต่เปลี่ยนแปลงด้วยตัวของตัวเองตาม การใช้ ของผู้เป็นเจ้าของอำนาจ หากอำนาจอธิปไตยใดอยู่นิ่ง คงสถิตไม่มีความเปลี่ยนแปลงตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดภัยต่อตัวเจ้าของอำนาจนั้นเอง ผู้เขียนเสนอว่าเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในทางหลักวิชาการและในการสื่อสารในระดับทั่วๆไป ทุกฝ่ายควรเลี่ยงการใช้คำว่า อำนาจอธิปไตย อย่างพร่ำเพรื่อ แต่ควรหันมาใช้คำที่เป็นสาระสำคัญที่เฉพาะเจาะจงภายใต้อำนาจอธิปไตยอันเป็นส่วนที่มิอาจยอมแลกหรือยอมเสียไปได้ เช่น ความเป็นอิสระที่ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของประเทศอื่น ความเท่าเทียมในสิทธิหน้าที่ระหว่างประเทศ ความมีอิสระในการควบคุมกิจการสำคัญภายในของประเทศ ความสามารถในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานหรืออำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชนในประเทศ ฯลฯ
ดังนั้น เมื่อการใช้อำนาจอธิปไตยที่ก็ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของอำนาจอธิปไตย สิ่งที่น่าจะให้ความสำคัญยิ่งกว่าการเลือกใช้คำหรือความวิตกต่อความเปลี่ยนแปลงจึงควรเป็นประเด็นว่าหลักเกณฑ์และกระบวนการตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ การใช้ อำนาจของปวงชนชาวไทยเพื่อทำหนังสือสัญญานั้นเหมาะสมหรือไม่อย่างไรเสียมากกว่า ซึ่งหลักเกณฑ์การใช้อำนาจก็คือประเด็นสำคัญที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ ได้กำหนดไว้ดังที่จะกล่าวต่อไปในบทความนี้
๒. การทำหนังสือสัญญาภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน
หลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสัญญามีประเด็นที่สมควรวิเคราะห์ดังต่อไปนี้
๒.๑ อำนาจการทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจที่ใช้โดยฝ่ายบริหาร
สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การใช้อำนาจในด้านการต่างประเทศซึ่งรวมถึงการทำหนังสือสัญญาโดยทั่วไปเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ซึ่งหมายถึงคณะรัฐมนตรี28 โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้บัญญัติยืนยันหลักการดังกล่าวในวรรคแรกของมาตรา๑๙๐ ว่า
มาตรา ๑๙๐ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
มาตรา ๑๙๐ พึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับบททั่วไปตาม มาตรา ๓ ซึ่ง บัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม
เมื่อพิจารณาความของทั้งสองมาตราควบคู่กัน กอปรกับการที่มาตรา ๑๙๐ นี้ได้ถูกบรรจุไว้ใน หมวด ๙ คณะรัฐมนตรี บนพื้นฐานของหลัก การใช้อำนาจอธิปไตย ที่ผู้เขียนได้อธิบายไปข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าปวงชนชาวไทยอันมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขได้ใช้อำนาจอธิปไตยทำหนังสือสัญญาผ่านทางคณะมนตรีหรือฝ่ายบริหารนั่นเอง หลักการนี้ปรากฏอย่างชัดแจ้งโดยตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้มาตราเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาจัดอยู่ในหมวดของคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารในสมัยนั้น29
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าการทำสนธิสัญญา หรือสัญญาอื่นระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ แต่การจัดทำสนธิสัญญาหรือหนังสือสัญญาที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีไม่เคยนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด30 โดยในทางปฏิบัติผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาก็คือกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ลงนามในหนังสือสัญญาโดยมากก็คือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
การให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าวยังปรากฏอยู่ทั่วไปในรัฐธรรมนูญทั่วโลก 31เช่น ในประเทศอังกฤษ ตามจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญแต่ดั้งเดิมถือเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์ (Prerogative of the Crown)32 และทรงใช้อำนาจโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ (Secretary of State for Foreign and Commonwealth Affairs)33 ในขณะที่รัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศสได้กำหนดอย่างชัดแจ้งให้เป็นอำนาจที่ใช้ประธานาธิบดี34 ส่วนในประเทศเยอรมันนั้นเป็นอำนาจที่ใช้โดยรัฐบาลกลาง 35 ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้มีวิธีการที่ซับซ้อนคือโดยหลักแล้วประธานาธิบดีจะตกลงทำสนธิสัญญาได้ก็แต่ด้วยคำแนะนำและความยินยอม (Advice and Consent) ของวุฒิสภาและต้องมีเสียงสนับสนุน ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่มาประชุม36 แต่ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาก็ได้หันไปทำหนังสือสัญญาอีกลักษณะที่เรียกว่า ความตกลงของฝ่ายบริหาร (Executive Agreement) ซึ่งอาศัยเพียงความเห็นชอบโดยเสียงข้างมากของสภา Congress 37
นอกจากนี้ คงจะไม่ผิดนักหากจะวิเคราะห์ว่าการที่รัฐธรรมนูญทั่วไปในโลกได้ให้การทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจที่ใช้โดยฝ่ายบริหารก็มีที่มาจากหลักการที่ยอมรับและปฏิบัติกันมาอย่างช้านานในทางกฎหมายระหว่างประเทศ โดยแต่เดิมมาเห็นได้ว่าการทำหนังสือสัญญานั้นกระทำโดยบรรดากษัตริย์และเจ้าผู้ครองนคร38 และแม้แต่กฎหมายระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน ผู้ที่เข้าทำหนังสือสัญญาก็ย่อมได้แก่ผู้มีอำนาจเต็ม และกฎหมายสนธิสัญญาก็ได้ยอมรับความมีอำนาจในการเจรจาของตัวแทนรัฐที่เป็นฝ่ายบริหาร เช่น หัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโดยมิต้องแสดงหนังสือรับมอบอำนาจในการเจรจาทำหนังสือสัญญา39 นอกจากนี้บทบาทดังกล่าวของฝ่ายบริหารยังเป็นที่ยอมรับปฏิบัติในฐานะหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีลักษณะทั่วไปอีกด้วย 40
๒.๒ ความหมายของ หนังสือสัญญา
สำหรับประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยตีความคำว่า หนังสือสัญญา ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ (อันมีถ้อยคำในส่วนที่ถูกตีความตรงกับถ้อยคำในมาตรา ๑๙๐ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) ปรากฏตามคำวินิจฉัยที่ ๑๑/๒๕๔๒ ที่สมควรคัดส่วนที่เกี่ยวข้องมาอ้างอิงดังนี้:
คำว่า "หนังสือสัญญา" แม้จะมิได้บัญญัติความหมายไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า หนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๔ มีความหมายครอบคลุมไปถึงความตกลงทุกประเภทที่ประเทศไทยทำขึ้นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาดังกล่าวต้องมีลักษณะเป็นสัญญาที่ทำขึ้นเป็นหนังสือ และเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๔ กล่าวถึง "หนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น" ดังนั้นคำว่า "สัญญาอื่น" ย่อมหมายถึงหนังสือสัญญาที่ทำกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศเช่นเดียวกับหนังสือสัญญาสันติภาพและหนังสือสัญญาสงบศึก จะเป็นหนังสือสัญญาภายใต้บังคับของกฎหมายภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งมิได้
เมื่อได้ความว่าหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๔ หมายถึงสัญญาหรือความตกลงที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องพิจารณาว่าสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น มีลักษณะประการใดบ้าง ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งมีที่มาจากจารีตประเพณีและแนวปฏิบัติของนานาประเทศที่ได้ยึดถือกันมาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งได้มีการจัดทำประมวล เป็นอนุสัญญาขึ้นมาภายในกรอบของการประชุมสหประชาชาติ ได้แก่ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ และอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาระหว่าง รัฐและองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศ ค.ศ. ๑๙๘๖ อนุสัญญาทั้งสองฉบับซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ได้กำหนดลักษณะของสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศไว้ว่า "สนธิสัญญา" ตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับหมายถึง "ความตกลงระหว่างประเทศที่ทำขึ้นเป็นหนังสือระหว่างรัฐต่าง ๆ หรือระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกัน และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะทำขึ้นเป็นฉบับเดียวหรือสองฉบับหรือหลายฉบับผนวกเข้าด้วยกัน และไม่ว่าจะเรียกชื่อ อย่างไร" ความหมายของ "สนธิสัญญา" ตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงครอบคลุมถึงความ ตกลงระหว่างประเทศทุกรูปแบบ เช่น สนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง ข้อตกลง หนังสือ แลกเปลี่ยน พิธีสาร กรรมสารทั่วไป กรรมสารสุดท้าย เป็นต้น ดังนั้น คำว่า "หนังสือสัญญา" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ จึงหมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ทำขึ้น เป็นหนังสือกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดผล ผูกพันทางกฎหมายระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าความตกลงนั้นจะจัดทำขึ้นในรูปแบบใดและใช้ชื่ออย่างไร และมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "สนธิสัญญา" ดังที่กล่าวแล้ว โดยมีลักษณะ คือ
๑. ทำขึ้นระหว่างรัฐ หรือระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่าง องค์การระหว่างประเทศด้วยกันเอง
๒. ความตกลงนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
๓. เป็นความตกลงสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายที่มีเจตนาก่อให้เกิดพันธะผูกพันทางกฎหมาย และ
๔. ความตกลงนั้นต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ 41
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่า หนังสือสัญญา อีกครั้งในคำวินิจฉัยที่ ๓๓/๒๕๔๓:
หนังสือสัญญา" แม้จะมิได้บัญญัติความหมายไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า หนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๔ มีความหมายครอบคลุมถึง ความตกลง ทุกประเภท ที่ประเทศไทยทำขึ้น กับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ โดยมีความ มุ่งหมายเพื่อให้เกิด ผลผูกพันทางกฎหมาย ระหว่างกัน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ หนังสือสัญญา ดังกล่าวต้องมีลักษณะที่ทำขึ้นเป็นหนังสือ และเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้บังคับ ของกฎหมายระหว่างประเทศ 42
ประเด็นที่อาจถือได้ว่าต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารในทางระหว่างประเทศบางประเภทที่อาจถือเป็นหนังสือสัญญาได้หรือไม่นั้น ก็คือเจตนาของคู่กรณีว่าต้องการให้เอกสารดังกล่าวมีค่าบังคับในทางกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ หรือเพียงเป็นเอกสารบันทึกข้อเท็จจริงหรือความเข้าใจเพื่อการอ้างอิงโดยไม่เกิดผลผูกพันเท่านั้น43 ในประเทศไทยเองก็มักพบกรณีที่อาจเกิดข้อสงสัยดังกล่าวได้ เช่น ในกรณีที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยมีการจัดทำเอกสารในรูปแบบของความตกลง หนังสือแลกเปลี่ยน และเอกสารที่เรียกว่า Agreed Minute ซึ่งเกิดความไม่แน่ใจว่าเอกสารดังกล่าวจะถือเป็นหนังสือสัญญาที่มีเป็นผลทางกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมาการกฤษฎีกา (คณะที่ ๖) ได้มีบันทึกความเห็นทางกฎหมายว่า:
คำว่า Agreed Minute หมายถึง บันทึกหรือรายงานที่ได้ตกลงกัน ซึ่งมีความหมายตรงกับ procès-verbal ในภาษาฝรั่งเศส โดยเคยมีการใช้ในภาษาไทยว่า บันทึกวาจา ซึ่งเป็นรายงานหรือบันทึกผลสรุปของการประชุมหรือที่มีการพูดจากันระหว่างการเจรจา (negotiation) Agreed Minute นี้ อาจมีผลทางกฎหมายเป็นสนธิสัญญา (treaty) ตามความหมายทั่วไปชนิดหนึ่ง และมีผลผูกพันทางกฎหมาย (legally binding force) ได้ หากคู่ภาคีแสดงเจตนา (intention) ตกลงกันให้เป็นเช่นนั้น การทำเอกสาร Agreed Minute ไม่ปรากฏว่ามีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าให้กระทำในกรณีใดและในรูปแบบใด แต่ปรากฏในทางปฏิบัติของการทำความตกลงระหว่างประเทศอยู่หลายกรณี โดยทั่วไปแล้ว Agreed Minute จะมีลักษณะเป็นรูปแบบหนึ่งของความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นตราสารประกอบหรือเพิ่มเติม (supplementary instrument) ความตกลงหลัก ทั้งนี้ อาจเพื่อความสะดวก รวดเร็ว หรือลดขั้นตอนของแบบพิธี แต่ปรากฏมีบางกรณีที่มีการใช้ Agreed Minute เป็นชื่อของความตกลงหลัก Agreed Minute จึงอาจมีได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับเจตนาที่แสดงออกของภาคีผู้ทำความตกลง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นความตกลงหลักหรือที่เป็นตราสารประกอบหรือเพิ่มเติมเพื่อเป็นหลักฐานแสดงความเข้าใจที่ตรงกันในการอธิบายความหมายของถ้อยคำหรือข้อความในความตกลงหลักหรือกำหนดทางปฏิบัติปลีกย่อยอื่นๆ หรืออาจเป็นรายงานแสดงผลการประชุมหรือการเจรจาก็ได้
ดังนั้น การพิจารณาผลในทางกฎหมายของเอกสาร Agreed Minute ในทางระหว่างประเทศ จึงพิจารณาจากเจตนาของภาคีผู้ทำความตกลงว่ามุ่งหมายจะให้มีผลทางกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจสังเกตจากถ้อยคำที่ใช้ในเอกสารว่า ผู้ทำความตกลงทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ในทางกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ นอกจากนี้ อาจพิจารณาได้จากขั้นตอนบางประการ เช่น หากมีการนำเอกสารนั้นไปจดทะเบียนกับสหประชาชาติ ตามข้อ ๑๐๒ ของกฎบัตรสหประชาชาติ (Charter of the United Nations) ย่อมแสดงว่า ภาคีผู้ทำความตกลงประสงค์ที่จะให้ Agreed Minute นั้น มีค่าทางกฎหมายเช่นเดียวกับสนธิสัญญา (treaty) เป็นต้น เอกสาร Agreed Minute ซึ่งแสดงถึงเจตนาจะให้เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีค่าบังคับทางกฎหมาย ต้องได้รับการปฏิบัติ โดยเป็นไปตามหลักที่ว่าสัญญาต้องได้รับการปฏิบัติ (pacta sunt servanda) ทั้งนี้ ตามข้อ ๒๖ ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ (Vienna Convention on the Law of Treaties) มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดความรับผิดในทางระหว่างประเทศ (international responsibility) ได้ แต่เอกสาร Agreed Minute นั้น ภาคีผู้ทำความตกลงอาจมิได้มีเจตนาจะให้มีผลทางกฎหมายก็ได้ ซึ่งในทางปฏิบัติระหว่างประเทศก็ยังถือว่ามีผลผูกพันในทางการเมืองหรือในทางศีลธรรม (politically or morally binding force) ที่โดยปกติแล้วจะมีการปฏิบัติ หากมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างภาคีเกี่ยวกับสถานะ ความผูกพัน หรือขอบเขตในความหมายของถ้อยคำใน Agreed Minute ก็มักมีการแก้ไขปัญหาโดยการเจรจาหรือวิธีอื่นที่นิ่มนวลมากกว่าการใช้มาตรการทางกฎหมาย 44
เมื่อพิจารณาจากการตีความของทั้งศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ผู้เขียนเห็นด้วยกับการตีความคำว่า หนังสือสัญญา โดยอ้างอิงนิยามตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องสนธิสัญญา (Law of Treaties)45 เพราะแม้การทำหนังสือสัญญาจะเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ก็มิอาจทำลงได้แต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ต้องอาศัยการใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น หรือหากเป็นในกรณีที่ตกลงทำหนังสือสัญญากับองค์การระหว่างประเทศ ความสามารถขององค์การระหว่างประเทศก็ล้วนแต่ได้มาโดยการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่ก่อตั้งหรือเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศนั้นได้ตกลงกำหนดสิทธิ หน้าที่ไว้46 จึงเป็นการสมควรที่สุดแล้วที่บรรดาเจ้าของอำนาจจะใช้อำนาจอธิปไตยอย่างเกี่ยวข้องกันบนพื้นฐานของความเข้าใจที่ต้องตรงกัน
นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่าหากเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ดี หรือศาลอื่นก็ดี หรือองค์กรอื่นของรัฐก็ดี จะตีความกฎหมายหรือใช้อำนาจ หรือดำเนินการตามนโยบายของตน ก็สมควรจะต้องพิจารณาแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีมาตราที่เกี่ยวข้องบัญญัติไว้ว่า:
มาตรา ๗๕ บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นเจตจำนงให้รัฐดำเนินการตรากฎหมาย และกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน
มาตรา ๘๒ รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ
รัฐต้องส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับนานาประเทศ ตลอดจนต้องให้ความคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ
ในความเห็นของผู้เขียน หากเป็นกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะตรากฎหมาย หรือหากฝ่ายบริหารจะกำหนดนโยบาย ก็พึงดำเนินการให้สอดคล้องไปกับบรรดาพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นการตัดสินวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญซึ่ง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ47 ศาลรัฐธรรมนูญยิ่งสมควรต้องพิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่อย่างระมัดระวังให้สมกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอีกทั้งสมต่อความเป็นจริงของโลกในปัจจุบัน อีกทั้งหากพิจารณาตามแนวคิดเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตยที่ผู้เขียนได้เรียนไว้ข้างต้น องค์กรของรัฐก็สมควรคำนึงว่าหากผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้เห็นชอบที่จะใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อเข้าผูกพันตามพันธกรณีบางประการ การใช้อำนาจอธิปไตยเดียวกันนี้เองเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อตีความกฎหมายหรือตัดสินคดี ย่อมไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้ในทางที่อาจขัดแย้งกันหรือไม่สอดคล้องรองรับกัน
ดังนั้น เมื่อประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ อีกทั้งหลักการสำคัญในอนุสัญญากรุงเวียนนาดังกล่าวยังมีสภาพในฐานะจารีตประเพณีในทางกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งผูกพันทุกรัฐในโลกไม่ว่าจะได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวหรือไม่48 จึงสมควรที่จะตีความคำว่า หนังสือสัญญา ตามกฎหมายไทยให้เป็นไปในทางที่ต้องตรงดังที่ประเทศไทยได้ยอมรับไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ
๒.๓ ทฤษฎี ทวินิยม (Dualism) และเอกนิยม (Monism) สู่ การประสานกัน (Co-ordination)
ทฤษฎี เอกนิยม (Monism) และทฤษฎี ทวินิยม (Dualism) เป็นทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้ช่วยอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศมาตั้งแต่สมัยอดีตที่กฎหมายระหว่างประเทศยังไม่ได้เติบโตหรือถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่หากพิจารณาตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ลักษณะการอธิบายที่มีลักษณะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของทั้งสองทฤษฎีนั้นก็มิได้สะท้อนความสัมพันธ์ในทางปฏิบัติของระบบกฎหมายทั้งสองระบบในปัจจุบันเสมอไป การอธิบายดังกล่าวจึงเป็นการใช้มุมมอง (View) หรือวิธีการเข้าใจ (Approach) ที่ต่างกันอย่างชัดเจนเพื่อแบ่งแยกวิธีการจัดลักษณะความสัมพันธ์ให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ทั้งสองทฤษฎีมีใจความสำคัญดังนี้ 49
ทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า กฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นระบบที่แยกจากกัน เพราะเป็นระบบกฎหมายที่มาแตกต่างกัน โดยกฎหมายภายในเกิดจากอำนาจของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในรัฐ เช่น กษัตริย์ รัฐสภา หรือประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมโดยตรง ในขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศเกิดจากเจตนารมณ์ที่มีอยู่ร่วมกันระหว่างนานาประเทศ นอกจากนี้กฎหมายทั้งสองระบบยังมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน โดยกฎหมายเป็นเรื่องเกี่ยวกับกับบุคคลภายในรัฐ ในขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศมีเนื้อหาเกี่ยวกับรัฐ เช่น การดำเนินความสัมพันธ์ สิทธิ หน้าที่ของรัฐระหว่างกัน เมื่อพิจารณาตามสมมติฐานดังกล่าว ด้วยกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศถือเป็นกฎหมายคนละระบบ ทฤษฎีจึงอธิบายว่ารัฐจะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้ในระบบกฎหมายภายในประเทศทันทีไม่ได้ ใช้ แต่รัฐจะต้องมีกระบวนการแปลง (Transformation) หรือการยอมรับ (Adoption) หรือการอนุวัติกาล (Implementation) กฎหมายระหว่างประเทศให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายภายในประเทศเสียก่อน แต่ทั้งนี้ ก็อาจมีการยอมรับจารีตประเพณีระหว่างประเทศโดยทางปฏิบัติ เช่น การตัดสินพิพากษาคดีโดนศาลภายในประเทศ
ทฤษฎีทวินิยมนี้มีอิทธิพลต่อกฎหมายของแต่ละประเทศเมื่อจะเข้าผูกพันตามหนังสือสัญญา เพราะหากรัฐใดยึดหลักทวินิยมอย่างเคร่งครัดก็ย่อมจำเป็นจะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อแปลง ยอมรับ หรืออนุวัติกาลเสมอ โดยในปัจจุบันประเทศที่มีแนวปฏิบัติไปในทางทวินิยมก็ได้แก่ประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ อิตาลี แอฟริกาใต้ และรวมถึงประเทศไทย ฯลฯ
ทฤษฎีเอกนิยม (Monism) มีสมมติฐานว่า กฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้แยกจากกันเพราะต่างก็เป็นกฎหมายและอยู่ในระบบเดียวกัน ดังนั้น หากรัฐยอมรับสิ่งใดว่าเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศก็ย่อมเป็นกฎหมายที่มีอยู่ร่วมไปกับกฎหมายภายในประเทศ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการแปลง ยอมรับ หรืออนุวัติกาลกฎหมายระหว่างประเทศให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายภายในประเทศ แต่อาจต้องมีกระบวนการให้ความเห็นชอบที่จะผูกพันตาม เช่น รัฐสภาต้องให้ความยินยอม เพราะถือว่าเมื่อรัฐได้ยอมรับผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศใด กฎหมายนั้นก็ได้ถูกผนวกเข้ากับกฎหมายภายในประเทศ (Incorporation)
ทฤษฎีเอกนิยมนี้มีอิทธิพลต่อกฎหมายของแต่ละประเทศเมื่อจะเข้าผูกพันตามหนังสือสัญญา เพราะการยอมรับความมีอยู่ของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยทั่วไปก็คือการตกลงและให้สัตยาบันแสดงเจตนาเข้าผูกพันตามหนังสือสัญญานั้น โดยแต่ละประเทศอาจมีขั้นตอนทั่วไปที่กำหนดจุดเริ่มต้นของการยอมรับไว้ในกฎหมายภายในที่ต่างกัน เช่น ในรัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศสและประเทศโปแลนด์ให้ถือการนำเอาหนังสือสัญญามาประกาศเผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษา (Journal Officiel หรือ Official Journal) มาเป็นจุดเริ่มต้นเป็นต้น โดยในปัจจุบันประเทศที่มีแนวปฏิบัติไปในทางเอกนิยมก็ได้แก่ประเทศฝรั่งเศส โปแลนด์ เยอรมัน รัสเซีย ฯลฯ
สำหรับประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ จะพบว่ามีรัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบต่อหนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ซึ่งเป็นข้อความที่ได้บัญญัติมาโดยตลอดในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่เคยมีมา50 จึงไม่เป็นที่สงสัยว่าประเทศไทยมีลักษณะที่ยึดหลักปฏิบัติไปตามทฤษฎีทวินิยม กล่าวคือ หนังสือสัญญาที่จะมีผลในฐานะกฎหมายภายในประเทศได้ก็แต่เมื่อรัฐสภาได้ออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหากพิจารณาจากแนวปฏิบัติของศาลไทยที่ผ่านมา51 และความเห็นทางวิชาการ52 ก็จะพบโดยทั่วไปว่าตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายภายในประเทศมารองรับหนังสือสัญญาใด ศาลไทยก็ย่อมจะนำกฎหมายไทยเท่าที่มีอยู่ใช้บังคับแก่คดี แม้จะเป็นการขัดแย้งที่หนังสือสัญญาที่ประเทศไทยได้เข้าผูกพันไปแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอาจตั้งข้อสังเกตบางประการดังนี้
ประการแรก หากรัฐบาลไทยได้ตกลงหนังสือสัญญาใดโดยมิได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภาและต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงตามมาซึ่งมีผลทางกฎหมายและมิได้ขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติหรือกฎหมายภายในที่มีมาอยู่แล้ว53 ก็ย่อมเป็นไปได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่นกัน ทั้งที่ในทางปฏิบัติ 54 กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายหรือกฎหมายลำดับรองเหล่านี้เองที่ส่งผลทางกฎหมายอันแตกต่างอย่างชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงเป็นข้อน่าสังเกตประการหนึ่งว่าการที่กฎหมายระหว่างประเทศในรูปแบบหนังสือสัญญาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อกฎหมายภายในประเทศนั้น ก็มิอาจต้องเป็นกรณีที่ต้องออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติเสมอไป
ประการที่สอง หากพิจารณาจากบทบัญญัติเกี่ยวกับพันธกรณีระหว่างประเทศในส่วนของแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว55 ผู้เขียนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆที่มุ่งหวังให้รัฐดำเนินการทั้งทางกฎหมายและทางนโยบายให้สอดคล้องกับพันธกรณีในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมาการกฤษฎีกาเคยตีความคำว่า หนังสือสัญญา โดยอาศัยความหมายตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้งที่ประเทศไทยก็มิได้เคยมีการออกกฎหมายบัญญัตินิยามดังกล่าวก็เป็นตัวอย่างที่น่ายินดีประการหนึ่ง56 นอกจากนี้การดำเนินการในเป้าหมายเดียวกันก็กระทำได้หลายวิธี ดังที่ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งยังได้เคยขยายความไว้อย่างน่าฟังว่า แม้ประเทศไทยจะมิได้ยอมรับเป็นกติการะหว่างประเทศให้มีผลต่อกฎหมายภายในโดยอัตโนมัติเหมือนบางประเทศก็ตาม แต่ก็มีวิธีการที่จะยอมรับกติการะหว่างประเทศดังกล่าวให้มีผลต่อกฎหมายภายในได้ กล่าวคือยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายใน เช่น รัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ขัดหรือแย้งต่อกติการะหว่างประเทศดังกล่าวเสียหรือหากมีการประกาศใช้กฎหมายภายในฉบับใหม่ รวมทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองลงมาก็ควรบัญญัติให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศตามวัตถุประสงค์ที่เข้าเป็นภาคีให้มากที่สุด การตีความกฎหมายก็สมควรที่จะตีความไปในแนวทางเดียวกัน57 หากศาลจะตีความกฎหมาย เช่น ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ โดยไม่คำนึงถึงบริบทในกฎหมายระหว่างประเทศ ก็อาจเกิดปัญหาและความสับสนตามมาได้ ดังในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากได้ตีความคำว่า เขตอำนาจแห่งรัฐ ในคำวินิจฉัยที่ ๓๓/๒๕๔๓
ดังนั้น ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในประเทศใด ผู้เขียนไม่เชื่อว่าทฤษฎีทั้งสองทฤษฎีจะสามารถถูกนำไปปฏิบัติโดยแยกจากกันโดยเด็ดขาด58 กฎหมายระหว่างประเทศในบางเรื่องหากส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อกฎหมายภายในประเทศในบางเรื่องย่อมไม่อาจนำมาใช้ได้โดยง่าย แม้บางประเทศมิได้กำหนดให้ต้องมีการให้ความเห็นชอบของรัฐสภาแต่ก็อาจมีมาตรการลักษณะอื่น เช่น การออกกฎหมายให้กรอบเจรจาล่วงหน้า ในขณะเดียวกัน กฎหมายระหว่างประเทศในบางเรื่องหากมีความสำคัญและจำเป็นต่อการนำมาใช้กับกฎหมายภายในประเทศแต่มิอาจกระทำตามกระบวนการแปลงซึ่งอาจต้องใช้เวลา ศาลก็อาจหยิบยกมาใช้ในฐานะจารีตประเพณีหรือหลักกฎหมายทั่วไป หรือนำมาปรับในลักษณะหลักความเป็นธรรม59 ทั้งที่ยังมิได้มีการแปลงหรือรับกฎหมายดังกล่าวมาเป็นกฎหมายภายใน ความเป็นจริงในโลกยุคปัจจุบันทำให้รัฐหรือแม้แต่ศาลต่างต้องตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องอาศัยการยอมรับและการตีความกฎหมายที่สอดคล้องรองรับกันมากยิ่งขึ้นดังที่ปรมาจารย์กฎหมายท่านหนึ่งได้ใช้คำว่า Theories of Co-ordination 60 หรือทฤษฎีแห่งการประสานกันของทั้งสองระบบและทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศต่างก็ต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันแม้จะถูกนำไปใช้ในมิติที่ไม่ทับซ้อนกัน61 ตัวอย่างที่ชัดเจนประการหนึ่งก็คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายของสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ที่มีการจัดแบ่งความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างสมาชิกสหภาพยุโรป ด้วยกัน โดยพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจความรับผิดชอบบางส่วนที่แยกเป็นเรื่องเฉพาะของรัฐ และอีกส่วนที่ถือว่าสมาชิกทุกรัฐต้องรับผิดชอบร่วมกัน (ประเด็น Subsidiarity and Competence) แม้ระบบความสัมพันธ์ของกฎหมายในสหภาพยุโรปจะมีความก้าวหน้าและซับซ้อนเป็นพิเศษและไม่อาจกล่าวสรุปได้ครบถ้วนทั้งหมดในบทความนี้ แต่ผู้เขียนก็จะขอพยายามยกตัวอย่างความประสานกันระหว่างทฤษฎีเอกนิยมและทวินิยมที่พอทำให้เห็นภาพได้ชัด โดยในสหภาพยุโรปได้มีการออกกฎหมาย (Framework Decision)62 เพื่อให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐสามารถมีหมายจับ (European Arrest Warrant) ที่ใช้ร่วมกันเพื่อต่อต้านอาชญากรรมและการก่อการร้าย ในกฎหมายบางส่วนของเกี่ยวกับการรับรองผลการออกหมายจับระหว่างประเทศให้ถือว่ามีผลโดยตรงต่อกฎหมายภายในประเทศ (เป็นไปในแนวทางเอกนิยม) แต่บางเรื่อง เช่น กระบวนการสืบสวนดำเนินคดี รัฐร้องขอจะต้องให้รัฐที่ให้ทำการปฏิบัติตามหมายจับเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจและดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายภายในของตนเอง และมิอาจเอาระบบในกฎหมายระหว่างประเทศมาปะปนได้ (เป็นไปในแนวทางทวินิยม) กฎหมาย European Arrest Warrant นี้จึงอาจเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ว่าทฤษฎีเอกนิยมและทวินิยมจำต้องถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ควบคู่กันไปในยุคที่กฎหมายต้องพัฒนาตามความเป็นจริงในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอาจคาดไม่ถึง63
๒.๔ กระบวนการตามรัฐธรรมนูญในการตกลงผูกพันตามหนังสือสัญญา
กระบวนการจัดทำหนังสือสัญญานั้น มีทั้งกระบวนการที่ประเทศไทยต้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ64 ซึ่งแยกออกจากกระบวนการที่ต้องทำตามกฎหมายภายในประเทศ สำหรับประเทศไทยย่อมได้แก่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ และกฎหมายอื่นที่อาจมีตามมาในอนาคต ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะกระบวนการภายในประเทศไทยที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญโดยสังเขป เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์ประเด็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาในส่วนต่อไป
จากที่ได้กล่าวมา แม้อำนาจการทำหนังสือสัญญาถือเป็นอำนาจที่ใช้โดยฝ่ายบริหารเป็นหลัก แต่การที่ประเทศไทยได้ยอมรับอิทธิพลของทฤษฎีทวินิยมก็ย่อมทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติย่อมมีส่วนร่วมสำคัญในกระบวนการตามมาตรา ๑๙๐ ซึ่ง สามารถวิเคราะห์เป็นขั้นตอนได้ดังนี้
๑. เมื่อคณะรัฐมนตรีประสงค์จะทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น เช่นหนังสือสัญญาให้ความช่วยเหลือทางการทหาร หนังสือสัญญาแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการ ฯลฯ กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วสามารถดำเนินการเจรจาและตกลงผูกพันได้ทันที
๒. อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาด้วยว่าหนังสือสัญญาดังกล่าวเข้าข้อยกเว้นเป็นหนังสือสัญญาที่จะดำเนินการจัดทำได้ก็ต่อเมื่อรับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งหนังสือสัญญาที่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าวมีห้าประเภทได้แก่
- หนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย
- หนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขต
อำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
- หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา
- หนังสือสัญญาที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง
- หนังสือสัญญาที่จะมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
๓. หากเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาเข้าข้อยกเว้น คณะรัฐมนตรีจะต้องให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้นและต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ซึ่งรัฐสภาต้องประชุมร่วมกัน65 เพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
๔. ในขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาที่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าว
๕. เมื่อประเทศไทยลงนามในหนังสือสัญญาแล้ว66 ก่อนจะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันต่อไป (ซึ่งทำได้หลายวิธี ได้แก่การลงนาม การแลกเปลี่ยนตราสาร การให้สัตยาบัน การยอมรับ การให้ความเห็นชอบ หรือการภาคยานุวัติ หรือตามที่ตกลงเป็นอย่างอื่น67 ) คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็วเหมาะสม และเป็นธรรม
๖. ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑)68 มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดโดยเฉพาะว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เสร็จภายในเวลาเท่าใด
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติของประเทศไทย การจัดทำหนังสือสัญญาที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีไม่เคยนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่อย่างใด69 หากเป็นกรณีทั่วไปที่ไม่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีก็จะเป็นผู้อนุมัติลงนามหนังสือสัญญาเสมอ70 เว้นกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายอำนาจล่วงหน้าในการลงนามหนังสือสัญญาเฉพาะเรื่อง เช่น การมอบหมายให้กรมวิเทศสหการลงนามความตกลงเกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเมื่อรองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ71 หรือกรณีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้อนุมัติการลงนามความตกลงรับความช่วยเหลือจากประเทศอาเซียน72
อนึ่ง สมควรย้ำให้เป็นที่เข้าใจว่าการดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญา ถือเป็นขั้นตอนที่แยกต่างหากจากการดำเนินการตามขั้นตอนในกฎหมายระหว่างประเทศ73 และการที่รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบ (Parliamentary approval) ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการทำหนังสือสัญญาหรือไม่ก็เป็นคนละเรื่องกับการให้สัตยาบันในทางกฎหมายระหว่างประเทศ (Ratification) 74ดังนั้น การดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศที่ไม่ถูกต้อง โดยทั่วไปก็มิอาจยกขึ้นเป็นเหตุที่กระทบต่อความสมบูรณ์ของหนังสือสัญญาที่ได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายระหว่างประเทศได้75 อีกทั้งผู้เขียนก็เห็นว่าไม่สมควรจะนำคำว่า การให้สัตยาบัน มาใช้เรียกกระบวนการให้ความเห็นชอบโดยรัฐสภาซึ่งมักก่อให้เกิดความสับสนตามมา
เชิงอรรถ
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐; รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔; รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘๑; รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๑๗ มาตรา ๑๙๕; รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๑๑ มาตรา ๑๕๐; รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๔๗๕ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕) มาตรา ๙๒; รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๙๒ มาตรา ๑๕๔; รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๔๘๙ มาตรา ๗๖; รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๕๔; พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๓๖ และ มาตรา ๓๗.
2. วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, ๒๕๓๐, หน้า ๖๖๓.
3. เช่น ในบันทึกความเห็นกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา อาทิ เรื่องเสร็จที่ ๒๐๖/๒๔๙๔ (เรื่อง อนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการค้าบุคคล); เรื่องเสร็จที่ ๑๓๗/๒๔๙๙ (เรื่อง อนุสัญญาเพื่อการป้องกันและลงโทษการกระทำผิดฐานพิฆาตคณะชน); เรื่องเสร็จที่ ๔๗๑/๒๕๒๒ (เรื่องการคงอัตราภาษีศุลกากร); เรื่องเสร็จที่ ๒๔๖/๒๕๒๔ (เรื่อง พระบรมราชโองการให้ใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา); เรื่องเสร็จที่ ๔๑๓/๒๕๒๖ (เรื่อง วิธีการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่ออนุวัตการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาต่อรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย); เรื่องเสร็จที่ ๔๙๖/๒๕๒๗ (เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๗); เรื่องเสร็จที่ ๔๙/๒๕๓๐ (เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยอมรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ออกโดยประเทศอาเซียน); เรื่องเสร็จที่ ๒๘/๒๕๔๖ (เรื่อง สถานภาพนิติบุคคลของสำนักงานสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก); เรื่องเสร็จที่ ๒๕๙/๒๕๔๘ (เรื่อง การรับบุตรบุญธรรมตามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก); เรื่องเสร็จที่ ๘๑๔/๒๕๔๘ (เรื่อง ความมีผลทางกฎหมายของเอกสาร Agreed Minute) ฯลฯ.
4. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง :
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
5. โปรดดู คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๑/๒๕๔๒ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าหนังสือแจ้งความจำนงขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินที่รัฐบาลมีไปถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๔ วรรคสอง หรือไม่, ในหนังสือรวมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๓ (สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ), ๒๕๔๖.
6. โปรดดู คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓๓/๒๕๔๓ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เรื่อง อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๒๔ วรรคสอง หรือไม่, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๖๘ ก หน้า ๗๑ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๔, อ้างหน้าจากในหนังสือรวมคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประจำปี ๒๕๔๓ เล่ม ๕ (สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ), ๒๕๔๕.
7. เช่น สำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.mfa.go.th/jtepa (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
8. เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://www.thaifta.com/ThaiFTA/ และที่ http://www.dtn.moc.go.th/
(เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
9. ข้อมูลเพิ่มเติม ดูที่ http://www.ftadigest.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
10. ข้อมูลเพิ่มเติม ดูที่ http://www.ftawatch.org; และดูเพิ่ม เจริญ คัมภีรภาพ, อำนาจอธิปไตยกับการทำเขตการค้าเสรี (FTA) ที่
http://www.ftawatch.org/autopage1/show_page.php?t=5&s_id=3&d_id=3 (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
11. มติชน วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๑, วิปแจงเหตุแก้ รธน. ๑ มาตรา (สัมภาษณ์เลขานุการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร), หน้า ๒; มติชน วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑, แก้ รธน. (สัมภาษณ์รองประธานเลขานุการคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร), หน้า ๑๔.
12. บันทึกเจตนารมณ์มาตรา ๑๙๐, คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ, เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐, ๒๕๕๐, หน้า ๑๘๕.
13. ดู John Austin, The Province of Jurisprudence Determined, 1832, pp. 199-204; H.W.R. Wade, The Basis of Legal Sovereignty, CLJ 172, 1955, pp. 187-188; ไพโรจน์ ชัยนาม, สถาบันการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ภาค ๑ ความนำทั่วไป, ๒๕๒๔, หน้า ๒๓๗-๒๓๙; วิษณุ เครืองาม, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒, หน้า ๒๑๐-๒๑๒; บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๑ : วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนในยุคต่างๆ, ๒๕๔๖, หน้า ๕๘-๕๙; เกรียงไกร เจริญวัฒนะ, หลักกฎหมายมหาชนว่าด้วยรัฐ รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย, ๒๕๔๘, หน้า ๔๔-๔๖; โภคิน พลกุล และชาญชัย แสวงศักดิ์, หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น, ๒๕๔๙, หน้า ๕๑; สมยศ เชื้อไทย, หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้น, ๒๕๔๙,หน้า ๑๑๖-๑๒๑.
14. Jean Bodin, livres de la République, 1576; A. Gardot, Jean Bodin - Sa Place Parmi les Fondateurs du Droit International, 1934, p. 549.
15. วิษณุ เครืองาม, เรื่องเดิม, หน้า ๒๑๖-๒๑๗; บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เรื่องเดิม, หน้า ๔๔-๔๕.
16. วิษณุ เครืองาม, เรื่องเดิม, หน้า ๒๑๘-๒๑๙; บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เรื่องเดิม, หน้า ๖๗-๖๘.
17. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒ และ มาตรา ๓.
18. ข้อ ๒ (๑) แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter, 26 June 1945, 892 UNTS 119)
19. ข้อ ๑๐๓ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ; ข้อ ๕๓ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ (Vienna Convention on the Law of Treaties, 23 May 1969, 1155 UNTS 33), ดูคดี East Timor Case, ICJ Reports 1995, para. 29.
20. Rousseau, Droit international public, vol. IV, 1980, pp. 21-33; Louis Henkin, International Law: Politics, Values and Functions, 216 Recueil des cours de lAcadémie de droit international (1989 IV), pp. 24-29; Antonio Cassese, International Law (2001), pp. 89-90; Ian Brownlie, Principles of Public International Law, 2003, pp. 287-289; Malcolm Shaw, International Law, 2003, pp. 13-41; Warbrick, States and Recognition in International Law in International Law (M. Evans ed.), 2006, p. 222.
21. McNair, Law of Treaties, pp. 754-765; Permanent Court of International Justice, SS Wimbledon Case, PCIJ, Publications,
Series A., No.I, p.25; The Supreme Court of the United States of America, Perry v. United States, 294 US 330-354.
22. Louis Henkin, Axioms of Statehood: the Mythology of Sovereignty ในเรื่องเดิม, pp.24-26; เทียบ H. Spruyt, The Sovereign State and Its Competitors: An Analysis of Systems Change, 1994; J. Bartelson, A Genealogy of Sovereignty, 1995; Martin van Creveld, The Rise and Decline of the State, 1999, p. 164 and pp. 349-354; Stéphane Beaulac, The Power of Language in the Making of International Law: The Word Sovereignty in Bodin and Vattel and the Myth of Westphalia, 2004.
23. ดู United Nations General Assembly, Resolution 2625 (XXV) Declaration on the Principles of the International Law Concerning Friendly Relations and Cooperation among States in Accordance with the Charter of the United Nations, UN Doc A/Res/25/2625, 24 October 1970, Oscar Schachter, International Law in Theory and Practice, 1991, pp. 18-31.
24. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐.
25. ข้อ ๗ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙; ประสิทธ์ เอกบุตร, กฎหมายระหว่างประเทศ เล่ม ๑ สนธิสัญญา, ๒๕๔๔, หน้า ๘๑-๘๙.
26. ข้อ ๔๖ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙; ประสิทธิ์ เอกบุตร, เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๐๖-๑๐๗; จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ เล่ม ๒, ๒๕๕๐, หน้า ๑๑๑-๑๑๓ และ หน้า ๑๕๗-๑๕๘.
27. ดูเพิ่มในเชิงอรรถที่ ๒๐ และ ๒๑.
28. หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป (บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ บรรณาธิการ), ๒๕๓๘, หน้า ๑๘๔; บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชนเล่ม ๓ ที่มาและนิติวิธี, ๒๕๓๘, หน้า ๕๙; สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร, กฎหมายระหว่างประเทศ, ๒๕๔๘, หน้า ๓๓.
29. อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑.
30. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๒, หน้า ๑๘๕.
31. สำหรับหลักการทางรัฐธรรมนูญและหลักปฏิบัติที่ทันสมัยของหลายประเทศ โปรดดู Duncan B. Hollis, Merritt R. Blakeslee and L. Benjamin Ederington, National Treaty Law and Practice, 2005.
32. AV Dicey, Introduction to the Study of the Law of the Constitution, 1959, p.425; AW Bradley and KD Ewing, Constitutional and Administrative Law, 1997, pp. 272-273.
33. Anthony Aust, Modern Treaty Law and Practice, 2003, p.151; Joanna Harrington, Scrutiny and Approval: The Role for the Westminster Style Parliament in Treaty Making, ICLQ vol. 55, January 2006, p. 125.
34. รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Constitution du 4 Octobre 1958) มาตรา ๕๒.
35. รัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Grundgesetz für die Bundesrepublik Deutschlandหรือ Basic Law) มาตรา ๓๒
36. Constitution of the United States of America, Article II Section 2(2); D. Vogts, Taking Treaties less Seriously, American Journal of International Law (1998), pp. 458-462.
37. โปรดดู พรชัย ด่านวิวัฒน์, อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (เน้นเรื่องการทำความตกลงของฝ่ายบริหาร หรือ Executive Agreement), วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๑.
38. McNair, Supra note 21, pp. 120-121.
39. ข้อ ๗ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙; ดูหลักปฏิบัติในปัจจุบันของฝ่ายสนธิสัญญา สำนักงานฝ่ายกฎหมายแห่งองค์การสหประชาชาติ (Treaty Section of the United Nations Office of Legal Affairs) ใน Treaty Handbook, United Nations Publications No.E.02.V2, 2006, p.6 ประกอบกับ Summary of Practice of the Secretary-General as Depositary of Multilateral Treaties, ST/LEG/7/Rev. 1, 1999, paras. 101-115.
40. ดังเช่นที่ศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice) ได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดี Legal Status of Eastern Greenland, P.C.I.J. (1933) Series A/B, No. 53, p. 71;โปรดดู คำอธิบายของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (International Law Commission), Draft Articles on the Law of Treaties with commentaries, in Yearbook of the International Law Commission, 1966, vol. II., pp. 192-193.
41. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๑/๒๕๔๒, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๕.
42. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๓๓/๒๕๔๓, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๖.
43. เช่นในบรรดาคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) ได้ตีความกฎหมายเกี่ยวกับสถานะของเอกสารบางประเภท เช่น คำแถลงร่วมของรัฐบาล (Joint communiqué) ในคดี Aegean Sea Continental Shelf, ICJ Reports 1978, p.39, para.96 หรือในกรณีการลงนามบันทึกการประชุม (Minutes) ในคดี Maritime Delimitation and Territorial Questions between Qatar and Bahrain (JurisdictionFirst Phase), ICJ Reports 1994, p.112 หรือกรณีการลงนามคำประกาศ (Declaration) ในคดี Land and Maritime Boundary between Cameroon and Nigeria, ICJ Reports 2002, p.303; ประสิทธิ์ เอกบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๕, หน้า ๗๒-๗๗.
44. บันทึกความเห็นทางกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๖), เรื่องเสร็จที่ ๘๑๔/๒๕๔๘ (เรื่อง ความมีผลทางกฎหมายของเอกสาร Agreed Minute).
45. ข้อ ๑ (ก) แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙, เพิ่งอ้าง; สำหรับคำอธิบายโดยละเอียด โปรดดู Ian Sinclair, The Vienna Convention on the Law of Treaties, 1984; สำหรับคำอธิบายภาษาไทย ดู ประสิทธิ์ เอกบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๕, หน้า ๖๖-๘๐; ประเด็นอื่นที่น่าสนใจในปัจจุบัน โปรดดู Fitzmaurice and Elias, Contemporary Issues in the Law of Treaties, 2005.
46. Ian Brownlie, Supra note 20, p.651; จุมพต สายสุนทร, กฎหมายระหว่างประเทศ เล่ม ๑, หน้า ๒๐๕.
47. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๖ วรรคห้า.
48. ดังที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice หรือ ICJ) ได้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยหลักการตามที่ปรากฏในอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ แม้ในขณะที่เกิดประเด็นพิพาทนั้นประเทศคู่กรณียังมิได้เข้าเป็นภาคีผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าวก็ตาม ดู Gabcíkovo-Nagymaros Project (Hungary v Slovakia), ICJ Reports 1997, para.46, 99.
49. สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบการยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญของบางประเทศ ดู Antonio Cassese, Modern Constitutions and International Law, 192 Recueil des cours de lAcadémie de droit international (1985-III), p.331; คำอธิบายทั่วไปโปรดดู J.G. Stark, Monism and Dualism in the Theory of International Law, British Yearbook of International Law 66 1936, pp.66-82; Louis Henkin; Supra note 20.; pp.88-105; David Feldman, Monism, dualism and constitutional legitimacy. Australian Yearbook of International Law v.20 (1999), pp.105-126; A.F.M. Maniruzzaman, State contracts in contemporary international law: monist versus dualist controversies, European Journal of International Law v.12 no.2 (April 2001), pp.309-328; Cassese, Supra note 20.; pp.162-165; Brownlie, Supra note 20, pp.31-33; บวรศักดิ์ อุวรรณโณ; อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๘; หน้า ๕๕-๕๖ และหน้า ๖๘-๗๓; ประสิทธิ์ เอกบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๕, หน้า ๕๔-๕๘; สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๘, หน้า ๑๕๘-๑๖๓; จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๔๖; หน้า ๑๐๕-๑๑๒.
50. โปรดดูเชิงอรรถที่ ๑.
51. ดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๗๓/๒๕๒๓; คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ ๒๙๖๕/๒๕๓๘; คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๘๓๔/๒๕๔๒; คำวินิจฉัยส่วนตัวของ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ท้ายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕/๒๕๔๓ วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๖ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา; คำวินิจฉัยส่วนตัวของนายสุจินดา ยงสุนทร ท้ายคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๓๓/๒๕๔๓, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๕, หน้า ๒๙๒๙; คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๘/๒๕๔๗.
52. โปรดดู วิษณุ เครืองาม, การใช้กฎหมายระหว่างประเทศในระบบกฎหมายภายในของไทย : รายงานผลการวิจัย (ทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช), ๒๕๒๑, หน้า ๑๕๐; ประจิตต์ โรจนพฤกษ์, สนธิสัญญากับกฎหมายไทย, ๒๕๒๓, หน้า ๘๗; พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, สนธิสัญญาระหว่างประเทศมีผลอย่างไรในประเทศไทย ?: คำตอบจากสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย, วารสารข่าวกฎหมายใหม่ วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, ที่ http://www.archanwell.org/autopage/print.php?t=1&s_id=4&d_id=6&page=1 (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑); จุมพต สายสุนทร, การยอมรับและการใช้บังคับสนธิสัญญาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของรัฐ วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ ๓๑ เล่ม ๔ เดือนธันวาคม ๒๕๔๔; สมพงษ์ ชูมาก, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง, ๒๕๔๘, หน้า ๙๔; ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, การใช้กฎหมายระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย: ศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ, ๒๕๕๐, ที่ http://www.oja.go.th/data/document/download/jrd_civill_justice_group_6.pdf (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
53. เช่นบรรดากรณีที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติที่มีมาตราที่บัญญัติให้รายละเอียด กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราช
กฤษฎีกา หรือตามประกาศของรัฐมนตรีที่รักษาการตามพระราชบัญญัติ; ตัวอย่าง ดู กรณีเปลี่ยนแปลงพิกัดภาษีบันทึกความเห็นกฎหมาย
คณะกรรมการกฤษฎีกา, เรื่องเสร็จที่ ๔๗๑/๒๕๒๒ (เรื่องการคงอัตราภาษีศุลกากร [Binding]), อ้างต่อไปในเชิงอรรถที่ ๑๔๔.
54. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒๘, หน้า ๑๓๒-๑๓๓.
55. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๗๕ และมาตรา ๘๒.
56. อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๓๘ ที่ ๓๙ และ ที่ ๔๑.
57. โปรดดู คำวินิจฉัยส่วนตัวของ นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, เพิ่งอ้าง; เทียบกรณีที่ตุลาการอีกท่านได้นำหลักการตีความกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการตีความกฎหมายไทยอย่างแยบคาย ดู คำวินิจฉัยส่วนตัวของ นายสุจินดา ยงสุนทร, เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๙๒๖-๒๙๓๔.
58. โปรดดู Louis Henkin, Supra note 20, pp. 90-91; E. Jiménes de Aréchaga, Self-Executing Provisions in International Law, in Staat und Völkerrechtsordnung : Festschrift für Karl Doehring, 1989, p. 409; Eileen Denza, The Relationship between National Law and International Law, in International Law (M. Evans ed.), 2006, pp. 440-445.
59. เช่น ที่ศาลสูงสุดของออสเตรเลียได้อาศัยหลัก Legitimate Expectation ในคดี Minister for Immigration and Ethnic Affairs v Teo (1995) 183 CLR 273.
60. Ian Brownlie, Supra note 20, pp. 33-34.
61. Gerald Fitzmaurice, The general principles of international law considered from the standpoint of the rule of law, 92 Recueil des cours de lAcadémie de droit international (1957-II), pp. 68-94.
62. The European Council Framework Decision on the European Arrest Warrant and the Surrender Procedures between Member States, 13 June 2002 (2002/584/JHA), OJ L 190/5, 18 July 2002.
63. ผู้สนใจโปรดดู Verapat Pariyawong, European Arrest Warrant: New Features with Old Headaches ?, Chulalongkorn University European Union Law Term Paper, at http://verapat.googlepages.com/home2 (เข้าถึงครั้งล่าสุดวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๑).
64. เช่น ขั้นการเจรจาโดยมีผู้อำนาจเต็ม การยืนยันความถูกต้องของข้อความ การลงนาม การให้สัตยาบันในทางกฎหมายระหว่างประเทศ การตั้งข้อสงวน การประกาศใช้ การนำฝากต่อองค์การสหประชาชาติ รายละเอียดโปรดดู ประสิทธิ์ เอกบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒๕, หน้า ๘๖-๑๒๕; สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒๘, หน้า ๒๖-๕๓; จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒๖, หน้า ๑๐๗-๑๓๘; Anthony Aust, Supra note 33, pp. 47-130.
65. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๓๖ (๑๕).
66. การที่มาตรา ๑๙๐ กล่าวถึงขั้นตอนการลงนาม (Signature) แยกออกชัดจากขั้นตอนการให้ความยินยอม (Consent to be bound) อาจเกิดปัญหาในบางกรณีได้ เพราะรัฐก็อาจตกลงให้ถือการลงนามเป็นการให้ความยินยอมไปด้วยได้ ดู จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๔๖, หน้า ๑๕๘-๑๕๙.
67. ข้อ ๑๑ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๖๙ (Means of Expressing Consent to Bound by A Treaty); รายละเอียดโปรดดู จุมพต สายสุนทร, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒๖, หน้า ๑๑๖-๑๒๔.
68. รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๕๔(๑) :
หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
69. คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๑๒.
70. สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒๘, หน้า ๓๓.
71. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๒๑.
72. หนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.๐๒๐๒/๑๓๖๐๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๗.
73. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒๘, หน้า ๖๐; ประสิทธิ์ เอกบุตร, อ้างแล้วในเชิงอรรถ ๒๕, หน้า ๑๐๖.
74. McNair, Supra note 21, p. 130.
75. ยกเว้นบางกรณี โปรดดูเชิงอรรถที่ ๒๖.
76. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เพิ่งอ้าง, หน้า ๖๕.
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|