ข้อความคิดบางประการเกี่ยวกับการยุบพรรค และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย คุณชนินทร์ ติชาวัน |
|
|
|
คุณชนินทร์ ติชาวัน
นบ. , นบ.ท. , นม. มหาวิทยาลัยรามคำแหง. |
|
|
|
|
|
|
|
|
ข้อความเบื้องต้น
สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน แม้จะผ่านการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงดูเหมือนกับว่าจะยังไม่มีอะไรที่แน่นอน ยังคงมีแรงกระเพื่อมทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกับกรณีที่ กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของกรรมการบริหารพรรค การเมือง ซึ่งอาจส่งผลไปจนถึงขั้นยุบพรรคเลยก็เป็นไปได้
บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นั้น คงจะต้องกล่าวถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (ฉบับลงประชามติ) เป็นเบื้องแรกก่อน กล่าวคือ ในมาตรา 237 ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนสรุปได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการ ซึ่งเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว ซึ่งถ้าหากปรากฏว่าการกระทำเช่นว่านั้น หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ผลที่ตามมาก็คือ1 ให้ กกต. สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้น และเมื่อปรากฏว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไข ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ กกต. ดำเนินการเพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น...
ซึ่งเมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกระทำการตามที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการ ดังกล่าว พรรคการเมืองนั้น อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง ซึ่งกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเสียเอง จะอ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็นย่อมไม่ได้ ดังนั้น เมื่อกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น ก็ต้องถือว่า พรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่สามารถที่จะแปลความหมายของกฎหมายให้เป็นอย่างอื่นไปได้เลย นั่นหมายความว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ถือว่าการกระทำของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ผูกพันพรรคการเมือง และกระบวนการตามกฎหมาย ก็คือ ในที่สุด กกต. จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ซึ่งศาล รัฐธรรมนูญจะสั่งให้ยุบหรือไม่นั้นก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งตากหาก
ความหมายและที่มาของมาตรา 237
สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจในบทบัญญัติมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญ ก็คือ การกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ นั้น มีความหมายหรือมีลักษณะอย่างไร ซึ่งความข้อนี้นั้น หมายถึง การกระทำซึ่งให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ กล่าวคือ การปฏิวัติหรือรัฐประหาร หรือการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจการปกครอง รวมตลอดถึงการได้มาซึ่งอำนาจในการ ปกครองประเทศโดยมิได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งหมายถึงการกระทำอย่างใดๆ ที่ทำให้กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงค์ทางการเมืองของประชาชนต้องผิดเพี้ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนกฎหมาย หรือการกระทำที่เป็นไปโดยไม่สุจริต การกระทำเช่นว่านี้ ย่อมเป็นการกระทำซึ่งให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวีธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
แต่เดิมนั้นไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้การกระทำของหัวหน้าพรรค แต่ผู้เดียว หรือการกระทำของกรรมการบริหารพรรคการเมืองแต่เพียงผู้เดียว มีผลผูกพันพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคการเมืองนั้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้นการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง จึงต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรค โดยมีหัวหน้าพรรคเป็น ผู้แทนพรรคการเมือง ในกิจกรรมอันกระทบกับบุคคลภายนอก แต่หลักการที่ว่า แม้ไม่มีมติของพรรคให้กรรมการบริหารพรรคกระทำการอันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่หากมีข้อเท็จจริงหรือ พฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการบริหารหรือหัวหน้าพรรคมอบหมาย ยินยอมหรือ รู้เห็นเป็นใจด้วย การดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น ก็ย่อมมีผลผูกพัน พรรคการเมือง หลักการที่ว่านี้ปรากฏอยู่ใน คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ 3-5/2550 กรณียุบพรรคไทยรักไทย โดยมีเหตุผลในคำวินิจฉัยที่สนับสนุนหลักการดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนจะขอยกมากล่าวไว้พอสรุปได้ว่า2
บุคคลของพรรคไทยรักไทยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดนั้น ผู้หนึ่งเป็นทั้งกรรมการบริหารพรรค รองหัวหน้าพรรค และดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนอีกผู้หนึ่งเป็นทั้งกรรมการบริหารพรรค รองเลขาธิการพรรค และดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งทั้งกระทรวงกลาโหม และกระทรวงคมนาคม ต่างเป็นกระทรวงใหญ่ แสดงให้เห็นว่าทั้งสองคนนั้นเป็นบุคคลสำคัญของพรรค และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าพรรค ย่อมต้องมีบทบาทในการบริหารงานและการกำหนดนโยบายในการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคอย่างสูง อีกทั้ง เมื่อมีผู้กล่าวหาว่ากรรมการบริหารพรรคทั้งสองคน ดังกล่าว ไปว่าจ้างพรรคการเมืองอื่น ให้ส่งผู้สมัคร และสนับสนุนให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองอื่นนั้น พรรคไทยรักไทยเองก็ไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกล่าวหา เพียงแต่มีการประชุมผู้สมัครหรือการประชุมแบบกว้างๆ และมีการพูดกันว่า มีข้อกล่าวหาประการใดก็ให้ผู้เกี่ยวข้องไปสู้คดี ไม่มีการประชุมเรื่องนี้เป็นกิจจะลักษณะทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง ทั้งที่ ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรค ทำให้เชื่อได้ว่า ก่อนดำเนินการดังกล่าว กรรมการบริการพรรคทั้งสอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำของพรรค และมีผลผูกพันพรรค
ข้อสังเกตจากคำวินิจฉัย
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นการนำไปสู่การกำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ว่า หากเป็นการกระทำของหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค ให้ถือว่าผูกพันพรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตจากคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า อย่างไรจึงจะถือว่าการกระทำของกรรมการบริหารพรรค ผูกพันพรรคการเมือง ดังนี้
-ไม่จำเป็นต้องมีมติของพรรคให้กระทำการหรือแม้หัวหน้าพรรคไม่ได้เป็น ผู้มอบหมาย หากมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการบริหารพรรคมอบหมาย หรือยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ กับการกระทำนั้น ก็ย่อมมีผลผูกพันพรรคการเมือง ซึ่งพฤติการณ์เช่นว่านั้นก็คือ กรรมการบริหารผู้นั้น เป็นบุคคลสำคัญของพรรค และต้องได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรค และต้องมีบทบาทในการบริหารงานและการกำหนดนโยบายในการดำเนินกิจการทางการเมืองของพรรคอย่างสูง และเมื่อได้มีการกล่าวหาว่ากรรมการบริหารพรรค ได้กระทำความผิด หากไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อให้เกิดความชัดเจนใน ข้อกล่าวหา ก็อาจจะทำให้เชื่อได้ว่าการดำเนินการของกรรมการบริหารพรรคดังกล่าวนั้น ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองแล้ว
บทวิเคราะห์และสรุป
ผู้เขียนเองเห็นว่าบทบัญญัติในมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญนั้น เกิดจากเจตนาที่ดีของ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้การเลือกตั้งอันถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ต้องการให้เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง พรรคการเมืองจึงต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันด้วย กล่าวคือ หากพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องมีบทลงโทษถึงขั้นต้องยุบพรรค ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดวิธีการดำเนินการของพรรคการเมืองก็คือหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค เพราะฉะนั้น เมื่อหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค กระทำผิดเสียเอง จึงต้องถือว่าการกระทำนั้นมีผลผูกพันพรรคด้วย นั่นหมายความว่า ก็จะต้องมีบทลงโทษถึงขั้นยุบพรรคเช่นกัน ดังนั้น ทั้งหัวหน้าพรรค และบรรดากรรมการบริหารพรรคทั้งหลาย จึงต้องมีหน้าที่คอยสอดส่อง ป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง รวมทั้งต้องไม่เป็นผู้กระทำผิดเสียเอง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ที่ใช้ถ้อยคำว่า ให้ถือว่า พรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่เปิดโอกาสให้ตีความเป็นอย่างอื่นได้เลย และเป็นบทบัญญัติที่เคร่งครัดจนเกินไป ซึ่งการยุบพรรคการเมืองนั้นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนที่รุนแรงอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในสังคมนั้น สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยสันติวิธีได้ เพื่อที่จะเลือกสรรผู้นำทางการเมืองเข้ามาทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายและบริหารราชการแผ่นดิน พรรคการเมือง จึงเป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งที่จะ ส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในสังคม หรืออาจจะกล่าวได้ว่า พรรคการเมืองนั้น เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยกับ องค์กรของรัฐ ในเมื่อประชาชนไม่สามารถเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของตนโดยตรง จึงจำเป็นต้องผ่านผู้แทนที่ได้รับเลือกจากสมาชิก ในสังคมนั้นเพื่อจะเปลี่ยนเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน ไปสู่เจตนารมณ์ทางเมือง ของรัฐ ซึ่งยึดถือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพรรคการเมืองเป็น องค์กรจัดตั้งทางการเมืองของคณะบุคคลที่มีแนวความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมใกล้เคียงกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้พรรคการเมืองยังเป็นศูนย์รวมของความคิดทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน และดำเนินการต่อสู้ทางความคิด ดังกล่าว เพื่อให้เกิดหลักการร่วมกันด้วย
เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า พรรคการเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย บทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับพรรคการเมือง จึงต้องมีลักษณะที่เป็นการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งการที่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับใช้กับพรรคการเมืองค่อนข้างเข้มงวด อาจมีผลให้พรรคการเมืองที่ไม่รับผิดชอบ หรือจัดตั้งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นบางประการ ต้องสิ้นสุดหรือถูกยุบไป แต่ความเข้มงวดของกฎหมายก็ได้มีผลให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีความตั้งใจดี ที่จะเป็นพรรคการเมืองที่ดี อาจถูกยุบเลิกไป อันเกิดจากการกระทำความผิดของบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งยัง ไม่ได้มีการพิสูจน์ความจริงเลยว่าพรรคการเมือง หรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้ รู้เห็นถึงการกระทำนั้นด้วยหรือไม่ แต่กฎหมายกลับให้ถือว่าผูกพันพรรคการเมือง ซึ่งอาจทำให้พรรคการเมืองนั้นถูกยุบพรรคได้อย่างง่ายดาย ผู้เขียนจึงเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญ และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2250 ไม่น่าสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
การผ่อนคลายความเข้มงวด ของกฎหมายจะช่วยทำให้พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหามีโอกาสที่จะสืบพิสูจน์ความจริงได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบ และเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพัฒนาพรรคการเมือง อันจะทำให้เกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต ผู้เขียนจึงเห็นว่าการแก้ไขบทบัญญัติของมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และ มาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2250 ให้ผ่อนคลายความเข้มงวดลงไปบ้างนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเปลี่ยนถ้อยคำที่ว่า ให้ถือว่า แก้ไขเป็น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ควรจะมีการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อที่จะทำการแก้ไขทั้งระบบมิใช่แต่แก้ไขเพียงมาตราหนึ่งมาตราใดเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลใด บุคคลหนึ่งเท่านั้น เพราะมิเช่นนั้นแล้วรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีลักษณะเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นเพียงแค่ตัวหนังสือในกระดาษที่นึกอยากจะฉีกทิ้งหรือลบเพื่อแก้ไขอย่างไรเมื่อใดก็ได้เช่นนี้อยู่ร่ำไป โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชน
Salus populi est suprema lex
ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด
เชิงอรรถ
1. โปรดดู มาตรา 103 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550
2. โปรดดูคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ 3-5/2550
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|