ประชาธิปไตยแบบพอเพียง : การสถาปนาสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โดย คุณฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ |
|
|
|
คุณฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์
นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) เกียรตินิยมอันดับสอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขากฎหมายมหาชน) |
|
|
|
|
|
|
|
|
ในประเด็นเรื่อง ปัญหาประชาธิปไตยของไทย นั้น ผู้เขียนตั้งใจจะนำเสนอความคิดความเห็นในรูปบทความทางวิชาการจำนวน 3 ชิ้นต่อเนื่องกัน ในลักษณะ ไตรภาค โดยในบทความชิ้นแรก คือบทความเรื่อง วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย : รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งไม่เคยถูกยกเลิก นั้นได้นำเสนอถึง วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอันเป็น ปฐมเหตุแห่งปัญหา พัฒนาการทางประชาธิปไตยของไทย ในบทความชิ้นที่สอง คือบทความเรื่อง วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง : แนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย ได้นำเสนอ แนวทางการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว โดยการสร้างสังคมประชาธิปไตยซึ่งประชาชนจะมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง และในบทความชิ้นที่สาม อันเป็น ปัจฉิมบท นี้จะได้นำเสนอ แนวทางการธำรงรักษาไว้ ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีเสถียรภาพ มั่นคงและยั่งยืนสืบไป อันยากยิ่งกว่าการได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ แนวทางซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอนี้ ผู้เขียนขอเรียกว่า แนวทางประชาธิปไตยแบบพอเพียง (Sufficiency Democracy)
อนึ่ง ผู้เขียนมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะนำเสนอบทความนี้ต่อสาธารณะในเดือนธันวาคม 2550 อันเป็นมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติองค์พระผู้ทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดิน และประโยชน์ใดอันหากบังเกิดมีจากบทความชิ้นนี้ ขอถวายเป็นราชสักการะแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความอยู่ดีมีสุขแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า
1. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
1.1 ประมวลพระราชดำรัส
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเษกภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณภายในพระบรมมหาราชวัง มีพระปฐมบรมราชโองการว่าเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม นั้นเป็นที่ประจักษ์แจ้งว่าพระบรมเดชานุภาพ และพระบุญญาบารมีของพระองค์ดั่งฝนดับไฟในแผ่นดินหลายครั้งหลายครา ด้วยพระองค์ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญา บำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเป็นที่ตั้ง
หลายท่านอาจเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ประชาชาวไทย เมื่อคราวบ้านเมืองเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ความตอนหนึ่งว่า
การที่จะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้ มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างก็มาบอกว่าล้าสมัย จริงอาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่า เศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่าผลิตให้พอเพียงได้
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจแบบค้าขาย ภาษาฝรั่งเขาเรียก Trade Economy ไม่ใช่แบบพอเพียง ซึ่งฝรั่งเขาเรียก Self Sufficient Economy ที่ไหนทำแบบ Self Sufficient Economy คือเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ไม่ต้องเดือดร้อน...
ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมากคน ก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถที่จะแก้ไขได้...
แต่หากศึกษาอย่างถ่องแท้จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์แล้ว จะพบว่าทรงย้ำแนวทางการพัฒนาบนหลักความคิดพึ่งตนเองเพื่อให้เกิดความพอมีพอกิน พอมีพอใช้ โดยใช้หลักความพอประมาณ ตระหนักถึงการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชา ซึ่งรู้จักกันต่อมาในปัจจุบันว่าเป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น แท้จริงแล้วเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้มีพระราชดำรัสมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า
ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นเริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชาเมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่งคงพอควรแล้วจึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นสูงขึ้นตามลำดับต่อไป
การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นไปตามลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้นก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์...
และอีกคำรบหนึ่งคือ พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า
...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวด ทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิด และมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล...
ต่อมาได้มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์หุบกะพง เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2518 ความตอนหนึ่งว่า
...ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมิได้หมายถึงระบบเศรษฐกิจปิด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น แต่เป็นแนวคิดที่เน้นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนบนรากฐานที่เข้มแข็ง โดยชี้ให้ใช้หลักการตนเป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาตนเองเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้ และนำไปสู่สังคมที่มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ในที่สุด พอมีพอกินเป็นขั้นที่หนึ่ง ขั้นต่อไปให้มีเกียรติยืนด้วยตนเอง ขั้นที่สามให้นึกถึงผู้อื่น...
หลังจากปี พ.ศ. 2540 แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชดำรัสถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพระราชทานติดต่อกันมาอีกหลายปี ได้แก่ พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 ความตอนหนึ่งว่า
...คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีกไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง...
พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ...
เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วยว่าจะแปลเป็น Self Sufficiency ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self Sufficiency คือ Self Sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรที่มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...
ดังนั้นเองคนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข เพียงพอนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...
ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุมีผล ...
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 ความตอนหนึ่งว่า
...เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Sufficiency Economy คำว่า Sufficiency Economy นี้ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่ เป็นตำราใหม่ ถ้ามีอยู่ในตำรา ก็หมายความว่าเราก๊อบปี้มา เราลอกเขามา เราไม่ได้ลอก ไม่อยู่ในตำราเศรษฐกิจ...
ถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษ 1 ส่วน 4 ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้ เพราะว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษ 1 ส่วน 4 สมมุติว่าเดี๋ยวนี้ไฟดับ ถ้าไม่มีเศรษฐกิจพอเพียง ไฟดับ ไฟหลวง ไฟฟ้าหลวง หรือไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขาดับหมด พังหมด จะทำอย่างไร ที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ต้องแย่ไป บางคนที่ต่างประเทศ เวลาไฟดับ เขาฆ่าตัวตาย แต่ของเราไฟดับ เราเคยชิน เราไม่เป็นไร ไฟดับ ถ้ามีความจำเป็น เศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ เรามีเครื่องปั่นไฟ ก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียน มีทางที่ให้แก้ปัญหาเสมอ งั้นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้น ๆ แต่ว่าต้องดูว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ที่จะมาบอกว่า ให้พอพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้าไม่มีการช่วยกันแลกเปลี่ยน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว ...
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ความตอนหนึ่งว่า
...ได้ฟังพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง และ ทฤษฎีใหม่ มาหลายต่อหลายครั้ง แล้วไม่ได้คัดค้านว่าใช้ไม่ได้ ทำไม่ได้ มีบางคนพูดบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง นี้ไม่ถูก ทำไม่ได้ ไม่ดี ได้ยินคนเค้าพูด แต่ว่าส่วนใหญ่บอกว่าดี แต่พวกส่วนใหญ่ที่บอกว่าดีนี้ เข้าใจแค่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ยังไงก็ตาม เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ขอย้ำว่า เป็นการทั้งเศรษฐกิจ หรือ ความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือเกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดี ให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข...
ทั้งหมดนี้พูดอย่างนี้ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ใครต่อใครก็ ต่อว่า ว่า ไม่มี Sufficiency Economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไร ด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคนจะมีความสุข แต่พอเพียง...
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ความตอนหนึ่งว่า
...แต่เศรษฐกิจพอเพียง สำคัญว่า จะต้องรู้จัก ขั้นตอนคือ ถ้านึกจะทำอะไรให้เร็วเกินไป ไม่พอเพียง แต่ว่าถ้าไม่เร็วเกินไป หรือถ้าช้าเกินไป ก็ไม่พอเพียง ต้องให้รู้จักก้าวหน้า อาจจะเร็วก็ได้ แต่ว่าให้ก้าวหน้า โดยที่ไม่ทำให้คนเดือดร้อน อันนี้เศรษฐกิจพอเพียง ก็คงได้ศึกษามาแล้วว่า เราพูดมาตั้ง 10 ปีแล้ว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แล้วก็เศรษฐกิจพอเพียงก็ต้องปฏิบัติด้วย...
พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ความตอนหนึ่งว่า
...โครงการพระราชดำรินี่ เปิดเผยให้ทุกคนได้ทั้งนั้น แล้วก็ถ้าปฏิบัติตามโครงการพระราชดำริ ทำอย่างเศรษฐกิจพอเพียง นี่ก็ตอนนี้ นายกฯ ก็เศรษฐกิจพอเพียง ไม่จ่ายเงิน ไม่ค่อยจ่ายเงินแล้ว ใช้แต่เศรษฐกิจพอเพียง เพราะว่ามีการโฆษณาคู่สมรส ของคณะรัฐมนตรี ก็ชำนิชำนาญในเศรษฐกิจพอเพียงเก่งมาก นี่ก็อีกคนที่ทำได้ ก็เลยไม่ต้องห่วง ไม่ทราบว่าคู่สมรสขององคมนตรีจะทำเศรษฐกิจพอเพียงหรือเปล่า สงสัยว่าไม่ ไม่ทำ
แต่ยังไงก็ตาม อย่างนี้เปิดให้ความกว้างขวางของเศรษฐกิจดีขึ้น ถ้ารองนายกฯ ทั้งหลายก็อาจไม่ทำ เพราะเคยชินกับเศรษฐกิจ ที่ต้องใช้เงินมาก ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง ไม่พอเพียง ถ้างั้นก็ นายกฯ อาจจะไป นายกฯ และคุณหญิงก็อาจจะให้เพื่อนนายกฯ รองนายกฯ ต่าง ๆ ทำเศรษฐกิจพอเพียงนิดหน่อย ก็จะทำให้อีกสี่สิบปีประเทศชาติไปได้ แต่นี่ก็มีแต่นายกฯ รองนายกฯ จัดการ รวมทั้งคู่สมรส ทำเศรษฐกิจพอเพียง ก็เชื่อว่าประเทศจะประหยัดได้เยอะเหมือนกัน คือถ้าไม่ประหยัดประเทศไปไม่ได้ คนอื่นไม่ประหยัด สำหรับคณะรัฐมนตรีประหยัด คณะรองนายกฯ จะทำให้ไปได้ดีเยอะ...
1.2 ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ได้ทรงเน้นย้ำเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจ และสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัส เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 2549) และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2542 โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 มีใจความดังนี้
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัว ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน
ทั้งนี้จะต้องอาศัย ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจ ของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึก ในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (1)
1.3 หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ(2)
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้ (3)
1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อความมั่นคง และความยั่งยืน ของการพัฒนา
2. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
3. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้
(1) ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
(2) ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
(3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
4. เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
(1) เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
(2) เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
5. แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานตามข้อ 1.2 เป็นที่มาของ นิยาม 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านช่องทางต่าง ๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไข ความรู้ และ คุณธรรม
2. 75 ปี ประชาธิปไตยไทย : ไม่เคยพอเพียง
ผู้เขียนได้เคยอรรถาธิบายถึงปฐมเหตุแห่งปัญหานานาประการของการเมืองไทยไว้แล้ว (4) อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองอันล้าหลังของไทยนั้นก็มีสาเหตุมาจาก ความไม่พอเพียง ของบรรดานักการเมือง ทหาร และนักธุรกิจที่เป็นตัวละครทางการเมือง ตลอดจนบรรดาประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั่นเอง
วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยทั้งวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม แบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำ และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าของประชาชนนั้นล้วนแสดงออกซึ่งความไม่พอเพียงทั้งสิ้น กล่าวสำหรับกลุ่มชนชั้นนำผู้หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าผลัดกันเข้ามาใช้อำนาจรัฐนั้น (ส่วนใหญ่) เข้ามาพร้อมกับกระเป๋าเปล่า มาพร้อมกับความอดอยากปากแห้ง หมายมั่นปั้นมือจะกอบกอยผลประโยชน์ซึ่งควรจะเป็นของประชาชนทั้งประเทศไปเป็นของตนและพวกพ้อง ทั้งนี้โดยอาศัยความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์สำหรับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และอาศัยทั้งบุคลิกแบบอำนาจนิยมและความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์สำหรับรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร
กล่าวสำหรับประชาชนกลุ่มใหญ่ที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้านั้นก็ ขาด ความมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บริหารประเทศอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ในขณะที่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามเข้ามามีบทบาททางการเมือง ในบางครั้งก็มีส่วนร่วมจน เกิน ความพอเหมาะพอควร ด้วยการเรียกร้องประโยชน์ของปัจเจกบุคคลอย่างเมามัน อย่างสุดโต่ง อย่างขาดสติและปัญญา เรียกร้องเพื่อชัยชนะของฝ่ายตนจน หลงและลืมประโยชน์สาธารณะ
หากไล่เรียงประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับตั้งแต่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบ (ที่คณะราษฎรเรียกว่า) ประชาธิปไตย จะพบว่ากลุ่มคนที่หมุนเวียนเข้ามาบริหารประเทศไม่ว่าจะมาจากฝ่ายทหารหรือพลเรือนต่างก็สาวะวุ่นสาละวนอยู่กับการช่วงชิงอำนาจซึ่งกันและกัน โดยปรากฏชัดเจนในช่วงหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงเป็นต้นมา ในช่วงปี พ.ศ. 2489 2500 เกิดการรัฐประหารและการกบฏบ่อยครั้งที่สุด แสดงให้เห็นความสนใจของชนชั้นนำในยุคนั้นที่ต้องการเพียงเข้าสู่อำนาจการปกครองประเทศ แต่ละเลยเพิกเฉยที่จะสร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอันตอบแทนประชาชน ต่อมาเมื่อประชาชนบางส่วนเริ่มได้รับการศึกษามากขึ้น ก็พากันลุกฮือ (Uprising) ขับไล่เผด็จการในเดือนตุลาคม 2516 แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นก็แสดงให้เห็นถึง ความไม่พอเพียง ของประชาชนผู้เรียกร้อง (สิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็น) ประชาธิปไตย ประชาชนบางกลุ่มขาดความรู้สึกพอประมาณในการเรียกร้องต่าง ๆ ขาดเหตุผล แต่ใช้อารมณ์ความรู้สึกคึกคะนองตามกัน และขาดภูมิคุ้มกันที่ดีเพราะเมื่อภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่เข้ามาก็สามารถแทรกเข้าไปในหมู่ปัญญาชนใหม่ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง กลุ่มที่แตกแยกทางอุดมการณ์เป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายเข้าเผชิญหน้ากันอย่างปราศจากความยับยั้งและไตร่ตรอง
ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใด การรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครส่วนใหญ่ก็ขาดความพอเพียง ต่างทำทุกวิถีทางให้ได้ชัยชนะเข้าไปในนั่งสภา เรียกว่า ทุ่มไม่อั้น ขจัดคู่แข่งแย่งชิงมวลชนอย่างสุดโต่ง ทั้งสาดโคลน สาดเงิน บางแห่งก็สาดกระสุน เมื่อชนะแล้วก็ถอนทุนคืนหมดสิ้น (Winner take all) การเมืองที่สุดโต่งนี้ ยังเปิดให้บทบาทของ ทุน เข้ามาอย่างสุดโต่งในการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุด มีการใช้เงินมากมายมหาศาล ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง มีการแทรกแซงสื่อมวลชน องค์กรอิสระ ทำลายระบบควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญหมดสิ้น จนทำให้ความสมดุลของโครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่รัฐธรรมนูญวางไว้เสียไป
เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมาวิกฤตการณ์ทางการเมืองก็อุบัติขึ้นอีกคราหนึ่ง จะเกิดขึ้นจากบุคคลใดหรือกลุ่มใดผู้เขียนไม่ขอกล่าว (หา) ถึง แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงท่านทั้งหลายคือ ปรากฏการณ์ การเผชิญหน้าของพสกนิกรที่ต่างก็อ้างเอา ความจงรักภักดี เป็นอาวุธเพื่อหมายจะทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม โดยมิได้คำนึงถึงเหตุและผล มิได้ใช้โยนิโสมนสิการ (ใช้สติและปัญญาคิดให้รอบคอบแยบคาย) ว่าทั้งสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ที่ต่างดึงลงมาให้ทรงมีฝักมีฝ่ายทางการเมืองนั้น จะทรงระคายเคืองเบื้องบรมบาทยุคลเป็นพ้นนัก ผู้เขียนมิขอกล่าวซ้ำในรายละเอียดซึ่งได้เคยนำเสนอไปแล้ว ณ จุดนี้ผู้เขียนขอกล่าวเพียงว่าการกระทำของบางกลุ่มนั้นแสดงให้เห็นว่า มิได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัส พอเพียง มาใส่เกล้าใส่กระหม่อมและดำเนินตามให้สมกับที่อ้างตนว่าเป็นผู้จงรักภักดี
3. สู่อนาคตที่สดใสด้วยประชาธิปไตยแบบพอเพียง
สืบเนื่องจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ความตอนหนึ่งว่า
...ถ้าเข้าใจที่พูดที่ทำอะไรอันนี้ เป็นพรที่ดีที่สุด แล้วก็พอใจ ในเรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องข้าวเท่านั้นเอง ในเรื่องด้านปกครองทั้งหลาย ในด้านวิชาการอื่น ๆ ทั้งหลายมันก็มีพอเพียงเหมือนกัน อย่างทางโน้นพูดถึงรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มีรัฐศาสตร์พอเพียงก็มีเหมือนกัน ถ้าไม่พอเพียงถึงใช้ไม่ได้ ทำให้เละเทะไปหมด ถ้างั้นก็เลยพูดตะล่อมให้กลับใจว่า ให้พอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจ ให้พอเพียงในความคิดและทำอะไรพอเพียงสามารถที่จะอยู่ได้
บันดาลให้ผู้เขียนบังเกิดธรรมจักษุ หรือดวงตาเห็นธรรมว่า แท้จริงแล้วแนวพระราชดำริ พอเพียง นี้เองที่จะเป็นทางออกของปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย
ดังได้กล่าวในบทความเรื่อง วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง: แนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย อันเป็น มัชฌิมบท แล้วว่าผู้เขียนจะได้นำเสนอแนวทางการหาจุดสมดุลของการนำเข้าหลักการต่าง ๆ ของตะวันตกและการผดุงไว้ซึ่งความเป็นสังคมประชาธิปไตยของไทยอย่างยั่งยืนในบทความชิ้น ปัจฉิมบท นี้
แนวทางประชาธิปไตยแบบพอเพียง (Sufficiency Democracy) นี้ก็คือ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาผสานเข้ากับแนวคิด ทฤษฎีและหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากจะเปรียบการเมืองการปกครองประเทศเป็นเหมือนรถยนต์ ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นระบบเครื่องยนต์ซึ่งขับเคลื่อนรถให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ส่วนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เปรียบดั่งระบบห้ามล้อ หรือระบบเบรค ที่คอยยับยั้งไม่ให้รถแล่นเร็วจนเกินไป และให้รถหยุดเมื่อกำลังจะเกิดอันตราย
ประชาธิปไตยที่จะพอเหมาะพอเจาะ สอดรับกับสภาพทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองของไทยได้นั้นจะต้องประกอบด้วย คุณลักษณะ 3 ประการคือ
1. ประชาธิปไตยสายกลาง เป็นประชาธิปไตยที่พอประมาณ เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มาก (เข้มข้น) เกินไป ไม่น้อย (เจือจาง) เกินไป แต่เป็นประชาธิปไตยที่พอเหมาะพอควรแก่สถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง ไม่ใช่แนวทางสุดโต่ง(5) ใช้หลักอหิงสาไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่หาความสุข เรียกร้องผลประโยชน์บนความทุกข์ ความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่เบียดบังผลประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตน
2. ธรรมาธิปไตย(6) เป็นประชาธิปไตยที่ถือธรรม หรือเหตุผล ความถูกต้องเหมาะสมเป็นใหญ่เป็นประธาน หาใช้เพียงแต่เสียงของประชาชนข้างมากแต่ถ่ายเดียว ไม่หวั่นไหวไปตามกระแส ตามเสียงนินทาฤๅสรรเสริญ เพราะหลายครั้งหลายคราที่เสียงข้างมากอาจไม่ใช่เสียงของความถูกต้อง เป็นประชาธิปไตยที่ต้องกอปรด้วยสติและปัญญาเป็นเครื่องกำกับเสมอ ทั้งผู้นำและประชาชน ต้องมีโยนิโสมนสิการ หรือการคิดอย่างแยบคาย คือพิจารณาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ ไม่ใช้ความพึงพอใจ หรืออารมณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง
3. ประชาธิปไตยที่มีภูมิคุ้มกัน เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ประมาท เป็นประชาธิปไตยที่รู้เท่า รู้ทันและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นประชาธิปไตยที่ยืดหยุ่น เลือกรับและผสมผสานหลักการของตะวันตกที่สอดคล้องกับสังคมไทย สามารถก้าวทันและพร้อมรับกับกระแสโลกาภิวัตน์
คุณลักษณะของประชาธิปไตยแบบพอเพียงทั้ง 3 ประการนี้ยังต้องประกอบด้วย เงื่อนไข 2 ประการ คือ
1. ความรู้ เป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามหลักวิชา ความเข้าใจของผู้ใช้ประชาธิปไตยต้องไม่คลาดเคลื่อนไปจากอุดมการณ์ที่แท้จริงของประชาธิปไตย ต้องไม่นำประชาธิปไตยมาแอบอ้างบังหน้าเพื่อล้มล้างฝ่ายตรงข้าม แย่งชิงอำนาจกันเอง หรือเพื่อนำประเทศไปสู่ระบอบการปกครองอื่นอันไม่พึงปรารถนา
2. คุณธรรม มุ่งเน้นที่ตัวผู้นำ ผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนต้องมีคุณธรรมประจำใจ ประการหนึ่งคือทศพิธราชธรรม และ พรหมวิหารธรรม ซึ่งมีผู้เข้าใจผิดกันมากว่าเป็นธรรมะสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น แท้จริงแล้วเป็นธรรมะของผู้ปกครอง ผู้เป็นใหญ่ในทุก ๆ ระดับพึงนำมาเป็นเครื่องกำกับ เป็นกรอบการใช้อำนาจแห่งตน นอกเหนือจากกฎหมายซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้งน้อยกว่า
แนวทางประชาธิปไตยแบบพอเพียงนี้จะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้ถูกนำมาปฏิบัติทั้ง 2 ภาคส่วนของการเมืองการปกครองนั่นคือ
1. ภาคส่วนของกฎเกณฑ์และสถาบัน (Hardware) การออกแบบโครงสร้างสถาบันการเมือง องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจ การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ นั้นจะต้องคิดออกแบบด้วยแนวทางประชาธิปไตยแบบพอเพียง โดยคำนึงถึงโครงสร้างส่วนล่างหรือโครงสร้างพื้นฐานของสังคมไทยให้มาก เพราะรัฐธรรมนูญของไทยนั้นมี บริบท ที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญของตะวันตกอยู่ประการหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของไทยนั้นมี ไส้ใน เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรแทรกอยู่ นั่นคือ กลุ่มต่าง ๆ ในสังคมซึ่งเป็น พลังขับเคลื่อน ระบบการเมืองการปกครองของไทยมาตลอด 75 ปี ได้แก่
1. สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรง ปกเกล้า เหล่าพสกนิกรด้วยความร่มเย็นเป็นสุข สมดังเนื้อเพลงภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา ที่ว่า
อ้าองค์สุริศรีมีธรรมส่อง ปกครองอย่างทรงพระเมตตา ดุจบิดร เหล่าประชาทุกข์ร้อนใด ๆ กรายมา โอ้ฟ้าเป็นดั่งฝนดับไฟ...
2. พี่น้องประชาชนกลุ่มอาชีพเกษตรกรในต่างจังหวัดและกลุ่มอาชีพรับจ้างในกรุงเทพมหานคร ซึ่งคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 80 ของสังคมไทย ซึ่งเป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในแต่ละครั้ง
3. กลุ่มคนชั้นกลาง ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจ นายทุนและปัญญาชน นักวิชาการ ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 10 ของสังคม กลุ่มนี้จะเป็นตัวชี้ขาดการดำรงอยู่ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม
4. กลุ่มข้าราชการ ซึ่งหมายรวมถึง กองทัพ
พลังขับเคลื่อน กงล้อแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้ง 4 อานุภาพนี้ ขอเรียกว่า รัฐธรรมนูญจัตวานุภาพ (7)
ตัวอย่างการแสดงพลังของรัฐธรรมนูญจัตวานุภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ ปรากฏการณ์การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 สาเหตุ (ส่วนหนึ่ง) เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญปี 2540 เองที่ปฏิรูประบบการเมือง โดยดึงกลุ่มนายทุน ชนชั้นกลาง และกลุ่มข้าราชการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทหาร) ออกจากระบบการเมือง คือออกจากวุฒิสภาในระบบแต่งตั้งเดิม (ซึ่งผสานเข้ากับวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยได้เป็นอย่างดี) วุฒิสภาซึ่งเคยเป็น เวที ให้คนกลุ่มนี้ได้แสดงออกถูกปิดลง ดังนั้น เกลียว ที่ถูกขันจนเขม็งถึงที่สุดจึงแตกออก ยังผลให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแตกสลายลงในชั่วข้ามคืน พร้อมกับการที่จัตวานุภาพกลุ่มที่ 4 ทวงบทบาทของตนกลับคืนมา
ในเมื่อกฎหมายมีหน้าที่ประการหนึ่งคือ หน้าที่จัดสรรทรัพยากร (Allocation of Resources) ให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) ทุกกลุ่มในสังคมอย่างเป็นธรรม ทางหนึ่งที่จะลดความเขม็งเกลียวลงได้คือการ ออกแบบรัฐธรรมนูญโดยแบ่งสรรทรัพยากรให้กลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่มในสังคมอย่างเหมาะสม พอเหมาะพอควรกับบริบททางการเมืองของไทยซึ่งไม่เหมือนที่ใดในโลก จึงไม่อาจออกแบบรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองโดย นำเข้า หลักการและหลักกฎหมายจากตะวันตกมา ทั้งดุ้น โดยไม่ปรับปรุงให้พอเหมาะสอดรับกับสังคมการเมืองของไทย แต่ทั้งนี้โดยไม่คลาดไปจากอุดมการณ์หลักคืออุดมการณ์ประชาธิปไตย
ดังนั้น สิ่งหนึ่งซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงอยู่เสมอคือ หลักประชาธิปไตย ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย หลักการของประชาธิปไตย และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญจะต้อง ไม่ทิ้ง องค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งของหลักประชาธิปไตยเสีย และยิ่งไปกว่านั้นคือ กฎหมายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และ รัฐธรรมนูญเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง ซึ่งต่างมีอิทธิพล ผลสะท้อนซึ่งกันและกัน การร่างกฎหมายจึงปฏิเสธเสียไม่ได้ที่จะต้องคำนึงถึง ความเหมาะสม ของแต่ละสังคมซึ่งมีที่มาทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี อุปนิสัยใจคอของคนในชาติที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น กำแพง ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่ายุคใดสมัยใดต้องข้ามผ่านไปให้จงได้คือการผสาน หลักการตะวันตก เข้ากับ คนตะวันออก อย่างพอเหมาะ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน โดยไม่สูญเสียความเป็นประชาธิปไตย เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยที่ยั่งยืน มิใช่ประชาธิปไตยเพียง 8 ปี 11 เดือน 8 วัน
2. ภาคส่วนของวัฒนธรรมทางการเมือง (Software) ขอเพียงให้ คน ที่เข้ามาใช้อำนาจแทนรัฐ ในนามของรัฐ ได้ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง และด้วยใจเป็นธรรม ขอให้ทุกฝ่ายจงน้อมนำ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรัส มาเป็นธงนำในการดำเนินชีวิต เพียงเท่านี้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยก็จะบังเกิดเป็นจริงขึ้นได้ เมื่อนั้นสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบก็จะถูกสถาปนาขึ้นและธำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เหมือนดั่งนานาประเทศที่มีสังคมประชาธิปไตยอันเข้มแข็งมาหลายร้อยปี
ในบทความ ไตรภาค ทั้ง 3 ชิ้นนี้ ผู้เขียนหมายใจจะวิเคราะห์ปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยและพยายามเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน เท่าที่กำลังสติปัญญาความสามารถของผู้เขียนจะพึงทำได้ มิได้ต้องการตำหนิสิ่งที่ผ่านไปแล้วแต่อย่างใด และหวังใจเพียงว่าข้อเสนอทางวิชาการของผู้เขียนจะเป็นดั่งแสงเทียนเล่มเล็กที่ถูกจุดขึ้นท่ามกลางความมืดมิดของประชาธิปไตยไทย
ในท้ายที่สุดนี้ ขอเดชะอำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยอันศักดิ์สิทธิ์ และมหิทธิฤทธิ์แห่งเทพยดาอารักษ์ทั่วจักรวาล ด้วยบุญญาภินิหารแห่งพระสยามเทวาธิราช คุ้มครองพระเศวตฉัตรและสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ด้วยอำนาจแห่งพระราชกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญปฏิบัติดุจพระโพธิสัตว์ สะสมทศบารมี โปรดประชุมบันดาลอภิบาลรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อีกทั้งพระบรมราชจักรีวงศ์ ให้ทรงสมบูรณ์พูนสุขด้วยจตุรพิธพร พระเกียรติยศจงแผ่ขจรไปทั่วทุกทิศานุทิศ พระราชปรารถนาให้พสกนิกรสามัคคีร่มเย็นจงเป็นผลสัมฤทธิ์ หมู่ปัจจามิตร ที่หวังประทุษร้ายต่อพระบรมเดชานุภาพจงพ่ายแพ้แก่ทศพิธราชธรรมจรรยา และพระราชสัมมาปฏิบัติ ขอทรงสถิตเป็นร่มฉัตรปกเกล้า ปกกระหม่อมชาวไทยให้พ้นจากทุกข์ร้อนและภัยพาล ขอทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจให้บังเกิดความสมานฉันท์แกล้วกล้า อีกทั้งขอทรงเป็นพลังแห่งแผ่นดินดุจธวัชฉัตรธงนำหน้าขับเคลื่อนสยามรัฐสีมาอาณาจักร ให้สามารถปกปักรักษาอิสราธิปไตยแห่งพระราชอาณาเขต และพัฒนาประเทศไปสู่ความรุ่งโรจน์อย่างยั่งยืนทุกสถาน ตราบนิรันดร์เทอญ
เชิงอรรถ
(1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร (กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2547), หน้า 6 7
(2) เรื่องเดียวกัน, หน้า 13
(3) เรื่องเดียวกัน, หน้า 14 17
(4) โปรดดู ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์, วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย : รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งยังไม่เคยถูกยกเลิก, ใน รวมบทความกฎหมายมหาชน จากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 6 (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2550), หน้า 305 326
(5) ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรที่หมุนกงล้อแห่งธรรม) พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงถึงแนวทางปฏิบัติบำเพ็ญตนอันพึงหลีกเลี่ยงแนวทาง สุดโต่ง 2 แนวทาง คือ กามสุขัลลิกานุโยค (การแสวงหาความสุขทางโลก) และ อัตตกิลมถานุโยค (การบำเพ็ญตบะทรมานตนเอง) อันเป็นแนวทางที่หย่อนและตึงเกินไป แต่พึงบำเพ็ญโดยมัชฌิมาปฏิปทา (แนวทางสายกลาง) นั่นคืออริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อนั้นพราหมณ์โกณฑัญญะก็เกิดธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม) บรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า อญฺญฺาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญฺ (โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ) พราหมณ์โกณฑัญญะจึงทูลขอบวช พุทธองค์ประทานอนุญาตโดยรับสั่งว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นปฐมสาวกในบวรพระพุทธศาสนา วิธีการที่พระพุทธเจ้าบวชให้นี้รู้จักกันต่อมาว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ที่เล่ามายาวเหยียดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ทางสายกลาง นี้เองเป็นธรรมะอันสำคัญที่เป็นแก่นแห่งพระพุทธศาสนา ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์สาม ยังผลให้พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น ทำให้กงล้อแห่งธรรมเริ่มหมุน การเผยแผ่พระพุทธศาสนาจึงเริ่มขึ้นนับแต่วันเพ็ญเดือน 8 เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราชนั่นเอง
(6) โปรดดู สโรช สันตะพันธุ์, พระพุทธศาสนากับหลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน, ใน รวมบทความกฎหมายมหาชน จากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 6, หน้า 99 111
(7) จัตวา แปลว่า สี่, อานุภาพ แปลว่า อำนาจ ความยิ่งใหญ่ จัตวา + อานุภาพ = จัตวานุภาพ เป็นคำสมาสแบบสระสนธิ แปลจากคำหลังไปคำหน้า เพราะคำหลังเป็นคำหลัก คำหน้าเป็นคำขยาย แปลว่า อำนาจทั้งสี่
บรรณานุกรม
กองบรรณาธิการ INN. กษัตริย์นักประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ
สังคมแห่งชาติ, 2548
ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์. วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย : รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งยังไม่เคยถูกยกเลิก. ใน รวม
บทความกฎหมายมหาชน จากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 6. กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,
2550 : 305 326
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. พระผู้ทรงปกเกล้าประชาธิปไตย : 60 ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย.
กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549
ประมวล รุจนเสรี. สมดุลประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547
ราชบัณฑิตยสถาน. ใต้ร่มพระบารมี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช. กรุงเทพฯ : คณะบรรณาธิการจัดทำ
สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย, 2547
สโรช สันตะพันธุ์. พระพุทธศาสนากับหลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน. ใน รวมบทความกฎหมายมหาชน จาก
เว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 6. กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2550 : 99 111
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม. หลักการเสริมสร้างคุณธรรมตามแนวปรัชญา
เศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, 2549
สุนทร กุลวัฒนวรพงศ์. เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2544
สุเมธ ตันติเวชกุล. เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ. ใน ใต้เบื้องพระยุคลบาท. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ
: สำนักพิมพ์มติชน, 2544
อภิชัย พันธเสน. สังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ
วิจัย, 2549
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|