หน้าแรก บทความสาระ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ‘การซื้อสิทธิขายเสียง’ ในการเลือกตั้ง โดย คุณณัฐกร วิทิตานนท์
ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
9 ธันวาคม 2550 03:19 น.
 
ปัญหา ‘ทุจริต คอรัปชั่น’ มักถูกใช้เป็นข้ออ้างสำคัญของการก่อ ‘รัฐประหาร’ อยู่เสมอ (ทั้งไทยและเทศ) แทบทุกครั้ง พร้อมชุดคำอธิบายสำเร็จรูป (น่าจะเฉพาะของไทย) ว่าเป็นผลพวงจากการเททุ่ม ‘ซื้อเสียง’ ขนานใหญ่ของเหล่านักการเมือง / พรรคการเมืองก่อนหน้า เพื่อแข่งขันกันแสวงหา ‘อำนาจ’ ใช้อำนวยความสะดวกในการ ‘ถอนทุน’ คืนภายหลัง เท่านั้นไม่พอยังต้องหา ‘กำไร’ ตุนเอาไว้ใช้เป็นทุนรอนสำหรับซื้อเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีก
       ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนกล่าวถึงมันว่าเป็น ‘ธนาธิปไตย’ บ้าง เป็น ‘ธนกิจการเมือง’ บ้าง แต่ต่างก็หมายถึงการเมืองที่ เงิน เป็นใหญ่ (Money Politics) นี่เอง แม้กระทั่งตัวรัฐธรรมนูญก็ยังมองเช่นนั้น มาตรการหลายข้อที่มีออกมาล้วนเน้นมุ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นฉบับปี 40 ที่เพิ่งจะถูกฉีกทิ้งไป หรือฉบับปี 50 ที่เพิ่งจะได้มาใหม่ก็ตามแต่
       อนึ่ง งานทางวิชาการมากมาย ล้วนบ่งชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในชนบท ยังคงยึดถือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลใน ระบบอุปถัมภ์ (Patron–Client Relationship) เป็นด้านหลัก รูปธรรม อย่างเช่น การตัดสินใจเลือกผู้แทนกลับตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอามิสสินจ้าง หรืออื่นๆ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ ‘ส่วนตัว’ มากกว่า ‘ส่วนรวม’ เป็นต้น
       ประโยคที่ว่า เงินไม่มา กาไม่เป็น คงพอจะใช้รวบรัดสรุปถึงลักษณะข้างต้นได้อย่างดี การซื้อสิทธิขายเสียง จึงเข้าทำนอง ปรบมือข้างเดียว มันคงไม่ดัง หากไม่มี ‘ผู้ (อยาก) รับ’ ย่อมไม่มี ‘ผู้ (อยาก) ให้’ แน่ๆ ด้วยเหตุนี้เอง หลายฝ่ายถึงกับผลักดันให้มีการเอาผิดกับฝ่าย ‘ผู้รับ’ เสียที ภายใต้มายาคติของ ‘ชนชั้นนำ’ ผู้ยึดกุมอำนาจบ้านเมืองห้วงนี้ที่เชื่อว่าชาวบ้านยัง ‘โง่เขลา’ จึงมักแสดงพฤติกรรมอันไม่เป็นประชาธิปไตยต่างๆ ออกมา การ ‘ขายเสียง’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น
       การเลือกตั้งทั่วไปหนนี้ จึงนับเป็นครั้งแรก (สำหรับการเลือกตั้งระดับชาติ) ซึ่ง ‘กฎหมายเลือกตั้ง’ อันได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 พยายามเข้ามาแสดงบทบาทควบคุมมิให้เกิดพฤติกรรมเอื้อเสริมเช่นว่าอีก ด้วยการกำหนดให้การรับเงินถือว่ามีความผิดทางอาญา จากเดิมที่เคยระบุข้อห้ามต่างๆ ของเฉพาะฝ่าย ‘ผู้ให้’ เอาไว้แค่นั้น * โดยไม่เคยเอาผิดกับ ‘ผู้รับ’ มาก่อนเลย
       
       มาตรา 77 “ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกตั้งหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด”
       

       มาตรา 152 “ผู้ใดฝ่าฝืน ... มาตรา 77 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
       ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง หรือภายหลังวันเลือกตั้งไม่เกินเจ็ดวัน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”
       

       
       อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นประชาชนให้ช่วย ‘เป็นหูเป็นตา’ กับทางฝ่ายบ้านเมือง มาตรการจูงใจจึงต้องมี ดังที่ มาตรา 137 ถึงขนาดเสนอให้ เงิน สินบนนำจับแก่ ‘พยาน’ ถ้าหาก “ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืน (มาตรา 53) ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ” เลยทีเดียว
       แต่ทว่า ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (อบจ., เทศบาล, อบต. และ กทม. กับเมืองพัทยา) เรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ได้บัญญัติให้การกระทำเช่นนี้เป็นความผิดมานานเกือบ 5 ปีเต็มแล้ว (มาตรา 82) ซึ่งลงโทษเบากว่ามาก คือ เพียงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเท่านั้น (มาตรา 128) กระนั้นก็ยังคงหาได้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนการให้สินบนนำจับอย่างในปัจจุบันนี้แต่ประการใด
       จากข้อเท็จจริงเชิงปฏิบัติที่ผ่านๆ มา ความผิดของ ‘ผู้รับ’ นั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อเกิดการกระทำความผิดโดย ‘ผู้ให้’ ขึ้นก่อน เป็นต้นว่ามีการแจกเงินซื้อเสียงไม่ว่าสักกี่มากน้อย, ให้เงินใส่ซองหรือเอาของขวัญมอบในโอกาสต่างๆ เช่น งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญ งานเทศกาล งานศพ เป็นต้น (นำเอา ‘พวงหรีด’ วางคารวะ ‘ศพ’ ก็จัดว่าเข้าข่าย), แจกจ่ายสิ่งของ เช่น ปฏิทิน เสื้อกีฬา นาฬิกา ฯลฯ, พาชาวบ้านไปเที่ยวหรือทัศนศึกษาต่างจังหวัด ชนิดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด, ยอมให้เดินทางโดยรถโดยสารฟรี, การลดราคาหรือไม่คิดเงินค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ เป็นอาทิ แนวทางคำวินิจฉัยของทาง กกต. ที่ทยอยมีออกมา ล้วนเห็นว่ากระทำทั้งหมดข้างต้นนี้ เท่ากับเป็นการทุจริตเลือกตั้งในส่วนของการ ‘ซื้อเสียง’ (ตาม มาตรา 57 (1) ของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ใกล้เคียงกับ มาตรา 53 (1) ของกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ดังกล่าวไว้แล้วในเชิงอรรถก่อนหน้า) ทั้งสิ้น
       ทั้งนี้ ผลกระทบสำหรับผู้สมัครฯ ซึ่งถูกร้องเรียนที่ทาง กกต. วินิจฉัยว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายข้อนี้ นับว่าหนักหนาเอาการมาก เพราะไหนตัวเองจะต้องถูก ใบแดง แล้ว ก็ยังจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (10 ปี) ถูกดำเนินคดีอาญา (จำคุก 1-10 ปี / ปรับ 20,000-200,000 บาท) รวมถึงจำต้องชดใช้ค่าเสียหายในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกด้วย เหมือนๆ กันทั้งกรณีของการเลือกตั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น
       แน่ละ ‘ผู้ซื้อ’ ตามกรณีต่างๆ ข้างต้น หาใช่แต่เพียงตัว ‘ผู้สมัคร’ กระทำการเอง หากทว่ายังรวมถึงการกระทำผ่าน ‘ตัวแทน’ (หัวคะแนน) ของผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยภรรยา หรือเครือญาติ หรือทีมงานของผู้สมัครแทน ก็จะต้องโดนข้อหาคดีอาญาเฉกเช่นกัน ขณะที่ผู้รับผลประโยชน์ใดๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น หรืออาจจะเรียกว่า ‘ผู้ขาย’ นั้น ก็ย่อมเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอาญาและอาจจะถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ง่ายๆ อย่างยากจะหลีกเลี่ยง
       พิจารณาเฉพาะกรณี จังหวัดเชียงราย คดีความเกี่ยวกับการ ‘ซื้อเสียง’ จนนำไปสู่คำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ส่วนกลาง) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา (2546-2550) พบว่าเฉพาะกรณีที่ผู้สมัครฯ ต้องถูก ใบแดง นั้น มี 7 กรณี ด้วยกัน โดย 2 ใน 7 กรณี กกต. ให้ดำเนินคดีอาญากับทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้สมัครฯ / หัวคะแนน / ผู้รับ จากการให้เงิน (หัวละแค่ 50 บาท) [คำวินิจฉัยสั่งการ กกต. ที่ 272/2550] และการแจกเนื้อหมู (เพียงไม่กี่กิโล) [คำวินิจฉัยสั่งการ กกต. ที่ 2962/2548]
       ถึงขณะนี้ ทั้ง 2 คดีข้างต้น ก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล (ชั้นต้น) อยู่เลย !!!
       
ส่วนอีก 5 เรื่องที่เหลือนั้น ทาง กกต. เชื่อว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในฐานะ ผู้รับ หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยไม่ (โปรดดูรายละเอียดในภาคผนวกข้างท้าย)
       ที่ผ่านมา เรามักลืมมองไปว่า ปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่นี้หาใช่เรื่องใหม่ หากแม้สังคมที่ก้าวหน้าและมีความเข้มแข็งทาง ‘ประชาธิปไตย’ แล้ว ก็ยังต้องประสบพบผ่านมาก่อนทั้งนั้น ซึ่งต้องใช้ ‘เวลา’ ช้าบ้างเร็วบ้างตามแต่บริบททางสังคมต่างๆ และชวนให้ย้อนนึกถึงรายการ กรองสถานการณ์ ทางโทรทัศน์ช่อง 11 ในค่ำคืนหนึ่งที่ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เล่ากล่าวทัศนะจากนักวิชาการชาวแอฟริกัน ซึ่งเลือกมองปัญหาใหญ่ในสายตาของเราท่านด้วยแง่มุมดีๆ ว่า “เพราะเสียงของประชาชนมีคุณค่า นักการเมืองถึงต้องมาหาซื้อกัน” ถึงอย่างไรเสียมันก็น่าจะยังดีกว่าการมี “นักการเมืองที่มองไม่เห็นหัวประชาชน” (แบบในทวีปแอฟริกา - ผู้เขียน) แน่นอน
       ยิ่งไปกว่านั้น การฝากความไว้วางใจมหาศาลกับผอง ‘คนดี’ ที่เข้ามาโดยกระบวนการซึ่งเชื่อมั่นว่า สุจริตและเที่ยงธรรม เช่นนี้ ก็หามีสิ่งใดที่พอจะการันตีให้ประชาชนคลายใจได้ว่า ‘ผู้ไม่ซื้อเสียง’ เหล่านั้น จะมิเผลอไผลหลงมัวเมาไปในรสชาติหอมหวานของ ‘อำนาจ’ ที่ใครๆ ก็บอกว่ามัน ‘มหัศจรรย์’ ยิ่งนัก
       
       เชิงอรรถ
       
       * เช่น ตาม มาตรา 53 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
       (1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
       (2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
       (3) ทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
       (4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
       (5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
       ความผิดตาม (1) หรือ (2) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้
       
       ภาคผนวก : ย่อ คำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้งเกี่ยวกับ
       ‘การซื้อสิทธิขายเสียง’ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
       คำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 360/2546
ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2546
       ผู้ร้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดว่าระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ตัวแทน (หัวคะแนน) ของผู้ถูกร้องเรียนได้นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเที่ยวชายทะเลบางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงแก่ตนเอง
       คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาจากรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าในระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ผู้ถูกร้องเรียนได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ตัวแทน(หัวคะแนน) ของผู้ถูกร้องเรียน ได้นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเที่ยวชายทะเลบางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงแก่ตนเองจริง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกร้องเรียนเป็นเวลา 1 ปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนบุคคลดังกล่าว และให้ผู้ถูกร้องเรียนชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกร้องเรียนและตัวแทนของผู้ถูกร้องเรียนที่จัดให้มีนำเที่ยวดังกล่าวต่อไป
       คำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 1173/2546 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2546
       
ผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดว่าระหว่างวันที่ 24 ถึง 31 กรกฎาคม 2546 ผู้ถูกร้องเรียนได้ให้พวงหรีดที่มีข้อความว่า ”กลุ่มก้าวพลังพัฒนา” ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลที่ผู้ถูกร้องเรียนร่วมหาเสียงเลือกตั้งอยู่ด้วยให้แก่เจ้าภาพงานศพ เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงแก่ตน
       คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาจากรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนได้ร่วมกันหาเสียงเลือกตั้งในนาม ”กลุ่มก้าวพลังพัฒนา” และในระหว่างวันที่ 24 ถึง 31 กรกฎาคม 2546 ผู้ถูกร้องเรียนได้ให้พวงหรีดที่มีข้อความว่า ”กลุ่มก้าวพลังพัฒนา” แก่เจ้าภาพงานศพในเขตเลือกตั้ง เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนแก่ตนเอง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ถูกร้องเรียนเป็นเวลา 1 ปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนบุคคลดังกล่าวและให้ผู้ถูกร้องเรียนชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกร้องเรียน
       คำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 432/2547 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2547
       
ผู้ร้องเรียนร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2547 ผู้ถูกร้องเรียนได้บริจาคเงินทำบุญงานศพ นาย ค. จำนวน 300 บาท เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิให้ลงคะแนนเสียงแก่ตน และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 เวลาประมาณ 19.30 น. ผู้ถูกร้องเรียนได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลในตำบล และได้มอบเงิน 5,000 บาทให้แก่คณะกรรมการหมู่บ้าน พร้อมสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินแก่หมู่บ้านหลายรายการ เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงแก่ตน
       คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาจากรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำความผิดตามคำร้องเรียนจริง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ถูกร้องเรียนเป็นเวลา 1 ปี และให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกร้องเรียนต่อไป ตลอดจนให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนบุคคลดังกล่าว และให้ผู้ถูกร้องเรียนชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่
       คำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 433/2547 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2547
       
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงรายได้รับคำร้องเรียนว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เนื่องจากผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำความผิดต่างๆ เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงแก่ตน ดังนี้
       1. เมื่อประมาณวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ผู้ถูกร้องเรียนได้สนับสนุนเสื้อกีฬาให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สำหรับใช้ในการแข่งขันกีฬาประชาชน
       2. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2546 ผู้ถูกร้องเรียนได้สนับสนุนเสื้อกีฬาให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
       3. เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2546 ถึงเดือนมกราคม 2547 ผู้ถูกร้องเรียนได้แจกปฏิทินให้แก่ประชาชนในเขตเลือกตั้ง
       ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าระหว่างวันที่ 15 ธันวาคมถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2546 ผู้ถูกร้องเรียนได้สนับสนุนเสื้อกีฬาให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงแก่ตนจริง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี และดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกร้องเรียน รวมถึงให้ผู้ถูกร้องเรียนชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ส่วนข้อกล่าวหาอื่นให้ยก
       คำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 253/2548 ลงวันที่ 12 มกราคม 2548
       ผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดว่าเมื่อวันที่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2547 เวลาประมาณ 06.00 น. พยานเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ชำระค่ารองเท้าที่ซื้อเชื่อไว้กับผู้ถูกร้องเรียนและภรรยาของผู้ถูกร้องเรียนเป็นจำนวนเงิน 100 บาท ที่ร้านขายของชำของผู้ถูกร้องเรียน แต่ผู้ถูกร้องเรียนและภรรยาผู้ถูกร้องเรียนกลับส่งเงินดังกล่าวคืนพร้อมพูดว่า “อย่าลืมเลือกเบอร์ 2“ เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงแก่ตนเอง
       คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาจากรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2547 เวลาประมาณ 06.00 น. ผู้ถูกร้องเรียนและภรรยาของผู้ถูกร้องเรียนได้ร่วมกันกระทำความผิดจริง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องเรียนเป็นเวลา 1 ปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนบุคคลดังกล่าว และให้ผู้ถูกร้องเรียนชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกร้องเรียนและภรรยาของผู้ถูกร้องเรียน
       คำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 2962/2548 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548
       
ผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดว่าเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2548 ผู้ถูกร้องเรียนได้ชำแหละเนื้อสุกร และให้เนื้อสุกรแก่หัวคะแนนของตนนำไปให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงแก่ตน
       คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาจากรายงานการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนได้ชำแหละเนื้อสุกรแล้วให้หัวคะแนนของตนเองนำเนื้อดังกล่าวไปแจกจ่ายแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหมู่บ้านของตนเอง เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนแก่ตนเอง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องเรียนเป็นเวลา 1 ปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนบุคคลดังกล่าว และให้ผู้ถูกร้องเรียนชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่ไม่เกินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกร้องเรียน ผู้แจกเนื้อสุกร และผู้ที่ได้รับเนื้อสุกร
       คำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 272/2550 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2550
       
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับการร้องเรียนว่า ผู้ถูกร้องเรียนได้ให้ตัวแทนนำเงินไปให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง จำนวน 50 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนแก่ผู้ถูกร้อง และทีมงาน
       คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรายงานการสืบสวนสอบสวนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามการสืบสวนสอบสวนมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนให้เงิน 50 บาทแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจริง เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนแก่ผู้ถูกร้องเรียนโดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่แจกเงินนั้น เป็นผู้สนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้ถูกร้องเรียน และยังมีความสัมพันธ์เป็นหลายสะใภ้ของสามีของผู้ถูกร้องเรียน จึงมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องเรียนเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำ หรือสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว ซึ่งทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม จึงมีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ถูกร้องเรียนเป็นเวลา 1 ปี และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งดังกล่าว จำนวน 1 คน โดยให้ทางผู้ถูกร้องเรียนชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกร้องเรียน ผู้แจกเงิน และผู้รับเงินด้วย
       
       ธีระวัฒน์ ปาระมี
       สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงราย


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544