หน้าแรก บทความสาระ
รายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ.2007โดยคณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
นางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม (นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขากฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัย Paris XII ประเทศฝรั่งเศส)
15 ตุลาคม 2550 00:08 น.
 
การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่แห่งสาธารณรัฐที่ห้าของประเทศฝรั่งเศสได้ผ่านไปกว่าครึ่งปี โดยประธานาธิบดีคนใหม่คือ นายนิโกลาร์ ซาโกซี่ (Nicolas SARKOZY) และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพิ่งจะเผยแพร่รายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดี (1) ที่ได้จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2007 (การออกเสียงลงคะแนนรอบแรก) และวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 (การออกเสียงลงคะแนนรอบสอง) และในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปลายปีที่จะถึงนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะกล่าวถึงการกำกับดูแลการเลือกตั้งโดยทั่วไปในฝรั่งเศส พร้อมทั้งนำประเด็นที่น่าสนใจของรายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง
       
       1. องค์กรที่ทำกำกับดูแลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
       
       ในฝรั่งเศส องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งต่างๆดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อยมีหลายหน่วยงาน กล่าวคือ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (Le Conseil supérieur de l’audiovisuel) คณะกรรมการพิจารณาผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (La Commission des sondages) คณะกรรมการตรวจบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งและการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง (La Commission nationale des comptes de campagne et des financements politiques) องค์กรอิสระดังกล่าวข้างต้นเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ อีกสององค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยเฉพาะ คือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Le Conseil Constitutionnel) และ คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งชาติ (La Commission nationale de contrôle de la campagne présidentielle – CNCCEP) โดยแต่ละองค์กรต่างก็มีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการกำกับและดูแลให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
       
       • คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Le Conseil Constitutionnel)
       
       มาตรา 58 รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 ให้อำนาจแก่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดูแลตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบข้อร้องเรียนที่ได้รับจากองค์กรอิสระอื่นๆข้างต้นและเป็นผู้ประกาศผลการเลือกตั้ง และตามมาตรา 3 รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962 ว่าด้วยการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ให้อำนาจแก่ตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดูแลตรวจสอบเรียบร้อยของกระบวนการและขั้นตอนต่างๆที่เกิดขึ้นก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
       
       • คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งชาติ ( La Commission nationale de contrôle de la campagne présidentielle)
       
       คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในแต่ละครั้ง โดยรัฐกฤษฎีกาฉบับบวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1964 และรัฐกฤษฎีกาฉบับวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2001 เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำหน้ากำกับดูแลการบังคับใช้รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962 โดยเฉพาะในมาตรา 10 ซึ่งกำหนดว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีทุกคนจะต้องได้รับการอำนวยความสะดวกจากรัฐอย่างเท่าเทียมตามหลักว่าด้วยความเสมอภาคระหว่างผู้รับสมัครเลือกตั้ง (Le principe de l’égalité de traitement entre les candidats) คณะกรรมการ 5 คน ประกอบด้วยคณะตุลาการ ผู้พิพากษาระดับ ประธาน รองประธานจากสภาสูงสุดแห่งรัฐ ศาลฎีกาและศาลตรวจเงินแผ่นดิน ความคิดเห็นของคณะกรรมการไม่มีผลบังคับ แต่มีผลและอิทธิพลทางจิตใจต่อสาธารณชน
       
       • คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (Le Conseil supérieur de l’audiovisuel)
       
       คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นองค์กรอิสระ จัดตั้งโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1989 มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลความเหมาะสมในการจัดเวลาและเผยแพร่เนื้อหาของกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
       
       บทบาทหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ อาศัยอำนาจตามมาตรา 16 รัฐบัญญัติลงวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1986 ว่าด้วยเสรีภาพในการสื่อสาร (La liberté de communication) มีอำนาจกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยขั้นตอนการผลิต การออกอากาศ การวางผังรายการที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นผู้ส่งแนวทางการปฏิบัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แก่ผู้ประกอบกิจการนั้นๆ โดยที่สภาแห่งรัฐได้ตัดสินว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวมีผลบังคับตามกฎหมาย ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไม่อาจละเมิดฝ่าฝืนแนวทางปฎิบัติดังกล่าวได้ (2)
       
       • คณะกรรมการตรวจบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งและการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง (La Commission nationale des comptes de campagne et des financements politiques)
       
       คณะกรรมการตรวจบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งและการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นองค์กรอิสระ จัดตั้งโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1990
       
       รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962 แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2006 ให้อำนาจแก่คณะกรรมการตรวจบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งและการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดมาตรการและควบคุมการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง การสนับสนุนทางการเงินโดยรัฐ การใช้จ่ายของพรรคการเมืองและผู้รับสมัครเลือกตั้ง การตรวจสอบบัญชีทางการเงินของพรรคการเมืองและผู้รับสมัครเลือกตั้ง รวมถึงการควบคุมการจ่ายเงินหรือรับเงินเพื่อผลประโยชน์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง หากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองมีความเห็นโต้แย้งกับความเห็นของคณะกรรมการตรวจบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งและการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง สามารถยื่นคำร้องและขอคำชี้ขาดต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้โดยตรง
       
       • คณะกรรมการพิจารณาผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (La Commission des sondages)
       
       คณะกรรมการพิจารณาผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระ จัดตั้งโดยรัฐบัญญัติลงวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 (3) มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการสำรวจและเผยแพร่การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเอกตั้งประธานาธิบดี การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น สภายุโรป รวมถึงการออกเสียงประชามติต่างๆ
       
       2. ประเด็นที่น่าสนใจของรายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ.2007 โดยคณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดี
       
       คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เผยแพร่ “รายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 2007” เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2007 และประกาศในรัฐกิจจานุเษกษาวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2007 กล่าวโดยสรุปได้ว่า การดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งสองรอบซึ่งเกิดไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน และ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 ได้ผ่านพ้นไปอย่างสุจริต โปร่งใส และ ยุติธรรม คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้กำกับและดูแลให้การเลือกตั้งดังกล่าวโดยเคารพและเป็นไปตามหลักว่าด้วยความเสมอภาคระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง (Le principe de l’égalité de traitement entre les candidats)
       
       อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ มีข้อแตกต่างจากครั้งก่อนๆเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารอันนำมาซึ่ง “ปัญหา” กล่าวคือ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น ในการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง อินเทอร์เน็ตเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้สมัครนำมาใช้เพื่อสื่อสารถึงประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และการรณรงค์หาเสียงด้วยวิธีการดังกล่าวก็ดำเนินไปด้วยดีถูกต้องตามกฎระเบียบต่างๆ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอจากคณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีและคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
       
       ประเด็นที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร ก่อให้เกิด “ปัญหา” คือ เรื่องการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะผลการสำรวจความคิดเห็นหน้าคูหา หรือ Exit Poll จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ผลสำรวจความคิดเห็นมีผลต่อจิตใจของผู้ลงคะแนนเสียงหรือไม่ อย่างไร ? ผลการสำรวจความคิดเห็นมีผลต่อหรือขัดกับเสรีภาพในการออกเสียงเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ ?
       
       หากกล่าวถึงข้อกฎหมาย รัฐบัญญัติลงวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ว่าด้วยการสำรวจและเผยแพร่ความคิดเห็น แก้ไขปรับปรุงโดย รัฐบัญญัติลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 ห้ามเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งและในวันเลือกตั้ง โดยห้ามพิมพ์ เผยแพร่ หรือแสดงข้อคิดเห้นเกี่ยวกับการสำรวจความเห็นสาธารณะ ทั้งนี้รัฐบัญยัติดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้ครอบคลุมไปถึงการสำรวจความคิดเห็นหน้าคูหาเลือกตั้ง หรือ Exit Poll ด้วย
       
       ตัวอย่างของผลของการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ รวมถึงผลคะแนนเลือกตั้งบางส่วนต่อการตัดสินใจไปลงทะเบียนของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สามารถยกตัวอย่างได้สองกรณี กรณีแรกเกิดขึ้นเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 2002 และ อีกหนึ่งตัวอย่างจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในปีค.ศ. 2007
       
       ย้อนไปดูถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 2002 ในครั้งนั้น ผลการสำรวจความคิดเห็นต่างๆก่อนหน้าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรอบแรกออกมาในแนวทางเดียวกันว่า ผู้สมัครที่จะเข้าไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรอบสอง สองคนสุดท้ายคือ นาย Jacques CHIRAC และนาย Lionel JOSPIN ซึ่งเป็นประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งหมดวาระไปและเป็นหัวหน้าของพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดสองพรรค และจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนหน้าการเลือกตั้งรอบแรกนั้น คะแนนความนิยมของผู้สมัครทั้งสองทิ้งห่างผู้สมัครรายอื่นๆอย่างขาดลอย
       
       แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในรอบแรก เมื่อค.ศ. 2002 คือ จำนวนผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงเป็นประวัติการณ์ นอกจากนั้น ผู้สมัครฝ่ายขวาจัดแนวชาตินิยม คือ นาย J-M. Le PEN กลับเป็น “ม้ามืด” ได้รับคะแนนเสียงในรอบแรกเป็นอันดับสอง และเอาชนะนาย Lionel JOSPIN ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตัวเก็งไปได้ ทำให้นาย J-M. Le PEN ผ่านเข้าไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคู่กับนาย Jacques CHIRAC ในรอบสองต่อไป และเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงอิทธิพลของการเผยแพร่ความผิดเห็นสาธารณะต่อการตัดสินใจไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน
       
       สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2007 นี้ จำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ อาจจะเป็นว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งยังจดจำ “ประสบการณ์” ของการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกเมื่อปี ค.ศ. 2002 กันได้ และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ผ่านเข้าสู่รอบสองก็เป็นไปตามผลการสำรวจความคิดเห็นที่ “สำนักโผล” ต่างๆเผยแพร่ แต่ในรายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสปี ค.ศ. 2007 โดยคณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ชี้ให้เห็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่เกิดจากการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ
       
       ในฝรั่งเศสนั้น แต่ละท้องถิ่นกำหนดเวลาในการปิดหีบลงคะแนนเลือกตั้งแตกต่างกันไปตามขนาดและลักษณะของประชากร คือ ร้อยละ 75 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอยู่ในเขตที่สามารถลงคะแนนเลืกอตั้งได้ถึงเวลา 18.00 น. ร้อยละ 5 ลงคะแนนได้ถึงเวลา 19.00 น. และร้อยละ 20 สามารถลงคะแนนได้ถึงเวลา 20.00 น. ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกลุ่มสุดท้ายนี้ คือ ประชากรของเมืองปารีสและเมืองใหญ่ต่างๆ
       
       ประเด็นของปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีค.ศ. 2007 คือ ในวันลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง คือเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 นับแต่เวลา 18.00 น. อันเป็นเวลาปิดหีบลงคะแนนของหน่วยเลือกตั้งส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75) ได้มีการเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่สำรวจจากหน้าคูหาเลือกตั้งหรือ Exit Poll รวมถึงเผยแพร่ผลคะแนนการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งบางส่วนที่ปิดไปแล้วทางอินเทอร์เน็ตจากเวปไซต์ของต่างประเทศ (ประเทศเพื่อนบ้านของฝรั่งเศส เช่น เวปของเบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์) ซึ่งเป็นเวปภาษาฝรั่งเศส และจากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่พบว่าเวปไซต์ที่จดทะเบียนในฝรั่งเศสฝ่าฝืนรัฐบัญญัติลงวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 แต่อย่างใด
       
       ประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นห่วงก็คือ ระหว่างเวลา 18.00 – 20.00 น. หน่วยเลือกตั้งในเมืองใหญ่ๆยังไม่ทำการปิดหีบลงคะแนน การที่ได้มีผู้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็น รวมถึง ผลคะแนนการเลือกตั้งของหน่วยที่ปิดการลงคะแนนไปแล้วทางอินเทอร์เน็ต อาจจะเกิดผลชี้นำทางจิตใจให้ผู้ที่ยังไม่ไปลงคะแนน และทำให้ตัดสินใจไม่ไปออกเสียงของตนเองในที่สุด
       
       ที่กล่าวว่าเป็นปัญหาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะ ผลสำรวจความคิดเห็นรวมถึงการประกาศคะแนนเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งที่ปิดไปก่อนถูกเผยแพร่จากเวปไซต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกเหนือความอำนาจของรัฐบัญญัติลงวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ว่าด้วยการสำรวจและเผยแพร่ความคิดเห็น อันเป็นกฎหมายของประเทศเท่านั้น
       
       ดังนั้น เพื่อให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย โดยไม่ขัดต่อหลักเสรีภาพในการสื่อสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีจึงได้เสนอข้อคิดเห็นในรายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสปี ค.ศ. 2007 ฉบับนี้ว่า ควรกำหนดเวลาปิดหน่วยลงคะแนนเลือกตั้งในเวลาเดียวกันทั่วทั้งประเทศ (คือเวลา 20.00 น.) เพื่อที่จะมิได้เกิด “ปัญหา” การเผยแพร่ผลการเลือกตั้งของหน่วยที่ปิดและนับคะแนนเสร็จแล้ว อย่างที่ได้เกิดขึ้นเฉกเช่นในการเลือกตั้งที่ผ่านๆมา ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือไม่
       
       แม้ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถนำมาเป็นข้อบ่งชี้ว่าผลการสำรวจคะแนนความนิยมของผู้สมัครที่เผยแพร่ออกมาในรูปของ“โพล” มีผลชี้นำต่อจิตใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงใด แต่รัฐก็ควรจะมีมาตรการใดๆออกมาเพื่อการออกเสียงเลือก “ตัวแทนหรือผู้ปกครอง” เป็นการตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นการเคารพในเสรีภาพของประชาชนแต่ละคนในการออกเสียงแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากอิทธิพลภายนอกอย่างแท้จริง
       
       เชิงอรรถ
       1. รายงานผลการดำเนินการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสโดยคณะกรรมการกำกับการการเลือกตั้งประธานาธิบดี แห่งชาติ( การเลือกตั้งเมื่อวันที่22 เมษายน 2007 และ 6 พฤษภาคม 2007), Rapport établi par la Commission nationale de contrôle de la campagne pour l’élection présidentielle 5scrutin des 22 avril et 6 mai 2007), Journal Officiel N°235 du 10 octobre 2007 page 16544.
       2. Conseil d’Etat, section, 7 mai 1993, Lallemand et autres et Commission nationales des comptes de campagne et des financements politiques .
       3. ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของรัฐบัญญัติลงวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ไว้ใน www.pub-law.net , บทความสาระ, ประเทศไทยควรมีกติกาการทำโพลหรือยัง?, วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2547.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมาคมศาลปกครองสูงสุดระหว่างประเทศ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544