วัฒนธรรมทางการเมือง อำนาจการเมืองและรัฐธรรมนูญ โดย รศ. ดร.เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ |
|
|
|
รองศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
|
|
|
|
|
|
|
|
ความเบื้องต้น
ในทุกสังคมรัฐตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจะปรากฏว่ามีผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครองอยู่ร่วมกันโดยมีคำว่าอำนาจ(le pouvoir)เป็นตัวเชื่อมถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายดังกล่าว คำดังกล่าวได้แสดงนัยถึงการที่ฝ่ายหนึ่งมีความเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งและอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ใต้อีกฝ่ายหนึ่ง อันที่จริงแล้ว คำว่า อำนาจ หรือ le pouvoir นี้มาจากคำลาติน potestaซึ่งมีความหมายว่า ความสามารถที่จะกระทำ capacité dagir (2) คำว่าอำนาจอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามเนื้อหาสาระของบริบทความนั้นๆ เช่นอำนาจบังคับ อำนาจปกครอง อำนาจมหาชน อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ดังนั้นคำดังกล่าวจึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ในบริบทที่แตกต่างกันดังกล่าวแสดงถึงความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไปหรือกล่าวอีกนัยก็คือความสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามในทุกรัฐจะมีอยู่อำนาจหนึ่งที่รู้จักกันในนามว่าอำนาจการเมือง(le Pouvoir politique)เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองของรัฐโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระเบียบและวินัยให้เกิดขึ้นภายในสังคมการเมืองของรัฐ การที่จะให้มีระเบียบและวินัยในรัฐได้นั้นจะต้องมีอำนาจบังคับเกิดขึ้นและอำนาจดังกล่าวนี้รู้จักกันในนาม อำนาจการเมือง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อำนาจการเมืองเป็นเงื่อนไขของระเบียบและวินัย ส่วนเสรีภาพของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในระเบียบและวินัย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการใช้เสรีภาพนั้นต้องอยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคมรัฐนั้น อำนาจการเมืองจึงเป็นส่วนผสมระหว่างอำนาจกับสังคมการเมือง ดังนั้นอำนาจการเมืองจึงเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเพราะเหตุที่ว่าไม่ได้อยู่นอกกรอบของสังคมและถ้าสังคมปราศจากอำนาจดังกล่าว สังคมนั้นก็เป็นสังคมที่ไม่มีชีวิตชีวาและใกล้ถึงกาลอวสานในที่สุด (3)
ในทุกสังคมการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการจัดการของอำนาจการเมืองที่รับภาระดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม แต่อำนาจการเมืองนี้ก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันแล้วแต่ละยุคแต่ละสมัย เช่น ในกลุ่มชนโบราณ อำนาจดังกล่าวนี้ได้รับความยินยอมและยอมรับจากกลุ่มชนในเผ่าอันเนื่องมาจากอำนาจนี้ไปผูกติดหรือยึดอยู่กับจารีตประเพณีและความเชื่อ ความศรัทธาที่ผู้คนในเผ่านั้นยอมให้อยู่เหนือตนเอง และถ้ามาในยุคสังคมที่พัฒนาขึ้นมาอีก ความจำเป็นทางเศรษฐกิจและความมั่นคง การอยู่รอดและความปลอดภัยในชีวิตที่ทำให้ต้องมีหัวหน้ากลุ่มที่มีตัวอำนาจเสียเอง มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นใดและมีเอกสิทธิ์เฉพาะตัวเท่านั้นทั้งนี้เป็นเพราะว่าอาศัยคุณสมบัติส่วนตัวเท่านั้นที่เป็นฐานแห่งอำนาจ เอกสิทธิ์ และอภิสิทธิ์ ดังนั้นในยุคดังกล่าวอำนาจการเมืองจึงผูกติดอยู่กับคุณสมบัติส่วนบุคคลเป็นสำคัญ อำนาจดังกล่าวนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นอำนาจของบุคคลที่มีความแตกต่างจากบุคคลอื่นอันเนื่องมาจากคุณสมบัติ(Le Pouvoir individualiséหรือle Pouvoir personalisé) บุคคลที่ถืออำนาจนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ถ้าผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจนี้ไม่ยอมรับบุคคลนั้นมีการต่อต้านเกิดขึ้นหรือมีบุคคลที่มีความเข้มแข็งกว่ามาล้มล้าง เมื่อบุคคลสลายไปอำนาจก็สลายตามไปด้วย ดังนั้นอำนาจการเมืองในรูปแบบดังกล่าวจึงขาดความต่อเนื่อง การที่นำอำนาจไปผูกยึดติดกับคุณสมบัติของบุคคลนั้น บุคคลนั้นจึงเป็นเจ้าของอำนาจหรือเป็นผู้ทรงสิทธิ์จะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้หรือจะไม่ใช้อำนาจเลยก็ได้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของบุคคลเป็นที่ตั้ง อำนาจดังกล่าวจึงขาดความชอบธรรมและขาดเสถียรภาพ เมื่อเป็นดังนี้อำนาจการเมืองในยุคนี้จึงมิได้เป็นอำนาจสูงสุด(la souveraineté)ที่เรียกว่าอำนาจอธิปไตย การที่นำอำนาจการเมืองดังกล่าวไปยึดติดอยู่กับตัวบุคคลนั้นมีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวคือ ถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นคนดี มีศีลธรรมแล้วโดยตรรกะก็จะปกครองโดยใช้อำนาจการเมืองไปในทางที่ดีและก่อประโยชน์ให้กับผู้ที่อยู่ใต้การปกครองไปด้วยแต่ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนไม่ดีก็อาจใช้อำนาจการเมืองไปในทางที่ไม่ดีก่อความเดือดร้อนและเสียหายให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองไปด้วย ดังนั้น การที่นำอำนาจการเมืองไปยึดติดอยู่กับตัวบุคคลก็จะทำให้เกิดการเสี่ยงแก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองเพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นขึ้นอยู่กับผู้ปกครองเป็นสำคัญ ต่อมาจึงเกิดแนวความคิดที่จะแยกอำนาจการเมืองดังกล่าวออกจากตัวบุคคลไปให้กับรัฐ
รัฐในฐานะผู้ทรงสิทธิอำนาจการเมือง
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นการที่เอาอำนาจการเมืองไปผูกติดกับตัวบุคคลโดยยึดถือคุณสมสมบัติของบุคคลเป็นสำคัญนั้นเป็นการเสี่ยงเกินไปสำหรับผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง ดังนั้นจึงมีแนวความคิดที่จะแยกอำนาจการเมืองดังกล่าวออกมาจากตัวบุคคลโดยมิให้ไปยึดติดกับตัวตนของบุคคลออกมาแล้วนำอำนาจดังกล่าวมามอบให้กับรัฐ แนวความคิดดังกล่าวก็คือการแยกอำนาจการเมืองออกจากผู้ทรงสิทธิในการใช้อำนาจการเมือง(linstitutionalisation du pouvoir)(4) ผลของการที่มอบอำนาจดังกล่าวไปให้กับรัฐๆจึงต้องมีสภาพความเป็นบุคคลตามกฎหมาย แต่เนื่องจากรัฐมิใช่บุคคลที่มีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ ดังนั้นในทางกฎหมายจึงกำหนดให้รัฐเป็นบุคคลที่กฎหมายสมมุติขึ้นที่เรียกว่า นิติบุคคล ทำไมรัฐจึงต้องกลายเป็นนิติบุคคลก็เพราะเหตุที่ว่าการเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายนั้นได้แสดงถึงการเป็นผู้ทรงสิทธิหรือเป็นการแสดงกรรมสิทธิ์ในบรรดาสิ่งต่างๆ การที่นำอำนาจการเมืองไปมอบให้กับรัฐก็เท่ากับว่ารัฐต้องสามารถแสดงความเป็นเจ้าของหรือแสดงความเป็นกรรมสิทธิ์เหนืออำนาจการเมืองได้และการที่รัฐจะแสดงความเป็นเจ้าของได้ รัฐต้องสามารถยืนยันสถานะของตนเองตามกฎหมายได้ก็คือรัฐจะต้องมีสภาพเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ในเมื่อรัฐไม่สามารถเป็นบุคคลโดยสภาพได้ รัฐจึงต้องมีสภาพเป็นนิติบุคคลคือบุคคลที่ได้รับการสมมุติขึ้นตามกฎหมาย
อำนาจการเมือง: อำนาจสูงสุดของรัฐในรัฐธรรมนูญ
เมื่อนำอำนาจการเมืองมามอบให้กับรัฐแล้ว อำนาจการเมืองดังกล่าวจึงแปรสภาพของตนเองจากความไม่แน่นอนในสถานะของอำนาจการเมืองในยุคก่อนกำเนิดรัฐที่อำนาจดังกล่าวขึ้นอยู่กับบุคคลซึ่งไม่มีความแน่นอนมาสู่ความมั่นคงและแน่นอนและสูงสุดเมื่ออำนาจดังกล่าวตกเป็นของรัฐ ณ.จุดดังกล่าวนี้ทำให้อำนาจการเมืองที่เป็นของรัฐในรูปแบบนี้ได้รับการเรียกเสียใหม่ว่า อำนาจอธิปไตย(la souveraineté) ดังนั้นอำนาจการเมืองสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยจึงเป็นของรัฐ การแสดงออกซึ่งลักษณะของอำนาจดังกล่าวจึงปรากฏผ่านทางกฎหมายของรัฐที่ได้รับการยอมรับจากคนในประชาคมแห่งรัฐตามแนวคิดสัญญาประชาคม กฎหมายดังกล่าวได้จัดวางระเบียบว่าด้วยการปกครองรัฐ องค์กรของรัฐ ประมุขแห่งรัฐ การปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น กฎหมายดังกล่าวก็คือ รัฐธรรมนูญ(la Constitution)ที่รู้จักกันอย่างดีว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐที่ว่าด้วยระเบียบแบบแผนการปกครองประเทศ การใช้อำนาจสูงสุดของรัฐหรืออำนาจอธิปไตยดังกล่าว รัฐธรรมนูญจะเป็นผู้กำหนดให้ใช้ผ่านตัวแทนของรัฐหรือผ่านทางองค์กรของรัฐ ถ้าปรากฏว่ากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยดังกล่าวแต่ผู้เดียวและเป็นผู้กำหนดระเบียบแบบแผนการปกครองสังคมนั้นๆ กษัตริย์ก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่เรียกว่าการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (la monarchie absolue) ถ้าประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยและเป็นผู้กำหนดระเบียบแบบแผนการปกครองสังคมนั้น ประชาชนก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่เรียกว่าการปกครองแบบประชาธิปไตย(la democratie) และถ้ากลุ่มคนขุนนางเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยและเป็นผู้กำหนดระเบียบแบบแผนการปกครองสังคมนั้น กลุ่มคนดังกล่าวก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่เรียกว่าการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย(la aristocratie)เป็นต้น ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย อำนาจดังกล่าวก็ยังเป็นของรัฐอยู่ รัฏฐาธิปัตย์ที่มาใช้อำนาจดังกล่าวจึงเป็นผู้แทนของรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตยแทนรัฐ
ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฏฐาธิปัตย์คือประชาชน และกำหนดแนวคิดว่าอำนาจสูงสุดดังกล่าวแบ่งแยกตามหน้าที่เป็นสามประเภทคือ หน้าที่นิติบัญญัติ หน้าที่บริหารและและหน้าที่ตุลาการและได้จัดแยกองค์กรที่ทำหน้าที่ออกเป็นสามองค์กรด้วยกันตามทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ(la séparation du pouvoir) (5) ทั้งสามองค์กรจึงเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตามที่รัฏฐาธิปัตย์กำหนด ทั้งสามองค์กรจึงเป็นผู้แทนของประชาชนและกระทำการแทนรัฐ การแสดงออกซึ่งภาระหน้าที่ทั้งสามดังกล่าวนี้ก็โดยผ่านทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ รัฐธรรมนูญได้จัดสร้างองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนรัฐขึ้นโดยเป็นไปตามทฤษฎีการจัดตั้งองค์กรสูงสุดทางการการเมือง(le pouvoir constituant)หรือทฤษฎีอำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ (6)
ความสัมพันธ์ระหว่าง อำนาจการเมือง รัฐ และรัฐธรรมนูญ
จากการที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าพัฒนาการของอำนาจการเมืองก่อนกำเนิดเกิดรัฐ จนกระทั่งมีรัฐเกิดขึ้นและมีกฎหมายสูงสุดของรัฐที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญนั้นต่างก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันตลอดมา ความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถอธิบายให้เห็นถึงว่าอำนาจการเมืองคืออะไรและก่อให้รัฐเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและเมื่อมีรัฐเกิดขึ้นก็จำต้องมีกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการปกครองรัฐซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ รัฐจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกของอำนาจการเมือง อำนาจการเมืองเกิดขึ้นก็เพราะสังคมให้การยอมรับผู้ใช้อำนาจการเมืองนำสังคมไปสู่ความสงบสุข กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือความจำเป็นของคนในสังคมนั้นต้องอยู่ร่วมกันและต้องการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุขขึ้นเป็นการยอมรับให้มีการใช้อำนาจ และการที่จะจัดระเบียบสังคมได้นั้นก็ต้องอาศัยกลไกทางกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ขึ้น กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็คือรัฐธรรมนูญ แนวความคิดกฎหมายดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่ามีมาก่อนกำเนิดรัฐและก่อให้รัฐเกิดขึ้นในฐานะที่จะทำให้แนวคิดทางกฎหมายร่วมกันของคนในสังคมนั้นมีความสงบสุขขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีรัฐเกิดขึ้นรัฐจึงต้องพยายามให้บรรลุถึงแนวคิดทางกฎหมายกล่าวคือ รัฐมีภาระหน้าที่ที่จะต้องกระทำและจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสงบสุขโดยใช้อำนาจทางการเมืองแสดงออกผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญ
ถ้าพิจารณาจากแนวคิดดังกล่าว รัฐธรรมนูญในความหมายนี้จึงหมายถึงกฎเกณฑ์ทุกประเภทที่กำหนดสถานะความสัมพันธ์ขององค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดในรัฐเพื่อความสงบสุขของประ ชาชนซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญในความหมายอย่างกว้างตามเนื้อหาซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญในความหมายอย่างแคบที่เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ขององค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจสูงสุดในรัฐซึ่งบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญในฐานะที่มาของระบบกฎหมาย
ถ้ากล่าวว่ารัฐเป็นผู้แสดงออกอำนาจการเมืองอย่างเป็นนามธรรม รัฐธรรมนูญก็เป็นผู้แสดงออกอำนาจการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม รัฐเกิดขึ้นเพื่อความสงบสุขของสังคมรัฐแต่การดำเนินให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมรัฐได้นั้นก็ต้องมีกลไกหรือเครื่องมือที่จับต้องได้และนำพาไปซึ่งความสงบสุขของสังคมรัฐนั้น กลไกหรือเครื่องมือดังกล่าวก็คือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐที่มีขึ้นเพื่อสร้างความสงบสุขให้แก่ประชาชนและสังคมของรัฐ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญเพียงลำพังก็ไม่สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงได้สร้างกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆที่อยู่ในลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่าขึ้นมาเพื่อช่วยกันในการสร้างความสงบสุขของสังคมรัฐให้เกิดขึ้นได้และณ.จุดดังกล่าวจึงกล่าวกันว่า รัฐธรรมนูญเป็นที่มาของระบบกฎหมายของรัฐ
เมื่อมองในแง่ของนิติศาสตร์ ศาสตราจารย์พิธาน ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นที่มาของระบบกฎหมายเพราะรัฐธรรมนูญเป็นรากฐานของระบบกฎหมายทั้งระบบ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกฎหมายอื่นทั้งหมดมีที่มาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น กล่าวคือ ถ้าพระราชบัญญัติเป็นกฎหมายได้ ก็เพราะได้มีการตราพระราชบัญญัตินั้นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและพระราชบัญญัตินั้นเองก็จะเป็นที่มาของกฎหมายอื่นๆ เช่น พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงต่อไป และจะเป็นเช่นนี้ไปตลอดสาย ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นที่มาสุดท้ายหรือรากฐานของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทุกอัน ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติแต่ละฉบับเรื่อยลงไปจนถึงพระราชกฤษฎีกาแต่ละฉบับจนถึงคำพิพากษาศาลแต่ละคดีหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทางปกครองแต่ละคำสั่งซึ่งมีที่มาจากกฎหมายเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้เมื่อสิ้นรัฐธรรมนูญไปเพราะถูกยกเลิกหรือถูกรัฐประหาร ระบบกฎหมายทั้งระบบจึงสิ้นสุดลงตามไปด้วย เว้นแต่รัฐธรรมนูญหรืออำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมืองจะให้กฎหมายในระบบเก่ามีผลใช้อยู่ต่อไป (7)
รัฐธรรมนูญในฐานะที่มาของระบบการเมือง
ดังที่กล่าวมาแล้วว่ารัฐเป็นผู้แสดงออกอำนาจการเมืองอย่างเป็นนามธรรมโดยมีทฤษฎีการแยกอำนาจจากตัวบุคคลมาให้กับรัฐ ทฤษฎีดังกล่าวทำให้อำนาจการเมืองซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดสิ้นสภาพจากการเป็นของบุคคลหรือของผู้ปกครองมาเป็นของรัฐซึ่งเป็นสถาบันที่มีสถานะทางกฎหมาย และในรัฐก็จะมีผู้ปกครองเป็นตัวแทนของรัฐในการใช้อำนาจการเมืองที่เป็นอำนาจสูงสุดของรัฐ
ดังนั้นรัฐจึงเป็นผู้แยกเจตนาของผู้ปกครองของรัฐในฐานะตัวแทนของรัฐออกจากผู้ปกครองของรัฐในฐานะส่วนตัว กล่าวโดยนัยก็คือรัฐเป็นผู้กำหนดตำแหน่งของผู้ปกครองรัฐ เช่นตำแหน่ง พระมหากษัตริย์ ตำแหน่งประธานาธิบดี ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งประธานรัฐสภา ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้รัฐเป็นผู้กำหนดวิธีการได้มาและวิธีการออกจากตำแหน่ง จนถึงการกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของตำแหน่ง ด้วยเหตุดังกล่าวบุคคลที่มาสวมตำแหน่งก็จะมีอำนาจหน้าที่และบทบาทตามตำแหน่งที่รัฐกำหนด เมื่อบุคคลนั้นสิ้นไปก็จะมีบุคคลอื่นเข้ามาสวมตำแหน่งดังกล่าวแทนที่ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการแยกเจตนาของผู้ดำรงตำแหน่งออกในฐานะบุคคลธรรมดาออกจากเจตนาของผู้ดำรงตำแหน่งในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่าตำแหน่งของผู้ปกครองทั้งหลายของรัฐนั้นต่างก็ต้องมีสถาบันหรือองค์กรของรัฐที่ตนสังกัดอยู่ เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันประธานาธิบดี สถาบันรัฐสภา เป็นต้นซึ่งเป็นสถาบันหรือองค์กรของรัฐ ดังนั้นการแสดงออกซึ่งบทบาท อำนาจหน้าที่ก็เป็นการแสดงออกผ่านทางสถาบันหรือองค์กรของรัฐที่รัฐธรรมนูญจัดให้มีขึ้นหรือจัดสร้างขึ้นตามทฤษฎีอำนาจในการจัดตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ(le pouvoir constituant) และด้วยเหตุนี้จึงกล่าวกันว่ารัฐธรรมนูญเป็นที่มาของระบบการเมืองเพราะรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดตั้งสถาบันหรือองค์กรทางการมืองของรัฐขึ้นเพราะสถาบันหรือองค์กรเหล่านี้ต่างก็ใช้อำนาจการเมืองที่เป็นอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตย
อำนาจการเมืองกับวัฒนธรรมทางการเมือง
วัฒนธรรมทางการเมือง(political culture, la culture poltique)เป็นแนวคิดที่นักคิดชาวตะวันตกกำหนดขึ้นมาเพื่อศึกษาด้านการเมือง โดยมีข้อสมมุติฐานว่า วัฒนธรรมของสังคมมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมทางการเมือง(8) คำดังกล่าวมาจากการประสมระหว่างสองคำคือ วัฒนธรรมกับการเมือง
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน วัฒนธรรมหมายถึง สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะวิถีชีวิตของหมู่คณะ ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกันและร่วมใช้อยู่ในพวกของตน(9) และคำว่า การเมือง หมายถึง 1.งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน เช่น วิชาการเมือง ได้แก่วิชาว่าด้วยรัฐการจัดส่วนแห่งรัฐและการดำเนินการแห่งรัฐ 2.การบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวกับนโยบายในการบริหารประเทศ เช่นการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ 3. กิจการอำนวยหรือควบคุมการบริหาราชการแผ่นดิน เช่น ตำแหน่งทางการเมืองได้แก่ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่อำนวย(คณะรัฐมนตรี) หรือควบคุม(สภาผู้แทนราษฎร) การบริการแผ่นดิน (10)
ในทางรัฐศาสตร์ วัฒนธรรม หมายถึงรากฐานร่วมกันของของชาติหรือของกลุ่มสังคมแกนหลักที่แนบแน่นซึ่งประกอบไปด้วยภาษา วิถีชีวิต ความชำนาญ คุณค่าและปัจจัยของความเป็นมาในอดีตของชาตินั้นๆ(11) ส่วนคำว่า การเมือง หมายถึง ศาสตร์ว่าด้วยการปกครองรัฐเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์สูงสุดของสังคมรัฐ(12) การปกครองบ้านเมือง รัฐโดยให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของรัฐคือความมั่นคงของรัฐ ความผาสุกของประชาราษฏร์ อำนาจการเมือง อำนาจรัฐจึง เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแยกกันไม่ได้
วัฒนธรรมทางการเมือง หมายถึง ระบบการกระทำ (action systems) ต่างๆที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทางสังคม(social beheavior)ของผู้คนในสังคม พฤติกรรมทางสังคมเป็นพฤติกรรมที่คนแต่ละคนในสังคมร่วมกันกระทำขึ้นไปในทิศทางเดียวกันต่อการกระทำของตน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงกล่าวว่าวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นระบบการกระทำร่วมกันของคนในสังคมก็คือสิ่งที่เป็น ความเหมือนร่วมกันของสาธารณะ หรือ ความเห็นร่วมกันของสาธารณะ(public commonness) ที่มีต่อสภาวะแวดล้อมทางการเมือง (13)
วัฒนธรรมทางการเมืองในความหมายที่แคบหมายถึง แนวโน้มด้านความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อปรากฏการณ์ทางการเมือง(14) หรือหากกล่าวในอีกสำนวนหนึ่ง วัฒนธรรมทางการเมืองของสังคม ประกอบด้วย ระบบความเชื่อถือ สัญลักษณ์ที่แสดงออก และค่านิยมซึ่งให้กรอบความหมายต่อสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนในความหมายอย่างกว้างหมายถึง วิถีชีวิต วิถีความคิด ความเคยชิน ค่านิยมของคนในสังคมรัฐที่มีอิทธิพลต่อสัมพันธภาพเชิงอำนาจทางการเมืองของรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่ง วัฒนธรรมทางการเมืองในนัยดังกล่าวจึงมีอิทธิพลอยู่เหนือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อำนาจการเมืองด้วยกันและก่อให้เกิดผลต่อเนื่องหรือผลกระทบในระบบการเมือง ระบบการปกครองรัฐ
วัฒนธรรมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นความหมายอย่างกว้างหรือความหมายอย่างแคบจึงมี อิทธิพลต่อการกำหนดการใช้อำนาจทางการเมืองและส่งผลกระทบต่อระบบกฎหมายและระบบการเมืองของรัฐ กล่าวคือ บุคคลผู้ที่ใช้อำนาจทางการเมืองได้รับอิทธิพลทางความคิด วิถีชีวิต วิถีความคิด ค่านิยมในสังคมที่หล่อหลอมขึ้นมากำหนดพฤติกรรมของบุคคลนั้นในการใช้อำนาจทางการเมือง การใช้อำนาจทางการเมืองของบุคคลดังกล่าวจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่อย่างไรนั้นก็ขึ้นกับสิ่งดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นการเรียนรู้ถึงการใช้อำนาขของบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐหรือที่กุมอำนาจรัฐนั้น ในบางครั้งอาจจะต้องดูไปถึงภูมิหลัง ประวัติความเป็นมาของบุคคลนั้นในอดีต เช่น บันทึกอัตตชีวประวัติ บทสัมภาษณ์ ผลงานและการกระทำในอดีต สิ่งแวดล้อมของสังคม เช่น ในอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้แสดงทัศนคติว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือ การปกครองโดยเสียงข้างมากและแปลความหมายการปกครองโดยเสียงข้างมากว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งคือการมอบอำนาจให้พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรีท่านนั้นที่มีชัยชนะในการเลือกตั้งสามารถจะไปกำหนดนโยบายอะไรก็ได้โดยไม่ฟังเสียงสะท้อนของประชาชนระหว่างที่บริหารบ้านเมืองและได้แสดงทัศนคติต่อไปว่าจังหวัดใดที่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากๆให้แก่พรรคที่สังกัดของนายกรัฐมนตรีท่านนั้น จังหวัดนั้นจะได้รับการพัฒนาก่อนจังหวัดอื่นที่ลงคะแนนเสียงน้อยให้แก่พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรี หลักการปกครองโดยเสียงข้างมากนั้นเป็นหลักการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยแต่หลักการดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงหลักการเดียว ยังจะต้องมีหลักการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น หลักการฟังความเสียงข้างน้อย หลักความเสมอภาค หลักนิติรัฐ หลักการคานและดุลอำนาจ เป็นต้น
หลักการในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวข้างต้นนั้นล้วนแต่มีที่มาจาก วัฒนธรรมทางการเมือง ที่เป็นตัวกำหนดกรอบแนวประพฤติปฏิบัติ ของผู้ทีใช้อำนาจทางการเมืองของรัฐทั้งสิ้น ดังนั้น การที่จะทราบถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร ก็คงต้องศึกษาถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศนั้นๆ เช่น การที่จะทราบถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศฝรั่งเศสเป็นอย่างไรและส่งผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของบุคคลผู้มีอำนาจทางการเมืองและประชาชนของฝรั่งเศสอย่างไรก็คงต้องหวนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสว่า การที่ประชาชนและผู้ปกครองของฝรั่งเศสให้ความสำคัญแก่ หลักความเสมอภาค หลักสิทธิมนุษยชน หลักความมั่นคงของสถานะบุคคล หลักสิทธิเสรีภาพ หลักนิติรัฐ หลักรัฐธรรมนูญนิยม เพราะเหตุที่ว่า การปกครองในระบบเก่า (lancien régime) ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้รับความไม่เป็นธรรมภายใต้การปกครองในระบบเก่า เช่น ไม่ได้รับความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพได้รับการลิดลอน ผู้ปกครองรัฐใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชน สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดจิตสำนึกในสังคม วิถีประชาของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปในการพยายามต่อต้านและนำไปสู่การล้มล้างจิตสำนึกในสังคมและวิถีประชาในระบบการปกครองแบบเก่า กล่าวอีกนัยหนึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและยกเลิกวัฒนธรรมทางการเมืองในระบบเก่าไปสู่การกำเนิดวัฒนธรรมทางการเมืองในระบบใหม่ก็คือระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่มาจากผลพวงทางประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นเป็นหลักในเบื้องต้น และต่อมาสังคมขยายตัวมากขึ้นวัฒนธรรมทางการเมืองเหล่านี้ก็แผ่ขยายไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคและในระดับสากลของเกือบทุกๆประเทศในโลก กลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองในระดับภูมิภาค และในระดับสากลโลกในที่สุด เช่น คำประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนและประชาชนชาวฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ดังกล่าวก็พัฒนามาจากวัฒนธรรมทางการเมืองในครั้งการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส และต่อมาหลักการในคำประกาศดังกล่าวได้รับการยอมรับจากนานาประเทศและในที่สุดไปสู่ระดับสากลดังปรากฎจากการที่สหประชาชาติให้การยอมรับหลักการดังกล่าว
วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก (western democratic political culture) และวัฒนธรรมทางการเมืองไทย(thai political culture)
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า วัฒนธรรมทางการเมืองมีความหมายอย่างไรในความหมายที่แสดงนัยกลางๆว่า คือระบบความเชื่อถือ สัญลักษณ์ที่แสดงออก และค่านิยมซึ่งให้กรอบความหมายต่อสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐ วิถีชีวิต วิถีความคิด ความเคยชิน ค่านิยมของคนในสังคมรัฐที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดสัมพันธภาพเชิงอำนาจทางการเมืองของรัฐ นิยามดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงว่าในแต่ละรัฐแต่ละประเทศต่างก็มีวัฒนธรรมทางการเมืองของตน การแบ่งค่ายทางความคิดแบ่งเป็นสองค่ายคือ ค่ายทางตะวันตกซึ่งได้แก่ ประเทศทางตะวันตก และค่ายทางตะวันออก ได้แก่ ประเทศทางแตกต่างกันไปซึ่งความแตกต่างดังกล่าวได้ส่งผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของคนทั้งสองกลุ่มแตก-ต่างกันไปด้วยและในที่สุดก็ส่งผลไปยังการใช้อำนาจทางการเมืองของบุคคลภายในรัฐแตกต่างเช่นกัน
คำว่าวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก มาจาก คำว่า วัฒนธรรมทางการเมืองตะวันตก กับคำว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตก วัฒนธรรมทางการเมืองตะวันตก หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม วิถีชีวิต วิถีความคิด ความเคยชินที่มีความรู้สึกร่วมกันจนกลายเป็นพฤติกรรมทางสังคมของคนตะวันตกและมีอิทธิพลต่อสภาวะแวดล้อมทางการเมืองในรัฐตะวันตก ส่วนคำว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตก แสดงโดยนัยถึงระบอบการปกครองที่อำนาจสูงสุดของรัฐเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นผู้ปกครองแผ่นดิน และให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวพัฒนาการมาจากประเทศตะวันตกในปลายศตวรรษที่สิบแปด วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตกจึงเป็นการผสมผสานของทั้งสองคำดังกล่าว
วัฒนธรรมทางการเมืองตะวันตกในการปกครองในระบอบเก่าอาจจะมีความเหมาะสมกับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อาจจจะไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในช่วงรอยต่อทางประวัติศาสตร์การเมืองตะวันตกจะเห็นได้ว่าระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นภายหลังจากการล่มสลายของการปกครองระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมทางการเมืองตะวันตกในระบอบการปกครองแบบเก่ามีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึก ความคิด ค่านิยม วิถีชีวิต ความเคยชินของคนในสังคมในระบอบการปกครองแบบเก่าก็ได้รับการสั่นคลอนและเริ่มเปลียนแปลงตามไป กล่าวคือ ความรู้สึก ความคิด ค่านิยม ความเคยชินของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครองรัฐ(พระเจ้าแผ่นดิน) ระบบกฎหมาย ระบบการปกครอง อำนาจรัฐในระบอบเก่าเริ่มหมดความสำคัญลงไปทีละเล็กทีละน้อย เหตุที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวก็เนื่องมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของผู้ปกครองรัฐที่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนประชาชนเริ่มมีแนวคิดการต่อต้านเกิดขึ้น ไม่เชื่ออย่างทีเคยเชื่อ เริ่มมีความคิดที่แตกต่างออกไป ค่านิยมในสังคมเก่าก็ได้รับการต่อต้าน ความเคยชินที่มีมาในระบบเก่าก็รู้สึกว่าไม่เคยชินอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการกำหนดพฤติกรรมทางสังคมของคนในสังคมตะวันตกในช่วงนั้นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองสำคัญของโลกสองเหตุการณ์คือ การประกาศเอกราชของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ทั้งสองเหตุการณ์ได้วางรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก
ทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นมีที่มาจากการที่ประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเก่ารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้รับการกดขี่ข่มเหง ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ได้รับการดูถูกและเหยียดหยันจากชนชั้นปกครอง การกระทำเหล่านี้ทำให้ประชาชนเริ่มต่อต้านและล้มล้างระบอบการปกครองแบบเก่าไปในที่สุดและภายหลังจากการล่มสลายของการปกครองระบอบเก่าจะเห็นได้ว่าในการปกครองรูปแบบใหม่จะเน้นให้เห็นถึง การเคารพในสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคเท่าเทียมกันของทุกๆคน ดังจะเห็นได้จากคำประกาศอิสรภาพอเมริกัน วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 (15)
...เราถือความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้อก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพแลการเสาะแสวงหาความสุข
เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิเหล่านั้นให้มั่นคง รัฐบาลจึงถูกสถาปนาขึ้นในหมู่มวลมนุษย์โดยได้อำนาจที่ยุติธรรมอันเนื่องมาจากความยินยอมของผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง เมื่อใดก็ตามที่รูปแบบของรัฐบาลใกเป็นสิ่งที่ทำลายเป้าหมายเหล่านี้ เมื่อนั้นย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรัฐบาลแบบนั้นเสีย และสถาปนารัฐบาลข้นใหม่โดยให้มีรากฐานอยู่บนหลักการดังกล่าว...
และในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ลงวันที่ 26 สิงหาคม 1789 ของฝรั่งเศส ได้บัญญัติ ดังนี้ (16)
.ข้อ 1. มนุษย์ทุกคนเกิดมาและดำรงอยู่อย่างมีอิสระและเสมอภาคกันในสิทธิการแบ่งแยกทางสังคมจะกระทำได้ก็แต่เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
ข้อ 2 วัตถุประสงค์ของสมาคมทางการเมืองทุกสมาคม คือ การรักษาไว้ซึ่งสิทธิตามธรรมชาติและไม่มีอายุความของมนุษย์ สิทธิเหล่านี้ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความมั่นคง ความปลอดภัยและการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง
ข้อ 16 สังคมใดไม่มีการให้หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือไม่มีการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยที่แน่ชัด สังคมนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญ
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นทำให้เห็นได้ว่าการก่อกำเนิดวัฒนธรรมทางการเมืองและนำ-ไปสู่การกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคมภายใต้การปกครองในระบอบใหม่หรือรัฐสมัยใหม่นั้นต่างมุ่งเน้นถึงสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชสรุปไว้ว่า(17) รัฐสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสมาจากการคลี่คลายขยายตัวทางประวัติศาสตร์เป็นรัฐประชาชาติที่มีรากฐานของประชาธิปไตยที่เน้นวัฒนธรรมทางความคิด ความเชื่อแบบใหม่ซึ่งให้ความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นวัฒนธรรมกฎุมพีมาแทนที่วัฒนธรรมของระบอบเก่าแต่สิ่งที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และชีวทัศน์ รัฐสมัยใหม่กับวัฒนธรรมใหม่จึงไม่ขัดแย้งกัน การปกครองในระบอบใหม่ดังกล่าวเรียกว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังที่ศาสตราจารย์พิธาน ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สรุปว่า(18) วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตก มีเสาหลัก 4 เสา คือ การยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพ การเคารพความเสมอภาค การเชื่อในนิติธรรมหรือกฎหมาย และการฟังคนส่วนใหญ่โดยคุ้มครองคนส่วนน้อย เสาหลักทั้งสี่ถือเป็นหลักการที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกและนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในเบื้องต้น
ส่วนคำว่าวัฒนธรรมทางการเมืองไทยหมายถึง ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม วิถีชีวิต วิถีความคิด ความเคยชินของคนในสังคมไทยที่มีความรู้สึกร่วมกันจนกลายเป็นพฤติกรรมทางสังคมของคนไทยและมีอิทธิพลต่อการกำหนดสภาวะแวดล้อมทางการเมืองและการกำหนดสัมพันธภาพเชิงอำนาจทางการเมืองของไทย วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยในอดีตได้รับอิทธิพลที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ค้ำชู (patronage system) ระบบศักดินานิยม (feudalism) และระบบอำนาจนิยม(authoritarianism) เป็นอย่างมาก ทั้งสามสิ่งดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกันและเกื้อกูลกันและมาโดยตลอด
ระบบอุปถัมภ์ค้ำชู หมายถึง ความสัมพันธ์คู่ในลักษณะที่ผู้อุปถัมภ์มีฐานะเหนือกว่าผู้รับอุปถัมภ์ คุณลักษณะของความสัมพันธ์อยู่ที่ความเป็นมิตรที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันและการแข่งขันเพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่ต้องการ (19)ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง เจ้าขุนมูลนาย ฝ่ายหนึ่งกับ ข้าทาสบริวาร อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นความสัมพันธ์กันในระบบมูลนาย-ไพร่ตามกฎหมายศักดินาโบราณเป็นความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบเป็นทางการส่วนความสัมพันธ์อุปถัมภ์ในรูปแบบอื่น เรียกว่า ความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบไม่เป็นทางการ(20) ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์อุปถัมภ์แบบใดก็ตามจะเห็นได้ว่าภายใต้ระบบอุปถัมภ์มีระบบศักดินานิยมซ้อนอยู่ด้วยกัน
ระบบศักดินานิยม เป็นระบบที่จัดแบ่งวรรณะโดยพิจารณาจากสิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่นาของบุคคลต่างๆในสังคมซึ่งประกอบด้วย มูลนาย พระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนางซึ่งเป็นชนชั้นปกครองและข้าทาสบริวารเป็นชนชั้นอยู่ใต้การปกครอง ในแต่ละชนชั้นจะถือครองที่นาได้ตามบรรดาศักดิ์ของบุคคลนั้นๆ ดังนั้นความเกี่ยวเนื่องระหว่างระบบอุปถัมภ์ค้ำชูและระบบศักดินานิยมจึงแยกกันไม่ได้ของสังคมไทยในอดีต ทั้งระบบอุปถัมภ์ค้ำชูและระบบศักดินานิยมก็นำไปสู่ระบบอำนาจนิยม
ระบบอำนาจนิยมระบบความสัมพันธ์อุปถัมภ์ค้ำชูและระบบศักดินานิยมนำไปสู่วัฒนธรรมการรวมกลุ่มและการเล่นพรรคเล่นพวก เมื่อเจ้าขุนมูลนายในสายสัมพันธ์อุปถัมภ์ใดขึ้นมามีอำนาจ บรรดาข้าทาสบริวารของเจ้าขุนมูลนายนั้นก็พลอยมีอำนาจวาสนาไปด้วยและในทางตรงกันข้ามเมื่อเจ้าขุนมูลนายตกต่ำลง ข้าทาสบริวารก็ตกต่ำตามไปด้วย คนที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์สายเดียวกันย่อมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันมากว่าจะไปช่วยผู้ที่อยู่ในระบบสายอุปถัมภ์อื่นๆ ลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแนวความคิดเรื่องอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง อำนาจในสังคมไทยในอดีตจึงเป็นตัวกำหนดความถูกต้อง ความเป็นธรรมตามกฎหมาย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนำมาซึ่งคำกล่าวที่ว่า กฎหมาย คือ อำนาจ (ในความจริงแล้ว กฎหมาย คือ ความถูกต้องและความชอบธรรม)และนำมาซึ่ง กฎหมายคือ คำสั่งของผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง
ดังนั้นวัฒนธรรมอำนาจนิยม กำหนดมาตรฐานของความถูกต้องชอบธรรมโดยอาศัยอำนาจเป็นเกณฑ์ ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว ความเห็นของผู้มีอำนาจย่อมถูกต้อง มากกว่าความเห็นของผู้ไร้อำนาจ ความถูกผิดมิได้ถูกกำหนดขึ้นด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง สังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยมจะมีค่านิยมยกย่องผู้มีอำนาจและผู้ทรงอำนาจมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจแสดงความยิ่งใหญ่แห่งตน (21)
การอธิบายถึงวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตกและวัฒนธรรมทางการเมืองไทยในอดีตย่อมมีความแตกต่างกันซึ่งความแตกต่างดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลขึ้นเมื่อประเทศสยามได้พยายามปรับเปลี่ยนจากรัฐสมัยเก่า(ancient state)ให้เป็นรัฐสมัยใหม่(modern state)แบบตะวันตก ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าวของไทยในยุคนี้วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยแต่เดิมได้เผชิญกับวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตกและขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น แนวความคิดในเรื่องทาสกับเสรีภาพ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในจดหมายส่วนพระองศ์ถึงแหม่ม แอนนา เลียวโนเวนส์(22) ในบริบทของสังคมสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 คำว่าเสรีภาพ หมายถึง อำนาจของเอกชนผู้เป็นใหญ่ที่มีเหนือคนอื่นๆทั้งหมดเป็นการให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตแต่มีพันธะแก่ผู้ปกครองและมูลนายทั้งหลายที่จะต้องดูแลทาสของตนให้มีที่อยู่อาศัย มีอาหารการกินและอาจรวมถึงให้การศึกษาด้วย แต่ คำว่าเสรีภาพ ในบริบทของตะวันตกหมายถึง อำนาจของบุคคลที่จะกำหนดตนเอง(self determination)ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลอื่นและเป็นภาวะที่ปราศจากการถูกหน่วงเหนี่ยวขัดขวาง โดยอำนาจนี้ บุคคลย่อมเลือกวิถีชีวิตของตนได้ด้วยตนเองตามใจปรารถนา จะเห็นได้ว่าความเข้าใจของคำว่าเสรีภาพในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยและของตะวันตกมีความแตกต่างกัน ความแตกต่างดังกล่าวมีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคมนั้นๆด้วย
วัฒนธรรมทางการเมืองไทยในอดีตไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแบบระบบอุปถัมภ์ค้ำชู แบบศักดินานิยมและแบบอำนาจนิยมเมื่ออยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเก่า โครงสร้างทางสังคมแบบเก่า วัฒนธรรมทางการเมืองเหล่านี้ก็ดำรงอยูได้อย่างไม่น่าจะมีปัญหาเพราะอาจจะมีความสอดคล้องกับระบบการปกครองและโครงสร้างทางสังคมในอดีตของไทยแต่ในภาวะปัจจุบันประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยจนได้เจ็ดสิบห้าปี นับได้ว่าเป็นก้าวย่างที่ยาวนานแต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยที่พยายามจำลองแบบประชาธิปไตยตะวันตกมาดูเสมือนหนึ่งว่าเติบโตไม่ได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็นดังประเทศตะวันตก
วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตกเน้นในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค เคารพต่อหลักนิติรัฐ เคารพต่อความเห็นของคนส่วนใหญ่แต่ยังคำนึงถึงเสียงส่วนน้อยของสังคมได้เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อประเทศได้เปิดรับอารยธรรมตะวันตกและจะเห็นได้ชัดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา แต่วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยในอดีตก็ยังคงอยู่ไม่สูญสลายหายไปไหนและยืนหยัดอยู่ได้จนถึงปัจจุบันแต่อาจมีการเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง เช่น ระบบอุปถัมภ์ค้ำชูในอดีตก็ยังดำรงอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆแต่เปลี่ยนจากการอุปถัมภ์ค้ำชูดัวยโครงสร้างฐานันดรทางสังคม (social hierarchical structure)มาเป็นการอุปถัมภ์ค้ำชูด้วยเงินตรา(cash nexus) ศักดินานิยมและอำนาจนิยมในอดีตก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันแต่อยู่ในรูปแบบใหม่ที่ผูกพันกันด้วยเงินตราและผลประโยชน์ต่างตอบแทนในรูปแบบอื่นๆที่มิใช่เงินตรา สิ่งเหล่านี้คือ วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุปถัมภ์ของไทย
วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุปถัมภ์ทำให้ผู้คนที่แสวงหาอำนาจทางการเมืองหรือผู้ที่ต้องการกุมอำนาจทางการเมืองเอาไว้ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฐานสำหรับตนเองในการต่ออำนาจ รวบอำนาจ ยึดอำนาจทางการเมืองไว้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภา นักการเมือง ผู้นำฝ่ายทหารและประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง วัฒนธรรมดังกล่าวจึงเป็นตัวผลักดันที่สร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในทุกๆระดับของสังคมทางการเมืองไทย ดังตัวอย่างเช่น การซื้อสิทธิขายเสียง การแตกแยกของพรรคการเมือง การรวมพรรคการเมือง การยึดอำนาจโดยทหาร ระบบการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ล้มเหลว การริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วทั้งๆที่มีรัฐธรรมนูญเป็นบทกฎหมายสูงสุดของรัฐอยู่
วัฒนธรรมทางการเมืองไทยกับรัฐธรรมนูญไทยภายใต้แนวคิดตะวันตก
สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยต่างๆนานับประการว่า เพราะเหตุผลใดความเป็นประชาธิปไตยของไทยจึงไม่ขับเคลื่อนไปในแบบที่ควรจะเป็น เพราะเหตุใดจึงมีผู้กล่าวว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆมิใช่แบบตะวันตก มีปัจจัยใดที่ส่งผลทำให้ความเป็นประชาธิปไตยในไทยอยู่ในลักษณะดังกล่าว สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยมีจริงหรือไม่ ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทำได้จริงหรือไม่ และรัฐธรรมนูญไทยเป็นบทกฎหมายสูงสุดหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อสงสัยและปัญหาที่ต้องคิดกันต่อไปว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือได้แต่ชื่อว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพียงแต่ลายลักษณ์อักษรที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้นแต่ในทางปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างกัน
โดยประการทั้งปวงแล้ว คงต้องหวนกลับมาพิจารณาความเข้าใจในรัฐธรรมนูญไทยภายใต้กรอบความคิดแบบตะวันตก ว่า ที่มา ความหมาย สถานะของรัฐธรรมนูญไทยเป็นอย่างไร มีปัจจัยอื่นที่คอยเกื้อหนุนหรือมีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่อย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การศึกษาดังกล่าวจึงต้องเทียบเคียงกับแนวคิดรัฐธรรมนูญของโลกตะวันตก เพราะเหตุที่ว่า ประเทศไทยได้นำแนวคิดและต้นแบบของรัฐธรรมนูญของตะวันตกเป็นแบบในการจัดสร้างรัฐธรรมนูญของไทย ไม่ว่าเป็นเรื่อง การรับรองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน การแบ่งแยกการใช้อำนาจ การจัดตั้งองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญ การถ่วงและดุลย์อำนาจการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่ามาจากอิทธิพลของรัฐธรรมนูญในโลกตะวันตกและนำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญของไทยบางฉบับ
แนวความคิดประชาธิปไตยตะวันตกเกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์ความเป็นของประเทศทางตะวันตกดังที่ทราบกัน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสหรัฐอเมริกา ในทางวิชาการกฎหมายต่างยอมรับแนวคิดประชาธิปไตยตะวันตกดังกล่าวในรูปแบบของทฤษฎีกฎหมายที่เรียกว่า ทฤษฎีรัฐธรรมนูญนิยม(constitutionalism) ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการสามประการ คือ การรับรองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล ทั้งสามหลักการดังกล่าวพัฒนาการมาจากประวัติความเป็นมาของชาติบ้านเมืองทางตะวันตก(23) รัฐธรรมนูญไทยหลายๆฉบับได้ยอมรับแนวคิดดังกล่าวและนำมาเป็นเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการกำหนดกรอบในการตราบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายๆฉบับของไทย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้น โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติอย่างชัดแจ้งถึงหลักการดังกล่าวในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ (24)
ดังนั้นโดยสภาพแล้วรัฐธรรมนูญไทยหลายๆฉบับภายใต้กรอบความคิดแบบตะวันตกน่าจะเกิดมรรคเกิดผลตามครรลองประชาธิปไตยตะวันตกเหมือนอย่างประเทศตะวันตก แต่ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองไทยดูเหมือนจะสวนทางกับระบบการเมืองของตะวันตก และในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรสูงสุดของรัฐ การจะทำให้กลไกหรือมาตรการต่างๆในรัฐธรรมนูญให้เกิดมรรคผลได้นั้นก็คงอยู่ที่ทุกๆคนในสังคมนั้นและวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมนั้นเข้าใจและเข้าถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยหรือไม่อย่างไร
เมื่อวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้นำมาใช้ในประเทศไทยก็ได้รับการปรุงแต่งโดยพยายามให้เข้ากับวัฒนธรรมทางการเมืองไทย อย่างไรก็ตามการปรุงแต่งดังกล่าวไม่สามารถที่จะผสมผสานทั้งสองวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกันให้กลมกลืนกันไปได้เพราะประวัติความเป็นมาแตกต่างกันและการไม่ลงตัวของการผสมผสานดังกล่าวได้ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความชะงักงันของระบอบประชาธิปไตยของไทยมาโดยตลอดดังปรากฎในตารางด้านล่างดังกล่าว (25)และก่อให้เกิดรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยแบบไทยๆขึ้น
วัฒนธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง
ประชาธิปไตยตะวันตก ประชาธิปไตยอุปถัมภ์แบบไทย
ตนเอง ผู้อื่น ตนเอง ผู้อื่น
√ √ √ ×
ความเสมอภาค √ √ √ ×
หลักนิตธรรม √ √ × √
กฎเสียงข้างมากโดย
คำนึงถึงเสียงข้างน้อย √ √ × √
การคานและดุลย์อำนาจ √ √ × √
จากตารางดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า หลักการความเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่ว่าจะเป็น หลักสิทธิเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักนิติธรรม กฎเสียงข้างมากโดยคำนึงถึงเสียงข้างน้อย หลักการคานและดุลย์อำนาจ ล้วนแต่ได้รับการยอมรับและปรากฎอยู่ในบทบัญญัติที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญของไทยหลายๆฉบับต่างก็ยอมรับหลักการดังกล่าว แต่เมื่อนำวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยตะวันตกและวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุปถัมภ์แบบไทยมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็นประ-ชาธิปไตยแบบตะวันตกในประเทศไทย หลักการความเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญของไทยไม่ได้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของหลักการเหล่านั้นเลย ดังที่ศาสตราจารย์พิธาน ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้วิเคราะห์ไว้อย่างชัดแจ้งว่า (26)
วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบตะวันตกซึ่งมีเสาหลัก4เสา คือ การยึดมั่นในสิทธิ-เสรีภาพ การเคารพความเสมอภาค การเชื่อในนิติธรรมหรือกฎหมาย และการฟังคนส่วนใหญ่โดยคุ้มครองคนส่วนน้อย เมื่อถูกนำมาในสังคมไทยก็แปรพันธุ์ไปจากเดิม...กล่าวคือจะยึดมั่นสิทธิ-เสรีภาพของตนแต่สำหรับคนอื่นต้องมีหน้าที่ต่อตน ยอมรับสิทธิและการใช้อำนาจของตน ความเสมอภาคจะใช้ได้ต่อเมื่อตนต้องการเสมอกับผู้อื่น แต่ถ้าตนอยู่สูงในสถานะแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นบุญ คนด้อยโอกาสทั้งหลายก็เพราะทำกรรม จึงต้องรับกรรม กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ก็เฉพาะกับผู้อื่น แต่ถ้ากับตนความสัมพันธ์พิเศษกับผู้ใช้กฎหมายต้องมาก่อน คอรัปชั่นเป็นสิ่งที่เลว เมื่อคนอื่นเป็นผู้ให้และผู้รับ แต่ตนเองพร้อมจะให้เมื่อได้รับผลตอบแทนส่วนตัวที่คุ้มกว่า การับฟังเสียงส่วนใหญ่จะใช้เมื่อต้องการสนับสนุนสิ่งที่ตนอยากทำอยู่แล้ว คนส่วนน้อยที่ถูกไล่ที่สร้างเขื่อนต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์...สภาวะเช่นนี้ไม่อาจเข้าใจได้เลยหากไม่ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมไทยเดิม
จากข้อวิเคราะห์ดังกล่าวกรณีได้แสดงให้เห็นว่า การที่จะเข้าใจถึงว่าทำไมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยที่นำเอาแนวความคิดประชาธิปไตยตะวันตกมาเป็นแบบ เมื่อบทบัญญัติเหล่านั้นมีผลใช้บังคับแล้วกลับปรากฎว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถใช้ได้ดังเจตนารมณ์ของครรลองในการปก-ครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไปได้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุปถัมภ์แบบไทยที่เป็นการผสมระหว่างวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตกกับวัฒนธรรมทางการเมืองระบบอุปถัมภ์ของไทยมีอิทธิพลอยู่เหนือรัฐธรรมนูญไทย ดังที่ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวเอาไว้ว่า (27)
...วัฒนธรรมทางการเมืองคือรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของรัฐ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ฉีกไม่ออกไม่ว่าจะใช้รถหุ้มเกราะสักกี่คันก็ไม่สามารถฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้...
เมื่อพิเคราะห์จากคำกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าในสังคมไทยมีรัฐธรรมนูญอยู่สองฉบับ ฉบับแรกคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช....หรือธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช...ซึ่งเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือคณะบุคคลที่ยึดอำนาจรัฐ อีกฉบับคือ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งไม่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรแต่เกิดจากวิถีชีวิต วิถีความคิด ความเคยชินของผู้คนในสังคมไทยช่วยกันสร้างขึ้นมาและ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมทางการเมืองอยู่คู่กับสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เสื่อมสลายและมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆอยู่เหนือรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับที่เคยมีมาในประเทศไทยทั้งหมด
ดังนั้นถ้ามีการจัดลำดับศักดิ์กฎหมายกันจริงๆน่าจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐที่แท้จริงมีค่าบังคับอยู่เหนือรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยทั้งหมดและเป็นที่มาของธรรมนูญการปกครองของไทยและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทั้งหลายที่มาจากผู้ที่ยึดอำนาจรัฐ มาถึง ณ.จุดนี้ทำให้เห็นได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุปถัมภ์แบบไทย วัฒนธรรมทางการเมืองอำนาจนิยมที่อยู่เหนือประชาธิปไตย และวัฒนธรรมทางการเมืองศักดินานิยมที่อยู่เหนือประชาธิปไตย สะท้อนถึงการผสมผสานของทั้งสองวัฒนธรรมทางการเมืองที่ล้มเหลวในระบอบการปกครองประชาธิปไตยของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
นักสังคมศาสตร์ได้จำแนกสังคมมนุษย์เป็นสองรูปแบบ คือ สังคมประเพณี และสังคมยุคใหม่ ความแตกต่างของสังคมประเพณีและสังคมยุคใหม่จะทำให้เห็นภาพวัฒนธรรมทางการเมืองทั้งสองรูปแบบได้เด่นชัดและเข้าใจมากขึ้น ข้อแตกต่างระหว่างสังคมยุคใหม่และสังคมประเพณีมีดังต่อไปนี้ (28)
ประการแรก สังคมประเพณียึดถือปทัสถานของยศศักดิ์ ตระกูล เชื้อไข สถานภาพทางสังคม เป็นหลักของการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เรียกว่า Ascriptive norms เช่น ยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ตกทอดไปยังทายาทได้ แต่ในสังคมยุคใหม่จะยึดปทัสถานของผลสำเร็จ จากการกระทำของตนเองเป็นหลักเกณฑ์ของการคัดเลือกในการเข้าดำรงตำแหน่ง เรียกว่าAchievement norms เช่น การสอบแข่งขันบรรจุเข้ารับราชการซึ่งยึดติดกับระบบคุณธรรมและความสามารถ(meritocracy)
ประการที่สอง สังคมประเพณียึดถือหลักเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง กำหนดความสัมพันธ์ทางสังคม เรียกว่า Particularistic Criteria หลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อให้เกิดมีการจัดแบ่งชั้นวรรณะของคนและก่อให้เกิดหลักการเลือกปฏิบัติ ในขณะที่สังคมสมัยใหม่ยึดหลักสากลนิยมที่เรียกว่าUniversalistic Criteria หลักเกณฑ์ดังกล่าวถือว่า ทุกๆคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันและโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีระบบพรรคพวก
ประการที่สาม สังคมประเพณีซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมยึดถือว่า ในการทำงานในสังคมเกษตรไม่มีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ในการทำงานกล่าวคือ ทุกๆคนต้องทำงานในหลายๆหน้าที่ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเรียกว่า Diffuse Rule แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมจะมีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญและความชำนาญเฉพาะเรื่อง หลักเกณฑ์ดังกล่าวเรียกว่าSpecificity Rule
จากมุมมองดังกล่าวจะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุปถัมภ์แบบไทยมีความสอดคล้องกับสังคมประเพณี และวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตกมีความสอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ และการที่โครงสร้างรัฐธรรมนูญไทยมีวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุปถัมภ์ครอบงำอยู่ รัฐธรรมนูญไทยจึงไม่ได้เป็นสัญญาประชาคม(social contract)ที่เกิดจากการสร้างสรรของประชาชนอย่างแท้จริงแต่เป็นเพียงกติกาที่เกิดจากผลงานของผู้มีอำนาจหรือกลุ่มผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ดังนั้นรัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงการสร้างสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างกลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจดัวยกันเองมากกว่าที่จะเป็นการสร้างสัมพันธภาพเชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนตามครรลองประชาธิปไตย ดังตัวอย่างที่ได้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการก่อการปฏิวัติและก่อการรัฐประหารหลายครั้งและมีการทำลายรัฐธรรมนูญไปอีกหลายๆฉบับ ทุกๆเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเมื่อฝ่ายหนึ่งไม่พอใจอีกฝ่ายหนึ่งและทุกๆครั้งที่มีการยึดอำนาจได้ ผู้ที่ยึดอำนาจก็จะสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาและใส่กลไกในการสร้างอำนาจของตนเองไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นๆทุกครั้งไป
สัมพันธภาพเชิงอำนาจกับรัฐธรรมนูญไทย
วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นตัวกำหนดสัมพันธภาพเชิงอำนาจของสังคม สัมพันธภาพเชิงอำนาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระบบและกระบวนการภายในสังคมการเมืองหนึ่งๆอันเป็นตัวกำหนดแจกแจงว่า ใครได้อะไร เมื่อไร แล้วก็อย่างไร ซึ่งหมายถึงเรื่องฐานะ อำนาจและผลประโยชน์ การแสดงออกซึ่งสัมพันธภาพเชิงอำนาจดังกล่าวจะปรากฎในรูปของสถาบันทางการเมืองต่างๆและระ-บบสถาบันทางการเมืองเช่นว่านี้ก็คือ รัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงเป็นเครื่องมือแสดงบทบาทหน้าที่ของระบบและกระบวนการแห่งสัมพันธภาพเชิงอำนาจ
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า ความเป็นบทกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือกฎเกณฑ์อื่นที่มีลำดับศักดิ์กฎหมายที่ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ และ รัฐธรรมนูญเป็นบ่อเกิดแห่งกฎหมายทั้งปวงของรัฐหรือรัฐธรรมนูญเป็นบทกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะเป็นจริงหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของความเป็นจริงจากแง่ของสัมพันธภาพเชิงอำนาจในสังคมรัฐ
ในสังคมตะวันตกวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยตะวันตกได้กำหนด ลักษณะความเป็นสัญญาประชาคม ให้เป็นเกณฑ์กำหนดลักษณะความเป็นกฎหมายของรัฐธรรมนูญ สัญญาประชาคมดังกล่าวมีรากฐานความเป็นมาจากประวัตศาสตร์ทางความคิดและการต่อสู้ทางการเมืองของตะวันตกและเป็นรากฐานของสัมพันธภาพเชิงอำนาจอันสถาปนารัฐธรรมนูญให้มีสถานภาพเป็นกฎหมานสูงสุดผูกมัดให้ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองใช้อำนาจภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (29) ดังนั้นลักษณะสัญญาประชาคมจึงสร้างความสัมพันธภาพเชิงอำนาจขึ้นระหว่างฝ่ายปกครองกับผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง เช่น มหาบัตรแมคนาคาร์ตา(Magna Carta ค.ศ.1215) บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (Bill of Rights ค.ศ.1869) รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1776 เป็นต้น สัญญาประชาคมจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้ปกครองรัฐได้รับการเรียกร้องจากผู้ที่อยู่ใต้การปกครองให้กระ-ทำตามความต้องการของผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง ประวัติศาสตร์ของชาติตะวันตกได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องดังกล่าวได้อย่างเด่นชัด
ในสังคมไทยถ้าจะกล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยเป็นสัญญาประชาคมตามแนวคิดของตะวันตกก็คงกล่าวเช่นนั้นได้ยาก ถึงแม้จะมีบทบัญญัติในการจำกัดการใช้อำนาจ การรับรองสิทธิสรีภาพให้ประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การแบ่งแยกการใช้อำนาจซึ่งเลียนแบบอย่างรัฐธรรมนูญตะวันตกก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้เกิดผลบังคับตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเพราะในสังคมไทยมีพื้นฐานสัมพันธภาพเชิงอำนาจภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุปถัมภ์ที่ทำให้แตกต่างจากสัมพันธภาพเชิงอำนาจในสังคมตะวันตกที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตย กล่าวอีกนัยหนึ่งสัมพันธภาพเชิงอำนาจในสังคมไทยยังยึดติดอยู่ในรูปแบบสังคมประเพณี ส่วนสัมพันธภาพเชิงอำนาจในตะวันตกอยู่รูปแบบสังคมสมัยใหม่ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
จากการอธิบายดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญไทยเป็นเพียงกลไกในการเข้าสู่อำนาจ รักษาอำนาจ ต่ออำนาจของผู้ที่กุมอำนาจรัฐหาใช่เป็นกติกาของประชาคมที่มุ่งคอยจำกัดและควบคุมการใช้อำนาจรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใดไม่ เช่น บทบัญญัติในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นต้น
อิทธิพลจากประเทศตะวันตกทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะของการเปลียนจากสังคมประ-เพณีมาสู่สังคมสมัยใหม่และสร้างความผสมผสานให้เกิดขึ้นระหว่างสองวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างมานานแล้วตั้งแต่ประเทศไทยได้เปิดรับอารยะธรรมตะวันตกในสมัยการปกครองแบบสม-บูรณาญาสิทธิราชย์มาถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ณ.ปัจจุบันก็ยังอยู่ในสภาวะดังกล่าวอยู่ กล่าวคือ สัมพันธภาพเชิงอำนาจในสังคมไทย กลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มเทคโนแครต กลุ่มนักวิชาการในระบบราชการก็ยังเป็นผู้กุมอำนาจรัฐอยู่ ดังนั้นในกระบวนการของความเป็นประชาธิปไตยจึงถูกกำหนดมาจากกลุ่มในระบบราชการดังกล่าวซึ่งที่จริงแล้วกระบวนการประชาธิปไตยนั้นควรถูกกำ-หนดโดยประชาชนมากกว่า กลุ่มนี้ยึดติดอยู่กับสังคมประเพณี ในขณะเดียวกันในสังคมไทยก็มีกลุ่มต่อต้านที่เกิดมาจากกระบวนการนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตกซึ่งมีความคิดค่อนข้างจะแตกต่างจากกลุ่มแรกในการสร้างสรรประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย กลุ่มนี้มีความพยายามเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ทันสมัยโดยเปลียนจากสังคมประเพณีไปสู่สังคมสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามอิทธิพลของกลุ่มแรกยังมีผลมากมายในสังคมไทยมากกว่ากลุ่มหลังเพราะรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ของไทยได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มแรกเกือบทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะให้รัฐธรรมนูญไทยทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของผู้ปกครองหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ดังตามแนวความคิดรัฐธรรมนูญนิยมของตะวันตก
บทสรุป
วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์และมีอิทธิพลอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ รัฐใดที่มีการบัญญัติรัฐธรรมนูญให้มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยก็ย่อมแสดงให้เห็นพฤติกรรมทางสังคมของชนชาตินั้นๆว่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมากและรัฐธรรมนูญก็จะมีสถานะที่มั่นคง ยืนยาวและถาวร สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นพลวัตรกับสังคมได้ตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม รัฐใดที่มีการบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอันเนื่องมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ยังดำรงอยู่ในสังคมรัฐนั้นหรือพยายามผสมผสานทั้งสองวัฒนธรรมทางการเมืองแต่ไม่ได้ผล รัฐธรรมนูญในรูปแบบดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือของผู้กุมอำนาจในบ้านเมืองเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งในทางตรงกันข้าม รัฐธรรมนูญใดที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมทางการเมืองอุปถัมภ์ของผู้มีอำนาจ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ไม่สามารถดำรงอยู่สถาพรคู่รัฐต่อไปได้มีอันต้องถูกทำลายหรือฉีกทิ้งไป
ปัญหาของสังคมไทยเป็นปัญหาที่ใช้วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอุปถัมภ์มากเกินความพอ-ดีทำให้วัฒนธรรมธรรมทางการเมืองดังกล่าวมีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทยตั้งแต่ในยุคการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนมาถึงยุคการปกครองในระบอบประชาธิปไตย วัฒน- ธรรมทางการเมืองอุปถัมภ์ดังกล่าวได้กลายพันธุ์มาเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตยอุป-ถัมภ์และเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐธรรมนูญไทยมีมากมายหลายฉบับ มีการก่อการรัฐประหารหลายครั้งหลายหนและทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงเป็นเพียงแบบไทยๆมิใช่แบบตะวันตกและ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปกี่ฉบับก็ตาม วัฏจักรของปัญหาแบบเดิมๆก็จะวนกลับมาอีก ถ้าคนในสังคมไทยยังขาดจิตสำนึกในวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตย
..........................................................................................................................
เชิงอรรถ
(1) รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,น.บ.(จุฬา),น.ม.(จุฬา), D.E.A(droit public) Docteur en droit (nouveau régime) mention très honorable, lUniversité StrasbourgIII
(2) Olivier Duhamel et Yves Mény,Dictionnaire constitutionnel,Paris,PUF,1992,p.770
(3) George Burdeau,Droit constitutionnel et institutions politiques,Paris,LGDJ,1968,p.11
(4) ดุรายละเอียดใน เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน ว่า ด้วย รัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย,กรุงเทพ,สำนักพิมพ์นิติธรรม,พิมพ์ครั้งที่สอง,2548,หน้า31-35
(5) ตำราบางเล่มกล่าวว่าอำนาจอธิปไตยเป็นหนึ่งเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ ดังนั้นการที่กล่าวว่าอำนาจอธิปไตยแบ่งเป็นสามอำนาจนั้นจึงไม่ถูกต้องนักและน่าจะกล่าวว่าเป็นการแบ่งแยกหน้าที่เสียมากกว่า
(6) ดูเพิ่มเติมทฤษฎีดังกล่าวใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธี,กรุงเทพ,สำนักพิมพ์นิติธรรม,พิมพ์ครั้งที่1,2538,หน้า19-22
(7) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,อ้างแล้ว,หน้า25
(8) วิชัย ตันศิริ,วัฒนธรรมการเมืองและการปฏิรูป,พิมพ์ครั้งที่สอง,กรุงเทพ,สถาบันนโยบายศึกษา,2547,หน้า21
(9) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525หน้า757
เรื่องเดิม,หน้า90
(10) Charles DEBBASCH et auteurs,Lexique de politique, Paris, Dalloz, 1992, p.134
(11) Ibid.p.138
(12) อภิญญา รัตนมงคลมาศและวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์,คนไทยกับการเมือง ปีติฤาวิปโยค,กรุงเทพ,สถาบันนโยบายศึกษา,2547,หน้า158-159
(13) วิชัย ตันศิริ,อ้างแล้ว,หน้า21,ในAlmonds and Powell, Comparative Politics,Boston and Toronto: Little, Brown and Company,1966,p.16-17
(14) สมบัติ จันทรวงศ์ (บรรณาธิการแปลและเขียนบทนำ), เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เอกสารความคิดทางการเมืองอเมริกัน,กรุงเทพ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ม,2530, หน้า267
(15) นันทวัฒน์ บรมานันท์((ผู้แปล), คำแปล รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ.1958, กรุงเทพวิญญุชน,2548, หน้า81-84
(16) ชัยอนันต์ สมุทวณิช, วัฒนธรรมกับการสร้างสังคมการเมืองประชาธิปไตยม กรุงเทพ,สถาบันนโยบายศึกษา,พ.ศ.2537,หน้า9
(17) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,การสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย,กรุงเทพ,วิญญชน, 2542,หน้า 174
(18) ม.ร.ว ฮคิน รพีพฒน์,ระบบอุปถัมภ์และโครงสร้างชนชั้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในระบบอุปถัมภ์, อมรา พงศาพิชญ์ และ ปรีชา คุวินทร์พันธุ์(บรรณาธิการ),กรุงเทพ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545, หน้า229
(19) เรื่องเดียวกัน,หน้า160
(20) รังสรรค์ ธนพรพันธุ์, สังคมเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2550:ยุทธศาสตร์การพัฒนาในกระแสโลกานุวัตร, รายงานประกอบการประชุมวิชาการ2536TDRI, 10-11ธันวาคม2536,หน้า58
(21) ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ,แนวพระราชดำริเรื่องทาสและเสรีภาพ,ศิลปวัฒนธรรม(มกราคม2547):89-94
(22) ดูรายละเอียดเรื่องดังกล่าวได้ในบทที่ 3 รัฐธรรมนูญนิยมของหนังสือเล่มนี้และ วลัยมาศ แก้สศรชัย,สภาร่างรัฐธรรมนูญกับการร่างรัฐธรรมนูญตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม,ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2541
(23) ...ภายหลังจากนั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ...
(24) บวรศักด์ อุวรรณโณ,อ้างแล้ว,หน้า176
(25) เรื่องเดิม,หน้า174-175
(26) นิธิ เอียวศรีวงศ์,ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์,กรุงเทพ,มติชน,2547,หน้า127
(27) วิชัย ตันศิริ,ฮ้างแล้ว,หน้า49-51
(28) เสน่ห์ จามริก,การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ,กรุงเทพ,สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2540,หน้า 19
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|