กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจกับตลาดการเงินไทย (หน้าที่ ๑) |
|
|
|
นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
นายจีรชาญ อนันต์ณัฐศิริ
นางสาววิมลรัตน์ ปฏิพัทธ์วุฒิกุล
นิสิตชั้นปีที่สี่ คณะนิติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของกฎหมายมหาชนได้เปลี่ยนแปลงไป จากกฎหมายที่ดูแลเรื่องโครงสร้างทางการเมือง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปตามความสมัครใจของเอกชนในระบบเสรีนิยมดั้งเดิม รัฐเริ่มรับเอาแนวคิดเสรีนิยมที่จะต้องแทรกแซงเสรีภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าวตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และความสงบสุขในสังคม กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือรัฐในการควบคุมกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประการที่รัฐเห็นว่าจำต้องแทรกแซงเพื่อความสงบเรียบร้อยเพราะเป็นกิจกรรมที่สำคัญ มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่
ตลาดการเงินก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากประการหนึ่งเช่นกัน หากรัฐไม่เข้าควบคุมกำกับดูแลแล้ว ย่อมเปิดช่องให้เอกชนดำเนินการกันเองโดยปราศจากกเกณฑ์ และนำไปสู่วิกฤตทางการเงินของประเทศได้ในที่สุด รัฐส่วนใหญ่จึงใช้อำนาจของตนในวิธีต่างๆกันไปเพื่อควบคุมตลาดเงิน ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐใช้อำนาจของตนในการควบคุมกำกับดูแลดังต่อไปนี้
๑. นิยามของตลาดการเงิน
ตลาดการเงิน (Financial market) ตลาด คือ สถานที่พบกันระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายเพื่อทำการแลกเปลี่ยนสินค้า สำหรับตลาดการเงิน เป็นสถานที่พบปะระหว่างผู้มีความประสงค์จะกู้ยืม และผู้มีเงินออมที่ประสงค์จะให้กู้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นที่ที่อุปสงค์และอุปทานในเงินมาพบกัน
ตลาดการเงินสามารถแบ่งออกได้เป็นสองตลาดใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
ก. ตลาดเงิน (Money market) เป็นตลาดสำหรับผู้ต้องการระดมทุนระยะสั้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินกู้ พันธบัตร หรือ เลตเตอร์ออฟเครดิต
ข. ตลาดทุน (Capital market) เป็นตลาดสำหรับผู้ต้องการระดมทุนระยะยาว ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของตราสาร แบ่งเป็นตราสารหนี้ และตราสารทุน ซึ่งในส่วนตลาดทุนนั้นจะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่เข้ามาดูแล นั่นคือ คณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.
๒. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลตลาดการเงิน
การกำกับดูแลตลาดการเงินนั้นมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
๑. พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักทั้งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตลาดการเงิน เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ
๒. พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์
ธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่สำคัญยิ่งในตลาด เพราะเป็นแหล่งเงินออมที่เป็นสินค้าในตลาดการเงิน จึงต้องถูกควบคุมให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม มีหลักเกณฑ์การดำเนินการที่เป็นสากล เชื่อถือได้ เพื่อป้องกันวิกฤติด้านการเงินซึ่งส่งผลกระทบถึงคนทั้งประเทศ
๓. พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
เมื่อกล่าวถึงคำว่า สถาบันการเงิน ในความคิดของคนส่วนใหญ่ย่อมนึกถึงธนาคารพาณิชย์เป็นหลักแต่แท้จริงแล้วสถาบันการเงิน มีความหมายที่กว้างกว่านั้นคือหมายรวมถึงบริษัทที่มิใช่ธนาคารด้วยคือบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ โดยมีกฎหมายบัญญัติขึ้นใช้เป็นการเฉพาะ โดยเมื่อเทียบกับพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ กฎหมายแต่ละฉบับก็จะกำหนดการจัดตั้ง โครงสร้าง การดำรงเงินกองทุน การควบคุม การดำเนินกิจการต่างๆรวมถึงบทกำหนดโทษต่างๆ ซึ่งมีสาระสำคัญภาพรวมหลักรวมถึงการวางเรื่องในกฎหมายค่อนข้างสอดคล้องกันเป็นไปในทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา๕ กับการจัดตั้งบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา ๘ เรื่องการตั้งสาขาธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา ๗และ การตั้งสาขาบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา ๑๐ เรื่องการดำรงเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา๑๐ และการดำรงเงินกองทุนบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา ๒๙ เรื่องอำนาจการแก้ไขฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา ๑๗ทวิ และอำนาจการแก้ไขฐานะการดำเนินงานของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา ๒๖จัตวา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจสถาบันการเงินกระทำหรือห้ามกระทำการใดๆ บทบัญญัติที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจ กำหนดหรือควบคุมดูแลสถาบันการเงินต่างๆได้ แต่ในส่วนรายละเอียดนั้นอาจแตกต่างกันตามแต่ลักษณะของธุรกิจสถาบันการเงินแต่ละประเภท
๔. พระราชบัญญัติเงินตรา
๕. พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
๓. นิติวิธีของรัฐในการกำกับดูแลตลาดการเงิน
๓.๑ ฝ่ายนิติบัญญัติ
การกำกับดูแลโดยฝ่ายนิติบัญญัติทำโดยการบัญญัติพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ และพระราชบัญญัติอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ให้ผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดเงินต้องทำตาม
เนื่องจากรัฐสภา ซึ่งได้รับเลือกมาจากประชาชนนั้นมีกระบวนการทำงานที่มากด้วยขั้นตอน และใช้เวลานานในการออกกฎหมาย ไม่ทันรับมือต่อสถานการณ์ตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว หน้าที่ในการกำกับดูแลตลาดการเงินส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับฝ่ายบริหาร ซึ่งได้รับการเลือกจากรัฐสภาอีกทีหนึ่ง และเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล
๓.๒ ฝ่ายบริหาร
ฝ่ายบริหารนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะออกกฎเกณฑ์ที่มีผลเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารออกมากำกับให้เอกชนต้องทำตาม เป็นผู้ให้อนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆ โดยการใช้อำนาจทั้งสองส่วนนั้น มีทั้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ได้โดยลำพัง หรือรัฐมนตรีกำหนดได้โดยลำพัง ตลอดจนการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจร่วมกัน
นอกจากนี้ เมื่อจำเป็น ฝ่ายบริหารอาจต้องเข้าไปบริหารกิจการดังกล่าวเอง โดยการแต่งตั้งบุคคลที่ตนเห็นชอบเข้าไปบริหารงานธนาคารนั้นๆ
๓.๓ ฝ่ายตุลาการ
หากมีผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายข้างต้น ศาลย่อมลงโทษตามบทกำหนดโทษได้วางไว้ ทั้งในประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติอื่นๆที่กำหนดโทษในเรื่องนั้นๆเป็นการเฉพาะ
๔. องค์กรกำกับดูแลตลาดการเงิน
ในตลาดการเงิน ผู้ที่มีบทบาทในการประสานอุปสงค์และอุปทาน คือ สถาบันการเงินต่างๆเพราะเป็นแหล่งระดมทุนจากเงินออมของประชาชน ซึ่งรัฐจำต้องเข้าควบคุม ในที่สุด จึงได้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยมีรายละเอียดดังนี้
๔.๑ ประวัติความเป็นมา
แต่เดิมนั้น สถาบันที่ทำหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศไทย คือ สำนักงานธนาคารชาติไทยในฐานะส่วนราชการกระทรวงการคลัง โดยมีหน้าที่จำกัดอยู่ที่กิจการธนาคารกลางบางจำพวก ได้แก่ การรับฝากเงินจากรัฐบาล องค์การรัฐบาล ธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ เป็นต้น ต่อมาจึงได้ดำเนินการควบคุมด้านการแลกเปลี่ยนเงิน และกลายมาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะนิติบุคคลที่ทำกิจการของธนาคารกลาง ในที่สุด
๔.๒ การบริหารงาน
พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่กำกับกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยทั่วไป โดยมีคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ และรองประธานกรรมการ ตามลำดับ และกรรมการอีกไม่น้อยกว่าห้าคน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการต้องควบคุมและดูแลกิจการต่อไปนี้โดยเฉพาะคือ
(๑) การตั้งและการเลิกสาขาและตัวแทน
(๒) การกำหนดเงื่อนไขและขอบเขตทั่วไปแห่งธุรกิจประเภทต่างๆ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้ธนาคารประกอบได้
(๓) การกำหนดอัตรามาตรฐานสำหรับรับช่วงซื้อลดและดอกเบี้ย
(๔) การให้ความสะดวกด้วยเครดิต
(๕) การเสนอบัญชีกำไรขาดทุน งบดุล และรายงานประจำปีตามมาตรา ๒๒
(๖) การออกข้อบังคับของธนาคาร
กรรมการนั้นไม่จะต้องรับผิดจากการบริหารงานตามหน้าที่
ส่วนค่าตอบแทนนั้น ให้กรรมการมีสิทธิได้ค่าทดแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการใช้จ่ายอันสมควร และการเสียหายในหรือเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ เว้นไว้แต่การเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดของตน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดเงินบำเหน็จของกรรมการ
กรรมการย่อมถูกถอนจากตำแหน่ง กล่าวโดยเฉพาะในกรณีต่อไปนี้
(๑) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นผู้ไร้ความสามารถ
(๒) ขาดการประชุมคณะกรรมการกว่าสามครั้งต่อเนื่องกันโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร
(๓) รับเป็นกรรมการหรือรับตำแหน่งในธนาคารอื่นใด
ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ผู้ว่าการ และรองผู้ว่าการถูกแต่งตั้งและถอดถอนโดยพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าการนั้นเป็นเสมือนผู้จัดการของธนาคารแห่งประเทศ คอยดูแลให้การเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนรองผู้ว่าการนั้นจะทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย หากผู้ว่าการไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของกรรมการเสียงข้างมากก็สามารถเสนอประเด็นไปให้รัฐมนตรีชี้ขาดได้
นอกจากคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ยังมีคณะกรรมการสำคัญอีกสามคณะ ได้แก่
ก. คณะกรรมการนโยบายการเงิน
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. อย่างใกล้ชิดในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของ กนง. จะพิจารณาจากข้อมูลต่างๆที่ ธปท. นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินต่อไป
คณะกรรมการนโยบายการเงินที่ ธปท. แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ๓ ท่าน ได้แก่ ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ๔ ท่าน
ข. คณะกรรมการระบบการชำระเงิน
คณะกรรมการระบบการชำระเงิน กำหนดทิศทางและนโยบายด้านการชำระเงินของประเทศ เพื่อให้มีระบบการ ชำระเงินที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนและส่งเสริมการทำ ธุรกิจการค้า นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าการ เป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการด้านบริหาร และรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เป็นรองประธานตามลำดับ และกรรมการอีกสี่ท่าน รวมเจ็ดคน
ค. คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)
คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีคณะกรรมการ ๑๓ คน โดยผู้ว่าการเป็นประธาน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงินเป็นรองประธาน
๔.๓ บทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน
ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลนโยบายการเงินของประเทศ มีบทบาทหน้าที่ดังนี้
ก. การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
โดยดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ เพื่อก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินทั้งภายในและภายนอก เสถียรภาพภายใน ได้แก่ การรักษาค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับราคาและปริมาณสินค้า ส่วนเสถียรภาพภายนอก ได้แก่ การรักษาค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินตราต่างประเทศ ธนาคารมีหน้าที่ดูแลตลาดเงินระยะสั้นให้เป็นแหล่งที่เสริมสร้างสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน พัฒนาตลาดตราสารการเงิน และสนับสนุนตลาดทุน เพื่อให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนระยะยาว ตลอดจนดูแลและส่งเสริมให้ตลาดเงินตราต่างประเทศมีเสถียรภาพ เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน
ข. การกำกับดูแลสถาบันการเงิน
กำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ รวมทั้งกิจการวิเทศธนกิจ ให้มีความมั่นคงและได้มาตรฐานสากล ตลอดจนดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการกระจายสินเชื่อไปสู่ภาคเศรษฐกิจสำคัญด้านต่างๆ เช่น การส่งออก การเกษตรกรรม และการอุตสาหกรรม รวมทั้งดูแลและส่งเสริมให้มีการให้สินเชื่อในการพัฒนาหรือเป็นประโยชน์แก่ชนบท และเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย โดยการให้กู้ยืมผ่านสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME) เป็นต้น รวมทั้ง ดำเนินการพัฒนาสถาบันการเงินให้ก้าวหน้าและให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินในกรณีที่จำเป็นต้องมีการแก้ไข
ค. การเป็นนายธนาคารและที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
การเป็นนายธนาคารของรัฐบาลประกอบด้วย การให้บริการธุรกิจธนาคารแก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ เช่น การรับฝากเงิน การให้กู้เงิน การโอนเงิน การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการควบคุมการก่อหนี้ต่างประเทศและบริหารหนี้ในประเทศของรัฐบาล โดยเป็นตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์รัฐบาล
ในด้านการให้คำปรึกษานโยบายเศรษฐกิจแก่รัฐบาล ได้แก่ รวบรวมข้อมูล/วิเคราะห์ และประเมินภาวะเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ เพื่อเสนอแนะนโยบายเศรษฐกิจแก่รัฐบาล นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนของรัฐบาลในองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลุ่มธนาคารกลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACEN) และกลุ่มธนาคารกลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย (SEANZA) เพื่อส่งเสริมการร่วมมือทางการเงินและการพัฒนาประเทศ มีการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นกับองค์กรทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก (IBRD) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และองค์การเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (OECD) รวมทั้งธนาคารกลางของประเทศต่างๆ
ง. การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
ให้บริการทางการเงินแก่สถาบันการเงินโดยไม่มุ่งหวังกำไร ได้แก่ การรับฝากเงินและเก็บรักษาเงินสำรองตามกฎหมายของสถาบันการเงิน เป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้ายแก่สถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่อง เป็นศูนย์กลางการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน รวมทั้งให้บริการโอนเงินระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
จ. การบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ
บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีสภาพคล่องปลอดภัย และมีระดับที่เหมาะสม ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายเพื่อเสถียรภาพ และความน่าเชื่อถือของเงินบาท
ฉ. การจัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตร
ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตรและบัตรธนาคาร ออกใช้ธนบัตรและรับแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด เพื่อให้ประชาชนมีธนบัตรที่อยู่ในสภาพดี ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทั่วถึงทั้งประเทศ รวมทั้งดูแลการหมุนเวียนของธนบัตรให้มีปริมาณที่เพียงพอ และเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับธุรกิจที่พึงเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นธุรกิจประเภทงานธนาคารกลางตามที่พระราชกฤษฎีกา
กำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒ รวม ๑๙ ข้อครอบคลุมบทบาทที่กล่าวมาข้างต้น และมีข้อห้ามตามมาตรา ๑๓ มิให้กระทำการในลักษณะธนาคารพาณิชย์ทั่วไป คือ
(๑) ประกอบการค้าหรือมีส่วนได้เสียโดยตรงในกิจการพาณิชย์ อุตสาหกรรม หรือภาระธุระอย่างอื่นๆ แต่ธนาคารอาจได้มาโดยทางใด ๆ ซึ่งส่วนได้เสียเนื่องในการระงับสิทธิเรียกร้องใด ๆ ของธนาคาร และบรรดาส่วนได้เสียที่ได้มานั้นต้องจำหน่ายเร็วที่สุดที่จะพึงทำได้
(๒) ซื้อหุ้นในธนาคารอื่นใดหรือบริษัทใด หรือให้กู้ยืมเงินโดยรับหุ้นเช่นว่านั้นเป็นประกัน
(๓) ให้กู้ยืมเงินโดยรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ หรือรับเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไว้เป็นประกันโดยประการอื่น หรือถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่สำหรับใช้เป็นสถานที่ประกอบธุรกิจของธนาคาร หรือสำหรับใช้เป็นที่พักสถานพยาบาล สโมสรของพนักงานตามสมควร แต่ในกรณีที่สิทธิเรียกร้องใดๆ ของธนาคารน่าจะเป็นอันตราย ธนาคารจะประกันความมั่นคงของตนด้วยอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ก็ได้ และจะเข้าถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ก็ได้ แต่ทว่าจะต้องขายเสียโดยเร็วเท่าที่จะทำได้
(๔) ให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีประกัน
(๕)๒/ ออกตั๋วเงินโดยประการอื่นใด นอกจากกำหนดให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม
๔.๘ สถานะของธนาคารแห่งประเทศไทย
ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา "คำว่า องค์การของรัฐบาล" ตาม (ก) ของบทนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯมิได้ระบุถึงการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลไว้ แต่เมื่อพิจารณากฎหมายในปัจจุบันแล้วจะเห็นได้ว่า องค์การของรัฐบาลอาจจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะหรือโดยพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.๒๔๙๖ คำว่า "องค์การของรัฐบาล" ในบทนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯ จึงหมายความถึงองค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะด้วย ลักษณะขององค์การของรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยพระราชกฤษฎีกามีสาระสำคัญเหมือนกัน คือ มีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือการครองชีพหรืออำนวยบริการแก่ประชาชน ใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินหรือเงินทุนของรัฐบาล และเป็นนิติบุคคล"
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล และมาตรา ๕ กำหนดวัตถุประสงค์ของ ธปท.ไว้ว่า เป็นธนาคารกลางเพื่อรับมอบการออกธนบัตรจากกระทรวงการคลัง และประกอบธุรกิจอันพึงเป็นงานธนาคารกลางตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนของทุนของ ธปท.ที่ใช้สำหรับการดำเนินงาน รัฐเป็นผู้ให้การอุดหนุนโดยมาตรา ๗ ได้กำหนดทุนประเดิมของ ธปท.เป็นจำนวนยี่สิบล้านบาท และในมาตรา ๘ ได้กำหนดให้รัฐอาจจะเพิ่มหรือลดทุนดังกล่าวได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธปท.มีทุนทั้งหมดมาจากรัฐและมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเห็นว่า ธปท.เป็นองค์การของรัฐบาลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
นอกจากนั้นแล้วในประเด็นของการเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเมื่อได้พิจารณาการประกอบธุรกิจประเภทที่พึงเป็นงานของธนาคารกลางตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกิจการเหล่านี้เป็นการประกอบธุรกิจทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเห็นว่า ธปท.เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
จากลักษณะที่เข้านิยามของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ทำให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ อันเป็นส่วนราชการหนึ่ง จึงต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายปกครองที่สำคัญสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันจะกล่าวถึงต่อไป
อย่างไรก็ดี เป็นที่ถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะรัฐวิสาหกิจนั้นคือการที่รัฐประสงค์จะประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับเอกชนจึงได้จัดตั้งขึ้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นถึงแม้จะมีชื่อว่า ธนาคาร แต่มิได้แสวงหาผลกำไรในเชิงพาณิชย์เช่นธนาคารพาณิชย์ที่ตนเองควบคุมอยู่ สถานะรัฐวิสาหกิจนี้จึงควรได้รับการพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจ
๕. การกำกับดูแลตลาดการเงิน
การธนาคารพาณิชย์นั้นมีผลกระทบต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรับฝากเงินของประชาชน หากรัฐไม่ควบคุมผู้ประกอบการให้ดีอาจมีผู้ฉวยโอกาสดังกล่าวเพื่อหาผลประโยชน์จากประชาชนโดยมิชอบได้ กฎหมายที่ควบคุมธนาคารพาณิชย์ คือ พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งการควบคุมและการกำกับดูแลนั้นโดยมากตกเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็สามารถใช้อำนาจในส่วนของตนเพื่อเข้าแทรกแซงกิจการธนาคารพาณิชย์ได้ แบ่งออกเป็นหัวข้อต่อไปนี้
๕.๑ นิยามของธนาคารพาณิชย์
มาตรา ๔ ตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ การธนาคารพาณิชย์ หมายความว่า การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น (ก) ให้สินเชื่อ (ข) ซื้อขายแลกเปลี่ยนตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด (ค) ซื้อขายปริวรรตต่างประเทศ
ธนาคารพาณิชย์ หมายความว่าธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ และหมายความรวมถึงสาขาของธนาคารต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ด้วย
๕.๒ การตั้งสถาบันการเงิน
การธนาคารพาณิชย์นั้น รัฐไม่ยอมเปิดเสรีให้กับทุกคน แต่ต้องขออนุญาตก่อน อย่างไรก็ดี รัฐไม่ได้จำกัดจำนวนธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์หากธนาคารพาณิชย์นั้นไม่ใช่สาขาของธนาคารต่างประเทศจะมีขั้นตอนในการตั้งธนาคารดังต่อไปนี้
๑. ยื่นคำขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยต้องแสดงรายการตามที่รัฐมนตรีกำหนดให้ต้องมีในคำขอนั้น
๒. เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีแล้ว จึงดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทมหาชน
๓. เมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนแล้ว ให้บริษัทมหาชนดังกล่าวแจ้งการจดทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี
ทั้งนี้การให้ความเห็นชอบ และการอนุญาตนั้น รัฐมนตรีสามารถกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรได้
สำหรับบุคคลทั่วไป มาตรา ๕ ทวิ ไม่สามารถถือครองหุ้นธนาคารพาณิชย์เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของธนาคาร เว้นแต่เป็นส่วนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น แต่ทั้งนี้ รัฐมนตรีอาจผ่อนผันให้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหุ้นที่ถือได้โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย
การนับจำนวนหุ้นที่ถือโดยบุคคลทั่วไปในที่นี้ ให้รวมถึงของคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และองค์กรธุรกิจที่บุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้
หุ้นของธนาคารต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด และกรรมการต้องเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของทั้งหมด ทั้งนี้รัฐมนตรีอาจผ่อนผันเป็นอื่นได้โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับธนาคารที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ จะต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรี และต้องดำรงสินทรัพย์ไว้ในประเทศไทยตามจำนวน และชนิดที่กำหนด
เมื่อธนาคารได้จัดตั้งขึ้นแล้ว และได้รับอนุญาตให้ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาในสถานที่ใดก็ตาม จะย้ายสถานที่โดยไม่ขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ว่า เมื่อตอนตั้งธนาคารนั้นเป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะอนุญาตหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างใดๆ แต่เมื่อตั้งขึ้นแล้ว หน่วยงานที่จะกำกับดูแลคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย
๕.๓ การดำรงเงินทุนสำรอง
เมื่อธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินมาแล้ว มิได้หมายว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถนำเงินทั้งหมดที่ตนมีไปหาประโยชน์ได้ รัฐจำต้องสั่งให้มีการกันทรัพย์สินบางส่วนไว้ ในเรื่องดังกล่าวมีด้วยกันสี่ลักษณะ คือ
๕.๓.๑ การดำรงเงินกองทุน ซึ่งตามมาตรา ๑๐ จะต้องดำรงเงินนี้เป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ต้องดำรงเงินส่วนนี้เป็นอัตราร้อยละ ๘.๕ โดยมีวิธีคำนวนตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
หากธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนการดำรงเงินกองทุนดังกล่าว รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งธนาคารพาณิชย์นั้นมิให้แจกหรือจำหน่ายเงินกำไรทั้งหมด หรือแต่บางส่วน โดยให้นำไปเพิ่มทุนสำรองแทน และอาจถูกสั่งห้ามมิให้ธนาคารนั้นให้กู้ หรือลงทุนใดๆ หรือทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น ตามมาตรา ๒๑
๕.๓.๒ การดำรงเงินสดสำรอง ต้องเป็นอัตราส่วนกับเงินฝาก และหรือเงินกู้ยืม ไม่ต่ำกว่าอัตราส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๑๑ ตรี
การดำรงเงินสดนี้ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละห้า และไม่เกินร้อยละห้าสิบ ปัจจุบันอัตราอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖
๕.๓.๓ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่องตามวิชาการบัญชีหมายถึง สินทรัพย์ที่แปรสภาพเป็นเงินสดได้ง่าย หรือภายในหนึ่งปี ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๑๑ จัตวา ได้แก่ เงินสด เงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เงินฝากสุทธิที่ธนาคารอื่น หลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่ปราศจากข้อผูกพัน หุ้นกู้หรือพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันโดยปราศจากข้อผูกพัน และสินทรัพย์อื่นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันต้องดำรงสินทรัพย์นี้โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖
๕.๓.๔ การดำรงเงินสดสำรองพิเศษ มาตรา ๑๑ ฉ เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพของเงินตรา รัฐมนตรีสามารถกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินสดสำรองพิเศษไม่ต่ำกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด เงินสำรองส่วนนี้แยกจากเงินสดสำรองตามข้อ ๕.๓.๒ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงเงินส่วนดังกล่าว
๕.๔ การดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์
สำหรับการรับฝากเงินนั้น มาตรา ๑๓ จัตวาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการรับฝากเงิน กู้เงิน ซื้อขายตั๋วแลกเงิน หรือตราสารเปลี่ยนมือใดๆ
มาตรา ๑๔ ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ค่าบริการที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกได้ เงินมัดจำและหลักประกันที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเรียก โดยให้ประกาศลงในราชกิจจุเบกษา ดอกเบี้ยและค่าบริการเหล่านี้จะกำหนดอุปสงค์และอุปทานของเงินในตลาดการเงินได้ตามอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นหรือลงที่ทำให้ประโยชน์ของผู้ฝากเงินหรือผู้กู้เงินขึ้นลงตามนั้น
นอกจากจะกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องกระทำตามที่กำหนดแล้ว กฎหมายยังห้ามมิให้ธนาคารกระทำการดังต่อไปนี้ตามมาตรา ๑๒
(๑) ลดทุนโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
(๒) ให้สินเชื่อแก่กรรมการหรือประกันหนี้ใด ๆ ของกรรมการหรือ รับรองรับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินที่กรรมการเป็นผู้สั่งจ่ายหรือ ผู้ออกตั๋วหรือผู้สลักหลัง
(๓) รับหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นประกัน หรือรับหุ้นของธนาคาร พาณิชย์ จากธนาคารพาณิชย์อื่นเป็นประกัน
(๔) ซื้อหรือมีไว้เป็นประจำซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่
(ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินธุรกิจ หรือสำหรับพนักงานและ ลูกจ้างของธนาคารพาณิชย์นั้น โดยได้รับความเห็นชอบและลูกจ้างของ ธนาคารพาณิชย์นั้นโดย ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้ความเห็นชอบนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้
(ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้หรือจากการประกันการ ให้สินเชื่อ หรือจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จำนอง ไว้แก่ธนาคารพาณิชย์นั้นจากการขาย ทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
(๕) ซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดใดเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่าย ได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น หรือซื้อหรือมีหุ้นมีมูลค่าหุ้นรวมกัน ทั้งสิ้นเกินอัตราส่วนกับเงินกองทุนทั้งหมด หรือเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใดหรือ หลายชนิดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนด ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการ อนุญาตนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้
(๖) ซื้อหรือมีหุ้นธนาคารพาณิชย์อื่น เว้นแต่เป็นการได้มาจากการชำระ หนี้หรือการประกันการ ให้สินเชื่อแต่ต้องจำหน่ายภายในเวลาหกเดือนนับแต่ วันที่ได้มา หรือเป็นการได้มาโดยได้รับผ่อนผันจากรัฐมนตรีด้วยคำแนะนำของ ธนาคารแห่งประเทศไทยในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ไว้ด้วยก็ได้
(๗) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของธนาคารพาณิชย์นั้น เป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจาก การกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้นอกจาก บำเหน็จ เงินเดือน เงินรางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตาม ปกติ
(๘) ขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์ใด ๆ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่า รวมกันสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดแก่กรรมการ หรือซื้อทรัพย์สิน จากกรรมการ ทั้งนี้ รวมถึงบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการตาม มาตรา ๑๒ ทวิ ด้วย เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศ ไทย
(๙) กระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ของประเทศหรือแก่ประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้า หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรม หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือ ต่อการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน หรือเป็นการผูกขาดหรือจำกัดตัดตอน ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบ ของคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
๕.๕ การปล่อยสินเชื่อ
การให้สินเชื่อเป็นการแสวงหาผลกำไรของธนาคารพาณิชย์โดยการนำเงินออมที่ประชาชนนำมาฝากไปปล่อยกู้แก่ประชาชนที่ต้องการใช้เงิน หากทุกสิ่งดำเนินไปด้วยดี ธนาคารพาณิชย์ย่อมได้รับเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ยอันเป็นประโยชน์แก่ตน หากแต่ถ้ามีข้อผิดพลาดขึ้น ผู้ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ย่อมสูญเสียเงินฝากของตนไปได้เช่นกัน ดังนั้นมาตรา ๑๓ จึงกำหนดเรื่องการให้สินเชื่อดังนี้
ห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ หรือลงทุนในกิจการผู้อื่น หรือก่อภาระผูกพันเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเกินอัตราส่วนกับเงินกองทุนทั้งหมด หรือเงินกองทุนชนิดใดชนิดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ทั้งนี้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ สำหรับประชาชนรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันธนาคารพาณิชย์สามารถให้สินเชื่อได้เมื่อสิ้นวันๆหนึ่งไม่เกินร้อยละ ๐.๐๕ ของเงินกองทุนชั้นที่ ๑ หักด้วยจำนวนเงินที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อ ส่วนที่เหลือนั้นสามารถดูได้จากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เลขที่ ฝนส.(๒๑)ว.๒๙/๒๕๔๙
อย่างไรก็ดี มาตรา ๑๓ ทวิ การห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อ หรือลงทุนในกิจการผู้อื่น หรือก่อภาระผูกพันมิให้ใช้กับกรณีธนาคารพาณิชย์ให้กู้ยืมเงินในลักษณะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจมาตรา ๑๓ ทวิกำหนดลงในราชกิจจานุเบกษา
และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ หรือแก้ไขภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเสนอให้รัฐมนตรีกำหนดการให้ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อหรือมิให้ให้สินเชื่อแก่ธุรกิจประเภทใดๆก็ได้
๕.๖ การระงับการดำเนินกิจการ
มาตรา ๑๗ ทวิ เพื่อแก้ไขฐานะ หรือการดำเนินกิจการของธนาคารพาณิชย์ หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินหรือระบบสถาบันการเงิน รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ชั่วคราว
การสั่งให้หยุดดำเนินการนั้น ทำได้เพียงชั่วคราวเท่าที่กำหนด หากสถานการณ์ยังไม่ปรับปรุงขึ้น ธนาคารพาณิชย์อาจถูกรัฐแทรกแซงด้วยวิธีอื่นๆต่อไป
อ่านต่อ
หน้า ๒
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|