หน้าแรก บทความสาระ
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง : แนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย โดย คุณฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์
คุณฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) เกียรตินิยมอันดับสอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขากฎหมายมหาชน)
8 กรกฎาคม 2550 21:00 น.
 
บทความชิ้นนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ภาคต่อ” ของบทความชิ้นที่แล้วของผู้เขียน คือเรื่อง “วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย : รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งไม่เคยถูกยกเลิก” เนื่องจากในข้อสรุปตอนท้ายของบทความชิ้นดังกล่าวได้ทิ้ง “ปม” ไว้ว่า “...การสร้างประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกมั่นคงในประเทศใดนั้น มิได้จำกัดวงแคบอยู่เพียงโดยการสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องขยายออกไปถึง “การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในมโนสำนึกของประชาชนอย่างทั่วถึงด้วย เพราะประสบการณ์ในอดีตได้สอนให้รู้แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงแต่โครงสร้างการปกครอง โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว มิได้สร้าง “ความเป็นประชาธิปไตย” ที่แท้จริง มั่นคงและยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศของเรา…” แต่ผู้เขียนยังมิได้อธิบายถึงวิธี หรือ แนวทางในการ “สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย” ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะได้นำเสนอแนวทางการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพื่อสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ” (Stable Democracy) หรือที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “สังคมประชาธิปไตย” (Democratic Society) ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการ “ควบคู่” ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายคือ “การปฏิรูปการเมือง” อนึ่ง ผู้เขียนขอกล่าวในเบื้องต้นนี้ว่า ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และการพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ผู้เขียนให้ความสำคัญต่อการสร้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น Hardware และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็น Software อย่างเท่าเทียมกัน
       
       1. แนวคิด ทฤษฎีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
       ก่อนที่เราจะสามารถนำเสนอแนวทางการสร้างความเป็นประชาธิปไตยได้ ก็มีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบหรือแนวคิด ทฤษฎีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า การที่รัฐใดจะได้ชื่อว่ามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพจนถึงขั้นเป็น “สังคมประชาธิปไตย” นั้น จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
       แนวคิด ทฤษฎีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วย
       1. อุดมการณ์หรือปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย
       2. หลักการหรือลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
       3. วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
       
       1.1 ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย”
       หากพูดถึงประชาธิปไตยเราทุกคนมักจะเข้าใจว่าอย่างไรเป็นประชาธิปไตย อย่างไรไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ครั้นจะถามว่าแล้วความหมาย คำจำกัดความ หรือนิยามของระบอบประชาธิปไตยว่าคืออะไรกลับยากยิ่งที่จะหาคำตอบ ทั้งตำราทางวิชาการต่าง ๆ ก็ให้ความหมายไว้อย่างสั้น ๆ ทั้งนี้เพราะการอธิบายความหมายของประชาธิปไตยนั้นหากจะอธิบายให้ได้ความครบถ้วนจำต้องพิจารณาถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย หลักการหรือลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยตลอดจนวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
       ดังนั้นในชั้นนี้จึงพอจะให้ความหมายของประชาธิปไตยโดยให้ความหมายตามตัวศัพท์ คำว่า“ประชาธิปไตย” ในภาษาไทยเข้าใจว่าบัญญัติขึ้นประมาณไม่เกิน 100 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเทียบกับภาษาอังกฤษ จึงสร้างคำว่าประชาธิปไตยขึ้นมาโดยการสมาสแบบสนธิระหว่างคำว่า “ประชา” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า หมู่คน 1 กับคำว่า “อธิปไตย” ซึ่งมาจากคำว่า “อธิปเตยฺย” ซึ่งแปลว่า “ความเป็นใหญ่ยิ่ง ในภาษาบาลี 2 นำมาสมาสแบบสระสนธิ คือเชื่อมเสียงสระระหว่างคำที่สมาสกัน ในที่นี้คือสระอา ในคำว่าประชา กับสระอะ ในคำว่าอธิปไตย เป็นสระอา ---> ประชา + อธิปไตย = ประชาธิปไตย เมื่อแปลความหมายก็จะแปลจากคำหลังมายังคำหน้า เพราะคำหลังเป็นคำหลักส่วนคำหน้าเป็นคำขยาย ดังนั้นประชาธิปไตยในความหมายตามตัวจึงแปลว่า “ความเป็นใหญ่ยิ่งอยู่ที่หมู่คน”
       
ในขณะที่คำว่า Democracy ในภาษาอังกฤษเริ่มใช้ครั้งแรกประมาณ 400 ปีมาแล้ว ทั้งนี้โดยการยืมจากภาษาฝรั่งเศสว่า démocratie ซึ่งมาจากภาษากรีก คือ demokratia ซึ่งถูกใช้ในกรีกโบราณเมื่อกว่า 2400 ปีมาแล้ว เป็นการสมาสระหว่างคำว่า demos ซึ่งแปลว่าประชาชน กับคำว่า kratos ซึ่งแปลว่าการปกครอง (คำกริยาคือ kratien) เมื่อนำมาสมาสกันก็มีความหมายว่าการปกครองของประชาชน
       
       1.2 อุดมการณ์หรือปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย
       1.2.1 ธรรมชาติของมนุษย์ (Human nature)
การที่ระบอบประชาธิปไตยมุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง เพราะมีความเชื่อว่า มนุษย์โดยธรรมชาติส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้มีเหตุมีผล ความรู้ความเข้าใจที่มนุษย์มีต่อโลกภายนอกจึงเพิ่มพูนขึ้นด้วยการศึกษา ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีความสามารถที่จะตัดสินใจเพื่อเลือกสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตของตน ถึงแม้ว่าการใช้ดุลยพินิจของมนุษย์จะไม่ถูกต้องเสมอไปแต่มนุษย์มีแนวโน้มที่จะกระทำสิ่งที่ดีสำหรับตนมากกว่าการให้ผู้ปกครองตัดสินใจให้แก่เขา นักประชาธิปไตยมีฐานความคิดว่าไม่มีชนชั้นนำคนใดที่จะมีความฉลาดและความไม่เห็นแก่ตัวเพียงพอที่จะทำการปกครองเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งสังคม ดังนั้นหนทางเดียวที่จะเป็นหลักประกันว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของประชาชนทุกคนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาคคือ การให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิที่จะควบคุมการตัดสินใจของผู้ปกครองที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคม 4
       หัวใจสำคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือ นักประชาธิปไตยจะต้องมีฐานคติว่าการตัดสินใจโดยประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าการตัดสินใจโดยคนส่วนน้อย ซึ่งหมายความว่าเสียงข้างมากมีโอกาสที่จะถูกมากกว่าเสียงข้างน้อย นอกจากนี้ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตยมิได้มองว่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นคนดีและให้ความร่วมมือต่อกันทั้งหมด หรือมองว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ชั่วร้ายดังทัศนะของนักเผด็จการ แต่เห็นว่ามนุษย์มีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่บกพร่อง 5
       1.2.2 สิทธิ (Rights) คือ อำนาจอันชอบธรรมที่กฎหมาย บัญญัติให้รับรองและคุ้มครองแก่บุคคลในอันที่จะกระทำการใด ไม่กระทำการใด ต่อทรัพย์หรือบุคคลอื่น ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นที่จะต้องเคารพสิทธินี้ด้วย คือก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องที่จะไม่ให้บุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรของรัฐเข้ามาแทรกแซงในขอบเขตของสิทธิของบุคคลซึ่งในบางกรณีก็ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง 6 สิทธิหลัก ๆ ที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย เช่น สิทธิเลือกตั้ง สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิส่วนบุคคล
       1.2.3 เสรีภาพ (Freedom) คือ สภาพการณ์ที่บุคคลมีอิสระในการที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความประสงค์ของตน 7 เป็นภาวะที่ไม่อยู่ใต้การครอบงำของบุคคลอื่น เป็นภาวะที่ปราศจากการหน่วงเหนี่ยวขัดขวางอำนาจของบุคคลในอันที่จะกำหนดตนเองตามใจปรารถนา เสรีภาพจึงเป็นอำนาจที่บุคคลมีอยู่เหนือตนเอง เช่น เสรีภาพในการพูด การพิมพ์และการโฆษณา เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการสมาคมหรือรวมกลุ่ม เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
       1.2.4 ความเสมอภาค (Equality) ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยมิใช่ความเสมอภาคในเรื่องความสามารถ เพราะมนุษย์เกิดมามีความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกัน แต่ความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกันของมนุษย์จะไม่ทำให้มนุษย์มีความได้เปรียบหรือความเหนือกว่าบุคคลอื่น ถ้าหากมนุษย์ได้รับโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถและความถนัดของตนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยจึงหมายถึง ความเสมอภาคเท่าเทียมกันในโอกาส (Equality of opportunity) ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม 8
       
       1.3 ลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
       1.3.1 รัฐธรรมนูญ (Constitution)
       
รัฐธรรมนูญ คือ บทกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองและประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน 9
       
ตามทฤษฎีแล้ว รัฐเสรีประชาธิปไตยทุกรัฐต้องมีรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักหรือกติกาที่กำหนดแนวทางสำหรับการที่รัฐจะใช้อำนาจปกครองราษฎร หากแต่จะเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ มีการแสดงออกเป็นเอกสารทางการเมืองหรือไม่เท่านั้น ในกรณีที่กติกาอันเป็นแนวทางการใช้อำนาจปกครองเป็นที่ชัดแจ้ง คือได้มีการปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นจารีตประเพณีและเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายแล้ว ก็อาจไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้น แต่ถ้าหลักการหรือกติกาดังกล่าวไม่แจ้งชัดก็อาจเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งเกิดขึ้นได้ เหตุดังนี้ประเทศส่วนใหญ่จึงนิยมมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรกัน
       อย่างไรก็ตาม พึงระลึกอยู่เสมอด้วยว่า การมีรัฐธรรมนูญนั้นมิได้หมายความว่า รัฐนั้นเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่สถาบันต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญย่อมเป็นกลไกสำหรับใช้อำนาจให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้เผด็จการมากกว่า ฉะนั้นการจะทราบว่ารัฐนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จึงต้องดูข้อกำหนดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญของรัฐนั้นว่ามีลักษณะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เป็นสำคัญ 10
       

       1.3.2 รัฐบาล (Government)
       ลักษณะของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งนำมากล่าวอ้างกันอยู่เสมอ ๆ มาจากวาทะของ ฯพณฯ อับบราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln, 1809 – 1865) อดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับแห่งสหรัฐอเมริกาที่ได้กล่าวไว้ในพิธีไว้อาลัย ให้แก่ผู้เสียชีวิตจากสงครามกลางเมือง (Civil War) ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้อันเนื่องมาจากการเลิกทาส ณ เมืองเกสติสเบอร์ก ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1893 ว่า “...รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนจะไม่มีวันดับสูญไปจากผืนแผ่นดินนี้…” วาทะดังกล่าวได้กลายเป็น “คำนิยามยอดนิยม” ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถแยกอธิบายได้ดังนี้
       1.3.2.1 รัฐบาลของประชาชน (Government of the people) หมายถึงการที่ประชาชนอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของรัฐบาล คือมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง สามารถเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองได้ ถ้าผู้ปกครองไม่บริหารเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม และรัฐบาลของประชาชนอาจขยายความถึงความผูกพันของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครอง ความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ ทำให้เอาใจใส่ในกิจการบ้านเมือง การใช้สิทธิทางการเมือง เช่น การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง คือรัฐบาลของประชาชนจะต้องมาจากการสนับสนุนหรือการเลือกตั้งของประชาชนนั่นเอง 11 หรืออาจอธิบายว่าหมายถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Sovereignty of the people) ก็ได้
       1.3.2.2 รัฐบาลโดยประชาชน (Government by the people) หมายถึง การได้มาซึ่งรัฐบาลจะต้องผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนของการใช้สิทธิต่าง ๆ ของประชาชนในรัฐ พลเมืองย่อมมีสิทธิเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ซึ่งอาจเป็นโดยทางตรง เช่น การลงประชามติ หรือทางอ้อม เช่น การเสนอข้อคิดเห็นผ่านพรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ 12
       
1.3.2.3 รัฐบาลเพื่อประชาชน (Government for the people) หมายถึง รัฐบาลหรือคณะบุคคลที่ขึ้นปกครองประเทศนั้น จะต้องมีจุดประสงค์เพื่อความผาสุกของปวงชน และพยายามที่จะบริหารประเทศให้ดำเนินไปตามวิถีทางที่กำหนดไว้เพื่อบรรลุถึงจุดมุ่งหมายนั้นประชาชนจะได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองผ่านทางการเลือกตั้งเมื่อวาระของการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง 13
       หลักการนี้ เป็นหลักการที่ใช้วัดว่ารัฐบาลที่ปกครองอยู่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ การที่รัฐบาลใดจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีลักษณะครบทั้ง 3 ประการ คือ เป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน การเลือกตั้งนั้นเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้ง และรัฐบาลนั้นมีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่นานจนเกินไป รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะมีเพียงลักษณะใดลักษณะหนึ่งเพียงประการเดียวหรือสองประการไม่ได้ จะต้องมีครบทั้งสามลักษณะ 14
       

       1.3.3 การเลือกตั้ง (Election)
       การเลือกตั้ง คือ กิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) อันเป็นกลไกที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนที่เรียกร้องหรือสนับสุนนให้มีการกระทำหรือละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมืองหรือการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน โดยประชาชนทั่วไปเลือกผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ (Ideology) นโยบาย (Policy) และวิสัยทัศน์ (Vision) ที่สอดคล้องกับตนด้วยความคาดหวังว่าผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่ตนเลือกให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนนั้น จะนำอุดมการณ์และนโยบายไปเป็นแนวนโยบายในการบริหารประเทศ และทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการแสวงหาทางเลือกในการเมืองการปกครองของประชาชนนั่นเอง 15
       การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะผลของการเลือกตั้งจะตัดสินว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นผู้ปกครอง ประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเสนอตัวเข้ารับใช้ส่วนรวมโดยการสมัครรับเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้พลเมืองใช้สิทธิในการเลือกบุคคลที่ตนต้องการให้เป็นผู้ปกครองหรือเป็นผู้ใช้สิทธิเป็นปากเสียงแทนตนในสภา 16
       

       1.3.4 การปกครองโดยเสียงข้างมาก (Majority rule) 17
       
การปกครองโดยเสียงข้างมาก หมายความว่าบุคคลที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาลนั้น ถ้าหากไม่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรงแล้ว ก็ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากเสียงข้างมากของผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งมา การออกกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหานโยบายต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของเสียงข้างมากของผู้แทน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการสนองต่อความต้องการและสอดคล้องกับเสียงข้างมากของมหาชนอีกทีหนึ่ง
       อย่างไรก็ตาม ตามระบอบประชาธิปไตยมิได้หมายความเพียงการยึดหลักเสียงข้างมากเท่านั้น จะต้องมีหลักประกันสำหรับเสียงข้างน้อยด้วย หลักประกันนั้นหมายถึง การที่สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อย จะต้องได้รับการเคารพ เสียงข้างมากจะละเมิดหรือก้าวก่ายสิทธิของเสียงข้างน้อยไม่ได้ นอกจากนี้ความเห็นหรือทรรศนะของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการรับฟัง เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายหรือผู้มีความคิดเห็นแตกต่างได้เผยแพร่ทรรศนะหรือแนวความคิดของเขา เพราะการลงมติเพื่อหาทรรศนะที่เสียงข้างมากสนับสนุนนั้นจะยุติธรรมและเชื่อถือได้ว่าถูกต้อง ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้รับโอกาสในการเสนอทรรศนะและเหตุผลของตนสู่การรับฟังของผู้ที่จะใช้วิจารณญาณตัดสินใจแล้ว
       
       ผู้เขียนได้อธิบายแนวคิด ทฤษฎีของระบอบประชาธิปไตยมา 2 ส่วนแล้ว และกำลังจะได้อธิบายในส่วนที่ 3 คือ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นส่วนสำคัญของบทความชิ้นนี้ต่อไป
       
       1.4 วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
       
แน่นอนว่าเมื่อใดที่ประเทศไทยไม่มี (สภาและรัฐบาลที่มาจาก) การเลือกตั้งก็หมายความว่า ณ ห้วงเวลานั้นประเทศไทยมิได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้เขียนพบว่ามีนักวิชาการ (บางส่วน) นักการเมือง (ส่วนใหญ่) และพี่น้องชาวไทย (อีกจำนวนมาก) ที่มีความเข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตย “มีความหมายเท่ากับ (เพียงแค่) การเลือกตั้ง” และเมื่อใดที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งเมื่อนั้นก็หมายความว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งความเชื่อหรือความเข้าใจดังกล่าว “ผิดอย่างสิ้นเชิง” 18
       ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายในเบื้องแรกแล้วว่า ประชาธิปไตยมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ อุดมการณ์ หลักการและวัฒนธรรม ในส่วนของการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการประชาธิปไตยซึ่งดูเหมือนว่าชาวไทยจะคุ้นชินกับองค์ประกอบดังกล่าวมากที่สุด จนเข้าใจ (ผิด) ไปว่า ประชาธิปไตยหมายถึงเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งซึ่งผู้เขียนกำลังจะอธิบายต่อไปนี้
       
       1.4.1 วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย 19
       รองศาสตราจารย์สุขุม นวลสกุล ได้อธิบายว่า การที่ประเทศใดหรือสังคมใดจะเป็นประชาธิปไตยได้นั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่ามีระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นเป็นใช้ได้ ความจริงแล้วอุปนิสัยของคนในสังคมและวิถีดำเนินชีวิตประจำวันต้องมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยด้วยจึงจะมีส่วนช่วยหล่อเลี้ยงระบอบประชาธิปไตยทางการเมืองให้ไพบูลย์สถาวรต่อไปได้ ลักษณะของวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยนั้นอาจจำแนกเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
       1.4.1.1 เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล คนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเป็นผู้ที่เคารพเหตุผลมากกว่าตัวบุคคล ไม่ศรัทธาบุคคลใดถึงขั้นปูชนียบุคคล โดยไม่ว่าคนคนนั้นจะคิดอ่านหรือมีทรรศนะอย่างไรเป็นเห็นดีเห็นงามว่าถูกต้องไปเสียทั้งหมด จะต้องยอมรับว่าคนทุกคนมีสติปัญญาและเหตุผลในวงจำกัด อาจมีทรรศนะที่ถูกต้องในเรื่องหนึ่งและอาจไม่ถูกต้องในอีกเรื่องหนึ่งได้ จะต้องไม่เคร่งครัดเรื่องระบบอาวุโส (Seniority) มากนัก ผู้ที่อาวุโสจะต้องมีการรับฟังผู้ที่เยาว์กว่าบ้าง อย่าถือว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” แล้วต้องถูกกว่าเสมอไป เพราะในบางครั้งความคิดที่ดีอาจเป็นของผู้อ่อนอาวุโสกว่าก็ได้ ประชาธิปไตยจะดำเนินไปด้วยดีก็ต่อเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกต้องที่แท้จริงนั่นเอง เพราะเหตุผลเท่านั้นที่จะจรรโลงให้ประชาธิปไตยดำเนินไปได้ ประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล จะยอมปฏิบัติตามถ้าจำนนต่อเหตุผลของผู้ที่มีความคิดไม่เหมือนกัน
       1.4.1.2 รู้จักการประนีประนอม (Compromise) ผู้ที่เลื่อมใสในประชาธิปไตยจะต้องรู้จักยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นไม่ดึงดันแต่ความคิดของตนเป็นสำคัญ มีช่องทางใดที่จะประสานความคิดของตนให้สอดคล้องหรืออะลุ้มอล่วยกับทรรศนะของคนอื่นได้ย่อมทำเพื่อป้องกันความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ไม่ยึดมั่นในความคิดของตนอย่างไม่ยอมผ่อนปรนแก้ไขและต้องใช้เหตุผลให้มากที่สุดในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ การรู้จักประนีประนอม คือการยอมรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดนสันติวิธี ผู้ที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยต้องไม่นิยมการแก้ไขปัญหาโดยวิธีรุนแรงเพราะ “ปรัชญาประชาธิปไตยโดยพื้นฐานไม่ปรารถนาให้มีการใช้กำลัง และการล้มล้างด้วยวิธีการรุนแรง เพราะถ้ามีการใช้กำลังและความรุนแรงแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่มีหรือไม่ใช้เหตุผล ซึ่งก็ขัดกับหลักความเชื่อขั้นมูลฐานของประชาธิปไตยที่ถือว่ามนุษย์มีเหตุผล” 20
       
1.4.1.3 มีระเบียบวินัย สังคมประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้ดีคนในสังคมจะต้องเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย “ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ และช่วยทำให้กฎหมายของบ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าละเมิดตามอำเภอใจ” 21 ถ้ามีความรู้สึกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ไม่เป็นธรรมก็ต้องหาทางเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนั้น มิใช่ฝ่าฝืนไม่ยอมรับ เพราะถ้าคนบางคนละเมิดกฎหมายได้ คนอื่นก็ย่อมทำได้เช่นเดียวกัน สังคมก็จะอลเวงหากกฎกติกาใดเป็นหลักไม่ได้ ประชาธิปไตยเป็นลัทธิที่บูชาสิทธิและเสรีภาพก็จริง แต่การอ้างสิทธิเสรีภาพนั้นต้องมีความระมัดระวังให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย การใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตจนละเมิดหรือก้าวก่ายในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือทำให้เกิดความสงบในสังคมย่อมเป็นสิ่งที่มิชอบและไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง เพราะสังคมที่ไม่มีการจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพเลยนั้นหาใช่สังคมประชาธิปไตยไม่ แต่เป็นสังคมอนาธิปไตย (Anarchy) เป็นสภาวะที่เปรียบเสมือนไม่มีรัฐบาล ไม่มีกฎหมาย ไร้ระเบียบวินัยทางสังคมโดยสิ้นเชิง ทุกคนสามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ สังคมแทนที่จะสงบสุข กลับจะวุ่นวายเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป สังคมประชาธิปไตยจะดำเนินไปด้วยดี คนในสังคมจึงจำเป็นต้องมีระเบียบวินัย
       1.4.1.4 มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม (Public spirit) ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกของคนในสังคมว่า ตนเป็นเจ้าของประเทศและประเทศเป็นของคนทุกคน การประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ได้แก่ การช่วยกันรักษาสมบัติของส่วนรวมหรือสมบัติของสาธารณะ ลักษณะเช่นนี้มักสืบเนื่องมาจากความสำนึกที่ว่า ตนได้รับการศึกษา สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพ และดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะสังคมอันเป็นส่วนรวมของคนทุกคน ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้เป็นการตอบแทน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องวิถีชีวิตที่เป็นประชาธิปไตยนี้ ถ้าแยกแยะเป็นประเด็นปลีกย่อยก็สามารถหยิบยกได้อีกมาก เช่น ต้องเป็นคนหนักแน่นไม่หูเบา มีทรรศนะที่ดีต่อคนอื่น ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เป็นต้น ลักษณะ 4 ประการข้างต้นเป็นเพียงลักษณะที่เห็นว่าสำคัญของการที่จะมีวิถีชีวิตสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
       
       1.4.2 วัฒนธรรมทางการเมืองที่เหมาะสมต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย : วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง (Civic Culture)
       เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมือง ควรเข้าใจในเบื้องต้นว่า “คน” และ “วัฒนธรรม” นั้นมิอาจแยกออกจากกันได้ วัฒนธรรมหล่อหลอมอุปนิสัย มารยาท ความคิด ค่านิยม บรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติของคน คนก็มีบทบาทในการสร้างวัฒนธรรมดังกล่าว 22
       
วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นกรอบหรือแนวทางของพฤติกรรมทางการเมืองในสังคมที่ถือปฏิบัติสืบต่อจนฝังรากลึกในสังคม หรือเป็นกรอบของพฤติกรรมตามสภาพความเป็นจริง วัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องของพฤติกรรมร่วมทางการเมือง ซึ่งอาจจะถูก ดี หรือไม่ดีก็ได้ และมักเป็นเรื่องที่อยู่เหนืออำนาจทางกฎหมาย การใช้กฎหมายสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นไปได้ยาก และในทางกลับกัน จะใช้อำนาจกฎหมายหยุดยั้งวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่พึงปรารถนาก็มักไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน 23
       
วัฒนธรรมทางการเมืองนั้นมีหลายรูปแบบ หากแต่รูปแบบที่เหมาะสมหรือเอื้อต่อระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดกลับไม่ใช่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (The participant political culture) บริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว เพราะหากประชาชนทั่วทั้งประเทศพากันเรียกร้องทุกอย่าง ความสงบเรียบร้อยก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจเจกชนแต่ละคนย่อมมี “ความต้องการ” ในการเรียกร้องที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ทุกคนจะได้รับความพึงพอใจสูงสุดหรือได้รับการตอบสนองการเรียกร้องทุกอย่าง
       ดังนั้น Gabriel Almond และ Sidney Verba จึงเสนอรูปแบบ (Model) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสมซึ่งเอื้อต่อการสถาปนาระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ที่มั่นคงในหนังสือ The Civic Culture: Political Attitudes and Democracy in Five Nations. รูปแบบที่ว่านี้ คือ “Civic Culture” ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง”
       คำว่า “Civic” มาจากคำภาษาละตินว่า “civis” ซึ่งมีความหมายว่า เกี่ยวกับเมือง, พลเมืองหรือความเป็นพลเมือง ส่วนพลเมือง (Citizen) คือ สมาชิกของกลุ่มซึ่งอาศัยอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งออกโดยประชาชนที่มีส่วนร่วมในการปกครอง 24
       Model นี้เกิดขึ้นจากการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) ของนักวิชาการทั้งสองท่าน ในประเทศซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยในระดับต่าง ๆ อยู่แล้วในช่วงปี ค.ศ. 1959 – 1960 คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมันตะวันตก อิตาลีและเม็กซิโก และได้ข้อสรุปว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง หรือมีเสถียรภาพน่าจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบที่นักวิชาการทั้งสองเรียกว่า “Civic Culture” ซึ่งเป็นการผสมผสานของ Model วัฒนธรรมทางการเมืองทั้งสามรูปแบบคือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ แบบไพร่ฟ้าและแบบมีส่วนร่วมเข้าด้วยกัน
       

       วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสม โดยมีวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเป็นหลัก และมีวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้ากับแบบคับแคบคานอยู่ แต่มีสัดส่วนน้อยกว่าแบบมีส่วนร่วม โดยวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมโน้มนำให้ประชาชนแสดงออกซึ่งความมีสิทธิมีเสียงและเรียกร้องการแก้ปัญหาจากรัฐบาล ณ จุดนี้จึงแสดงลักษณะที่ประชาชนเป็น “พลเมือง” ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองแบบมีเหตุมีผล (Rationalist – activist) แต่ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าก็โน้มน้าวให้ประชาชนสำนึกในความเป็น “ราษฎร” ภายใต้การปกครอง คือ ยอมรับอำนาจอันชอบธรรมของผู้ปกครองด้วย จึงไม่ดึงดันที่จะได้รับการแก้ปัญหาให้ตรงตามที่ตนต้องการทุกประการ ณ จุดนี้ ความสงบเรียบร้อยจึงไม่ถูกท้าท้ายจนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการเรียกร้องทางการเมืองต่าง ๆ นอกจากนี้ วัฒนธรรมแบบคับแคบหรือแบบท้องถิ่นก็ยังคงหลงเหลืออยู่ทำให้พลเมืองไม่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมแบบอื่น ๆ ของส่วนกลางเสียทั้งหมด โดยนัยนี้ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองจึงน่าจะเอื้อต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ 25
       กล่าวโดยสรุป พลเมืองในประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบ Civic Culture จะมีลักษณะร่วม 2 ประการ คือ ประการแรก มีความสามารถในการเป็นพลเมืองที่ดี คือ เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีเหตุมีผล (Citizen Competence) ประการที่สอง มีความสามารถในการเป็นราษฎรที่ดี (Subject Competence) คือ เป็นผู้อยู่ใต้การปกครองที่รู้จักการประนีประนอมและมีระเบียบวินัย ซึ่งก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยดังได้อธิบายแล้วในหัวข้อ 1.4.1 นั่นเอง
       Almond และ Verba อธิบายต่อไปว่า ความโน้มเอียง (Orientations) แบบมีส่วนร่วมนั้นผสมกับวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าและแบบคับแคบหรือท้องถิ่น โดยไม่ได้เข้าแทนที่วัฒนธรรมทั้งสองประการหลังนั้น กล่าวคือ เมื่อบุคคลกลายมาเป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เขาไม่ละทิ้งความเป็นผู้อยู่ใต้การปกครองหรือเชิงการเป็นท้องถิ่น (Subject or Parochial Orientations) การที่วัฒนธรรมทั้งสองแบบหลัง ซึ่งมีความเป็นจารีตกว่ายังคงมีอยู่ แต่ได้ผสมผสาน (Fusion) กับวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมยังผลให้เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ได้ดุล 26 หรือกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นก็คือใน Civic Culture ประชาชนมีความกระตือรือร้นทางการเมืองพอที่จะแสดงออกซึ่งความต้องการของเขาต่อรัฐบาล แต่ก็มิได้มุ่งประเด็นความต้องการเฉพาะใด ๆ ถึงขนาดที่จะไม่ยอมรับข้อตัดสินใจของชนชั้นนำกล่าวคือ เขารู้สึกว่าเขาเองมีความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อรัฐบาล แต่บ่อยครั้งเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ถูกบีบคั้นมากเกินไปในการตัดสินใจ 27
       
งานวิจัยของ Almond และ Verba นี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สหราชอาณาจักรมีวัฒนธรรมทางการเมืองใกล้ Model Civic Culture มากที่สุด โดยมีสหรัฐอเมริการองลงมา และอธิบายว่าทั้งสองประเทศประชาชนมีความยอมรับนับถือหรือเคารพ (Respect) และความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ในรัฐบาลมาก และประชาชนส่วนมากก็สำนึกในภารกิจที่จะมีส่วนร่วม รวมทั้งเชื่อว่าการมีส่วนร่วมทำให้เขาสามารถมีอิทธิพลต่อรัฐบาลได้ด้วย แต่สองประเทศนี้ต่างกันตรงที่วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าในสหราชอาณาจักรมีมากกว่าในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมมากกว่า 28
       
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านก็ได้วิจารณ์งานของ Almond และ Verba ว่ามีข้อบกพร่องเชิงทฤษฎีอยู่หลายประการ เช่น
       ประการแรก Civic Culture อาจไม่ได้เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นการเฉพาะ แต่เอื้อต่อเสถียรภาพของระบอบการปกครองโดยทั่วไป เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยคุณลักษณะอื่น ๆ อีกหลายอย่าง 29 ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่า ถูกต้องที่กล่าวว่าประชาธิปไตยต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น คือ องค์ประกอบทั้ง 3 ประการ ได้แก่ อุดมการณ์ หลักการและวัฒนธรรม แต่ผู้เขียนเห็นว่า “ประชาธิปไตยต้องอาศัย Civic Culture แต่เมื่อมี Civic Culture อาจไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย”
       ประการที่สอง มีปัญหาว่าวัฒนธรรมทางการเมือง 3 แบบนั้นจะต้องมีสัดส่วนอย่างไรจึงจะเป็น Civic Culture ซึ่งปัญหานี้ Almond และ Powell ได้ทำการประมาณการสัดส่วนไว้ในงานอีกชิ้นหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1974 30 ว่ามีความโน้มเอียงแบบมีส่วนร่วมประมาณร้อยละ 60 แบบไพร่ฟ้าประมาณร้อยละ 30 และแบบคับแคบ/ท้องถิ่นอยู่เพียงประมาณร้อยละ 10 31
       
ประการที่สาม คือ การให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับวัฒนธรรมทางการเมืองย่อย (Political Subculture) ซึ่งกลุ่มชนทั้งในเชิงชนชั้น ในเชิงชาติพันธุ์และศาสนามีต่างกัน การมุ่งหาข้อสรุปทั่วไป (Generalization) เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของชาติหรือของสังคมโดยรวม ทำให้ละเลยวัฒนธรรมย่อยต่าง ๆ ซึ่งหากนำเข้ามาพิจารณาด้วยย่อมทำให้เห็นได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมมีความซับซ้อนและแต่ละส่วนมีพลวัตต่อกันได้มาก ข้อสังเกตนี้เชื่อมโยงไปสู่การให้น้ำหนักแก่อิทธิพลของวัฒนธรรมทางการเมืองแต่ละส่วน เช่น ควรให้น้ำหนักแก่วัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นนำทางการเมือง (Political Elites) มากกว่าวัฒนธรรมของกลุ่มอื่น ๆ เพราะชนชั้นนำมีอำนาจและบทบาทในระบบการเมืองมากกว่า 32 ข้อนี้ผู้เขียนขออธิบายดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความชิ้นแรกว่า การนำเข้าหลักการใด ๆ ของชาติอื่น (โดยเฉพาะตะวันตก) ซึ่งมีพื้นฐานโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักการนั้น ๆ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างของสังคมไทยเสียก่อนเสมอ รวมทั้ง Civic Culture ด้วย
       ประการที่สี่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสนอข้อถกเถียงทางทฤษฎีคือข้อวิจารณ์ที่ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองอาจเป็นผลสะท้อนมาจากกระบวนการทางการเมืองหรือระบอบการปกครอง แทนที่จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม เช่น ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนอาจคิดว่าเขาสามารถมีอิทธิพลต่อรัฐบาล เพราะเขาสามารถมีอิทธิพลต่อรัฐบาลได้จริง ๆ เนื่องจากกลไกสถาบันการเมืองต่าง ๆ เปิดช่องให้ ดังนั้นหากระบอบประชาธิปไตยล้มหรือถูกยกเลิกไป Civic Culture ก็อาจสลายตัวไปด้วย 33 กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นไปได้ที่ประชาชนมีวัฒนธรรมแบบ Civic Culture เพราะระบบการเมืองเอื้อต่อการเกิดของ Civic Culture แต่นั่นก็น่าจะพัฒนามาจากการสั่งสมความรู้สึกในเรื่องการมีส่วนร่วมมาแล้วระยะหนึ่ง และต่อปัญหาเรื่องการคงอยู่ของ Civic Culture นั้นผู้เขียนเห็นว่า เป็นไปได้ที่ Civic Culture จะสามารถคงอยู่ได้แม้ระบอบประชาธิปไตยจะถูกทำลายไป เพราะผู้เขียนเห็นว่า “ประชาธิปไตยต้องอาศัย Civic Culture แต่เมื่อมี Civic Culture อาจไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย” ดังกล่าวแล้ว แต่ทั้งนี้กรณีนี้ต้องเกิดกับประเทศที่เคยเป็นประชาธิปไตยมาก่อน แล้วต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ไม่ใช่ว่าประเทศที่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลยจะสามารถมี Civic Culture ขึ้นมาได้
       ฉะนั้น การนำแนวทาง Civic Culture ซึ่งเป็นหลักการของตะวันตกมาใช้ในประเทศไทยจึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสังคมไทยด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป
       
       2. แนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย
       หลังจากเข้าใจแนวคิดของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง (Civic Culture) แล้วผู้เขียนก็จะนำเสนอแนวทางการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองให้แก่ประชาชนชาวไทย เพื่อเป็นแนวทางสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตยต่อไป
       แท้จริงแล้วแนวทางการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ผู้เขียนพยายามอธิบายอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้เรื่อง “การพัฒนาการเมือง” (Political Development) ซึ่งนักรัฐศาสตร์อธิบายว่า มี 2 แนวทางที่สำคัญ คือ
       1. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย 34 ซึ่งประเทศไทยตั้งหน้าตั้งตา ขะมักเขม้น ขมีขมันดำเนินการอย่างแข็งขันมาตลอด 75 ปีนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 โดยการพยายามออกแบบโครงสร้างสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแล้วฉบับเล่า (แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น การซื้อเสียง หรือแม้กระทั่ง “เผด็จการ” ได้อย่างแท้จริง) ผู้เขียนจึงขอละไว้ มิอธิบายถึงเพราะเหตุว่ามีผู้อรรถาธิบายกันไว้มากมายมหาศาลแล้ว
       2. การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งผู้เขียนมีความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่จะกล่าวว่า รัฐบาลไทยและสังคมไทยละเลย เพิกเฉย มิเคยให้ความสนใจแนวทางนี้มาถึง 75 ปีนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 และก็ดูเหมือนว่าขณะนี้สังคมไทยก็ยังคง สาละวนอยู่กับการเล่นแร่แปรธาตุตัวอักษรในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันเป็นสามารถ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับสิบกว่าครั้ง โดยไม่มีวี่แววว่าจะหันมาเหลียวแล พัฒนา หรือยกระดับองค์ประกอบประการที่สามของประชาธิปไตยข้อนี้เลย
       ณ จุดนี้ผู้เขียนขอเน้นย้ำอีกคำรบหนึ่งว่า ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธความสำคัญของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร รัฐธรรมนูญนั้นสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดระบบการเมืองและระบบกฎหมายของรัฐ เป็นกติกาการเข้าสู่และพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เป็นกรอบแห่งการใช้อำนาจอธิปไตย เป็นเครื่องมือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ผู้เขียนร้องขอให้สังคมไทย อย่าปฏิเสธความสำคัญของวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ (อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ) ที่ช่วยสถาปนาและธำรงรักษา “สังคมประชาธิปไตย” ในประเทศตะวันตก (ที่สังคมไทยนำเข้าหลักการต่าง ๆ มาใช้) ให้คงอยู่ยั่งยืนมั่นคงมากว่า 300 ปีแล้ว
       
       2.1 การกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization)
       ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ในตอนท้ายของบทความชิ้นแรกว่า “...วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ และถ่ายทอดได้...” จึงหมายความว่า ต้องมีวิธีการที่จะทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมได้ วิธีการนั้นคือ การขัดเกลาทางสังคม (Socialization)
       
การขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการทางสังคมกับจิตวิทยาซึ่งมีผลทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพตามแนวทางที่สังคมต้องการ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมจะเริ่มต้นตั้งแต่บุคคลเกิดมา ตัวแทนของสังคมที่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ ได้แก่ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน สถานศึกษา ศาสนาตลอดจนสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่จะขัดเกลาให้บุคคลได้ทราบคุณธรรม คุณค่า อุดมคติที่สังคมยึดมั่น จะได้เรียนรู้บรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้อยู่ในสังคม ตลอดจนยึดมั่นในหลักศีลธรรมของสังคม และพร้อมที่จะใช้ชีวิตในแนวทางที่สังคมต้องการ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมเกิดขึ้นทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ หรือโดยตรงและโดยอ้อม กล่าวอีกนัยหนึ่ง การขัดเกลาทางสังคม คือ กระบวนการอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เรียนรู้สถานภาพและบทบาทที่สังคมคาดหวัง เป็นกระบวนการที่จะต้องประสบตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อันจะทำให้บุคคลนั้นได้มีแบบแผนของความประพฤติที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มและสามารถดำรงอยู่ร่วมกับกลุ่มได้อย่างเป็นระเบียบ
       ในเมื่อวัฒนธรรม (ทางสังคม) สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดโดยกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ดังนั้น การเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองก็สามารถทำได้โดย “การกล่อมเกลาทางการเมือง” (Political Socialization) บางท่านเรียกว่า สังคมประกิตทางการเมือง 35 หรือ การเรียนรู้ทางการเมือง 36 กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองนี้ ถือได้ว่าเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับมนุษย์ กล่าวคือเป็นตัวดึงเอาวัฒนธรรมเข้าไปมีส่วนหรือมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ 37 หรือเป็นการขัดเกลาทางสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมทางการเมือง 38
       Kenneth P. Langton ได้ให้นิยามของการกล่อมเกลาทางการเมืองว่า หมายถึง กระบวนการที่บุคคลได้เรียนรู้แบบแผนพฤติกรรมและอุปนิสัย ในทางที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองโดยผ่านทางสื่อกลางต่าง ๆ ของสังคม สื่อกลางเหล่านี้รวมถึง สิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไป เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูง โรงเรียน สมาคมผู้ใหญ่ และสื่อสารมวลชนต่าง ๆ 39
       การกล่อมเกลาหรือการเรียนรู้ทางการเมือง สามารถกระทำได้ 2 แนวทางหลัก ๆ 40
       2.1.1 การกล่อมเกลาทางการเมืองโดยทางอ้อม ซึ่งอาจแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 แบบด้วยกัน คือ
       2.1.1.1 การถ่านโอนระหว่างบุคคล (Interpersonal Transference)
       2.1.1.2 การฝึกหัดอบรม (Apprenticeship)
       2.1.1.3 ระบบความเชื่อ
       2.1.2 การกล่อมเกลาทางการเมืองโดยทางตรง อาจแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
       2.1.2.1 การเลียนแบบ
       2.1.2.2 การเรียนรู้โดยการคาดการณ์ล่วงหน้า (Anticipatory Socialization)
       2.1.2.3 การศึกษาทางการเมือง หมายถึง วิธีการเรียนรู้การเมืองอย่างตรงไปตรงมา มีองค์กรหรือสถาบัน เช่น ครอบครัว โรงเรียน หน่วยงานของรัฐ หรือพรรคการเมืองเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนวิธีการนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม 41
       ณ จุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การให้การศึกษาเรื่องทางการเมืองนับเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะให้ความสนใจเป็นอันดับแรก เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ประชาชนในประเทศที่มีความมั่นคงทางประชาธิปไตยในโลกตะวันตกมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง หรือรู้จักบทบาทหน้าที่ของการเป็นพลเมืองและราษฎรที่ดีนั้น ประเทศเหล่านั้นล้วนมีระบบการจัดการศึกษาที่ดีและมีบุคลากรที่มีคุณภาพ เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ดังนั้นพื้นฐานแรกของการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองก็คือการจัดระบบการศึกษาที่ดี โดยมุ่งเน้นปลูกฝังความรู้เรื่องประชาธิปไตยแก่นักเรียน ผู้เป็นเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปในอนาคต ในหัวข้อนี้ผู้เขียนขอแยกอธิบายเป็นหัวข้อใหญ่ในหัวข้อ 2.2 ต่อไป
       2.1.2.4 ประสบการณ์ทางการเมืองโดยตรง
       
       2.2 การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยผ่านกระบวนการจัดการศึกษา
       2.2.1 การเสริมสร้างวัฒนธรรมผ่านกระบวนจัดการศึกษาในระบบ
       การศึกษาในระบบเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและการปลูกฝังบ่มเพาะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้เพราะกระบวนการศึกษาในระบบสามารถเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ กล่าวคือในทางทฤษฎี การศึกษาในระบบสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาหรือุดมการณ์ของประชาธิปไตย หลักการของระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยได้อย่างถูกต้องและชัดเจน ในขณะเดียวกันการศึกษาในระบบยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกปฏิบัติวิถีประชาธิปไตยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนต่าง ๆ เช่น ชมรมยุวชนนักประชาธิปไตย ชมรมโต้วาที หรือแม้แต่การจัดการเลือกตั้งประธานนักเรียนและคณะกรรมการนักเรียน ทั้งนี้เพื่อหล่อหลอมให้ผู้เรียนได้ซึมซับคุณค่าของประชาธิปไตย ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ความเชื่อมั่นและถือปฏิบัติอย่างเป็นแบบแผน จนกลายเป็นผู้มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองอย่างมั่นคง
       เป็นที่น่ายินดีว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเดิม เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 โดยได้เริ่มใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่นี้ในปีการศึกษา 2546 เริ่มใช้จากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ วก 1166/2544 เรื่องให้ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และในปีการศึกษาถัดไปก็จะใช้ในชั้นถัดไปจนครบช่วงชั้น
       จุดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อสร้าง “ความเป็นพลเมือง” ให้แก่นักเรียนในระดับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “โรงเรียน” นั้นคือ หลักสูตรของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงจากวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (ส.ป.ช.) เดิม โดยหลักสูตรใหม่นี้ได้แบ่งสาระการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เป็น 5 สาระ ได้แก่
       - สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
       - สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม
       - สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์
       - สาระที่ 4 ประวัติศาสตร์
       - สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์
       ในสาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม นี้เองที่จะเป็นแนวทางการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ไว้ดังนี้
       มาตรฐาน ส 2.1: ปฏิบัติตนตามหน้าที่ของการเป็นพลเมืองดีตามกฎหมาย ประเพณี และวัฒนธรรมไทย ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างสันติสุข
       มาตรฐาน ส 2.2: เข้าใจระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบัน ยึดมั่น ศรัทธา และธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 42
       สำหรับรายละเอียดของเนื้อหาที่สถานศึกษาจะต้องจัดให้ผู้เรียนได้ศึกษา ได้แก่
       1. พลเมืองดี ศึกษาบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและการปฏิบัติตนตามวิถีประชาธิปไตย สถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ในฐานะพลเมืองดี
       2. การเมืองการปกครอง ศึกษาการใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศและสถาบันการเมือง
       3. การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ศึกษาการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองการปกครองตามกระบวนการประชาธิปไตย
       4. กฎหมาย ศึกษาหลักสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญ และกฎหมายในชีวิตประจำวัน
       5. ประเพณี วัฒนธรรม ศึกษาโครงสร้างทางสังคม ลักษณะสังคมไทย บรรทัดฐาน วัฒนธรรม และการยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม
       
       ลักษณะเนื้อหาของ “หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม” นี้น่าจะใกล้เคียงกับวิชา Civic Education 43 ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับโรงเรียนของสหรัฐอเมริกา
       หนังสือ Civics: Citizens in Action ซึ่งเป็นหนังสือเรียนหน้าที่พลเมืองของนักเรียนอเมริกันอธิบายว่า “ความเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา คือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ พลเมืองมีสิทธิเลือกผู้นำรัฐบาลและผู้ออกกฎหมาย และมีสิทธิ เสรีภาพซึ่งได้รับการปกป้องจากรัฐบาล ด้วยเหตุนี้พลเมืองอเมริกันจึงมีความรู้สึกศรัทธาต่อรัฐบาล พวกเขาให้การสนับสนุนรัฐบาลด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายและเข้าร่วมเป็นลูกขุน (Jury) ในทางกลับกันพวกเขาก็ปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนอย่างครบถ้วน
       วิชาหน้าที่พลเมือง (Civics) จึงเป็นการศึกษาส่วนสำคัญ 2 ส่วนสำคัญของความเป็นพลเมือง คือ เรื่องของสิทธิและหน้าที่ของประชาชน” 44
       แต่อย่างไรก็ตาม เหนือกว่าตัวเนื้อหาสาระของวิชาคือ วิธีการจัดการเรียนการสอนหรือที่กระทรวงศึกษาธิการยุคปฏิรูป ใช้คำว่า “การจัดกิจกรรมการเรียนรู้” นั้นต่างหากที่ผู้สอนจะต้องปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนของทั้งผู้สอนเองและของผู้เรียน ให้มีแนวทางที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมากยิ่งขึ้น ต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าคิด วิเคราะห์ (Analysis) สังเคราะห์ (Synthesis) แสดงความคิดเห็น รู้จักการค้นคว้าเพิ่มเติมนอกห้องเรียน ตลอดจนฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม (Team work) การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการนำเสนอผลงาน (Presentation) มากกว่าการให้เนื้อหาสาระของบทเรียนแก่ผู้เรียนทางเดียว หรือที่ครูหลายคนใช้คำว่า “ป้อน” โดยผู้เรียนขาดความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ และเรียนแบบท่องจำเฉพาะสิ่งที่ครูสอน เพียงเพื่อให้สอบผ่าน แต่ไม่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
       ปรัชญาการศึกษาข้อหนึ่งก็คือ “การจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนนั้น คือการเตรียมตัวนักเรียนให้สามารถออกไปใช้ชีวิตในโลกได้ด้วยความราบรื่น การดำเนินการเรียนการสอนจึงเป็นภาระหนักของครู ซึ่งมีผู้เปรียบเทียบว่า เหมือนกับการสร้างเครื่องมือ และสอนวิธีใช้เครื่องมือให้แก่นักเรียนเพื่อให้สามารถสร้างบ้านได้เอง แทนที่จะให้บ้านทั้งหลังแก่นักเรียน ซึ่งเมื่อพุพังหรือทลายไปก็ไม่อาจซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ได้ เพราะขาดเครื่องมือ” ดังนั้นการสอนให้ผู้เรียนรู้จักหน้าที่พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยคือการรู้จักสิทธิ ปฏิบัติตามหน้าที่ และมีส่วนร่วมทางการเมืองตามสมควรแล้ว ก็ควรให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียนตามสมควรด้วยเช่นกัน
       
       2.2.2 การเสริมสร้างวัฒนธรรมผ่านกระบวนการศึกษานอกระบบ
       สำหรับสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ กระบวนการศึกษาในระบบไม่มีสมรรถนะในการอบรมหล่อหลอมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะประชาชนที่มีโอกาสศึกษาอยู่ในโรงเรียนมีจำนวนน้อย หรืออาจมีโอกาสศึกษาเฉพาะในระดับต่ำ เช่น ระดับประถมศึกษาเท่านั้น เป็นต้น ทำให้ประชาชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาขาดโอกาสที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย วิถีชีวิตจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเชื่อดั้งเดิมที่ปลูกฝังถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม คือการยอมรับอำนาจของผู้ปกครองโดยไม่โต้แย้ง และถือว่าวิธีการดำรงชีวิตของตนเป็นผลมาจากกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน โดยยอมรับว่าประชาชนมีฐานะต้อยต่ำในทางสังคม มีหน้าที่จะต้องเคารพผู้ปกครอง ภายใต้วิถีแห่งวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่เข้าใจถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีโอกาสได้รับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็มักจะตกเป็นเหยื่อของผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ประชาชนจำนวนมากเข้าใจว่า “ผู้แทนหรือรัฐบาลที่ “แจกเงิน” ให้ประชาชน (ทั้งในและนอกเทศกาลเลือกตั้ง) คือผู้แทนหรือรัฐบาลที่ดี ส่งผลให้การพัฒนาประชาธิปไตยเต็มไปด้วยอุปสรรค 45
       
ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ยังได้ยกตัวอย่างของการซื้อเสียงที่กลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยไปแล้ว เรื่องนี้เริ่มจากนักการเมืองนำสิ่งของไปแจกชาวบ้านเป็นสินน้ำใจชักจูงให้ชาวบ้านเลือกตน ซึ่งทำติดต่อกันมานั้นทั้งการเลือกตั้งทั่วไปและเลือกตั้งซ่อม จนชาวบ้านมุ่งหวังว่านักการเมืองจะต้องแจกสิ่งของหรือเงินเพื่อแลกกับคะแนนเสียง (นักการเมือง) คนไหนไม่แจกเงินก็ยากที่จะได้รับเลือก 46
       
ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนแบบอำนาจนิยมไปเป็นประชาธิปไตย และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าไปเป็นแบบพลเมือง จึงต้องมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่นอกระบบการศึกษาศรัทธา เชื่อมั่นและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติแทนความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งสามารถทำได้โดยการจัดโครงการรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อคุณค่าของประชาธิปไตย ทั้งการเข้าถึงประชาชนโดยตรงและผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์และอินเตอร์เน็ต แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนนอกระบบการศึกษาจะได้รับความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
       นอกจากนี้ การจัดโครงการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย จะต้องมุ่งเน้นให้เป็นรายการที่มีสีสันน่าสนใจ สนุก ไม่น่าเบื่อหน่าย ต้องทำเรื่องของการเมืองการปกครองที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวไม่น้อยไปกว่าเรื่องปากท้อง ต้องสามารถกระตุ้นให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสนใจรับฟัง และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
       ผู้เขียนเห็นว่า สื่อที่มีประสิทธิภาพและมีอิทธิพลต่อประชาชนมากที่สุดในปัจจุบัน คือ วิทยุกระจายเสียง (ที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่าวิทยุ) และวิทยุโทรทัศน์ (ที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่าโทรทัศน์) ในประเทศไทย รัฐบาลเป็นเจ้าของสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศกว่า 524 สถานี โดยเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ 146 สถานี, กองทัพบก 128 สถานี, อ.ส.ม.ท. 62 สถานี และหน่วยงานอื่น ๆ อีกรวม 188 สถานี ส่วนสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐบาลก็มีถึง 4 สถานี คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 5 ซึ่งกองทัพบกเป็นเจ้าของแต่อนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการด้านรายการ, สถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี (Modernine TV) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจคือองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารงานเอง และล่าสุดคือสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งดำเนินการในรูปหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นการลำบากนัก หากรัฐบาลจะใช้สื่อเหล่านี้ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองให้แก่ประชาชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา เพียงแต่รัฐบาลจะต้องมีความจริงจัง จริงใจและต่อเนื่องในการดำเนินการเท่านั้น
       นอกจากการใช้สื่อสารมวลชนเป็นช่องทางในการนี้แล้ว รัฐบาลจะต้องให้โอกาสประชาชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้มีโอกาสฝึกวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยอาจจัดให้มีโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น หรือส่งเสริมอาชีพในชุมชนโดยใช้วิถีทางประชาธิปไตยในการดำเนินการ มีการเลือกตั้งคณะกรรมการผู้รับผิดชอบโครงการ มีการประชุมหารือและตัดสินใจโดยใช้เสียงข้างมากและเหตุผล กระบวนการเหล่านี้จะเสริมสร้างให้ประชาชนซึมซับวิถีประชาธิปไตยให้กลายเป็นวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองหรือแบบประชาธิปไตยได้ในที่สุด
       ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้ให้ข้อสรุปไว้อย่างน่าฟังว่า “การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือแบบดั้งเดิมไปเป็นแบบประชาธิปไตย ถึงแม้จะต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่การเริ่มต้นกระทำด้วยความมุ่งมั่นและจริงจัง ในที่สุดจะประสบความสำเร็จ กล่าวคือจะทำให้ประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งจะส่งเสริมให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพมั่นคง
       ดังนั้น การพัฒนาระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำให้ปรากฏเป็นจริงได้ เพียงแต่กลุ่มพลังทางสังคมและผู้นำทางการเมืองจะต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงเท่านั้น” 
47
       

       จากที่ผู้เขียนได้อธิบายมาทั้งหมด พอจะสรุปได้ว่า การปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองจากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า อำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือแบบพลเมืองนั้น สามารถทำได้โดยผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง ซึ่งก็มีสื่อกลางที่ทำหน้าที่นี้อยู่มาก แต่สื่อกลางหนึ่งซึ่งผู้เขียนให้ความสำคัญคือ “ครอบครัว” “สถาบันการศึกษา” และ “สื่อสารมวลชน” ซึ่งนับวันจะมีบทบาทขึ้นเป็นเท่าทวีในท่ามกลางสังคมโลกยุคข้อมูลข่าวสารอันไร้พรมแดน
       
       บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเริ่มลงมือเรียบเรียงขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 อันเป็นวันคล้ายวันเกิด ปีที่ 54 ของ “แม่” ปฐมาจารย์ ผู้ให้กำเนิดชีวิต ความคิดและสติปัญญาแก่ผู้เขียน และอบรมสั่งสอนให้ผู้เขียนเป็นคนดี ความดีอันอาจมีขึ้นจากงานเขียนชิ้นนี้ขออุทิศแด่ “แม่” ผู้บังเกิดเกล้า ผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ผู้อุทิศชีวิตการทำงานตลอด 30 ปีให้แก่วงการการศึกษาไทย ผู้เป็นทั้ง “ครู” ของศิษย์หลายร้อยคนที่โรงเรียนและเป็น “ครู” ของลูกคนนี้
       
       ในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอย้ำเตือนว่า การปฏิรูปการเมืองจำต้องอาศัย “เครื่องมืออย่างอื่น” นอกเหนือจากตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงจะสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมประชาธิปไตย” (Democratic Society) มิใช่เป็นเพียงประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ (อย่างที่สังคมไทยเฝ้าเพียรพยายามทำมาตลอด 75 ปี) เท่านั้น แต่กระนั้นก็ตามสิ่งซึ่งยากยิ่งกว่าการสร้างความเป็นประชาธิปไตยตามแนวทาง Civic Culture ดังได้อธิบายไว้ คือ การหา “จุดสมดุล” ระหว่าง “ความเป็นตะวันตก” และ “ความเป็นตะวันออก” ให้พบ แล้วปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนหลักการของตะวันตก (รวมถึงแนวทางวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง – Civic Culture) ให้เป็น “ส่วนผสมที่พอเหมาะ” สอดรับกับสังคมไทย ตลอดจน “การรักษาไว้” ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยนั้นให้ยั่งยืน มั่นคง ถาวรสืบไป และผู้เขียนจะได้นำเสนอแนวทางการหาจุดสมดุลของการนำเข้าหลักการต่าง ๆ ของตะวันตกและการผดุงไว้ซึ่งความเป็นสังคมประชาธิปไตยของไทยอย่างยั่งยืนในบทความชิ้นต่อไป ซึ่งจะเป็นปัจฉิมบทของบทความ “ไตรภาค” ชิ้นนี้.
       
       เชิงอรรถ
       

       1.ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 (กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2539), หน้า 502
       2.เรื่องเดียวกัน, หน้า 912
       3.จิรโชค วีระสัย และคนอื่น ๆ, รัฐศาสตร์ทั่วไป (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542), หน้า 256
       4.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา (กรุงเทพฯ : เสมาธรรม, 2548), หน้า 249 – 251
       5.Richard A. Watson, Promise and Performance of American Democracy (New York : John Wiley & Sons, 1985), p.15 อ้างไว้ใน สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 251
       6.บรรเจิด สิงคะเนติ, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่อง หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2543), หน้า 2 – 3
       7.เรื่องเดียวกัน, หน้า 4
       8.ผู้สนใจโปรดดูรายละเอียดใน สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 267 – 268
       9.วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543), หน้า 99
       10.เรื่องเดียวกัน, หน้า 99 – 100
       11.เรื่องเดียวกัน, หน้า 17
       12.จิรโชค วีระสัยและคนอื่น ๆ, รัฐศาสตร์ทั่วไป, หน้า 260
       13.วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 17
       14.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
       15.สโรช สันตะพันธุ์, “มาตรการในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม: ใบเหลืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง,” รวมบทความจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 4 (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2548) : 475 – 486
       16.วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 18 – 19
       17.เรื่องเดียวกัน, หน้า 19 – 20
       18.โปรดดู วิชัย ตันศิริ, “วัฒนธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย,” มติชน (5 มิถุนายน 2550) : 7
       19.วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 20 – 22
       20.จรูญ สุภาพ, ระบบการเมืองเปรียบเทียบ (ประชาธิปไตย, เผด็จการ) และหลักวิเคราะห์การเมืองแผนใหม่ (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2519), หน้า 15 อ้างไว้ใน วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 21
       21.กระมล ทองธรรมชาติ, “หลักประชาธิปไตย,” ใน ประณต นันทิยะกุล (บรรณาธิการ), การเมืองและสังคม (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520), หน้า 168 อ้างไว้ใน วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 21
       22.วิชัย ตันศิริ, วิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), หน้า 475
       23.เกษม ศิริสัมพันธ์, “วัฒนธรรมการเมือง,” เนชั่นสุดสัปดาห์ 11 (553) 6 มกราคม 2546 : 24 อ้างไว้ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล, ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2548), หน้า 53
       24.Mary Jane Turner and others, Civics : Citizens in Action (Columbus, Ohio : Merrill, 1990), p. 6
       25.G.A. Almond & S. Verba, The Civic Culture : Political Attitudes and Democracy in Five Nations (Boston : Little, Brown and company, 1965), p. 30 และ ดัดแปลงจาก ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า 106 – 107   26.เนื่องจาก ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ใช้คำว่า “พลเมือง” ในความหมายของประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครอง แต่ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ผู้เขียนเห็นว่า คำว่า “พลเมือง” (Citizen) ควรใช้ในความหมายของประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะคำว่า “พลเมือง” มาจากคำว่า พละ + เมือง แปลว่า ผู้เป็นกำลังของเมือง ในขณะที่ควรใช้คำว่า “ราษฎร” ในความหมายของประชาชนที่อยู่ใต้ภายใต้การปกครอง
       27.G.A. Almond & S. Verba, The Civic Culture : Political Attitudes and Democracy in Five Nations, p. 30 และ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น, หน้า 107
       28.R. Hague, M. Harrop, Comparative Government and Politics : An Introduction (Basingstoke and London : MacMillan, 1989, p. 74 อ้างไว้ใน ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น, หน้า 108
       29.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
       30.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
       31.R. Hague, M. Harrop, Comparative Government and Politics : An Introduction, p. 75 อ้างไว้ในเรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
       32.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
       33.เรื่องเดียวกัน, หน้า 109
       34.เรื่องเดียวกัน, หน้า 110
       35.ผู้สนใจใจรายละเอียด โปรดดู สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 349 – 350
       36.ดู จิรโชค วีระสัย, สังคมวิทยาการเมือง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543), หน้า 147 – 172
       37.ดู สิทธิพันธ์ พุทธหุน, ทฤษฎีพัฒนาการเมือง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544), หน้า 131 – 138
       38.เรื่องเดียวกัน, หน้า 131
       39.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น, หน้า 66
       Kenneth P. Langton, Political Socialization (New York : Oxford University Press, 1969), p.5 อ้างไว้ใน สิทธิพันธ์ พุทธหุน, ทฤษฎีพัฒนาการเมือง, หน้า 132
       40.ผู้สนใจโปรดดูรายละเอียดใน สิทธิพันธ์ พุทธหุน, ทฤษฎีพัฒนาการเมือง, หน้า 134 – 135
       41.เรื่องเดียวกัน, หน้า 136
       42.กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.), 2545), หน้า 16
       43.วิชัย ตันศิริ, วัฒนธรรมการเมืองและการปฏิรูป (กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2547), หน้า 79
       44.Mary Jane Turner and others, Civics : Citizens in Action, pp. 6 – 7
       45.ดูรายละเอียดใน หัวข้อ 4. วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยกับปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตย ใน ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์, “วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย: รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งไม่เคยถูกยกเลิก,” เผยแพร่ในwww.pub-law.net วันที่ 7 ธันวาคม 2549
       46.เกษม ศิริสัมพันธ์, “วัฒนธรรมการเมือง,” เนชั่นสุดสัปดาห์ : 24 อ้างไว้ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล, ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม, หน้า 53 – 54
       47.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 355
       
       บรรณานุกรม
       
       กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์
       องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.), 2545
       จิรโชค วีระสัย. รัฐศาสตร์ทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542
       ___________. สังคมวิทยาการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543
       บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล. ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2548
       พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่ง
       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546
       ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อักษร
       เจริญทัศน์, 2539
       วิชัย ตันศิริ. วัฒนธรรมการเมืองและการปฏิรูป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2547
       ________. วิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548
       ________. “วัฒนธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย.” มติชน (5 มิถุนายน 2550) : 7
       วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล. การเมืองและการปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
       มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543
       สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : เสมาธรรม, 2548
       สโรช สันตะพันธุ์. “มาตรการในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม: ใบเหลืองและการเพิก
       ถอนสิทธิเลือกตั้ง.” รวมบทความจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานศาล
       รัฐธรรมนูญ, 2548 : 475 – 486
       สิทธิพันธ์ พุทธหุน. ทฤษฎีพัฒนาการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544
       G.A. Almond & Bingham Powell. Comparative Politics: A Developmental Approach. Boston: Little,
       Brown and company, 1966
       G.A. Almond & S. Verba. The Civic Culture: Political Attitudes and Democracy in Five Nations. Boston
       : Little, Brown and company, 1965
       Mary Jane Turner and others. Civics: Citizens in Action. Columbus, Ohio: Merrill, 1990


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544