หน้าแรก บทความสาระ
ขอให้ประชาชนไทยได้เป็นคนเลือก ‘ส.ว.’ โดย คุณณัฐกร วิทิตานนท์
คุณณัฐกร วิทิตานนท์
24 มิถุนายน 2550 22:11 น.
 
ว่ากันว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 แล้วนั้น วุฒิสภา ถือเป็นสถาบันการเมืองที่มีความสำคัญสุดยอด กล่าวคือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มี ส.ว. จำนวน 200 คน มีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ประชาชนผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครได้ 1 คน (ในทางวิชาการ เรียกระบบเช่นนี้ว่า Single-Non Transferable Vote (SNTV)) พร้อมทั้งเพิ่มอำนาจของวุฒิสภาเสียใหม่ แตกต่างไปจากวุฒิสภาเดิมๆ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งมหาศาล เพราะนอกจากจะเป็นผู้กลั่นกรองกฎหมายให้รอบคอบแล้ว ก็ยังเป็นผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบต่างๆ เช่น เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ที่ประพฤติมิชอบได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ว. จะต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับนักการเมืองและพรรคการเมือง ควบคุมผ่านมาตรการด้านคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ต่างๆ อาทิ ต้องมีสัญชาติไทย, อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี, จบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และห้ามเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง, ห้ามเป็น ส.ส. หรือเคยเป็น และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วยังไม่เกิน 1 ปี เป็นต้นรวมถึงการห้าม ส.ว. หาเสียง อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. จึงสรุปสั้นๆ ก็คือ กลั่นกรอง ตรวจสอบควบคุม แต่งตั้ง ถอดถอน นี่เอง
       แต่ก็ต้องยอมรับครับว่า ภาพลักษณ์ของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 40 ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในรอบ 6 ปีมานี้ มักถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเชิงลบเสมอในทำนองว่าเป็นสภาร่างทรงบ้าง สภาผัวเมียบ้าง สภาวงศาคณาญาติบ้าง อย่างไรก็ตาม รูปธรรมของปัญหาข้างต้น ก็ปรากฏออกมาให้เห็นกันตลอด ทั้งการตั้งก๊กตั้งเหล่า ศึกแย่งชิงกันเป็นประธานฯ ส.ว.ต้องคดีเสพกามเด็ก กรณีปัญหาผู้ว่าการ สตง. คดี ส.ว.ชกกันเองกลางสภา ความยุ่งเหยิงในการเลือกกรรมการ ปปช. เป็นต้น
       แน่ละ หลายท่านถึงกับเสนอให้ยุบวุฒิสภาทิ้งเสียเลย ทว่า ต่อข้อเสนอดังกล่าวนี้ ผมไม่มีทางที่จะเห็นพ้องได้เป็นอันขาด เพราะเชื่อว่าระบบสองสภา (Bicameral) ยังมีข้อดีกว่ามาก และให้พึงสังเกตว่า หากแม้เราได้รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนมากมายเพียงใด เราก็คงต้องมีสภาสูงเอาไว้ เพื่อให้คอยตรวจสอบและถ่วงดุลสภาล่างอยู่บ้าง ฉะนั้น การยกเลิกวุฒิสภาแล้วหันไปใช้ระบบสภาเดียว (Unicameral) จะทำให้เสียสมดุลในเชิงโครงสร้างสถาบันการเมืองขนานใหญ่ได้
       จากข้อมูลเท่าที่มี สะท้อนชัดว่า ณ เวลานี้ มีถึง 75 ประเทศด้วยกัน (ไม่นับประเทศไทย) ที่ได้ใช้ระบบสภาคู่ ซึ่งสภาสูงของแต่ละประเทศต่างก็มีที่มาและบทบาทแตกต่างกันออกไป ตามแต่ปูมหลังด้านวิวัฒนาการทางการเมืองของประเทศนั้นๆ แสดงให้เห็นว่า สภาสูง นับเป็นสิ่งจำเป็น โดยมีถึง 58 ประเทศ (ไม่รวมประเทศไทย) ที่อาศัยการเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการได้มาซึ่งสมาชิกสภาสูงของตน
       (โปรดดู Methods of Nomination of the World's Senates and Second Chambers จากในhttp://www.senat.fr/senatsdumonde/english/english-synthese.html) ***
       เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ จากจำนวนที่มีอยู่ทั้งสิ้น 17 ฉบับแล้วก็จะพบว่า เราใช้ทั้งระบบสภาเดียวและระบบสองสภาใกล้เคียงกัน สรุปได้ดังนี้
       
       ระบบสภาเดียว                            ระบบสองสภา
       
รัฐธรรมนูญ                  รัฐธรรมนูญ                  วิธีการได้มาซึ่งวุฒิสภา
       ฉบับที่ 1 พ.ศ.2475    ฉบับที่ 3 พ.ศ.2489           เลือกตั้ง ทางอ้อม (พฤฒสภา)
       ฉบับที่ 2 พ.ศ.2475    ฉบับที่ 4 พ.ศ.2490           แต่งตั้ง
       ฉบับที่ 6 พ.ศ.2495    ฉบับที่ 5 พ.ศ.2492           แต่งตั้ง
       ฉบับที่ 7 พ.ศ.2502    ฉบับที่ 8 พ.ศ.2511           แต่งตั้ง
       ฉบับที่ 9 พ.ศ.2515    ฉบับที่ 10 พ.ศ.2517         แต่งตั้ง
       ฉบับที่ 11 พ.ศ.2519  ฉบับที่ 13 พ.ศ.2521          แต่งตั้ง
       ฉบับที่ 12 พ.ศ.2520  ฉบับที่ 15 พ.ศ.2534          แต่งตั้ง
       ฉบับที่ 14 พ.ศ.2534  ฉบับที่ 16 พ.ศ.2540          เลือกตั้ง ทางตรง
       ฉบับที่ 17 พ.ศ.2549  
       
       ร่างๆ แรกของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็คิดเช่นนั้น ‘วุฒิสภา’ จึงยังต้องมีต่อไป แต่ถูกกำหนดให้มาจากการสรรหาแทนที่จะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะถูกแทรกแซงจากอิทธิพลของนักการเมืองและพรรคการเมืองได้ง่ายๆ โดยร่างๆ นี้ กำหนดให้ ส.ว. มีจำนวนลดลงเหลือ 160 คน และมีที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาตาม มาตรา 107 ล้วนๆ แยกเป็น 2 ประเภท ก็คือ มาจากผู้สมัครเข้ารับการสรรหาในแต่ละจังหวัดๆ ละ 1 คน รวม 76 คน และอีกส่วนหนึ่ง จะมาจากบุคคลที่มีความเหมาะสมที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา จำนวน 84 คน (มาตรา 108) เพราะเชื่อมั่นทำนองว่า ระบบการสรรหาจะทำให้การเมืองของประเทศไม่ตกเป็นการเมืองของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะเป็นการเมืองของประชาชนที่มีความหลากหลาย ทั้งทางพื้นที่ วิชาชีพ และเพศ ในขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ คุณสมบัติต่างๆ ของ ส.ว. ตามร่างแรกนี้ ก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากที่รัฐธรรมนูญ 40 กำหนดไว้เท่าใดนัก
       ฉะนั้น ผมจะขอตั้งข้อสังเกตบางประการต่อความฉับพลันเปลี่ยนแปลงข้างต้น ดังนี้
       (1) พูดตามจริง ที่มาของ ส.ว. เช่นนี้ ฝืนต่อหลักการประชาธิปไตยชัดเจน เพราะในขณะที่รัฐธรรมนูญระบุว่า “สมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย” (มาตรา 117) แต่กลับให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหาโดยคนแค่ไม่กี่คนที่ต่างก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานองค์กรอิสระและผู้พิพากษาตุลาการจากศาลต่างๆ รวมแล้วเพียง 7 คนเท่านั้น ทว่า องค์กรอิสระเหล่านี้ก็กลับมีที่มาจากการรับรองของ ส.ว. นี่เอง เข้าทำนองตั้งกันเองไปมา นั่นคือความลักลั่นประการสำคัญของร่างๆ นี้ เพราะมิอาจอธิบายด้วยทฤษฎีใดๆ ที่จะชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันวุฒิสภาและองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ กับประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจตัวจริงได้ โดยนัยนี้อำนาจที่เป็นของคนไทยทุกคน จึงไม่อาจมอบให้กับคนเพียง 7 คนเอาไปใช้แทนได้เลย แล้วคุณธรรมที่แท้จริงของคณะบุคคลเหล่านี้จะคงทนถาวรต่อสิ่งยั่วยวนต่างๆ ได้นานเพียงไรกัน
       อีกทั้งวุฒิสภาตามต้นร่างฉบับนี้ ก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่มากมาย ทั้งกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมรัฐบาล แต่งตั้งบุคคลเข้าไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ ตลอดจนสามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ได้อีกด้วย แม้นว่าบางตำแหน่งจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเองก็ตามที ตรงนี้ต้องทบทวน เพราะหากจะให้ ส.ว. มาจากการสรรหา ก็ไม่ควรให้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนใดๆ อีกแล้ว คงให้ทำหน้าที่แค่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น น่าจะถูกต้องกว่า
       
       (2) ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่กำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีนั้น ส่งผลให้ผู้ได้รับการแต่งตั้ง ส่วนใหญ่มักจะเป็นข้าราชการระดับสูง ข้าราชการอาวุโส อดีตนักการเมือง คนของพรรคการเมือง ดังนั้น ส.ว. ในอดีตจึงมักมีความเห็นที่สอดคล้องหรือคล้อยตามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่บ่อยครั้ง อย่างที่ถูกเรียกอยู่บ่อยๆ ว่า “สภาตรายาง” นั่นเอง
       ผลการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งในปี 2543 และเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา อธิบายได้ว่า การเลือกตั้งสามารถที่จะทำให้เราได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มีความหลากหลายกว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งมาก เพราะมีทั้งที่เป็นอดีต ส.ส. อดีต รัฐมนตรี นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการพลเรือน หมอ ตำรวจ ทหาร นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน รวมถึงตัวแทนจากภาคองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ส.ว. จึงค่อนข้างมีความเป็นตัวแทนของประชาชนทุกชนชั้น ตรงกันข้ามกับวุฒิสภาในระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มักเต็มไปด้วยข้าราชการกินรวบควบตำแหน่งแทบทั้งสิ้น
       (3) ตำราวิชาการส่วนใหญ่ สรุปตรงกันว่า การกำหนดให้ ส.ว. มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนนั้นมีนัยทางบวกต่อระบบการเมืองมากมาย เช่น ทำให้รัฐสภามีประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้น, ส.ว. มีอิสระในการทำงานมากขึ้น, ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ฯลฯ
       การให้ประชาชนเลือก ส.ว. จะทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง คอยติดตามบทบาทของ ส.ว. ที่ตนเลือก และจดจำเป็นบทเรียนในการเลือกครั้งต่อๆ ไป และเมื่อผ่านพ้นการเลือกตั้งหลายครั้งๆ เข้า ประชาชนก็จะเข้าใจได้เองว่าอะไรเป็นอะไร หากเราปรารถนาที่จะเป็นประชาธิปไตยก็จักต้องใช้เวลาเช่นนี้แล
       จะอย่างไรก็ตามแต่ เท่าที่เห็น ก็พอจะฟันธงได้ว่าร่าง รธน. ฉบับนี้ ‘ดูถูก’ ประชาชน และก็ไม่เชื่อ ‘น้ำยา’ นักการเมือง เนื้อหาหลายๆ ส่วน จึงมีตรรกะที่ขัดแย้งกันเอง ผมขอร้องให้เราลองเชื่อถือประชาชนและไว้ใจนักการเมืองบ้างเถอะครับ เพราะถึงยังไงๆ “จะดีชั่วก็ตัวเรา” อยู่แล้ว


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544