หน้าแรก บทความสาระ
ช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่างบนร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดย รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร
รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13 พฤษภาคม 2550 22:08 น.
 
“หากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผ้าผืน ผ้าผืนนี้คงเป็นผ้าไทยที่ทอละเอียด ลวดลายงามวิจิตร ผ่านการทอโดยช่างฝีมือดี แต่กลับมีช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่างรอยเปื้อน ซึ่งหากให้คนไทยพิจารณา คงไม่อาจตัดใจซื้อได้”
       

       เหมือนเด็กที่รอคอยของฝากที่พ่อแม่ไปต่างจังหวัดหลายวันแต่กลับมาด้วยมือที่ว่างเปล่า
       เหมือนคนอยากมีบ้านสวยฝากความหวังว่าเมื่อจ้างช่างฝีมือดีมาสร้างบ้านแต่กลับได้สิ่งที่ไม่ได้ดังใจ
       
       ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนในช่วงไม่กี่วันนี้ก็อย่างไรอย่างนั้น ด้วยเหตุที่ฝากความไว้วางใจผู้มีความรู้ความสามารถทั่วแผ่นดิน ให้ทำหน้าที่ในการร่าง ไม่เคยปริปากบ่นแม้ว่าจะใช้งบประมาณเป็นเงินเดือนค่าจ้างมิใช่น้อย หรือต้องเสียค่าสถานที่โรงแรม สนามกอล์ฟหรูในระดมความคิด เพราะเชื่อว่าความคิดดี อาจเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม และเมื่อเทียบกับสิ่งคาดหวังว่าจะได้ ก็น่าจะคุ้มค่า เพราะนี่คือกติกาบ้านเมืองที่จะคงอยู่ต่อไปอย่างน้อยก็อีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นกติกาที่ค้ำจุนบ้านเมืองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ช่วยให้บ้านเมืองก้าวเดินต่อไป หลังจากทุกอย่างหยุดนิ่งหลังเมื่อ 19 กันยายน 2549
       ร่างฉบับใหม่ที่วิจิตรบรรจง แสดงถึงหลักการที่ดีงามที่ไม่เคยปรากฏจำนวนมาก เช่น การกำหนดให้มีจริยธรรมของนักการเมือง การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เพิ่มอำนาจการตรวจสอบจากประชาชนและรัฐสภา ป้องกันนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงองค์กรอิสระและข้าราชการประจำ เพิ่มสิทธิชุมชนและองค์กรภาคพลเมือง เสริมเพิ่มอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการแต่งเติมสิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เป็นรูปธรรม ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับใดๆในอดีต จนเกือบกล่าวได้ว่าน่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
       ความมุ่งมั่น ตั้งใจของกรรมาธิการร่างแต่ละคนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ถึงความเสียสละ ทุ่มเท ใช้เวลาแม้ในวันหยุดพักผ่อนของคนอื่นๆ เพื่อผลักดันให้ร่างแรกปรากฏต่อสายตาประชาชน และยังไม่รวมเวลาจากนี้อีกหลายเดือน กว่าจะถึงวันประชามติ ที่ต้องพร่ำชี้แจง เพียรให้เหตุผลต่อผู้คนที่อาจไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ หรือมีอคติตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้การลงประชามติเป็นสิ่งที่มีความหมาย มาจากความเข้าใจในสาระและยอมรับให้เป็นกรอบกติกาของบ้านเมือง มากกว่าการเพียงแค่ลงว่ารับหรือไม่รับบนความว่างเปล่าหรืออวิชา
       แต่บางจุดที่ปรากฏในร่างที่เผยแพร่ นำไปสู่การฉุกคิดว่านี่คือ จุดเล็กๆที่ไม่สมบูรณ์ เป็นปมทอหรือรอยเปื้อนเล็กที่พอมองข้าม เป็นรอยขาดที่ชายผืน ที่ไม่สมควรติดใจ หรือ เป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่กลางผืนผ้า เป็นรอยขาดฉกรรจ์ และจุดด่างที่ไม่สามารถซักย้อมให้กลายกลับเป็นผ้าผืนงามได้
       เมื่ออ่านทีละมาตราจนจบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่าง จนไม่อาจตัดใจซื้อ โดยความสงสัยว่าด้วยภูมิปัญญาของช่างทอฝีมือดี นี่คือเจตนาให้ขายไม่ออกหรืออย่างไร
       ในมาตรา 68 การระบุให้มีคณะบุคคล ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาในกรณีประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต เหตุการณ์คับขัน หรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่งทางการเมือง ดูเหมือนจะเป็นอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยที่ออกแบบให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีองค์ประกอบ คณะบุคคล กรอบกติกาที่มิอาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่นี่กลับรวบอำนาจทั้งสาม สถาปนาอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจปกครองประเทศให้แก่บุคคลจำนวนเพียงไม่กี่ราย ทั้งยังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอะไรรองรับ ถึงกระบวนการเรียกประชุม การนับจำนวนองค์ประชุม วาระวิธีการดำเนินการประชุม หรือแนวการลงมติในการประชุมแต่อย่างใด นี่คือ รอยโหว่ใหญ่ที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
       
       ในมาตรา 107 การกำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภามาจากการสรรหาของคณะบุคคล 7 คน ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ประธานกรรมการ ปปช. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตัวแทนผู้พิพากษาในศาลฎีกา และตัวแทนตุลาการในศาลปกครอง แทนวิธีการเลือกตั้งที่เกิดปัญหาสภาครอบครัวในอดีต เท่ากับการโอนอำนาจการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ไปอยู่กับการตัดสินใจของคน 7 คน โดยเชื่อว่าด้วยความซื่อสัตย์สุจริตของคนทั้ง 7 ร่วมกับกลไกการคัดกรองจากจังหวัดต่างๆและการเสนอชื่อจากองค์กรวิชาชีพ ภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอื่นๆ จะช่วยให้ได้ สมาชิกวุฒิที่สภาที่มีคุณภาพ นับว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างน่ากลัวที่สุด
       ให้ประชาชนเลือก ประชาชนยังได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนา เห็นบทบาท ส.ว.ที่เขาเลือกและจดจำเป็นบทเรียนในการเลือกครั้งต่อไป และเมื่อผ่านการเลือกตั้งหลายๆครั้ง น้ำดีก็จะเข้ามาไล่น้ำเสีย แต่ให้คน 7 คนทำหน้าที่แทนประชาชน ตำแหน่งทั้ง 7 จะเป็นตำแหน่งแห่งอำนาจ ซึ่งมีคำถามมากมาย ถึงความรอบรู้ว่าจะรู้จักผู้สมัครจากทั่วแผ่นดินได้อย่างไร ถึงความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาว่าจะต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะรู้จริง ถึงความตรงไปตรงมาไม่ถูกร้องขอฝากฝังจากผู้มีอำนาจคนใด ถึงความซื่อสัตย์สุจริตว่าจะคงทนถาวรต่อสิ่งยั่วยวนต่างๆได้เพียงไร
       การกล่าวอ้างถึงคุณงามความดีสะสมที่กว่าจะมาดำรงตำแหน่งสูงขนาดนี้ ไม่เป็นข้ออ้างที่เชื่อถือได้ ก็ลองพลิกไปดูประวัติศาสตร์ในอดีตสิ ไม่ใช่ตำแหน่งประธาน กกต. หรือที่ไม่เป็นกลาง จนต้องออกจากตำแหน่งและเข้าคุกอยู่หลายวัน ไม่ใช่ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือที่มีข้อกล่าวหาตัดสินคดีเข้ากับนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ และมีข่าวลือการรับผลประโยชน์ต่างๆจนถึงข่าวเล็กๆเรื่องฝากลูกเข้าทำงานในกระทรวงสำคัญ ไม่ใช่ตำแหน่งประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือที่ถูกศาลตัดสินจำคุกสองปีเนื่องจากใช้วิจารณญาณในการการลงมติการประชุมที่ไม่รอบคอบเป็นผลเสียหายต่อประเทศชาติ ไม่ใช่ตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาหรือที่แช่เรื่องการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นจัดการเลือกตั้งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ด้วยอาจเกิดจากความเกรงใจนักการเมืองบางคน เหล่านี้เป็นสัจจะว่า ไม่อาจฝากอนาคตกับใครไม่กี่คนได้ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงไร
       และต้องไม่ลืมว่า วุฒิสภา เป็นเงื่อนปมสำคัญของการปฏิรูปการเมือง เพราะจะเป็นผู้ลงมติเลือกองค์กรอิสระทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชน กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หากวุฒิสภาพัง องค์กรอิสระพังไปด้วย ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงอำนาจในการตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ซึ่งถือเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่สำคัญ
       อำนาจที่เป็นของประชาชน ไม่อาจมอบให้คนเพียง 7 คนได้ นี่คือรอยขาดฉกรรจ์ของผ้าผืนนี้
       
       ในมาตรา 92 การกำหนดให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนลดลงเหลือ 400 คน โดยมาจากเขตเลือกตั้ง 320 คน และ แบบสัดส่วน 80 คน จากภาค 4 ภาคๆละ 20 คน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการมีสส.บัญชีรายชื่อแบบเดิม เพียงแต่กำหนดให้เป็นสัดส่วนมาจากภาคต่างๆเท่านั้น ก็เป็นตรรกะที่ยากจะทำความเข้าใจ เพราะไม่เห็นประโยชน์อะไรที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ยกเว้นการประหยัดงบประมาณเงินเดือนผู้เป็น สส. ที่มีจำนวนน้อยลง หรือไม่เคยได้ยินว่า สส.บัญชีรายชื่อนั้นเป็นที่รวมของนายทุนพรรคที่ประมูลซื้อลำดับตำแหน่งในปาร์ตี้ลิสต์ เป็นที่ทางของการจัดการความขัดแย้งซ้ำซ้อนพื้นที่ของนักการเมืองในพรรค เป็นเบ็ดล่อให้คนเข้าสู่การเมืองโดยง่ายเพียงแค่มีเงินมากพอ ไม่เคยประเมินหรือว่าหาก สส.เขตที่มีจำนวนน้อยลง จะทำให้การแข่งขันที่เอาเป็นเอาตายมากขึ้น นักการเมืองเก่า ผู้มีเงิน ผู้มีอำนาจย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบ แล้วจะมีคนดีเข้าสู่ระบบ มีนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีคุณภาพเข้าสู่สภาได้อย่างไร ไม่เข้าใจว่าประเมินอนาคตการเมืองไทยกันอย่างไร นี่จะไม่ว่าสักคำเลยหากลด สส. ลงเหลือ 400 คน โดยยกเลิกปาร์ตี้ลิสต์ไปเสีย และนี่คงเป็นอีกจุดของผ้าขาดผืนนี้
       
       เหลือบมองในกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิฯ ดูเหมือนแทบจะฝากอนาคตกับคน 5 คน คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภา ซึ่งทุกท่านคงต้องมีงานหนักหน่วงเป็นอย่างยิ่งเพราะต้องเป็นกรรมการสรรหาในเกือบทุกตำแหน่งที่เอ่ยข้างต้น แถมยังคงสิทธิในการยืนยันความเห็นด้วยเสียงเอกฉันท์หรือเสียงข้างมากเหนือการลงมติของวุฒิสภา คือ หากวุฒิสภาลงมติไม่เลือก หากคณะบุคคลกลุ่มนี้เห็นต่างก็สามารถมีความเห็นเหนือวุฒิสภาได้ แล้วจะไม่ให้เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ขาดความสมดุลได้อย่างไร ในเมื่อมุ่งส่งเสริมการใช้อำนาจของบุคลากรที่มาจากสายตุลาการจนเกินเหตุ เป็นรอยด่างที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ
       ตรงไหนมีอำนาจ ตรงนั้นจะถูกแทรกแซงอำนาจ นี่คือสัจธรรมของการเมืองไทย
       
       หากเปรียบร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผ้าผืน ผ้าผืนนี้คงเป็นผ้าไทยที่ทอละเอียด ลวดลายงามวิจิตร ผ่านการทอโดยช่างฝีมือดี แต่กลับมีช่องโหว่ รอยขาด และจุดด่างรอยเปื้อน ซึ่งมิใช่รอยขาดเล็กที่มองข้ามผ่านและหากให้คนไทยพิจารณา คงไม่อาจตัดใจซื้อได้ เพียงแค่หวังว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะหากเลือกแล้วการเมืองไทยไม่เปลี่ยน อำนาจยังมิได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพียงแต่ส่งทอดจากนักธุรกิจการเมือง มาสู่ราชการอำมาตยาธิปไตย ประชาชนเป็นเพียงคนชั้นสองที่ได้แต่ชะเง้อมองการปกครองประเทศของคนชั้นนำ ที่จะสร้างกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆตามที่ใจปรารถนา ก็ไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะเกิดขึ้น
       
       ข้อเขียนนี้มิได้มุ่งหวังรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่มุ่งหวังให้สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เห็นด้านขาดวิ่นของผลงานที่ตนภาคภูมิใจ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขตราบเท่าที่มีเวลาดำเนินการได้ แต่หากยังเสนอผ้าขาดผืนนี้แก่ประชาชนอีก คงต้องตัดใจเดินจาก ไม่ว่าเนื้อผ้าส่วนที่เหลือจะวิจิตรบรรจงเพียงใดก็ตาม
       และขอทวงต้นทุนค่าจ้างทอผ้าคืนด้วย


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544