หน้าแรก บทความสาระ
จากรัฐประหารสู่ประชามติ : ปัญหาและข้อคิดบางประการสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย คุณพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
คุณพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
16 เมษายน 2550 01:45 น.
 
ภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์กระทำรัฐประหารนับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ก็ได้เร่งดำเนินการผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อทดแทนรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (พ.ศ. 2540) ทั้งนี้ เนื่องมาจากความต้องการให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น คงจะปฏิเสธมิได้ว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูณฉบับใหม่ (พ.ศ. 2550) ดังกล่าวนี้จึงเป็นที่จับตามองของประชาชนเป็นอย่างมาก
       สำหรับกุญแจสำคัญในการดำเนินพันธกิจสำหรับการร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ทั้ง 100 คน รวมถึง คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 35 คนซึ่งพยายามที่จะทำหน้าที่ของตนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีบทบัญญัติอันเป็นการกำหนดซึ่งโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
       รวมทั้งในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรืออาจจะกล่าวได้ต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยแท้
       ทั้งนี้ จะเห็นได้โดยประจักษ์ชัดถึงการร่างรัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัติอันเป็นการป้องกันและแก้ไขกับปัญหาในทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนมีการกระทำรัฐประหาร อาทิเช่น กลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐ เป็นต้น พร้อมๆ ไปกับการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญนั้นมีเนื้อหาไปในแนวทางใดอีกด้วย
       อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หาได้มีการดำเนินการร่างไปอย่างราบรื่นไม่ หากแต่เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งนี้ ปัญหาหลักในเบื้องต้นนั้นสืบเนื่องมาจากการที่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาอันเป็นการจำกัดครัดเคร่งและเร่งรีบจนเกินไปในการร่างรัฐธรรมนูญ
       กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ได้มีการกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจำต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน ตามมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 เพื่อจัดให้มีการทำประชามติในลำดับต่อไป อันถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก
       สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า สั้นเกินกว่าที่จะเป็นระยะเวลาอันเหมาะสมสำหรับการร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นคือร่างกฎหมายแม่บทของประเทศที่จะได้วางโครงสร้างการเมืองการปกครองของประเทศไทยในองค์รวมต่อไป
       จริงอยู่แม้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ณ. เวลานั้นต้องการที่จะดำเนินการโดยเร็วเพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชนด้วยการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ผลกระทบที่ตามมาสำหรับการเร่งรีบนั้นอาจจะส่งผลตามมาได้อย่างมากมายซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติมองข้ามไป
       เพราะหากพิจารณาในความเป็นจริงแล้วในบางคราแม้แต่เป็นการร่างกฎหมายลูกในระดับพระราชบัญญัติบางฉบับก็ยังต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควรซึ่งเกินกว่า 180 วันเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ก็เพื่อความละเอียดรอบคอบในการพินิจพิเคราะห์ประเด็นต่างๆ
       นอกจากนี้ความมุ่งมั่นตั้งใจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ณ. ปัจจุบันที่ตั้งเป้าหมายไว้ค่อนข้างสูงเกินไปอันเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีอย่างน้อยก็ดีกว่าฉบับเดิม จุดนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นการตอกย้ำว่ามีความเป็นไปได้ยากพอสมควรหากพิจารณาจากเงื่อนเวลาที่ถูกกำหนดไว้ในข้างต้นซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับความต้องการเลยแม้แต่น้อยนิด
       อาจเปรียบเทียบให้เข้าใจได้โดยง่ายว่า “ชาวบ้าน 35 คน พยายามที่จะสร้างเมืองหลวงที่ใหญ่โตและแข็งแรงให้เสร็จภาย 6 เดือน” จึงเป็นไปด้วยหลักเหตุและผลที่ว่าเมืองหลวงดังกล่าวนี้ก็อาจจะมีความใหญ่โตตามความต้องการของผู้สร้างจริง แต่อาจไม่ค่อยมีความมั่นคง แข็งแรงและมีสัดส่วนที่ถูกต้องนักหากเปรียบเทียบกับเมืองหลวงเดิม หรือเมืองหลวงอื่นๆ ที่ใช้เวลามากกว่าในการสร้างขึ้นมา
       นอกจากปัญหาในเรื่องของระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้อย่างน้อยนิดซึ่งหาได้เพียงพอไม่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแล้ว ปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญและถือเป็นอุปสรรคสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญนั่นคือ ทัศนคติ (Attitude) ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองซึ่งได้มีการกล่าวมาแล้วบ้างในบางส่วนข้างต้น
       แม้อาจจะดูว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยเล็กน้อยซึ่งไม่เป็นรูปธรรม (Objective) แต่ทัศนคติของผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นถือได้ว่าเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
       กล่าวคือ การตั้งธงไว้ก่อนว่าจะทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เพื่อให้แก้ไขปัญหาวิกฤตของรัฐบาลชุดที่แล้วนั้น หากมองเพียงผิวเผินแล้วอาจจะถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะเราทุกคนก็ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับประเด็นดังกล่าว แต่หากมาพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นได้ว่าไม่เป็นการบังควรเลยในการกำหนดทัศนคติอย่างนั้นไว้ในเบื้องต้น
       ทุกๆ คนทราบดีว่า การเกิดเหตุการณ์รัฐประหารที่ผ่านมาเพื่อล้มล้างรัฐบาลชุดที่แล้วนั้นเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งปัญหานั้นเกิดจากตัวบุคคลนั่นก็คือ ตัวนักการเมือง หาได้เกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมายอย่างรัฐธรรมนูญโดยแท้ไม่
       ตัวรัฐธรรมนูญฉบับก่อน (พ.ศ. 2540) เองมีโครงสร้างที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ทั้งทางด้านของโครงสร้างทั่วไป การมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฯลฯ แต่ที่ระบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐขององค์กรอิสระ (Independent Agencies) เหล่านี้ซึ่งด้วยความเป็นจริงแล้วถือได้ว่ามีมาตรฐานเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศเลยก็ว่าได้
       แต่กลับต้องมาง้อยเปลี้ยเสียขาไปจนมิอาจทำให้การทำงานขององค์กรนั้นๆ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเพราะการเข้าแทรกแทรงของตัวนักการเมือง หาได้เป็นเพราะบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพไม่
       ดังนั้น การที่เราตั้งธงว่าจะต้องแก้ไขระบบกลไกเหล่านี้เพียงเพราะว่าใช้ไม่ได้ผลกับรัฐบาลชุดก่อนจึงเป็นทัศนคติที่ผิดอย่างมาก
       ถามว่าเรากำลังที่จะร่างกฎหมายแม่บทของประเทศให้หนีพฤติกรรมของบุคคลเพียงคนเดียวหรือบุคคลเพียงกลุ่มหนึ่งโดยแลกกับระบบโครงสร้างที่ค่อนข้างดีอยู่แล้วมันจะเป็นการถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่
       เพราะฉะนั้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดควรจะต้องละซึ่งทัศนคติดังกล่าวเสียไม่เช่นนั้นแล้วก็จะประสบปัญหาเดิมๆ อันถือได้ว่าเป็นวงจรอุบาทว์ (Vicious Circle) นั่นก็คือการปรับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญใหม่เกือบทั้งหมดในทุกครั้งที่มีการเสนอให้มีร่างรัฐธรรมนูญหรือการแก้ไขเพิ่มเติม (Amendment) อันอาจจะเข้าตำรา “ได้ไม่คุ้มเสีย”
       ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นถึงการตั้งปณิธานในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องค่อนข้างสมบูรณ์นั้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรปรับเปลี่ยนโดยเร่งด่วน
       ทั้งนี้ สมมติว่ามิได้มีกรอบระยะเวลาอันจำกัดในการร่างรัฐธรรมนูญตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น แต่การร่างเพื่อให้บรรลุผลตามที่ตั้งไว้ก็ยังมีความเป็นไปได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการร่างกฎหมายเพียงครั้งเดียวไม่สามารถร่างกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์เพรียบพร้อม
       อีกทั้งหากทัศนคติดังกล่าวยังไม่ถูกลบล้างไปก็อาจส่งผลกระทบตามมาซึ่งก็เป็นปัญหาเดิมๆ ของรัฐธรรมนูญไทยนั่นก็คือ รัฐธรรมนูญจะมีเนื้อหามากจนเกินความจำเป็นหากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นๆ เพราะผู้ร่างต้องการให้กฎหมายไร้ซึ่งที่ติจึงเน้นและใส่รายละเอียดในตัวบทกฎหมายมากจนเกินไป
       ปัญหาที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาที่เราก็เคยประสบพบเจอมาแล้วกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติมากถึง 336 มาตรา การที่มีรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยบทบัญญัติที่มากเกินไปหรือมีการบัญญัติรายละเอียดลงลึกจนเกินไปนั้นอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมนัก เพราะอาจส่งผลต่อการบังคับใช้ (Enforcement) ตัวบทกฎหมายได้
       กล่าวคือ เมื่อเวลาและสภาพสังคมแปรเปลี่ยนไป บทบัญญัติที่ถูกบัญญัติไว้อย่างเฉพาะเจาะจงจนเกินไป (Rigid) ก็มิอาจที่จะบังคับใช้ได้ ดังนั้น ผู้ร่างจึงพึงตระหนักว่าการร่างกฎหมายคือการเขียนกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วส่วนหนึ่ง กอปรกับสิ่งที่ยังมิได้เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันอีกส่วนหนึ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การร่างกฎหมายนั้นเป็นการบัญญัติกฎหมายเพื่อปรับใช้กับในอนาคตด้วยซึ่งเราเองก็มิอาจคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉะนั้นแล้ว การร่างกฎหมายแคบจนเกินไปโดยเน้นรายละเอียดมากก็จะส่งผลให้เกิดช่องว่างของกฎหมาย (Gap of Law)
       อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ไขปัญหาการเกิดช่องว่างของกฎหมายในเบื้องต้นก็คือการแก้ไขตัวบทกฎหมาย แต่วีธีนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วถ้าเป็นการแก้ไขในภาวะจำเป็นเร่งด่วนและเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตัวรัฐธรรมนูญที่ถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยส่วนใหญ่จะถูกออกแบบให้กระบวนการในเรื่องของการแก้ไขนั้นกระทำได้ค่อนข้างยากเนื่องมาจากความเป็นกฎหมายสูงสุด (Supreme Law)
       ดังนั้น การละซึ่งทัศนคติที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญสมบูรณ์ในคราเดียวและบัญญัติแต่เนื้อหาโดยกว้างเสียแต่เบื้องต้นจึงเป็นการเหมาะสมที่สุด ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยนั้นให้ไปบัญญัติไว้ในกฎหมายที่ถูกตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติอันมีลำดับรองลงมา เช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (Organic Law) เป็นต้น
       สำหรับกฎหมายที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญควรที่จะมีความยืดหยุ่น (Flexibility) อันเกิดได้จากการบัญญัติกฎหมายไว้โดยกว้าง ไม่จำเพาะเจาะจงจนเกินไปทำให้สามารถปรับใช้ได้กับทุกสภาวะการณ์ นอกจากหลักการร่างกฎหมายอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว การตีความ (Interpretation) ของศาลนั้นก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการทำให้การบังคับใช้กฎหมายบรรลุผลด้วย
       อย่างไรก็ตาม หากปรากฎว่าตัวบทกฎหมายไม่สามารถที่จะบังคับใช้ได้แม้กระทั่งด้วยการตีความของศาล การเพิ่มบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (Amendment) จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาข้างต้นได้ อีกทั้ง การเพิ่มบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมนี้ก็เป็นการทำให้ตัวกฎหมายนั้นไม่มีบทบัญญัติมากจนเกินความจำเป็น ซึ่งวิธีการดังกล่าวควรนำมาปรับใช้กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยเยี่ยงเดียวกันกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและนานาอารยประเทศอื่นๆ ได้ใช้วิธีดังกล่าวในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศตน
       กล่าวคือ ลำพังตัวรัฐธรรมนูญเองมีได้มีบทบัญญัติมากมายนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มิได้เกิดช่องว่างทางกฎหมายมากจนเกินไป ทั้งนี้เนื่องจากมีบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งมีกฎหมายที่ถูกตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติลำดับรองต่างๆ เข้ามาเพื่อเติมเต็มและรองรับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมในสถานการณ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
       อนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ประกอบไปด้วยบทบัญญัติมากถึงประมาณ 320 มาตรา แสดงให้เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังคงใช้รูปแบบและทัศนคติแบบเดิมๆ อันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้ในอนาคตและปัญหาในเรื่องของบทบัญญัติอันมากเกินความจำเป็นตามที่ได้วิเคราะห์มาแล้วในข้างต้น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งปฏิรูปเสียในเบื้องต้นนี้
       ข้อพึงตระหนักเกี่ยวกับทัศนคติหาได้มีแต่เฉพาะต่อตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากแต่ประชาชนผู้รอคอยกฎหมายแม่บทฉบับใหม่ก็ยังคงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปด้วย
       กล่าวคือ ประชาชนทุกคนจะต้องเปลี่ยนแปลงความคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญถือเป็นยาวิเศษซึ่งสามารถเข้ามาเยียยวยาและเข้ามาปัดเป่าความทุกข์ให้กับทุกๆ คน ทุกๆ ชนชั้น ทุกๆ วิชาชีพและทุกๆ เรื่องได้ ประชาชนควรคิดถึงหลักความเป็นจริงนั่นคือ การคิดอย่างมีเหตุมีผลว่าไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จอย่างไร้ที่ติ เหรียญมีสองเหรียญฉันใด กฎหมายก็มีสองส่วนอันประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นจุดอ่อนของตัวกฎหมายและส่วนที่เป็นจุดแข็งของตัวกฎหมายฉันนั้น
       อีกทั้ง รัฐธรรมนูญจะสมบูรณ์ดีได้หาได้เกิดจากการร่างเพียงครั้งเดียวไม่ หากแต่เกิดจากการพัฒนาของตัวบทกฎหมายอันเป็นพลวัต (Dynamic) ซึ่งเกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมตัวบทกฎหมาย การออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติอันมีลำดับรองจากรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ
       หากประชาชนเข้าใจถึงสภาพการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่หลายคนเป็นห่วงนั่นคือ การล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการทำประชามติที่กำลังจะมาถึงนี้ เพียงเพราะว่าประชาชนบางกลุ่มบางส่วนไม่พึงพอใจในบทบัญญัติอันมิสามารถเข้ามาเยียวยากลุ่มหรือส่วนของตนเองได้ เนื่องจากว่าประชาชนทุกนั้นสามารถรอคอยในช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญนี้จะถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ จนมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์มากขึ้นประกอบกับมีกฎหมายอื่นๆ อาทิเช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เป็นต้น ที่ออกมาอนุวัติการ (Implement) บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้นนั่นเอง
       ทัศนคติสุดท้ายซึ่งถือได้ว่าเป็นวิกฤตทางความคิดต่อระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยอันอาจเกิดจากนักการเมืองเองก็ดี หรือในบางคราเกิดจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองก็ดี หรือเกิดจากประชาชนเองก็ดี อันส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ การขาดความเชื่อมั่นในระบบการเมืองการปกครองที่ผ่านการปฏิรูปอันรวมถึงการร่างบทบัญญัติใหม่ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเดิมของระบบการเมืองการปกครองที่แล้วมา ทั้งนี้ อาจรวมถึงการปฏิรูประบบศาลที่เกี่ยวข้องอันหมายถึงศาลรัฐธรรมนูญ
       กล่าวคือ เมื่อมีการล้มล้างรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นต้นเหตุในการก่อให้เกิดวิกฤตในทางการเมืองอันนำมาสู่การกระทำรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกอบกับมีการ “ล้างไพ่” ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ที่เชื่อได้ว่าถูกแทรกแซงจากทางการเมืองอันมิอาจทำหน้าที่ในการตรวจสอบทุจริตทางการเมืองได้อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพแล้ว เช่น กรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
       อีกทั้งในอนาคตการเข้ามาดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาอันมาจากการเลือกตั้งซึ่งผ่านการปฏิรูปมาแล้ว ทุกคนก็จำต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ว่าผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนคนเดิมที่ออกไปนั้นย่อมไว้เนื้อเชื่อใจได้ อย่างน้อยก็มากกว่าชุดก่อนมีการปฏิรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศาลรัฐธรรมนูญ ความไม่เชื่อมั่นในระบบศาลอันถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ทำงานได้ค่อนข้างเป็นอิสระมากที่สุดหากเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ เป็นทัศนคติที่ควรต้องเร่งปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน
       เพราะหากระบบศาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากทุกๆ คนแล้ว องค์กรอื่นๆ ซึ่งมีความเป็นอิสระในการดำเนินการน้อยกว่าศาลคงไม่ต้องถูกนำมาชั่ง ตวง วัด ถึงความน่าเชื่อถือดังกล่าวเลย ภาพเหตุการณ์ของการเดินขบวนเพื่อไปกดดันศาลในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนั้นไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นอีกเยี่ยงอดีต ทุกคนจึงควรหันมาให้ความเคารพในการตัดสินของศาลอันถือเป็นองค์กรที่เป็นกลางมากที่สุดและได้ตัดสินไปบนพื้นฐานทางตัวบทกฎหมายแม้ว่าต้องมีฝ่ายหนึ่งที่จะต้องไม่พึงพอใจกับคำวินิจฉัยดังกล่าวก็ตาม
       เพราะการพิจารณาคดีของศาลก็คงจะไม่ผิดแผกแตกต่างกับกรรมการผู้ตัดสินในกีฬาประเภทต่างๆ ซักเท่าไรนัก ศาลก็เปรียบเสมือนได้กับกรรมการผู้เป็นคนกลางในการตัดสินว่านักกีฬาฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะ ซึ่งสุดท้ายแล้วนักกีฬาก็ต้องเคารพในการตัดสินของกรรมการแม้ตนเองจะไม่พึงพอใจในคำตัดสินบ้างก็ตามอันเป็นปกติวิสัย แท้ที่จริงแล้วเป็นการไม่ผิดหากทุกคนจะคิดวิตกกังวลไปก่อนเนื่องจากทุกคนนั้นประสบกับเหตุการณ์อันไม่ค่อยจะสู้ดีนักจากอดีตที่ผ่านมา
       แต่ความคิดดังกล่าวก็ควรจะมีขอบเขตจำกัดคือ ไม่มากจนเกินไปนัก เพราะความไม่เชื่อมั่นดังกล่าวมิอาจทำให้เกิดความมีเสถียรภาพในทางการเมืองการปกครองได้เลย หากเกิดบรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบต่างๆ ตามมาเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเศรษฐกิจของประเทศอันมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับสภาวะทางการเมือง ณ. เวลานั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าภาคการเมืองไม่มีความแน่นอน จนกระทั่งประชาชนชาวไทยไม่เชื่อมั่นในระบบการเมืองการปกครองของประเทศตน ชาวต่างชาติรวมถึงชาวไทยเองที่เป็นนักธุรกิจก็ไม่มีความมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าหากทุกคนยังคงมีมุมมองในทางการเมืองแบบเดิมๆ อาจส่งผลกระทบต่อประเทศชาติมากเพียงใด
       จากปัญหาและข้อคิดบางประการตามที่ได้ถูกหยิบยกมากล่าวในข้างต้นนั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานหรือเป็นเรื่องเบื้องต้นซึ่งไม่น่ามีความสำคัญมากซักเท่าใด แต่ความคิดพื้นฐานและเป็นเรื่องเบื้องต้นนี้กลับถูกละเลยไป ผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเองก็ดี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเองก็ดี รวมตลอดถึงประชาชนเองก็ดี หาได้มีการตระหนักอย่างเพียงพอไม่ แม้ทุกๆ ท่านจะมีเจตนาอันดีต่อประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แต่การละเลยเพิกเฉยต่อหลักการพื้นฐาน อาทิเช่น ทัศนคติต่างๆ เป็นต้น อาจนำมาซึ่งผลกระทบต่างๆ มากมายอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
       ณ. ปัจจุบันจึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่ทุกคนจะได้ปรับเปลี่ยนมุมมองของตนเองต่อรัฐธรรมนูญและต่อการเมืองการปกครองเสียใหม่ ทั้งนี้ เพื่อประเทศไทยจะได้มีรัฐธรรมนูญอันสมบูรณ์ซึ่งวางโครงสร้างระบบการเมืองการปกครองของประเทศในองค์รวมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพอันนำมาซึ่งความพัฒนาและการเจริญก้าวหน้าต่อไป
       

...........................................................................................


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544