ความไม่รู้เรื่องการเลือกตั้งของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง |
|
|
|
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย |
|
|
|
|
|
|
|
|
แน่นอนว่าการเลือกตั้งมิใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย เพราะในประเทศเผด็จการก็มี การเลือกตั้งเช่นกัน แต่ว่าเป็นการเลือกตั้งแบบบังคับเลือกหรือเป็นแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น แต่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน(representative democracy) การเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งเป็นวิธีการคัดสรรคนเพื่อเข้ามาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแทนประชาชนทั้งประเทศ
จากการที่ได้มีข้อสรุปของคณะอนุกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญออกมาบางส่วนบ้างแล้ว นั้น โดยรวมแล้วผมไม่ติดใจอะไรเพราะเป็นเรื่องของรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งก็ต้องลองผิดลองถูกกันไปจนกว่าจะมีการแก้ไขหรือมีใครมาฉีกทิ้งอีก แต่มีประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผมติดใจเพราะดูเหมือนว่าจะแสดงให้เห็นถึงความไม่รู้(เรื่อง)เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานหรือหัวใจของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของผู้ยกร่าง ซึ่งก็คือประเด็นที่เสนอเกี่ยวกับการกำหนดเขตเลือกตั้งว่าให้มีเขตละสามคน แต่ผู้มีสิทธิเลือกได้เพียงคนเดียว ที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่ข้อยุติสุดท้ายก็ตาม แต่ผมเกรงว่าจะเตลิดเปิดเปิงเข้ารกเข้าพงไปมากกว่านี้
หลักการพื้นฐานหรือหัวใจของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
๑) เป็นการทั่วไป(in general) หมายความว่าบุคคลที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นบุคคลทั่วไปที่มีอายุเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโดยทั่วไปก็ ๑๘ ปีหรือ ๒๐ปีบริบูรณ์แล้วแต่จะกำหนด แต่ต้องไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคนชนชั้นใด เพศใด หรือมีฐานะทางการเงินอย่างไร ทั้งนี้ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของทุกคน ไม่เพียงแต่เฉพาะคนบางกลุ่มบางพวกดังเช่นอเมริกาในยุคแรกๆสิทธิเลือกตั้งจำกัดเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ต่อมาจึงขยายไปถึงสตรีและคนดำด้วย
๒) เป็นอิสระ(free voting) หมายความว่าในการเลือกตั้งนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเลือกตัวแทนของตน ไม่ได้ถูกขู่บังคับ กดดัน ชักจูง หรือได้รับอิทธิพลใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจากเจ้าพ่อ เจ้าแม่ หรือผู้มีบารมีต่างๆทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ
๓) มีระยะเวลาที่แน่นอน(periodic election) การเลือกตั้งจะต้องมีการกำหนดว่า การเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้งจะได้ผู้แทนเป็นระยะเวลากี่ปี อาจจะ ๔ ปีหรือ ๖ ปีก็แล้วแต่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
๔) เป็นการลงคะแนนลับ(secret voting) เพื่อให้ผู้ที่เลือกตั้งสามารถเลือกบุคคลที่ตนต้องการเข้าไปเป็นตัวแทนของตนได้อย่างมีอิสระ ไม่ต้องเกรงใจใคร หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร ในการเลือกตั้งทุกครั้งจึงต้องกำหนดให้แต่ละคนสามารถเข้าไปในคูหาเลือกตั้งได้ครั้งละ ๑ คนเท่านั้น และไม่จำเป็นจะต้องบอกผู้อื่นหรือแม้แต่ศาลว่าตนเองเลือกใคร ตัวอย่างของการเลือกตั้ง ๒ เม.ย.๔๙ ที่ผ่านมาที่ถูกยกเลิกไปเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งที่การลงคะแนนไม่เป็นความลับเพราะจัดคูหาให้ผู้ใช้สิทธิหันหลังออก ทำให้บุคคลภายนอกอาจล่วงรู้ว่าเลือกใครหรือไม่เลือกใคร หรือแม้กระทั่งการกาช่องไม่ลงคะแนนที่อยู่ล่างสุดของใบลงคะแนน เป็นต้น
๕) มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม(fair election) ต้องมีการดูแลการเลือกตั้งไม่ให้มีการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสิทธิ ขายเสียง หรือใช้วิธีการใดใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
๖) หนึ่งคน หนึ่งเสียง(one man one vote) ผู้ที่เลือกตั้งทุกคนมีสิทธิในการออกเสียงได้เพียง ๑ เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไรหรือมีบทบาทในบ้านเมืองเช่นไร ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา หรือองคมนตรีก็ย่อมมีสิทธิออกเสียงได้ ๑ เสียงเท่ากัน และคนกรุงเทพฯหรือคนแม่ฮ่องสอนก็ย่อมมีสิทธิออกเสียงได้คนละ ๑ เสียงเท่ากัน เช่นกัน
แต่จากข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการฯที่เสนอให้มีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ โดยให้ใช้เขตเลือกตั้งที่มีพื้นใหญ่ขึ้นและมีจำนวนผู้แทนได้ ๓ คน แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้เพียง ๑ คนเท่านั้น โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเหมือนระบบเดิมที่ให้มีเขตการเลือกตั้งเขตละ ๑ คน ซึ่งมีการทุ่มเงินและแข่งขันทางการเมืองสูงทำให้พรรคเล็กๆเสียเปรียบ โดยเชื่อว่าหากเป็นเขตใหญ่แล้วจะทำให้พรรคที่ทุ่มซื้อเสียงเห็นว่าไม่คุ้มค่า จะทำให้พรรคเล็กๆมีโอกาสและมีความเป็นธรรมในการเลือกตั้งยิ่งขึ้น นั้น
เมื่อพิจารณาถึงข้อเสนอดังกล่าวแล้วนอกจากจะไม่ชอบด้วยหลักการพื้นฐานหรือหัวใจของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการมุ่งทำลายระบบพรรคการเมืองซึ่งเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาลอย่างรุนแรงอีกด้วย เพราะคงจะมีการต่อสู้หักหลังทิ่มแทงในพรรคเดียวกันเองอย่างแน่นอน และในจังหวัดเล็กๆเช่น ระนองหรือแม่ฮ่องสอนที่มีผู้แทนเพียง ๑ ๒ คนจะทำอย่างไร คงไม่ต้องไปผนวกรวมเข้ากับจังหวัดข้างเคียงเพื่อให้ได้ผู้แทน ๓ คนกระนั้นหรือ
แล้วหากมีการผนวกรวมกับจังหวัดข้างเคียง เวลากล่าวอ้างความเป็นผู้แทนจะกล่าวอ้างความเป็นผู้แทนของจังหวัดใด และหากไม่ผนวกรวมจังหวัดอื่นเล่าก็ย่อมทำให้ประชาชนในจังหวัดใหญ่มีผู้แทนในเขตของตนเองได้ถึง ๓ คน แต่จังหวัดเล็กมีได้เพียง ๑ หรือ ๒ คน แทนที่จะมีผู้แทนได้เขตละ ๑ คนเท่าเทียมกันหมดทั้งประเทศเช่นเดิม ซึ่งก็ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติเสมือนหนึ่งว่าเป็นพลเมืองชั้น๑ หรือพลเมืองชั้น ๒ ชั้น ๓ ไปเสีย ทั้งๆที่เป็นคนไทยเหมือนกัน
เหตุหนึ่งที่การร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังทำๆกันอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ ก็เพราะเป็นผลมาจากการทำรัฐประหาร ดังแนวคิดทางกฎหมายที่ว่าดอกผลที่มาจากต้นไม้ที่เป็นพิษ(fruit of the poisonous tree)ย่อมเป็นพิษเสมอฉันใด รัฐธรรมนูญที่มาจากผลผลิตของการรัฐประหารย่อมไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ก็ฉันนั้น และส่อเค้าว่าจะแท้งเอาเสียง่ายๆก็เพราะเหตุว่าที่มาที่ไปของผู้ร่างและวิธีการคัดสรรที่ดูพิลึกพิลั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำเพาะเจาะจงกีดกันผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง(กว่า ๒๐ ล้านคน)ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่ให้มีสิทธิเป็น ผู้ร่างด้วย ก็ยิ่งทำให้เห็นได้ว่า คนใช้ไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้ใช้
และการร่างรัฐธรรมนูญที่มี นักวิชาการขุนนาง(bureaucratic technocrat) เป็นหลัก ก็ย่อมที่จะร่างออกมาเพื่อสนองตัณหาทางวิชาการและสนองชนชั้นของตนเองเท่านั้น จึงเปรียบเสมือน ช่างตัดผม(ขอยืมคำจาก ม.เที่ยงคืนหน่อยนะครับ)ที่ตัดตามใจตนเองโดยไม่ถามความเห็นของเจ้าตัวเลยว่าต้องการอย่างไร
อันที่จริงช่างตัดผมก็ต้องตัดตามใจเจ้าของศีรษะใช่ไหมครับ จะมาอ้างว่าประชาชนยังโง่อยู่ต้องให้ อภิชนเป็นคนจัดการให้นั้นตกยุคไปแล้วครับ เพราะประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะเลือกตัวแทนของเขาเองอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะโง่หรือฉลาดก็ตาม
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|