ศาลรัฐธรรมนูญ ในประเทศไทย สมควรมีอยู่หรือไม่ โดย คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ |
|
|
|
คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 5 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ |
|
|
|
|
|
|
|
|
1.ความเป็นมาและสภาพของปัญหา
ต้องกล่าวก่อนว่า ต้นเหตุของการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 สาเหตุส่วนหนึ่งอันเป็นรากฐาน และอยู่ในจิตสำนึกของประชาชนกลุ่มหนึ่ง นั่นคือการที่รัฐใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และองค์กรอิสระไม่มีประสิทธิภาพ โดยเห็นได้จากผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 20/ 2544 1 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ตุลาการเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิด ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จากปัจจัยดังกล่าวเป็นต้นมาความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระนี้ เริ่มมีมากขึ้น ประกอบกับประเด็นโต้แย้ง ต่างๆ อาทิเช่น
1. การแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในยุคเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยมีเหตุการณ์ที่สำคัญในช่วงที่ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ว่างลงหนึ่งตำแหน่ง และคณะกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 2 คน เพื่อให้วุฒิสภาเลือก นั่นคือ ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล นิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นิติศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงบอร์น ประเทศเยอรมัน และนายศักดิ์ เตชาชาญ 2 ซึ่งมีวุฒิกฎหมายชั้นปริญญาตรีเท่านั้นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลปรากฏว่าผู้ที่ได้ คือ นายศักดิ์ เตชาชาญ จากผลดังกล่าว ก็ให้เกิดเสียงวิจารณ์ในเรื่องมาตรฐานในการวัดของวุฒิสภา และตัวตุลาการขององค์กรนี้ เป็นอย่างมาก
2. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอง ไม่ว่าจะเป็นคดีซุกหุ้น 20/2544 คำวินิจฉัยคดีคุณหญิงจารุวรรณ ฯ ที่มีข้อโต้แย้งในทางวิชาการเรื่องสภาพบังคับ หรือแม้กระทั่งล่าสุด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 9/2549 เกี่ยวกับคดีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เอง ที่แม้จะถูกใจสำหรับประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อมองในแง่มุมของหลักวิชาการทางกฎหมายแล้ว กลับเห็นถึงความไร้เดียงสา ในข้อกฎหมาย และเหตุผลอันเป็นหลักการทางมหาชน
3.กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนผู้แทนจากพรรคการเมือง ก็เป็นข้อถกเถียงหนึ่ง ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาหรือเปล่า
4.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็มิได้มีระบบระเบียบแบบแผน อันถูกต้องตามหลักวิชาการ อันขาดการเชื่อมโยงหรือตรวจสอบจากประชาชน การสร้างระเบียบก็เป็นเพียงความเห็นชอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพียงเท่านั้น โดยมิได้ผ่านการตราโดยรัฐสภา อันเป็นผู้แทนของปวงชนแต่อย่างใด
5. บุคลากรในหน่วยงานธุรการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เองก็มีข้อโต้แย้งในเรื่องความเชี่ยวชาญ วิชาการ คุณวุฒิ รวมถึงงบประมาณต่าง ๆ ที่ทางสำนักงาน ฯ นำไปบริหาร
จากเหตุต่างๆ เหล่านี้ จึงเกิดคำถามมากมาย ภายหลังการรัฐประหาร ว่าศาลรัฐธรรมนูญ สมควรมีอยู่หรือไม่
โดยเฉพาะขั้นตอนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ได้มีการโยนหินถามทาง จากคณะอนุกรรมการ เป็น 3 ข้อ ผ่านสื่อ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ นั่นคือ
1.ศาลรัฐธรรมนูญ สมควรมีอยู่หรือไม่
2.ถ้ามี สมควรอยู่ในรูปแบบไหน กล่าวคือ จะใช้ลักษณะเป็นองค์คณะตุลาการ หรือ คงไว้เป็นศาลอย่างเดิม หรือ นำไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม และสุดท้าย
3.อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ควรเป็นเช่นไร
จากคำถาม ดังกล่าว ผู้เขียน จึงขอเสนอบทความ ชิ้นนี้ เป็นปฐมบทแรกในการตอบโจทก์ในข้อที่ 1 ส่วนข้อที่ 2 ที่ 3 บทความของผู้เขียนจะนำเสนอในภายหลัง
2. ประวัติความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญไทย 3
ในอดีตก่อนปี พ.ศ.2489 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ากรณี ที่บทบัญญัติของกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จะให้องค์กรใดทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่า กฎหมายนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ประการใด
จนกระทั่งปี พ.ศ.2488 หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ได้มีการตรา พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ขึ้นเพื่อลงโทษแก่ผู้ที่ได้กระทำการตามกฎหมายนี้ถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำไปก่อนหรือหลังจากที่กฎหมายนี้ใช้บังคับก็ตาม ต่อมาเมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ศาลฎีกาได้พิจารณาโดยให้เหตุผลว่าศาลฎีกามีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่า กฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยให้เหตุผลว่า ศาลเป็นองค์กรที่ใช้กฎหมายจึงต้องรู้ว่ากฎหมายนั้นใช้บังคับได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถที่จะตีความได้ว่ากฎหมายใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ตรากฎหมายขึ้นเอง ส่วนฝ่ายบริหารก็ไม่อำนาจเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ศาลฎีกา จึงได้พิพากษาว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ.2488 ที่ตราขึ้นนั้นเป็นการบังคับใช้กฎหมายอาญาในลักษณะที่มีผลย้อนหลัง เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้
จากแนวคำพิพากษาฎีกาในคดีดังกล่าว ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันต่อมาว่า องค์กรใดควรจะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งในขณะนั้นฝ่ายนิติบัญญัติเอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ได้ให้อำนาจตนในการตีความ ดังนั้น การวินิจฉัยจึงควรเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยุติข้อขัดแย้งในประเด็นปัญหาดังกล่าวระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงได้กำหนดองค์กรขึ้นใหม่เรียกว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น ศาลรัฐธรรมนูญ และปัจจุบันภายหลังการรัฐประหาร ก็เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบเดิมอีก นั่นคือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549
2.1 เหตุที่ต้องมีองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ
2.1.1 เพื่อป้องกันมิให้มีการตรากฎหมายที่อาจไปละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม
2.1.2 เพื่อรักษาดุลยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มิให้ใช้อำนาจหน้าที่ไปเหลื่อมล้ำหรือขัดแย้งกัน
2.1.3 เพื่อพิทักษ์ปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศไว้ ไม่ให้กฎหมายอื่นใด มาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
3. ประวัติความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส 5
เดิมประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ไม่มีระบบศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลว่า เนื่องจากกฎหมาย ถือเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนาร่วมกันของปวงชน ดังนั้น จึงไม่สามารถควบคุมกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยผู้แทนปวงชนได้ ซึ่งต่อมาแนวคิดดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากแนวคิดของนักการเมืองชื่อดังคนหนึ่งในขณะนั้น คือ Emmanuel Joseph SIEYES ซึ่งก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1958 อันเป็นฉบับปัจจุบัน โดยได้จัดตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขึ้นเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายบางประเภท คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่งในระบบการเมืองการปกครองของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน
3.1 เหตุที่ต้องมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
3.1.1 ควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่เฉพาะก่อนที่จะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย เท่านั้น
3.1.2 ตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ
3.1.3 ตรวจสอบความถูกต้องของการลงคะแนนเสียงประชามติ
3.1.4 ตรวจสอบความถูกต้องของการเลือกตั้งประธานาธิบดี และอื่น ๆ
4. ประวัติความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเยอรมัน 7
จุดเด่นประการหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ของเยอรมัน คือ มาจากการศึกษาประสบการณ์อันผิดพลาดในการจัดโครงสร้างของรัฐของยุคที่ผ่าน ๆมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญไวมาร์ (ค.ศ. 1919) อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ฮิตเลอร์ใช้บันไดไปสู่อำนาจเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จ
ในยุคเริ่มต้น มีที่มาจากบทความ ของ Wagner ชาวเยอรมัน ที่ได้เสนอแนวคิด เรื่อง การเกิดขึ้นการจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
มาในยุคกลาง อำนาจของศาลมักจะมีความขัดแย้งกับผู้ใช้อำนาจปกครอง หลังจากนั้นมองเตสกิเออ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ จากแนวคิดดังกล่าวของมองเตสกิเออ ได้ก่อให้เกิดการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1819 ต่อมาจึงเกิดพัฒนาการตามรัฐธรรมนูญ แต่ละฉบับ ตั้งแต่ ปี 1849 , 1871 รัฐธรรมนูญไวมาร์ ค.ศ.1919 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ค.ศ.1949
4.1 เหตุที่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ
4.1.1 ตรวจสอบการเลือกตั้ง
4.1.2 การควบคุมความชอบด้วยกฎหมายแบบนามธรรม
4.1.3 คดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง
4.1.4 ข้อพิพาทตามกฎหมายมหาชน และอื่น ๆ
5. บทวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ
เมื่อได้ศึกษาพัฒนาการ(Development) ของประเทศไทยเอง และของต่างประเทศซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพบว่าแต่ละประเทศต่างมีวิวัฒนาการ และการต่อสู้ที่ยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์กร ที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยต่างมีอำนาจหน้าที่ ที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ประสบการณ์และจุดบกพร่องของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ บางประเทศยังพัฒนาไปจนถึงให้สิทธิประชาชน ที่จะยื่นคดีโดยตรง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้
ดังนั้น หากในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่กำลังร่างขึ้น ยังมีการบัญญัติในเรื่อง
- สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ของประชาชน
- องค์กรตรวจสอบ หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ
- พรรคการเมือง , การตราพระราชบัญญัติ หรือ ข้อบังคับ ต่าง ๆ
- หรือมาตรา อื่นๆ ที่บัญญัติรับรองสิทธิต่าง ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ
การพิจารณาว่ากฎหมายอื่นใดจะมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการคุ้มครอง สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนก็ย่อมต้องได้รับคุ้มครอง และยิ่งกระแส Human rights มีมากขึ้นเท่าไร การกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น ความจำเป็นในการมีศาล ที่วินิจฉัยชี้ขาดเป็นการเฉพาะย่อมมีความสำคัญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองและโต้แย้งได้อย่างแท้จริง ส่วนการที่องค์กรวินิจฉัย จะอยู่ในรูปแบบใด เป็นสิ่งที่ผู้เขียนจะเสนอเป็นแนวทางในบทความชิ้นต่อไป
การที่จะก้าว ถอยหลัง โดยไม่มีการตั้งองค์กรใด มาทำในการวินิจฉัย เพียงเพราะขาดตุลาการที่เป็นกลาง คงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด และขาดซึ่งความเข้าใจในรัฐธรรมนูญ และรากฐานกฎหมายมหาชน และคงเป็นเรื่องน่าตลกอย่างยิ่ง หากประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ เพียงเพราะกลัวว่าจะได้ตุลาการที่ไม่เป็นกลางมาวินิจฉัยคดี
ผู้เขียน จึงขอสรุปสั้นๆ ง่าย ๆว่า ตราบใดที่ ช้อน ยังคู่กับ ส้อม ครก ยังคู่กับ สาก ผู้ชาย ยังคู่กับ ผู้หญิง ตราบนั้น รัฐธรรมนูญ ย่อมต้องคู่กับ ศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ร่ำไป มิฉะนั้น แล้วคำกล่าวที่ คณะรัฐประหาร ให้ต่อประชาชนว่า ก้าวถอยหลังมาตั้งหลัก แล้วเดินต่อไปอย่างมั่นคง จะกลายเป็นก้าวถอยหลัง แล้วไม่หันกลับมามอง วิถีทางในระบอบประชาธิปไตย.......... อีกเลย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|