รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 มาตรา 26 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้จัดทำคำชี้แจงไปยังองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น แตกต่างจากฉบับ 2540 อย่างไร จุดนี้หมายถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะนำเอาฉบับ 2540 เป็นหลักในการแก้ไขจุดบกพร่องในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าข้อบกพร่องประการหนึ่งที่ควรจะได้รับการแก้ไขคือ ปัญหาเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลปกครองซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปนี้
1. อำนาจศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
อำนาจศาลปกครองนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 276 โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่าง หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือ ในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่ง เป็นข้อพิพาท อันเนื่องมาจากการกระทำ หรือ การละเว้นการกระทำ ที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือ เนื่องจากการกระทำ หรือ การละเว้นการกระทำ ที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ต่อมา พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้กำหนดเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครองไว้ในมาตรา 42 ว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือ เสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้น การกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ....ผู้นั้นมีสิทธิ ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
นอกจากนี้ในมาตรา 3 ยังได้ให้คำนิยามของคำว่าหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนี้
หน่วยงานทางปกครอง หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราช กฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงาน ที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง
เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายความว่า
(1) ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานใน หน่วยงานทางปกครอง
(2) คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท คณะกรรมการหรือบุคคลซึ่งมี กฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทำต่อบุคคล และ
(3) บุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทาง ปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม (1) หรือ (2)
ข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งคือ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 276 นั้น ใช้ถ้อยคำว่า หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือ ในกำกับดูแลของรัฐบาล จนกระทั่งศาล รัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 24/2543 โดยได้กล่าวถึงอำนาจของศาลปกครองสรุปได้ว่า ...รัฐธรรมนูญมาตรา 276 วรรคหนึ่ง...เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลปกครองในการพิจารณาวินิจฉัย ความชอบด้วยกฎหมาย ของการกระทำของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลเท่านั้น 1
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้เอง ส่งผลกระทบที่สำคัญคือ ทำให้คดีปกครองถูกควบคุมภายใต้ 2 ระบบศาล กล่าวคือ คดีปกครองที่คู่กรณีเป็นฝ่ายปกครองที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลจะอยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยศาลปกครอง แต่คดีปกครองที่คู่กรณีเป็นฝ่ายปกครองที่มิได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของ รัฐบาลจะไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองแต่จะถูกตรวจสอบโดยศาลยุติธรรมในฐานะที่เป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป ซึ่งย่อมเป็นเรื่องประหลาดที่คดีประเภทเดียวกันแต่กลับถูกตรวจสอบภายใต้ระบบศาลที่แตกต่างกัน ทั้งนิติวิธี แนวความคิดปรัชญา และวิธีพิจารณาที่แตกต่างกัน สภาพการณ์เช่นนี้สมควรที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เกิดระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานและหลักเกณฑ์เดียวกัน และไม่ให้เกิดผลประหลาดที่ไม่ปรากฏที่ไหนในโลก ที่คดีประเภทเดียวกันแต่มีมาตฐานหรือระบบตรวจสอบภายใต้ระบบศาลที่แตกต่างกัน
2. ข้อพิจารณาเกี่ยวกับฝ่ายปกครอง
ศาลปกครองเป็นองค์กรตุลาการ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีหน้าที่ภารกิจหลักในการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของฝ่ายปกครอง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องกล่าวถึงคำว่าฝ่ายปกครองในเบื้องต้นเสียก่อน เพื่อจะได้ทราบว่าองค์กรใด คือฝ่ายปกครองที่ควรถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลปกครองได้
หากพิจารณาตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ที่ได้แยกองค์กรผู้ใช้อำนาจออกเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งได้แก่ รัฐสภา , องค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งได้แก่ ศาลทั้งหลาย , องค์กรผู้ใช้อำนาจบริหาร ซึ่งได้แก่รัฐบาล และฝ่ายปกครอง จึงอาจกล่าวได้ว่าฝ่ายปกครองนั้นคือส่วนหนึ่งขององค์กรผู้ใช้อำนาจบริการนั่นเอง ในทางกฎหมายปกครองนั้น จึงมักเรียกหน่วยงานทางปกครองและเจ้าที่ของรัฐ รวมๆ กันว่า ฝ่ายปกครอง 2 ศ.ดร.ประยูร กาญจนดุล ได้ให้ความหมายของฝ่ายปกครอง (Administration) ว่าหมายความถึง หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งปวงมีอำนาจหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะอันมีลักษณะเป็นราชการบริหาร กล่าวคือ หมายความถึง หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม และทบวงการเมืองส่วนกลางทั้งหมด รวมทั้งจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน อันเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตลอดจนเทศบาลสุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นๆ อันเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 3 ซึ่งองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาลทั้งสิ้น
แต่หากให้ความหมายของฝ่ายปกครองว่ามีเพียงเท่าที่กล่าวข้างต้น ก็คงจะอธิบายไม่ได้ว่า องค์กรเอกชนอื่นที่ได้ใช้อำนาจทางปกครอง หรือจัดทำบริการสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น องค์กรเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสถานตรวจสภาพรถซึ่งมีอำนาจออกใบรับรองตรวจสภาพรถ , สภาหอการค้าผู้มีอำนาจออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า เป็นต้น องค์กรที่มีลักษณะเช่นนี้ องค์กรเหล่านี้จะถือว่าเป็นฝ่ายปกครองหรือไม่
ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงมีแนวคิดในการพิจารณาว่าฝ่ายปกครองได้แก่ใครบ้าง มีอยู่ 2 แนวทาง 4
1.พิจารณาจากตัวองค์กร (Organization) คือ ดูว่าองค์กรนั้นเป็นส่วนราชการหรือไม่ถ้าหากเป็นส่วนราชการก็ถือว่าเป็นฝ่ายปกครอง
2. พิจารณาในแง่หน้าที่ (Function) คือ พิจารณาว่าองค์กรนั้นได้กระทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะและใช้อำนาจมหาชนของรัฐหรือไม่ ถ้าหากว่าองค์กรนั้นทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะ และใช้อำนาจทางมหาชนของรัฐก็ถือแล้วว่าองค์นั้นเป็นฝ่ายปกครอง โดยไม่ต้องคำนึงว่าองค์กรนั้นจะเป็นส่วนราชการ หรือจะเป็นเอกชนก็ตาม
ดังนั้น หากยึดหลักที่ว่าฝ่ายปกครองคือ ส่วนราชการแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะอธิบายว่าการกระทำขององค์กรเอกชนที่ให้บริการสาธารณูปโภค ตลอดจนองค์กรเอกชนที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายปกครองให้ใช้อำนาจปกครองแทน จะเป็นฝ่ายปกครองหรือไม่ ดังนั้น น่าจะถือหลักในการพิจารณาว่าองค์กรใดที่ให้บริการสาธารณะและใช้อำนาจมหาชน องค์กรนั้นก็เป็นฝ่ายปกครอง
สำหรับในประเทศไทย ภายหลังจากการปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่หลายองค์กร เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน , ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นต้น หรือที่เรียกองค์กรเหล่านี้ว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาโดยถ่องแท้แล้วจะพบว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ ก็เป็นองค์กรที่อยู่ในส่วนขององค์กรผู้ใช้อำนาจบริหาร ทั้งนี้ เพราะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา อีกทั้ง มิได้เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลเท่านั้น จากเหตุผลนี้เอง จึงอาจกล่าวได้ว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็คือองค์กรหนึ่งที่อยู่ในส่วนของอำนาจบริหาร นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรผู้ใช้อำนาจบริหาร แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของ รัฐบาลแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการที่จะให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนี้ สามารถที่จะปฏิบัติภาระกิจของตนได้อย่างมีอิสระในการตรวจสอบองค์กรทั้งหลายของรัฐ นอกจากนี้หน่วยงานธุรการของศาลต่างๆ และหน่วยธุรการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งหลายย่อมอยู่ในความหมายของฝ่ายปกครองทั้งสิ้น แต่เป็นฝ่ายปกครองที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล จึงอาจให้ความหมายของฝ่ายปกครอง ตามความหมายสมัยใหม่ว่า หมายถึง หน่วยงานของรัฐฝ่ายบริหาร องค์กรของรัฐฝ่ายปกครอง องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ หน่วยงานอิสระของรัฐ และองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดของหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ 5
เพราะฉะนั้นจึงอาจสรุปฝ่ายปกครองโดยแยกออกได้เป็นสามกลุ่มคือ
1.) ฝ่ายปกครองที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล อันได้แก่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรวิชาชีพ และบรรดาองค์การมหาชนทั้งหลาย
2.) ฝ่ายปกครองที่มิได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล อันได้แก่บรรดาหน่วยงานธุรการขององค์กรตุลาการทั้งหลาย หน่วยงานธุรการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานธุรการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
3.) ฝ่ายปกครองในแง่ของการทำภารกิจทางปกครอง หรือใช้อำนาจทางปกครอง หรือจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งฝ่ายปกครองในกรณีนี้เป็นองค์กรซึ่งอาจกระทำการทางปกครองได้ องค์กรลักษณะนี้จึงเป็นองค์กรฝ่ายปกครองในแง่ของการทำภารกิจในทาง ปกครอง เช่นกรณีของคณะกรรมการตุลาการ ,รัฐบาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น 6 หรือแม้กระทั่งองค์กรเอกชนต่างๆ ที่ได้รับมอบอำนาจให้ใช้อำนาจในทางปกครอง เช่น สภาหอการค้าไทย ,สถานตรวจสภาพรถเอกชน เป็นต้น
3. อำนาจศาลปกครองที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น เกี่ยวกับอำนาจศาลปกครองที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 276 โดยใช้ถ้อยคำว่า ให้ศาลปกครองมีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดี ที่เป็น ข้อพิพาท ระหว่าง หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ใน บังคับบัญชา หรือ ในกำกับดูแล ของรัฐบาล จนเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 24/2543 ใจความตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 276 วรรคหนึ่ง...เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลปกครองในการพิจารณาวินิจฉัย ความชอบด้วยกฎหมาย ของการกระทำของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลเท่านั้น
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ส่งผลให้ฝ่ายปกครองที่มิได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาล อันได้แก่บรรดาหน่วยงานธุรการขององค์กรตุลาการทั้งหลาย หน่วยงานธุรการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานธุรการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งฝ่ายปกครองในแง่ของการทำภารกิจทางปกครอง ไม่อยู่ในการควบคุมของศาลปกครอง แม้ว่าในตอนท้ายของมาตรา 276 จะบัญญัติว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ก็ได้มีความเห็นของนักกฎหมายส่วนหนึ่งเห็นว่า เขตอำนาจศาลปกรองตามมาตรา 276 นั้นเป็นแต่เพียงมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น การที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติกำหนดเขตอำนาจศาลปกครองเพิ่มเติมจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้ ดังที่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในลักษณะที่มีความหมายกว้างกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นในอีกด้านหนึ่งว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลูกนั้น ไม่สามารถที่จะกำหนดขอบเขตอำนาจของศาลปกครองเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ ซึ่งไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนคงจะไม่ขอกล่าวในรายละเอียด แต่ความเห็นของ นักกฎหมายทั้งสองฝ่ายเหล่านี้ รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543 ก็อาจจะเป็นผลพวงหนึ่งของการบัญญัติเขตอำนาจของศาลปกครองที่ไม่ชัดเจนเพียงพอ จึงทำให้สามารถที่จะตีความไปได้ในหลายทางและทำให้เกิดการโต้แย้งในทางความคิดได้
เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ ควรจะกำหนดเขตอำนาจศาลปกครองให้มีความชัดเจน และครอบคลุมถึงฝ่ายปกครองอื่น ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ เพราะ ในปัจจุบันความหมายของคำว่าฝ่ายปกครองนั้น ไม่ได้มีความหมายแคบพียงแต่เฉพาะหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงฝ่ายปกครองที่มิได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐบาลด้วย เช่น หน่วยงานธุรการขององค์กรตุลาการทั้งหลาย หน่วยงานธุรการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น รวมถึงฝ่ายปกครองในแง่ของการทำภารกิจทางปกครอง หรือใช้อำนาจทางปกครอง หรือจัดทำบริการสาธารณะ เช่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ดังนั้นเนื้อหาสาระของการกำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง ที่ควรจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับหลังการรัฐประหาร นั้นควรจะเป็นดังนี้
ศาลปกครอง
มาตรา......ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ หน่วยงานอิสระของรัฐ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง หรือบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม กับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ หน่วยงานอิสระของรัฐ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง หรือบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม ด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ หน่วยงานอิสระของรัฐ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนิน กิจการทางปกครอง หรือบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ หน่วยงานอิสระของรัฐ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง หรือบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในท้ายที่สุดผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลปกครองจะเป็นองค์กรที่เป็นหลักประกันความยุติธรรมและคุ้มครองประชาชนจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมจากฝ่ายปกครอง และเป็นองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็งที่คอยควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง เพื่อให้สมกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมา และเมื่อได้มีการแก้ไขถ้อยคำในรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลปกครองตามที่ผู้เขียนได้เสนอข้างต้นแล้ว ปัญหาการตีความ รัฐธรรมนูญแบบศรีธนญชัย และไม่ตรงตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงนั้น คงจะบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้างจากสังคมไทย
---------------------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
1.โปรดดู คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543.
2.โภคิน พลกุล , สาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง , (ไม่ปรากฎสถานที่และปีที่พิมพ์) , น.39.
3.ประยูร กาญจนดุล , คำบรรยายกฎหมายปกครอง, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533) , น. 37.
4.ไผทชิต เอกจริยกร, เอกสิทธิและความคุ้มครองของฝ่ายปกครองในประเทศไทย, (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2526 ) , น. 8 9.
5.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ , การกระทำทางปกรอง รวมบทความวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ,สมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทย , กรุงเทพ 2545, หน้า 145. อ้างถึงใน บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฝ่ายปกครอง ,(กรุงเทพฯ:วิญญูชน , 2548) ,หน้า 17.
6.บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมฝ่ายปกครอง ,(กรุงเทพฯ:วิญญูชน , 2548) ,หน้า 18.
|