หน้าแรก บทความสาระ
องค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายของไทย โดย คุณบุญเสริม นาคสาร
คุณบุญเสริม นาคสาร เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๗ว รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยและพัฒนารัฐธรรมนูญ สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
26 พฤศจิกายน 2549 22:57 น.
 
บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหา ๖ ส่วน ดังนี้ (๑) ความเป็นมาขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (๒) องค์ประกอบขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (๓) อำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (๔) อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ (๕) อำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ และ (๖) บทส่งท้าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
       
       ๑. ความเป็นมาขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ไม่ได้มีบทบัญญัติอย่างชัดเจนว่าในกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้วจะให้องค์กรใดทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพียงแต่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๒ ว่า “ท่านว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้” เท่านั้น
       
       ความจำเป็นที่ต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นผลมาจากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ยินยอมให้ให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยเพื่อเข้าโจมตีมาเลเซีย สิงคโปร์และพม่า และเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา หลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘ เพื่อลงโทษแก่ผู้กระทำการตามที่กฎหมายนี้ถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำก่อนหรือหลังกฎหมายนี้ใช้บังคับก็ตาม 1 ต่อมาเมื่อมีการจับกุมบุคคลดำเนินการฟ้องดคี โดยศาลฎีกาได้ตัดสินตามคำพิพากษาที่ ๑/๒๔๘๙ ว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘ เฉพาะที่ลงโทษการกระทำก่อนวันใช้กฎหมายนี้เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังจึงขัดกับรัฐธรรมนูญ และเป็นโมฆะ ศาลฎีกาได้ยืนยันถึงอำนาจของตนในการพิพากษาว่ากฎหมายของรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญได้โดยให้เหตุผลว่า
       (๑) ศาลเป็นผู้ใช้กฎหมาย ฉะนั้น การดูว่าอะไรเป็นกฎหมายหรือเป็นกฎหมายที่ใช้ได้หรือไม่ย่อมเป็นอำนาจของศาล
       (๒) การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแบ่งอำนาจออกเป็น ๓ ประเภท คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่ละอำนาจย่อมมีอำนาจยับยั้ง และควบคุมกัน ซึ่งเป็นหลักประกันความมั่นคงเมื่อสภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายมาไม่ถูกต้องหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลก็มีอำนาจแสดงความไม่ถูกต้องนั้นได้
       (๓) จำเป็นต้องมีผู้มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นข้อความที่ว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็จะไม่มีผล กฎหมายนั้นสภาผู้แทนราษฎรออกมาเองจะกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรชี้ขาดว่าเป็นกฎหมายหรือไม่ ได้อย่างไร จะว่าทางฝ่ายบริหารมีอำนาจ ชี้ขาดก็ไม่ได้เพราะการวินิจฉัยกฎหมายไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร เช่นนี้ใครเล่าจะมีอำนาจนอกจากศาล ศาลเป็นหน่วยที่ตั้งขึ้นไว้สำหรับให้ความยุติธรรม เป็นการบำบัดทุกข์ร้อนแก่ประชาชน บุคคลทั้งหลายย่อมหวังในความยุติธรรมจากศาลเป็นที่ตั้ง และเมื่อมีตัวบทกฎหมายอันออกมาตัดเสรีภาพและขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะไม่ให้ศาลมีอำนาจแสดงเพื่อความยุติธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร หรือแม้ศาลไม่ประสงค์จะเข้าไปวินิจฉัยถึงกิจการของฝ่ายนิติบัญญัติแต่ก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ในกรณีเช่นนี้
       จากผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นไม่พอใจที่ศาลได้ล่วงล้ำเข้ามาในหน้าที่ของสภาในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญ มีการเสนอญัตติให้สภาตีความ มาตรา ๖๒ ของรัฐธรรมนูญ และสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น คณะหนึ่ง จำนวน ๗ คน ประกอบด้วยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตประธานศาลฎีกาและผู้เชี่ยวชาญนิติศาสตร์ และคณะกรรมาธิการชุดนี้เห็นว่า อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นอำนาจเด็ดขาดของสภาผู้แทนราษฎร
       เพื่อยุติข้อขัดแย้งระหว่างศาลและสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๔๘๙ จึงกำหนดให้มีองค์กรพิเศษทำหน้าที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ องค์กรพิเศษที่เกิดขึ้นใหม่นี้เรียกว่า “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” 2 ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยที่กำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ๘ ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๘๙ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๒ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๕ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๑ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๒๑ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ และฉบับ(ชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๔๙
       พัฒนาการขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในประเทศไทยนั้นได้มีพัฒนาการจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจนมาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการปฏิรูปการเมืองโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกและได้สิ้นสุดลงเนื่องจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ เมื่อมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
       
       ๒. องค์ประกอบขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
       
องค์ประกอบขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แยกตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ มีดังนี้
       ๒.๑ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๘๙
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ๑๕ คน ประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอีกสิบสี่คน และให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งเมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เพราะเหตุที่สภาผู้แทนหมดอายุ หรือถูกยุบ
       รัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๘๙ ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาจะแต่งตั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ
       ๒.๒ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๒
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวน ๙ คน ประกอบด้วยประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คนซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย โดยประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
       ๒.๓ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๕
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีจำนวน ๖ คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสามคนซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยประธานศาลฎีกาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
       รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมสภาครั้งแรก และสามารถแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่อีกได้
       ๒.๔ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๑
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ๙ คน ประกอบด้วยประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คนซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย โดยประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
       รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่ง ตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก และสามารถแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่อีกได้
       ๒.๕ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ๙ คน โดยรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ เป็นผู้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนฝ่ายละสามคน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรายชื่อผู้ได้รับเลือกทั้งหมดกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปและจะดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญติดต่อกันสองครั้งมิได้
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเลือกตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่งเป็นประธานและตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมิได้
       ๒.๖ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๒๑
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ๗ คน ประกอบด้วยประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คนซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
       ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐสภาจะแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่อีกก็ได้
       ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมิได้
       ๒.๗ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ๑๐ คน ประกอบด้วยประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ หรือสาขารัฐศาสตร์ อีกหกคนซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภาละสามคน โดยประธานรัฐสภาเป็นประธาน ตุลาการรัฐธรรมนูญ และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญโดยตำแหน่งประกอบด้วยประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา และอัยการสูงสุด
       ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมิได้ และมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้
       ๒.๘ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐
       คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ๑๕ คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจาก (๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน ๕ คน (๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน ๒ คน (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาและและวุฒิสภา จำนวน ๕ คน และ (๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาและและวุฒิสภา จำนวน ๓ คน โดยผู้ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว และต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
       ๒.๙ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๙ 4
       คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีจำนวน ๙ คน ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นรองประธาน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนห้าคนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนสองคน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ
       
       ๓. อำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
       อำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีดังนี้
       ๓.๑ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
       รัฐธรรมนูญฉบับถาวรทุกฉบับจะกำหนดให้ศาลเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดยศาลเป็นผู้เห็นเอง กล่าวคือ หากศาลจะใช้บทกฎหมายบังคับแก่คดีใดแล้วเห็นว่าบทกฎหมายนั้น มีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นไว้ชั่วคราว แล้วให้รายงานความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ยกเว้นรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ ที่บัญญัติเพิ่มเติมให้คู่ความโต้แย้งได้และต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควร จึงจะเสนอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ 5
       ๓.๒ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาสิ้นสุดลงหรือไม่
       รัฐธรรมนูญโดยส่วนใหญ่ (ยกเว้นรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๘๙ และฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๕) จะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง และให้ส่งคำร้องไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่
       ๓.๓ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๒๑ และฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ จำนวน ๓ ฉบับเท่านั้น ที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ โดยรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อส่งคำร้องไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่
       ๓.๔ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภามีหลักการอย่างเดียวหรือคล้ายกับร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการยับยั้งของวุฒิสภาหรือไม่
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๒๑ และฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ จำนวน ๓ ฉบับ ที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภามีหลักการอย่างเดียวหรือคล้ายกับร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการยับยั้งของวุฒิสภาหรือไม่ กล่าวคือ ในกรณีที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอหรือส่งให้พิจารณานั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกัน หรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ประธานวุฒิสภาหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้ ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป
       ๓.๕ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๒๑ และฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ จำนวน ๓ ฉบับ ที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ก่อนที่จะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย หากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกของแต่ละสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา หรือนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
       ๓.๖ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลด้วยกัน
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๒๑ และฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ จำนวน ๓ ฉบับ ที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรมกับศาลอื่น หรือระหว่างศาลอื่นด้วยกัน
       ๓.๗ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าการตราพระราชกำหนดเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าการตราพระราชกำหนดเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ โดยก่อนที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรจะได้อนุมัติพระราชกำหนดใด สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การตราพระราชกำหนดนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ 6
       
๓.๘ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าข้อบังคับของวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่าข้อบังคับของวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ แต่ละสภาเห็นว่า ข้อบังคับแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก หรือข้อบังคับของรัฐสภาในเรื่องใดขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา
       ๓.๙ อำนาจหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๐๗ กำหนดว่า “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรมีมติว่ากรณีมีปัญหาที่จะต้องตีความรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี ส่งเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย”
       
       ๔. อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
       อำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ปรากฏตามรัฐธรรมนูญในอดีตซึ่งมีอยู่ ๙ ประการนั้น ได้ถูกกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ เกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียง ๒ ประการเท่านั้น คือ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลด้วยกัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล 7 ส่วนอีกประการหนึ่งคืออำนาจหน้าที่ในการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ ไม่ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ แต่ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
       อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มีดังนี้
       ๔.๑ การควบคุมร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้บังคับมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       การควบคุมร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้บังคับมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดย ศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีหลักการคล้ายกับการตรวจสอบโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จะมีข้อแตกต่างเกี่ยวกับจำนวนผู้เข้าชื่อ กล่าวคือ การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบต้องมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ในขณะที่จำนวนผู้เข้าชื่อเสนอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องใช้จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และมีข้อแตกต่าง อีกประการหนึ่งคือ มีการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันเข้าชื่อไม่น้อยกว่า ยี่สิบคน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนพุทธศักราช ๒๕๔๐ ไม่มีกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 8
       ๔.๒ การควบคุมกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
       กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับแล้ว อาจขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดย ๒ ช่องทาง คือ
       (๑) ช่องทางแรกเป็นการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยศาล (ศาลที่มีสิทธิเสนอ คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ) กล่าวคือ จะต้องเป็นคดีความในศาลแล้ว และในชั้น การพิจารณาของศาลไม่ว่าจะเป็นในชั้นศาลใด หากคู่ความโต้แย้งว่ากฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับในคดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือศาลเองเห็นว่ากฎหมายที่จะใช้บังคับในคดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ให้ส่งความเห็นนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ ซึ่งการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญนี้มีข้อแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนพุทธศักราช ๒๕๔๐ คือ หากคู่ความโต้แย้งว่ากฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับในคดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ศาลนั้นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
       (๒) ช่องทางที่สองเป็นการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรณีนี้ได้มีการบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๙๘ กรณีดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีความกันในศาลก่อนเหมือนกรณีช่องทางแรก แต่เป็นกรณีที่มี การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใด มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาวินิจฉัย
       ๔.๓ การควบคุมเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร
       การควบคุมเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดโดยศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๑๙ จะมีหลักการที่เหมือนกับการควบคุมโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๑๗๓
       ๔.๔ การวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาสิ้นสุดลงหรือไม่ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ หรือกรรมการการเลือกตั้งต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่
       อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือการพ้นจากตำแหน่งนี้จะมีหลักการที่คล้ายกันกับอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จะมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น จำนวนสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อ เป็นต้น
       ๔.๕ การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยมาตรการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน
       รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา เป็นต้น มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองพร้อมทั้งคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น หากมีการจงใจไม่ยื่นหรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๕
       ๔.๖ การวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
       รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๖ กำหนดว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กร 9 นั้น หรือประธานรัฐสภา เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
       ๔.๗ การปกป้องคุ้มครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       กรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใด กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าว ได้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว หรือสั่งยุบพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๓
       ๔.๘ การคุ้มครองหลักประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า มติหรือข้อบังคับของพรรคการเมือง ขัดต่อสถานะและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ หรือขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๗ 10
       
๔.๙ การวินิจฉัยอุทธรณ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองมีมติให้พ้นจากการเป็น สมาชิกพรรคการเมือง
       กรณีที่พรรคการเมืองมีมติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งจะทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นั้น ได้อุทธรณ์คัดค้านมติของพรรคการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๑๘(๘)
       ๔.๑๐ การวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภามีหลักการอย่างเดียวหรือคล้ายกับ ร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการยับยั้งของวุฒิสภาหรือไม่
       กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา เห็นว่าร่างกฎหมายที่เสนอหรือส่งให้พิจารณาเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างกฎหมายที่ต้องยับยั้งไว้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาจึงส่งร่างกฎหมายนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๗๗
       ๔.๑๑ การควบคุมตรวจสอบมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือกรรมาธิการมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย
       กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่าในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายแผ่นดินของสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะกรรมาธิการ มีการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จึงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๘๐
       ๔.๑๒ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ
       กรณีที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน ไม่น้อยกว่ายี่สิบคน เห็นว่าร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี เพื่อส่งความเห็นดังกล่าวนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๓
       ๔.๑๓ อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑
       (๑) กรณีที่ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้ง พรรคการเมืองของนายทะเบียนพรรคการเมือง 11 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗
       (๒) กรณีที่หัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง จัดให้พรรคการเมืองกระทำการใดๆ ฝ่าฝืนนโยบายพรรคการเมือง หรือข้อบังคับพรรคการเมือง อันอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้เตือนให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นแล้วไม่ปฏิบัติตามคำเตือน นายทะเบียนพรรคการเมือง จึงยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ทั้งคณะ หรือบางคน ออกจากตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗
       (๓) กรณีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจาณาสั่งให้ยุบพรรคการเมือง เมื่อมีเหตุของการเลิกหรือยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕
       (๔) กรณีที่อัยการสูงสุด หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจาณาสั่งให้ยุบพรรคการเมือง เมื่อมีเหตุของการยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗
       
       ๕. อำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๕ วรรคแรกได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่า “บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ....” และมาตรา ๓๕ วรรคสี่ กำหนดว่า “บรรดาอรรถคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้โอนมาอยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
       ๕.๑ อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๕ วรรคแรกบัญญัติว่า “บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ....ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ....” เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว จะปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน ๓ ฉบับ 12 ดังนี้
       (๑) อำนาจหน้าที่ในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ กล่าวคือ กรณีที่มีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่มีการร้องเรียนนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
       ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงมีอำนาจในการเสนอเรื่องร้องเรียนให้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายได้
       (๒) อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยมาตรการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๔ กล่าวคือ หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีฯ หรือนับแต่วันที่ตรวจพบว่ามีการกระทำดังกล่าว และห้ามมิให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
       ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจในการเสนอคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่นหรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ หรือไม่
       (๓) อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้แก่ การวินิจฉัยชี้ขาดคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามมาตรา ๑๗ การสั่งให้พรรคการเมืองระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำอันอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งคณะหรือบางคน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา ๒๗ และการสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ตามมาตรา ๖๕ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗
       ดังนั้น ผู้ขอจัดตั้งพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมือง และอัยการสูงสุด จึงมีอำนาจในการเสนอเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑
       ๕.๒ อำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
       รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๕ วรรคแรกบัญญัติว่า “....เมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ....” โดยที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราใดกำหนดโดยชัดแจ้งว่า องค์กรหรือบุคคลใดบ้างมีสิทธิยื่นคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย จึงมีปัญหาว่า องค์กรหรือบุคคลที่เห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญจะมีช่องทางหรือวิธีการยื่นคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาได้อย่างไร โดยผู้เขียนเห็นว่า องค์กรหรือบุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอคำร้องเรียนนั้นให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ แต่ถ้าองค์กรหรือบุคคลใดเป็นคู่ความในศาลแล้วเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่ศาลจะบังคับแก่คดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ องค์กรหรือบุคคลนั้นไม่สามารถยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔(๒) ห้ามมิให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา รับเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลไว้พิจารณา 13
       ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือ ในกรณีที่ศาลเห็นเองว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่ศาลจะบังคับแก่คดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลจะส่งเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หรือหากคู่ความเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่ศาลจะบังคับแก่คดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ คู่ความจะโต้แย้งต่อศาลเพื่อให้ศาลนั้นส่งเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญในลักษณะทำนองเดียวกันกับการโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ ที่กำหนดให้ศาลต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ได้หรือไม่ 14
       เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓ ที่บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้” จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ในกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่ศาลจะบังคับแก่คดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วศาลส่งเรื่องเพื่อให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น เป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชาชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม และศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้เคยให้หลักการในการค้นหาประเพณีการปกครองในการเขียนหนังสือคำอธิบายธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ ไว้ดังนี้ 15
       
(๑) นำรัฐธรรมนูญของไทยฉบับก่อนๆ มาเปรียบเทียบ เพื่อหาหลักเกณฑ์ร่วมกัน
       (๒) หลักเกณฑ์ร่วมกันนั้นต้องไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ และบทบัญญัติในธรรมนูญการปกครองนี้ไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย
       (๓) การค้นหาประเพณีการปกครอง ควรยึดประเพณีตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาอย่างเดียวกัน ต่อเมื่อไม่พบประเพณีการปกครองแล้ว จึงต้องไปค้นหาจากรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาโดยเหตุอื่น
       (๔) สิ่งที่เคยปฏิบัติ หรือมีบทบัญญัติรับรองเพียงครั้งเดียวไม่ควรถือว่าเป็นประเพณี การปกครอง
       (๕) สิ่งที่เคยปฏิบัติ หรือมีบทบัญญัติรับรองเพียงครั้งเดียว แต่เป็นการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยปฏิบัติหรือมีบทบัญญัติรับรองมาก่อน ดังนี้อาจถือว่าสิ่งที่เคยปฏิบัติหรือมีบทบัญญัติรับรองใหม่นั้นเป็นประเพณีการปกครองได้
       เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอดีตที่กำหนดให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายโดยเฉพาะซึ่งมีจำนวน ๘ ฉบับ ได้แก่รัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๘๙ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๒ ฉบับพุทธศักราช ๒๔๙๕ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๑ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๑๗ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๒๑ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ และฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะกำหนดให้ศาลเท่านั้นเป็นผู้ยื่นเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดยจะกำหนดว่า “ศาลเห็นเอง” ส่วนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดเพิ่มเติมให้ “คู่ความโต้แย้งต่อศาล” ได้นั้น บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๒๐๖ 16และต่อมาก็ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ โดยทั้งสองบทบัญญัติมีความแตกต่างกันคือ การโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๒๐๖ นั้น ต้องเป็นกรณีที่ “โดยศาลเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควร” ด้วย ศาลจึงจะเสนอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย แต่การโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ นั้น ไม่มีบทบัญญัติคำว่า “โดยศาลเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควร” ดังนั้น ศาลไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงเหตุผลในการที่คู่ความขอให้ตรวจสอบว่ากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญว่ามีเหตุผลอันศาลเห็นว่าสมควรหรือไม่ การพิจารณาเหตุผลดังกล่าว เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามวรรคสองของมาตราเดียวกันที่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ 17
       เมื่อพิจารณาตามหลักการในการค้นหาประเพณีการปกครองดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นไปได้ว่า ในกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่ศาลจะบังคับแก่คดีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วศาลส่งเรื่องเพื่อให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น เป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ประชาชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น สิทธิของประชาชนในการโต้แย้งว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับคดีจึงควรได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
       ๕.๓ อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่โอนมาจากคดีที่อยู่ในระหว่างดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๕ วรรคสี่ ที่กำหนดว่า “บรรดาอรรถคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้โอนมาอยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ”
       
       ๖. บทส่งท้าย
       พัฒนาการขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในประเทศไทยนั้น มีพัฒนาจากรูปแบบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจนมาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ โดยในระยะเริ่มแรกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเพียงประการเดียว และมีพัฒนาการด้านอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้นจนเป็นศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ แล้ว รัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกที่กำหนดให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายโดยเฉพาะ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีองค์กรดังกล่าวนี้ควบคู่กับรัฐธรรมนูญของไทย.
       
       เชิงอรรถ
       1.พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามต่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ มาตรา ๓ บัญญัติว่า “การกระทำใดๆ อันบุคคลได้กระทำไม่ว่าในฐานะเป็นตัวการหรือผู้สมรู้ต้องตามที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นอาชญากรของสงคราม และผู้กระทำเป็นอาชญากรสงคราม ทั้งนี้ไม่ว่าการกระทำนั้นจะได้กระทำก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้
       (๑) ทำการติดต่อวางแผนการศึกเพื่อทำสงครามรุกราน....”
       2.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๓๖), หน้า ๑๐ – ๑๒
       3.รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทุกฉบับ จะกำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยกเว้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นครั้งแรกที่กำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
       4.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกที่กำหนดให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
       5.สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มิได้กำหนดว่าองค์กรหรือบุคคลใดเป็น ผู้มีสิทธิยื่นให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยมาตรา ๓๕ วรรคแรก บัญญัติว่า “บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ....”
       6.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับก่อนพุทธศักราช ๒๕๓๔ จะกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการตราพระราชกำหนดของฝ่ายบริหาร ซึ่งมี ๒ เงื่อนไข คือ เงื่อนไขเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ กับเงื่อนไขเกี่ยวกับความจำเป็นรีบด่วน โดยรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช ๒๕๓๔ เป็นฉบับแรกที่กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการตราพระราชกำหนด แต่จะตรวจสอบได้เฉพาะเงื่อนไขเกี่ยวกับวัตถุประสงค์เท่านั้น
       7.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๘ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลอื่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสี่คนตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นกรรมการ
       หลักเกณฑ์การเสนอปัญหาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
       8.โปรดดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๒
       9.องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็น ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๕๘-๖๒/๒๕๔๓
       10.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๘ กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ คือ สมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าห้าสิบคน
       11.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖ กำหนดให้ประธานกรรมการ การเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง
       12.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มีจำนวน ๘ ฉบับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยผลของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จำนวน ๖ ฉบับ คือ (๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ (๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ (๓) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ (๔) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ (๕) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ และ (๖) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับอีก ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๔๑ ไม่มีผลใช้บังคับอันเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลง
       13.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๔ “เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาวินิจฉัยว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้ไม่ให้รับไว้พิจารณาหรือให้ยุติการพิจารณา
       (๑) ....
       (๒) เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว
       … ฯลฯ ...”
       14.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๖ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย
       ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้
       ..................”
       15.โปรดดูรายละเอียดใน วิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๐ (กรุงเทพฯ : นำอักษรการพิมพ์ ๒๕๒๐), หน้า ๑๖๗ – ๑๖๘
       16.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาตรา ๒๐๖ วรรคแรก บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งโดยศาลเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๕และยังไม่มีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย”
       17.โปรดดูรายละเอียดใน นันทวัฒน์ บรมานันท์, กระบวนการกลั่นกรองคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๖๔. (กรุงเทพฯ : มิสเตอร์ก๊อบบี้, ๒๕๔๘), หน้า๓๐


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544