หน้าแรก บทความสาระ
ความเสมอภาคในการรับบริการสาธารณะด้านการศึกษา โดย คุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
คุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
13 พฤศจิกายน 2549 04:51 น.
 
ต้นเหตุของเรื่องนี้ได้เกิดเมื่อเพื่อนของผู้เขียนซึ่งเรียนอยู่ต่างคณะกันได้โทรศัพท์มาแจ้งข่าวว่าตนไม่สามารถเลือกเข้าเรียนในภาควิชาที่ตนชอบได้เสียแล้ว เนื่องจากผลการเรียนที่ผ่านมาสูงไม่ถึงเกณฑ์กำหนดที่ทางคณะตั้งไว้ทั้งที่ตนมีความสนใจและถนัดในสาขาวิชาดังกล่าว ตนจึงจำต้องเลือกเรียนภาควิชาที่ตนไม่ชอบแทน
        เรื่องดังข้างต้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปีการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อบางคณะได้เปิดรับนักศึกษารวมเข้าไปเล่าเรียนก่อนเป็นเวลาหนึ่งหรือสองปี จากนั้นนักศึกษาจึงจะเลือกแยกย้ายกันไปศึกษาในสาขาวิชาชีพที่ตนถนัดต่อไป ทั้งนี้เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความหลากหลายเหมาะสมกับความต้องการในตลาดงาน
        การเลือกสาขาหรือภาควิชานั้น เกณฑ์หนึ่งในการเลือกก็คือการพิจารณาจากผลการเรียนของนักศึกษาผู้นั้น นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีย่อมมีต้นทุนที่ดีกว่าเพื่อนคนอื่นที่มีผลการเรียนต่ำกว่าในการเลือกเข้าสาขาหรือภาควิชาที่มีการแข่งขันกันเข้าศึกษาสูง เกณฑ์ดังกล่าวนี่เองที่ทำให้เพื่อนผู้เขียนพลาดไป เมื่อเธอไม่สามารถทำผลการเรียนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่อีก ๐.๐๕
        แน่นอนว่าการเลือกสาขาย่อมมีทั้งผู้ผิดหวังและสมหวัง อย่างไรก็ดี สำหรับความคิดเห็นของผู้เขียน การศึกษานั้นเป็นบริการสาธารณะที่รัฐต้องจัดทำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เพราะฉะนั้นการเข้ารับการศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ต่างๆของการบริการสาธารณะ หนึ่งในเกณฑ์เหล่านั้น คือ หลักเกณฑ์ว่าด้วยความเสมอภาค
        หลักเกณฑ์ว่าด้วยความเสมอภาคนั้นมีขึ้นเพราะการที่รัฐเข้ามาทำบริการสาธารณะนั้น รัฐมิได้ทำเพื่อประโยชน์ของเอกชนรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ รัฐจัดทำบริการดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน ดังนั้นไม่ว่าผู้ใดก็ตามย่อมมีสิทธิได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะนั้นอย่างเสมอภาคกัน จริงอยู่ที่ผู้ใช้บริการดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบของฝ่ายปกครอง ซึ่งผู้ใช้บริการอาจถูกฝ่ายปกครองออกคำสั่งบังคับเพียงฝ่ายเดียว แต่ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของฝ่ายรัฐหากเป็นการเลือกปฎิบัติและก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคกันในต่อผู้ใช้บริการสาธารณะแล้วย่อมมิอาจกระทำได้
        ความเสมอภาคในหลักนี้ คงมิได้หมายความว่าประชาชนทุกคนในรัฐจะต้องได้รับบริการอย่างเดียวกันเสมอไป เพียงแต่ผู้ใดก็ตามที่เข้าไปอาศัยอยู่ในรัฐนั้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และตกอยู่ใต้สถานการณ์อย่างเดียวกันแล้วไซร้ บุคคลเหล่านั้นย่อมต้องสามารถใช้บริการสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะเขาเหล่านั้นได้ผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่จะได้รับบริการนั้นแล้ว
        เช่นเดียวกันในกรณีนี้ การศึกษาในขั้นอุดมศึกษานั้นเป็นหนึ่งในการบริการสาธารณะของรัฐ ไม่ว่ารัฐจะเป็นผู้กระทำเองหรือให้เอกชนเป็นผู้กระทำก็ตาม ดังนั้นการเข้ารับบริการการศึกษาจึงต้องเป็นไปอย่างเสมอภาค หากแม้นผู้ใดสามารถผ่านเกณฑ์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ย่อมควรที่จะมีสิทธิได้รับบริการต่างๆในคณะหรือมหาวิทยาลัยของตนอย่างเท่าเทียม อาทิ เมื่อนักศึกษาสองคนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเดียวกันคณะเดียวกันแล้ว ทั้งสองย่อมสามารถเข้าใช้บริการห้องสมุด, ศูนย์กีฬา, ตลอดจนถึงการเข้ารับการศึกษาที่ทางคณะของตนจัดไว้ให้ด้วย
        จริงอยู่ที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ไม่สามารถทำให้นักศึกษาได้รับบริการทุกอย่างของมหาวิทยาลัย อาทิ หอพักนักศึกษา นั่นเป็นเพราะผู้ที่จะเข้าใช้บริการหอพักนั้นจำต้องอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปจากนักศึกษาทั่วไป เช่น มาจากต่างจังหวัด แต่การคัดเลือกผู้ใช้บริการหอพักก็ย่อมเป็นไปตามหลักเสมอภาค คือ ทุกคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์มาจากต่างจังหวัดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเลือกให้เข้าพักในหอ
        สำหรับสิทธิในการเข้าศึกษาวิชาต่างๆย่อมเป็นหัวใจที่สำคัญยิ่งของการเข้ารับบริการสาธารณะทางการศึกษา เมื่อนักศึกษาผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามาในคณะเดียวกันได้ แม้การสอบผ่านนั้นอาจไม่เป็นเป็นการประกันว่าคนผู้นั้นจะสำเร็จการศึกษาแน่อน แต่ย่อมแสดงว่านักศึกษาเหล่านั้นทุกคนมีพื้นฐานความรู้และศักยภาพที่จะศึกษาวิชาต่างๆที่คณะผู้ตั้งเกณฑ์คัดเลือกจะจัดสอนขึ้นทั้งหมด คงเป็นเรื่องประหลาดหากเมื่อเราสามารถสอบผ่านเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วมีการตั้งข้อจำกัดขึ้นมาอีกภายหลังว่าวิชาบางวิชานั้นไม่อาจให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์บางคนเรียนได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าการจำกัดโอกาสนักศึกษาจำนวนหนึ่งมิให้เรียนวิชาบางวิชาของทางคณะนั้นขัดต่อความเสมอภาคในการให้บริการสาธารณะของรัฐ ทั้งในมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชน
        ผู้อ่านบางท่านอาจโต้แย้งว่าแล้วผลการศึกษาในชั้นมหาวิทยาลัยไม่เป็นเกณฑ์อย่างหนึ่งที่คณะมีสิทธิกำหนดขึ้นหรือ สำหรับผู้เขียนเองกลับเห็นว่าเมื่อทางคณะได้ตั้งเกณฑ์ขึ้นมาเมื่อเปิดรับนักศึกษาจากนักเรียนมัธยมทั่วประเทศเป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสนแล้ว ได้มีการทดสอบความรู้ทางวิชาการ มีการสัมภาษณ์เพื่อดูบุคลิกและสภาพจิต ทางคณะต้องคัดเลือกผู้ที่สามารถศึกษาในคณะนั้นได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ทุกคนที่ได้รับเลือกต้องสามารถเรียนทุกวิชาที่คณะจัดให้ มิเช่นนั้นก็เท่ากับว่าการคัดเลือกนักศึกษาของคณะนั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย หรือมิเช่นนั้นก็เป็นการยอมรับว่าเมื่อนักศึกษาอยู่ในคณะแล้วกลับมีคุณสมบัติต่ำลงกว่าเมื่อแรกเข้า ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ทางคณะต้องพิจารณาเช่นกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับการอบรมศิษย์ของตน หากภาควิชาดังกล่าวมีความจำเป็นที่ต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติต่างจากเกณฑ์ทั่วไปจริง ก็น่าจะแยกรับนักศึกษาเฉพาะของภาควิชาตนตั้งแต่แรกสอบเข้ามหาวิทยาลัย
        อนึ่ง หากเรากลับมาพูดกันโดยไม่มีแง่มุมทางกฎหมาย มีใครจะปฏิเสธบ้างว่ามีบางวิชาที่เราไม่อาจทำคะแนนได้ ๔.๐๐ แต่กลับเป็นวิชาที่เราชื่นชอบมากที่สุด หรือใครจะปฏิเสธว่าหลายวิชาที่เราได้ผลการเรียนดี กลับเป็นวิชาที่เราไม่อยากจะเรียน คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมิใช่ผู้ที่เรียนได้เกียรตินิยมในสาขานั้นเสมอไป หากแต่เป็นใจรักของผู้ประกอบอาชีพนั้นต่างหากที่ทำให้ผู้นั้นประสบความสำเร็จ หรือยิ่งไปกว่านั้น หากสมมติว่าเพื่อนผู้เขียนมีความถนัดในสาขาวิชานั้น วิชาที่ผ่านมาสองปีของเพื่อนของผู้เขียนอาจมิใช่วิชาที่เธอถนัดและเธออาจทำได้ ๔.๐๐ หากเธอได้เข้าเรียนในสายวิชาที่ตนต้องการ แต่บัดนี้เธอและเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกไม่รู้เท่าไหร่ได้ถูกตัดโอกาสของตนไปแล้ว หากเรายังยึดถือคะแนนเป็นหลัก อาจารย์บางท่านก็ต้องทนสอนเด็กที่จำใจต้องเรียนสิ่งที่ตนเองไม่มีใจรัก ทั้งตัวผู้สอนและผู้เรียนเองต่างจำทนในสถานการณ์ที่อึดอัด นั่นเป็นความสูญเสียทางทรัพยากรบุคคลที่มิน่าเศร้าหรือ จะดีกว่าหรือไม่ที่ชั้นเรียนหนึ่งไม่ได้มีเฉพาะคนที่”คะแนน”ถึง แต่เป็นคนที่มี”ใจ”ถึงที่จะเรียน
        จะดีกว่าไหม


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544