หน้าแรก บทความสาระ
วิกฤตินิติศาสตร์ไทย โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
13 พฤศจิกายน 2549 04:51 น.
 
เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง วิกฤติมนุษยศาสตร์ ที่จัดร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งก็ทำให้ผมต้องหวนคิดถึง นิติศาสตร์ ว่าจริง ๆ แล้วก็มีวิกฤติไม่น้อยกว่ามนุษย์ศาสตร์เลย บางทีอาจจะวิกฤติมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
       แรกเริ่มเดิมทีก่อนหน้าที่ไทยเราจะมีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น การศึกษากฎหมายหรือนิติศาสตร์ของไทยเราใช้ระบบของการฝากตัว โดยต้องเข้าไปรับใช้เพื่อแลกกับวิชาความรู้จากบรรดาผู้ที่มีความรู้และมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยต้องไปเรียนที่บ้านหรือที่ทำงานของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นข้าราชบริพารหรือ ขุนนางในราชสำนัก ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นแล้วก็มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับจนเป็นคณะหรือสาขาวิชานิติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาที่ผุดขึ้นกลาดเกลื่อนทั่วประเทศ โดยบางแห่งมีอาจารย์ประจำจริงๆเพียงสามสี่คนเท่านั้น ต้องอาศัยอาจารย์พิเศษจากภายนอกเป็นหลัก
       
       หลังจากที่มีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ แล้วต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑โดยในเบื้องต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอก่อนจะเข้าปฏิบัติงานวิชาชีพด้านกฎหมาย แนวทางการศึกษาของเนติบัณฑิตยสภาจึงเน้นหนักไปในแง่ของตัวบทกฎหมาย การตีความ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลักเพื่อให้ผู้ที่ศึกษาสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ได้และในบรรดาสถาบันที่มีการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ที่ผุดเป็นดอกเห็ดนั้น มาตรวัดแห่งความสำเร็จก็คือการได้การยอมรับหรือรับรองมาตรฐานผู้สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ของสถาบันตนว่าสามารถสมัครเข้าเป็นนักศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้ เมื่อได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วก็มาวัดคุณภาพกันอีกว่าบัณฑิตของตัวเองสอบเนติบัณฑิตได้ลำดับที่ดีหรือไม่ และสอบเป็นผู้พิพากษาอัยการได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด ฯลฯ
       
       สาเหตุที่สถาบันการศึกษาต่างๆรีบเร่งเปิดหลักสูตรนิติศาสตร์กันเป็นจำนวนมากนั้นสาเหตุก็เนื่องมาจากการตกเป็นทาสของ”ตลาด”นั่นเอง การที่ผู้คนต่างมุ่งมาศึกษานิติศาสตร์สาเหตุหนึ่งก็เนื่องเพราะค่าตอบแทนที่สูงลิ่วของอาชีพผู้พิพากษาและอัยการ โดยลืมไปว่าในแต่ละปีนั้นมีผู้สมัครเป็นนักศึกษากฎหมายจำนวนหลายหมื่นคน จบเป็นนิติศาสตรบัณฑิตหลายพันคน จบเป็นเนติบัณฑิตไทยประมาณหนึ่งพันคน และสามารถสอบผ่านเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการได้โดยเฉลี่ยแล้วอย่างละไม่เกินหนึ่งร้อยคนต่อปีเท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือก็อาจจะไปเป็นนักกฎหมายในภาครัฐหรือเอกชนนอกเหนือจากการตกงานหรือได้งานไม่ตรงกับที่เรียนมา แต่ที่น่าเศร้าก็คือการทุ่มเทเพื่อให้เข้าสู่การเป็นเนติบัณฑิตไทย ผู้พิพากษาหรืออัยการ บางคนถึงกับยอมลงทุนสมัครสอบกันคนละหลายๆครั้ง บางคนใช้ระยะเวลาเป็นสิบๆปีเลยทีเดียว พอสอบไม่ได้ก็เกิดความผิดหวังซึมเศร้า บางรายถึงกับทำลายชีวิตตนเอง ดังปรากฏเป็นข่าวตามสื่อทั่วๆไปอยู่มากมาย
       
       จิตติ ติงศภัทิย์ เล่าไว้ใน”ประวัติโรงเรียนกฎหมายไทย”ว่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ เปรียบเทียบถึงความแตกต่างของรายได้ระหว่างอาชีพไว้อย่างชัดเจนว่า “ถ้าไปเรียนจุฬาฯวิชาวิศวะจบแล้วได้เงินเดือน ๖๐ บาท...หรือถ้าไปเรียนทางรัฐศาสตร์จบออกมาก็ได้แค่เป็นมหาดเล็กรายงาน เงินเดือนรู้สึกว่า ๔๐ บาท” หากเรียนทางด้านกฎหมาย”จำได้ว่าทีแรกเรียนทีเดียวก็พอแล้วจบ สอบปีเดียวก็ได้เป็นเนติบัณฑิต แล้วก็ไปเป็นผู้พิพากษาได้เลย เงินเดือนก็ ๓๐๐ บาท ๔๐๐ บาท”
       การศึกษาวิชานิติศาสตร์ของไทยเรานั้นแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันมุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตออกไปทำงานในศาลเป็นหลัก ซึ่งก็คือผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ มิได้มุ่งเน้นในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เรียกว่าเป็น “ศาสตร์” แต่อย่างใด และกฎหมายหลักที่ใช้ในการเรียนการสอนก็เน้นหนักไปที่กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาคดีความแพ่งและกฎหมาย วิธีพิจารณาคดีความอาญาเป็นหลักและกฎหมายอื่นบ้างเล็กน้อย ทั้งที่ในความเป็นจริงการใช้กฎหมายนั้นมิได้มีเพียงกฎหมายสี่ตัวหลักนี้เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยกร่างกฎหมายเพื่อมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายในภาครัฐนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมายมหาชนซึ่งมีหลักคิดและนิติวิธีที่แตกต่างออกไป แต่เรากลับมุ่งผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญในกฎหมายที่จะนำไปใช้ในโรงในศาลเท่านั้น จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะมีกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่บิดๆเบี้ยวๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายปกครองที่กำหนดชะตาชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตายนั่นเอง
       
       บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวไว้ในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง พัฒนาการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์กับสังคมไทย ไว้ว่า
       “ปัญหาของการศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทยในเวลานี้ก็คือว่าทุกมหาวิทยาลัยหวังแต่ผลิตบัณฑิตของตัวให้หางานทำได้มากที่สุด ตลาดใหญ่ที่สุด ... คือ ตลาดอัยการ ผู้พิพากษา ทนาย สามวิชาชีพนี้มีอะไรคุมครับ เนติบัณฑิตยสภา ... เพราะฉะนั้นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั้งหลายทั้งที่เป็นรัฐและของเอกชนจึงเลียนแบบหลักสูตรของสำนักฝึกอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา”
       “ผลก็คือว่า วิชาชีพมันครอบงำวิชาการ ซึ่งมีผลในการพัฒนาการศึกษากฎหมาย เพราะว่านักวิชาชีพ คือ ท่านผู้พิพากษา ท่านอัยการ ท่านทนายความ เหล่านี้เข้ามากำหนดบทบาทของการศึกษานั้น ท่านเข้าไปทั่วทุกหัวระแหง แห่งแรกท่านยึดหัวหาด คือเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย เป็นเพราะมหาวิทยาลัยเองระบบอาจารย์ประจำยังไม่แข็งแรง ...แห่งที่สองที่ท่านเข้าไปยึดหัวหาดก็คือ ท่านเข้าไปเป็นกรรมการต่าง ๆ ของรัฐที่คุมการศึกษานิติศาสตร์ ท่านเข้าไปทบวงมหาวิทยาลัยอยู่ในคณะกรรมการพลเรือนเสียทีเดียว ท่านเข้าไปคุมการศึกษานิติศาสตร์ภาคเอกชน ท่านเข้าคุมสภาวิจัยแห่งชาติ สี่สิบกรรมการสาขานิติศาสตร์ของสภาวิจัยกว่าครึ่งมาจากวิชาชีพดั้งเดิม ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หลายท่านเป็นครูบาอาจารย์ของผม และเป็นที่น่าแปลกมหัศจรรย์ว่าหลายท่านนั้น ตำราสักเล่มหนึ่งก็ไม่เคยเขียน แต่เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติทางด้านนิติศาสตร์ เพราะฉะนั้น ผลผลิตออกมาคุณสมบัติเดียวกันหมด...”
       
       ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เรา จะต้องหยุดทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนนิติศาสตร์กันเสียที หรือจะปล่อยให้บัณฑิตนิติศาสตร์ฆ่าตัวตายทีละคนสองคน ส่วนที่เหลือก็ยกร่างหรือบังคับใช้กฎหมายที่บิดๆเบี้ยวๆกับพวกเราต่อไป
       
---------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544