หน้าแรก บทความสาระ
เงื่อนไขการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในระบบกฎหมายฝรั่งเศส โดย ดร.บุบผา อัครพิมาน
ดร.บุบผา อัครพิมาน สำนักงานศาลปกครอง
28 ตุลาคม 2549 22:45 น.
 
ระบบกฎหมายมหาชนในประเทศไทยได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาจนับว่าการเกิดขึ้นของศาลปกครองเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของระบบกฎหมายปกครองอย่างเป็นทางการ เพราะก่อนหน้านี้แม้จะมีการเรียนการสอนกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครองในมหาวิทยาลัย รวมทั้งอาจมีการกล่าวถึง ถกเถียงถึงกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครอง แต่ก็อยู่ในวงจำกัดเฉพาะแต่นักกฎหมายส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแทบทุกย่างก้าว
       บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนได้เขียนขึ้นมาครั้งแรกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการในหน่วยงานของผู้เขียน โดยการศึกษาวิจัยจากระบบกฎหมายของฝรั่งเศสเป็นหลักซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหากได้เผยแพร่ในวงกว้างขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องการศึกษาค้นคว้าในเชิงระบบกฎหมายเปรียบเทียบบ้าง บทความนี้จะศึกษาเงื่อนไขการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในระบบกฎหมายฝรั่งเศส แยกเป็นสี่หัวข้อ คือ เงื่อนไขเกี่ยวตัวผู้ฟ้องคดี เงื่อนไขเกี่ยวตัวคำฟ้อง เงื่อนไขการต้องมีนิติกรรมทางปกครองก่อนฟ้องคดีต่อศาล และเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดี
       
       1. เงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ฟ้องคดี
       
       1.1 หลักทั่วไป ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีความสามารถตามหลักทั่วไปของการดำเนินกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ หากเป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นผู้มีความสามารถตามหลักกฎหมายแพ่ง
       ส่วนกลุ่มบุคคลหรือสถาบันต่าง ๆ จะเป็นผู้ฟ้องคดีได้ต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคล
       
       1.2 ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (Intérêt pour agir)
       
       1.2.1 ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นบุคคลธรรมดา
       
       ความมีส่วนได้เสียของบุคคลธรรมดาจะพิจารณาจากคำฟ้องและคำขอของ ผู้ฟ้องคดี ณ เวลาที่มีการยื่นฟ้อง ซึ่งกรณีที่บุคคลจะมีส่วนได้เสียนั้นต้องเข้าทฤษฎีเงื่อนไข คือ เป็นกรณีที่ความเสียหายเป็นผลจากการกระทำหรือมาตรการของฝ่ายปกครองโดยตรง โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
       (1) ประโยชน์นั้นอาจมีลักษณะเป็นประโยชน์ที่คำนวณเป็นเงินได้ (intérêt matériel) หรือประโยชน์ทางจิตใจ (intérêt moral)ก็ได้ แต่ผลกระทบต่อประโยชน์นั้นจะต้องเกิดจากการกระทำหรือมาตรการของฝ่ายปกครองโดยตรง
       ดังนั้น บุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมในการสอบแข่งขันเข้ารับราชการจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องโต้แย้งกระบวนการสอบแข่งขันดังกล่าวว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย (21 Nov. 1986, Mme Simonet, Req n๐ 62381) เพราะแม้กระบวนการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง บุคคลนั้นก็ไม่มีประโยชน์ได้เสียใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น
       (2) ประโยชน์ที่ถูกกระทบนั้นมีลักษณะเป็นประโยชน์เฉพาะตัว ดังนั้น ห้ามมิให้บุคคลหนึ่งกระทำการแทนอีกบุคคลหนึ่งโดยไม่มีการตั้งตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องเพิกถอนหรือเรียกให้ชดใช้เงิน
       (3) ประโยชน์นั้นจะต้องมีลักษณะที่แน่นอน แต่ประโยชน์ที่คาดว่าอาจถูกกระทบก็ถือว่ามีความแน่นอนเพียงพอที่จะทำให้ผู้นั้นฟ้องคดีต่อศาลได้แล้ว เช่น คำสั่งแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งในส่วนงานหนึ่งซึ่งผู้ฟ้องคดีสังกัดอยู่หรือมีโอกาสจะถูกย้ายไปสังกัด ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสีย ตัวอย่างคดีในกรณีนี้
       
       คำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐ ลงวันที่ 6 ตุลาคม 1995 คดี Commune de Sète (Req. n๐ 121.370)
       เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองแห่งหนึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการของหน่วยงานนั้นต่อศาลปกครอง เมื่อคำสั่งแต่งตั้งนั้นอาจมีผลทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้นั้น โดยอาจทำให้เขาได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งช้ากว่าปกติหรือทำให้
       การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของเขาต้องแข่งขันกับบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ทั้งที่มิใช่เงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎหมาย และตามแนวบรรทัดฐานของศาล เจ้าหน้าที่ทุกคนที่อยู่ในหน่วยงานที่มีการออกคำสั่ง เป็นผู้มีสิทธิโต้แย้งเพื่อขอยกเลิกการแต่งตั้งหรือการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของข้าราชการคนใดคนหนึ่งในหน่วยงานของตน ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าซึ่งอยู่ในสายงานของผู้ฟ้องคดี หรือในสายงานอื่นที่ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสจะได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง
       ในคดีนี้ แม้ว่านายลัวซง (Loison) จะอยู่ในระหว่างถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน (mesure conservatoire de suspension) ก็เป็นผู้มีสิทธิจะฟ้องขอให้เพิกถอนข้อบัญญัติของนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Sète ลงวันที่ 18 ธันวาคม 1987 และลงวันที่ 4 มกราคม 1988 ซึ่งแต่งตั้ง นาย Cattalorda และนาย Pintre เป็นรองปลัดเทศบาลและปลัดเทศบาลเมือง Sète ตามลำดับ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่นายลัวซงมีโอกาสจะได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งได้
       (4) การเป็นผู้มีส่วนได้เสียนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการโต้แย้งคำสั่งในหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่เท่านั้น ข้าราชการที่สังกัดหน่วยงานหนึ่งอาจเป็นผู้มีสิทธิโต้แย้งคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการของหน่วยงานอื่นก็ได้ หากข้าราชการที่โต้แย้งคำสั่งแสดงให้เห็นได้ว่าตนอาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี
       (5) ข้าราชการถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียเสมอในการฟ้องโต้แย้งคำสั่งเฉพาะรายที่อาจกระทบสิทธิของเขา และ
       (6) ข้าราชการของหน่วยงานหนึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้เพิกถอนสถานะทางกฎหมายของข้าราชการในหน่วยงานอื่นที่ตนอาจถูกโยกย้ายเข้าไปสังกัดได้
       
       1.2.2 กรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นกลุ่มบุคคล
       
       สมาคมหรือสหภาพข้าราชการ(associations ou syndicats)
       
ในระบบกฎหมายฝรั่งเศสยอมรับให้สมาคมหรือสหภาพข้าราชการสามารถฟ้องโต้แย้งคำสั่งที่อาจกระทบกับประโยชน์ของสมาคมหรือสหภาพได้ เช่น ความคงอยู่ ทรัพย์สิน หรือเงื่อนไขในการดำเนินงานของสมาคมหรือสหภาพ และยังสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากคำสั่งดังกล่าวได้ด้วย ทั้งนี้ มาตรา 8 ของรัฐบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของข้าราชการ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 1983 กำหนดไว้ว่า “สมาคมหรือสหภาพข้าราชการสามารถฟ้องโต้แย้งกฎที่กำหนดเกี่ยวกับสถานะของข้าราชการและคำสั่งเฉพาะรายที่กระทบต่อประโยชน์ของสมาคมหรือสหภาพหรือสหภาพข้าราชการต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้”
       ในการฟ้องโต้แย้งคำสั่งเฉพาะรายนั้น บรรทัดฐานของศาลได้แยกสิทธิหรือประโยชน์ได้เสียในการฟ้องคดีตามความแตกต่างของประโยชน์ที่ถูกกระทบเป็นประเภท คือ “คำสั่งในทางบวก” (mesure positive) และ “คำสั่งในทางลบ” (mesure négative)
       คำสั่งในทางบวก คือ คำสั่งที่เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่ง เช่น คำสั่งแต่งตั้งหรือคำสั่งเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งข้าราชการทุกคนสามารถฟ้องโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวได้ หากมีผลกระทบกับประโยชน์ของตน เช่นเดียวกับสมาคมข้าราชการหรือสหภาพข้าราชการสามารถจะฟ้องเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของกลุ่มได้เสมอ
       ส่วนคำสั่งในทางลบ คือ คำสั่งที่มีผลเป็นการลดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของ
       ผู้รับคำสั่ง คำสั่งในลักษณะนี้ถือว่าไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของกลุ่ม แต่กระทบเฉพาะประโยชน์ส่วนตัวของผู้รับคำสั่งเท่านั้น ดังนั้น สมาคมหรือสหภาพไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งนั้น เช่น ข้าราชการคนหนึ่งถูกปฏิเสธไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือถูกลงโทษทางวินัย ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งคือข้าราชการผู้ได้รับคำสั่ง ส่วนสมาคมหรือสหภาพข้าราชการที่ข้าราชการผู้นั้นสังกัดอยู่ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี
       
       ตัวอย่างคดีที่ศาลเห็นว่าสหภาพข้าราชการไม่มีสิทธิฟ้องคดีลักษณะนี้
       (1) สหภาพข้าราชการได้ฟ้องเพิกถอนคำสั่งโยกย้ายข้าราชการ และคำสั่งให้ข้าราชการอื่นเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างอยู่เพราะการโยกย้ายดังกล่าว ศาลปกครองวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวมีการฟ้องโต้แย้งคำสั่งสองคำสั่งแยกจากกัน คือ ในคำสั่งแรกเป็นคำสั่งโยกย้ายข้าราชการคนหนึ่ง ส่วนคำสั่งที่สองเป็นคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการเข้าดำรงตำแหน่ง ศาลปกครองเห็นว่า สหภาพข้าราชการเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งที่สองที่ให้ข้าราชการอื่นเข้าดำรงตำแหน่งที่ว่างอยู่เพราะคำสั่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำสั่งในทางบวก แต่คำสั่งแรกที่โยกย้ายข้าราชการถือว่าเป็นคำสั่งที่มีลักษณะในทางลบ สหภาพข้าราชการจึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งโยกย้ายข้าราชการ โดยรายละเอียดในคดีนี้มีดังนี้
       คดีนี้เป็นคดีของนาย Durant, Garcia, Luna, Sanchez, Bonfani และ Daumas โดยข้อเท็จจริงมีว่า ตามบันทึกเดือนมิถุนายน 1983 ปลัดเทศบาลเมืองนิมได้มีคำสั่งย้ายนาย Durant และนาย Garcia จากลูกจ้างของฝ่ายต้อนรับ นาย Luna และนาย Sanchez จากเจ้าหน้าที่ของฝ่ายต้อนรับ และนาย Bonfani และ Daumas จากผู้ช่วยหัวหน้าของฝ่ายต้อนรับไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ของฝ่ายพิพิธภัณฑ์ทางศิลปและอาคาร
       ในกรณีนี้ข้าราชการหรือลูกจ้างที่ได้รับคำสั่งคือ นาย Durant, Garcia, Luna, Sanchez, Bonfani และ Daumas เป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ แต่สหภาพข้าราชการไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพิกถอนในนามของสหภาพได้ ดังนั้น คำฟ้องของ สหภาพที่ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งย้ายข้าราชการดังกล่าวต่อศาลปกครองชั้นต้นแห่งเมือง Montpellier จึงเป็นคำฟ้องที่รับไว้พิจารณาไม่ได้ (Section, 13 décembre 1991, Syndicat CGT des employés de la mairie de Nîmes, Lebon, p.443)
       (2) คำวินิจฉัยคดีนาย Védrines, นาง Guatheron และพวก
       คดีนี้ นาย V นาง G และ นาง R ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานในฝ่ายต้อนรับ ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาจากงานในหน้าที่เดิมของนาย V, นาง G และนาง R ก่อนการได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายต้อนรับ เห็นได้ว่าคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว มีลักษณะที่ไม่ใช่เป็นเพียงมาตรการภายในฝ่ายปกครอง แต่เป็นการโยกย้ายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะของบุคคลที่ได้รับคำสั่ง จึงเป็นคำสั่งที่สามารถจะถูกนำมาฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนได้
       คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นซึ่งตัดสินว่าคำสั่งลักษณะดังกล่าวเป็น
       มาตรการภายในฝ่ายปกครองจึงสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณานั้น จึงไม่ถูกต้อง แต่สหภาพข้าราชการยังมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ จึงเป็นผู้ไม่มีสิทธิฟ้องคดี
       สำหรับมาตรการของฝ่ายปกครองที่มี “สภาพเป็นกลาง” คือ ไม่เป็นไปในทางลบหรือทางบวก เพราะไม่มีผลกระทบต่อประโยชน์ของกลุ่ม เช่น การประเมินข้าราชการเป็นการกระทำที่สหภาพข้าราชการไม่มีส่วนได้เสีย ซึ่งศาลปกครองได้วินิจฉัยไว้ในตัวอย่างคดี M.Kaiser (25 มีนาคม 1995, Req. no 136.344) ว่า แม้ศาลจะเห็นว่า สหภาพของตุลาการจะมีสิทธิแทรกแซงในระหว่างการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการประเมินความดีความชอบของตุลาการคนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการโต้แย้งของตุลาการที่ถูกประเมิน แต่สหภาพไม่มีคุณสมบัติที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าว ดังนั้น คำฟ้องของสหภาพของตุลาการขอให้เพิกถอนการให้คะแนนนาย Kaiser จึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้
       สมาคมหรือสหภาพข้าราชการอาจได้รับการชดใช้ค่าเสียหายทางจิตใจซึ่งเกิดจากการกระทำที่กระทบต่อประโยชน์ของกลุ่มซึ่งสมาคมหรือสหภาพพิทักษ์รักษาอยู่ได้
       
       สมาพันธ์หรือสหพันธ์ข้าราชการ(unions ou fédérations)
       เดิมไม่ถือว่าสมาพันธ์และสหพันธ์ข้าราชการ เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะโต้แย้งมาตรการทางปกครองซึ่งไม่ได้กระทบต่อประโยชน์โดยรวมของสมาพันธ์หรือสหพันธ์ข้าราชการ เพราะโดยหลักมาตรการทางปกครองจะกระทบเฉพาะสิทธิของสมาชิกบางคนเท่านั้น
       แต่แนวดังกล่าวเปลี่ยนไป เมื่อสภาแห่งรัฐได้มีคำวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 1972 ในคดี Union interfédérale des syndicates de la prefecture de police et de la sûreté nationale (Lebon 584) ว่าการที่สหพันธ์ซึ่งประกอบด้วยสหภาพข้าราชการหลายแห่งได้ใช้สิทธิโต้แย้งมาตรการเกี่ยวกับการกำหนดประเภทต่าง ๆ ของบุคลากรของสหภาพข้าราชการแห่งหนึ่ง เป็นคำฟ้องที่รับไว้พิจารณาได้
       ในขณะที่ สหพันธ์ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของสหภาพที่มีส่วนได้เสียหลาย ๆ สหภาพ ไม่อาจทำให้สหพันธ์นั้นเข้าแทนที่สหภาพใดสหภาพหนึ่งในการเป็นผู้ฟ้องคดีได้ (CE, 17 ตุลาคม 1984, Fédération des syndicates autonomes de l’enseignement supérieur, DA. 1984, n๐482)
       
       มาตรการในการจัดทำบริการสาธารณะ
       
       ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร สมาคม หรือสหภาพของบุคลากรไม่ถือว่าเป็นผู้มีผลประโยชน์ได้เสียที่จะโต้แย้งมาตรการเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานที่บุคลากรเหล่านี้สังกัดอยู่
       โดยคำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐโดยที่ประชุมใหญ่ ลงวันที่ 26 ตุลาคม 1956 ในคดี Association générale des administrateurs civils (Lebon, p.391) วินิจฉัยว่า รัฐกฤษฎีกาที่ถูกโต้แย้งเป็นรัฐกฤษฎีกาที่กำหนดเกี่ยวกับการจัดการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบของกระทรวงเกษตร โดย
       ได้มีการจัดตั้งสภาสูงทางการเกษตร (Conseil supérieur de l’agriculture) ขึ้น รัฐกฤษฎีกาดังกล่าวจึงเป็นรัฐกฤษฏีกาที่กำหนดเกี่ยวกับการดำเนินการบริการสาธารณะ โดยเนื้อหาของรัฐกฤษฎีกาเองมิได้กระทบกับสิทธิใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองไม่ว่าจะเป็นนิติสถานะของเจ้าหน้าที่หรือเอกสิทธิ์ขององค์กรที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สมาคมจึงไม่มีสิทธิโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของรัฐกฤษฎีกาดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้
       นอกจากนี้ คำฟ้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่โต้แย้งคำสั่งหรือมาตรการภายในของผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการดำเนินการบริการสาธารณะก็เป็นคำฟ้องที่ศาลไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ (C.E., 29 พฤศจิกายน 1961, Dlle Gander, Lebon p.529)
       อย่างไรก็ดี หากมาตรการที่เกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะกระทบกับสิทธิหรือประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ มาตรการนั้นก็อาจถูกโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายต่อศาลปกครองได้ (C.E. ประชุมใหญ่, 12 ธันวาคม 1952ม Narbonne, Lebon p.574) เช่นเดียวกัน หากมาตรการเกี่ยวกับ
       การจัดทำบริการสาธารณะ คำสั่งหรือมาตรการภายในใด ๆ ที่กระทบต่อนิติสถานะของเจ้าหน้าที่ มาตรการ คำสั่งหรือมาตรการภายในนั้นก็อาจถูกฟ้องโต้แย้งต่อศาลได้เช่นเดียวกัน (C.E., 16 ธันวาคม 1960, L’Herbier, Lebon p.707) หรือหากมาตรการหรือคำสั่งเหล่านั้นอาจกระทบต่อเอกสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดอยู่ เจ้าหน้าที่นั้นก็ถือว่าเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียที่อาจนำมาตรการหรือคำสั่งมาฟ้องโต้แย้งต่อศาลปกครองได้ (C.E., 28 เมษายน 1978, Syndicat national des impots CFDT, Lebon p.193)
       สำหรับองค์กรกระจายอำนาจซึ่งมีความเป็นอิสระระดับหนึ่งจากรัฐนั้น ตามแนวบรรทัดฐานของศาล บุคลากรขององค์กรกระจายอำนาจสามารถโต้แย้งมาตรการการจัดทำบริการสาธารณะ
       ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดโดยรัฐได้ หากมาตรการนั้นอาจกระทบต่อเงื่อนไขการจ้างและการทำงานของบุคลากร (C.E. section, 10 nov. 1978, Chevallier, Lebon p.438) แต่หากมาตรการนั้นไม่ใช่มาตรการที่ใช้เฉพาะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับทุกองค์กร บุคลากรจะโต้แย้งได้ตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
       ส่วนผู้ใช้บริการสาธารณะ โดยหลักไม่ถือเป็นผู้มีสิทธิฟ้องโต้แย้งคำสั่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสถานะของเจ้าหน้าที่ แนวบรรทัดฐานของศาลแนวนี้ต้องการไม่ให้ประชาชนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐ แต่หลักนี้มีข้อยกเว้นในกรณีที่พิสูจน์ให้เห็นความใกล้ชิดของความมีส่วนได้เสียของสมาคมกับมาตรการหรือคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลภาครัฐได้ ศาลก็จะรับคดีไว้พิจารณาได้ เช่น ศาลเคยวินิจฉัยว่าสมาคมนักเรียนการอนุรักษ์งานศิลปแห่งชาติเป็นผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องทำให้มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งอาจารย์คนหนึ่งได้ (C.E. section, 29 ตุลาคม 1976, Association des délégations et auditeurs du CNAM, Lebon p.460)
       
       2. เงื่อนไขเกี่ยวกับคำฟ้อง
       
       2.1 การอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครอง
       

       2.1.1 กรณีกฎหมายไม่บังคับให้มีการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครอง
       ในกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดให้ต้องอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครอง ผู้มีส่วนได้เสียสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้โดยตรง เช่น
       
       คำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐ, 29 ธันวาคม 1993, Commune de Chaton, c/ M.Gropaiz, Req. n๐ 05.194
       
ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา 9 วรรคแรกของรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 26 มกราคม 1984 แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 1987 ที่กำหนดว่า “ข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัยประเภทที่ 2, 3 และ 4 อาจยื่นคำฟ้องโต้แย้งคำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการวินัยระดับจังหวัดหรือระหว่างจังหวัดได้” ข้อกำหนดนี้ไม่ตัดสิทธิข้าราชการที่ถูกลงโทษจะฟ้องโต้แย้งคำสั่ง
       ลงโทษทางวินัยทั้งสามระดับดังกล่าวต่อศาลปกครองโดยตรง ดังนั้น เทศบาล Chatou ไม่อาจโต้แย้งว่า คำฟ้องของนาย Gropaiz ที่ยื่นต่อศาลปกครองแห่งแวร์ซายส์เพื่อโต้แย้งคำสั่งของนายกเทศมนตรีเมือง Chatou ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1988 ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ(révocation) ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ เพราะไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยระดับจังหวัดก่อน
       ในคดีนี้ ศาลปกครองวินิจฉัยโดยการตีความตัวบทกฎหมายว่า สิทธิที่กำหนดเอาไว้ตามกฎหมายในเรื่องการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองกรณีถูกลงโทษทางวินัยร้ายแรงนั้น เป็นสิทธิ ดังนั้น แม้ไม่ใช้สิทธินั้น ก็สามารถนำคำสั่งมาฟ้องศาลได้โดยตรง ซึ่งต่างจากระบบกฎหมายไทยในเรื่องนี้
       
       2.1.2 กรณีกฎหมายบังคับให้มีการอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองก่อน
       
       (1) ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองก่อน
       ผู้ฟ้องคดีจะนำคดีมาฟ้องศาลโดยมิได้อุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองก่อนไม่ได้ เช่น การโต้แย้งความสมบูรณ์ของผลการเลือกตั้งในทางปกครอง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองก่อน หากนำคดีประเภทนี้มาฟ้องศาลโดยไม่อุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองก่อน คดีจะรับไว้พิจารณาไม่ได้ เช่น
       
       คำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐ 20 กรกฎาคม 1988 Syndicat interco CFDT, des personnels de préfecture et du department du Pas-de-Calais, Req. n๐ 82.528
       
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา 21 ของรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 1985 กำหนดว่า “การโต้แย้งความสมบูรณ์ของการเลือกตั้ง (สำหรับการแต่งตั้งผู้แทนของบุคลากรในคณะกรรมการเทคนิคสองฝ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จะต้องกระทำภายใน 15 วันนับแต่มีการประกาศผลต่อหน้าประธานองค์กรกลางการเลือกตั้งแล้ว...” ผลของบทบัญญัตินี้คือ หากไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อประธานองค์กรกลางการเลือกตั้ง แต่โต้แย้งคำตัดสินต่อศาลปกครองโดยตรง คำฟ้องดังกล่าวรับไว้พิจารณาไม่ได้ ในคดีนี้เมื่อสหภาพ Interco CFDT ไม่ได้โต้แย้งผลการเลือกตั้งต่อประธานองค์กรกลางการเลือกตั้งก่อน คำฟ้องโต้แย้งผลการเลือกตั้งต่อศาลปกครองโดยตรงจึงรับไว้พิจารณาไม่ได้
       (2) คำปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของฝ่ายปกครองต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางปกครองก่อน หากไม่อุทธรณ์ก่อนไม่อาจนำมาฟ้องศาลได้ เช่น
       
       คำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐ 8 มีนาคม 1985, M.Van Den Torren, Req. n๐ 125.185
       ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา 2 ของรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 28 เมษายน 1988 แก้ไขรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 1978 กำหนดว่า การอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางปกครองเป็นข้อกำหนดที่มีผลบังคับซึ่งต้องดำเนินการก่อนจะฟ้องศาล เมื่อนาย
       Van Den Torren ไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางปกครองก่อนนำคดีมาฟ้องศาล จึงเป็นการชอบแล้วที่ศาลปกครองแห่ง Clermont-Ferrand จะไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
       
       2.2 รูปแบบและลักษณะของคำฟ้อง
       
       (1) คำฟ้องต้องเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส และต้องประกอบด้วยข้อมูลของผู้ฟ้องคดี ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และลายมือชื่อ
       (2) คำฟ้องต้องมีคำขอพร้อมเหตุผลสนับสนุนคำขอ หากคำขอและเหตุผลสนับสนุนคำขอไม่มีหรือไม่ชัดเจน ผู้ฟ้องคดีอาจขอแก้ไขได้ก่อนคดีพ้นระยะเวลาการฟ้องคดี
       อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ การยื่นคำฟ้องครั้งแรก ผู้ฟ้องคดีมักจะทำคำฟ้องในลักษณะเป็นเพียงบทสรุปของข้อเท็จจริงและคำขอเท่านั้น โดยผู้ฟ้องคดีจะส่งข้อเท็จจริง คำขอ และเหตุผลประกอบคำขอฉบับสมบูรณ์ต่อศาลในภายหลัง ซึ่งผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นได้ แม้จะพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีไปแล้ว ดังนั้น หลักความสมบูรณ์ของคำฟ้องจึงค่อนข้างยืดหยุ่นมากในประเด็นนี้
       นอกจากนี้ ศาลยังมีอำนาจในการตีความคำขอที่เขียนไว้ไม่ชัดเจนเพื่อค้นหาเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ฟ้องคดีด้วย (13 พฤศจิกายน 1991, Mme Covanac, Req. n๐ 90.418)
       (3) คำฟ้องต้องปิดอากรแสตมป์ การปิดอากรแสตมป์เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ศาลจะสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะรับฟ้องไว้ก่อนแล้วสั่งให้ผู้ฟ้องไปดำเนินการ
       ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องในภายหลัง
       (4) ผู้ฟ้องคดีต้องแนบคำสั่งที่เป็นต้นเหตุของการฟ้องคดีมาพร้อมคำฟ้องด้วย
       ในกรณีที่เป็นคำสั่งโดยปริยายให้ผู้ฟ้องคดีส่งเอกสารหรือคำร้องที่ได้ยื่นต่อฝ่ายปกครองแล้วมิได้รับ
       คำตอบมาให้ศาลเพื่อพิจารณาด้วย
       
       2.3 การยื่นฟ้อง
       
       สำหรับการฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีอาจยื่นฟ้องโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่รับฟ้องของแต่ละศาลหรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ ส่วนการฟ้องคดีต่อ
       ศาลปกครองสูงสุด (สภาแห่งรัฐ) ให้ยื่นต่อประธานฝ่ายคดีของสภาแห่งรัฐหรือต่อเจ้าหน้าที่รับฟ้องของสภาแห่งรัฐ
       วันยื่นฟ้องก็เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีอันหนึ่งหากยื่นฟ้องเกินระยะเวลาฟ้องคดี
       คดีย่อมไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ นอกจากนี้ ศาลปกครองยังยอมรับให้มีการฟ้องคดีทางเทเล็กซ์และ
       ทางโทรสารได้ด้วย แต่ให้ถือเอาวันที่เจ้าหน้าที่ได้นำเทเล็กซ์หรือโทรสารนั้นบันทึกเข้าระบบแล้วเป็นวันฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีจะต้องมาแก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องตามรูปแบบในภายหลังด้วย
       
       3. เงื่อนไขต้องมีนิติกรรมทางปกครองก่อนฟ้องคดีต่อศาล (décision administrative préalable)
       
       
ในรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 11 มกราคม 1965 มาตรา 1 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดหลักเกี่ยวกับการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ว่า การฟ้องคดีต่อศาลปกครองต้องเป็นการฟ้องโต้แย้งตัวคำสั่งเท่านั้น
       จากบทบัญญัติดังกล่าว หากไม่มีการออกคำสั่งโดยฝ่ายปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงต้องดำเนินการให้มีคำสั่งดังกล่าวก่อน โดยการร้องเรียนไปยังฝ่ายปกครอง ซึ่งจะมีบทบัญญัติของกฎหมายมารองรับในกรณีนี้คือ รัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 11 มกราคม 1965 มาตรา 1 วรรคสอง กำหนดว่า “หากฝ่ายปกครองนิ่งเฉยไม่ตอบคำร้องนานเกินกว่าสี่เดือนนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ถือว่าฝ่ายปกครองมีคำสั่งปฏิเสธ” ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการให้มีตัวคำสั่งก่อน จึงจะสามารถนำคำสั่งนั้นมาโต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายได้ 2 เช่น
       
       คำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐ 11 มกราคม 1987, Ville d’Hyères c/M,Blache, Req. n๐ 72.574
       ศาลตรวจสอบจากเอกสารในการฟ้องคดีแล้วเห็นว่า นาย Blache ได้รับแจ้งให้ทราบบันทึกของหน่วยงาน ลงวันที่ 14 กันยายน 1983 อย่างช้าในวันที่ 16 กันยายน 1983 ปรากฏว่า
       นาย Blache ได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำบันทึกดังกล่าวทบทวนเมื่อวันที่ 16 กันยายน 1983 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาการฟ้องคดี และในระหว่างการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 1983 แม้นาย Blache ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีคำสั่งปฏิเสธอย่างชัดแจ้งจากฝ่ายปกครอง แต่เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่นาย Blache ได้ยื่นคำร้องขอให้ทบทวนตามมาตรา 1 วรรคสอง แห่งรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 11 มกราคม 1965 แล้วเห็นว่า พ้นกำหนดสี่เดือนนับแต่วันที่ได้มีการยื่นคำร้องต่อหน่วยงานแล้วไม่ได้รับ
       คำตอบ จึงถือว่าฝ่ายปกครองได้มีคำสั่งปฏิเสธโดยปริยายแล้ว คำฟ้องดังกล่าวจึงรับไว้พิจารณาได้
       นอกจากการฟ้องโต้แย้งให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองต้องมีตัวคำสั่งอยู่แล้ว ในการฟ้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ก็จะต้องมีการยื่นคำร้องขอให้หน่วยงานชดใช้ก่อน แล้วหน่วยงานตอบปฏิเสธไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ผู้เสียหาย
       จึงจะนำมาฟ้องคดีต่อศาลได้ เช่น
       
       คำวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐ 26 เมษายน 1989, M.Bureua, Req. n๐ 68.014
       
ปรากฏตามมาตรา 1 ของรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 11 มกราคม 1965 ประกอบกับมาตรา R.89 ของประมวลกฎหมายศาลปกครองชั้นต้น “ยกเว้นกรณีของงานโยธาสาธารณะ การฟ้องคดีต่อ
       ศาลปกครองต้องฟ้องโต้แย้งคำสั่ง...” ดังนั้น เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการยื่นคำร้องต่อเทศบาลแวงแซนน์ก่อนนำคดีมาฟ้องศาล ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองชำระค่าสินไหมทดแทนไว้พิจารณาได้
       สำหรับประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่และบุคลากรของรัฐนั้น ศาลปกครองวินิจฉัยว่า
       ตัวประกาศไม่อาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนได้ (C.E. 12 กรกฎาคม 1995, départment de la Somme, Req. n๐ 101.204) รวมทั้งหนังสือของหน่วยงานที่แจ้งผลการสอบไปยังผู้สมัครก็ไม่ใช่
       คำสั่งทางปกครอง จึงไม่อาจฟ้องเพิกถอนหนังสือดังกล่าวได้ (28 เมษายน 1995, département de l’Aisne et autres, Req. n๐ 146.393, 146.669, 146.670)
       
       4. ระยะเวลาการฟ้องคดี
       
       หลักทั่วไป
       ระยะเวลาการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลอยู่ภายใต้หลักทั่วไป เพราะไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไป ซึ่งตามมาตรา 1 แห่งรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 11 มกราคม 1965 และมาตรา R 102 แห่ง ประมวลกฎหมายศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ กำหนดว่า การฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้กระทำภายในสองเดือนนับแต่วันที่มีการแจ้งคำสั่งหรือนับแต่วันที่มีการประกาศให้ทราบถึงความมีอยู่ของกฎ
       ดังนั้น การฟ้องคดีต้องทำก่อนที่ระยะเวลาการฟ้องคดีจะสิ้นสุดลง แต่การเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีนั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ว่า กฎหมายโดยรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 1983 กำหนดเอาไว้ว่า ระยะเวลาการฟ้องคดีจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิการฟ้องคดีและระยะเวลาการฟ้องคดีไว้ในคำสั่งแล้วเท่านั้น ดังนั้น โดยนัยนี้ ระยะเวลาแห่งการฟ้องคดีจึงเริ่มนับเมื่อผู้รับคำสั่งได้รับแจ้งคำสั่งแล้ว และต้องมีข้อความในคำสั่งบอกด้วยว่าให้ฟ้องคดีภายในระยะเวลาเท่าไรตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ศาลปกครองยังวางหลักเพิ่มเติมด้วยว่า การบอกกล่าวเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีต้องมีความชัดเจนด้วย ( C.E. 8 มกราคม 1992, Masses, Lebon p.1204)
       
       ข้อยกเว้น
       (1) หลักเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีข้างต้น มีข้อยกเว้นแรกอยู่ในบทบัญญัติของรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 11 มกราคม 1965 และมาตรา R 102 แห่งประมวลกฎหมายศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
       - ในการฟ้องคดีที่ศาลมีอำนาจเต็ม (Recours de plein contentieux) 3  ที่เป็นการฟ้องคดีโต้แย้งคำสั่งปฏิเสธโดยปริยายของฝ่ายปกครอง เป็นคดีที่ไม่มีระยะเวลาการฟ้องคดี
       - ในการฟ้องขอให้เพิกถอน (Recours pour excès de pouvoir) คำสั่งปฏิเสธโดยปริยาย จะเป็นคดีที่ไม่มีระยะเวลาการฟ้องคดีก็ต่อเมื่อคำสั่งปฏิเสธโดยปริยายนั้นเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่เป็นองค์กรกลุ่ม (autorité collégiale) เช่น คณะกรรมการ หรืออนุกรรมการต่าง ๆ เป็นต้น หรือเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องขอคำปรึกษาจากองค์กรกลุ่มก่อนออกคำสั่ง
       (2) ในการบังคับตามคำพิพากษาของศาล หากมีการเรียกร้องให้ฝ่ายปกครองบังคับตามคำพิพากษาแล้วฝ่ายปกครองนิ่งเฉยซึ่งเท่ากับคำสั่งปฏิเสธโดยปริยายนั้น คำสั่งปฏิเสธโดยปริยายนี้สามารถถูกนำมาโต้แย้งต่อศาลได้เสมอโดยไม่มีระยะเวลาการฟ้องคดี
       (3) ในการใช้สิทธิขอดูเอกสารตามกฎหมายข้อมูลข่าวสาร หากฝ่ายปกครองผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารของราชการปฏิเสธโดยปริยายไม่ให้เข้าดูเอกสาร เมื่อมีการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร(CADA)แล้ว คำสั่งปฏิเสธโดยปริยายนั้นสามารถถูกนำมาฟ้องศาลปกครองได้เสมอโดยไม่อยู่ภายไต้เงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดี (รัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 28 เมษายน 1988)
       อย่างไรก็ดี หากคำสั่งปฏิเสธโดยปริยายได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นคำสั่งปฏิเสธโดยชัดแจ้งเมื่อไร คือ ฝ่ายปกครองออกคำสั่งไม่อนุญาตให้เข้าดูเอกสารเมื่อไร ระยะเวลาการฟ้องคดีสองเดือนจะเริ่มนับทันที
       (4) ในการฟ้องคดีเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองที่ไม่มีอยู่ในทางกฎหมาย (décision juridiquement inexistante) ซึ่งต้องถือว่าไม่อาจก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์หรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายได้ ดังนั้น สามารถถูกยกมาฟ้องได้ตลอด ไม่มีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดี(C.E. 8 ธันวาคม 1982, Commune de pompierre-sur-Besbre, Lebon p. 707) อย่างไรก็ดี สำหรับคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากกลฉ้อฉลนั้น แม้ในทางกฎหมายจะถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แต่ยังไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่ไม่มีอยู่ในทางกฎหมาย ดังนั้น การฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวจึงต้องทำภายในระยะเวลาการฟ้องคดี (C.E. 6 พฤษภาคม 1981, Aimar, Lebon p. 978)
       
       เชิงอรรถ
       1.รัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๔ ว่าด้วยสถานะของข้าราชการ จำแนกโทษทางวินัยไว้ ๑๐ ประการ และจัดเป็นกลุ่มได้ ๔ กลุ่มด้วยกัน
       โทษกลุ่มที่ ๑
       
(๑) ตักเตือน (l’avertissement)
       (๒) ภาคทัณฑ์ (le blâme)
       โทษกลุ่มที่ ๒
       
(๑) ตัดออกจากบัญชีผู้ที่จะได้รับพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง (la radiation du tableau d’avancement)
       การลงโทษวิธีนี้มีผลครอบคลุมระยะเวลาอันจำกัดอยู่เพียง ๑ ปี เท่ากับรอบอายุของบัญชีรายชื่อฉบับหนึ่งๆ
       (๒) ลดขั้นเงินเดือน (l’abaissement d’échelon)
       (๓) พักราชการชั่วคราว (l’exclusion temporaire des fonctions) เป็นเวลาไม่เกิน ๑๕ วัน โดยไม่ได้รับเงินเดือน
       (๔) ถูกโยกย้าย (le déplacement d’office)
       โทษกลุ่มที่ ๓
       
(๑) ลดชั้นลดตำแหน่ง (la rétrogradation)
       (๒) พักราชการชั่วคราวเป็นเวลา ๓ เดือนถึง ๒ ปี สำหรับข้าราชการทั่วไป หรือเป็นเวลา ๖ เดือนถึง ๒ ปี สำหรับข้าราชการในสถานพยาบาล หรือเป็นเวลา ๑๖ วันถึง ๖ เดือน สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่น
       โทษกลุ่มที่ ๔
       
(๑) ให้ออกจากราชการ (mise à la retraite)
       (๒) ไล่ออกจากราชการ (la révocation)
       
       2.ที่เป็นเช่นนี้เพระระบบกฎหมายของฝรั่งเศสไม่มีเรื่องการฟ้องเจ้าหน้าที่ละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องมีตัวคำสั่งก่อนเสมอเพื่อเป็นตัวตั้งในการนำมาฟ้องคดี
       
       3.ในระบบกฎหมายปกครองฝรั่งเศส การฟ้องคดีปกครองมีสองประเภท คือ คดีที่ศาลมีอำนาจเต็ม (recours de plein contentiuex) ซึ่ง ศาลมีอำนาจสั่งให้กระทำการ งดเว้นกระทำการ (injonction) สั่งให้ส่งมอบทรัพย์สิน หรือสั่งให้ชดใช้เงิน (indemnité)ได้ ส่วนคดีอีกประเภทหนึ่ง เป็นคดีหลักของศาลปกครองมาแต่ดั้งเดิม คือ คดีฟ้องเพิกถอนการกระทำทางปกครอง (recours pour excès de pouvoir) ซึ่งศาลปกครองมีเพียงอำนาจสั่งเพิกถอนการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งอย่างอื่นได้ แต่ปัจจุบันศาลปกครองเริ่มมีการสั่งในคดีเพิกถอนให้ฝ่ายปกครองกระทำการหรืองดเว้นกระทำการด้วย แต่ภายให้เงื่อนไขที่จำกัดมาก


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544