กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตอนที่ 2) โดย ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ |
|
|
|
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
1
|
2
|
|
บทที่ 4
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
แม้คณะรัฐมนตรีจะได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. .... ไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2543 แต่ในที่สุดหลังจากระยะเวลา 5 ปีผ่านไป รัฐบาลก็ เลือก ที่จะออก กฎหมาย ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในรูปแบบของ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็น พระราชบัญญัติ ดังที่ได้ยกร่างกันมา
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 นั้น มีขึ้นมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน รวมตลอดทั้งเป็นแนวทางในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการของรัฐอย่างกว้างขวาง และเนื่องจากระเบียบฯ ฉบับนี้ได้กำหนดไว้ในข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 จึงทำให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีประชาพิจารณ์ที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยเกือบ 10 ปีต้องสิ้นสุดลง
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ คือ
4.1 วัตถุประสงค์ของระเบียบฯ ข้อ 8 แห่งระเบียบฯ กำหนดไว้ว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการของรัฐ และรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการนั้น รวมตลอดทั้งความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนด้วย (1)
4.2 หน่วยงานที่รับผิดชอบในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระเบียบฯ ข้อ 15 (2) กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และแนะนำหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วยคือ จัดทำและเผยแพร่แนวทางการเผยแพร่ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้หน่วยงานของรัฐทราบ โดยจะจัดให้มีการสัมมนาหรือฝึกอบรมเป็นครั้งคราวด้วยก็ได้ ศึกษาหรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาวิธีการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการประกาศ รวบรวมและให้บริการข้อมูลที่เผยแพร่แก่ประชาชนและข้อมูลเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบฯ
4.3 ขอบเขตของระเบียบฯ ระเบียบดังกล่าวมีขึ้นมาเพื่อใช้กับ โครงการของรัฐ ทุกประเภท ยกเว้นโครงการของรัฐที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ ข้อ 12
4.3.1 โครงการของรัฐ ระเบียบฯข้อ 4 ได้ให้คำนิยามของโครงการของรัฐไว้ว่า (3) ได้แก่ การดำเนินโครงการของหน่วยงานของรัฐ(4) อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือโดยวิธีการให้สัมปทานหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นทำ ทั้งนี้ บรรดาที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย วิถีชีวิต หรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น
4.3.2 ข้อยกเว้น เป็นไปตามระเบียบฯ ข้อ 14 (5) ที่กำหนดไว้ว่า ไม่ให้นำระเบียบฯนี้ไปใช้บังคับกับโครงการของรัฐที่กฎหมายบัญญัติวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียไว้เป็นการเฉพาะกับโครงการของรัฐที่เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่ระเบียบฯ นี้มีผลใช้บังคับ
4.4 การดำเนินการเพื่อจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 กำหนดไว้ให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องมีขึ้นก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะเริ่มดำเนินการโครงการ โดยกำหนดขั้นตอนของการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมไว้ 2 ขั้นตอนด้วยกันคือ
4.4.1 การเผยแพร่ข้อมูล ระเบียบฯ ข้อ 5 (6) และข้อ 7 (7) กำหนดไว้ว่า ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการโครงการของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจะต้องจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการของรัฐดังต่อไปนี้ให้ประชาชนทราบด้วยคือ เหตุผลความจำเป็น และวัตถุประสงค์ของโครงการ สาระสำคัญของโครงการ ผู้ดำเนินการ สถานที่ที่จะดำเนินการ ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ที่จะดำเนินโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งประมาณการค่าใช้จ่าย ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ดำเนินโครงการของรัฐเอง ให้ระบุที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนั้นด้วย
ข้อมูลข้างต้นหน่วยงานของรัฐจะต้องเผยแพร่แก่ประชาชนในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นด้วย
อนึ่ง ระเบียบฯ ข้อ 8 วรรคสองได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปพร้อมกับการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนก็ได้
4.4.2 การรับฟังความคิดเห็นประชาชน เกิดขึ้นใน 2 กรณีด้วยกันคือ
4.4.2.1 เกิดจากหน่วยงานของรัฐ มี 2 กรณีด้วยกันคือ
(ก) โครงการปกติ ระเบียบฯ กำหนดไว้ในข้อ 8 (8) ว่า หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีก็ได้
(ข) โครงการพิเศษ ระเบียบฯ กำหนดไว้ในข้อ 8 วรรคสอง ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการของรัฐที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนเป็นส่วนรวมต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีก่อนเริ่มดำเนินการ
4.4.2.2 เกิดจากประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย (9) สามารถร้องขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจะเริ่มดำเนินการโครงการของรัฐได้ในกรณีโครงการปกติดังกล่าวข้างต้นดังที่บัญญัติไว้ในข้อ 6 แห่งระเบียบฯ(10) โดยในส่วนกลางนั้นผู้มีส่วนได้เสียจะต้องร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบโครงการ ในส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่นจะต้องร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่โครงการนั้นตั้งอยู่ ส่วนในกรุงเทพมหานครนั้นให้ร้องขอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
การร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ไม่ผูกพันว่าผู้มีอำนาจจะต้องเห็นด้วย หากผู้มีอำนาจเห็นด้วยก็จะสั่งให้หน่วยงานของรัฐรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยเร็ว
4.5 วิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ได้กำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในข้อ 9 รวม 9 วิธีด้วยกัน(11) โดยมีการแยกวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
4.5.1 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยวิธีการสำรวจความคิดเห็น มี 4 วิธีการ คือ การสัมภาษณ์รายบุคคล การเปิดให้แสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์หรือโทรสาร ทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ หรือทางอื่นใด การเปิดโอกาสให้ประชาชนมารับข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโครงการ และการสนทนากลุ่มย่อย
4.5.2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยวิธีการประชุมปรึกษาหารือ มี 5 วิธีการ คือ การประชาพิจารณ์ การอภิปรายสาธารณะ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการประชุมระดับตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย
ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานของรัฐอาจใช้วิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีการดังกล่าวข้างต้นก็ได้
อนึ่ง นอกจากวิธีการทั้ง 9 วิธีการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในระเบียบฯ ข้อ 9(3) ยังเปิดช่องไว้ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสามารถกำหนดวิธีการอื่น ๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้ รวมทั้งในระเบียบฯ ข้อ 10 (12) ยังเปิดช่องให้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีอื่นที่ตนเห็นว่าจะทำให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบรรลุวัตถุประสงค์ของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามเจตนารมณ์ของระเบียบฯ นี้ได้เช่นกัน โดยเมื่อหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการไปแล้วก็ให้แจ้งต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย
4.6 กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระเบียบฯ ข้อ 11 (13) ได้กำหนดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็น สถานที่ที่จะดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และรายละเอียดอื่นที่เพียงพอแก่ประชานที่จะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องปิดประกาศซึ่งมีข้อมูลดังกล่าวข้างต้นไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐ และสถานที่ที่จะดำเนินโครงการของรัฐนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นด้วย
4.7 ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นไปตามข้อ 12 (14) แห่งระเบียบฯ กล่าวคือ เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและประกาศให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐและสถานที่ที่จะดำเนินโครงการของรัฐ รวมทั้งประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นด้วย
ในกรณีที่ผลของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนปรากฏออกมาว่า การดำเนินโครงการของรัฐโครงการใดอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐได้เผยแพร่แก่ประชาชนตามข้อ 4.4.1 แต่หน่วยงานของรัฐเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโครงการดังกล่าวต่อไป หน่วยงานของรัฐจะต้องกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมก่อนเริ่มดำเนินการโครงการของรัฐนั้นและประกาศให้ประชาชนทราบโดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐและสถานที่ที่จะดำเนินโครงการของรัฐ รวมทั้งประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นด้วย
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่นี้มีความแตกต่างอย่างมากจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ระเบียบฯฉบับใหม่ได้กำหนดวิธีการไว้หลากหลาย และให้ความยืดหยุ่นกับหน่วยงานด้วยการให้หน่วยงานสามารถเลือกใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ระเบียบฯฉบับเดิมกำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้เพียงวิธีการเดียวคือการประชาพิจารณ์
เชิงอรรถ
(1) ข้อ 8 ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการของรัฐ และรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการนั้น รวมตลอดทั้งความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนด้วย
หน่วยงานของรัฐจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปพร้อมกับการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนก็ได้
(2) ข้อ 15 ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และแนะนำหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามระเบียบนี้ รวมทั้งให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำและเผยแพร่แนวทางการเผยแพร่ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้หน่วยงานของรัฐทราบ โดยจะจัดให้มีการสัมมนาหรือฝึกอบรมเป็นครั้งคราวด้วยก็ได้
(2) ศึกษาหรือวิจัยเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงและพัฒนาวิธีการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
(3) จัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการประกาศ รวบรวม และให้บริการข้อมูลที่เผยแพร่แก่ประชาชนและข้อมูลเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบนี้
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะเชิญผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาให้ข้อมูล ความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะด้วยก็ได้
(3) ข้อ 4 ในระเบียบนี้
โครงการของรัฐ หมายความว่า การดำเนินโครงการของหน่วยงานของรัฐอันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือโดยวิธีการให้สัมปทานหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นทำ ทั้งนี้ บรรดาที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย วิถีชีวิต หรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่น
................
(4) ข้อ 4 ในระเบียบนี้
.................
หน่วยงานของรัฐ หมายความถึง ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นใดของรัฐและรัฐวิสาหกิจ
............................
(5) ข้อ 14 ระเบียบนี้ไม่ใช้บังคับแก่
(1) โครงการของรัฐที่กฎหมายบัญญัติวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
หรือผู้มีส่วนได้เสียไว้เป็นการเฉพาะ
(2) โครงการของรัฐที่เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ
(6) ข้อ 5 ก่อนเริ่มดำเนินการโครงการของรัฐ หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการต้องจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลตามข้อ 7 ให้ประชาชนทราบ และจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามข้อ 9 ด้วยก็ได้
หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการของรัฐที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนเป็นส่วนรวมต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามข้อ 9 ก่อนเริ่มดำเนินการ
(7) ข้อ 7 ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการของรัฐที่หน่วยงานของรัฐต้องเผยแพร่แก่ประชาชนอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) เหตุผล ความจำเป็น และวัตถุประสงค์ของโครงการ
(2) สาระสำคัญของโครงการ
(3) ผู้ดำเนินการ
(4) สถานที่ที่จะดำเนินการ
(5) ขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ
(6) ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ
(7) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในสถานที่ที่จะดำเนินโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว
(8) ประมาณการค่าใช้จ่าย ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้ดำเนินโครงการ
ของรัฐเอง ให้ระบุที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนั้นด้วย
ให้หน่วยงานของรัฐประกาศข้อมูลที่ต้องเผยแพร่แก่ประชาชนตามวรรคหนึ่ง ในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นตามระเบียบนี้ด้วย
(8) ข้อ 8 ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการของรัฐ และรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการนั้น รวมตลอดทั้งความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนด้วย
หน่วยงานของรัฐจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปพร้อมกับการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนก็ได้
(9) ข้อ 4 ในระเบียบนี้
.................
ผู้มีส่วนได้เสีย หมายความถึง ผู้ซึ่งอาจได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหายโดยตรงจากการดำเนินงานตามโครงการของรัฐ
.................
(10) ข้อ 6 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐมิได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการโครงการของรัฐตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ รัฐมนตรีสำหรับราชการส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับราชการของกรุงเทพมหานคร จะสั่งหน่วยงานของรัฐให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยเร็ว
(11) ข้อ 9 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามข้อ 8 อาจใช้วิธีการอย่างหนึ่ง
หรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
(1) การสำรวจความคิดเห็น ซึ่งอาจทำโดยวิธีดังต่อไปนี้
(ก) การสัมภาษณ์รายบุคคล
(ข) การเปิดให้แสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์หรือโทรสาร ทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ หรือทางอื่นใด
(ค) การเปิดโอกาสให้ประชาชนมารับข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโครงการ
(ง) การสนทนากลุ่มย่อย
(2) การประชุมปรึกษาหารือ ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
(ก) การประชาพิจารณ์
(ข) การอภิปรายสาธารณะ
(ค) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
(ง) การประชุมเชิงปฏิบัติการ
(จ) การประชุมระดับตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย
(3) วิธีอื่นที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด
(12) ข้อ 10 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ 9 จะทำให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อ 8 หน่วยงานของรัฐจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีนั้นก็ได้ แต่เมื่อดำเนินการแล้ว ให้แจ้งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทราบด้วย
(13) ข้อ11 ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้
ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงานของรัฐ และสถานที่ที่จะดำเนินโครงการของรัฐนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้นตามระเบียบนี้ด้วย
(14) ข้อ 12 เมื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และประกาศให้ประชาชนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ให้นำความในข้อ 11 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การประกาศตามข้อนี้โดยอนุโลม
|
|
|
|
|
1
|
2
|
|
|
|
|
|
|
|
|